ชู 'ผู้ประกอบการมุสลิมรุ่นใหม่' พร้อมเปิดพื้นที่หนุนเยาวชนเสนอไอเดีย

กองบรรณาธิการ TCIJ 20 มี.ค. 2563 | อ่านแล้ว 1378 ครั้ง

ชู 'ผู้ประกอบการมุสลิมรุ่นใหม่' พร้อมเปิดพื้นที่หนุนเยาวชนเสนอไอเดีย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปั้นยุวสตาร์ทอัพภาคใต้ ชู 'ผู้ประกอบการมุสลิมรุ่นใหม่' พร้อมเปิดพื้นที่หนุนเยาวชนเสนอไอเดีย สร้างนวัตกรรมช่วยชุมชน | ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ 

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่าเมื่อช่วงต้นเดือน มี.ค. 2563 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมคณะ ลงพื้นที่จังหวัดยะลา เพื่อประกาศเจตนารมณ์การสร้างคนผ่านโครงการ "ยุวชนสร้างชาติ" โดยช่วงเช้า ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นประธานประชุม "บทบาทของมหาวิทยาลัยกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม" และโครงการพัฒนาด้ามขวาน 4.0 โดยมีนายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ผู้บริหารสถานศึกษา เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และนักศึกษาให้การต้อนรับ

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ให้สัมภาษณ์ว่า บทบาทของมหาวิทยาลัยกับการพัฒนาพื้นที่ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์และพัฒนาพื้นที่โดยเฉพาะภาคใต้ จะต้องเปลี่ยนแปลง ต้องสร้างภาคใต้เป็นด้ามขวาน 4.0 เพราะภาคใต้เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาของ 2 มหาสมุทร ภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทั้งที่ตั้งและทรัพยากร มหาวิทยาลัยต้องนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน พัฒนา 3 มิติ คือ คน ต้องเตรียมให้พร้อมสู่ศตวรรษที่ 21 คนในยุคหน้าต้องอยู่ในเมือง ดังนั้นเมืองต้องเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ตอนนี้เราต้องปักหมุดให้ภาคใต้เชื่อมโยงส่วนบนของอาเซียน และส่วนล่างของอาเซียน เราต้องกระจายความมั่งคั่งออกไปยังเมืองหลัก เมืองรองอื่น ๆ สร้างเมืองใหม่ ๆ รองรับคนในศตวรรษหน้า

ต่อมา ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ พร้อมด้วยนายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. เข้าร่วมโครงการกองทุนยุวสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการ "ยุวชนสร้างชาติ" โดยมีผู้ประกอบการมุสลิมรุ่นใหม่ หรือ New Gen Muslim Incubator ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ที่ได้รับการสนับสนุนเพื่อบ่มเพาะธุรกิจและพัฒนานวัตกรรม ของอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงการอุดมฯ นำผลงานที่ได้รับการบ่มเพาะธุรกิจและพัฒนานวัตกรรม มาจัดแสดง อาทิ บริษัท แฮส ออเดอร์ จำกัด บริการ PINSOUQ Halal Supply Chain Integration การทำธุรกิจ แบบออนไลน์ "Pinsouq Online Halal Matketplace (www.pinsouq.com)" แหล่งรวมสินค้าฮาลาลทุกประเภทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บริษัท กรีนเทคไบโอแลบ จำกัด ผลิตภัณฑ์ : Cherlive เจลอาบน้ำผสมกลีบดอกมะลิ บริษัท ทีวายบี มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ตลาดสินค้าออนไลน์แบบใหม่ โครงการจัดตั้งธุรกิจผลิตภัณฑ์ แผ่นเช็ดระงับกลิ่นกาย DARAMA ด้วยสารสกัดจากใบฝรั่ง ไก่กอและ Uncle Yo สุดยอดอาหารแห่งลังกาสุกะ (ใช้น้ำตาลโตโหนดและหญ้าหวาน) เป็นต้น

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สภาพทางเศษฐกิจและสังคมของพื้นที่ไม่ค่อยดีนัก มีจังหวัดที่มีรายได้ประชากรต่อหัวในระดับต่ำถึง 2 จังหวัด คือ ปัตตานี และนราธิวาส อย่างไรก็ตาม จากการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เข้าถึงเทคโนโลยีได้ไม่ยาก โอกาสเปิดสำหรับคนรุ่นใหม่ ประชากรมุสลิมซึ่งดั้งเดิมมีพื้นฐานทางธุรกิจอยู่แล้ว เมื่อเยาวชนเหล่านี้ได้โอกาสเรียนรู้และมีโอกาสในการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ที่นำไปสู่การปรับมุมมองในการประกอบอาชีพการเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น การสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการมุสลิม คือ จุดเริ่มต้นของการก้าวเดิน และเป็นแนวทางและกลไกลหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพทางผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ และเป็นเป้าหมายหนึ่งของทางอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มาโดยตลอด โดยเฉพาะการสร้างและพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการมุสลิม แก่นักศึกษามุสลิมทั้งในและนอกประเทศมาโดยลำดับ

พบว่าผู้ประกอบการนักศึกษาและเยาวชนเหล่านี้มีความคิดทางธุรกิจดี มีหลักการที่เป็นหลักทางศาสนาที่ปลูกฝังไว้ทำธุรกิจด้วยความเหมาะสม มีคุณภาพ ยุติธรรม และมีจริยธรรม เมื่อผสมผสานกับทางธุรกิจและความพร้อมในพื้นที่ที่สามารถนำมาต่อยอดได้ไม่ยาก เพื่อนำไปสู่การเป็นผู้ประกอบการมุสลิมรายใหม่ ที่สามารถเติบโตไปสู่ตลาดฮาลาลโลกได้อย่างยั่งยืนและเต็มรูปแบบ โดยในโครงการนำร่องนี้ ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการมุสลิมรายใหม่จากพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง เป็นอย่างมาก

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: