มสพ.เรียกร้อง ก.ยุติธรรม ยกเลิกแนวปฏิบัติที่อ้างสถานะการเข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต

กองบรรณาธิการ TCIJ 25 มิ.ย. 2563 | อ่านแล้ว 2162 ครั้ง

มสพ.เรียกร้อง ก.ยุติธรรม ยกเลิกแนวปฏิบัติที่อ้างสถานะการเข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ออกแถลงการณ์ กรณีกระทรวงยุติธรรมปฏิเสธจ่ายเงินเยียวยาเด็กหญิงลาวเหยื่อค้ามนุษย์ที่ถูกทำร้ายและข่มขืน อ้างเหตุเข้าเมืองผิดกฎหมายโดยสมัครใจ เรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมยกเลิกการยึดถือแนวปฏิบัติที่อ้างสถานะการเข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อกีดกันและเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ ที่ต้องตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมในประเทศนี้ ไม่ให้เข้าถึงการชดเชยเยียวยาจากรัฐโดยเร็ว

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2563 จากกรณีที่ทนายความของ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ซึ่งได้รับมอบหมายให้ช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่เด็กหญิงเอ (นามสมมุติ) แรงงานเด็กชาวลาว ที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ ถูกทรมาน และข่มขืนกระทำชำเรา จึงขอรับเงินค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญาจากกระทรวงยุติธรรม แต่กลับได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ประจำจังหวัดสมุทรปราการ มีมติไม่จ่ายเงิน โดยอ้างเหตุผลว่า แม้เด็กหญิงเอไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด แต่เนื่องจากเข้ามาในประเทศโดยผิดกฎหมายด้วยความสมัครใจ จึงไม่เป็นผู้เสียหาย ไม่มีสิทธิได้เงินค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา

คดีนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อปี พ.ศ. 2557 เด็กหญิงเอ อยู่ที่แขวงจำปาศักดิ์ สปป.ลาว ในขณะที่อายุเพียง 10 ขวบ พร้อมพี่ชาย ได้ถูกนายหน้าชาวลาวหลอกลวงพาเข้ามาให้ทำงานเป็นเด็กรับใช้ในบ้านผู้มีฐานะแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ ตลอดเวลาหลายปีที่ทำงาน เด็กหญิงเอได้ถูกนายจ้างกลั่นแกล้งและกระทำทารุณกรรมอย่างโหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรี ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ถูกทุบตี ถูกใช้กรรไกรทิ่มแทง ตัดผิวหนังและเนื้อตัวร่างกายจนปรากฎเป็นริ้วรอยบาดแผลทั่วตัว รวมทั้งให้กินอาหารสัตว์และอยู่ร่วมกับแมวและสุนัขที่นายจ้างเลี้ยงไว้ จนเด็กหญิงเอได้รับความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างแสนสาหัส หลังจากทุกข์ทรมานอยู่ 5 ปี ในปี พ.ศ. 2562 เด็กหญิงเอจึงได้หลบหนีออกมาจากบ้านของนายจ้างสำเร็จ แต่เนื่องจากไม่ทราบว่าจะกลับบ้านที่ สปป.ลาว อย่างไร จึงถูกนายกาหลง เมืองจันทร์ ชาวบ้านในจังหวัดสมุทรปราการล่อลวงและข่มขืนกระทำชำเราหลายครั้ง จนในที่สุดเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ให้ความช่วยเหลือส่งตัวให้เจ้าหน้าที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดูแล ต่อมาเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ได้มีคำพิพากษา ให้จำคุกนายกาหลง เป็นเวลา 10 ปี 3 เดือน โทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ส่วนนายจ้างและญาติอยู่ระหว่างการถูกดำเนินคดีในข้อหาค้ามนุษย์

เมื่อเด็กหญิงเอ โดยการช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ พม. ได้ยื่นเรื่องขอรับเงินค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา ในกรณีถูกทำร้ายร่างกายโดยนายจ้างและถูกข่มขืนกระทำชำเราโดยนายกาหลง กระทรวงยุติธรรมกลับปฏิเสธ ไม่จ่ายค่าตอบแทนให้เด็กหญิงเอ เหยื่ออาชญากรรมดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายโดยสมัครใจ

ที่ผ่านมา มูลนิธิ มสพ. ซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่แรงงานข้ามชาติจำนวนมาก ได้พบว่า กระทรวงยุติธรรมยึดแนวปฏิบัติที่ปฏิเสธเสมอมาที่จะไม่จ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่แรงงานข้ามชาติ ที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม เพียงข้ออ้างที่ว่า แรงงานเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ชลธิชา ตั้งวรมงคล ผู้อำนวยการมูลนิธิ มสพ. เห็นว่า

“รัฐมีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของคนทุกคนในประเทศนี้ โดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าด้วยเหตุหรือสถานอื่นใดๆ รวมทั้งป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมด้วย เมื่อรัฐไม่สามารถทำหน้าที่ได้ จึงต้องชดใช้เยียวยาเบื้องต้นให้แก่ผู้พวกเขา ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ซึ่งกำหนดไว้ในมาตรา 17 ให้ผู้เสียหายจากการกระทำผิดอาญาบางประเภทรวมทั้งการถูกทำร้ายร่างกายและถูกการข่มขืน ดังเช่นกรณีของเด็กหญิงเอ มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนเพื่อชดเชยเยียวยาเบื้องต้นจากรัฐ กฎหมายกำหนดข้อยกเว้นเฉพาะผู้เสียหายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น เท่านั้น ที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว ดังนั้นหากกฎหมายมีเจตนาที่จะตัดสิทธิของแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายไม่ให้ได้รับเงินเยียวยาด้วย ก็จะต้องระบุข้อยกเว้นนั้นไว้อย่างชัดเจนในกฎหมาย

ดังนั้น คำสั่งและแนวปฏิบัติที่อ้างสถานะการเข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อตัดสิทธิแรงงานข้ามชาติไม่ให้ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐ จึงขัดต่อเจตนารมณ์แห่ง พ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 เป็นการกีดกันและเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี

ยิ่งไปกว่านั้น การที่คณะอนุกรรมการวินิจฉัยว่า เด็กหญิงเอ เข้ามาในประเทศโดยผิดกฎหมายด้วยความสมัครใจ นั้น มูลนิธิ มสพ. เห็นว่าเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและหลักของความยุติธรรม เพราะการที่เด็กหญิงเอ ถูกนายหน้าพาเข้ามาในประเทศไทยในขณะที่มีอายุเพียง 10 ขวบ ซึ่งเด็กยังไม่มีวุฒิภาวะที่จะแสดงเจตนาได้ ทั้งยังถูกล่อลวงให้เดินทางมาอีกด้วยนั้น จะถือว่าเด็กหญิงเอ เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายโดยสมัครใจได้อย่างไร”

ดังนั้น มูลนิธิ มสพ. จะช่วยเหลือให้เด็กหญิงเอ อุทธรณ์คำสั่งของคณะอนุกรรมการฯ ให้ถึงที่สุด เพื่อให้ “กระทรวงยุติธรรม” ให้ “ความยุติธรรม” แก่เด็กหญิงเอ ต่อไป

“นอกจากนี้ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ยังขอเรียกร้องให้ กระทรวงยุติธรรมยกเลิกการยึดถือแนวปฏิบัติที่อ้างสถานะการเข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อกีดกันและเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ ที่ต้องตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมในประเทศนี้ ไม่ให้เข้าถึงการชดเชยเยียวยาจากรัฐโดยเร็วด้วย” ผู้อำนวยการมูลนิธิ มสพ. กล่าว


ข้อมูลเกี่ยวกับคดี:
https://www.youtube.com/watch?v=mZ545X4jMZs
https://www.dailynews.co.th/crime/726720

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: