สำรวจวาทกรรม 'เด็กสมัยนี้' ของไทยและต่างประเทศ

ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข | 18 ก.พ. 2563 | อ่านแล้ว 18032 ครั้ง


ตั้งแต่เด็กจนโตมา สิ่งหนึ่งที่ได้ยินได้เห็นมาตลอดทุกๆปี คือการที่ผู้ใหญ่ในไทยมักยกการเปรียบเทียบระหว่างเด็กฝรั่งกับเด็กไทยขึ้นมาเปรียบเทียบกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ 'เด็กสมัยนี้' ในน้ำคำ-น้ำความของผู้ใหญ่วัย Generation X และ Baby Boomer (ที่กล่าวอ้างไปถึงบุคคลกลุ่ม Generation Y และ Z ซึ่งเป็น 'เด็กสมัยนี้' ในช่วงระยะเวลา 20-30 ปีที่ผ่านมา) โดยประเด็นที่ถูกกล่าวอ้างถึงมากที่สุดก็คือ การเติบโต และความเป็นผู้ใหญ่ของ 'เด็กสมัยนี้' ซึ่งจะถูกวัดเอาจากการออกไปหางานทำนอกบ้านตั้งแต่ยังมีอาชีพและหน้าที่หลักเป็นนักเรียนอยู่คำพูดเหล่านั้นก็จะมีทั้ง “ดูสิ เด็กฝรั่งอายุ 16-17 ขวบมันเก่งนะ ออกไปทำงานพิเศษหาเงินเองกันแล้ว เด็กไทยยังเล่นเตะบอลหลังเลิกเรียน เล่นไพ่ยูกิ ล้อมวงกันเล่นในร้านอินเตอร์เน็ตกันอยู่เลย” หรือในบางกรณีก็อาจจะค่อนขอดว่า “เด็กไทยนั้นเอาแต่เรียนหนังสือ ทำการบ้านจนถึง 4-5 ทุ่ม เสาร์อาทิตย์ก็ต้องมุ่งแข่งกันเรียนพิเศษตั้งแต่เช้าตรู่จนดึกดื่น” (สำหรับคนที่ต้องการจะพูดให้กระทบไปยังระบบการศึกษาไทย) และในหลายๆครั้งมันก็มักจะตามมาที่ทักษะการเอาตัวรอด และทัศนคติต่อการทำงานในอนาคต เช่นว่าเด็กไทยนั้นเลือกงาน เกี่ยงงาน กลัวลำบาก หรือแม้แต่หมิ่นเงินน้อย จนถึงขั้นตีขลุมไปว่าเด็กไทยนั้นไม่รู้จักหัดฝึกทักษะประสบการณ์ชีวิตกันเสียตั้งแต่เนิ่นๆ เป็นต้น

ในฐานะที่อยู่ในเกณฑ์เป็นหนึ่งใน 'เด็กสมัยนี้' ในสายตาของผู้ใหญ่ จึงอยากจะเล่าถึงแง่มุมของ 'เด็กสมัยนี้' ในไทยเทียบกับ 'เด็กสมัยนี้' ในต่างประเทศ จากประสบการณ์ตรงของตนเองออกมาบ้าง ว่ามีความแตกต่างกันมากหรือน้อยแค่ไหน เพื่อเป็นทางเลือกประกอบในการเปรียบเทียบในอนาคต อนึ่งข้อมูลที่ผมนำมาเล่า ณ ที่แห่งนี้เป็นข้อมูลที่มาจากคนที่อาศัยอยู่ในอังกฤษ เวลากล่าวถึงฝรั่งในที่นี้จึงเป็นการหมายถึงคนที่มีพื้นเพเป็นชาวยุโรปและอเมริกัน (ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือชาวอังกฤษ) เป็นหลัก ส่วนสาเหตุที่เป็นอังกฤษก็เพราะมีช่วงหนึ่งที่ผู้เขียนต้องไปพำนักอยู่ที่ประเทศอังกฤษเลยมีโอกาสได้พูดคุย และสังเกตพลวัตความเป็นไปของชาวเมืองในช่วงขวบปีกว่าๆที่อาศัยและท่องเที่ยวอยู่รอบๆประเทศดังกล่าวนี้

ก่อนอื่นต้องขออนุญาตแก้ความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับ 'เด็กสมัยนี้' ในไทยก่อนที่ว่าเด็กไทยนั้นทำงานกันไม่เป็น โตเป็นผู้ใหญ่ช้า กว่าจะหาเงินใช้เองเป็นก็หลังจบมหาวิทยาลัยอันนี้บอกได้เลยว่าเป็นเรื่องประชดที่ห่างไกลจากความจริงมานานมากกว่า 10 ปีแล้ว ผมมั่นใจว่าไม่ใช่ในช่วง 5-10 ปีนี้ ที่ E-commerce หรือการค้าขายออนไลน์บูมกันจนพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ (บางรายนั้นโดดเข้ามาอยู่ในวงการ ในตลาดกันตั้งแต่อายุ 9-10 ขวบ ไม่ใช่วัย 16-17 อย่างเมื่อช่วงก่อนหน้า) อย่างแน่นอน จริงๆแล้วกระแสวัยรุ่นไทย เด็กไทยออกไปหางานพิเศษทำนอกบ้านมันเริ่มมาตั้งแต่ก่อนที่ร้านสะดวกซื้อ และห้างสรรพสินค้าจะกระจายสาขาออกไปยังตามต่างจังหวัดเสียอีก

ยิ่งในครอบครัวที่มีฐานะระดับยากจน การต้องออกไปทำงานช่วยหาเงินมาจุนเจือครอบครัวยิ่งเป็นเรื่องปกติมาไม่ต่ำกว่า 30-40 ปี ไม่ว่าจะทำนา เข็นรถเข็นขายของในตลาด เด็กไทยออกไปทำงานกันตั้งแต่ยังเรียนหนังสือไม่จบหลายปีแล้ว (หลายคนออกแล้วออกเลย ไม่ได้กลับมาเรียนหนังสืออีกตั้งแต่อายุ 9-10 ขวบ) พอเข้าสู่ยุคสมัยใหม่เข้าหน่อย หลังปี 2000 ก็มีกระแสทำงานนอกบ้านในกลุ่มเด็กไทย มีวัยรุ่นออกไปทำงานพิเศษตาม 7-11 ตามร้านรวงต่างๆในห้างสรรพสินค้า ทั้ง MK ทั้ง Black Canyon ทั้ง Swensens เพื่อเก็บเงิน หาเงินไว้ซื้อสิ่งที่ตนเองอยากได้ (ช่วงนั้นกระแสออมเงินกำลังมาแรง โรงเรียนทุกโรงเรียน โฆษณาทีวีทุกช่องมีแคมเปญสนับสนุนให้นักเรียนเก็บเงิน ออมเงิน จนภาพเด็กหยอดเงินเหรียญใส่กระปุกเพื่อเก็บตังค์ซื้อของเล่นมีให้เห็นได้อยู่บ่อยครั้ง)

เรียกได้ว่าตั้งแต่จำความได้ ก็เห็นเด็กๆนักเรียนในวัยไล่เลี่ยกันออกไปทำงานพิเศษตามร้านอาหาร ตามห้าง และร้านสะดวกซื้อสาขาต่างๆแล้ว และเมื่อหันกลับมามองที่ช่วง 5-10 ปีให้หลังมานี้ มีกระแสสังคมที่สนับสนุนให้เด็กวัยเรียนสะสมทุนสะสมเงินเพื่อจะได้นำไปจับจ่ายใช้สอยตามที่ตนเองต้องการอย่างสบายใจ ไม่พึ่งพาพ่อแม่ ก็ยิ่งสามารถพูดได้เต็มปากมากขึ้นว่า กระแสการออกไปหางานพิเศษและรายได้เสริมทำในช่วงที่กำลังเรียนหนังสืออยู่นั้นขยายตัวมากกว่าแต่ก่อนมาก หลายคนไม่ใช่แค่หางานพิเศษทำตามร้านอาหาร หรือเสิร์ฟกาแฟตามร้านอย่างเดียวเหมือนเมื่อก่อน แต่มีวิวัฒนาการมาเป็นตัวแทนขายเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ความงาม อาหารเสริม หรือแม้กระทั่งรับสินค้ามือหนึ่งและมือสองเช่นเสื้อผ้าบนโลกออนไลน์และตามตลาดนัดก็มีให้เห็นเยอะแยะไป หลายคนเก็บเงินหลักแสนและหลักล้านจนมีบ้านมีรถเป็นของตนเองได้ในเวลาไม่กี่ปีหลังจากการหารายได้เสริม

เหลียวกลับไปดูที่สังคมฝรั่ง เด็กฝรั่งเริ่มทำงานกันตั้งแต่อายุน้อยก็จริง อายุ 16-17 ก็ออกจากบ้านไปหางานทำ หลายคนเลือกที่จะไม่ต่อมหาวิทยาลัย และออกไปทำงานพิเศษ เก็บเงิน เช่าหอ เช่าบ้านอยู่กันเองด้วย ทีนี้แล้วอะไรคือ ความแตกต่างระหว่างเด็กสมัยนี้ของฝรั่งกับไทย? ผมเคยถามเด็กๆที่ทำงานเสิร์ฟอาหาร เด็กปั๊ม และเด็กที่ขายของตามตลาดนัดในเมืองต่างๆว่า ทำไมถึงออกมาทำงานกันตั้งแต่อายุน้อยๆกัน เกือบ 100 ทั้ง 100 คำตอบเป็นไปในทางเดียวกันว่าหาเงินเที่ยว ซื้อของที่อยากได้ ทำ Gap year กัน มีบางส่วนเท่านั้นที่บอกว่าหาเงินไปเรียนหนังสือต่อ (เพราะค่าเทอมมหาวิทยาลัยที่อังกฤษสำหรับคนในอังกฤษและสัญชาติยุโรปนั้นถือว่าราคาถูกอยู่แล้วถูกกว่าราคาที่ทางมหาวิทยาลัยจัดเก็บจากนักศึกษานอกยุโรปอย่างเช่นเอเชียกันกว่าครึ่งต่อครึ่ง)

เด็กฝรั่งส่วนใหญ่เขาคิดกันแค่นั้นจริงๆนะครับ ทำงาน ขายของ ได้เงิน เอาเงินไปใช้ เงินหมดก็หาใหม่ สังคมฝรั่งเขาไม่มี Concept เรื่องอายุน้อยร้อยล้าน หรือ เก็บเงินออม ซื้อบ้านซื้อรถกันแบบเด็กไทยที่ตอนนี้เริ่มแข่งกันแล้วว่าใครจะมีบ้านมีรถพร้อมกันก่อนกัน บ้างก็ตั้งเป้าหมายไว้ว่าก่อนอายุ 35 บางกลุ่มก็ 30 บางกลุ่มเก่งหน่อยก็ตั้งไว้ที่อายุ 25 ต้องมีทุกอย่างในชีวิตพร้อมจะเกษียณจากการทำงาน มีอิสรภาพทางการเงิน พอถามเด็กฝรั่งว่ามีใครไปรับเสื้อผ้าจากแหล่งราคาถูกตัวละ 5-10 ปอนด์แล้วไปขายตัวละ 50-60 ปอนด์ได้แบบเด็กไทยทำบ้าง ไม่มีนะครับ ที่ต่างประเทศกลุ่มทุนเสื้อผ้าเขาปรับตัวเข้าหา E-commerce กันก่อนที่เด็กๆพวกนี้จะสามารถหาช่องว่างโดดเข้ามาเล่นในตลาดอีก พอถึงเทศกาลเว็ปไซต์ขายเสื้อผ้าราคาแพงก็ลดราคากัน 60-70% ตลอดทุกๆฤดูกาล สั่งออนไลน์ส่งวันเดียวถึง ทีนี้พวกรับมาขายไปก็เกิดไม่ได้แล้ว (พอจะหันไปขายของออนไลน์ จะโพสต์ขายของตาม Facebook วัฒนธรรมฝรั่งก็ไม่ค่อยเอื้อต่อการขายอีกเช่นกัน เพราะฝรั่งไม่ค่อยจดจ่ออยู่กับ Facebook มีเวลาเฉลี่ยในการออนไลน์น้อย โพสต์ขายของไปก็ไม่ค่อยมีคนอ่านไม่ค่อยมีคนแชร์ ไม่เหมือนที่ไทยที่วัฒนธรรมโลกออนไลน์เติบโตขยายตัวแบบก้าวกระโดด คนไทยใช้เวลาไปกับโลกออนไลน์วันละเป็น 10 ชั่วโมง)

ในมุมผมผมมองว่าเด็กไทยไม่ด้อยกว่าเด็กฝรั่งเลย ในเรื่องการเจริญเติบโต การออกไปผจญโลกภายนอก ถ้าวัดกันจากในประเด็นเรื่อง การหาเงิน เด็กไทยหาเงินได้เก่งกว่าเด็กฝรั่งเยอะ ณ เวลาที่เด็กมหาวิทยาลัยไทยยุคนี้เขาพัฒนาไปถึงขั้นขายเสื้อผ้าออนไลน์จนมีบ้านมีรถกันตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ เด็กฝรั่งหลายๆคนยังแอบเป็นเด็กดีลกัญชาอยู่ในมหาวิทยาลัย หรือไม่ก็ทำงานเสิร์ฟอาหารเก็บเงินเพื่อไปเที่ยวประเทศไกลๆกันอยู่เลย ผมไม่เคยเถียงนะ ว่าเด็กสมัยนี้ในไทยกับเด็กสมัยนี้ในสังคมฝรั่งเขาต่างกัน เพราะมันต่างกันจริงๆ ไม่ว่าจะในวิถีชีวิต ทัศนคติ สภาพแวดล้อม และเป้าหมาย แต่สิ่งที่อยากจะพูดคือ 'เด็กสมัยนี้' ในไทยนั้นไม่ได้เป็นอย่างที่ผู้ใหญ่หลายๆคนเข้าใจกันมา 20-30 ปีแล้ว มันแทบจะเป็นเรื่องที่สามัญทั่วๆไปแล้วที่เด็กไทยจะรีบออกมาทำงาน เก็บเงิน หาเงิน สะสมเงินกัน ยิ่งโดยเฉพาะช่วงที่กระแสเกษียณก่อนอายุ 30-40 กำลังมาแรง เด็กสมัยนี้ในไทยยิ่งแข่งกันหาเงิน มีอาชีพที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 กันไปเป็นส่วนใหญ่แล้ว ไป Work and Travel ก็ยังมิวายแข่งกันหาอาชีพ 2 อาชีพที่ 3 เพื่อเก็บเงินแข่งกัน เอามาวัดกันว่าก่อนกลับไทยใครจะหาเงิน เก็บเงินได้มากกว่ากัน

ถ้าอยากจะแข่งหรืออยากจะเทียบเพื่อให้เด็กไทยเอาเยี่ยงอย่างไว้เป็นตัวแบบในการพัฒนาจริงๆ ผมคิดว่าเราน่าจะเอาไปเทียบกับ 'เด็กสมัยนี้' ของจีนดีกว่า ดังที่อาจารย์ยศ (สันตสมบัติ) ได้เอ่ยเอื้อนถึงไว้ในบทสัมภาษณ์ (ที่ GM Live) เมื่อเดือนก่อน เด็กสมัยนี้ของจีนที่ผมเจอมาหลายๆราย ก็ไม่ต่างจากที่อาจารย์ยศได้พบเจอมา คือ มีความเป็นนายทุน เป็นพ่อค้าแม่ค้าสูงมาก ไม่ว่าจะมาอยู่ที่ไทย ที่เชียงใหม่ กรุงเทพ ภูเก็ต หรืออยู่ที่อังกฤษ ที่แมนเชสเตอร์ ที่ลอนดอนนักศึกษาจีนบินมาเรียนภาษา เรียนหนังสือกันได้ไม่ถึงเดือน เขาเข้าถึงช่องทางทำเงินแล้ว จากสมาคม จากชมรม จากเพื่อนคนจีนที่ติดต่อกันภายในเครือข่ายของ WeChat ซึ่งทำธุรกิจอยู่ที่อังกฤษก่อนหน้านี้ เขาบินมาอยู่อาศัยที่ต่างประเทศ เริ่มจากเป็นเด็กเสิร์ฟ เป็นลูกจ้างเพื่อเรียนรู้กระบวนการค้าขาย เทคนิคการขายต่างๆทำได้ปีเดียวเท่านั้นแล้วเดี๋ยวเขาก็ลาออก ไปเปิดธุรกิจตามทางของตนเอง สั่งของ สั่งวัตถุดิบเอง หาแหล่งลูกค้าของตนเอง เปิดร้านขายชาไข่มุก ขายฮอทพอทเป็นของตัวเองไม่ว่าจะไปอยู่เมืองไหนๆ

'เด็กสมัยนี้' ของจีนที่ผมรู้จักหลายๆคนเริ่มจากการบินมาเรียนภาษาในหลักสูตรระยะครึ่งปี ช่วงเลิกเรียนเขาก็เข้าไปทำงานพิเศษ ช่วยงานที่ร้านคนจีนด้วยกัน มี WeChat เป็นตัวกระจายงาน มีงานเมื่อไรก็แจกจ่าย มีโอกาสการค้าไปลงที่ไหน ขายที่ไหนได้ ต้องการคนไปทำตรงจุดไหน เมืองใด ก็ส่งต่องานกันให้ในนั้น มีตั้งแต่หาผู้ขายสินค้า ตัวแทนการค้าไปจนถึงรับจ้างทำการบ้าน และทำวิทยานิพนธ์ (เรื่องวิธี และข้อกฎหมายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะธุรกิจบางอย่างก็ต้องปฏิบัติการกันแบบเลี่ยงกฎหมายบ้าง) ด้วยลักษณะแบบนี้พักเดียวเท่านั้นเด็กจีนก็กลายเป็น Millionaires กันได้โดยไม่ต้องรอให้ธุรกิจต้องฟักตัวกัน 2-3 Generations แบบธุรกิจของคนจีนโพ้นทะเลสมัยก่อนเลย ทั้งหมดเป็นเพราะความสามารถในการปรับตัว และการประยุกต์เงื่อนไขของสภาพแวดล้อมที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะไปอยู่ประเทศใด คนจีนมาอยู่ประเทศไทยยังทำธุรกิจเก่งกว่า หาเงินเก่งกว่าคนไทยเลย

ในมิตินี้จึงบอกได้ว่า ถ้าจะให้ 'เด็กสมัยนี้' ของไทยไปเรียนรู้จาก 'เด็กสมัยนี้' ของต่างประเทศนั้น ให้ถูกน่าจะให้เรียนรู้จากเด็กจีนมากกว่าเด็กฝรั่ง ที่เขียนมานี้ไม่ใช่จะมาบอกว่าเด็กไทยด้อยกว่าเด็กจีน แต่เมื่อพิจารณาเอาจากทัศนคติ เป้าหมาย และความคิด 'เด็กสมัยนี้' ของไทยแล้ว มีรูปแบบ และทิศทางที่ใกล้เคียงและคล้ายกับของจีนมากกว่า หากสามารถนำจุดเด่นของเด็กจีนในเรื่องความสามารถในการเสาะหาช่องทางทำมาหากินในสภาพแวดล้อมใหม่ๆ และการปรับตัวเข้าหาโลกที่เปลี่ยนแปลงมาใช้ต่อยอดได้ ก็จะเป็นคุณต่อการพัฒนาของ 'เด็กสมัยนี้' ในไทยเป็นอย่างมาก เพราะไม่ว่าจะเด็กจีน หรือเด็กไทยในปัจจุบันนี้ต่างก็ได้รับผลกระทบจากกระแสการประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุน้อยๆกันทั้งสิ้น เช่นนี้แล้ว “ผู้ใหญ่สมัยนี้” น่าจะลองเปลี่ยนคำค่อนแคะ หรือ คำเปรียบเทียบใหม่จากเทียบ 'เด็กสมัยนี้' ในไทยกับฝรั่งไปยังจีนแทน


 

 

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: กระทรวงศึกษาธิการ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: