สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 21 ก.ค. 2563

กองบรรณาธิการ TCIJ 21 ก.ค. 2563 | อ่านแล้ว 1251 ครั้ง

สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 21 ก.ค. 2563

21 ก.ค. 2563 เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล   พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

กฎหมาย

1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. .... ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
                   สลค. เสนอว่า 
                   1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 121 บัญญัติให้ในปีหนึ่งมีสมัยประชุมสามัญของรัฐสภาสองสมัย ๆ หนึ่งให้มีกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวัน โดยให้ถือวันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก เป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ส่วนวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สองให้เป็นไปตามที่สภาผู้แทนราษฎรกำหนด และเนื่องจากได้มีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2562 กำหนดให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก โดยให้ถือเป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 และต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้กำหนดให้วันที่  1 พฤศจิกายน เป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบแล้ว  (มติคณะรัฐมนตรี 30 กรกฎาคม 2562) ดังนั้น ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรจึงมีวันเปิดและวันปิดสมัยประชุม ดังนี้

ปีที่ สมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง สมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง
1 22 พฤษภาคม 2562 – 18 กันยายน 2562 1 พฤศจิกายน 2562 – 28 กุมภาพันธ์ 2563
2 22 พฤษภาคม 2563 – 18 กันยายน 2563 1 พฤศจิกายน 2563 – 28 กุมภาพันธ์ 2564
3 22 พฤษภาคม 2564 – 18 กันยายน 2564 1 พฤศจิกายน 2564 – 28 กุมภาพันธ์ 2565
4 22 พฤษภาคม 2565 – 18 กันยายน 2565 1 พฤศจิกายน 2565 – 28 กุมภาพันธ์ 2566

                   2. โดยที่ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2563 ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 นั้น บัดนี้ ใกล้จะสิ้นกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวันตามสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่งในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2563 สมควรที่จะกำหนดให้ปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2563
จึงเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
 
2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559  รวม 3 ฉบับ
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 รวม 3 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 
                   1. ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตนำผ่านซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ทุกประเภท พ.ศ. …. 
                             1.1 กำหนดให้ผู้ประสงค์จะนำผ่านซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อผู้อนุญาต พร้อมด้วยสำเนาใบอนุญาตส่งออกหรือหนังสือแสดงการอนุญาตให้ส่งออกของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศที่ส่งออก ซึ่งผู้ขออนุญาตต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย  
                             1.2 กำหนดให้ผู้อนุญาตพิจารณาออกใบอนุญาตนำผ่านซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ให้แก่ผู้ขออนุญาตภายใน 45 วันนับแต่วันที่ได้รับคำขอรับใบอนุญาต และให้ผู้อนุญาตมีหนังสือแจ้งให้ผู้อนุญาตทราบโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ไปพร้อมกับหนังสือแจ้ง  
                             1.3 กำหนดให้คำขอ ใบรับคำขอ และใบอนุญาตตามกฎกระทรวงนี้ ให้เป็นตามแบบที่เลขาธิการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
                             1.4 ใบอนุญาตนำผ่านซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ต้องมีสำเนาใบอนุญาตและมีหมายเลขกำกับไว้ที่สำเนาใบอนุญาตด้วย 
                             1.5 กำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตการนำผ่านซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ต้องนำวัตถุออกฤทธิ์มาให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ณ ด่านตรวจสอบวัตถุออกฤทธิ์ โดยชนิด จำนวนหรือปริมาณต้องไม่เกินที่ระบุไว้ในใบอนุญาตนำผ่าน และห้ามเปลี่ยนแปลงการส่งวัตถุออกฤทธิ์ไปยังจุดหมายอื่นที่ไม่ได้ระบุในใบอนุญาตส่งออก เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศผู้ออกใบอนุญาตนั้นและเลขาธิการให้ความเห็นชอบแล้ว ในกรณีที่ไม่อาจส่งวัตถุออกฤทธิ์ไปยังจุดหมายที่กำหนดได้ ให้ส่งวัตถุออกฤทธิ์นั้นกลับคืนไปยังประเทศที่ส่งออกภายใน 30 วันนับแต่วันที่เข้ามาในราชอาณาจักร หากไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด ให้วัตถุออกฤทธิ์นั้นตกเป็นของ สธ. และให้ สธ. หรือผู้ซึ่ง สธ. มอบหมายทำลายหรือนำไปใช้ประโยชน์ได้ตามระเบียบที่ สธ. กำหนด 
                             1.6 กำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตนำผ่านซึ่งวัตถุออกฤทธิ์เสนอรายงานเกี่ยวกับการดำเนินกิจการตามที่ได้รับอนุญาตต่อเลขาธิการตามแบบ  
                             1.7 กำหนดให้การยื่นคำขออนุญาต การอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาตให้ดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในระหว่างที่ยังไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ให้ยื่นคำขอ ณ กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สธ. หรือสถานที่อื่นตามที่เลขาธิการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
                   2. ร่างกฎกระทรวงการขอขึ้นทะเบียนวัตถุตำรับและการขึ้นทะเบียนวัตถุตำรับที่มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 พ.ศ. …. 
                             2.1 กำหนดหลักเกณฑ์การยื่นคำขอขึ้นทะเบียนวัตถุตำรับ เพื่อจะผลิตหรือนำเข้าซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือ ประเภท 4 ต่อผู้อนุญาต ส่วนการขึ้นทะเบียนวัตถุตำรับเพื่อการส่งออกซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากวัตถุตำรับที่ขายภายในประเทศให้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนเพื่อเป็นการส่งออกเป็นการเฉพาะ  
                             2.2 กำหนดให้ในกรณีที่คำขอขึ้นทะเบียนวัตถุตำรับ รวมทั้งข้อมูลและเอกสารถูกต้องและครบถ้วน ให้ผู้อนุญาตพิจารณาออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุตำรับให้แก่ผู้ขึ้นทะเบียนภายใน 300 วัน และมีหนังสือแจ้งให้ผู้ขอขึ้นทะเบียนวัตถุตำรับทราบ และกรณีผู้อนุญาตมีคำสั่งไม่รับขึ้นทะเบียน ให้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ขอขึ้นทะเบียนทราบพร้อมด้วยเหตุผลและสิทธิอุทธรณ์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่มีคำสั่งไม่รับขึ้นทะเบียน  
                             2.3 กำหนดให้ยื่นคำขอต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุตำรับต่อผู้อนุญาตภายใน 360 วัน ก่อนใบสำคัญฉบับเดิมสิ้นอายุ และเมื่อได้ยื่นคำขอแล้วจะประกอบกิจการต่อไปได้จนกว่าจะได้มีคำสั่งไม่ต่ออายุใบสำคัญนั้น  
                             2.4 กำหนดให้คำขอ ใบรับคำขอ และใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุตำรับตามกฎกระทรวงนี้ เป็นไปตามแบบที่เลขาธิการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา 
                             2.5 กำหนดให้การยื่นคำขอขึ้นทะเบียนวัตถุตำรับ การขึ้นทะเบียนวัตถุตำรับ การแก้ไขรายการทะเบียนวัตถุตำรับ การต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุตำรับ และการออกใบแทนใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุตำรับตามกฎกระทรวงนี้ ให้ดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ในระหว่างที่ยังไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ให้ยื่นคำขอ ณ กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สธ. หรือสถานที่อื่นตามที่เลขาธิการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
                   3. ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตให้ผลิตหรือนำเข้าตัวอย่างของวัตถุตำรับที่มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 พ.ศ. …. 
                             3.1 กำหนดให้ผู้ประสงค์จะผลิตหรือนำเข้าตัวอย่างของวัตถุตำรับออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 เพื่อดำเนินการขอขึ้นทะเบียนวัตถุตำรับ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อผู้อนุญาตพร้อมด้วยข้อมูลและเอกสารตามที่กำหนด 
                             3.2 กำหนดให้ผู้อนุญาตพิจารณาและออกใบอนุญาตให้ผลิตหรือนำเข้าตัวอย่างของวัตถุตำรับให้แก่ผู้ขออนุญาตภายใน 14 วัน และให้ผู้อนุญาตมีหนังสือแจ้งให้ผู้ขออนุญาตทราบ และในกรณีมีคำสั่งไม่อนุญาตให้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ขออนุญาตทราบพร้อมด้วยเหตุผลและสิทธิอุทธรณ์ภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งไม่อนุญาต   
                             3.3 กำหนดให้คำขอ ใบรับคำขอ และใบอนุญาตตามกฎกระทรวงนี้เป็นไปตามแบบที่เลขาธิการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา 
                             3.4 กำหนดให้การยื่นคำขอผลิตหรือนำเข้าตัวอย่างของวัตถุตำรับที่มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4 ดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ในระหว่างที่ยังไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ยื่นคำขอ ณ กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สธ. หรือสถานที่อื่นตามที่เลขาธิการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา  
 
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                   ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยได้รับยกเว้นหนึ่งรอบใบอนุญาต
                   ทั้งนี้ กษ. เสนอว่า ได้มีกฎกระทรวงกำหนดค่าอากรและค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประมง  พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจากผู้ประสงค์จะทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นโรคระบาดเพิ่งเกิดขึ้นใหม่และได้แพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ซึ่งประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว และส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้ไม่สามารถขายผลผลิตได้ตามปกติ   
                   ดังนั้น เพื่อลดภาระและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว จึงเห็นควรกำหนดยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้แก่ผู้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน   ซึ่งการยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวอาศัยอำนาจตามมาตรา 6 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ที่บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดยกเว้นค่าอากรและค่าธรรมเนียมได้ไม่เกินอัตราท้ายพระราชกำหนดฯ 
                   กษ. ได้รายงานผลการดำเนินการตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ว่า ปัจจุบันได้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามกฎกระทรวงกำหนดค่าอากรและค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประมง พ.ศ. 2559 เป็นเงินจำนวน 41,290,747.16 บาท รวมกับข้อมูลการประมาณการค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในทุกจังหวัดที่อยู่ระหว่างดำเนินการออกใบอนุญาตเป็นเงิน 18,203.505.11 บาท รวมเป็นเงินที่อาจก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐ เฉลี่ยต่อปีคิดเป็นเงิน 59,494,252.11 บาท แต่อย่างไรก็ดี การยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตดังกล่าวเป็นไปเพื่อลดภาระและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. …. มาเพื่อดำเนินการ
 
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไปได้ และให้ อก. รับความเห็นของสำนักงบประมาณและสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                    สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 
                   1. ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. …. เป็นการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาต และใบแทนใบอนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2564
                   2. ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง พ.ศ. …. เป็นการยกเว้นค่าธรรมเนียมคำขอรับใบอนุญาต คำขอรับใบรับรองค่าธรรมเนียมค่าตรวจสอบคำขอรับใบอนุญาตค่าตรวจสอบคำขอรับใบรับรอง ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ใบรับรอง ใบแทนใบอนุญาต ใบแทนใบรับรอง และค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตหรือใบรับรอง โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2564
                   ทั้งนี้ อก. เสนอว่า ได้มีกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2548 และกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง พ.ศ. 2552 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม  พ.ศ. 2511 และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการมาตรฐานแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ซึ่งบัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่น เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ 
                   เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและส่งผลต่อภาวะทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการประสบกับภาวะรายได้ตกต่ำและต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการลดภาระและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการ จึงสมควรยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรองตามที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2548 และกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง พ.ศ. 2552 รวม 2 ฉบับ อก. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ขึ้น รวม 2 ฉบับ เพื่อยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าว โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 
                   การดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐและประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ดังนี้  
                   1) การยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากค่าธรรมเนียมประมาณ 64.8 ล้านบาท  
                   2) การยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากค่าธรรมเนียมประมาณ 20 ล้านบาท   
                   3) ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ เป็นการลดภาระและบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการอันเนื่องมาจากภาวะทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเพื่อเป็นการพยุงสถานะของโรงงานให้มีการประกอบกิจการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเกิดผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีมูลค่ามากกว่ารายได้ที่รัฐจะต้องสูญเสียไป  
 
5. เรื่อง เสนอร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ฉบับที่ ..) 
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ ดังนี้ 
                   1. ให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองออกประกาศ กำหนดระยะเวลาให้คนต่างด้าวมาดำเนินการตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 26 กันยายน 2563  
                   2. ให้ขยายระยะเวลาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 (รวมทั้งภายใต้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) หรือตามประกาศกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้อง ตามข้อ 2 (1) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ลงวันที่ 7 เมษายน 2563 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 23 เมษายน 2563 ไปพลางก่อน ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 ถึงวันที่ 26 กันยายน 2563
                   3. ให้ขยายระยะเวลาการแจ้งที่พักอาศัยตามมาตรา 37 (5) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 หรือตามประกาศกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้อง ตามข้อ 2 (2) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ลงวันที่ 7 เมษายน 2563 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 23 เมษายน 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 ถึงวันที่ 26 กันยายน 2563
                   ทั้งนี้ สตช. เสนอว่า 
                   ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ลงวันที่ 7 เมษายน 2563 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามประเภทการตรวจลงตรา (รวมทั้งการตรวจลงตรา Visa on Arrival) และคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามสิทธิการยกเว้นการตรวจลงตรา (ผ.30/ผผ.14/ผผ.30/ผผ.90) ซึ่งกำหนดระยะเวลาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรจะสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ได้รับการขยายระยะเวลาอยู่ในราชอาณาจักรไปพลางก่อนตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ไม่ต้องมาดำเนินการยื่นคำขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 รวมทั้งการแจ้งที่พักอาศัยตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ด้วยการให้กิจการและกิจกรรมต่าง ๆ สามารถดำเนินการได้มากขึ้น จึงเห็นควรให้คนต่างด้าวดังกล่าวซึ่งการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 มาดำเนินการตามมาตรา 35 และมาตรา 37 (5) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องภายในระยะเวลาที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกำหนด
 

เศรษฐกิจ - สังคม

 
6.  เรื่อง ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับแนวทางการร่างกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบข้อเสนอแนะของคณะกรรมการพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับแนวทางการ    ร่างกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ และให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติตามแนวทางการร่างกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเคร่งครัดต่อไป และให้หน่วยงานของรัฐที่อยู่ระหว่างดำเนินการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายถือปฏิบัติตามแนวทางการร่างกฎหมายดังกล่าวด้วย ตามที่ สคก. เสนอ 
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   แนวทางการร่างกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนี้ 
                   1. ควรกำหนดให้ชัดเจนว่าการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ใบแทนใบอนุญาต ให้กระทำด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ในกรณีที่ยังไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้หรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ขัดข้อง จึงให้มาติดต่อกับเจ้าหน้าที่
                    2. ไม่ควรกำหนดให้เป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องแจ้งข้อมูลต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ หากข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลซึ่งอยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐ หรือเป็นข้อมูลซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐทราบอยู่แล้ว และหากจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องกำหนดเช่นนั้น ก็ไม่ควรใช้โทษอาญาแก่ผู้ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัตินั้น เช่น กรณีมาตรา 48 ประกอบกับมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ที่กำหนดว่า เมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินใช้บังคับในท้องที่ใดแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งให้บรรดาเจ้าของที่ดินที่มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน แจ้งจำนวนแปลงที่ดิน ขนาด ที่ตั้งและการทำประโยชน์ในที่ดินที่ตนเป็นเจ้าของต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเก้าสิบวัน ตามแบบและวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนด หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีดังกล่าว ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท 
                   3. ไม่ควรกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตซึ่งไม่ขอรับใบแทนใบอนุญาตที่สูญหายถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ ต้องรับโทษอาญา เช่น มาตรา 12 ทวิ ประกอบกับมาตรา 6 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พุทธศักราช 2474 มาตรา 82 ประกอบกับมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 มาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530
                   4. ไม่ควรกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องแสดงใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย  ณ สถานประกอบการของผู้ได้รับใบอนุญาต เพราะไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์และไม่ควรกำหนดโทษอาญาในกรณีที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว หากมีความจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ที่จะต้องกำหนดเช่นนั้น เพราะผู้อนุญาตมีอำนาจในการตรวจสอบอยู่แล้ว และปกติทั่วไปประชาชนก็ไม่สนใจที่จะดูเอกสารดังกล่าว คงเป็นเรื่องระหว่างผู้อนุญาตและผู้รับใบอนุญาตเท่านั้น เช่น มาตรา 22 ประกอบมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 ซึ่งกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องแสดงใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ โรงฆ่าสัตว์ของตน หากไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท ตรงกันข้าม สมควรที่จะกำหนดกลไกหรือมาตรการอำนวยความสะดวกและลดภาระให้แก่ผู้ประกอบกิจการซึ่งเข้ามาอยู่ในระบบและขออนุญาตอย่างถูกต้องแทน เช่น การแสดงใบอนุญาตในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ทำนองเดียวกับใบอนุญาตขับขี่ตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก
                   5. ควรใช้มาตรการซึ่งเป็นการจูงใจให้ดำเนินการ แทนมาตรการบังคับลงโทษ เพื่อมิให้กฎหมายสร้างภาระโดยไม่จำเป็นแก่ประชาชน เช่น มาตรา 25 ประกอบกับมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551 ที่กำหนดให้ผู้พบสิ่งอันมีเหตุควรเชื่อได้ว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์ ต้องแจ้งเจ้าพนักงานแห่งท้องที่ที่ พบนั้นทราบ หากไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท ถ้าปรับปรุงแก้ไขในเชิงจูงใจในลักษณะว่าผู้ใดพบซากดึกดำบรรพ์และมาแจ้งต่อเจ้าพนักงานจะได้รับรางวัล ก็จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 
                   6. มิให้กำหนดให้การไม่อำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นความผิดอาญาเนื่องจากไม่มีขอบเขตที่ชัดเจนในการใช้ดุลพินิจ อีกทั้งมีความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้ว 
                   7. ควรยกเลิกการใช้โทษอาญาในเรื่องที่เป็นเรื่องทางแพ่งโดยแท้ เช่น ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค
                   ทั้งนี้ สคก. รายงานว่า  คณะกรรมการพัฒนากฎหมายอยู่ระหว่างการจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. .... เพื่อเป็นกฎหมายกลาง โดยกำหนดหลักเกณฑ์ในการปรับเป็นพินัยสำหรับการกระทำหรืองดเว้นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ไม่ร้ายแรงและกฎหมายกำหนดให้ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัย ซึ่งไม่เป็นโทษทางอาญา และไม่มีการบันทึกเป็นประวัติอาชญากรรม 
                   การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. .... คณะกรรมการพัฒนากฎหมายได้ตรวจสอบบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งกำหนดโทษอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวหรือที่มีโทษปรับ หรือจำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับและกำหนดให้มีการเปรียบเทียบได้ ทั้งที่โดยสภาพแล้วไม่กระทบโดยตรงต่อความสงบเรียบร้อยหรือความปลอดภัยของประชาชนเพื่อจะเปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัยแทนความผิดอาญา ซึ่งการพิจารณาบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว คณะกรรมการพัฒนากฎหมายพบว่า กฎหมายหลายฉบับมีการกำหนดโทษอาญาทั้งที่ไม่ใช่ความผิดร้ายแรงซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ในการกำหนดโทษอาญาสำหรับกฎหมายที่จะตราขึ้นในอนาคต1 และมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นอกจากนี้ กฎหมายจำนวนมากมีบทบัญญัติที่ไม่เหมาะสมกับกาลสมัยและไม่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ อีกทั้งเป็นการสร้างภาระและต้นทุนที่ไม่จำเป็นแก่ประชาชน จึงเห็นควรวางแนวทางการร่างกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อให้หน่วยงานถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดต่อไป เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงกฎหมายให้ดีขึ้นเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน (Better Regulations for Better Life)
จึงได้เสนอข้อเสนอแนะของคณะกรรมการพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับแนวทางการร่างกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาเพื่อดำเนินการ
-------------------------------------------
คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (13 กุมภาพันธ์ 2561) เห็นชอบหลักเกณฑ์ในการกำหนดโทษอาญาสำหรับกฎหมายที่จะตราขึ้นในอนาคต รวม 3 ประการ ดังนี้ 1) เป็นการกระทำที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างร้ายแรงและมีผลกระทบต่อส่วนรวม 2) เป็นกรณีที่ไม่สามารถใช้มาตรการอื่นใดเพื่อบังคับใช้กฎหมายอย่างได้ผลหรือมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายได้ และ 3) ความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวหรือที่มีโทษจำคุกและเปรียบเทียบปรับทำให้คดีอาญาระงับได้ หากโดยสภาพแล้วไม่ใช่ความผิดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างกว้างขวาง สมควรใช้โทษปรับทางปกครองแทนหรือวิธีการอื่นแทนการปรับ และให้ดำเนินการต่อไปตามกรอบแนวทางการศึกษาและปรับปรุงกฎหมายเพื่อป้องกันมิให้มีการใช้ประโยชน์จากโทษอาญาที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ตามที่ สคก. เสนอ
 
7. เรื่อง ผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน – นครราชสีมา สำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) และการชี้แจงประเด็นข้อสังเกตของสำนักอัยการสูงสุดและความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และเรื่อง ผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี สำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) และการชี้แจงประเด็นข้อสังเกตของสำนักงานอัยการสูงสุดและความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
                   คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่อง ผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน – นครราชสีมา สำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) และการชี้แจงประเด็นข้อสังเกตของสำนักงานอัยการสูงสุดและความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และเรื่อง ผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี สำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) และการชี้แจงประเด็นข้อสังเกตของสำนักงานอัยการสูงสุดและความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอแล้วมีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุนตามที่สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) ได้ตรวจพิจารณาแล้ว โดยก่อนลงนามสัญญา ให้กรมทางหลวง (ทล.) ตรวจสอบสัญญาและเอกสารแนบท้ายสัญญาอีกครั้งให้ มีความถูกต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน กฎระเบียบ ประกาศ มติคณะรัฐมนตรี และมติคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 ตามข้อสังเกตของ อส.
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2565 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2558 โดยในส่วนของโครงการ M6 คณะรัฐมนตรีมีมติ (14 กรกฎาคม 2558) เห็นชอบให้ก่อสร้างภายในกรอบวงเงิน 84,600 ล้านบาท ส่วนโครงการ M81 คณะรัฐมนตรีมีมติ (14 กรกฎาคม 2558) เห็นชอบให้ก่อสร้างภายในกรอบวงเงิน 55,620 ล้านบาท และในครั้งนี้กระทรวงคมนาคม (คค.) โดยกรมทางหลวง (ทล.) ได้ขอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) ของโครงการทางหลวงพิเศษทั้งสองสาย ตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556
                   โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – สระบุรี – นครราชสีมา
                   สรุปรายละเอียดโครงการ
                   · มอเตอร์เวย์เก็บค่าผ่านทาง ขนาด 4 – 6 ช่องจราจร
                   · ระยะทาง 196 กิโลเมตร
                   · เชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
                   · กรอบค่าตอบแทนที่เอกชนจะได้รับ 33,258 ล้านบาท
                   · วงเงินค่าตอบแทนที่เอกชนเสนอขอรับ 21,308 ล้านบาท
                   ข้อมูลทั่วไปด้านวิศวกรรม
                   จำนวนช่องจราจร         4 – 6 ช่องจราจร
                   ทางแยกต่างระดับ         10 แห่ง
                   ด่านเก็บค่าผ่านทาง        9 แห่ง
                   ระบบเก็บค่าผ่านทาง      Manual, ETC, MLFF
                   ที่พักริมทาง (ไม่รวมอยู่ในสัญญา O&M ในครั้งนี้)
                   · Rest Area              5 แห่ง
                   · Service Area 2 แห่ง
                   · Service Center       1 แห่ง
                   โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี
                   สรุปรายละเอียดโครงการ
                   · มอเตอร์เวย์เก็บค่าผ่านทาง ขนาด 4 – 6 ช่องจราจร
                   · ระยะทาง 96 กม. เชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมสู่ภาคตะวันตก และโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย
                   · กรอบค่าตอบแทนที่เอกชนจะได้รับ 27,828 ล้านบาท
                   · วงเงินค่าตอบแทนที่เอกชนเสนอขอรับ 17,801 ล้านบาท
                   ข้อมูลทั่วไปด้านวิศวกรรม
                   จำนวนช่องจราจร         4 – 6 ช่องจราจร
                   ทางแยกต่างระดับ         8 แห่ง
                   ด่านเก็บค่าผ่านทาง        8 แห่ง
                   ระบบเก็บค่าผ่านทาง      Manual, ETC, MLFF
                   ที่พักริมทาง (ไม่รวมอยู่ในสัญญา O&M ในครั้งนี้)
                   · Rest Area    1 แห่ง
                   · Service Area 2 แห่ง
                   โครงการทางหลวงพิเศษทั้งสองโครงการที่ คค. เสนอมาในครั้งนี้มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากโครงการทางหลวงพิเศษที่ผ่านมา เนื่องจากจะเป็นสองโครงการแรกที่ใช้ด่านเก็บค่าผ่านทางฝั่งขาเข้าระบบแบบไม่มีไม้กั้นแบบ Full Multilane Free Flow (MLFF) ซึ่งจะช่วยลดปัญหาจราจรท้ายแถวสะสมบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทาง ลดความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และลดมลพิษที่จะเกิดขึ้นจากการจราจรแออัด
 
8. เรื่อง โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าแบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Microgrid) บนพื้นที่เกาะพะลวย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอดังนี้
                   1. อนุมัติให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าแบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Microgrid*) บนพื้นที่เกาะพะลวย จังหวัดสุราษฎร์ธานี วงเงินลงทุนรวม 172 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ในประเทศ จำนวน 129 ล้านบาท และเงินรายได้ กฟภ. จำนวน 43 ล้านบาท
                   2. เห็นชอบให้ กฟภ. กู้เงินในประเทศภายในกรอบวงเงิน จำนวน 129 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินลงทุนของโครงการดังกล่าว โดย กฟภ. จะทยอยดำเนินการกู้เงินตามความจำเป็นจนกว่างานจะแล้วเสร็จ
                   ทั้งนี้ ให้ มท. (กฟภ.) รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
หมายเหตุ : *Microgrid คือ ระบบไฟฟ้าขนาดเล็กที่สามารถบริหารจัดการได้แบบอิสระ (ไม่ต้องพึ่งพาระบบไฟฟ้าจากภายนอก) กรณีโครงการนี้ใช้ระบบ Microgrid แบบ Off – Grid โดยการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนเกาะและสามารถบริหารจัดการ (ผลิต กักเก็บ จำหน่ายไฟ) ได้เอง (บนเกาะ) ไม่ต้องเชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้าหลักบนฝั่ง
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   มท. รายงานว่า
                   1. ประชาชนในพื้นที่บ้านเกาะพะลวย ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ร้องเรียนว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่กันดาร ห่างไกลความเจริญ ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพประมงและทำสวน และยังไม่มีไฟฟ้าใช้ จึงขอให้อำเภอเกาะสมุยประสานจังหวัดสุราษฎร์ธานีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวได้มีไฟฟ้าใช้เพื่อการดำรงชีพและส่งเสริมการท่องเที่ยวในอนาคต
                   2. คณะกรรมการ กฟภ. ในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าแบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Microgrid) บนพื้นที่เกาะพะลวย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อให้ประชาชนบนเกาะมีไฟฟ้าใช้ ซึ่งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประชาชนบนเกาะและแผ่นดินใหญ่ และเป็นไปตามแผนงานของโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าแบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Microgrid) บนพื้นที่เกาะพะลวย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีระยะเวลาดำเนินการ ปี 2563 – 2564 รายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

หัวข้อ รายละเอียด
วัตถุประสงค์ 1. เพื่อสามารถจ่ายไฟฟ้าให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าบนพื้นที่เกาะพะลวยที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ตามนโยบายของรัฐบาล
2. สามารถบริหารและจัดการระบบพลังงานไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ
3. สนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและระบบกักเก็บพลังงาน
4. ลดการใช้น้ำมันดีเซลในการผลิตพลังงานไฟฟ้า
เป้าหมาย
และพื้นที่ดำเนินการ
ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าแบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Microgrid) บนพื้นที่เกาะพะลวย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ปริมาณงาน
 
 
 
 
 
ขอบเขตงาน ปริมาณงาน
1. ระบบผลิตพลังงานไฟฟ้า
    1.1 พลังงานแสงอาทิตย์
    1.2 ระบบกำเนิดไฟฟ้าดีเซล
    1.3 ระบบกักเก็บพลังงาน
    1.4 อาคารควบคุม
 
1,000 kWp
600 kW
500 kW/1,500 kWh
1 แห่ง
2. ระบบจำหน่ายบนเกาะ
    2.1 แรงสูง (50 SAC)
    2.2 แรงต่ำ (50 AW)
    2.3 หม้อแปลงจำหน่าย
 
3.7 วงจร-กิโลเมตร
2.5 วงจร-กิโลเมตร
400 kVA
 
 
 
 
 
 
 
หมายเหตุ :
KWp = หน่วยของกำลังผลิตสูงสุดของโซลาร์เซลล์
kW   = หน่วยบอกขนาดกำลังของเครื่องจักรอุปกรณ์ไฟฟ้า
kWh = หน่วยบอกพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ภายในเวลา 1 ชั่วโมง
SAC  = ชนิดของสายไฟฟ้า (สายไฟฟ้าแกนเดียวตัวนำอะลูมิเนียมแบบอัดแน่นหุ้มด้วยฉนวน)
AW   = ชนิดของสายไฟฟ้า (สายแรงต่ำชนิดทนสภาพอากาศ)
kVA  = พิกัดกำลังของหม้อแปลงไฟฟ้า
ระยะเวลา
ดำเนินการ
2 ปี (พ.ศ. 2563 - 2564)
ค่าใช้จ่าย
และแหล่งที่มา
วงเงินลงทุนรวม 172 ล้านบาท ประกอบด้วย
1. เงินกู้ในประเทศ จำนวน 129 ล้านบาท
2. เงินรายได้ กฟภ. จำนวน 43 ล้านบาท
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการฯ ไม่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ หรือภาระทางการคลัง               ในอนาคต ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 27
แผนการใช้
จ่ายเงินรายปี
 
 
 
ปี เงินกู้ในประเทศ เงินรายได้ กฟภ. รวม
2563 39 13 52
2564 90 30 120
รวม 129 43 172
หน่วย : ล้านบาท
ผลตอบแทน
ของโครงการ
ผลตอบแทนทางการเงินของโครงการสรุปได้ ดังนี้
ผลตอบแทน อัตรา
ผลตอบแทน
(ร้อยละ)
อัตราส่วน
ผลประโยชน์ต่อ
เงินลงทุน (B/C Ratio)
มูลค่าปัจจุบัน
สุทธิ (NPV)
(ล้านบาท)
ทางการเงิน (FIRR) 1.63 0.26 -205.27
ทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) 21.37 1.80 177.21
หมายเหตุ : จากรายงานการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ มีผลตอบแทนทางการเงินที่ไม่คุ้มค่าในการลงทุน (FIRR = -205.27) แต่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ (EIRR = 177.21) โดย กฟภ. แจ้งว่าโครงการจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนบนพื้นที่เกาะพะลวยและสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
ผลกระทบ
โครงการ
1. ด้านนโยบายรัฐบาล : เป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยกระจายชนิดของเชื้อเพลิงทั้งจากฟอสซิลและจากพลังงานทดแทนอย่างเหมาะสม สนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนตามศักยภาพของแหล่งเชื้อเพลิงในพื้นที่ เปิดโอกาสให้ชุมชนและประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตและบริหารจัดการพลังงาน ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน เช่น ระบบกักเก็บพลังงาน เป็นต้น
2. ด้านเศรษฐกิจ : การดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้าบนพื้นที่เกาะพะลวย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งจะส่งเสริมให้ประชาชนบนเกาะสามารถประกอบอาชีพ และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประชาชนบนเกาะกับประชาชนบนแผ่นดินใหญ่
3. ด้านผลประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน : ประชาชนบนเกาะพะลวย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ใช้ไฟฟ้าอย่างเพียงพอ คุณภาพของระบบไฟฟ้าที่ดี ในราคาเดียวกับประชาชนบนแผ่นดินใหญ่ ทำให้ประชาชนบนพื้นที่เกาะพะลวยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
การประเมิน
ผลกระทบ
สิ่งแวดล้อม
จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า พื้นที่โครงการเป็นของกรมธนารักษ์ ซึ่งถ้าจะดำเนินโครงการจำเป็นจะต้องเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ และพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้อยู่ในขอบเขตของโครงการที่จะต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนด ประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 46                   แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535

 
 
9. เรื่อง รายงานผลการดำเนินการโครงการจิตอาสาพระราชทาน
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอรายงานผลการดำเนินการโครงการจิตอาสาพระราชทาน ประจำเดือนเมษายน 2563 สรุปได้ดังนี้
                   1. การจัดตั้งชุดปฏิบัติการจิตอาสาภัยพิบัติประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ปัจจุบัน อปท. ทุกแห่ง ได้จัดตั้งชุดปฏิบัติการจิตอาสาภัยพิบัติฯ ครบเรียบร้อยแล้ว (ตามเป้าหมาย 7,550 แห่ง 377,500 คน) และมีการบันทึกรายชื่อผู้สมัครในระบบรายงานแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Report) ของกรมการปกครอง ที่ได้รับการยืนยันข้อมูลจากศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานอำเภอแล้ว 425,418 คน และมีการฝึกอบรมชุดปฏิบัติการจิตอาสาภัยพิบัติประจำ อปท. 58 จังหวัด 1,193 อปท. โดยมีผู้ผ่านการอบรม 61,964 คน
                    2. การสำรวจข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดร่วมกับศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทาน ภาค 1 – ภาค 4 มีผลการดำเนินการ ดังนี้ (1) ประชาชนมีความประสงค์ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพในโครงการฟาร์มตัวอย่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 3,467 คน (2) ประชาชนที่อาศัยอยู่รอบพระราชวัง/พระตำหนักในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (พระราชวังบางปะอิน) จังหวัดเชียงใหม่ (พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์) จังหวัดสกลนคร (พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์)               จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (พระราชวังไกลกังวล) และจังหวัดนราธิวาส (พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์) ได้รับความเดือดร้อน 2,357 คน และ (3) ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่จังหวัดที่มีคำสั่ง/ประกาศปิดพื้นที่เป็นการชั่วคราว โดยมีประชาชนได้รับมอบถุงยังชีพ 83,030 คน
                    3. การดำเนินการจัดกิจกรรม “จิตอาสาต้านภัยแล้ง การประสานความร่วมมือการแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน” ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทานได้ดำเนินการจัดกิจกรรมฯ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา (จังหวัดต้นแบบ) และจังหวัดที่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) โดยดำเนินกิจกรรมแล้ว 1,404 ครั้ง
                   4. การประชุมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามคลองเปรมประชากร กระทรวงมหาดไทยได้จัดประชุมติดตามฯ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้จังหวัดปทุมธานีและจังหวัดพระนครศรีอยุธยาสำรวจข้อมูลสะพานไม้ข้ามคลองเปรมประชากรในพื้นที่ว่ามีความเหมาะสมต่อการใช้งานมากน้อยเพียงใดและจังหวัดได้มีการบริหารจัดการหรือกำหนดแนวทางการพัฒนา เช่น                             การก่อสร้างสะพานคอนกรีตทดแทน รวมทั้งแนวทางอื่น ๆ ที่เหมาะสมอย่างไร
                   5. ข้อมูลจำนวนจิตอาสาและกิจกรรมจิตอาสา ณ วันที่ 30 เมษายน 2563 มีจิตอาสาลงทะเบียน 6,634,585 คน [แยกตามพื้นที่ (ภูมิลำเนา) ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 458,449 คน ส่วนภูมิภาค 6,176,136 คน                 แยกตามเพศ ได้แก่ เพศชาย 2,953,132 คน เพศหญิง 3,681,453 คน] และดำเนินการจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนา 45,694 ครั้ง กิจกรรมจิตอาสาภัยพิบัติ 472 ครั้ง ส่วนการบรรยายขยายผลให้ความรู้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์กับประเทศไทย ขณะนี้ได้ชะลอการบรรยายฯ ออกไปก่อน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
 
10. เรื่อง  รายงานผลการดำเนินงานของระบบประกันภัยและพัฒนาการที่สำคัญ ในรอบ 12 เดือน ปี 2562
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ  รายงานผลการดำเนินงานของระบบประกันภัยและพัฒนาการที่สำคัญ ในรอบ 12 เดือน ปี 2562 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) [ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 20 (10) ที่กำหนดให้สำนักงาน คปภ. จัดทำรายงานประจำปีแสดงผลงานและอุปสรรคในการดำเนินงานของคณะกรรมการและสำนักงานต่อคณะรัฐมนตรี] โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                    1. ภาพรวมธุรกิจประกันภัยของไทยในรอบ 12 เดือน ปี 2562 ธุรกิจประกันภัยเดือนมกราคม – ธันวาคม 2562 มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมทั้งสิ้น 854,536 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 0.58 เมื่อเทียมกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของธุรกิจประกันภัยของปี 2563 จะอยู่ที่            ร้อยละ 0.43-1.99 คิดเป็นมูลค่าเบี้ยประกันภัยประมาณ 860,863-882,317 ล้านบาท
                    2. ผลการดำเนินงานที่สำคัญตามนโยบายรัฐบาลและภายใต้แผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2559-2563)
 

การดำเนินการ ภาพรวมปัญหา/อุปสรรค
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมประกันภัย
1) เสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการ เช่น ปรับปรุงการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้ดียิ่งขึ้น
2) ยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจประกันภัย  เช่น ทบทวนและปรับปรุงข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยงด้านดิจิทัล และการจัดสัมมนา
3) คุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้เอาประกันภัยและยกระดับพฤติกรรมทางตลาดของระบบประกันภัย ได้แก่ การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลตัวแทนและนายหน้าประกันภัย
1) การปรับปรุงและออกกฎเกณฑ์ต่าง ๆ  ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนและมีระยะเวลาให้บริษัทขนาดเล็กได้ปรับตัว
2) สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงินโลกมีความผันผวนสูง รวมถึงเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  ส่งผลให้ธุรกิจประกันภัยมีโอกาสได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
3) ตัวแทน/นายหน้าประกันภัยมีจำนวนมากอาจกำกับดูแลได้ไม่ทั่วถึง
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเสริมสร้างความรู้และการเข้าถึงประกันภัย
1) เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัย เช่น การจัดประกวดสารคดีสั้นและการจัดอบรมความรู้
2) ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย ให้สอดคล้องกับความต้องการและความเสี่ยงของประชาชน เช่น กรมธรรม์ประกันภับลำไยและกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองความเจ็บป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก
3) ส่งเสริมการเข้าถึงการประกันภัยเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยปรับปรุงสัญญาประกันสุขภาพมาตรฐานให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐเรื่องการปฏิรูประบบสาธารณสุข
4) ขยายช่องทางการเข้าถึงการประกันภัยของประชาชน โดยการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาประกอบการเสนอขาย การออกกรมธรรม์ และการชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทน
 
1) ประชาชนบางส่วนมีทัศนคติและประสบการณ์ที่ไม่ดีจากการประกันภัย ทำให้ขาดความเชื่อมั่น
2) ประชาชนบางส่วนไม่สามารถเข้าถึงการทำประกันชีวิตได้เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยกับรายได้สุทธิ
3) ผู้บริโภคประกันชีวิตยังใช้ช่องทางคนกลางในการทำประกันภัย จึงทำให้ช่องทางออนไลน์ยังไม่เป็นที่นิยม
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขัน
1) เสริมสร้างการแข่งขันผ่านการผ่อนคลายการกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้มีความยืดหยุ่นและอิงกลไกตลาดมากยิ่งขึ้น
2) พัฒนาการกำกับและกระบวนการให้ความเห็นชอบ/อนุมัติผลิตภัณฑ์ประกันภัย เช่น พัฒนาระบบการขอรับความเห็นชอบกรมธรรม์ประกันภัยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
3) ส่งเสริมการเชื่อมโยงตลาดประกันภัยในภูมิภาคอาเซียน โดยลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อสร้างความร่วมมือและพัฒนาการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยกับสิงคโปร์
 
1) การผ่อนคลายการกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบเพื่อเตรียมความพร้อมและรองรับให้ภาคธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขัน
2) การปรับปรุงสัญญาประกันสุขภาพมาตรฐานต้องมีความร่วมมือจากหลายภาคส่วน
3) กฎหมายในแต่ละประเทศมีความแตกต่าง และมีระดับพัฒนาการไม่เท่ากัน
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการประกันภัย 
1) พัฒนาและยกระดับบุคลากรประกันภัยให้เป็นมืออาชีพผ่านการจัดอบรมและสัมมนา
2) ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาในระบบประกันภัย ผ่านการจัดประชุมและสัมมนาวิชาการ
3) เสริมสร้างศักยภาพระบบเทคโนโลยี เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชันและฐานข้อมูล
4) ผลักดันให้การประกันภัยเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง เช่น โครงการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
5) เสริมสร้างศักยภาพของหน่วยงานกำกับ โดยปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเข้ารับการประเมินภาคการเงินสาขาประกันภัย
1. การผลักดันให้การประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงแก่ประชาชน โดยเฉพาะการผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ตอบสนองนโยบายภาครัฐและความต้องการของประชาชนจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน
2) ข้อมูลด้านการประกันภัยมีความซับซ้อนและมีความเชื่อมโยงหลายภาคส่วน จึงต้องใช้ระยะเวลาในการทำความเข้าใจและระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำโครงสร้างฐานข้อมูล
3) กระบวนการแก้ไขกฎหมายต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการเนื่องจากต้องพิจารณาให้ครอบคลุมทุกมิติ
     

 
                   3. การประเมินผลการดำเนินงานตามมาตรการและแผนการดำเนินงานปี 2562 ของสำนักงาน คปภ. ซึ่งประกอบด้วย 11 ตัวชี้วัด มีค่าคะแนนถ่วงน้ำหนักรวมอยู่ที่ 3.625 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน
                    4. ผลการสำรวจความพึงพอใจของผู้รับบริการด้านประกันภัยกับสำนักงาน คปภ. ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในปี 2562 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 3,393 ราย โดยประเมินผลความพึงพอใจ 3 ด้าน ได้แก่ ความเป็นธรรม คุณภาพการให้บริการ และการเข้าถึงบริการมีผลคะแนนอยู่ที่ร้อยละ 93.20 ระดับความพึงพอใจมาก
 
11. เรื่อง ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนมิถุนายน 2563
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนมิถุนายน 2563 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ เสนอ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                   

หัวข้อ สาระสำคัญ
1. ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา
1.1 ความก้าวหน้ายุทธศาสตร์ชาติและการขับเคลื่อนแผนแม่บท ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
Ÿ จัดทำโครงการสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ  ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยประมวลผลความสอดคล้องตามภารกิจ บทบาท  และหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายของแผนแม่บทย่อยทั้ง 140 เป้าหมาย เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการดำเนินการตามแนวทางการจัดทำโครงการสำคัญประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยมีหน่วยงานระดับกรมหรือเทียบเท่าแจ้งผลการดำเนินการแล้ว รวมทั้งสิ้น 231 หน่วยงาน หรือร้อยละ 75 จากทั้งหมด 310 หน่วยงาน ทั้งนี้ มีเป้าหมายแผนแม่บทย่อยที่ยังไม่มีหน่วยงานใดเลือกความเกี่ยวข้องทั้งหลักและสนับสนุน จำนวน 1 เป้าหมาย คือ ภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญในการลงทุนเพื่อสังคมเพิ่มขึ้น และมีเป้าหมายแผนแม่บทย่อยที่ไม่มีหน่วยงานเลือกความเกี่ยวข้องหลัก จำนวน 16 เป้าหมาย เช่น ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลในด้านความพร้อมในอนาคตดีขึ้น สถานประกอบการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและบริการทางการแพทย์ได้รับมาตรฐานเพิ่มขึ้น และระดับความมั่นคงด้านน้ำในเขตเมืองเพิ่มขึ้น ทั้งนี้  สศช. จะประสานเจ้าภาพเป้าหมายแผนแม่บทย่อยเพื่อพิจารณากำหนดหน่วยงานที่เหมาะสม                ในการร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายแผนแม่บทย่อยต่อไป
Ÿเตรียมการปรับปรุงแผนแม่บท โดยพิจารณาความสอดคล้องและครอบคลุมของแผนแม่บทในการรองรับชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) และผลกระทบที่เกิดจากการระบาดของโรค COVID-19  ซึ่งอาจต้องพิจารณาแนวทางการพัฒนาเพิ่มเติม เช่น ประเด็นผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยุคใหม่ การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต และประเด็นเศรษฐกิจฐานราก โดย สศช. จะร่วมกับคณะกรรมการจัดทำยุทศาสตร์ชาติพิจารณาความจำเป็นของการปรับปรุง
แผนแม่บทฯ ดังกล่าว และนำเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป
Ÿ ขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัยภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติผ่านการใช้ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP)  โดยขยายผลการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานต่าง ๆ  อย่างต่อเนื่อง เช่น การเพิ่มชุดข้อมูลกลาง การจัดสวัสดิการของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและภาคีที่เกี่ยวข้องเพื่อนำข้อมูลจากระบบ TPMAP ไปใช้ประกอบการยกระดับ               ความเป็นอยู่ให้ประชาชนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง)
Ÿ ผลการพิจารณาแผนระดับที่สาม (ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563) มีหน่วยงานส่งแผนระดับที่สามให้ สศช. กลั่นกรองรวมทั้งสิ้น 95 แผน จำแนกเป็น (1) แผนที่ผ่านการพิจารณาและรายงานให้คณะรัฐมนตรีรับทราแล้ว 55 แผน (2) แผนที่อยู่ระหว่างกลั่นกรองหรือให้ทบทวน/ปรับปรุง 35 แผน  และ (3) แผนที่ผ่านกระบวนการพิจารณาของ สศช. เพิ่มเติม 5 แผน  ได้แก่ (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ              ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562-2565) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 (ร่าง) แผนขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ พ.ศ. 2562-2565       (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาอาชีพที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ต่อการพัฒนาประเทศตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ พ.ศ. 2562-2565 แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2545-2568) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2561 และแผนยกระดับความมั่นคงและความเป็นเลิศด้านควบคุมโรคของประเทศ ฉบับปรับปรุง พ.ศ.  2563-2565
1.2 ความก้าวหน้าแผนการปฏิรูปประเทศ Ÿรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2562) ต่อวุฒิสภา เมื่อวันที่  29-30 มิถุนายน 2563 โดยวุฒิสภาได้มีประเด็นอภิปรายที่สำคัญ เช่น (1) เร่งรัดกิจกรรมตามแผนการปฏิรูปประเทศที่ยังมีการดำเนินการล่าช้า                (2) กำหนดกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่มีนัยสำคัญ (Big Rock)  เพิ่มเติม และ                 (3) ปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศโดยให้ความสำคัญกับการกำหนดค่าเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ชัดเจนและคำนึงถึงสถานการณ์ของประเทศที่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากในช่วงการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศที่ผ่านมา
Ÿคณะรัฐมนตรีมีมติ (30 มิถุนายน 2563) เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้ง 13 ด้านแล้ว
1.3 ผลการดำเนินการอื่น ๆ Ÿรายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี 2562 และรายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2562 ต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2563 และต่อวุฒิสภา เมื่อวันที่ 29-30 มิถุนายน 2563 โดยมีประเด็นอภิปรายที่สำคัญ ได้แก่  (1) การเร่งรัดกิจกรรมที่อยู่ระหว่างดำเนินการแต่มีความล่าช้า เช่น การปฏิรูประบบการศึกษา (2) การให้ความสำคัญกับประเด็นท้าทายต่าง ๆ  เช่น การถ่ายทอดแผนไปสู่การปฏิบัติ  (3) ประเด็นที่ควรให้ความสำคัญในการพัฒนาในระยะต่อไป  เช่น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การลดความเหลื่อมล้ำ  และการกระจายอำนาจ (4) ประเด็นผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่มีต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต และ (5) ประเด็นการทบทวนและปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
Ÿ ปรับปรุงระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENCSR)  ให้รองรับการเสนอ การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 โดยระบบดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอแผนงาน/โครงการต่าง ๆ  กระบวนการจัดสรรงบประมาณ และการติดตามผล การเบิกจ่ายเงินกู้ โดยจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลของระบบ eMENCSR กับระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) ตลอดจนการรายงานผลการดำเนินโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนอื่น ๆ นอกจากนี้ ได้จัดทำเว็บไซต์ ThaiME (Thai Monitoring and Evaluation)
เพื่อเป็นช่องทางให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแสดงความคิดเห็นต่อข้อเสนอแผนงานหรือโครงการ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองและเพื่อรองรับการเผยแพร่ผลการดำเนินการตามพระราชกำหนดดังกล่าว
Ÿ สร้างการตระหนักรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของภาคีต่าง ๆ ต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ผ่านการดำเนินการต่าง ๆ  เช่น การจัดทำวีดิทัศน์เผยแพร่รายวิชา ยุทธศาสตร์ชาติสำหรับข้าราชการและบุคลากรภาครัฐบนหลักสูตรการเรียนการสอนแบบออนไลน์ การจัดทำสื่อวีดิทัศน์เปรียบเทียบผลของการดำเนินการก่อน – หลังของการมียุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างการตระหนักรู้ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในกลุ่มเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่นำร่องจังหวัดอุบลราชธานี
2. การดำเนินงานในระยะต่อไป Ÿจัดประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำโครงการสำคัญประจำปีงบประมาณ                 พ.ศ. 2565 เพื่อบรรลุเป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานเจ้าภาพขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาห่วงโซ่คุณค่า เพื่อจัดทำโครงการที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายของแผนแม่บทได้อย่างเป็นรูปธรรม และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้มาซึ่งโครงการสำคัญและนำเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
Ÿจัดการประชุมร่วมกับประธานกรรมการปฏิรูปประเทศทุกคณะเพื่อพิจารณากรอบการดำเนินงานของทุกคณะร่วมกัน โดยคาดว่าจะสามารถเสนอร่างแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 ต่อไป

 
12. เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 3/2563
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เสนอ ดังนี้
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   มติ กพอ. ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                   การปรับปรุงประกาศคณะกรรมการนโยบายฯ และการแต่งตั้งคณะกรรมการของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก
                   1. เห็นชอบการปรับปรุงประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ. 2560 แล่ที่แก้ไขเพิ่มเติม และการแต่งตั้งคณะกรรมการของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ
                             1.1 คณะรัฐมนตรีมีมติ (2 มิถุนายน 2563) รับทราบผลการประชุม กพอ. ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 ซึ่ง มติ กพอ. เห็นชอบให้ สกพอ. ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับนิติบุคคลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยเอกชนที่รับคัดเลือก และ สกพอ. ได้มีการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนฯ กับบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 แล้ว
                             1.2 ประกาศ กพอ.ฯ ข้อ 19 และ 20 กำหนดให้เมื่อได้มีการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนแล้ว ให้ กพอ. แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแล และคณะกรรมการบริหารสัญญาซึ่งประกอบด้วย “ผู้แทนกระทรวงเจ้าสังกัด” แต่โดยที่ สกพอ. เป็นคู่สัญญาฝ่ายรัฐที่ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนฯ และตามมาตรา 5 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว และกำหนดให้ กพอ. เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานของ สกพอ. จึงเป็นกรณีที่ สกพอ. รายงานขึ้นตรงกับ กพอ. (ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) และนายกรัฐมนตรีไม่ได้สังกัดกระทรวงใดจึงมีความจำเป็นต้องเสนอขอปรับปรุงแก้ไขประกาศ กพอ.ฯ ในข้อดังกล่าว โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ฉบับเดิม ฉบับที่ 7 (ปรับปรุงล่าสุด)
แก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการกำกับดูแล
ข้อ 19 เมื่อได้มีการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนแล้ว ให้คณะกรรมการนโยบายแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแล ซึ่งประกอบด้วย “ผู้แทนกระทรวงเจ้าสังกัด” เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนสำนักงาน ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนเอกชนคู่สัญญา เป็นกรรมการ และผู้แทนหน่วยงานเจ้าของโครงการเป็นกรรมการและเลขานุการ ข้อ 19 เมื่อได้มีการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนแล้ว ให้คณะกรรมการนโยบายแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแล ซึ่งประกอบด้วย “ผู้แทนกระทรวงเจ้าสังกัดหรือผู้แทนหน่วยงานที่คณะกรรมการนโยบายมอบหมาย” เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนสำนักงาน ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนเอกชนคู่สัญญา เป็นกรรมการ และผู้แทนหน่วยงานเจ้าของโครงการเป็นกรรมการและเลขานุการ
แก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารสัญญา
ข้อ 20/1 (2) ผู้แทนหน่วยงานเจ้าของโครงการ “ผู้แทนกระทรวงเจ้าสังกัด” ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งโดยสำนักงาน จากบุคคลที่สำนักงานเห็นว่าเป็นผู้มีความรู้หรือความเชี่ยวชาญอันจะเป็นประโยชน์แก่การดำเนินการของคณะกรรมการบริหารสัญญาเป็นกรรมการ ข้อ 20/1 (2) ผู้แทนหน่วยงานเจ้าของโครงการ “ผู้แทนกระทรวงที่เกี่ยวข้องตามที่สำนักงานกำหนด” ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งโดยสำนักงาน จากบุคคลที่สำนักงานเห็นว่าเป็นผู้มีความรู้หรือความเชี่ยวชาญอันจะเป็นประโยชน์แก่การดำเนินการของคณะกรรมการบริหารสัญญาเป็นกรรมการ

                             1.3 สืบเนื่องจากประกาศ กพอ.ฯ ข้อ 19 และ 20 (ตามข้อ 1.2) จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแล และคณะกรรมการบริหารสัญญาของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ โดยให้มีผลเมื่อประกาศ กพอ.ฯ ฉบับที่ปรับปรุงดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้แล้ว
                   แผนการส่งมอบพื้นที่และการรื้อย้ายสาธารณูปโภคโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ
                   2. อนุมัติในหลักการให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การประปานครหลวง (กปน.) สามารถปรับเปลี่ยนปริมาณงานและวงเงินค่ารื้อย้ายสาธารณูปโภคเปิดพื้นที่ก่อสร้าง โครงการรถไฟความเร็วสูงฯ หากมีปริมาณงานเปลี่ยนแปลงอีกในอนาคต ให้ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ (สงป.) ทั้งนี้ ต้องไม่เกินกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563
                             2.1 โดยที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (28 มกราคม 2563) รับทราบมติ กพอ. ซึ่งอนุมัติในหลักการแผนรื้อย้ายสาธารณูปโภค ภายในกรอบวงเงิน 479.055 ล้านบาท ปัจจุบัน กปน. การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กฟน. และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อยู่ในขั้นตอนการขอรับการจัดสรรงบประมาณจาก สงป. (ขณะนี้ ได้ดำเนินขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้างไปพลางก่อน และจะลงนามในสัญญาเมื่อได้รับงบประมาณแล้ว) แต่เนื่องจากเอกชนคู่สัญญามีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดของโครงสร้างเพื่อความเหมาะสมทำให้ปริมาณงานและค่าใช้จ่ายเปลี่ยนแปลงไป และเกิดความล่าช้าจากกำหนดเวลาไปแล้ว 1 เดือน โดยมีรายละเอียดที่เปลี่ยนแปลง ดังนี้
(หน่วย : ล้านบาท)

หน่วยงาน
เจ้าของ
สาธารณูปโภค
ช่วง กรอบงบประมาณ
ตามมติคณะรัฐมนตรี
(28 มกราคม 2563)
วงเงิน
หลังเปลี่ยนแปลง
ปริมาณงาน
หมายเหตุ
กฟน. ช่วงที่ 1 ดอนเมือง – พญาไท 228.300 ลดลง เหลือ 56.740 ไม่เกินกรอบวงเงินตามมติคณะรัฐมนตรี (28 มกราคม 2563)
ช่วงที่ 3 ลาดกระบัง – อู่ตะเภา - เพิ่มขึ้น เป็น 28.249
รวม 228.300 84.989
กปน. ช่วงที่ 1 ดอนเมือง – พญาไท 67.500 ลดลง เหลือ 46.388
ช่วงที่ 3 ลาดกระบัง – อู่ตะเภา 1.000 เพิ่มขึ้น เป็น 22.030
รวม 68.500 68.418

                             ทั้งนี้ ระหว่างการรื้อย้ายสาธารณูปโภคเปิดพื้นที่ก่อสร้างของทั้ง กฟน. และ กปน. อาจมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดการดำเนินงานซึ่งส่งผลกระทบต่อวงเงินโครงการ ดังนั้น หากมีปริมาณงานเปลี่ยนแปลงอีกในอนาคต ให้ทำความตกลงกับ สงป. ทั้งนี้ ต้องไม่เกินกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563
                             2.2 การก่อสร้างสาธารณูปโภคทดแทน และการรื้อย้ายสาธารณูปโภคส่วนที่พบเพิ่มเติมของหน่วยงานภายใต้กระทรวงมหาดไทย (มท.) (กทม. กปน. กปภ. กฟน. และ กฟภ.) และกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ กรอบวงเงิน 4,103.608 ล้านบาท และการรื้อย้ายสาธารณูปโภคของหน่วยงานอื่น (หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงานและเอกชนอื่น) ซึ่งหน่วยงานและเอกชนเจ้าของโครงการเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ตามมติคณะรัฐมนตรี (12 พฤษภาคม 2563) ยังเป็นไปตามแผนเร่งรัด
                   3. รับทราบผลการดำเนินการส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงฯ [เรื่องสืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (12 พฤษภาคม 2563)] โดยมีความคืบหน้าในการดำเนิงานตามแผนการเวนคืน โยกย้ายผู้บุกรุก และยกเลิกสัญญาเช่าเชิงพาณิชย์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในพื้นที่โครงการฯ ดังนี้

แผนงาน รายละเอียด
ความก้าวหน้าการเวนคืนพื้นที่ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน • ช่วงดอนเมือง – พญาไท เจ้าของพื้นที่ที่ถูกเวนคืนเข้าทำสัญญาครบแล้วอยู่ระหว่างประสานงานขอใช้พื้นที่ของกรมธนารักษ์ที่กรมทางหลวงและบ้านราชวิถีใช้งานอยู่
• ช่วงลาดกระบัง – อู่ตะเภา ล่าช้าไป 1 เดือน จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ทั้งนี้ รฟท. และเอกชนคู่สัญญาได้ตกลงเรื่องการปรับเปลี่ยนแนวเขตทางใหม่แล้ว และ รฟท. จะเร่งรัดแผนงานเวนคืนเพื่อส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564
ความก้าวหน้าการโยกย้ายผู้บุกรุก เป็นไปตามแผนเร่งรัด โดยจะส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนคู่สัญญาช่วงดอนเมือง – พญาไท ประมาณเดือนตุลาคม 2564 และช่วงลาดกระบัง – อู่ตะเภา ประมาณเดือนมกราคม 2564
ความก้าวหน้าการยกเลิกสัญญาเช่าเชิงพาณิชย์ของ รฟท. เป็นไปตามแผนเร่งรัด ปัจจุบันยู่ระหว่างการรวบรวมสัญญาเช่า กำหนดพื้นที่เช่าลงในแผนที่เขตที่ดินรถไฟ และจะพิจารณาบอกเลิกสัญญาเช่าเฉพาะรายที่กระทบต่อไป โดยพร้อมส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนคู่สัญญา ช่วงดอนเมือง – พญาไท ประมาณเดือน มกราคม 2565 และช่วงลาดกระบัง – อู่ตะเภา ประมาณเดือนมกราคม 2564

 
13. เรื่อง โครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า
                             คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบโครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า และมอบหมายให้กระทรวง
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ดำเนินโครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่าตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
สาระสำคัญ ข้อเท็จจริง
                        1. ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน จัดทำโครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า  โดยให้ครอบคลุมถึงป่าต้นน้ำ ป่าชายเลน ป่าพรุ และที่ดินของรัฐประเภทอื่น ๆ เพื่อร่วมแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎร
                   2. โครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
                       2.1 ความเป็นมา

  1. พื้นที่ลุ่มน้ำของประเทศไทย มีจำนวน 22 ลุ่มน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ 320,673,673 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่มีสภาพป่า 101,721,291 ไร่ และไม่มีสภาพป่า 218,952,382 ไร่ โดยมีพื้นที่ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1,2 ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำของประเทศจำนวน  84,471,153 ไร่ (พื้นที่ป่า/พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ/พื้นที่ป่าอนุรักษ์/ อื่นๆ) พบว่ามีสภาพป่า 71,753,156 ไร่ (84.94%) และไม่มีสภาพป่า 12,717,998  ไร่ (15.06%) ซึ่งอยู่ในขอบเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายจำนวน 10,152,740.44 ไร่ และพื้นที่อื่นๆ จำนวน 2,565,257.56 ไร่
  2. ยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดให้ประเทศไทยมีพื้นที่สีเขียวร้อยละ 55  ต่อพื้นที่ประเทศ แบ่งเป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์ร้อยละ 35 (คิดเป็นพื้นที่ 112.35 ล้านไร่) พื้นที่ป่าเศรษฐกิจ
    เพื่อการใช้ประโยชน์ร้อยละ 15 (คิดเป็นพื้นที่ 48.15 ล้านไร่) และพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท ร้อยละ 5 (คิดเป็นพื้นที่ 16.05 ล้านไร่)

2.2 วัตถุประสงค์

  1. พลิกฟื้นผืนป่าเพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9)
  2. สร้างความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ สังคม และเศรษฐกิจ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
  3. พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าและพื้นที่   รอบเขตป่าให้สามารถอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน

2.3 หลักการดำเนินงาน
(1)  ประยุกต์แนวพระราชดำริ “คนอยู่กับป่า” ในการบริหารจัดการพื้นที่
ป่าต้นน้ำและชุมชน ให้สอดคล้องกับภูมิสังคม
(2)  ฟื้นฟูดิน น้ำ ป่า สิ่งแวดล้อม ตามลักษณะภูมิสังคมเพื่อสร้างและฟื้นคืนระบบนิเวศต้นน้ำ
 
(3)  การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อฟื้นคืนระบบนิเวศป่าต้นน้ำและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำหลาก และอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำหลักของประเทศ
(4)  ส่งเสริมสนับสนุนและดำเนินการป้องกันไฟป่า
2.4 ลักษณะพื้นที่เป้าหมายโครงการ
(1)  พื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1 และ 2 ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและป่าอนุรักษ์
ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำของประเทศ ที่เสื่อมโทรม และ/หรือถูกบุกรุกจากนายทุน
(2)  พื้นที่ป่าชุมชน ป่าพรุ และป่าชายเลนที่มีชุมชนอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ รวมทั้งพื้นที่สีเขียวนอกเขตป่า
(3)  พื้นที่ต้นน้ำในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1 และ 2 นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติ
และป่าอนุรักษ์ที่เสื่อมโทรมและเป็นสาเหตุของปัญหาภัยแล้ง น้ำหลาก และน้ำท่วม
2.5      เป้าหมายจำนวนพื้นที่ปลูกป่าและฟื้นฟูป่า (ปี พ.ศ. 2563 - 2570 มีพื้นที่ป่าที่ได้รับการฟื้นฟู และมีพื้นที่สีเขียวนอกเขตป่าภายใต้โครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่าเพิ่มขึ้น รวมกันจำนวนไม่ต่ำกว่า 2.68 ล้านไร่ ใน 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร)
(1)  ระยะที่ 1 ระยะเร่งด่วน (ดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 และแล้วเสร็จภายใน 28 ก.ค. 2563)
(1.1)  จังหวัดเร่งด่วน จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ตาก น่าน นครราชสีมา ชัยภูมิ และนครศรีธรรมราช ปลูกป่าไม่ต่ำกว่า 1,010 ไร่ และทำฝายเพิ่มความชุ่มชื้นของระบบนิเวศน์ พื้นที่ละไม่ต่ำกว่า 10 แห่ง รวมจำนวนไม่ต่ำกว่า 70 แห่ง
(1.2)  จังหวัดอื่นนอกเหนือจากจังหวัดเร่งด่วน จำนวน 71 จังหวัด
(รวมกรุงเทพมหานคร) ปลูกป่าหรือปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว เฉลี่ยจังหวัดละ 100 ไร่ รวมทั้งประเทศ 7,100 ไร่
(2)  ระยะที่ 2 และ 3 (ดำเนินการในปี พ.ศ. 2563-2570)
(2.1)  ปี พ.ศ. 2563-2565 ฟื้นฟูป่าในจังหวัดเร่งด่วน 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ตาก น่าน นครราชสีมา ชัยภูมิ และนครศรีธรรมราช จำนวนรวมกันปีละไม่ต่ำกว่า 11,000 ไร่ รวม 2 ปี ไม่ต่ำกว่า 22,000 ไร่ รวมทั้ง ฟื้นฟูป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียวนอกเขตป่าใน 71 จังหวัดที่เหลือ (รวมกรุงเทพมหานคร) เฉลี่ยจังหวัดละ 100 ไร่ต่อปี รวม 71 จังหวัด 7,100 ไร่ต่อปี รวม 2 ปี จำนวน 14,200 ไร่
(2.2)  ปี พ.ศ. 2565-2570 กำหนดเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่าจำนวนร้อยละ 15-20 ของพื้นที่ต้นน้ำ (ชั้นคุณภาพน้ำ 1 และ 2) ที่เสื่อมสภาพและมีการใช้ประโยชน์
จากราษฎรจำนวน 12.7 ล้านไร่ (ป่าสงวนแห่งชาติ/ ป่าอนุรักษ์/ อื่นๆ) ฟื้นฟูพื้นที่ป่าชุมชนเฉลี่ยแห่งละ
50 ไร่ จาก 11,327 แห่ง เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าชายเลนจำนวน 0.153 ล้านไร่ จากพื้นที่
ป่าชายเลนตามกฎหมายจำนวน 1.5 ล้านไร่ ฟื้นฟูพื้นที่ป่าพรุ จำนวน 20,000 ไร่ รวมทั้ง เพิ่มพื้นที่สีเขียว
ในจังหวัดที่ไม่มีพื้นที่ป่าตามกฎหมาย เฉลี่ยจังหวัดละ 100 ไร่ ต่อปี รวม 5 ปี จังหวัดละ 500 ไร่
2.6      ผลที่คาดว่าจะได้รับ
(1)  สร้างความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ ให้คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน
(2)  สร้างความมั่นคงของคุณภาพชีวิตของชุมชนทั้งในและนอกเขตป่า
(3)  สามารถลดผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในอนาคต ได้จากการที่มีพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น
3. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นชอบร่วมกันให้จัดกิจกรรมภายใต้โครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 ดังนี้
3.1 จัดฝึกอบรมหลักสูตร “จิตอาสา” ตามโครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า ระหว่างวันที่ 19 – 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ณ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีรายละเอียดดังนี้
(1)  ฝึกอบรมระดับปฏิบัติการ (ระดับอำเภอ ระดับตำบล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) จำนวน 150 คน ระหว่างวันที่ 19 – 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ณ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่
(2)  เรียนเชิญผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด รับฟังนโยบายการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า รวมทั้ง รับฟังการสรุปการฝึกอบรมระดับปฏิบัติการ ในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ โดยเรียนเชิญผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน เป็นประธานการประชุม
3.2 จัดพิธีเปิดโครงการพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. จัดพิธีเปิดโครงการในพื้นที่จังหวัดพร้อมกันทั้ง 77 จังหวัด  (รวมกรุงเทพมหานคร) ในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
  2. จัดพิธีเปิดโครงการหลัก ณ อุทยานแห่งชาติน้ำตกบัวตอง-น้ำพุเจ็ดสี อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โดยกราบเรียนเชิญนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เรียนเชิญคณะรัฐมนตรี
    ผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมงาน

 
14. เรื่อง มาตรการของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน แก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) และการช่วยเหลือ เยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว 
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมาตรการของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน แก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) และการช่วยเหลือ เยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาความจำเป็นเหมาะสมในการขยายระยะเวลามาตรการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน แก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) และการช่วยเหลือ เยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อดังกล่าว หรือแก้ไขปรับปรุงมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงไป โดยให้เสนอคณะรัฐมนตรีภายในเดือนสิงหาคม 2563
                   ทั้งนี้ สลค. เสนอว่า ตามที่รัฐบาลได้มีมาตรการที่เป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 การช่วยเหลือ เยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว ดังนี้

มาตรการ จำนวน (มาตรการ)
1. มาตรการด้านการสาธารณสุข 3
2. มาตรการด้านการคลัง 
   2.1 มาตรการเกี่ยวกับภาษีเงินได้
   2.2 มาตรการเกี่ยวกับภาษีสรรพสามิต/ภาษีมูลค่าเพิ่ม/ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
   2.3 มาตรการเกี่ยวกับอากรและค่าธรรมเนียม
   2.4 มาตรการเกี่ยวกับสาธารณูปโภค
   2.5 มาตรการด้านการคลังอื่นเพื่อช่วยเหลือประชาชนโดยทั่วไป เกษตรกร และคนพิการ
   2.6 มาตรการด้านการคลังอื่นเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจและลูกจ้างของภาคธุรกิจ
39
11
6
7
4
6
5
3. มาตรการด้านการเงิน 7
4. มาตรการด้านแรงงานและคนต่างด้าว 3
5. มาตรการด้านอื่น ๆ 2
                                                                           รวมทั้งสิ้น 54

                   โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไว้รัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ยังไม่สิ้นสุด ซึ่งในหลาย ๆ ประเทศพบว่ายังมีการระบาดและมีจำนวนผู้ติดเชื้อในระดับสูง สำหรับประเทศไทยก็ยังมีความเสี่ยงที่โรคโควิด-19 จะกลับมาแพร่ระบาดได้อีก และการมีวัคซีนที่ใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อดังกล่าวตามข่าวสารที่ปรากฏก็ยังจำต้องใช้ระยะเวลา ประกอบกับมาตรการของรัฐบาลดังกล่าวข้างต้น ซึ่งบางมาตรการจะสิ้นสุดในเดือนกรกฎาคม 2563 หรือมีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดในปี พ.ศ. 2563 เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้เกี่ยวกับรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าจ้างกรณีของ (SMEs) การปรับปรุงต่อเติมโรงแรม การลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบิน การยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อฯ และหน้ากาก
 
15. เรื่อง รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 10
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 10 ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ โดยสรุปข้อมูล ณ วันที่ 14 กรกฎาคม 2563 ซึ่งได้รับข้อมูลจาก 147 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 99 ของส่วนราชการทั้งหมด (148 ส่วนราชการ) สรุปข้อมูลดังนี้
                    1. การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ (Work From Home)
                             1.1 ส่วนราชการร้อยละ 53 (78 ส่วนราชการ) มีการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ ซึ่งลดจากสัปดาห์ที่ผ่านมา (สัปดาห์ที่ผ่านมา คือ ร้อยละ 76 จำนวน 111 ส่วนราชการ) โดยในจำนวนนี้มีส่วนราชการร้อยละ 12 (17 ส่วนราชการ) มอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง และส่วนราชการร้อยละ 21 (31 ส่วนราชการ) กำหนดให้มีจำนวนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งร้อยละ 50 ขึ้นไป (สัปดาห์ที่ผ่านมาคือ ร้อยละ 29 จำนวน 43 ส่วนราชการ)
                             1.2 ส่วนราชการร้อยละ 47 (69 ส่วนราชการ) มีการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทุกคนปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา (สัปดาห์ที่ผ่านมาคือ ร้อยละ 24 จำนวน 36 ส่วนราชการ)
                    2. การเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ
                             2.1 ส่วนราชการกำหนดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่เหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานเพิ่มมากขึ้น เมื่อต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 50 (74 ส่วนราชการ) กำหนดการเหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานเป็น 3 ช่วงเวลา คือ เวลา 7.30 – 15.30 น. เวลา 8.30 – 16.30 น. และเวลา 9.30 – 17.30 น. (สัปดาห์ที่ผ่านมาคือ ร้อยละ 44 จำนวน 65 ส่วนราชการ) และส่วนราชการร้อยละ 10 (15 ส่วนราชการ) กำหนดให้เหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานมากกว่า 3 ช่วงเวลา
                             2.2 ส่วนราชการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งตามวันเวลาปกติในบางลักษณะงาน โดยลักษณะงานส่วนใหญ่ คือ งานระดับนโยบาย งานให้บริการประชาชน งานพิจารณาอนุมัติ/อนุญาต เป็นต้น
                    3. แนวทางการบริหารงานของส่วนราชการ
                             3.1 การกำกับดูแลและบริหารผลการทำงาน ส่วนราชการที่มอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ กำหนดให้มีระบบรายงานผลงานผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 53 ให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รายงานความก้าวหน้าของงานทั้งรายวันและรายสัปดาห์ ผ่าน Application LINE ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ และ Google Form
                             3.2 การนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงาน ส่วนราชการที่มอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ มีการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานโดยส่วนใหญ่เลือกใช้ Application LINE ร้อยละ 99 Application Zoom ร้อยละ 74 Microsoft Team ร้อยละ 40 และ Cisco Webex ร้อยละ 33 ตามลำดับ
 
16. เรื่อง รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ ในสัปดาห์ช่วงระหว่างวันที่ 6 – 10 กรกฎาคม 2563 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   รัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มีจำนวน 55 แห่ง โดยผลสัมฤทธิ์ฯ ของรัฐวิสาหกิจในสัปดาห์ช่วงระหว่างวันที่ 6 – 10 กรกฎาคม 2563 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
                   1. การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ (ปฏิบัติงานที่บ้านหรือที่พักหรือสถานที่ตามที่รัฐวิสาหกิจกำหนด)
                   รัฐวิสาหกิจ 18 แห่ง ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง โดยมีรัฐวิสาหกิจ 37 แห่ง ที่ให้พนักงานกลับมาปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งตามปกติแล้ว เพิ่มขึ้น 6 แห่ง จากสัปดาห์ก่อนหน้า (ช่วงระหว่างวันที่          29 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2563) ทั้งนี้ จากจำนวนพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจทั้งหมดจำนวน 272,466 คน มีพนักงานและลูกจ้างปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งจำนวน 13,218 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 5
                   2. การปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ (การปฏิบัติงานเหลื่อมเวลา)
                   รัฐวิสาหกิจ 23 แห่ง ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานเหลื่อมเวลา โดยมีรัฐวิสาหกิจยกเลิกนโยบายการปฏิบัติงานเหลื่อมเวลาเพิ่มขึ้น 3 แห่งจากสัปดาห์ก่อนหน้า (ช่วงระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน –                       3 กรกฎาคม 2563) โดยมีช่วงเวลาเริ่มปฏิบัติงานเหลื่อมเวลาตั้งแต่เวลา 6.00 น. – 10.30 น.
                   3. แนวทางการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจ
                   รัฐวิสาหกิจที่ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งมีการติดตามผลการปฏิบัติงาน                ทั้งเป็นรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน ขึ้นอยู่กับประเภทของงาน ซึ่งรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มีการกำกับ ติดตาม และบริหารผลการปฏิบัติงานผ่านแอปพลิเคชัน Line ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ และระบบการติดตามงานและการลงเวลาปฏิบัติงานที่องค์กรพัฒนาขึ้นเอง โดยรัฐวิสาหกิจยังคงใช้แอปพลิเคชัน Line มาสนับสนุนการปฏิบัติงานมากที่สุด ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจมีข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งว่า ควรเตรียมอุปกรณ์และระบบเพื่อรองรับ                  การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งให้เพียงพอ และควรพัฒนาระบบการปฏิบัติงานขององค์กรให้สามารถรองรับ                 การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้ ซึ่งรวมถึงมีการจัดเก็บข้อมูลหรือเอกสารให้อยู่ในรูปแบบของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งควรพิจารณาลักษณะงานที่จำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งเท่านั้น เช่น การให้บริการประชาชน และสำหรับงานอื่นที่ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้ง ควรพิจารณาเปลี่ยนรูปแบบเป็นการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งแทน
 
17. เรื่อง การเสนอขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ แผนและขั้นตอนการเสนอขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                    ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ในวาระที่ 1 เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 นั้น
                   ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ของสภาผู้แทนราษฎร คาดว่าเมื่อการพิจารณาแล้วเสร็จจะปรับลดงบประมาณรายจ่ายลงได้จำนวนหนึ่ง สำนักงบประมาณจึงขอเสนอแนวทางและขั้นตอนการเสนอขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ดังนี้
                   1. แนวทางและหลักเกณฑ์การเสนอขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ให้หน่วยรับงบประมาณเสนอคำขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เฉพาะรายการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างแท้จริง สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 แผนการปฏิรูปประเทศ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ และนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการภายในปีงบประมาณ                   พ.ศ. 2564 ดังนี้
                             1.1 เป็นรายจ่ายที่ต้องดำเนินการตามข้อผูกพันที่เกิดจากกฎหมาย สัญญา ข้อตกลงระหว่างประเทศ และค่าใช้จ่ายเพื่อการชำระหนี้ รวมทั้งค่าใช้จ่ายตามสิทธิ
                             1.2 เป็นรายจ่ายเพื่อการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รายจ่ายเพื่อป้องกันหรือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน หรือเป็นรายจ่ายในการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) หรือรายจ่ายที่ประชาชนได้รับประโยชน์โดยตรง ตลอดจนรายจ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาการปฏิบัติงานของหน่วยรับงบประมาณ โดยรายการที่เสนอขอเพิ่มงบประมาณต้องเป็นรายการที่มีอยู่ในคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2564
                             โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
                                       (1) ไม่ควรทำให้เกิดภาระรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
                                       (2) ไม่ควรผูกพันงบประมาณรายจ่ายข้ามปีในปีต่อ ๆ ไป
                                      (3) หน่วยรับงบประมาณมีศักยภาพและมีความพร้อมที่จะดำเนินการได้ทันที
                                       (4) หน่วยรับงบประมาณต้องเสนอโครงการ/รายการ ภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานนั้น ๆ
                                       (5) ดำเนินการตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และ พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561
                   2. แนวทางและหลักเกณฑ์การเสนอของเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่าย เฉพาะรายการที่หน่วยรับงบประมาณเสนอขอตั้งงบประมาณไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และกรณีที่มีการโอนภารกิจของหน่วยรับงบประมาณ ดังนี้
                             2.1 มีกฎหมายกำหนดให้โอนภารกิจ ทั้งกรณีที่มีการจัดตั้งหน่วยรับงบประมาณขึ้นใหม่และไม่มีการจัดตั้งหน่วยรับงบประมาณ และกรณีเปลี่ยนชื่อหน่วยรับงบประมาณ
                             2.2 มีพระราชกฤษฎีการวมหรือโอนส่วนราชการเข้าด้วยกันที่ออกตามมาตรา 8 ทวิ ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
                             โดยให้ดำเนินการ ดังนี้
                                      (1) ให้หน่วยรับงบประมาณที่ถูกโอนภารกิจ เสนอขอปรับลดงบประมาณเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับภารกิจที่จะต้องโอน
                                      (2) ให้หน่วยรับงบประมาณที่รับโอนภารกิจ เสนอขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ตามวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่ได้ปรับลดตามข้อ (1)
                   3. ขั้นตอนในการเสนอขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ                  พ.ศ. 2564 ของหน่วยรับงบประมาณ
                             3.1 ให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำคำขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ                พ.ศ. 2564 ที่ได้มีการตรวจสอบและรับรองข้อมูลแล้วว่าการดำเนินงานนนั้นไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กฎหมายหรือระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และให้เสนอขอรับความเห็นชอบต่อนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับ หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด และส่งสำนักงบประมาณพร้อมทั้งบันทึกข้อมูลรายละเอียดคำขอเพิ่มงบประมาณในระบบ e-Budgeting ภายในวันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม 2563
                                      กรณีการเสนอขอเพิ่มงบประมาณแผนงานบูรณาการ ให้หน่วยรับงบประมาณเสนอหน่วยงานเจ้าภาพ เพื่อรวบรวมเสนอรองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบแผนงานบูรณาการนั้น ๆ พิจารณาให้ความเห็นชอบและหน่วยงานเจ้าภาพส่งสำนักงบประมาณ พร้อมทั้งบันทึกข้อมูลรายละเอียดคำขอเพิ่มงบประมาณในระบบ e-Budgeting ภายในวันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม 2563
                                      สำหรับกรณีเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564                ที่ได้มีการตรวจสอบและรับรองข้อมูลแล้วว่าการดำเนินงานนั้นไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กฎหมายระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และให้เสนอขอรับความเห็นชอบต่อนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับ หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด และรวบรวมจัดส่งให้สำนักงบประมาณภายในวันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม 2563
                             3.2 สำหรับหน่วยงานของรัฐสภา หน่วยงานของศาล และหน่วยงานขององค์กรอิสระ และองค์กรอัยการ ให้ยื่นคำขอแปรญัตติต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยตรง ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานดังกล่าวบันทึกข้อมูลรายละเอียดตามที่ได้ยื่นคำขอแปรญัตติต่อคณะกรรมาธิการฯ ในระบบ e-Budgeting ภายในวันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม 2563 ด้วย เพื่อ                        สำนักงบประมาณจะได้ประมวลภาพรวมการขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ               พ.ศ. 2564 ต่อไป
                             3.3 ให้สำนักงบประมาณพิจารณาคำขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และจัดทำข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 18 สิงหาคม 2563 เพื่อนำเสนอคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เป็นผู้พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป รายละเอียดแผนและขั้นตอนการปฏิบัติงานการเสนอขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ดังนี้
                   21 ก.ค. 63 ครม. ให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์การเสนอขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
                   22 – 31 ก.ค. 63 หน่วยรับงบประมาณจัดทำรายละเอียดการเสนอขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณฯ พร้อมทั้งบันทึกข้อมูลในระบบ
                   3 – 14 ส.ค. 63 สำนักงบประมาณพิจารณาและจัดทำข้อเสนอรายละเอียดการเสนอขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงฯ เสนอ นรม. เพื่อเสนอ ครม.
                   18 ส.ค. 63 เสนอ ครม. ข้อเสนอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณฯ
                   25 ส.ค. 63 สำนักงบประมาณเสนอรายละเอียดการขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงฯ ที่ได้เสนอ ครม.              แล้ว ต่อ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เป็นผู้พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป                               
 
18. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 10/2563
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ในคราวประชุมครั้งที่ 10/2563 ตามมติคณะกรรมการฯ ที่ได้มีการพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการเพื่อขอใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงสาธารณสุข และข้อเสนอโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยาและชดเชยให้กับประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงคมนาคม เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามมาตรา 8(1) แห่งพระราชกำหนด ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอดังนี้
                   1. รับทราบผลการพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอของแผนงานหรือโครงการฯ ของกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 234 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 51,985.54 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) โครงการที่พิจารณาเห็นควรอนุมัติ จำนวน 3 โครงการ วงเงินรวม 119.3700 ล้านบาท ปรับลดเหลือ 101.84 ล้านบาท (2) โครงการที่พิจารณาจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม จำนวน 42 โครงการ วงเงินรวม 45,868.02 ล้านบาท (3) โครงการที่เห็นควรให้หน่วยงานวิจัยร่วมกลั่นกรอง จำนวน 32 โครงการ วงเงินรวม 1,260.89 ล้านบาท และ (4) โครงการที่พิจารณาแล้วเห็นควรทบทวน จำนวน 157 โครงการ วงเงินรวม 4,737.26 ล้านบาท
                   2. อนุมัติโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 3 โครงการ วงเงินรวม 101.8372 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนด พรัอมทั้งรับความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
                   3. เห็นชอบการกำหนดหลักการของการดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่จะเสนอขอใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดว่าต้องเป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่สามารถยืนยันและตรวจสอบคุณสมบัติตัวบุคคลที่จะขอรับความช่วยเหลือตามสิทธิได้ รวมทั้งต้องเป็นบุคคลที่ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เยียวยาจากมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ (รวมถึงผู้ประกอบการขนส่งรถโดยสาร) เพิ่มเติมนอกเหนือจากมาตรการที่รัฐได้ดำเนินการแล้วในปัจจุบัน เห็นควรให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
                   4. เห็นควรให้กระทรวงคมนาคม ทบทวนการดำเนินมาตรการชดเชยเยียวยาผู้ประกอบการขนส่งรถโดยสารประจำทางที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ไม่รวมรถของ   ขสมก. และ บขส.) และมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการขนส่งรถโดยสารไม่ประจำทางที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้เป็นไปตามหลักการที่คณะกรรมการฯ กำหนด
                   5. มอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาจัดทำข้อมูลผลการดำเนินการและผู้ได้รับผลประโยชน์ในแต่ละมาตรการต่าง ๆ ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้ดำเนินการแล้ว เพื่อประกอบการพิจารณาความเหมาะสมของข้อเสนอมาตรการภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยาและชดเชยให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
                   6. มอบหมายให้หน่วยงานของรัฐที่จะจัดทำข้อเสนอโครงการภายใต้แผนงาน 3.2               ให้คณะกรรมการฯ พิจารณากลั่นกรองโครงการตามมาตรา 8 (1) ต้องเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ โดย                   (1) การส่งเสริมตลาดสำหรับผลผลิต และผลิตภัณฑ์ของธุรกิจชุมชนที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวหรือภาคบริการอื่น                   (2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน (3) การจัดหาปัจจัยการผลิตและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน รวมทั้ง (4) การเข้าถึงช่องทางการตลาด พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานคุณภาพและมูลค่าเพิ่มของสินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชนเท่านั้น หากข้อเสนอโครงการที่หน่วยงานเสนอไม่ตรงกับเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผนงาน 3.2 ท้ายพระราชกำหนด ขอให้นำกลับไปพิจารณาทบทวนอีกครั้ง
 
19. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 11/2563
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ในคราวประชุมครั้งที่ 11/2563 ตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ที่ได้มีการพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการเพื่อขอใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ ของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงแรงงาน และการพิจารณาข้อชี้แจงการปรับลดหน่วยงานดำเนินการภายใต้โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงผลการพิจารณาการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภาคการท่องเที่ยวของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามมาตรา 8 (1) และ 8 (2) แห่งพระราชกำหนดฯ และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ข้อ 18 ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอดังนี้  
                   1. อนุมัติโครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย วงเงินไม่เกิน 1,080.59 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 3.3 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ
                   2. อนุมัติโครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย วงเงิน   ไม่เกิน 2,701.876 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 3.3 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ
                   3. อนุมัติโครงการเฝ้าระวังสร้างแนวกันไฟสร้างรายได้ชุมชน ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วงเงินไม่เกิน 246.699 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 3.3 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ
                   4. อนุมัติโครงการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ซึ่งยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาฯ ของกระทรวงแรงงาน วงเงินรวม 896.640 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยาและชดเชยให้แก่ประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ โดยให้สำนักงานประกันสังคม ดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาจำนวน 15,000 บาท ให้กับกลุ่มเป้าหมายเพียงครั้งเดียว
                   5. เห็นควรมอบหมายให้หน่วยงานรับผิดชอบโครงการทั้ง 4 โครงการดำเนินการ ดังนี้
                       5.1 รับความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
                       5.2 จัดทำประมาณการความต้องการใช้จ่ายเป็นรายเดือน เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะสามารถจัดหาเงินกู้เพื่อใช้จ่ายโครงการตามแผนการใช้จ่ายเงินที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการเงินของภาครัฐ
                       5.3 รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการ และการใช้จ่ายเงินกู้ รวมถึงปัญหาอุปสรรค โดยจัดส่งให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนดภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป
                       5.4 ประสานกับกระทรวงการคลังในการรายงานขีดความสามารถในการชำระคืนหนี้เงินกู้ประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 6 แห่งพระราชกำหนดฯ ด้วย
                       5.5 ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลการจ้างงานกับแพลตฟอร์มแรงงาน (Labor Platform) ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนา นำโดยกระทรวงแรงงาน ร่วมกับสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (PMDU) ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยคาดว่าแพลตฟอร์มดังกล่าวจะพัฒนาแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2563 จึงเห็นควรให้กรมฯ ดำเนินการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด
                   6. รับทราบเหตุผลในการปรับลดหน่วยงานดำเนินการภายใต้โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จาก 10 หน่วยงานเป็น 6 หน่วยงาน
                   7. อนุมัติให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภาคการท่องเที่ยวตามที่เสนอ
 

ต่างประเทศ

20. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อการตอบรับคำเชิญผูกพันต่อกรรมสารของ OECD Council ที่เกี่ยวกับการยอมรับร่วมของข้อมูลเรื่องการประเมินสารเคมี
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการตอบรับคำเชิญผูกพันต่อกรรมสารของ OECD Council ที่เกี่ยวกับการยอมรับร่วมของข้อมูลเรื่องการประเมินสารเคมี (การยอมรับร่วมของข้อมูลฯ) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ
                   ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย และไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไปแล้ว ให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวด้วย ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   กระทรวงสาธารณสุขเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการตอบรับคำเชิญผูกพันต่อกรรมสารของ OECD Council ที่เกี่ยวกับการยอมรับร่วมของข้อมูลเรื่องการประเมินสารเคมี ซึ่งเดิมประเทศไทยได้เคยแสดงเจตจำนงเข้าร่วมเป็นภาคีชั่วคราวในระบบการยอมรับร่วมของข้อมูลเรื่องการประเมินสารเคมีกับ OECD มาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553-2556 และได้รับการขยายเวลาการเข้าร่วมเป็นภาคีชั่วคราวอีก 2 ครั้ง ในปี  พ.ศ. 2556-2559 และ พ.ศ. 2559-2562 ทั้งนี้ การเข้าร่วมเป็นภาคีชั่วคราวดังกล่าว ประเทศไทยต้องยอมตกลงที่จะผูกพันต่อกรรมสารของ OECD Council เป็นการชั่วคราว ซึ่งกรรมสารดังกล่าวกำหนดให้ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การทดสอบของ OECD และหลักปฏิบัติที่ดีของห้องปฏิบัติการของ OECD โดยผลการประเมินจากสมาชิกภาคเครือข่าย OECD ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถดำเนินการสอดคล้องตามหลักเกณฑ์การทดสอบฯ และหลักปฏิบัติที่ดีของห้องปฏิบัติการฯ ที่กำหนดไว้ในกรรมสารดังกล่าวได้ทัดเทียมกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ ดังนั้น OECD Council จึงได้มีมติเชิญประเทศไทยเข้าเป็นประเทศภาคีแบบสมบูรณ์ (Full adherence) ในระบบการยอมรับร่วมในข้อมูลการประเมินสารเคมี OECD และเข้าเป็นสมาชิกสมทบในคณะทำงานและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการตอบรับคำเชิญดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะต้องยอมตกลงผูกพันต่อกรรมสารของ OECD Council เช่นเดิมเหมือนกับครั้งที่เป็นภาคีชั่วคราว  โดยดำเนินการ ดังนี้  (1) ดำเนินการตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในกรรมสารของ OECD Council จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่
                   (1) มติของสภาบริหารเกี่ยวกับการยอมรับร่วมของข้อมูลการประเมินสารเคมี
                   คือ วิธีการดำเนินงานของห้องปฏิบัติการทดสอบสารเคมีโดยทาง OECD Council ได้กำหนดเป็นหลักเกณฑ์การทดสอบและหลักปฏิบัติที่ดีของห้องปฏิบัติการเพื่อให้ห้องปฏิบัติการทดสอบสารเคมีนำหลักดังกล่าวไปใช้เป็นแนวทางในการตรวจสอบความปลอดภัยของสารเคมีในวัตถุทดสอบ
                   (2) มติ-ข้อเสนอแนะของสภาบริหารในการดำเนินการให้สอดคล้องตามหลักปฏิบัติที่ดีทางห้องปฏิบัติการ
                   คือ วิธีการดำเนินงานของหน่วยตรวจสอบขึ้นทะเบียนแห่งชาติ  โดยทาง OECD Council ได้กำหนดเป็นคู่มือเพื่อให้หน่วยตรวจสอบดังกล่าวใช้เป็นแนวทางในการตรวจประเมินห้องปฏิบัติการทดสอบสารเคมีว่ามีการดำเนินการสอดคล้องตามหลักเกณฑ์การทดสอบฯ และหลักปฏิบัติที่ดีของห้องปฏิบัติการฯ
                   ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในฐานะหน่วยตรวจสอบขึ้นทะเบียนแห่งชาติจะต้องได้รับการตรวจประเมินจากผู้ตรวจประเมินของภาคีเครือข่าย OECD ด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าการทำหน้าที่เป็นหน่วยตรวจสอบฯ ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นั้น ได้ดำเนินงานอย่างเป็นมาตรฐานเท่าเทียมกับประเทศสมาชิก OECD และ (2) ชำระค่าบำรุงเพื่อสนับสนุนการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการยอมรับร่วมของข้อมูลเรื่องการประเมินสารเคมีจำนวน   ปีละ 5,900 ยูโร (ประมาณ 300,000 บาท)
 
21. เรื่อง การรับรองการปรับปรุงรายการข้อสงวนของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน (ASEN Comprehensive Investment Agreement)
                   คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ลงนามในจดหมายรับรองการปรับปรุงรายการข้อสงวน (Letter Endorsement) เพื่อให้กระบวนการการปรับปรุงรายการข้อสงวนของฟิลิปปินส์เสร็จสมบูรณ์ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) เสนอ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   1. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนซึ่งเป็นผู้ติดตามการปฏิบัติตามพันธกรณีของความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน (ASEAN Comprehensive Investment Agreement: ACIA) และเป็นหน่วยงานหลักในการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการประสานงานด้านการลงทุน (Coordinating Committee on Investment: CCI) ได้รับแจ้งจากฟิลิปปินส์ในที่ประชุม CCI ว่ามีความประสงค์ที่จะปรับปรุงรายการข้อสงวนในประเด็นเกี่ยวกับคำอธิบายกิจการการพิมพ์และเผยแพร่ (Printing and Publishing) และมาตรการการลงทุนจากต่างประเทศและเงินกู้ต่างประเทศ (Foreign Investment and Foreign Loans) เพื่อให้มีความชัดเจนและโปร่งใสมากขึ้น ทั้งนี้ การปรับปรุงรายการข้อสงวนของแต่ละประเทศ ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องออกจดหมายรับรองการปรับปรุงรายการข้อสงวน (Letter of Endorsement) โดยในกรณีของไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้ลงนามจดหมายรับรองฯ เนื่องจากเป็นผู้ลงนามในความตกลง ACIA และส่งให้แก่เลขาธิการอาเซียนเพื่อให้กระบวนการการปรับปรุงรายการข้อสงวนเสร็จสมบูรณ์
                   2. ในการปรับปรุงรายการข้อสงวนของฟิลิปปินส์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพิจารณาแล้วเห็นว่า หลังจากการปรับปรุงรายการข้อสงวนแล้วทำให้รายการฯ มีความชัดเจนโปร่งใส เป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุนของประเทศสมาชิกอาเซียนที่จะไปลงทุนในฟิลิปปินส์ และไม่มีผลกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอื่น ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของอาเซียนที่ประเทศสมาชิกควรต้องดำเนินการลดหรือยกเลิกอุปสรรคที่มีต่อการลงทุนตามลำดับหรือเปิดเสรีมากขึ้นโดยลดข้อจำกัดให้น้อยลง โดยนักลงทุนไทยที่มีความสนใจจะเข้าไปลงทุนในฟิลิปปินส์และต้องการศึกษากฎระเบียบเรื่องการลงทุน รวมถึงสาขาการลงทุนและนโยบายเรื่องการลงทุนที่เป็นข้อสงวนของฟิลิปปินส์ก่อนที่จะเข้าไปลงทุนในฟิลิปปินส์สามารถศึกษาได้จากรายการข้อสงวนนี้ ซึ่งรายการข้อสงวนที่มีความชัดเจน โปร่งใส มีการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน มีแหล่งที่มาของกฎหมายอย่างชัดเจนจะเป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุนไทย
 
22. เรื่อง ร่างกรอบความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการระดมทุนและการสร้างตลาดทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานไทย-สหรัฐอเมริกา
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกรอบความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการระดมทุนและการสร้างตลาดทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานไทย-สหรัฐอเมริกา (ร่างกรอบความร่วมมือฯ) โดยหากมีความจำเป็นต้องปรับแก้ร่างกรอบความร่วมมือฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้อยู่ในดุลพินิจของกระทรวงการคลัง ดำเนินการได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก พร้อมอนุมัติให้ปลัดกระทรวงการคลังเป็นผู้ลงนามในร่างกรอบความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการระดมทุนและการสร้างตลาดทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานไทย-สหรัฐอเมริกา ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   1. ร่างกรอบความร่วมมือฯ มีวัตถุประสงค์และสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
                   วัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แนวทางกระตุ้นการลงทุนจากภาคเอกชนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนส่งเสริมการเติบโตของตลาดเงินผ่านการสร้างโอกาสในการลงทุนในโครงการที่สำคัญ นอกจากนี้ ความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายจะมุ่งเน้นศึกษาและขจัดปัญหาและอุปสรรคเชิงนโยบาย กฎหมาย กฎระเบียบและการเข้าถึงตลาดสำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาคเอกชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยและตามที่ได้ตกลงร่วมกัน
                   ขอบข่ายความร่วมมือ คู่ภาคีจะร่วมมือเพื่อส่งเสริมการลงทุนและการทำงานร่วมกันในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในด้านการพัฒนาและเพิ่มสภาพคล่องแก่ตลาดตราสารหนี้ การเสาะหาและคิดค้นเครื่องมือและโครงสร้างทางการเงินใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นการลงทุนจากภาคเอกชน การส่งเสริมนวัตกรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนจากการแบ่งปันองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดจากกรณีศึกษาของนานาชาติ และการพัฒนาขีดความสามารถด้านการเงินและด้านเทคนิคต่าง ๆ ร่วมกัน
                   แนวทางดำเนินงาน คู่ภาคีจะจัดตั้งคณะทำงานร่วม ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนอาวุโสของแต่ละฝ่าย   เพื่อกำหนดแนวทางดำเนินการและศึกษาถึงโอกาสในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน
                   รูปแบบและกิจกรรมความร่วมมือ คู่ภาคีจะเสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะผ่านการฝึกอบรมการสัมมนา และหลักสูตรต่าง ๆ รวมถึงการสร้างความแข็งแกร่งของภาคีเครือข่าย ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญและภาคเอกชนทั้งสองฝ่าย เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของร่างกรอบความร่วมมือฯ
                   บทบัญญัติทั่วไป ร่างกรอบความร่วมมือฯ นี้ไม่ก่อให้เกิดสิทธิ หน้าที่หรือผลบังคับผูกพันใด ๆ ของแต่ละคู่ภาคีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ
                   2. ร่างกรอบความร่วมมือฯ เป็นการส่งเสริมความร่วมมือและการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกาและกระทรวงการคลัง ประเทศไทย เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานร่วม กระตุ้นการลงทุนจากภาคเอกชนด้านโครงสร้างพื้นฐานตลอดจนสนับสนุนการเติบโตของตลาดเงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาขีดความสามารถของบุคคลากรผ่านการอบรมและแบ่งปันองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา
                   ทั้งนี้ ปัจจุบันได้มีประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ลงนามในกรอบความร่วมมือฯ กับสหรัฐอเมริกาแล้ว 3 ประเทศ ได้แก่สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐเกาหลี และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
 
23. เรื่อง ขอความเห็นชอบร่างแถลงการณ์ประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคและร่างปฏิญญาเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าในการเคลื่อนย้ายสินค้าที่มีความจำเป็นโดยรัฐมนตรีการค้าเอเปค
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการต่อร่างแถลงการณ์การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคและร่างปฏิญญาเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าในการเคลื่อนย้ายสินค้าที่มีความจำเป็นโดยรัฐมนตรีการค้าเอเปค โดยหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย  ให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างแถลงการณ์การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคและร่างปฏิญญาเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าในการเคลื่อนย้ายสินค้าที่มีความจำเป็นโดยรัฐมนตรีการค้าเอเปค ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
                   สาระสำคัญ ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
                   1. ร่างแถลงการณ์การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค มีสาระสำคัญ ดังนี้ 1) ยืนยันความมุ่งมั่นในการลดผลกระทบจากโรคโควิด-19 และนำภูมิภาคเอเปคไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ครอบคลุม กลับฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและยั่งยืน และตระหนักถึงความพยายามของเอเปคในการเสริมสร้างศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์เพื่อนำไปสู่ความมั่งคั่งร่วมกันในอนาคต 2) ยินดีที่เอเปคมีการดำเนินการในการนำแถลงการณ์รัฐมนตรีการค้าเอเปค เรื่องการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ไปสู่การปฏิบัติ โดยมีความคืบหน้าในการดำเนินการเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในรูปแบบออนไลน์ 3) ตระหนักถึงความสำคัญของการช่วยเหลือผู้เปราะบางทางสังคม รวมถึงสตรี ชนกลุ่มน้อย ผู้สูงอายุ และMSMEs ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยยินดีกับการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนความร่วมมือในการรับมือกับโรคติดเชื้อโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปค 4) เน้นย้ำถึงข้อผูกพันที่ให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยเฉพาะเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ อาหาร สินค้าเกษตร เพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 โดยยินดีกับการมีปฏิญญาการอำนวยความสะดวกทางการค้าในการเคลื่อนย้ายสินค้าที่มีความจำเป็น ซึ่งแสดงถึงความยึดมั่นต่อกติกาทางการค้าที่สอดคล้องกับองค์การการค้าโลก 5) ตระหนักถึงสภาพแวดล้อมทางการค้าและการลงทุนที่เสรี เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ โปร่งใส คาดการณ์ได้ และมีเสถียรภาพเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยรับทราบถึงการดำเนินของเอเปคเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว 6) ยินดีกับการรายงานของสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค และรับทราบถึงข้อเสนอแนะในการบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งรวมถึงการเปิดตลาดสินค้า บริการ และการลงทุนเพื่อสนับสนุน MSMEs และยกระดับการเชื่อมโยงด้านดิจิทัล และ 7) ชี้แนะเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคให้เร่งการดำเนินการเพื่อนำไปสู่การจัดทำวิสัยทัศน์เอเปคหลังปี 2020 ให้สำเร็จลุล่วง บนพื้นฐานของระบบการค้าพหุภาคี และเสริมสร้างเป้าหมายโบเกอร์ โดยรวมถึงการลดผลกระทบของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบให้เป็นการเร่งบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งวิสัยทัศน์เอเปคหลังปี 2020 จะต้องสะท้อนเป้าหมายที่จะทำให้ภูมิภาคเอเปคฟื้นตัว มีความยั่งยืน ครอบคลุม เพื่อนำไปสู่ความมั่งคั่งร่วมกัน
                   2. ร่างปฏิญญาเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าในการเคลื่อนย้ายสินค้าที่มีความจำเป็นโดยรัฐมนตรีการค้าเอเปค มีสาระสำคัญ ดังนี้ 1) ตระหนักถึงความสำคัญและมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อช่วยการไหลเวียนทางการค้าในช่วงการแพร่ระบาดฯ 2) ตระหนักว่าเป็นผลประโยชน์ร่วมกันเพื่อเปิดเส้นทางการค้า ซึ่งรวมถึงเส้นทางการบิน ทางบกและทางทะเล 3) มุ่งมั่นที่จะสร้างสภาพแวดล้อมทางการค้าและการลงทุนที่เสรี เป็นธรรมไม่เลือกปฏิบัติ โปร่งใส คาดการณ์ได้ และมีเสถียรภาพ 4) เน้นย้ำที่จะมุ่งมั่นในการตอบสนองเพื่อบรรเทาผลกระทบของโควิด-19 โดยตระหนักว่ามาตรการฉุกเฉินที่จะนำมาใช้รับมือกับโควิด-19 สอดคล้องกับองค์การการค้าโลก และไม่ใช้มาตรการที่เป็นอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีต่อสินค้าที่มีความจำเป็น รวมถึงการสนับสนุนการอำนวยความสะดวกทางการค้า และการตระหนักถึงข้อเรียกร้องของสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปคในการใช้มาตรการการเปิดเสรีด้านภาษี ซึ่งบางเขตเศรษฐกิจได้ดำเนินการในรูปแบบฝ่ายเดียว (Unilateral) ที่เอเปคอาจเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะใช้วิธีดังกล่าวในรูปแบบข้อริเริ่มหลายฝ่าย (Plurilateral initiative)
                   ทั้งนี้ รัฐมนตรีการค้าเอเปคมีกำหนดรับรองร่างแถลงการณ์ข้างต้นภายในวันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม 2563 ในการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคผ่านการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (VMRT) เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือในระดับภูมิภาคและการมีบทบาทสำคัญของเอเปคที่มีส่วนร่วมรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19
 
24. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างแผนปฏิบัติการด้านความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการด้านความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น และหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการได้ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมให้การรับรองร่างเอกสารดังกล่าว ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
                   สาระสำคัญ ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
                   1. ร่างแผนปฏิบัติการด้านความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น เป็นเอกสารความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นในการตอบสนองต่อความท้าทายทางเศรษฐกิจต่าง ๆ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ 3 ข้อ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
                             ข้อ 1 การรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอันใกล้ชิดระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น เน้นย้ำถึงความสำคัญของการรักษาตลาดที่เปิดกว้างสำหรับการค้าและการลงทุน และหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการที่มิใช่ภาษีที่ไม่จำเป็นที่อาจก่อให้เกิดการจำกัดการส่งออกและการนำเข้าสินค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะสินค้าจำเป็น อาทิ อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ อาหาร และสิ่งจำเป็นอื่น ๆ หรืออาจทำให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาค
                             ข้อ 2 การบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายสินค้าจำเป็น รวมทั้งสินค้าอาหารและเกษตร เพื่อสนับสนุนความอยู่รอดและความสมบูรณ์ของห่วงโซ่อุปทาน และส่งเสริมให้การสนับสนุนด้านต่าง ๆ รวมถึงทางการเงินสำหรับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) และกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
                             ข้อ 3 การเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ กำหนดกรอบความร่วมมือในการเสริมสร้างศักยภาพด้านการเตรียมความพร้อมและตอบสนองต่อห่วงโซ่อุปทานในภาวะฉุกเฉิน และพิจารณาจัดทำข้อริเริ่มความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในสาขายุทธศาสตร์ รวมถึงอุตสาหกรรมอาหารและเกษตร อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และพลังงาน
                   2. นอกจากนี้ ร่างแผนปฏิบัติการฯ ได้กำหนดมาตรการทางยุทธศาสตร์ (strategic measures) และแนวทางการดำเนินกิจกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นกิจกรรมที่ฝ่ายญี่ปุ่นจะเป็นผู้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ข้างต้น ได้แก่ ข้อ 1 การเร่งลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ภายในเดือนพฤศจิกายน 2563 ตามกำหนด การส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และเคมีภัณฑ์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านอุตสาหกรรม และยุทธศาสตร์ดิจิทัลเพื่อปกป้องธุรกิจ รวมถึงแสวงหาโอกาสการค้าดิจิทัลและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ข้อ 2 การจัดสัมมนาและบริการจับคู่ธุรกิจออนไลน์โครงการสนับสนุนทางการเงินเพื่อเสริมสร้างการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลในเอเชีย และการสำรวจความต้องการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของ MSMEs เป็นต้น และข้อ 3 การเสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดการโรงงานด้วยอินเทอร์เน็ตประสานสรรพสิ่ง (loT) การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระบุกฎระเบียบของอาเซียนที่จำเป็นใน “ความปกติใหม่” และโครงการการเสริมสร้างศักยภาพเพื่อพัฒนาตลาดก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นต้น
                    ทั้งนี้ อาเซียนและญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายที่จะให้การรับรองร่างแผนปฏิบัติการด้านความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AEM-METI) สมัยพิเศษว่าด้วยโควิด-19 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 เวลา 14.00-15.00 น. 
 

แต่งตั้ง

 
25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอแต่งตั้ง นางเสาวณีย์ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 
26. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเสนอแต่งตั้ง  นางสาวซ่อนกลิ่น พลอยมี ผู้อำนวยการกองพัฒนาและเชื่อมโยงการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการลงทุน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 
27. เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 214/2563 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ              รองประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
                   ตามที่ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 167/2562 เรื่อง มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 นั้น
                    เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย เหมาะสม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จึงแก้ไขเพิ่มเติม คำสั่งมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ  ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 167/2562 ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 ดังนี้
                    ข้อ 1 ให้ยกเลิกข้อ 2.1.2
                    ข้อ 2 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น ข้อ 3.1.12
                              “ข้อ 3.1.12 คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน”
                    ทั้งนี้  ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป
 
28. เรื่อง การมอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเป็นหลักการมอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตามนัยมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ ดังนี้ 
                   1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ผู้รักษาราชการแทน คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
                   2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้รักษาราชการแทน คือ รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ  เครืองาม)
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   1. โดยที่มีรัฐมนตรีจำนวน 6 ท่าน ขอลาออกจากตำแหน่ง ดังนี้ 
                             1.1 รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์)
                             1.2 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายเทวัญ ลิปตพัลลภ)
                             1.3 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายอุตตม สาวนายน)
                             1.4 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (นายสุวิทย์ เมษินทรีย์)
                             1.5 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์)
                             1.6 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล) 
                   2. กรณีที่รัฐมนตรีขอลาออกดังกล่าว (ตามข้อ 1.) จะทำให้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไม่มีผู้รักษาราชการแทนตามมติคณะรัฐมนตรี (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 และวันที่ 6 สิงหาคม 2562) และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 42 ที่บัญญัติให้ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงหลายคน ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ดังนี้
                             1) รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ผู้ปฏิบัติราชการแทน/ผู้รักษาราชการแทน คือ (1) รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) (2) รองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) (หมายเหตุ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 161/2562 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2562) 
                             2) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายเทวัญ ลิปตพัลลภ) ผู้ปฏิบัติราชการแทน/ผู้รักษาราชการแทน คือ รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) (หมายเหตุ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 161/2562 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2562)  
                             3) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้ปฏิบัติราชการแทน/ผู้รักษาราชการแทน  คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (หมายเหตุ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 42) 
                              4) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ผู้ปฏิบัติราชการแทน/ผู้รักษาราชการแทน ไม่มี  
                             5) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้ปฏิบัติราชการแทน/ผู้รักษาราชการแทน ไม่มี    
                             6) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ผู้ปฏิบัติราชการแทน/ผู้รักษาราชการแทน คือ (1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (นายจุติ ไกรฤกษ์) (2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) (หมายเหตุ มติคณะรัฐมนตรี 6 สิงหาคม 2562)
 
29. เรื่อง การแต่งตั้งผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการแต่งตั้ง นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข เป็นผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยให้ได้รับค่าตอบแทนคงที่ในอัตราเดือนละ 380,000 บาท ตามมติคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ในการประชุมครั้งที่ 7/2563 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 และครั้งที่ 8/2563 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 ซึ่งกระทรวงการคลังได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้างเป็นต้นไปแต่ไม่ก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ และให้นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ลาออกจากการเป็นพนักงานของรัฐวิสาหกิจก่อนลงนามในสัญญาจ้างด้วย
 
30. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (นักบริหารสูง) ทดแทนข้าราชการที่ถูกลงโทษทางวินัย
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงบประมาณเสนอการแต่งตั้ง นางสาวศิลักษณ์ ปั้นน่วม  ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) ให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (นักบริหารสูง) แทนตำแหน่งที่ว่าง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: