แนวโน้มประชากร 'ช้างป่าไทย' เพิ่มขึ้น

กองบรรณาธิการ TCIJ 18 มี.ค. 2563 | อ่านแล้ว 3134 ครั้ง

แนวโน้มประชากร 'ช้างป่าไทย' เพิ่มขึ้น

พบแนวโน้มประชากรช้างป่า ในป่าอนุรักษืของไทนยหลายกลุ่มเพิ่มขึ้น พบมีช้างป่าในธรรมชาติเกือบ 3,500 ตัว ในพื้นที่ 69 ผืนป่า | ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2563 ว่านายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวเนื่องในวันช้างไทย ประจำปี 2563 ตรงกับวันที่ 13 มีนาคมของทุกปี ปัจจุบันช้างป่าอาศัยอยู่ตามธรรมชาติประมาณ 3,168 - 3,440 ตัว อาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ 69 แห่ง ที่มีผืนป่าที่เป็นแหล่งอาศัยของช้างป่าประมาณ 52,000 ตารางกิโลเมตร โดยกลุ่มป่าที่มีประชากรช้างป่ามาก คือ กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว กลุ่มป่าตะวันออก และกลุ่มป่าแก่งกระจาน

ส่วนประชากรช้างป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่งในประเทศไทย ส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แต่ปัจจุบันพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่ง เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนพืชอาหาร แหล่งน้ำ พื้นที่เป็นภูเขามีความลาดชันสูง ทำให้สภาพถิ่นอาศัยที่เหมาะสมของช้างป่ามีขนาดลดลงจากเดิม รวมทั้งมีการขยายตัวของชุมชน การขยายพื้นที่เกษตร ทำให้ผืนป่าบางแห่งถูกแบ่งแยกตัดขาดออกจากกัน เป็นปัจจัยให้เกิดปัญหาช้างป่าออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรของราษฎรที่อาศัยใกล้ชิดตามแนวขอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ มีแนวทางการจัดการและแก้ปัญหาช้างป่าทั้งในและนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป้องกันไม่ให้ช้างออกนอกพื้นที่ และควบคุมไม่ให้มีประชากรช้างมากเกินกว่าศักยภาพการรองรับได้ รวมทั้งการจัดการช้างป่านอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ด้วยการให้ความรู้ สร้างความร่วมมือการแก้ปัญหาช้างป่า และการให้ความช่วยเหลือเยียวยาจากผลกระทบที่เกิดขึ้น

โดยสิ่งสำคัญที่สุดต้องป้องกันไม่ให้ถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างถูกทำลาย ปรับปรุงป่าเสื่อมโทรมให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยตามหลักวิชาการ รวมทั้ง กลุ่มป่าบางแห่งที่เป็นเส้นทางช้างในอดีตที่ถูกตัดขาดไม่ต่อเนื่องจะสร้างแนวเชื่อมต่อพื้นที่ให้เป็นป่าผืนใหญ่เชื่อมต่อหากันได้ และมาตรการป้องกันไม่ให้มีการล่าช้างอย่างเข้มแข้ง นอกจากนี้ยังได้จัดทำคู่มือเบื้องต้นสำหรับประชาชนเป็นแนวทางเสริมสร้างความเข้ารู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวช้าง สถานการณ์ของช้าง พฤติกรรมของช้าง และสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนมีส่วนร่วมอนุรักษ์ช้างป่าไทยให้อยู่คู่ป่าไทยอย่างยั่งยืน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: