โฆษณาชวนเชื่อกับสิทธิความเป็นมนุษย์ ในโลกคอมมิวนิสต์และประชาธิปไตย

ชารีฟะฮ์ แซ่หม่า นักศึกษาปริญญาตรี คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ | 19 พ.ค. 2563 | อ่านแล้ว 5609 ครั้ง


บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์สารคดี One Child Nation

การเมืองหรือนโยบายรัฐ เป็นสิ่งที่หลายคนมักมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความจริงแล้วนโยบายของรัฐแทรกซึมอยู่ในทุกมิติของชีวิตเราในฐานะประชากรของรัฐ นโยบายเหล่านี้สามารถควบคุมการสร้างครอบครัวหรือแม้กระทั่งการอนุญาตให้มีลูกได้ของแต่ละครัวเรือน ในปัจจุบันสำหรับชายหนุ่มชาวจีนหลายล้านคน เมื่อถึงเวลาสร้างครอบครัวจะต้องประสบกับปัญหาการหาคู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากนโยบายลูกคนเดียวของจีน (One-child policy) ได้ส่งผลกระทบโดยตรงทำให้จำนวนประชากรของเพศหญิงและเพศชายไม่สมดุลกัน ซึ่งเหตุนี้ได้ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดแคลนแรงงาน สังคมสูงอายุที่ไร้ซึ่งคนดูแล หรือแม้แต่กระบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นโยบายลูกคนเดียว เป็นนโยบายการวางแผนครอบครัวของรัฐบาลจีน เริ่มประกาศใช้ปี ค.ศ. 1979 จนถึงปี ค.ศ. 2015 กินระยะเวลายาวนานกว่า 36 ปี เนื่องจากสภาพสังคมของประเทศจีนในช่วงเวลานั้นประสบปัญหาเศรษฐกิจ ประชาชนยากจนแร้นแค้น อีกทั้งจำนวนประชากรมีมากเกินไปจนเกิดปัญหาอดอยาก รัฐจึงออกนโยบายนี้เพื่อจัดระเบียบ วางแผน และควบคุมจำนวนประชากรไม่ให้มีมากจนเกินไป โดยกำหนดให้แต่ละครอบครัวสามารถมีลูกได้เพียงคนเดียวเท่านั้น

แม้จะมีคนบางกลุ่มได้รับกรณียกเว้น เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ หรือผู้คนในชนบท แต่หากต้องการมีลูกสองคนจะต้องมีอายุห่างกันถึงห้าปี หลายครอบครัวอาจยอมทำตามนโยบายเพราะเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาของรัฐ แต่หากมีผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องเสียค่าปรับให้รัฐ อาจถูกรื้อถอนบ้าน โดนบังคับทำหมัน ถูกรังเกียจจากสังคมรอบข้าง หรือแม้แต่โดนบังคับทำแท้งซึ่งมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นหลายครัวเรือนจึงต้องยอมทำตามคำสั่งของรัฐแต่โดยดี สถานการณ์เหล่านี้หากมองในมุมของความเป็นมนุษย์ ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ละเมิดและริดรอนสิทธิมนุษยชนอย่างมิอาจปฏิเสธได้

บทความชิ้นนี้ได้เก็บประเด็นจากภาพยนต์สารคดีเรื่อง One child nation (2019) กำกับโดย Nanfu Wang และ Jialing Zhang ผู้เคยใช้ชีวิตในช่วงนโยบายลูกคนเดียว ภาพยนตร์ได้สะท้อนมุมมองของคนกลุ่มต่างๆ ทั้งที่เห็นและไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว ที่น่าสนใจว่านั้น คือการที่มีผู้คนจำนวนมาก ผู้เผชิญหน้ากับความเจ็บปวดจากเหตุการณ์เหล่านั้น กลับมองว่านโยบายลูกคนเดียวเป็นสิ่งที่ถูกต้องสมควร พวกเขาเชื่อมั่นว่ารัฐมองการณ์ไกล สร้างนโยบายช่วยพัฒนาประเทศและชาวจีนให้เจริญก้าวหน้า ขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่พวกเขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะนโยบายเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

อะไรที่ทำให้คนกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่หน่วยงานรัฐมณฑลท้องถิ่นที่น้อมรับนโยบายดังกล่าวมาปฏิบัติโดยไม่แข็งข้อ เจ้าหน้าที่วางแผนครอบครัวที่ช่วยกล่อมเกลาให้แต่ละครัวเรือนมีลูกเพียงคนเดียว บุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงทำคลอดเด็กเท่านั้น แต่ยังทำหมันและทำแท้งเด็กที่เกิดออกมาเพื่อสนองนโยบายรัฐ หรือแม้กระทั่งพ่อแม่ผู้ปกครองที่ยอมนำลูกของตนไปทิ้งขว้างตามถนนหนทาง ในถังขยะ หรือตามตลาดขายเนื้อ คนจำนวนมากยอมแม้กระทั่งทิ้งลูกสาวของตนเพื่อให้ได้มีลูกชายตามค่านิยมในสังคมที่ต้องการผู้สืบสกุล

เหตุใดผู้คนต่างยอมให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นและยอมทำร้ายแม้กระทั่งลูกของตนเอง โดยไม่คำนึงถึงศีลธรรมหรือแม้แต่สิทธิขั้นพื้นฐานที่บุคคลควรจะมีชีวิตต่อได้

อย่างที่ทราบกันดีว่า ประเทศจีนปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ความเท่าเทียมและผลประโยชน์ของประเทศชาติถือเป็นสิ่งที่คนในชาติต้องร่วมสร้าง การเชื่อฟังผู้นำถือเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่ประชากรที่ดีของรัฐพึงมี การจะทำให้ประชาชนเชื่อฟังรัฐบาลนั้นคงไม่ใช่เรื่องยากนักสำหรับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่สามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ได้จากส่วนกลาง ในกรณีนโยบายลูกคนเดียวนี้ รัฐบาลได้สอดแทรกการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ในทุกอณูชีวิตของประชาชน ทั้งการประชาสัมพันธ์ผ่านโทรทัศน์ การแสดงงิ้ว โปสเตอร์หนัง บทเพลงต่างๆ แม้กระทั่งบนกล่องไม้ขีดไฟ การ์ดเกม หนังสือเรียน หรือกำแพงบ้านที่ผู้คนเดินผ่านทุกวันก็ถูกพ่นสีโฆษณาด้วยข้อความเชื้อเชิญให้ประชาชนมีลูกเพียงคนเดียว

การกล่าวประณาม เหยียดหยาม หรือดูหมิ่นครอบครัวที่มีลูกมากกว่าหนึ่งคนจึงเป็นสิ่งที่พบเห็นได้แทบทุกสารทิศ เมื่อประชากรต่างซึบซับข้อความโฆษณาชวนเชื่อเหล่านี้ทุกๆ วัน จึงไม่แปลกที่ผู้คนจะคล้อยตามและเห็นดีเห็นงามกับนโยบายดังกล่าว

ในกรณีนี้อาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลประสบความสำเร็จในการควบคุมความคิดประชาชนให้กลายเป็นประชากรที่เชื่องเชื่อและไม่ตั้งคำถามต่อนโยบายดังกล่าว แต่กระนั้นโฆษณาชวนเชื่อเหล่านี้ประสบผลสำเร็จจริงหรือ? เพราะหากจะมีใครเริ่มตั้งคำถามหรือไม่ยอมรับก็อาจถูกหน่วยงานต่างๆ เข้ามาจัดการ ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าหมู่บ้านที่เข้ามาสั่งบังคับให้ผู้หญิงในชุมชนไปทำหมัน หากไม่ทำ ก็อาจโดนรื้อบ้านจากเจ้าหน้าที่รัฐ และถูกเรียกค่าปรับเกินกำลังที่ชาวบ้านจะจ่ายไหว หรือแม้แต่โดนฉุดลากไปทำแท้งอย่างมิอาจขัดขืนได้

จากภาพยนต์สารคดี One child nation ได้ฉายให้เห็นว่าหมอเพียงคนเดียวได้ทำแท้งเด็กไปแล้วกว่า 60,000 ชีวิต ขณะที่หมอเองก็รู้สึกผิดในใจต่อการกระทำดังกล่าว แต่ก็คิดว่าทำไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม หมอท่านนี้ได้รับรางวัลจำนวนไม่น้อยในฐานะเป็นแบบอย่างที่ดี ได้รับการยกย่องว่าทำงานเพื่อชาติ และอาจเป็นแรงผลักดันให้บุคลากรคนอื่นอยากเป็นเช่นนี้ด้วยการประโคมข่าวผ่านสื่อต่างๆ ของรัฐซ้ำแล้วซ้ำเล่า

แต่ใครจะรู้ดีว่า ภายใต้ความรู้สึกของหมอท่านนั้นเป็นเช่นไร ด้วยเหตุนี้จึงยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ที่สามารถริดรอนสิทธิความเป็นมนุษย์ โดยการสร้างชุดวาทกรรมการทำเพื่อส่วนรวมขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำของตน บุคคลจำนวนมากจึงตกอยู่ภายใต้วาทกรรมของรัฐผ่านการโฆษณาชวนเชื่อโดยมิทันตั้งตัว

อย่างไรก็ดี นโยบายลูกคนเดียวได้ถูกยกเลิกบังคับใช้ในเวลาต่อมา (ค.ศ. 2015) แต่นั่นไม่ใช่เพราะรัฐมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์มากเกินไป แต่เป็นเพราะจำนวนประชากรจีนลดลงมากเกินไป จนเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยังเกิดปัญหาผู้สูงอายุที่อาจขาดคนดูแล รัฐจีนจึงออกนโยบายใหม่เรียกว่า นโยบายลูกสองคน (Two-child policy) ในปี ค.ศ. 2015  ซึ่งอนุญาตให้แต่ละครอบครัวมีลูกได้สองคน

ความน่าสนใจคือ วิธีการที่รัฐใช้ชักจูงประชาชนให้ปฏิบัติตามกลับมิได้แตกต่างไปจากวิธีโฆษณาชวนเชื่อแบบเดิมๆ คือรัฐยังคงใช้ป้ายโฆษณาตามที่ต่างๆ ผ่านโปสเตอร์ บทเพลง การแสดงงิ้วท้องถิ่น รวมทั้งคำโฆษณาชวนเชื่อตามกำแพงบ้านครั้งก่อนหน้ากับนโยบายลูกคนเดียวก็ถูกลบทิ้งเสมือนไม่เคยเกิดขึ้น และถูกทาทับด้วยข้อความใหม่ ชักจูงสรรเสริญเยินยอต่อนโยบายลูกสองคนของรัฐใหม่อีกครั้ง แต่คำชวนเชื่อเหล่านี้จะสามารถเปลี่ยนความคิดของประชาชนที่เคยเชื่อมั่นต่อการมีลูกคนเดียวมาสู่การมีลูกสองคนในเวลาอันสั้นได้จริงหรือ ?

หากจะกล่าวว่า ประชาชนชาวจีนต่างเชื่อฟังผู้นำและเชื่อมั่นต่อรัฐคอมมิวนิสต์ว่าวิธีการของรัฐจะพาประเทศชาติเจริญก้าวหน้าได้ คงมิใช่เรื่องยากที่ประชาชนจะยอมเปลี่ยนความคิดและยอมรับการมีลูกสองคน แต่กระนั้นความคิดมนุษย์ก็ยากเกินจะคาดเดา หลังจากที่ประเทศจีนเริ่มเจริญก้าวหน้า เศรษฐกิจพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและประชาชนได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวางขึ้น การจะมีความคิดเป็นของตัวเองคงมิใช่เรื่องแปลกนัก และการที่ครอบครัวส่วนใหญ่จะคิดว่าหากมีลูกสองคนเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายที่อาจเป็นภาระหนักของครอบครัว จึงตัดสินใจมีลูกเพียงคนเดียวเป็นสถานการณ์ที่พบได้มากในประชากรชาวจีนส่วนใหญ่ สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนปี ค.ศ.2017 ระบุว่า กว่า 50% ของครอบครัวจีนไม่ประสงค์ที่จะมีลูกคนที่สอง (AEC10 News, 2020)[1]

ข้อมูลดังกล่าวอาจสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐจีนในแบบเดิมว่าอาจใช้ไม่ได้ผลในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นี่อาจเป็นการชี้ให้เห็นว่า ประชากรจีนสามารถมีความคิดเป็นของตนเอง และไม่จำเป็นต้องยอมศิโรราบต่อนโยบายของรัฐว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอเหมือนแต่ก่อน รัฐจีนควรเปลี่ยนแปลงวิธีการควบคุมความคิดประชาชนเสียใหม่จากวิธีการโฆษณาชวนเชื่อแบบเดิมๆ หรือควรตระหนักถึงอุดมการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ที่มิอาจทำให้ประชาชนเชื่องเชื่อได้ตลอดไป

ในโลกที่ประเทศจีนเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อนานาชาติมากขึ้น ประชาชนเข้าถึงความรู้ ข้อมูลข่าวสารได้ไม่ยากนัก การควบคุมประชากรจำนวนหลายพันล้านคนให้มีความคิดแบบเดียวอาจทำได้ยากขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านมา หรือนี่จะเป็นเพียงเพราะรัฐบาลจีนได้ให้สิทธิประชาชนในการเลือกที่จะมีลูกสองคนหรือไม่ มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่า รัฐจีนที่ต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในเวทีโลกเริ่มให้ความสำคัญกับสิทธิความเป็นมนุษย์มากขึ้น หรือยังไม่ถึงเวลาที่รัฐจีนต้องจัดการขั้นเด็ดขาดเท่านั้น

แม้ประเทศไทยเราจะไม่มีนโยบายลูกคนเดียวดังเช่นจีน แต่เราสามารถย้อนมองไทยได้ในกรณีการโฆษณาชวนเชื่อผ่านความเป็นรัฐประชาธิปไตยของไทยได้ รัฐประชาธิปไตยที่สนับสนุนเรื่องการเคารพความแตกต่างทางความคิด และให้สิทธิการตัดสินใจของประชาชนอย่างเสรี เราจะสามารถหลุดพ้นเงื้อมมือของการโฆษณาชวนเชื่อจากรัฐ ตามหลักสิทธิมนุษยชนที่มนุษย์ควรเคารพซึ่งกันและกันได้จริงหรือไม่ ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาจะไม่ถูกคัดกรองหรือถูกโฆษณาชวนเชื่อจากรัฐไทยได้จริงหรือ?

ดูเหมือนว่าโลกของประชาธิปไตยจะทำให้ประชากรต่างรู้สึกว่าตนเองมีอิสระในการใช้ชีวิตมากกว่า แต่ก็เป็นเรื่องน่าขันเมื่อในที่สุดได้มีการเปิดเผยขบวนการล้างสมองประชาชนของรัฐไทย หรือเรียกว่า ขบวนการ IO (Information Operation) ซึ่งกลุ่มคนที่ทำงานให้รัฐเหล่านี้จะเข้าแทรกซึมผ่านสื่อออนไลน์ในช่องทางต่างๆ และประโคมข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนยกย่องเชิดชูต่อการทำงานของรัฐ อีกทั้งยังปลุกปั่นให้ประชาชนเกลียดผู้ที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างได้อย่างแยบยล

เช่นนี้แล้วเราจะต่างอะไรกับรัฐคอมมิวนิสต์ที่ไม่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเป็นมนุษย์ สิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่าคือ แม้แต่ในรัฐประชาธิปไตยอย่างไทยที่เชื่อว่าได้รับสิทธิความเป็นมนุษย์ หากแต่เพียงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างการได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องรอบด้าน เรายังถูกรัฐเข้ามาควบคุมผ่านการโฆษณาชวนเชื่อที่ไม่ต่างไปจากการริดรอนสิทธิของรัฐคอมมิวนิสต์

จะเห็นได้ว่านโยบายต่างๆ ของรัฐหรือแม้แต่ข่าวสารต่างๆ จึงมิใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป การตัดสินใจเพียงครั้งเดียวของประชาชน อาจส่งผลกระทบต่อรัฐในวงกว้างได้ หากในตอนนั้นประชาชนจีนมีสิทธิมากเพียงพอในการปฏิเสธอำนาจรัฐ ก็อาจเป็นไปได้ว่า ประเทศจีนจะเป็นอย่างทุกวันนี้หรือไม่ก็ได้ เป็นเรื่องน่าเสียดายที่การรวมอำนาจสู่ศูนย์กลางของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ มิอาจใส่ใจในทุกความคิดเห็นของประชาชน และมิได้คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนที่บุคคลพึงมี ประการนี้ดูเหมือนจะไม่ต่างจากรัฐประชาธิปไตยอย่างไทยมากนัก รัฐจีนจะใช้วิธีการสร้างภาพลักษณ์ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจะใช้วิธีการโฆษณาชวนเชื่ออย่างไรต่อไปนั้น เราทุกคนไม่ว่าจะในโลกคอมมิวนิสต์หรือประชาธิปไตย ต่างจำเป็นต้องรับสื่ออย่างมีสติ ใช้วิจารณญานไตร่ตรองข้อมูลต่างๆ ให้ลึกซึ้ง และเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ความเลวร้ายที่เคยผ่านมาเกิดขึ้นซ้ำอีกครา และตระหนักอยู่เสมอว่า เราอาจถูกรัฐแทรกซึมให้ตกเป็นหนึ่งในเครื่องมือและเข้าสู่วงจรการริดรอนสิทธิความเป็นมนุษย์อย่างมิทันรู้ตัว

 

อ้างอิง

[1] AEC10News. (2020).  นโยบายลูก 2 คนของจีน ปชช.จ่ายไม่ไหว.  สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2563 จากhttp://aec10news.com/?p=41712.

 


 

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: Producers Guild of America

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: