มูลค่าตลาด 'น้ำดื่มผสมวิตามิน' ​ปี ​63​ สูง​ 5.5 พันล้าน​ คาดปี 64​ พุ่ง​ 6-7​ พันล้าน

ทีมข่าว TCIJ | 21 ธ.ค. 2563 | อ่านแล้ว 22573 ครั้ง

‘ศูนยวิจัยกสิกรไทย’ ประเมินมูลค่าตลาด 'น้ำดื่มผสมวิตามิน' ปี 2563 อยู่ที่ 5,500 ล้านบาท ส่วนปี 2564 จะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 6,000-7,000 ล้านบาท - แบรนด์ดังชี้แจงหลัง 'มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค' เผยผลทดสอบพบปริมาณวิตามินทั้งใน 'น้ำดื่มและเครื่องดื่ม' บางสินค้าไม่ตรงกับฉลาก 'มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค' ยืนยันตรวจสอบมีมาตรฐาน เป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่เคยรับเงินบริษัท - กรมอนามัยแนะดื่มน้ำเปล่าเพียงพอดีต่อสุขภาพ ไม่ต้องพึ่งน้ำผสมวิตามิน

เมื่อช่วงเดือน ก.ย. 2563 ศูนยวิจัยกสิกรไทย ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ 'น้ำดื่มผสมวิตามิน เซกเมนต์ใหม่…บุกตลาดเครื่องดื่ม' ระบุว่าธุรกิจเครื่องดื่มของไทยที่ระยะหลังเริ่มเติบโตในทิศทางที่ชะลอ แต่สำหรับเครื่องดื่มสุขภาพคาดว่าจะยังเป็นกลุ่มสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ ทั้งนี้ น้ำดื่มผสมวิตามิน คือเครื่องดื่มกลุ่ม Water Plus ซึ่งเป็นเซกเมนต์ใหม่ในตลาดเครื่องดื่มที่น่าจับตา จากจุดเด่นสำคัญคือ ใส ไร้สี ดับกระหายได้เช่นเดียวกับน้ำเปล่า แต่ให้สารอาหารเพิ่มเข้ามา อาทิ วิตามิน B และ C ซึ่งร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ รวมถึงสารอาหารอื่น ซึ่งอาจทำให้มีกลิ่นหรือรสชาติที่แตกต่างจากน้ำเปล่า แต่ให้พลังงานและน้ำตาลน้อยมาก ตอบรับกับเทรนด์สุขภาพได้ดี​

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินเบื้องต้นโดยประมาณการจากยอดขายของผู้ประกอบการในตลาดเครื่องดื่มผสมวิตามินในไทยว่าปี 2563 ตลาดเครื่องดื่มผสมวิตามินในไทยจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 1.2 ของมูลค่าเครื่องดื่มทั้งหมดของไทย และคาดว่ามูลค่าตลาดจะขยับขึ้นเป็นประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาทในปี 2564

ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางด้านการแข่งขัน (Competitive Landscape) จะพบว่ามูลค่าตลาดเครื่องดื่มผสมวิตามินที่มีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นนั้น คงมาจากการขยายตัวด้านปริมาณและระดับราคาสินค้าที่อยู่จัดอยู่ในกลุ่มน้ำดื่มบรรจุขวดพรีเมียมที่มีราคาสูง ซึ่งมีส่วนช่วยผลักดันการเติบโตของภาพรวมตลาดเครื่องดื่มหลังจากอิ่มตัวมาสักระยะหนึ่ง แต่คงไม่ได้เติบโตแบบก้าวกระโดด สาเหตุที่อาจจะเป็นเช่นนั้นมาจาก

1. การขยายตัวด้านปริมาณที่เพิ่มขึ้น น่าจะมาจากการ Switching ประเภทเครื่องดื่มของผู้บริโภคจากสินค้าทดแทน 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มเครื่องดื่มฟังก์ชั่นนอลดริงก์ ที่ชูจุดขายการเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพเช่นเดียวกับน้ำดื่มวิตามิน แต่อาจจะมีปริมาณน้ำตาลหรือให้พลังงานที่มากกว่า 2) กลุ่มน้ำแร่ ซึ่งเป็นน้ำดื่มบรรจุขวดพรีเมียม ซึ่งการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคมาจากการให้ความสำคัญด้านคุณภาพและความตระหนักด้านผลลัพธ์ด้านสุขภาพเช่นเดียวกับน้ำดื่มผสมวิตามิน โดยทั้งสองประเภทมีระดับราคาและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใกล้เคียงกับน้ำดื่มผสมวิตามิน สะท้อนให้เห็นว่า มูลค่าตลาดเครื่องดื่มวิตามินจะเพิ่มขึ้น น่ามาจากการแย่งส่วนแบ่งตลาดและทำให้มูลค่าตลาดของเครื่องดื่มกลุ่มดังกล่าวลดลง (ภายใต้เงื่อนไขอัตราการบริโภคเครื่องดื่มของผู้บริโภคไม่เพิ่ม)

2. ระดับความรุนแรงของการแข่งขันด้านราคาที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ทั้งจากผู้เล่นเดิมในธุรกิจเครื่องดื่มที่อาจจะข้ามสายการผลิต หรือสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่-เจาะลูกค้ากลุ่มใหม่ เพื่อเพิ่มอัตราการทำกำไรให้กับธุรกิจมากขึ้น รวมถึงผู้เล่นรายใหม่ข้ามธุรกิจที่มองเห็นโอกาสทางการตลาดและต้องการแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด เช่น ธุรกิจอาหาร ธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพและความงาม (อาหารเสริม โรงพยาบาล) เป็นต้น ดังนั้น ด้วยจำนวนผู้เล่นที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะหากผู้เล่นรายใหญ่ที่มีความได้เปรียบเรื่องช่องทางการจำหน่ายที่เข้าถึงผู้บริโภคและจุดแข็งด้านการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดการขายผ่านกิมมิกต่างๆ ลงมาแข่งขันในตลาดนี้ ในที่สุดแล้วจะนำไปสู่การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งกดดันต่อความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการ รวมถึงอัตราการเติบโตของตลาดในระยะต่อไป [1]

ผู้เล่นทั้งหน้าใหม่และเก่าดาหน้าเข้ามาทำตลาด

ต่อมาในเดือน พ.ย. 2563 สื่อฐานเศรษฐกิจระบุว่า 'น้ำดื่มผสมวิตามิน' แม้จะไม่ใช่เซ็กเมนต์ใหม่ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มระดับโลกที่ได้รับความนิยมในประเทศแถบญี่ปุ่น อเมริกา ตั้งแต่ช่วง 10 ปีก่อน แต่ทว่าเพิ่งเข้ามาทำตลาดที่เมืองไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และมีการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปจากผู้เล่นเพียงไม่กี่ราย แต่ทว่าการระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ผลักดันให้กระแสสุขภาพมาแรง ส่งผลทำให้ตลาดเติบโตแบบก้าวกระโดดเหนือความคาดหมาย ซึ่งเป็นผลพวงมาจากความเชื่อของผู้บริโภคที่ว่าวิตามินซีเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันโรคหวัด

โดยหากนับเฉพาะช่วงเดือน ต.ค. 2563 มีผู้เล่นทั้งหน้าใหม่และเก่าดาหน้าเข้ามาทำตลาดแล้วไม่ต่ำกว่า 4-5 ราย ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ก็ได้ทอยอยออกสินค้าน้ำดื่มผสมวิตามินออกมา เช่นกลุ่ม รพ.ยันฮี ที่เปิดตัว ยันฮี วิตามิน วอเตอร์, แบรนด์วิตอะเดย์ วิตามินวอเตอร์ โดย บริษัท เจนเนอรัล เบฟเวอร์เรจ จำกัด, กลุ่มศรีนานาพร ที่เปิดตัว อควาวิทซ์ บาย เจเล่, อิชิตัน กรุ๊ป ที่ส่งน้องใหม่ในพอร์ต CHITAN Vitamin Water C Plus E ออกมารุกตลาด ล่าสุด 'สิงห์' ก็ส่งแบรนด์ 'เพอร์ร่า' เปิดตัวด้วยเช่นกัน [2]

'มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค' เผยผลทดสอบพบปริมาณวิตามินทั้งใน 'น้ำดื่มและเครื่องดื่ม' บางสินค้าไม่ตรงกับฉลาก

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภายใต้โครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เผยผลทดสอบปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวน 47 ตัวอย่าง ที่วางจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด พบมีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลากสินค้า และมีถึง 8 ตัวอย่างที่ไม่พบปริมาณวิตามินซี | ที่มาภาพ: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2563 ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภายใต้โครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เผยผลทดสอบปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวน 47 ตัวอย่าง ที่วางจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด พบมีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลากสินค้า และมีถึง 8 ตัวอย่างที่ไม่พบปริมาณวิตามินซี แนะผู้บริโภครับประทานวิตามินซีจากผักหรือผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม ฝรั่ง หรือลูกหม่อน

ตัวอย่างเครื่องดื่มผสมวิตามินซี ที่ตรวจไม่พบปริมาณวิตามินซี จำนวน 8 ตัวอย่าง ได้แก่

1. ยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์ Yanhee VITAMIN C WATER กราสเจลลี่ (เครื่องดื่มผสมน้ำเฉาก๊วยสกัดและวิตามินซี) ขนาด 460 มล. (วันผลิต 07-10-2020 / 07-10-2021)

2. นูริชเมท Nurish Mate ขนมเยลลี่บุก และคาราจีแนน ผสมคอลลาเจน วิตามินซี และน้ำองุ่นขาว 15% กลิ่นสตรอเบอร์รี่ และพีช ขนาด 150 มล. (วันผลิต 11-08-2020 / 10-08-2021)

3. มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นกลิ่นส้มผสมวิตามิน ขนาด 48 มล. (วันผลิต12-06-2019 / 12-06-2021)

4. มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นกลิ่นเบอร์รี่เลมอนผสมวิตามิน ขนาด 48 มล. (วันผลิต 07-03-2019 / 07-03-2021)

5. เครื่องดื่มรสมะนาวเลม่อน ตรามินิ Lemonade Vitamin C200 ขนาด 345 มล. (วันผลิต00-00-0000 / 03-10-2021)

6. เฟสต้า-ซี เดลี่ ไฟเบอร์ ลิ้นจี่ เฟลเวอร์ เครื่องดื่มน้ำรสลิ้นจี่ 12% ผสมวิตามินซี และใยอาหาร 100 ขนาด มล.(วันผลิต 02-09-2019 / 01-03-2021)

7. มินิ พิงค์เลม่อนเนด เครื่องดี่มรสเลม่อนผสมเบอร์รี่ ขนาด 345 มล. (วันผลิต 00-00-00 / 26-08-21)

8. ดี.อาร์.ดริ้งค์ D.R.DRINK เจนไม วิตามิน วอเตอร์ (เครื่องดื่มผสมวิตามินซี วิตามินบี3 บี6 บี12 ไบโอติน กรดโฟลิค แซฟฟลาเวอร์และแคลเซียมจากสาหร่ายลิโทรามเนียน) ขนาด 500 มล. (วันผลิต09-11-2020 / 09-11-2021)

เมื่อเปรียบเทียบปริมาณวิตามินซีกับคำกล่าวอ้างบนฉลาก มากกว่าหรือน้อยกว่า ร้อยละ 30 บนฉลากพบว่ามีผลิตภัณฑ์จำนวน 37 ตัวอย่าง มีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลาก มีทั้งปริมาณมากและน้อยกว่าที่อ้างบนฉลาก

ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังระบุว่าปริมาณวิตามินซีที่แนะนำให้บริโภคต่อวันตาม Thai RDI* (Thai Recommended Daily Intakes คือ ปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป) อยู่ที่ 60 มิลลิกรัม โดยวิตามินซีสามารถสลายตัวได้ง่ายหากสัมผัสกับแสงหรือความร้อน แหล่งอาหารสำคัญที่ผู้บริโภคสามารถเลือกบริโภคเพื่อให้ได้วิตามินซี คือ ผักผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม, ฝรั่ง หรือ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ และหม่อน อย่างไรก็ตาม การรับประทานวิตามินซี ปริมาณสูง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นนิ่วในไตได้ [3]

แบรนด์ดังชี้แจง

หลังจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเผยผลทดสอบปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวน 47 ตัวอย่าง ที่วางจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด พบมีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลากสินค้า และมีถึง 8 ตัวอย่างที่ไม่พบปริมาณวิตามินซี หลายแบรนด์ที่มีชื่ออยู่ในผลการทดสอบของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ได้ออกมาชี้แจงดังนี้

ยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์ จากกรณีศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่เปิดเผยผลทดสอบปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มผสมวิตามินซี 47 ตัวอย่าง ตามท้องตลาด พบมีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลากสินค้า และมีถึง 8 ตัวอย่างที่ไม่พบปริมาณวิตามินซี หนึ่งในนั้นคือ "ยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์" (เครื่องดื่มผสมน้ำเฉาก๊วยสกัดและวิตามินซี) ผลิตโดยบริษัท ยันฮี วิตามิน วอเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ โรงพยาบาลยันฮี

ต่อมาทางบริษัท ยันฮี วิตามิน วอเตอร์ จำกัด ได้ออกหนังสือชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่ากรณีที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการตรวจสอบวิตามินในเครื่องดื่ม ยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์ โดยศูนย์ทดสอบฉลากซื้อแล้วไม่พบวิตามินในวันผลิต 7/10/2563 และหมดอายุ 7/10/2564 นั้น บริษัท ยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์ ใคร่ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้

1.บริษัท ยันฮี วิตามิน วอเตอร์ จำกัด ได้ให้ความสำคัญกับขั้นตอนการผลิต ตลอดจนกระบวนการตรวจสอบคุณภาพสินค้าในทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพก่อนถึงมือผู้บริโภค โดยมีกระบวนการผลิตที่ได้รับรองมาตรฐานจาก GMP และมาตรฐานโรงงานด้าน ISO 9001 ซึ่งเป็นมาตรฐานระบบคุณภาพที่กำกับดูแลทั้งการออกแบบ การพัฒนาการผลิต การติดตั้ง และการบริการ รวมทั้งได้รับเครื่องหมายรับรองมาตรฐานอาหารจาก สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (ฮาลาล)

2.เครื่องดื่มยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์ ได้มีการรับรองข้อมูลโภคชนาการ จากห้องทดสอบเอกชนระดับมาตรฐาน ISO 17025 ที่ได้รับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นอกจากนี้ ทางห้องปฏิบัติการ (Lab) ของบริษัทฯ ได้มีการวิเคราะห์หาปริมาณวิตามินซีในทุก Lot. ของการผลิต อย่างสม่ำเสมอ

3.บริษัทฯ ใคร่ขอยืนยันว่า เครื่องดื่ม ยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์ ในทุก Lot. ได้ใส่ส่วนผสมวิตามินซี ตามที่ได้ระบุไว้บนฉลากของเครื่องดื่ม แต่ด้วยคุณสมบัติบางประการของวิตามินซี ที่มีความเปราะบาง อาจมีโอกาสที่จะสลายได้ง่ายกว่าวิตามินตัวอื่นๆ โดยเฉพาะการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ อาจส่งผลให้การสลายตัวเร็วขึ้นกว่าปกติ และวิตามินซี ยังสามารถสลายตัวได้ง่ายในที่ที่มีความร้อน แสง และความชื้น แต่วิตามินซี ที่สลายไปนั้น จะกลายเป็นสารอื่นแทน คือ L-tartrate ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเช่นเดิม

4.ทีมงานวิจัยของบริษัทฯ ได้มีการคิดค้นวิธีการตามหลักวิทยาศาสตร์และนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เครื่องดื่ม ยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์ คงมาตรฐานเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี

อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทฯได้วางแผนการอบรมพนักงานให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการจัดเก็บสินค้าอย่างเหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่า สินค้าที่ส่งถึงมือผู้บริโภคนั้น ยังคงมาตรฐานเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี และบริษัทฯใคร่ขอขอบคุณทุกท่านที่ได้มอบความไว้วางใจให้กับเครื่องดื่ม ยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์ ด้วยดีเสมอมา และเรายังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาสินค้าให้ได้คุณภาพมาตรฐาน เพื่อความพึงพอใจสูงสุดของลูกค้าต่อไป [4]

ดี.อาร์.ดริ้งค์ กรณีที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการตรวจสอบวิตามินในเครื่องดื่ม  ดี.อาร์.ดริ้งค์ D.R.DRINK เจนไม วิตามิน วอเตอร์  โดยศูนย์ทดสอบฉลากซื้อแล้วไม่พบวิตามิน ในวันผลิต 09-11-2020 และหมดอายุ  09-11-2021 นั้น บริษัท ดี.อาร์.ดริ้งค์ จำกัด (บริษัท) ใคร่เรียนขอชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้

1. การผลิตสินค้าเครื่องดื่มดังกล่าว ในขั้นตอนการผลิตได้มีการใส่วิตามินซีตามปริมาณที่ระบุข้างบรรจุภัณฑ์แล้วจริง รายละเอียดผลการตรวจ ปรากฏตามรายงานผลการทดสอบ ฉบับลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 และฉบับลงวันที่ 25 สิงหาคม 2563

2. คุณสมบัติบางประการของวิตามินซีที่มีโอกาสสลายง่ายกว่าวิตามินตัวอื่น ๆ นั้น อาจทำให้ปริมาณของวิตามินซีในสินค้าลดลงไปจากที่ระบุไว้ในฉลาก แต่ไม่ถึงกับสลายจนไม่สามารถตรวจพบวิตามินซีในสินค้าได้ เพราะโดยปกติวิตามินซีเมื่อละลายในน้ำจะเกิด hydrolysis เป็นสารอื่นที่มีประโยชน์ และคงอยู่ในน้ำเหมือนเดิม แต่อย่างไรก็ตามยังพบว่าปริมาณวิตามินซีลดลงตามหลักวิชาการแต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก ซึ่งบริษัทปฏิบัติต่อลูกค้าและผู้บริโภคด้วยความซื่อตรง

3. บริษัทเล็งเห็นว่าการใส่วิตามินซีเกินปริมาณที่กฎหมายกำหนด บริษัทพิจารณาแล้วว่าไม่ควรทำ เนื่องจากถ้าผู้บริโภครับประทานเครื่องดื่มเป็นจำนวนหลายขวด จะทำให้เกิดความผิดปกติอย่างอื่นตามมาได้ เช่น อาการท้องเสียอาการระคายเคืองทางเดินอาหารต่าง ๆ เป็นต้น

4. การที่บริษัทเลือกใช้ขวดใสไม่ผสมสี เพื่อทำให้ขวดเป็นพลาสติกชนิดดีสามารถนำกลับไปใช้รีไซเคิลได้ซึ่งอาจจะมีส่วนทำให้ปริมาณวิตามินซีลดลงได้บ้าง แต่บริษัทได้เลือกใช้วิธีพันแร็ปรอบขวดเพื่อลดโอกาสการสูญเสียวิตามินให้น้อยที่สุด นอกจากนี้ บริษัทเติมสารต้านอนุมูลอิสระจากส่วนผสมอื่น ๆ เพิ่ม เช่น สารสกัดจากข้าว สารสกัดจากดอกคำฝอย แร่ธาตุจากอความิน เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับผลประโยชน์จากการบริโภคสินค้าอย่างคุ้มค่า

บริษัทยังคงรักษามาตรฐานการผลิต, มาตรฐานของวิตามินที่ผสมลงในเครื่องดื่มผสมวิตามิน ดี.อาร์.ดริ้งค์ให้อยู่ในระดับคุณภาพ GMP & HACCP และอยู่ระหว่างการพัฒนาสินค้าในส่วนของการพันแร็ปพลาสติกรอบขวดให้สามารถป้องกันและเก็บวิตามินได้มากขึ้น ทั้งนี้ บริษัทยังคงมุ่งมั่นพัฒนาสินค้าเพื่อประโยชน์อันสูงสุดกับผู้บริโภคต่อไป และมีความยินดีที่ได้มีโอกาสชี้แจงและพร้อมรับฟังทุกข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปพัฒนาสินค้าให้สามารถตอบโจทย์แก่ผู้บริโภคให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป [5]

'มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค' ยืนยันตรวจสอบมีมาตรฐาน เป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่เคยรับเงินบริษัท

ทั้งนี้หลังจากแถลงผลผลทดสอบปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวน 47 ตัวอย่าง ไปแล้วนั้น ได้มีผู้กล่าวหามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทำนองว่า "...มีบางกลุ่มทดสอบแล้วไม่ให้ความเป็นธรรมกับการตรวจวิตามินซีบางยี่ห้อ หรือ การตรวจมีเบื้องหลังหรือไม่ ดูย้อนแย้งและมีพิรุธ ชอบกล นั้น..." มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้แถลงชี้แจงถึงกระบวนการทดสอบอาหารเครื่องดื่มผสมวิตามินซีของนิตยสารฉลาดซื้อ ได้มีการสุ่มตัวอย่างในเดือน พ.ย. 2563 จำนวน 47 ตัวอย่าง จากทุกยี่ห้อเท่าที่จะหาซื้อได้ในท้องตลาดในช่วงเวลาที่กำหนด โดยมีหลักฐานจ่ายเงินเหมือนผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าเหล่านี้ จากนั้นได้ส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปทดสอบในห้องทดลองของมหาวิทยาลัย หรือห้องทดสอบเอกชนระดับมาตรฐาน ISO 17025 เมื่อทราบผลแล้วจะมีการนำเสนอให้ประชาชนทราบ และเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อพิจารณาหามาตรการนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุง เพื่อเป็นการคุ้มครองประชาชนผู้บริโภคต่อไป

"ที่ผ่านมาการวางแผนในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่จำหน่ายในเมืองไทยจะมีคณะทำงานที่มีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการในด้านต่าง ๆ มาประชุม และวางแผนร่วมกัน ทั้งในแง่ของตัวผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการออกแบบวิธีการทดสอบ เน้นหลักความเป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ใช้การสุ่มซื้อสินค้าที่มีการจำหน่ายจากร้านค้าจริงทั่วไปและออนไลน์เหมือนผู้บริโภคซื้อสินค้า และยืนยันว่าทำงานทดสอบและเผยแพร่ข้อมูลผ่านนิตยสารฉลาดซื้อ ซึ่งเป็นสื่อสาธารณะที่ไม่รับโฆษณาจากบริษัทต่าง ๆ เพื่อทำให้สามารถรักษาผลประโยชน์สาธารณะได้อย่างตรงไปตรงมา" เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุ [6]

กรมอนามัยแนะดื่มน้ำเปล่าเพียงพอดีต่อสุขภาพ ไม่ต้องพึ่งน้ำผสมวิตามิน

ด้าน นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่าจากกระแสโฆษณาทางโทรทัศน์และโซเชียลมีเดีย เรื่องการบริโภคน้ำด่าง pH 8.5 น้ำดื่มผสมวิตามิน น้ำดื่มผสมคอลลาเจน หรือสารอาหารอื่นๆ ที่ร่างกายสามารถสร้างเองได้ หรือได้รับจากการกินอาหารในแต่ละวันนั้น ขอชี้แจงว่า โดยปกติแล้วร่างกายมนุษย์ต้องการน้ำดื่มสะอาดอย่างเพียงพอ วันละ 6–8 แก้ว หรือดื่มเพิ่มขึ้นตามน้ำหนักตัวในช่วงหน้าร้อนหรือภาวะขาดน้ำ โดยน้ำสะอาดนั้น ควรมีค่าความเป็นกรด-ด่าง หรือ pH ประมาณ 7.00 หรืออยู่ในช่วง 6.5-8.5 ตามเกณฑ์คุณภาพน้ำบริโภค กรมอนามัย หรือเกณฑ์มาตรฐานน้ำบริโภคในภาชนะที่บรรจุปิดสนิท จึงไม่จำเป็นต้องผสมสารอาหาร วิตามิน หรือด่างเข้าไป เพราะแค่จิบน้ำบ่อยๆ อย่างเพียงพอ ก็ช่วยทำให้สดชื่น ผิวพรรณเปล่งปลั่ง รวมถึงร่างกายสามารถทำงานได้อย่างสมดุลแล้ว

“ในแต่ละวันร่างกายมนุษย์ได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายทั้ง 5 หมู่ จากการกินอาหาร ในแต่ละมื้ออยู่แล้ว โดยเฉพาะแหล่งอาหารจำพวกผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ไขมัน ข้าวหรือแป้ง หากรับเพิ่มจากน้ำดื่มผสมวิตามิน น้ำด่าง หรือสารอื่น ๆ ก็จะไม่เกิดประโยชน์ต่อร่างกายแต่อย่างใด เพราะร่างกายมีความต้องการในปริมาณที่จำกัดในแต่ละวัน ถ้าหากเกินกว่าความต้องการแล้ว ระบบกลไกของร่างกายจะกำจัดออกมาในรูปของเสียต่าง ๆ เช่น เหงื่อ ปัสสาวะ เป็นต้น” นพ.ดนัยกล่าว

นอกจากนี้ นพ.ดนัยกล่าวว่า ผู้บริโภคยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำดื่มผสมวิตามิน น้ำด่าง หรือสารอื่น ๆ ในราคาที่สูงอีกด้วย จึงแนะนำให้ดื่มน้ำสะอาดในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อสุขภาพที่ดี โดยเลือกซื้อน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุปิดสนิทที่มีคุณภาพและมีมาตรฐาน ซึ่งก่อนซื้อควรพิจารณาโดยน้ำต้องใส ไม่มีตะกอน ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ฝาปิดผนึกปิดสนิท ไม่มีร่องรอยการเปิดใช้งาน ภาชนะสะอาด ไม่รั่วซึม มีเครื่องหมาย อย.กำกับ และราคาเหมาะสม [7]

 

ที่มาข้อมูล
[1] น้ำดื่มผสมวิตามิน เซกเมนต์ใหม่…บุกตลาดเครื่องดื่ม (ศูนยวิจัยกสิกรไทย, 15 ก.ย. 2563)
[2] น้ำดื่มวิตามิน 5,500 ล้าน แข่งเดือด ขาใหญ่ เปิดศึกชิงแชร์ (ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ 12 พ.ย. 2563)
[3] 'ฉลาดซื้อ' เผยผลตรวจ ‘เครื่องดื่มผสมวิตามินซี’ ไม่พบปริมาณวิตามินซี 8 ตัวอย่าง (มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, 15 ธ.ค. 2563)
[4] "ยันฮี" แจงดราม่า ปมทดสอบไม่พบ "วิตามินซี" ในน้ำดื่ม (กรุงเทพธุรกิจ, 17 ธ.ค. 2563)
[5] ดี.อาร์.ดริ้งค์ ยันอีกราย ใส่วิตามินในเครื่องดื่มตามที่ระบุบนฉลาก (ประชาชาติธุรกิจ, 17 ธ.ค. 2563)
[6] โต้ นักวิชาการ กล่าวหา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค - ฉลาดซื้อ หลังตีข่าว 'ผลตรวจวิตามินซี' (มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, 16 ธ.ค. 2563)
[7] กรมอนามัยแนะดื่มน้ำเปล่าเพียงพอดีต่อสุขภาพ ไม่ต้องพึ่งน้ำผสมวิตามิน (มติชนออนไลน์, 17 ธ.ค. 2563)




ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: