หวังแก้ปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าและการขึ้นค่าระวางเรือ

กองบรรณาธิการ TCIJ 18 ธ.ค. 2563 | อ่านแล้ว 5481 ครั้ง

หวังแก้ปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าและการขึ้นค่าระวางเรือ

ภาครัฐ-เอกชนหารือหวังแก้ปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าและการขึ้นค่าระวางเรือ เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 เพราะหลายประเทศชะลอหรือเลิกการนำเข้าส่งออกชั่วคราว มีตู้สินค้าชะงักอยู่ที่จีน-สหรัฐฯ จำนวนมาก จากการเข้มงวดตรวจสอบสินค้า | ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2563 ว่านายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯ และหารือร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชุมร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนต่อการหาแนวทางแก้ไขปัญหาขาดแคลนตู้สินค้าและอัตราค่าระวางเรือที่สูงขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกที่กำลังได้รับผลกระทบขณะนี้

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การขาดแคลนตู้สินค้า มาจากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ค่าระวางการขนส่งทางทะเลต่ำ ทำให้สายเรือหลายบริษัทได้ปิดตัวลง และมีการควบรวมกิจการ ส่วนการขาดแคลนตู้สินค้า เกิดจากสายเรือลดการให้บริการจากสถานการณ์โควิด-19 เพราะหลายประเทศชะลอหรือเลิกการนำเข้าส่งออกชั่วคราว และมีตู้สินค้าชะงักอยู่ที่จีนจำนวนมาก จากการเข้มงวดตรวจสอบสินค้า ติดค้างอยู่ที่สหรัฐฯ เพราะโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ ระยะเวลาหมุนเวียนของตู้สินค้าไปสหรัฐฯ เพิ่มจาก 7 วันเป็น 14 วัน และเทศกาลคริสมาสต์ ปีใหม่ ตรุษจีน ทำให้มีความต้องการตู้สินค้ามากขึ้นในการขนส่งสินค้าไปสหรัฐฯ และยุโรป

ทั้งนี้ จึงส่งผลต่อการปรับเพิ่มขึ้นของค่าระวาง โดยอัตราค่าระวาง (Freight) ค่าบริการภายในประเทศ (Local Charge) และค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม (Surcharge) มีการปรับตัวในอัตราที่สูงขึ้น และการจองพื้นที่จัดสรรระวาง (ตู้สินค้า) มีความไม่แน่นอน อาจดำเนินการจองแล้วถูกยกเลิก เนื่องจากพื้นที่เรือไม่เพียงพอต่อความต้องการ

สำหรับการประชุมวันนี้ สรุปการแก้ไขเรื่องตู้ได้ 6 มาตรการ 1.กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับการท่าเรือและภาคเอกชนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาลู่ทางในการเร่งนำตู้เปล่าเข้ามาให้พอกับการใช้บรรจุสินค้าส่งออก 2.เอาตู้เก่ามาซ่อมแซมในประเทศเพื่อใช้บรรจุสินค้าเพื่อการส่งออก โดยให้ความช่วยเหลือให้นำเข้าตู้เปล่าและตู้เก่าให้สะดวกรวดเร็ว 3.หาทางเพิ่มช่องทางการส่งออกโดยไม่ใช้ตู้ เช่น ใช้เรือสินค้าทั่วไปเป็นต้น 4.สนับสนุนช่วยเหลือ SME ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายย่อย ให้รวมตัวกันจองตู้ล่วงหน้าผ่านสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ 5.เร่งดำเนินการหาลู่ทางให้เรือที่มีขนาด 400 เมตรสามารถเข้าท่าที่แหลมฉบังได้แทนที่จะอนุญาตเฉพาะเรือ 300 เมตร ในปัจจุบัน เพื่อให้การส่งออกการนำเข้าสามารถบรรทุกสินค้าได้มากขึ้น และ 6.ให้หามาตรการในการลดต้นทุนการนำเข้าตู้

และในเรื่องของค่าบริการในประเทศ (Local Charge) ได้ตกลงร่วมกันว่าจะร่วมมือกับการท่าเรือแห่งประเทศไทยและภาคเอกชนในการหาทางลดค่าบริการในประเทศ ปัจจุบันเฉลี่ยตู้ขนาด 20 ฟุต ประมาณ 1,800 บาทต่อตู้ สำหรับภาครัฐการท่าเรือจะไปหาลู่ทางปรับลดเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก และการนำเข้าตู้เปล่าหรือตู้เก่าเข้ามา ช่วยรับภาระได้ 6 เดือนถึงเดือนมิถุนายน 2564 การคิดค่าบริการที่สร้างภาระเกินสมควรกรมการค้าภายในจะใช้กฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการเข้ามากำกับดูแล

ปัญหาการจองพื้นที่ตู้หรือการจองตู้ที่บางครั้งถูกเลื่อนหรือถูกยกเลิก เป็นปัญหากับผู้ส่งออก ได้ขอให้สำนักงานแข่งขันทางการค้าของกระทรวงพาณิชย์เข้ามารับภาระในการรับเรื่องร้องเรียนจากภาคเอกชนที่ประสบปัญหาโดยสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าแจ้งว่าถ้ามีหลักฐานพร้อมและมายืนร้องก็จะดำเนินการพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน

” ตู้ขาดแคลนทั่วโลกไม่ใช่เฉพาะประเทศเราประเทศเดียว ที่มาประชุมเพราะต้องการแก้ปัญหาในส่วนของประเทศไทย ขาดแคลนเพราะ 1.ตู้คอนเทนเนอร์ไปค้างอยู่ที่ประเทศสหรัฐฯกับสหภาพยุโรปเยอะมากและส่งออกไม่ได้เพราะติดโควิด 2.จีนกับเวียดนามสามารถที่จะดึงตู้เปล่าอยู่ในประเทศได้เยอะมาก ทำให้ยิ่งขาดแคลน และโดยปริมาณตัวเลขการส่งออกน้ำเข้าของเรา นำเข้าแค่ 3,500,000 ตู้ต่อปีแต่ส่งถึง 5,000,000 ตู้ต่อปี ทำให้ขาดแคลนตู้ปีละ 1,500,000 ตู้ ” นายจุรินทร์ กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปช่วยเหลือผู้ส่งออก โดยในส่วนของค่าบริการภายในประเทศ (Local Charges) จะใช้พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 เข้าไปกำกับดูแล และขอให้คงอัตราค่าบริการภายในประเทศตามอัตราปี 2561 อัตราค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม (Surcharge) ขอให้เป็นไปตามค่าธรรมเนียมตลาดโลก แต่ต้องเป็นธรรม และห้ามมีการยกเลิกการจองตู้สินค้า ส่วนเรื่องการผูกขาดการค้าที่ไม่เป็นธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการจำกัดปริมาณตู้สินค้าที่มาจากสายการเดินเรือ ได้มอบให้สำนักงานแข่งขันทางการค้า หรือ สขค. เข้าไปดูแลต่อไป

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวได้เคยนำเสนอแนวทางแก้ไขโดยระยะสั้น ขอให้สายเรือคงอัตราค่า Local Charge เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการไทย ภาครัฐควรพิจารณามาตรการจูงใจให้สายเรือนําตู้เปล่ามายังประเทศไทย เช่น การยกเว้นค่ายกขนตู้เปล่ากลับมาประเทศไทย การยกเว้นค่าภาระ ท่าเรือให้กับเรือขนส่งสินค้าเป็นการชั่วคราว เป็นต้น และขอให้ภาครัฐเจรจาในระดับประเทศเพื่อหาแนวทางส่งตู้ส่วนเกินในประเทศที่มี การนําเข้ามากกว่าส่งออก กลับมาให้ประเทศไทย

ส่วนข้อเสนอระยะยาว เสนอให้มีการรวมกลุ่มผู้ประกอบการแต่ละอุตสาหกรรมเพื่อเจรจา Service Contract ระยะยาวในแต่ละเส้นทางกับสายเรือ และส่งเสริมอุตสาหกรรมซ่อมตู้คอนเทนเนอร์ในประเทศไทย เพื่อให้มีปริมาณตู้หมุนเวียนมาในประเทศไทยมากขึ้นและขณะที่การเจรจาใน ระดับ RCEP เพื่ออํานวยความสะดวกในการขนส่งตู้สินค้าทางถนนไปยังประเทศจีน ทั้งสินค้าที่มีปลายทางที่จีน และสินค้าที่ต้องการขนส่งต่อไปยังยุโรปทางรถไฟ ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดดังกล่าวกระทรวงพาณิชย์จะรับนำกลับไปประสานกับหน่วยงานในด้านต่างๆเพื่อเร่งหาแนวทางช่วยเหลือกันต่อไป

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: