28 เม.ย. ไทยติดเชื้อเพิ่ม 7 คน สะสม 2,938 คน เสียชีวิต 2 คน สะสม 54 คน รักษาหายสะสม 2,662 คน

กองบรรณาธิการ TCIJ 28 เม.ย. 2563 | อ่านแล้ว 1454 ครั้ง

28 เม.ย. ไทยติดเชื้อเพิ่ม 7 คน สะสม 2,938 คน เสียชีวิต 2 คน สะสม 54 คน รักษาหายสะสม 2,662 คน

28 เม.ย. 2563 ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 7 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสม 2,938 คน มีผู้เสียชีวิต 2 คน รวมผู้เสียชีวิตสะสม 54 คน รักษาหาย 43 คน รักษาหายสะสม 2,662 คน กทม. ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เหลือแค่ 3 คน - ครม. เห็นชอบ ขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศอีก 1 เดือน ตั้งแต่ 1 พ.ค. – 31 พ.ค. 2563

28 เม.ย. 2563 Thai PBS รายงานว่า นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าวสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ว่า มีผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่เพียง 7 คน และตัวเลขต่ำกว่าสิบเป็นวันที่ 2 แล้ว รวมสะสม 2,938 คนรักษาหายเพิ่ม 43 คน รวมสะสม 2,652 คน และเสียชีวิตเพิ่ม 2 คน รวมเสียชีวิต 54 คน โดยผู้เสียชีวิตชายไทย 1 คนอายุ 52 ปี ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัวมีประวัติจากการเดินทางไปประชุมสัมมนา และ อีก 1 คนเพศหญิงอายุ 63 ปี อาชีพค้าขายเป็นเจ้าของร้านอาหารใน จ.ภูเก็ต มีภาวะอ้วนและมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันคือสามีและหลานสาวที่ติดเชื้อ COVID-19

สำหรับผู้ป่วยใหม่ทั้ง 7 คนพบเป็นกลุ่มสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้ารวม 5 คน แบ่งเป็น จ.ภูเก็ต 3 คน กทม. 1 คน และนครราชสีมา 1 คน ส่วนอีก 1 คนจากกทม.ไปในสถานที่แออัด งานแฟร์ คอนเสิร์ต ตลาดนัด และอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 1 คน เป็นชาวจีนที่ได้เข้ารักษาในโรงพยาบาลแล้ว

พบความเชื่อมโยงอายุ 60 ปีตายจาก COVID-19

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า จากการศึกษาข้อมูลทางระบาดวิทยาสถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อของกรมควบคุมโรค ซึ่งมีตัวอย่างผู้ป่วยในจำนวน 328 คนในช่วงม.ค.-26 เม.ย.นี้ มาวิเคราะห์ พบว่าผู้ป่วยในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 11% ของผู้ป่วยทั้งหมด ในจำนวนนี้เสียชีวิตแล้ว 21 คน เป็นผู้ชายมากกว่าหญิง 2.3 ต่อ 1 ส่วนใหญ่เป็นคนไทย 86% ต่างชาติ 14%

“จากปัจจัยเสียยงของกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป เสี่ยงจะพบว่าติดเชื้อจากพิธีทางศาสนา 79 คน หรือ 24% รองลงมาคือ เกี่ยวข้องกับสนามมวยและผู้สัมผัส 78 คน หรือ 24% และสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน 58 คน จำนวน 18% และชาวต่างชาติเดินทางมาจากต่างประเทศ 31 คน หรือประมาณ 10%”

นอกจากนี้ นพ.ทวีศิลป์ ยังระบุว่า จังหวัด 3 อันดับแรกที่มีอัตราป่วยจำเพาะตามช่วงอายุสูงสุดพบว่าจ.ยะลา มากที่สุด 54.3% ภูเก็ต 33.7% และปัตตานี 22.3% โดยทั้ง 2 จังหวัด เชื่อมโยงกับผู้ประกอบพิธีทางศาสนา และต่างประเทศ

“ดังนั้นในกลุ่มนี้หากพบว่าตัวเองเป็นผู้สัมผัสกับญาติ ครอบครัวและสมาชิกในบ้าน ขอให้ดูแลผู้สูงอายุให้ดีๆเพราะยังมีอัตราเสียชีวิตสูงอยู่”

ขณะเดียวกัน เมื่อมีการจำแนกผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันตามปัจจัยเสี่ยงในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มใหญ่ที่สุดยังคงเป็นกลุ่มสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยัน ซึ่งป่วยเพิ่มถึง 121 คน รองลงมาคือกลุ่มศูนย์กักคนเข้าเมือง 78 คน และการตรวจเชิงรุกพบ 20 คน

กทม.ยังรอลุ้นคลายล็อก-ต้องปรับตัววิถีชีวิตใหม่

นอกจากนี้ โฆษกศบค.กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการผ่อนปรนและการต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังต้องรอมติครม.ว่าอยากได้อย่างไรต้องปรับชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal

ส่วนกรณีที่ในกทม.เริ่มมีตัวเลขผู้ป่วยเป็นศูนย์ และวันนี้พบ 3 คนจะเป็นสัญญาณที่ดี คนออกมาทำงานจะคลายล็อกให้กทม.ได้หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ต้องชมคนกทม.แต่ยังเบาใจไม่ได้ เพราะ 3 คนยังไม่ใช่ว่าจะไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ไม่ใช่เชื้อจะเป็นศูนย์ ต้องค้นหาคนที่ติดเชื้อให้เจอ และยังเบาใจไม่ได้ เราต้องอยู่กับเชื้อโรควันนี้ ยังต้องเข้มข้นในเรื่องการป้องกันควบคุมอย่างดี เพื่อตัวเลขจะไปต่อในอีก 14 วันข้างหน้าถ้าปล่อยปละละเลยจะเกิดขึ้นในอนาคต

“ถ้าตัวเลขกทม.เป็นศูนย์ แสดงว่าไม่ติดเชื้อ ก็ไม่ใช่ว่าจะใช้ใช้ชีวิตปกติได้ เพราะคนที่เขาติดเชื้ออาจจะไม่แสดงอาการมีข้อมูลถึง 80%”

มาตรการช่วยคนไทยกลับประเทศตกค้างหลัง 1 พ.ค.

ส่วนกรณีการขยายมาตรการเดินทางกลับไทย 1 พ.ค.นี้ทำให้ได้รับผลกระทบ แล้วรัฐจะเข้ามาช่วยเหลืออย่างไร นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อ และหากมีความจำเป็นเร่งด่วนก่อน ขอให้ติดต่อสถานกงสุล และสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศ ทุกที่ทั่วโลก

ส่วนข้อเสนอปูพรมตรวจทั่วประเทศ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ตอนนี้ตรวจจากโพรงจมูก และน้ำลายได้แล้ว ทางวิขาการคุยกันแล้วว่าต้องตรวจแล็บมามาตรฐานคือพีซีอาร์ และต้องใช้งบในการตรวจสอบ เพราถ้าไปปูพรมอาจจะเจอแค่นิดเดียวแต่การเลือกกลุ่มเสี่ยง พบว่าผู้ติดเชื้อมากกว่า โดยตอนนี้มีกลุ่มเสี่ยง เช่น แรงงานต่างด้าว คนในพื้นที่แออัด และกลุ่มเสี่ยง

การเปิดร้านค้าตลาด ต้องปฏิบัติตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขออกมาตรการเพื่อบังคับใช้ ซึ่งมีการออกมาตรฐานกลาง 11 ข้อที่ออกภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินพ.ศ.2548 แล้ว เช่น ยกตัวอย่างร้านขายอาหารตามสั่ง ถ้าไม่สวมหน้ากากอนามัย ให้เว้นระยะห่างไปอีก 14 วัน เป็นเรื่องที่เกิดขั้นในสังคมไทย และช่วยให้อยู่อย่างปลอดภัย เข้ามาสู่ชีวิตวิถีใหม่

“ผมชมทุกครั้งว่าเห็นคนร่วมมือกันใส่หน้ากาก ต่อไปจะชินตา ฝากว่าชีวิตวิถีใหม่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องปรับตัว ไม่ว่าจะอยู่นอกบ้าน จะอยู่ที่บ้าน ไปตลาดต้องใส่หน้ากาก ล้างมือ กินช้อนตัว เพราะถ้าเราไม่ป่วย ญาติไม่ป่วย ก็จะกลับมาสู่ภาคปกติ ลดการสูญเสียน้อยทื่สุด”

ครม. เห็นชอบ ขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

วันเดียวกันนี้ (28 เม.ย.) คณะรัฐมนตรีมติอนุมัติขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศอีก 1 เดือน ตั้งแต่ 1 พ.ค. – 31 พ.ค. 63 ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด -19 ซึ่งที่ผ่านมาการบริหารจัดการเป็นเอกภาพทำให้ผู้ติดเชื้อรายวันของไทยลดลง การบริหารจัดการ เป็นไปด้วยความรวดเร็ว ทั้งนี้หน่วยงานด้านการข่าวได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไป และเห็นว่าควรคงมาตรการที่ปฏิบัติอยู่ขณะนี้ ทั้งการจำกัดการเข้าราชอาณาจักร ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานเวลา 22.00 น. - 04.00 น.งดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตจังหวัด ห้ามเข้าพื้นที่ที่มีคนจำนวนมาก

ภายหลังขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ศบค. เป็นกลไกหลักกำหนดกรอบแนวทางการบังคับใช้อำนาจ และผู้ว่าฯ กำหนดรายละเอียดในการปฏิบัติงานตามประเภทของภารกิจและความรับผิดชอบในพื้นที่ โดยกระทรวงการต่างประเทศเร่งรัดตรวจสอบคนไทยในต่างประเทศที่จะเดินทางกลับ และ เตรียมรองรับกลุ่มบุคคลดังกล่าว และเพื่อผ่อนคลายมาตรการให้ประชาชนดำรงชีวิตได้ปกติขึ้น ลดผลกระทบเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง โดยการดำเนินการคำนึงถึงปัจจัยด้านสาธารณสุข พิจารณาประเภทของกิจกรรมที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และบังคับใช้มาตรการป้องกันโรคควบคู่กันไปด้วยอย่างเข้มงวด ทั้งนี้หากพบว่าสถานการณ์ มีแนวโน้มที่ภาครัฐสามารถควบคุมได้ดีขึ้นจะพิจารณากำหนดมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม แต่หากมีการฝ่าฝืนมาตรการป้องกันโรค หรือสถานการณ์การแพร่ระบาดมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นให้ยกเลิกมาตรการผ่อนคลายทันที ระหว่างผ่อนคลายมาตรการ จะเร่งรัดตรวจเชื้อ ให้กับประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง และใช้เทคโนโลยีติดตาม เพื่อควบคุมและป้องกันเชื้อโรคโควิด-19 ไม่ให้กลับมาแพร่ระบาดอีก

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: