พบเด็กไทยเสี่ยงภัย 'ถูกกลั่นแกล้ง' ทั้งใน 'ห้องเรียน-โลกออนไลน์'

ทีมข่าว TCIJ: 19 ม.ค. 2563 | อ่านแล้ว 11350 ครั้ง

ผลสำรวจพบเด็กไทยกว่า 91.79 เคยถูก 'กลั่นแกล้ง' ถูก 'ตบหัว' มากที่สุด 62.07% รองลงมา 'ล้อบุพการี' 43.57% 'พูดจาเหยียดหยาม' 41.78% เด็กไทยเสี่ยงภัยออนไลน์ 'นัดพบแล้วถูก bully-ทุบตีทำร้าย-ละเมิดทางเพศ-ถ่ายคลิปแบล็กเมล' เมืองนอกพบ 'การระรานทางไซเบอร์' มุ่งเป้าไปที่ 'เด็กหญิง' มากกว่า 'เด็กชาย'  | ที่มาภาพประกอบ: The Thaiger

ผลสำรวจพบเด็กไทยกว่า 91.79 เคยถูก 'กลั่นแกล้ง' ถูก 'ตบหัว' มากที่สุด 62.07%

ช่วงต้นเดือน ม.ค. 2563 ที่ผ่านมาเครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ร่วมกับ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาหัวข้อ 'BULLYING กลั่นแกล้ง ความรุนแรงที่รอวันประทุ' เพื่อหาทางออกและวิธีแก้ไขปัญหาเด็กโดน ‘กลั่นแกล้ง’ หรือ ‘บูลลี่’

อธิวัฒน์ เนียมมีศรี เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน เผยว่าเครือข่ายฯ ได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นเรื่อง ‘บูลลี่ กลั่นแกล้ง ความรุนแรง ในสถานศึกษา’ ในกลุ่มเด็ก อายุ 10-15 ปี จาก 15 โรงเรียน พบว่าร้อยละ 91.79 เคยถูกบูลลี่ ส่วนวิธีที่ใช้บูลลี่ คือ การตบหัว ร้อยละ 62.07 รองลงมา ล้อบุพการี ร้อยละ 43.57 พูดจาเหยียดหยาม ร้อยละ 41.78 และอื่นๆ เช่น นินทา ด่าทอ ชกต่อย ล้อปมด้อย พูดเชิงให้ร้าย เสียดสี กลั่นแกล้งในสื่อออนไลน์  นอกจากนี้ 1 ใน 3 หรือ ร้อยละ 35.33 ระบุว่า เคยถูกกลั่นแกล้งประมาณเทอมละ 2 ครั้ง ที่น่าห่วงคือ 1 ใน 4 หรือ ร้อยละ 24.86 ถูกกลั่นแกล้งมากถึงสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ส่วนคนที่แกล้งคือ เพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้อง

“เด็กๆ ร้อยละ 68.93 มองว่าการบูลลี่ ถือเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง และผลกระทบที่เห็นได้ชัด คือ ร้อยละ 42.86 คิดจะโต้ตอบเอาคืน  ร้อยละ 26.33 มีความเครียด  ร้อยละ 18.2 ไม่มีสมาธิกับการเรียน  ร้อยละ 15.73 ไม่อยากไปโรงเรียน ร้อยละ 15.6 เก็บตัว และร้อยละ 13.4  ซึมเศร้า นอกจากนี้  เด็กๆยังต้องการให้ทางโรงเรียนมีบทลงโทษที่ชัดเจน  มีครูให้คำปรึกษา จัดกิจกรรมสร้างความเข้าใจ” อธิวัฒน์  กล่าว

อธิวัฒน์  กล่าวต่อว่าสังคมไทยต้องเลิกมองเรื่องบูลลี่ กลั่นแกล้งกัน เป็นเรื่องเด็กๆ ปกติธรรมดาแล้วปล่อยผ่าน ต้องให้ความสำคัญ และสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้อง  เร่งปลูกฝังเรื่องการเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกาย การให้เกียรติกัน ทั้งในระดับครอบครัวและในสถานศึกษา กระทรวงศึกษาธิการก็ต้องให้ความสำคัญกับปัญหาบูลลี่ กลั่นแกล้ง ควรกำหนดให้สถานศึกษามีช่องทางให้เด็กๆสามารถบอกเล่าปัญหา เพื่อขอความช่วยเหลืออย่างเป็นมิตร และปิดลับ และหากสถานศึกษาไม่สามารถรับมือกับปัญหาและสุ่มเสี่ยงที่ปัญหาจะใหญ่ขึ้น ต้องใช้กลไกตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546  เพื่อเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือแก้ไข ซึ่งตรงนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีกลไกพนักงานเจ้าหน้าที่อยู่ทั่วประเทศ ต้องเร่งออกแบบกระบวนการช่วยเหลือให้เป็นระบบ โดยอาจดึงองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรด้านเด็กเข้ามามีส่วนร่วม

เผยไทยติดอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศญี่ปุ่น

เวทีเสวนา 'BULLYING กลั่นแกล้ง ความรุนแรงที่รอวันประทุ' โดยเครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ร่วมกับ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อต้นเดือน ม.ค. 2563

ฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า ปัจจุบันด้วยเทคโนลียีที่เปลี่ยนไปทำให้รูปแบบของการบูลลี่ เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้น แชร์การล้อเลียนอย่างรวดเร็ว ทำให้การถูกกลั่นแกล้งไม่ได้อยู่แค่ภายในโรงเรียน จนส่งผลให้เด็กที่ถูกบูลลี่เลือกใช้ความรุนแรง เพื่อป้องกันตนเอง ทั้งนี้จากงานวิจัยของกรมสุขภาพจิตพบว่าการใช้ความรุนแรง  การข่มเหงรังแกกันหรือการบูลลี่ในประเทศไทยติดอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหมายความว่าการบูลลี่ในไทยมีระดับความถี่ที่รุนแรง นอกจากนี้ยังพบว่า อายุเด็กที่ถูกบูลลี่จะน้อยลงไปเรื่อยๆ จากงานวิจัยยังพบอีกว่าเด็กที่รังแกคนอื่น มีพื้นฐานด้านการขาดอำนาจบางอย่างในวัยเด็ก ถูกการเลี้ยงดูเชิงลบ รวมถึงพันธุกรรมทางสมอง จนนำไปสู่การรังแกกลั่นแกล้งคนอื่นในวัยที่โตขึ้น ซึ่งพฤติกรรมนี้จะเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นความเคยชิน ทำได้แนบเนียนและรุนแรงขึ้น ส่วนเด็กที่ถูกบูลลี่ จะมีอาการซึมเศร้า ไม่อยากไปโรงเรียน ในบางรายอาจถึงขั้นคิดสั้น

“ผู้ปกครองอย่าปล่อยให้เด็กเผชิญปัญหาเพียงลำพัง ต้องคอยสังเกตอาการและสอบถาม เมื่อเด็กส่งสัญญานที่ผิดปกติ  เช่น ดูหงุดหงิด วิตกกังวล มีความกลัว ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากคุยกับใคร หรือมีร่องรอยตามร่างกาย ผู้ปกครองควรสร้างบรรยากาศแห่งความไว้ใจ ชวนคุยให้เขาเล่าปัญหาเพื่อช่วยหาทางออก หารือกับครูที่ปรึกษา ข้อสำคัญคือการเป็นแบบอย่างที่ดี ทำให้เด็กนำสิ่งเหล่านี้ไปแก้ปัญหา เลี้ยงดูเชิงบวก อาทิ ไม่เปรียบเทียบ ใช้คำพูดที่สุภาพ ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เด็กลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการบูลลี่ได้ ทั้งนี้อยากเสนอให้โรงเรียนมีมาตรการครูแนะแนวปรึกษาปัญหา เปิดพื้นที่สำหรับเด็ก กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนในโรงเรียน เมื่อเกิดเหตุให้แจ้งทันที” ฐาณิชชา กล่าว

คนเปราะบางเมื่อถูกบูลลี่ อาจตอบโต้รุนแรง-ทำร้ายตนเองด้วย

ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่าถ้าสำรวจรากเหง้าแห่งความเป็นไทย เรามีทุนหล่อเลี้ยงเมล็ดพันธุ์บูลลี่ให้เติบโตอย่างแข็งแรง อาทิ การใช้คำพูดล้อเลียน หยามเหยียด เสียดสี คนที่มีปมด้อย สร้างปมด้อย สร้างแผลใจให้คน รวมถึงการมองคนที่มีความแตกต่างเป็นเรื่องน่าขำ ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างทางด้านร่างกายหรือภาษา สมัยก่อนความรุนแรงอาจไม่ถึงขั้นฆ่าตัวตาย เพราะสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ไม่โดดเดี่ยวช่วยเยียวยาเด็ก แต่ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนไป คนอยู่โดดเดี่ยวมากขึ้น ทำให้คนเปราะบางเมื่อถูกบูลลี่จะเกิดการตอบโต้อย่างรุนแรง รวมถึงการทำร้ายตนเองด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นการสื่อสารรูปแบบหนึ่งที่พ่อแม่ ครู คนทำงาน ต้องตีความใหม่และร่วมสร้างเครื่องมือเพื่อเปลี่ยนหนักให้เป็นเบา ช่วยหาทางออกที่ดีต่อทุกฝ่าย

ทิชา กล่าวต่อว่า ในฐานะที่บ้านกาญฯ มีหน้าที่แก้ไขฟื้นฟูเยียวยาเยาวชน หลังจากไปก่อคดีจนมีผู้เสียหาย เครื่องมือที่ช่วยลดความรุนแรง คือการเปิดพื้นที่เรียนวิชาชีวิตกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะทุกครั้งที่มีข่าวการบูลลี่ไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ ทางบ้านกาญจนาฯจะนำมาถอดบทเรียนเพื่อค้นหาที่มาที่ไป ใครได้ใครเสีย รวมถึงห่วงโซ่แห่งความเสียหาย เพื่อระดมความคิด ร่วมหาคำตอบด้วยกัน การเรียนวิชาชีวิตในมิตินี้ทำให้เยาวชนที่เคยบูลลี่คนอื่นหรือถูกบูลลี่และพัฒนาเป็นผู้ใช้ความรุนแรงโต้กลับ จนจบลงที่การกระทำผิดกฎหมาย ถือเป็นห่วงโซความเสียหายที่ชัดเจนขึ้น ดังนั้นหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กที่เปราะบางคงเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองและครูบาอาจารย์ ควรเพิ่มพื้นที่ให้เด็กเหล่านี้มากขึ้น แต่จะดีกว่าหากการเรียนวิชาชีวิตในมิตินี้จะเริ่มที่โรงเรียนหรือช่วงต้นน้ำ ซึ่งเท่ากับเปิดงานเฝ้าระวังที่ชัดเจนตรงประเด็น แทนที่จะปล่อยให้เยาวชนก้าวพลาดและมาเรียนวิชาชีวิตในพื้นที่ปลายน้ำ ปัจจุบันมีบทเรียนการทำงานแก้ไขปัญหาเหล่านี้ที่สามารถศึกษาได้  ควรทำความเข้าใจและนำมาออกแบบกระบวนการที่เหมาะสมกับบริบทของตัวเอง

อดีตเยาวชนที่เคยผ่านปัญหาความรุนแรง หวัง สถาบันการศึกษา-ครอบครัวช่วยแก้ไขปัญหา

จีระศักดิ์  หนูแดง หรือยอร์ค อายุ 30 ปี อดีตเยาวชนที่เคยผ่านปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และถูกบูลลี่ กลั่นแกล้ง ในสถานศึกษา กล่าวไว้ในเวทีเสวนา 'BULLYING กลั่นแกล้ง ความรุนแรงที่รอวันประทุ' ว่าในวัยเด็กได้ย้ายโรงเรียนจากต่างจังหวัดเข้ามาเรียนในเมือง จึงถูกเพื่อนล้อเลียนและกลั่นแกล้งเป็นประจำ ซึ่งตนทำได้แค่นิ่งเฉยไม่โต้ตอบกลับ แต่เมื่อถูกกลั่นแกล้งหนักเข้าจนเก็บสะสมมานานหลายเดือน ทำให้เกิดความโมโหควบคุมสติไม่อยู่จนคว้าเก้าอี้ฟาดหัวเพื่อน ซึ่งวิธีนี้ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดีแน่นอน  แต่ผลคือทำให้เพื่อนคนดังกล่าวกลั่นแกล้งน้อยลง  แต่ผ่านมาได้ไม่นานตนยังถูกกลั่นแกล้งและล้อเลียนอีก จึงทำให้เกิดความรู้สึกไม่อยากไปโรงเรียน และออกจากโรงเรียนกลางคัน ทั้งนี้จุดเปลี่ยนชีวิตได้เกิดขึ้นหลังจากที่เข้าไปอยู่ในสถานคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กชายจังหวัดระยอง สถานที่นี้ได้หล่อหลอมให้ทุกคนมีสติ เข้าใจตัวเองเข้าใจคนอื่น และมีการศึกษา การทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนเป็นประจำ ได้พูดคุยกับนักจิตวิทยา ทำให้ทุกคนสามารถแก้ปัญหาได้โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง เห็นคุณค่าตัวเอง 

“ผมเชื่อว่าสถาบันการศึกษาและสถาบันครอบครัว เป็น 2 สถาบันหลัก ที่ช่วยแก้ไขปัญหาระหว่างเด็กที่ถูกบูลลี่และเด็กที่บูลลี่คนอื่นได้ เช่น โรงเรียนควรมีอาจารย์แนะแนวหรือนักจิตวิทยาที่คอยให้คำปรึกษาแก่เด็กที่กำลังเผชิญปัญหาการถูกกลั่นแกล้ง หรือควรหากิจกรรมให้เด็กทั้ง 2 กลุ่มทำร่วมกันเพื่อละลายพฤติกรรม ส่วนผู้ปกครองควรดูแลเอาใจใส่พูดคุยกับลูกมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดปัญหาความรุนแรงของเด็กในโรงเรียนได้ การทำให้เขารู้จักการเคารพให้เกียรติผู้อื่น ต้องปลูกฝังกันตั้งแต่เด็กๆ และต้องจริงจัง” จีระศักดิ์ กล่าว

 

เด็กไทยเสี่ยงภัยออนไลน์ 'นัดพบแล้วถูก bully-ทุบตีทำร้าย-ละเมิดทางเพศ-ถ่ายคลิปแบล็กเมล

จาก ‘รายงานการวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์เด็กกับภัยออนไลน์ ประจำปี 2562’ พบเด็กไทยใช้อินเตอร์เน็ตถูก bully-ทุบตีทำร้าย-ละเมิดทางเพศ-ถ่ายคลิปแบล็กเมล | ที่มาภาพประกอบ: govtech.com

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเดือน ส.ค. 2562 กรมกิจการเด็กและเยาวชน โดยศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ (COPAT) ร่วมกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ได้จัดทำ 'แนวทางปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์' หรือ Child Online Protection Guideline ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลเพื่อสร้างความตระหนัก รูปแบบภัยออนไลน์ต่อเด็กและเยาวชน การรับมือกับ Cyber Bullying การป้องกันเด็กติดเกม แนวทางการเลี้ยงลูกยุคดิจิทัล ซึ่งต้องติดอาวุธ 'รู้เท่าทัน' และ 'ความฉลาดทางดิจิทัล' หรือ DQ ให้เด็ก หวังให้ทุกบ้านมีไว้ใช้ดูแลบุตรหลาน

ทั้งนี้จาก ‘รายงานการวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์เด็กกับภัยออนไลน์ ประจำปี 2562’ ซึ่งนำข้อมูลมาจากการสำรวจทางออนไลน์ เมื่อเดือน ก.พ.-เม.ย. 2562 กลุ่มตัวอย่างผู้ตอบแบบสอบถามเยาวชนอายุ 6-18 ปี จำนวน 15,318 คน [แบ่งเป็น เด็ก ม.4-6 จำนวน 7,076 คน (ร้อยละ 46.2) เด็ก ม.1-3 จำนวน 6,019 คน (ร้อยละ 39.3) เด็ก ป.4-6 จำนวน 1,678 คน และเด็ก ป.1-3 จำนวน 545 คน (ร้อยละ 3.6)] จากทั่วประเทศ พบว่าเด็กส่วนใหญ่ร้อยละ 88.7 เชื่อว่าอินเทอร์เน็ตให้ประโยชน์มากกว่าโทษ แต่ร้อย 94.6 ก็ยังเชื่อว่าอินเทอร์เน็ตมีภัยอันตรายและความเสี่ยงหลายรูปแบบด้วยเช่นกัน เด็กร้อยละ 54.3 เชื่อว่าเมื่อเผชิญภัยหรือความเสี่ยงออนไลน์สามารถจัดการแก้ไขปัญหานั้นได้ด้วยตนเอง และเด็ก ร้อยละ 86 เชื่อว่าเมื่อเพื่อนเผชิญภัยหรือความเสี่ยงออนไลน์สามารถให้คำแนะนำหรือช่วยเหลือเพื่อนได้

เด็กร้อยละ 54.7 ใช้อินเตอร์เน็ตมากกว่า 6 ชั่วโมง/วัน เด็กร้อยละ 32.2 ใช้อินเตอร์เน็ตมากกว่า 3-5 ชั่วโมง/วัน เด็กร้อยละ 15.9 ใช้อินเตอร์เน็ตมากกว่า 10 ชั่วโมง/วัน โดยเด็กร้อยละ 83.1 ใช้อินเตอร์เน็ตผ่านแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟน โดยเด็กให้เหตุผลถึงวัตถุประสงค์ในการใช้อินเตอร์เน็ต 3 อันดับแรก ร้อยละ 66.8 พักผ่อนหรือความบันเทิง เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม ร้อยละ 14.5 ใช้ติดต่อสื่อสารกับเพื่อนฝูงหรือญาติมิตร และร้อยละ 11.7 ใช้เพื่อการเรียนหรือการทำงาน

ทั้งนี้เด็กร้อยละ 31.1% หรือจำนวน 4,763 คน ระบุว่าเคยถูกกลั่นแกล้งรังแกทางออนไลน์ โดยเด็กที่ถูกรังแกมากที่สุด ร้อยละ 48.5 เป็นเพศทางเลือก ร้อยละ 30.9 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 30.5 เป็นเพศชาย โดยเด็กร้อยละ 3 ตอบว่าถูกกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์ทุกวันหรือเกือบทุกวัน นอกจากนี้เด็กร้อยละ 40.4 ระบุว่าไม่ได้บอกใครเมื่อถูกกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์

เมื่อโดนกลั่นแกล้งรังแกทางออนไลน์ เด็กส่วนใหญ่ร้อยละ 43.7 ระบุว่าจะบล็อก (block) บุคคลที่กลั่นแกล้งรังแก ร้อยละ 38.1 จะลบข้อความหรือภาพที่ทำให้อับอาย กังวล รู้สึกไม่ดี ร้อยละ 31.2 จะเปลี่ยนการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว/การติดต่อกับคนให้จำกัดวงเล็กลงให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ร้อยละ 29.4 ระบุว่าจะรายงาน/แจ้งปัญหาโดยการคลิกปุ่มแจ้ง (report abuse) บนเว็บไซต์หรือเฟสบุ๊คหรือติดต่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือพนักงานเจ้าหน้าที่บ้านพักเด็ก ร้อยละ 12.6 หยุดใช้อินเตอร์เน็ตชั่วคราว และเด็กอีกร้อยละ 1-2 ระบุว่าแกล้งหลับ ทั้งนี้มีถึงร้อยละ 21.7 ระบุว่าไม่ทำอะไรเลย

จากการสำรวจมีเด็กถึง 11,308 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 73.8 ระบุว่าเคยพบเห็นสื่อลามกอนาจารทางออนไลน์ (ทั้งโดยตั้งใจและโดยบังเอิญ) เด็กร้อยละ 5.5 ระบุว่าเคยครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กออนไลน์เสียเอง นอกจากนี้เด็กร้อยละ 6.2 เคยส่งต่อ หรือแชร์สื่อลามกอนาจารทางออนไลน์ เด็กร้อยละ 1.8 เคยถ่ายภาพหรือวิดีโอตนเองในลักษณะลามกอนาจารแล้วส่งให้คนอื่นๆ ทางออนไลน์ ทั้งนี้พบว่าเด็กเพศชายส่งต่อ หรือแชร์สื่อลามกอนาจารทางออนไลน์ มากกว่าเพศหญิงเกือบ 2 เท่า ส่วนเด็กเพศทางเลือกส่งต่อ หรือแชร์สื่อลามกอนาจารทางออนไลน์ มากกว่าเพศหญิง เกือบ 5 เท่า

มีเด็กถึง ร้อยละ 51.7 ตอบแบบสอบถามว่าเคยพูดคุยกับคนที่ไม่รู้จักผ่านสื่อออนไลน์ ร้อยละ 33.6 เคยให้ข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ ที่อยู่เบอร์โทรศัพท์ วันเดือนปีเกิด ภาพถ่ายของตัวเองหรือครอบครัวผ่านสื่อออนไลน์ ร้อยละ 25.5 เคยเปิดอ่านอีเมลที่ส่งมาจากคนที่ไม่รู้จัก หรือคลิก link ที่ไม่รู้จัก ร้อยละ 35.3 เคยถ่ายทอดสดหรือ live ผ่านสื่อออนไลน์ ร้อยละ 69.45 เคยแชร์ตำแหน่ง (location) หรือ เช็คอิน (check in) สถานที่ต่างๆ ที่ไป

เด็กร้อยละ 25.4 ตอบแบบสอบถามว่าเคยนัดพบกับเพื่อนออนไลน์ อย่างน้อย 1 ครั้ง โดยร้อยละ 48 ระบุว่าบอกเพื่อน ร้อยละ 37.7 บอกพ่อแม่ ผู้ปกครอง และร้อยละ 5.8 ระบุว่าไม่ได้บอกใครเลย จากร้อยละ 25.4 ที่นัดพบเพื่อนออนไลน์แล้ว ร้อยละ 5.1 ของในจำนวนนี้ (199 คน) ถูกพูดจาล้อเลียน ดูถูก ทำให้เสียใจ ร้อยละ 2.1 (80 คน) ถูกหลอกให้เสียเงินหรือเสียทรัพย์สินอื่นๆ ร้อยละ 1.9 (73 คน) ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ร้อยละ 1.7 (67 คน) ถูกทุบตีทำร้ายร่างกาย และร้อยละ 1.3 (50 คน) ถูกถ่ายภาพหรือคลิปวีดีโอแล้วนำไปประจาน และ/หรือ ข่มขู่เรียกเงิน

ต่างประเทศพบ 'การระรานทางไซเบอร์' มุ่งเป้าไปที่ เด็กหญิงมากกว่า เด็กชาย

มีงานวิจัยชี้ว่าเด็กหญิงในโรงเรียนมัธยมต้นและปลายของสหรัฐฯ ร้อยละ 21 รายงานว่าถูกรังแกทางออนไลน์หรือทางข้อความทางโทรศัพท์ ระหว่างปีการศึกษาประจำปี ค.ศ. 2016 - 2017 เมื่อเทียบกับร้อยละ 7 ของเด็กชาย | ที่มาภาพประกอบ: AP อ้างใน VOA

จาก รายงานข่าวของ VOA เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2019  ได้นำเสนอเรื่องราวของ Rachel Whalen อายุ 19 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยยูทาห์ เธอระบุว่าจำได้ว่าตอนเรียนมัธยมปลาย เคยถูกอดีตเพื่อนนักเรียนคนหนึ่งล้อเลียนโพสต์ทางออนไลน์ของเธอ โดยขู่ว่าจะเลิกติดตามหรือยกเลิกการเป็นเพื่อนทางสื่อสังคมออนไลน์ และยังโพสต์เรื่องตลกเกี่ยวกับตัวเธอที่รู้กันในกลุ่มเพื่อนสนิทให้คนอื่นได้อ่านทางออนไลน์อีกด้วย

การรังแกทางออนไลน์หรือ ‘cyberbullying’ สร้างความเครียดทางจิตใจแก่ Whalen อย่างมากจนเคยอยากฆ่าตัวตาย แต่หลังจากเข้ารับคำปรึกษา เธอตัดสินใจใช้เวลาน้อยลงกับสื่อสังคมออนไลน์ เธอบอกว่าสื่อสังคมออนไลน์สร้างแรงกดดันให้แข่งกันเพื่อให้ได้รับความสนใจจากคนอื่น เพื่อให้ได้รับการยอมรับทางสื่อสังคมออนไลน์ และเป็นปัญหาในกลุ่มเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย

Bryan Joffe ผู้อำนวยการด้านการศึกษาและการพัฒนาเยาวชนเเห่ง AASA ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาคมผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งชาติ กล่าวว่าระบบโรงเรียนในสหรัฐฯ หลายแห่งเคยใช้วิธีไม่ดำเนินการใดๆ ต่อพฤติกรรมนักเรียนที่เกิดขึ้นนอกสถานการศึกษา มาขณะนี้กำลังตั้งกฏระเบียบขึ้นเพื่อจัดการกับการรังแกทางออนไลน์ โดยมีการลงโทษถึงขั้นให้พักการเรียนหรือไล่ออก การเปลี่ยนแปลงนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกฎหมายว่าด้วยการรังแกทางออนไลน์ที่มีการนำไปใช้กว้างขวางมากขึ้น อย่างในรัฐเท็กซัสและแคลิฟอร์เนีย

ผลการสำรวจพบว่า มีนักเรียนร้อยละ 20 หรือ 1 ใน 5 คนถูกรังแก เริ่มตั้งแต่การปล่อยข่าวลือหรือการถูกกีดกันจากกลุ่มหรือการข่มขู่ ตลอดจนการทำร้ายทางร่างกายระหว่างปีการศึกษาประจำปี ค.ศ. 2016 - 17 ซึ่งในช่วงระยะเวลาเพียง 2 ปี มีการรายงานการรังแกทางออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างมากจากร้อยละ 11.5 ไปเป็นร้อยละ 15.3 และหากแยกย่อยออกเป็นเด็กหญิงและเด็กชาย พบว่าเด็กหญิงในโรงเรียนมัธยมต้นและปลายร้อยละ 21 รายงานว่าถูกรังแกทางออนไลน์หรือทางข้อความทางโทรศัพท์ ระหว่างปีการศึกษาประจำปี ค.ศ. 2016 - 2017 เมื่อเทียบกับร้อยละ 7 ของเด็กชาย ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นจากผลการสำรวจก่อนหน้าระหว่างปีการศึกษา ค.ศ. 2014 - 15 ซึ่งเป็นการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการรังแกทางออนไลน์เป็นครั้งแรก การสำรวจนี้ไม่ได้ระบุว่าใครเป็นผู้รังแก แต่เด็กหญิงในการสำรวจชี้ว่า ผู้รังแกเป็นคนที่ถูกมองว่ามีความสามารถในการสร้างอิทธิพลเหนือคนอื่น

Lauren Paul ผู้ก่อตั้งหน่วยงานไม่หวังผลกำไร Kind Campaign บอกว่า ร้อยละ 90 ของเรื่องราวที่เธอได้ยินได้ฟังขณะทำงานในโรงเรียน เป็นเรื่องของเด็กหญิงถูกเด็กหญิงคนอื่นรังแก หน่วยงานไม่หวังกำไรแห่งนี้ตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียได้เริ่มต้นโครงการต่อต้านการรังแกเด็กผู้หญิงโดยเด็กผู้หญิงเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผ่านการอบรมการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ฟรีในโรงเรียนราว 300 แห่งต่อปี

Paul เล่าถึงการพบปะกับเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่หมกมุ่นกับการสร้างบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ปลอมหลายบัญชี เพราะกลัวถูกกลุ่มเด็กหญิงด้วยกันตัดออกจากกลุ่มหากไม่มีคนกด like มากพอ หรือมีคนติดตามไม่มากพอในช่วงแต่ละสัปดาห์

แม้ว่า Paul จะจัดอบรมกับเด็กหญิงระดับมัธยมต้นและปลายเป็นหลัก เธอบอกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีความจำเป็นเพิ่มมากขึ้นในการจัดการรณรงค์แบบนี้ในกลุ่มเด็กที่อายุน้อยกว่า และนักศึกษามหาวิทยาลัย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: