21 มี.ค. สธ. ยืนยันผู้ป่วยใหม่ 89 คน สะสม 411 คน - กทม.สั่งปิดสถานที่เสี่ยง-ห้างฯ 22 วัน ยกเว้นโซนอาหาร

กองบรรณาธิการ TCIJ 21 มี.ค. 2563 | อ่านแล้ว 1550 ครั้ง

21 มี.ค. สธ. ยืนยันผู้ป่วยใหม่ 89 คน สะสม 411 คน - กทม.สั่งปิดสถานที่เสี่ยง-ห้างฯ 22 วัน ยกเว้นโซนอาหาร

21 มี.ค. 2563 สธ. ยืนยันผู้ป่วยใหม่ 89 คน สูงสุดในรอบ 1 เดือน รวมผู้ป่วยรวมสะสม 411 คน เป็นกลุ่มเดิมสนามมวย 32 คน สถานบันเทิง 2 คน ส่วนกลุ่มใหม่ 38 คนและรอผลตรวจอีก 20 คน ขอความร้่วมมืออยู่ในบ้านเพื่อลดการติดเชื้อ - กทม.สั่งปิดสถานที่เสี่ยงเพิ่ม 22 วัน เริ่ม 22 มี.ค. -12 เม.ย. ยกเว้นซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารขายได้เฉพาะหิ้วกลับบ้าน 

21 มี.ค. 2563 กระทรวงสาธาธารณสุข แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา COVID-19 โดยนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันนี้ พบมีผู้ป่วยเพิ่ม 89 คนในลำดับที่ 323-441 คน รวมผู้ป่วยรวมสะสม 411 คน ถือว่าเป็นตัวเลขสูงที่สุดในรอบ 1 เดือน หายดีกลับบ้านแล้วเพิ่ม 1 คน รวมเป็น 44 คน และยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 366 คน เสียชีวิต 1 คน และ 4 คนที่อาการวิกฤต นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรค 9,670 คน กลับบ้านแล้ว 5,937 คน 3,733 คน

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับกลุ่มผู้ป่วยเพิ่มในจำนวน 89 คนพบเป็นกลุ่มสนามมวย 32 คน สถานบันเทิง 2 คน กลุ่มใกล้ชิดคนป่วย 11 คน และกลุ่มที่กลับจากกิจกรรมทางศาสนา 6 คน ส่วนผู้ป่วยกลุ่มใหม่ 38 คน แบ่งเป็นเดินทางกลับจากต่างประเทศ 12 คน ทำงานและอาศัยพื้นที่แออัด 6 คนและรอผลตรวจอีก 20 คน

“สถานการณ์แพร่ระบาด ทำให้มีคนกังวล และไปตรวจหาเชื้อ จนแน่นโรงพยาบาล จนมีปัญหาน้ำยาตรวจเชื้อ COVID-19 ไม่เพียงพอ ดังนั้นขอร้องว่าคนที่ไม่มีอาการอย่ามาตรวจ แต่คนที่มีอาการ และสัมผัสใกล้ชิดคนป่วย ให้มาตรวจได้ เช่น มีไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ปวดเมือยร่างกาย”

ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป ระบุกรณีนักร้อง "แพรวา" น.ส.ณิชาภัทร ฉัตรชัยพลรัตน์ ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบผลที่ขึ้นบันชีไว้ ยังไม่ใช่ตัวเลข 1 ใน 89 คนของรายงานผู้ป่วยวันนี้ ส่วนกลุ่มที่สัมผัสใกล้ชิดและร่ว,กิจกรรมอาสาที่ทำหน้ากากผ้ากับนักร้อง กลุ่มเสี่ยงสูงสุดคือผู้ใกล้ชิดนักร้อง ขอให้กักตัว 14 วันอยู่แล้ว และกลุ่มที่มาภายหลังก็ขอให้สังเกตอาการจนกว่าจะมีข้อมูลเพิ่มขึ้น เพราะแม้จะได้รับเชื้อก็ไม่ได้ป่วยทันที

นพ.นพ.โสภณ กรณีการระบาดในพื้นที่สนามมวย พบจำนวนผู้ติดเชื้อแล้ว การระบาดในกลุ่มคนที่ยังไม่ป่วย และคนป่วยพบเชื้อต้องแจ้งให้ทราบเพื่อให้คนต้องกักตัวเอง และแยกสิ่งของใช้ โดยวงรอบสำหรับคนที่อยู่ในช่วงเวลานั้น 14 วันจากที่ไปสนามมวย แล้วยังไม่ป่วยก็สิ้นสุดการเฝ้าระวัง แต่หากในช่วงเวลานี้เขาไปพบกับกลุ่มที่ป่วยก็ต้องเริ่มต้นจากวันที่เจอคนป่วยไปเรื่อยๆ

ส่วนกรณีที่รัฐบาลการประกาศให้อยู่บ้านควรเตรียมตัวอย่างไร นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า ขณะนี้ขอให้ประชาชนต้องปรับตัวเอง ซึ่งตามท่าทีของภาครัฐบาล ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้วางมาตรการออกมาค่อยๆ ปรับระดับ และขอให้ทุกคนร่วมมือในการปรับตัวอยู่กับบ้าน โดยไม่ได้หมายความว่าออกนอกบ้านไม่ได้ แต่เลี้่ยงออกไป และใช้วิธ การสั่งอาหารดิลิเวอร์รี่ ส่วนเวลาออกนอกบ้านให้ใส่หน้ากากอนามัยแบบผ้า และถ้าอยู่ในห้องกรณีกลับจากต่างประเทศ ต้องแยกกลุ่มจากครอบครัว

นพ.ทวีศิลป์ การเตรียมพร้อมหน้ากากอนามัยสำหรับประชาชน มอบให้ผู้ตรวจราชการเช็กข้อมูลมาตลอด แต่หากถ้าเข้าสู่ช่วงการรักษา ประเด็นคือหน้ากาก N-95 ที่ต้องเตรียมให้บุคลากรการแพทย์ และชุด PPE ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และข่าวดีทางสถานทูตจีนจะสนับสนุนทั้งชุด และเวชภัณฑ์

นพ.ยงยุทธ์ วงศ์ภิรมย์ศานดิ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้พบคนไทยเป้น 3 กลุ่มคือกลุ่มที่กังวลน้อย ซึ่งไม่ป้องกันตัวเองเลย จะเห็นว่าในตลาด ป้ายรถคนครึ่งหนึ่งยังไม่ยอมสวมใส่หน้ากากผ้า

ส่วนกลุ่มที่ 2 คนที่กังวลมากไป และไปตรวจทำให้เกิดความหนาแน่นในพื้นที่โรงพยาบาล เช่น กรณีกลุ่มที่กลัวและรังเกียจคนอื่น กังวลเรื่องการกักตุนอาหาร และหน้ากากอนามัย ทั้งที่ควรใช้หน้ากากอนามัย แต่ควรอยู่ในระดับที่ตระหนักแต่ไม่ตระหนก และขอให้แบ่งกลุ่ม เช่นถ้ากังวลน้อยไปก็ต้องเปลี่ยนมาป้องกันเพื่อลดการแพร่เชื้อ

“การที่กังวลมากเกินไปจะส่งผลให้เกิดความเครียดต่อสุขภาพจิต และสุขภาพกาย เพราะจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันตก”

กทม.สั่งปิดสถานที่เสี่ยง-ห้างฯ 22 วัน ยกเว้นโซนอาหาร

วันนี้ (21 มี.ค.2563) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 เขตดินแดง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 หารือมาตรการเพิ่มเติมเพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 เนื่องจากสถานการณ์การระบาดมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง จนอาจส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กระจายขยายวงกว้าง

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการฯ มีมติสั่งปิดสถานประกอบการตามมาตรา 35 พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เพิ่มเติม เป็นระยะเวลา 22 วัน ตั้งแต่ 22 มีนาคม-12 เมษายน 2563

โดยสถานที่เสี่ยงปิดเพิ่มเติม ได้แก่
- สปา นวดเพื่อสุขภาพ
- สถานบริการควบคุมน้ำหนัก
- สปาอาบน้ำ ตัดขนสัตว์
- ลานสเก็ตหรือโรลเลอร์เบรด
- กิจการเสริมสวย และคลินิคเสริมความงาม
- สวนสนุก โบว์ลิ่ง ตู้เกม
- กิจการบริการคอมพิวเตอร์
- สนามกอล์ฟ สนามฝึกซ้อมกอล์ฟ
- สระว่ายน้ำ
- กิจการสักผิว
- กิจการบริการเลี้ยงและดูแลเด็กที่บ้าน
- บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน
- สนามพระ
- สนามชนไก่ และสนามซ้อมชนไก่
- สถานที่จัดประชุมและนิทรรศการ
- ตลาดทุกประเภท ยกเว้นแผงของสด และแผงค้าที่จำหน่ายอาหารตามความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน
- ห้างสรรพสินค้า ยกเว้นส่วนซูเปอร์มาร์เก็ต
- สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย สถานศึกษารัฐ เอกชน โรงเรียนประจำ โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนสอนศาสนา โรงเรียนกวดวิชาทุกแห่ง
- สถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย บัณฑิตวิทยาลัย ทั้งของรัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันอบรมวิชาชีพทั่วกรุงเทพฯ

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังขอความร่วมมือหน่วยงานเอกชนให้อนุญาตพนักงานทำงานที่บ้าน ส่วนหน่วยงานของรัฐให้ใช้วิธีเหลื่อมเวลาหรือสลับวันการทำงาน ตามความเหมาะสม ส่วนระบบขนส่งมวลชนขอให้จัดเว้นระยะที่นั่งเพื่อลดความแออัดของผู้โดยสาร และขอความร่วมมือประชาชนลดการเดินทางไปในที่มีคนหนาแน่น

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนไม่ต้องกักตุนสินค้า ร้านอาหารยังเปิดตามปกติ เพียงแต่ขอให้ปรับรูปแบบเป็นแบบกล่องกลับบ้าน (take away) และซูเปอร์มาร์เก็ต ก็ยังเปิดตามปกติ ร้านสะดวกซื้อให้หมั่นทำความสะอาด มีจุดบริการแอลกอฮอล์บริเวณทางเข้า เพื่อความสะอาด ปลอดภัย


ที่มาเรียบเรียงจาก Thai PBS [1] [2]


ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: