จับตา: รายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1/2563 และแนวโน้มทั้งปี 2563 ของสภาพัฒน์ฯ

กองบรรณาธิการ TCIJ 20 พ.ค. 2563 | อ่านแล้ว 3028 ครั้ง


รายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1/2563 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ 'สภาพัฒน์ฯ' ติดลบ 1.8% ครั้งแรกในรอบ 6 ปี ประเมินทั้งปี 2563 ติดลบ 5-6% ส่งออกคาดติดลบ 8% เงินเฟ้อติดลบ 0.5-1.5% ภาคท่องเที่ยวรายได้ลดลง 68.8% เหลือมูลค่า 5.9 แสนล้านบาท นักท่องเที่ยวเหลือไม่ถึง 13 ล้านคน

เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2563 นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ 'สภาพัฒน์ฯ' เปิดเผยว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกติดลบ 1.8% ซึ่งเป็นการติดลบครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 57 ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการลงทุนภาครัฐและเอกชนปรับตัวลดลง

ขณะที่การส่งออกมีมูลค่า 60,867 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 1.5% ซึ่งเป็นการกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส ตามการขยายตัวของการส่งออกทองคำ และกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลประโยชน์จากสงครามการค้าในช่วงก่อนหน้าและการระบาดของโควิด-19

ด้านการนำเข้า ในไตรมาสแรกมีมูลค่า 52,817 ล้านดอลลาร์ ลดลง 0.9% ปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ด้านดุลการค้าในไตรมาสแรกของปี 63 เกินดุล 8,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุล 9,500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลจากการเกินดุลการค้าและการเกินดุลบริการ เป็นต้น

ส่วนภาคการท่องเที่ยว ในไตรมาสแรกนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีทั้งสิ้น 6.69 ล้านคน ลดลง 38% ซึ่งลดลงครั้งแรกในรอบ 13 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 4/59 ตามการปรับลดลงของนักท่องเที่ยวต่างประเทศเกือบทุกประเทศ ขณะที่รายรับจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 0.515 ล้านล้านบาท ลดลง 38.2% สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในไตรมาสแรกที่ผ่านมาอยู่ที่ 0.4% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.5%

ขณะที่แนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้ ได้ปรับลดประมาณการลงเป็นติดลบ 5-6% โดยมีค่ากลางที่ติดลบ 5.5% จากเดิมคาดขยายตัว 1.5-2.5% นอกจากนี้ยังปรับลดคาดการส่งออกเป็นติดลบ 8% จากเดิมคาดขยายตัว 1.4% ด้านการนำเข้าคาดติดลบ 13.2% จากเดิมคาด 2.7%

ส่วนดุลการค้าปีนี้คาดเกินดุล 35.7 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้คาดติดลบ 0.5-1.5% จากเดิมคาด 0.4-1.4%

ด้านรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 0.59 ล้านล้านบาท ลดลง 68.8% จาก 1.88 ล้านล้านบาท ในปีก่อน สอดคล้องกับการปรับลดการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้มาอยู่ที่ 12.7 ล้านคน จาก 37 ล้านคน ในการประมาณการครั้งก่อน

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาผ่อนคลายและเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีความไม่แน่นอนสูง และจำเป็นที่จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการรับมือ และมาตรการจัดการเพื่อป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในระดับที่มั่นใจว่าจะไม่นำไปสู่การระบาดให้เกิดขึ้นภายในประเทศอีกครั้ง

นายทศพร กล่าวว่าด้านการเบิกจ่ายงบประมาณ ในปีนี้การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 คาดว่าอยู่ที่ 90.5% ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งลดลงจากสมมติฐานการเบิกจ่ายเดิมที่ 91.2% เป็นผลจากการปรับลดอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนมาอยู่ที่ 55% แต่ปรับเพิ่มอัตราการเบิกจ่ายงบประจำมาอยู่ที่ 99% เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิมที่ 98%

ด้านการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 64 คาดอยู่ที่ 94.2% ของวงเงินงบประมาณโดยเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำและอัตราการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนที่ 98% และ 80% ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 64 ไม่มีความล่าช้า

ทั้งนี้ การประมาณการเศรษฐกิจดังกล่าวภายใต้สมมติฐาน ประกอบด้วย การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อยู่ในวงจำกัดตั้งแต่ไตรมาส 2 และเริ่มผ่อนคลาย Full Lockdown ในไตรมาส 2 และเข้าสู่ภาวะปกติในไตรมาส 3 อย่างไรก็ตาม ยังคงจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศถึงไตรมาส 3 และให้เดินทางระหว่างประเทศของนักท่องเที่ยวได้ในไตรมาส 4

ขณะที่ Work from home ยังมีบางส่วน กิจกรรมที่มีคนหมู่มากเปิดให้บริการต่ออยู่ภายใต้มาตรการควบคุมที่เข้มงวด ด้านราคาน้ำมันคาดเฉลี่ยอยู่ที่ 35 ดอลลาร์ต่อบาเรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 32.3 บาทต่อดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ที่คาดว่าจะปรับลดลงนั้น เนื่องจากการปรับตัวลดลงรุนแรงของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก การลดลงรุนแรงของจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติ เงื่อนไขข้อจำกัดที่เกิดจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศ รวมถึงปัญหาภัยแล้งที่มีความรุนแรงที่สุดในรอบ 4 ปี

ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลัง มองว่า ยังมีปัจจัยเสี่ยง จากการลดลงของความรุนแรงจากการระบาดและการผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทางในต่างประเทศที่อาจมีความล่าช้ามากกว่าการคาดการณ์ รวมทั้งความเสี่ยงที่เกิดจากการผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และควบคุมการเดินทางท่ามกลางจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ในเกณฑ์สูงในประเทศสำคัญๆบางประเทศ

รวมทั้งการเข้าสู่ฤดูหนาวในช่วงปลายปีอาจทำให้ไวรัสกลับมาระบาดรุนแรงอีกครั้งและเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจทำให้เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในปี 63 ปรับตัวลดลงมากกว่าคาดการณ์ในกรณีฐาน

นายทศพร กล่าวว่า ด้านประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ทั้งด้านการส่งออกสินค้าที่ปรับตัวลดลงตามการหดตัวรุนแรงของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก การส่งออกบริการที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการควบคุมการเดินทางของประเทศต่างๆทำให้จำนวนและรายได้นักท่องเที่ยวลดลงเป็นประวัติการณ์

ด้านในประเทศได้รับผลกระทบเชื่อมโยงจากการลดลงของรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยว รวมทั้งสถานการณ์การระบาดในประเทศที่ทำให้ผู้บริโภค ผู้ประกอบการธุรกิจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายและการผลิตรวมทั้งภาครัฐมีความจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเพื่อควบคุมและป้องกันการระบาดของโรค

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างช้าๆ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการลดลงของความรุนแรงของการระบาดในประเทศสำคัญๆ ซึ่งทำให้ประเทศต่างๆสามารถผ่อนคลายมาตรการการปิดสถานที่และข้อจำกัดในการเดินทาง ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกปรับตัวในทิศทางดีขึ้น รวมทั้งความสำเร็จในการควบคุมการระบาดในประเทศ

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี จะต้องประสานนโยบายการเงินการคลัง เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจในช่วงการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงของนักท่องเที่ยวและเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก รวมทั้งการผ่อนคลายการปิดสถานที่การจำกัดการเดินทางควบคู่ไปกับการดำเนินการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค

รวมทั้งการดำเนินมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยสนับสนุนให้พฤติกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศและภาคธุรกิจสามารถกลับสู่ภาวะใกล้เคียงปกติ รวมทั้งสามารถปรับตัวเข้ากับมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคของภาครัฐ และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคและรูปแบบการดำเนินธุรกิจ

นอกจากนี้จะต้องให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเพื่อไม่ให้เกิดการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงรุนแรง
การเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้กรอบต่างๆของภาครัฐ การขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้พรก.เงินกู้ รวมทั้งการเตรียมการรองรับความเสี่ยงสำคัญๆ

ส่วนแผนงานโครงการภายใต้พรก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท นั้น คาดว่าวงเงินเยียวยา 555,000 ล้านบาทนั้น เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดนั้น คาดว่าเม็ดเงินดังกล่าวจะใช้หมดภายในเดือนมิ.ย. นี้ หลังจากนั้น จะใช้วงเงินจากกรอบวงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท

โดยกรอบวงเงิน 400,000 ล้านบาทนั้น คาดว่าจะใช้เพื่อลงทุนและกิจกรรมการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน รวมถึงสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนกระบวนการผลิต เป็นต้น

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: