ปี 2562 'สารภี-ปาย-หางดง' เป็นอำเภอที่คุณภาพอากาศเฉลี่ยแย่สุด

ทีมข่าว TCIJ | 19 เม.ย. 2563 | อ่านแล้ว 9663 ครั้ง

ข้อมูลคุณภาพอากาศเฉลี่ยตลอดทั้งปี 2562 จาก IQAir เท่าที่เก็บและระบุไว้ใน ‘ระดับอำเภอ’ พบว่า ‘สารภี’ จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่มีอากาศทั้งปีเฉลี่ยแย่สุดในประเทศไทย ตามมาด้วย ‘ปาย’ จ.แม่ฮ่องสอน และ ‘หางดง’ จ.เชียงใหม่ ทั้งนี้จากข้อมูลเก่าพบคน อ.สารภี ป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดและเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ เฉลี่ย 40 คนต่อแสนประชากร สูงเป็น 5 เท่าของประเทศ | ที่มาภาพประกอบ: eltpics (CC BY-NC 2.0)

68 พื้นที่ 'จังหวัด-อำเภอ' คุณภาพอากาศเฉลี่ยในปี 2562 แย่ที่สุดจาก IQAir

ข้อมูล ‘เมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก (ค่าฝุ่น PM 2.5) ประจำปี 2019’ จากเว็บไซต์ IQAir  (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 16 เม.ย. 2563) ได้จัดอันดับ 68 พื้นที่ 'จังหวัด-อำเภอ' คุณภาพอากาศเฉลี่ยในปี 2019 (พ.ศ. 2562) แย่ที่สุดดังนี้

อนึ่งในการเก็บข้อมูลของ IQAir ที่ยกมานั้น พบว่าใน 68 พื้นที่ยังไม่ครอบคลุมทุกจังหวัดทุกอำเภอในประเทศไทย บางจังหวัดมีแค่ข้อมูลจังหวัด เช่น กรุงเทพ นครราชสีมา เป็นต้น และหลายจังหวัดที่มีข้อมูลในระดับอำเภอ ก็ยังมีข้อมูลไม่ครบทุกอำเภอ เช่น เชียงใหม่ 8 อำเภอเท่านั้น ประกอบไปด้วย อ.เมือง อ.สารภี อ.หางดง อ.แม่ริม อ.พร้าว (ต.บ้านโป่ง) อ.สันกำแพง อ.สันทราย อ.ดอยสะเก็ด เป็นต้น [1]

ทั้งนี้แอปพลิเคชันและเว็บไซต์ IQAir - AirVisual ได้เป็นแพลตฟอร์มกลางที่ให้ข้อมูลคุณภาพอากาศตามเวลาจริงในระดับโลกและภูมิภาคโดยการรวบรวมและยืนยันความถูกต้องของข้อมูลตามเวลาจริงจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของหน่วยงานรัฐบุคคลและองค์กรต่างๆ ทั่วโลก IQAir - AirVisual มุ่งที่จะส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศตามเวลาจริง โดย IQAir - AirVisual ได้รวมรวมข้อมูลทำรายงานประจำปีเผยแพร่มาตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา [2]

ปี 2562 อำเภอ 'สารภี-ปาย-หางดง' คุณภาพอากาศเฉลี่ยทั้งปี แย่สุดในไทย

เมื่อพิจารณาจากข้อมูล 68 พื้นที่ของ IQAir โดยการแยกข้อมูลระดับอำเภอออกจากระดับจังหวัดพบว่า 10 อำเภอแรกที่มีคุณภาพอากาศเฉลี่ยในปี 2019 (พ.ศ. 2562) แย่ที่สุดมีดังนี้

  1. อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ตลอดทั้งปี 41.3 µg/m³
  2. อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ตลอดทั้งปี 38.9 µg/m³
  3. อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ตลอดทั้งปี 38 µg/m³
  4. อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ตลอดทั้งปี 36.9 µg/m³
  5. อ.เมือง จ.ลำพูน ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ตลอดทั้งปี 36.9 µg/m³
  6. อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ตลอดทั้งปี 35.3 µg/m³
  7. อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ตลอดทั้งปี 34.6 µg/m³
  8. อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ตลอดทั้งปี 34.4 µg/m³
  9. (ต.บ้านโป่ง) อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ตลอดทั้งปี 33.6 µg/m³
  10. อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ตลอดทั้งปี 33 µg/m³ [3]

ข้อมูลเก่าพบคน อ.สารภี เสียชีวิตจากมะเร็งปอดสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ สาเหตุ ก๊าซเรดอน- PM 2.5

นอกจากจากจะเคยมีงานวิจัยเรื่อง 'ความสัมพันธ์ระหว่างระดับก๊าซเรดอนในที่อยู่อาศัยและมะเร็งปอด ใน อ.สารภี จ.เชียงใหม่' โดย นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช และคณะ สนับสนุนทุนวิจัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี 2550 ที่ได้ระบุความเชื่อมโยงระหว่าง 'โรคมะเร็งปอด' กับ 'ก๊าซเรดอน' จากแร่ธาตุยูเรเนียมในพื้นที่ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ แล้ว [4]

เมื่อปี 2551 นายแพทย์จรัส สิงห์แก้ว ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสารภี (ในขณะนั้น) ระบุต่อสื่อมวลชนถึงผลการวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบชาวบ้านในพื้นที่ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดจากหมอกควันพิษและเสียชีวิตมากเป็นอับดับ 1 ของประเทศ

สาเหตุเพราะสภาพพื้นที่เป็นแอ่งกระทะและความกดอากาศสูง ทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กต่ำกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) กระจายอยู่ในพื้นที่ราบแอ่งก้นกระทะ รวมทั้งสูดดมก๊าซเรดอนจากแร่ธาตุยูเรเนียมที่มีอยู่มากผิดปกติกระจายตัวใต้พื้นดินสู่ผิวดิน ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ปลูกบ้านติดกับผิวดินทำให้สูดดมก๊าซเรดอนโดยไม่รู้ตัว

ผลการวิจัยพบผู้ป่วยสูงถึง 80-90 ต่อแสนประชากร และเสียชีวิตถึง 40 ต่อแสนประชากร ซึ่งสูงเป็น 5 เท่าของประเทศ ส่วนวิธีการแก้ปัญหา หากปลูกบ้านใหม่ต้องยกพื้นสูงให้อากาศถ่ายเทสะดวก หากพบรอยแตกตามพื้นบ้านที่เป็นซีเมนต์ให้ปิดรอยแยกทั้งหมด เปิดประตูหน้าต่างบ้าน ให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก [5]

ไทยติดอันดับทั้ง เมืองที่คุณภาพอากาศเฉลี่ยแย่ที่สุดและ ดีที่สุดในอาเซียนปี 2019

ที่มา: 2019 World air quality report (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 16 มี.ค. 2020)

นอกจากนี้ในรายงาน 2019 World air quality report ของ IQAir AirVisual ได้จัดอันดับ ‘เมืองที่คุณภาพอากาศเฉลี่ยแย่ที่สุด’ และ ‘ดีที่สุด’ ในอาเซียนปี 2019 โดยเมืองที่คุณภาพอากาศเฉลี่ยแย่ที่สุดในปี 2019 15 อันดับแรกในอาเซียน อยู่ในประเทศไทยถึง 7 แห่ง ได้แก่อันดับ 8 จ.นครราชสีมา อันดับ 9 อ.สารภี จ.เชียงใหม่ อันดับ 11 อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน อันดับ 12 อ.หางดง จ.เชียงใหม่ อันดับ 13 จ.เชียงราย อันดับ 14 อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ และ อันดับ 15 อ.เมือง จ.ลำพูน ส่วนมืองที่คุณภาพอากาศเฉลี่ยดีที่สุด 15 อันดับแรกในอาเซียน อยู่ในไทย 1 แห่ง คืออันดับที่ 12 จ.ภูเก็ต [6]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] เมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก (ค่าฝุ่น PM 2.5) ประจำปี 2019 (IQAir, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 16 เม.ย. 2563)
[2] 2019 World air quality report (IQAir, 2020 Report V8)
[3] เมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก (ค่าฝุ่น PM 2.5) ประจำปี 2019 (IQAir, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 16 เม.ย. 2563)
[4] ความสัมพันธ์ระหว่างระดับก๊าซเรดอนในที่อยู่อาศัยและมะเร็งปอด ในอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ (พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช และคณะ, สนับสนุนทุนวิจัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2550)
[5] แพทย์เผย “สารภี” เชียงใหม่ครองแชมป์มะเร็งปอดประเทศ (ผู้จัดการออนไลน์, 27 มี.ค. 2551)
[6] 2019 World air quality report (IQAir, 2020 Report V8)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: