พบ 'ควันธูป' อีกต้นเหตุปัญหา 'มะเร็ง-โลกร้อน-PM 2.5'

ทีมข่าว TCIJ | 9 ก.พ. 2563 | อ่านแล้ว 9459 ครั้ง

 

พบการ 'จุดธูป' 1 ดอก จะมีปริมาณสารก่อมะเร็งไม่ต่างจากบุหรี่ 1 มวน มีสถิติชี้ผู้ป่วยมะเร็งปอดในเพศหญิงว่า 50% ไม่พบประวัติการสูบบุหรี่หรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้สูบบุหรี่ แต่มีสาเหตุสำคัญมาจากการรับสารก่อมะเร็งจากควันธูป และหาก 1 ปีทั้งโลกมีคนจุดธูปเป็นในระดับ 10,000-10,0000 ตัน จะปล่อย CO2 ไม่ต่ำกว่า 3.25 ล้านกิโลกรัม - ช่วงฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินมาตรฐาน กทม. ขอความร่วมมือลดจุดธูป งดเผากระดาษในศาสนสถานแก้ปัญหาฝุ่นละออง

‘ธูป’ ถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในพิธีกรรมต่างๆ การจุดธูปเป็นการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ประกอบพิธีกรรมกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของแต่ละบุคคล  ข้อมูลจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเมื่อปี 2554 ระบุว่าความต้องการธูปเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยจำนวนมากกว่า 1 ล้านดอกต่อปี ทั้งนี้ ‘ควันธูป’ มีความเชื่อโยงกับ ‘โรคมะเร็งปอด’ อันเป็นโรคที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากเป็นอันดับต้นๆ ของคนไทยโดยตรง เพราะมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสารพิษในควันธูป ได้แก่ สารเบนซีน และ 1,3 บิวทาไดอีน ที่เกิดจากการเผาไหม้ของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตธูป โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่พบในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ จัดเป็นโรคที่มีความรุนแรง

จากงานวิจัยของโรงพยาบาลวิชัยยุทธร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ พบว่าควันธูปเป็นอันตรายและส่งผลให้เป็นโรคมะเร็งปอด โดยร้อยละ 80-90 มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ จากสถิติการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปอดในเพศหญิงพบว่าร้อยละ 50 ไม่พบประวัติการสูบบุหรี่หรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้สูบบุหรี่ แต่มีสาเหตุสำคัญมาจากการรับสารก่อมะเร็งจากควันธูป ซึ่งหากเปรียบเทียบธูป 1 ดอก พบว่าปริมาณสารก่อมะเร็งไม่ต่างจากบุหรี่ 1 มวน เนื่องจากธูปเป็นเครื่องหอมที่ทำจากขี้เลื่อย กาว น้ำมันหอมสกัดจากพืช ไม้หอม ใบไม้ เปลือกไม้ และสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอม ส่งผลให้คนที่สูดดมกลิ่นธูปก็ได้รับสารก่อมะเร็งไม่แตกต่างจากการสูบบุหรี่ และการจุดธูปในบ้าน 3 ดอก โดยไม่ระบายอากาศก่อมลพิษเทียบเท่าสี่แยกที่มีการจราจรหนาแน่น

และจากผลการวิจัยของภัคพงศ์  พละปัญญา พบว่าควันธูปมีสารก่อมะเร็ง 3 ชนิด ได้แก่ เบนซีน 1,3 บิวทาไดอีน และเบนโซเอไพรีน  ธูปที่มีส่วนประกอบมาจากกาว ขี้เลื่อย น้ำมันหอมระเหยและสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอม เป็นต้น โดยสารก่อมะเร็งเกิดจากการเผาไหม้ของกาวและน้ำหอมเป็นสำคัญ และตรวจพบสารเบนซีนในวัดมีถึง 94mg/m3มากกว่าเกณฑ์ความปลอดภัยที่กำหนดไว้ไม่เกิน 1.7mg/m31,3 บิวทาไดอีน ตรวจพบในวัด 11mg/m3 มากกว่าเกณฑ์ความปลอดภัยที่กำหนดไว้ไม่เกิน 0.33mg/m3 [1]

ห่วงควันธูปซ้ำเติม มลพิษเพิ่มความเสี่ยง โรคมะเร็งปอด

เมื่อช่วงเดือน ก.พ. 2562 ผศ.ดร.อารุญ เกตุสาคร รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าการเผาไหม้ของควันธูปจะทำให้เกิดอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) เมื่อทุกสูดดมเข้าไป ควันจะลงสู่ระบบทางเดินหายใจเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาสุขภาพในอนาคตได้ ประกอบกับในธูปพบสารก่อมะเร็งมากถึง 3 ชนิด ได้แก่ เบนซีน บิวทาไดอีน และเบนโซเอไพรีน ซึ่งอยู่ในกลุ่มของ Polycyclic Aromatic Hydrocarbons (PAHs) ที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ผู้ได้รับสัมผัสเป็นเวลานานจึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้าย โดยเฉพาะโรคมะเร็งปอดได้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุเป็นระยะเวลาที่ชัดเจนว่าต้องได้รับสัมผัสเป็นระยะเวลานานเท่าใด แต่จากการวิจัยโดยทั่วไปต้องมีระยะเวลานานติดต่อกันเป็น 10 ปี ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยประกอบด้วย เช่น พันธุกรรมหรือระบบการระบายอากาศในสถานที่จุดธูป ถ้าระบบถ่ายเทไม่ดี ก็ย่อมเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง

“การจุดธูปจะทำให้เกิดควันและมลพิษในอากาศ ซึ่งสารที่อยู่ในควันธูปนั้นเป็นพิษต่อสารพันธุกรรมและสามารถนำไปสู่การเกิดมะเร็งในมนุษย์ เช่นเดียวกับที่พบในพวกควันท่อไอเสียรถยนต์ ควันบุหรี่ หรือควันจากกิจกรรมในอาคาร เช่น การใช้เชื้อเพลิงจุดอาหาร ยากันยุง”

สำหรับสถานที่เสี่ยงได้รับควันธูปจำนวนมาก เช่น วัด การศึกษาวิจัยพบว่าคนทำงานในวัดมีสารก่อมะเร็งในเลือดสูงกว่าทั่วไป 4 เท่า แต่ไม่ใช่ทุกสถานที่ๆ จุดธูปเป็นประจำ จะเกิดผลลัพท์ดังกล่าว ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความเร็วลม ความชื้นสัมพัทธ์ การระบายอากาศ ล้วนส่งผลกระทบต่อการรับสัมผัสเพิ่มสูงขึ้น

ผศ.ดร.อารุญ กล่าวอีกว่ายังมีอาชีพเสี่ยงอื่นๆ อีก เช่น ตำรวจจราจร เด็กนักเรียนในเมืองใหญ่ๆ ที่ต้องเดินทางไปเรียนด้วยตนเอง ในกรุงเทพมหานคร และกลุ่มที่มีความเปราะบางทางสุขภาพ เช่น เด็ก คนชรา และผู้ที่จุดธูปเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในบ้านโดยไม่มีอากาศถ่ายเท เป็นต้น

สำหรับคำแนะนำดูแลตนเอง 4 ประการ สำหรับผู้ที่ต้องอยู่ในบริเวณที่มีการจุดธูป ได้แก่ 1. รณรงค์ให้ลดการจุดธูปหรือจุดธูปบริเวณที่โล่ง ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก หรือใช้ธูปขนาดสั้นเพื่อให้เกิดควันระยะสั้นหรือใช้ธูปไฟฟ้า 2. ถ้าหลีกเลี่ยงการจุดธูปไม่ได้ ให้จัดให้มีการระบายอากาศในทิศทางเดียว (One Directional Air Flow) และให้อยู่เหนือทิศทางลม เพื่อลดการรับสัมผัสสาร 3. ควรสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละออง หรือใช้ผ้าชุบน้ำพอหมาด ๆ ปิดปากปิดจมูก 4.ภายหลังการสัมผัสควันธูปควรล้างมือ ล้างหน้า ล้างตา ให้สะอาด

“กลุ่มเสี่ยงต่ออันตรายจากควันธูปและต้องดูแล ได้แก่ เด็ก คนชรา และบุคคลที่ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคถุงลมโป่งพอง หรือหลอดลมอักเสบเรื้อรัง เพราะบุคคลเหล่านี้ มีกลไกการต่อต้านสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายไม่เหมือนปกติ ทำให้มีโอกาสเกิดอาการผิดปกติได้มากกว่าในกลุ่มคนที่มีสุขภาพดี” ผศ.ดร.อารุญกล่าวทิ้งท้าย [2] 

ต้นเหตุเพลิงไหม้ด้วย 

ที่มาภาพประกอบ: ไทยรัฐออนไลน์

นอกจากนี้ สถิติการเกิดอัคคีภัยในอาคารช่วงเทศกาลตรุษจีน เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2559-2561 พบว่าช่วงปี 2559 เกิดเพลิงไหม้อาคาร จำนวน 8 ครั้ง ปี 2560 จำนวน 9 ครั้ง เพลิงสงบก่อน 6 ครั้ง และปี 2561 จำนวน 11 ครั้ง [3]

หาก 1 ปีทั้งโลกมีคนจุดธูปเป็นในระดับ 10,000-10,0000 ตัน จะปล่อย CO2 ไม่ต่ำกว่า 3.25 ล้านกิโลกรัม

ทุกๆ 1 ตัน ของธูปจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 325.1 กิโลกรัม และก๊าซมีเทน 7.2 กิโลกรัม | ที่มาภาพประกอบ: danielam (Pixabay License)

มีข้อมูลระบุว่าธูปมีหลายรูปหลายขนาดตั้งแต่เล็กถึงใหญ่มากๆ เผาไหม้หมดในเวลา 20 นาที - 3 วัน 3 คืน ซึ่งในประเทศไทย ในการบูชาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ บางคนต้องจุดธูปถึง 9 ดอก ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่ามีคนจุดธูปทั่วโลกปีหนึ่งๆ เป็นหมื่นถึงแสนตัน และทุกๆ 1 ตัน ของธูปจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 325.1 กิโลกรัม และก๊าซมีเทน 7.2 กิโลกรัม หาก 1 ปีทั้งโลกมีคนจุดธูปเป็นในระดับ 10,000-10,0000 ตัน จะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทนออกมาเป็นจำนวนมหาศาล ไม่ต่ำกว่า 3.25 ล้านกิโลกรัม [4]

กทม. ขอความร่วมมือลดจุดธูป งดเผากระดาษในศาสนสถานแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5

เมื่อปลายเดือน ม.ค. 2563 นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวกรณีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ศึกษาวิจัยฝุ่นควันและเสียง โดยระบุจากการตรวจวัดค่าฝุ่นและเสียงบริเวณวัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) พบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินมาตรฐาน และมีระดับเสียงเกิน 80 - 90 เดซิเบล ว่า กทม. ได้รณรงค์ให้ศาสนสถานลดการจุดธูปครั้งละมาก ๆ ลดการเผากระดาษเงินกระดาษทอง และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษ ซึ่งปัจจุบันศาสนสถานหลายแห่งให้ความร่วมมือลดจำนวนกระถางธูป งดการจุดธูป และรวบรวมกระดาษเงินกระดาษทอง รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษ ไปเผารวมในเตาเผาปลอดมลพิษ ส่วนเสียงดังจากการใช้ลำโพงหรือเครื่องขยายเสียง กทม. ได้ขอความร่วมมือศาสนสถานให้ใช้ระดับเสียงตามที่กฎหมายกำหนด หรือเปลี่ยนทิศทางของลำโพง เครื่องขยายเสียง เพื่อป้องกันผลกระทบต่อประชาชนที่พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียง ขณะเดียวกันได้แนะนำเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในศาสนสถาน ที่ต้องสัมผัสธูปเทียนตลอดเวลา ให้หมั่นล้างมือ ล้างหน้า และตรวจสุขภาพประจำปี พร้อมทั้งทำความสะอาดบริเวณกระถางธูปเป็นประจำ เพื่อลดฝุ่นละอองจากควันธูปที่ตกค้าง

นายยุทธนา ป่าไม้ ผู้อำนวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. กล่าวว่าสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ได้เข้าตรวจสอบวัดมังกรกมลาวาส พบการลดกระถางธูปและย้ายกระถางธูปไปอยู่บริเวณที่โล่งแจ้ง เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก งดการเผากระดาษเงินกระดาษทอง พร้อมติดป้ายประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนลดการจุดธูป เพื่อป้องกันปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 สำหรับกรณีเสียงดัง เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีนวัดได้ใช้เครื่องขยายเสียงในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนที่มาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณวัด แต่ช่วงเวลาปกติ ไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียง อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ ได้ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือวัดมังกรกมลาวาส จำกัดเสียงให้อยู่ในมาตรฐานที่เหมาะสม

นางสาวอาทิตยา โชคกิจมนัสชัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ กทม. กล่าวว่าในส่วนของสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ ได้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ได้แก่ รณรงค์ประชาสัมพันธ์ ลด เลิกการจุดธูป เผากระดาษเงินกระดาษทอง บริเวณศาลเจ้า ทั้ง 22 แห่ง ในพื้นที่เขต เป็นประจำทุกเดือน ตรวจวัดควันดำจากท่อไอเสียของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล บริเวณด้านหน้าโรงพยาบาลเทียนฟ้า ถนนเยาวราช ประสานเจ้าของอาคารฉีดพ่นละอองน้ำลดฝุ่นละออง ขอความร่วมมือฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณลานจอดรถด้านข้างวัดสัมพันธวงศาราม วรวิหาร รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม ล้างทำความสะอาดถนนและฉีดพ่นละอองน้ำ เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กจากแหล่งกำเนิดทั่วพื้นที่ทุกวัน ตลอดจนแจกหน้ากากอนามัย พร้อมสาธิตวิธีการใช้หน้ากากอนามัยแก่นักเรียนและครูในโรงเรียน ศาสนสถาน และชุมชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง [5]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] จากอ้างอิงใน 'การพัฒนาส่วนผสมของธูปเพื่อลดสารก่อมะเร็งในควันธูป' (นักรบ เจริญสุข, ดร.รัศมี แสงศิริมงคลยิ่ง, ผศ.ดร.ดุษณี ศุภวรรธนะกุล และ รศ.ดร.วิไลลักษณ์ สุวจิตตานนท์, วารสารวิจัยและพัฒนา วไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปีที 10 ฉบับที่ 3, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 5 ก.พ. 2563)
[2] มธ.ห่วงควันธูปซ้ำเติมมลพิษเพิ่มความเสี่ยง ‘โรคมะเร็งปอด’ (งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 4 ก.พ. 2562)
[3] “งดจุดธูป” ไม่กระทบศรัทธา ประชาชนให้ความร่วมมือ หวังลดฝุ่น PM2.5 (Thai PBS, 22 ม.ค. 2562)
[4] รู้ไหมว่า...ทั่วโลกจุดธูปปล่อย CO2 ปีละไม่ต่ำกว่า 3.25 ล้านกิโลกรัม (ผู้จัดการออนไลน์, 16 ม.ค. 2562)
[5] ขอความร่วมมือลดจุดธูป - งดเผากระดาษในศาสนสถานแก้ปัญหาฝุ่นละออง (กลุ่มวิเคราะห์ข่าว สํานักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร, 31 ม.ค. 2563)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: