พิษ COVID-19 ช่วง 4 เดือน ฉุดรายได้ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยทั้งระบบวูบกว่า 90,000 ล้านบาท

กองบรรณาธิการ TCIJ 24 ก.ค. 2563 | อ่านแล้ว 2171 ครั้ง

พิษ COVID-19 ช่วง 4 เดือน ฉุดรายได้ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยทั้งระบบวูบกว่า 90,000 ล้านบาท

พิษ COVID-19 ช่วง 4 เดือน ฉุดรายได้ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยทั้งระบบวูบกว่า 90,000 ล้านบาท เตรียมแผนฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด ใช้แฟรนไชส์ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ บรรเทาความเดือดร้อนภาคธุรกิจ | ที่มาภาพประกอบ: Business Ethics Network

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2563 ว่า นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงสถาบันการเงินได้เตรียมแผนฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด – 19 โดยเฉพาะธุรกิจแฟรนไชส์ระดับต่าง ๆ ไว้แล้ว ซึ่งบางมาตรการเดินหน้าช่วยเหลือไปบ้างแล้ว แต่ยอมรับว่าโควิดกระทบธุรกิจแฟรนไชส์ไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งทางตรง คือ ด้านรายได้และกระแสเงินสดหมุนเวียนที่ลดลง แบกรับต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าเช่าสถานที่ ค่าดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าจ้างพนักงานและอื่น ๆ อีกมาก

อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากสุด คือ ธุรกิจบริการประเภทโรงแรม ท่องเที่ยว กลุ่มความงาม และสปา และกลุ่มการศึกษา เนื่องจากอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ใช้มาตรการต้องปิดให้บริการ รองลงมา คือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่อยู่ในมาตรการปิดบางส่วน อนุญาตให้เฉพาะบริการซื้อกลับบ้าน (Takeaway) และส่งสินค้า (Delivery) ส่งผลให้ยอดจาหน่ายลดลง ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด คือ กลุ่มค้าปลีก ร้านค้าสะดวกซื้อ และร้านขายยา ที่ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ

ทั้งนี้ จากผลกระทบดังกล่าวตลอด 3 – 4 เดือนที่ผ่านมา โดยปกติธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยเดิมมีมูลค่ารวมกว่า 300,000 ล้านบาท แต่คาดว่าจากปัญหาโควิดที่เกิดขึ้นจะทำให้มูลค่าลดลงกว่าร้อยละ 30 หรือกว่า 90,000 ล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่มแฟรนไชส์สปา ความงาม และการศึกษาที่ได้รับผลกระทบเกิน 100% จากการใช้มาตรการคุมเข้ม ขณะที่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในห้างสรรพสินค้าได้รับผลกระทบถึง70-80% ส่วนธุรกิจแฟรนไชส์ค้าปลีกได้รับผลกระทบไม่มากอยู่ที่ 30-50% แม้อยู่ท่ามกลางวิกฤติ แต่พบว่าธุรกิจแฟรนไชส์ได้พัฒนาตัวเองอย่างก้าวกระโดดเร่งขยายช่องทางการจัดจาหน่ายผ่านสื่อออนไลน์ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางสื่อ Social media การเข้าร่วมกับ Platform ขนส่งสินค้าออนไลน์ การเพิ่ม ระบบชาระเงินแบบไร้เงินสด การพัฒนาระบบฐานข้อมูลเบื้องต้น รวมถึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่แฟรนไชส์ซอร์ได้พัฒนาความสัมพันธ์กับแฟรนไชส์ซี ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าใช้จ่าย ค่าแฟรนไชส์ ผ่อนผันงวดชำระเงิน เพื่อจับมือกันผ่านวิกฤติไปด้วยกัน ส่งผลบวกต่อการดำเนินธุรกิจร่วมกันระยะยาว

นอกจากนี้ เดิมประเมินว่าภายใน 4 - 5 ปีข้างหน้ากิจกรรมดังกล่าวจะเกิดขึ้นแน่ในประเทศไทย แต่ด้วยโควิดทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์ปรับตัวอย่างก้าวกระโดด พร้อมเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัวภายในไม่ถึง 2 เดือน ดังนั้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะกำกับและดูแลธุรกิจแฟรนไชส์ไทยโดยตรง จึงพร้อมที่จะรับฟังและช่วยเหลือ คำแนะนำจากผู้ประกอบการโดยตรง และได้พยายามวางแผน กำหนดแนวทางสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ทุกขนาดให้ปรับตัวรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลก

อย่างไรก็ตาม แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยใช้โมเดล “แฟรนไชส์” สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ จะเป็นโมเดลเข้ามาทดแทนโมเดลธุรกิจปกติ ตั้งแต่ผู้จัดหาปัจจัยการผลิต ผู้ผลิตหรือ โรงงานรับจ้างผลิต ไปจนถึงผลิตภัณฑ์เองหรือบรรจุภัณฑ์ที่ต้องมีการออกแบบเฉพาะแบรนด์ รวมถึงผู้รับจ้างที่จะช่วยหนุนระหว่างกันอย่างเต็มที โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 ดังนั้น แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจครั้งนี้กรมฯ จะเน้นการขยายธุรกิจแฟรนไชส์ในแบบสร้างอาชีพสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่รองรับวิธีการดำเนินชีวิตแบบใหม่ (New normal) ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคจะหันมาใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามาในการทำธุรกิจอย่างครบวงจรได้ต่อไป

นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าร่วมกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM Bank ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และสมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ จัดงาน “Thailand Franchise Award 2020: TFA 2020” เพื่อมอบโล่รางวัลให้กับธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีการพัฒนาศักยภาพและมาตรฐานจนเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค โดยรางวัลแบ่งออกเป็น 5 ประเภท รวม 13 รางวัล โดยธุรกิจแฟรนไชส์ที่สนใจสมัครเข้าร่วมประกวด โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 10 ส.ค. 2563

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: