16 เม.ย. ไทยติดเชื้อเพิ่ม 29 คน สะสม 2,672 คน เสียชีวิต 3 คน สะสม 46 คน รักษาหายสะสม 1,593 คน

กองบรรณาธิการ TCIJ 16 เม.ย. 2563 | อ่านแล้ว 1228 ครั้ง

16 เม.ย. ไทยติดเชื้อเพิ่ม 29 คน สะสม 2,672 คน เสียชีวิต 3 คน สะสม 46 คน รักษาหายสะสม 1,593 คน

16 เม.ย. 2563 ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 29 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสม 2,672 คน เสียชีวิตเพิ่ม 3 คน รวมผู้เสียชีวิตสะสม 46 คน และรักษาหายสะสม 1,593 คน วันนี้ถือว่าครบรอบ 14 วันหลังการเคอร์ฟิวตั้งแต่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา จับตา 1 สัปดาห์เคาะคำตอบ แนะเทียบ 3 ประเทศหลังผ่อนปรนมาตรการคุมโรคคนป่วยพุ่ง

16 เม.ย. 2563 Thai PBS รายงานว่า นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าวสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ว่า วันนี้ ไทยพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่ม 29 คน ยอดสะสม 2,672 คน เสียชีวิตเพิ่ม 3 คน รวมเสียชีวิต 46 คน รักษาตัวอยู่ใน รพ. 1,033 คน กลับบ้านได้แล้ว 1,593 คน โดยวันนี้ถือเป็นวันครบรอบ 14 วันหลังจากการประกาศมาตรเคอร์ฟิวเมื่อ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา

“แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลงแล้ว แต่ขอให้คงมาตรการเว้นระยะห่าง งดสังสรรค์ ยังไม่ต้องการให้ผ่อนปรนมาตรการเร็วเกินไป เพราะมีบทเรียนจากหลายประเทศ”

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตคนที่ 1 เป็นชายสัญชาติมาเลเซีย อายุ 55 ปี อาชีพไกด์ ประวัติไปประเทศจอร์เจีย มีลูกทัวร์ป่วย COVID-19 จากนั้น 19 มี.ค.เดินทางกลับไทย และเข้ารักษาตัววันที่ 29 มี.ค. ด้วยอาการไอ เหนื่อยหอบ ปอดอักเสบ และเสียชีวิตวันที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา

ส่วนคนที่ 2 เป็นหญิงอายุ 35 ปี อาชีพพนักงานบริษัท มีโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และรักษาไม่ต่อเนื่อง ป่วย 20 มี.ค. ด้วยอาการไอ เหนื่อย จากนั้น 26 มี.ค.เข้ารับการรักษาอีกครั้ง พบว่าปอดอับเสบรุนแรงและติดเชื้อในกระแสเลือด เสียชีวิต 15 เม.ย.ที่ผ่านมา

ส่วนคนที่ 3 เป็นชายไทยอายุ 37 ปี ทำอาชีพรับจ้าง ขับรถแบคโฮ มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูงและภาวะอ้วน ประวัติเสี่ยงภรรยาทำงานร้านอาหารย่านสุขุมวิทและกลับมา จ.ปราจีนบุรี พบว่า 6 เม.ย. มีไข้สูง หน้ามืด แพทย์ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตจาก COVID-19 วันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา

“ผู้เสียชีวิตทั้ง 3 คนสังเกตว่าอายุไม่มาก บางคนแค่ 37 ปีและเป็นกลุ่มผู้ป่วยในช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้นจึงต้องช่วยกันดูแลตัวเองอย่างดี เพื่อไม่ให้ป่วยเพิ่มในช่วง 14 วันข้างหน้า”

25 จังหวัดไม่มีผู้ป่วยเพิ่ม -9 จังหวัดยังรอด

โฆษกศบค. กล่าวอีกว่า ผู้ติดเชื้อใหม่รายใหม่ 29 คน แบ่งเป็นมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้านี้ หรือเกี่ยวข้องสถานที่ 14 คน คนไทยกลับจากต่างประเทศ 2 คน ไปสถานที่ชุมชน 1 คน อาชีพเสี่ยง หรือทำงานในแออัด 2 คน รอสอบสวนโรค 10 คน ขณะที่ 9 จังหวัดที่ยังไม่เจอผู้ป่วย คือ น่านกำแพงเพชร ชัยนาท ตราด บึงกาฬ พิจิตร ระนอง สิงห์บุรี และอ่างทอง

ขณะที่ศบค.ยังได้จัดทำแผนที่จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่ช่วง 14 วัน เช่น หนองบัวลำภู เชียงราย เพชรบุรี มหาสารคาม สระบุรี แม่ฮ่อง สอน ราชบุรี อุทัยธานี เพชรบูรณ์ สิงห์บุรี ลำพูน สุโขทัย จันทบุรี อำนาจเจริญ กาญจนบุรี มุกดาหาร นครนายก บุรีรัมย์

ตัวเลขผู้ป่วยระดับโลกเกิน 2 ล้านคน-เอเชียยังน่าห่วง

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ขณะที่สถานการณ์ในระดับโลก ขณะมีการติดเชื้อ ทะลุ 2,083,304 คน เสียชีวิต 134,616 คน โดยสหรัฐอเมริกา เสียชีวิตเพิ่มใน 1 วัน 2,482 คน เสียชีวิตสะสม 28,529 คน รองลงมาอิตาลีเสียชีวิต 21,645 คน ส่วนเอเชีย พบว่าเกาหลีใต้ มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 22 คน ญี่ปุ่นติดเชื้อเพิ่ม 741 คน ฟิลิปปินส์ เพิ่ม 349 คน มาเลเซีย เพิ่ม 85 คน สิงคโปร์เพิ่ม 447 คน และอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้น 297 คน

“ต่างประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา ตายเป็นใบไม้ร่วง ผมไม่อยากพูดแบบนี้เพราะจะเหมือนกับว่าหมอขู่ แต่พูดในทางการแพทย์ สถานการณ์ทั่วโลกเป็นแบบนี้”

1 สัปดาห์รอตัดสินใจคงหรือผ่อนปรนมาตราการคุมโรค

โฆษก ศบค. ตั้งคำถามว่า ไทยจะผ่อนปรนมาตรการเคอร์ฟิวนี้ อย่างไร อยากให้ดูตัวอย่างจาก 3-4 ประเทศ เช่น เกาหลีใต้ มีการใช้มาตรการ เช่น การเปิดข้อมูลผู้ป่วยรายใหม่ทั้งหมด ไม่ปกปิดข้อมูล การกักกันการระบาด เหมือนกับไทยที่ใช้กักตัวของรัฐ และที่บ้าน

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่าจีน คาดว่ามีผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่ไม่แสดงอาการจำนวนมาก โดยการตรวจผู้สงสัยติดเชื้อ 6,764 คน พบว่ามีอาการป่วยเพียง 1,297 คน หรือ 19.1% ส่วนที่เหลือไม่แสดงอาการ

ส่วนที่ทางการญี่ปุ่นเตือนว่าอาจมีผู้ติดเชื้อถึง 800,000 คนทั่วประเทศ หากไม่เว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด ญี่ปุ่นมีประชากรสูงอายุมากที่สุดในโลก จึงน่าเป็นห่วง

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า สำหรับช่วงวันที่ 15-16 เม.ย.ที่ผ่านมา พบผู้ฝ่าฝืนออกนอกเคหสถาน 832 คน ตักเตือน 161 คน ดำเนินคดี 671 คน นอกจากนี้ได้ดำเนินคดี 198 คน ที่ชุมนุม มั่วสุม เช่น เล่นการพนัน ดื่มสุรา เสพยาเสพติด

จังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อสามารถผ่อนปรนมาตรการได้หรือไม่ จะมีการหารือก่อนวันที่ 1 พ.ค. เพื่อประเมินว่าต่ออายุ พ.ร.กฉุกเฉินหรือไม่ ส่วนแต่ละจังหวัดจะผ่อนปรนหรือไม่ ซึ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับชุดข้อมูลโดยคำนึงถึงสุขภาพก่อน

“การผ่อนปรนขึ้นกับอะไรจะต้องร่วมมือกับคน 90% ขึ้นไป ถือว่าตัดสินใจอะไรยาก เพราะเราทำกันดีมาตลอด ต้องหาช่องทางร่วมกัน ถ้าเรียนรู้แบบนี้ให้ดูจาก 3 ประเทศที่เขาผ่อนคลายแล้ว เราจะเลือกใช้กับไทยอย่างไร หลังจากนี้ในอีก 1 สัปดาห์ รอให้คณะทำงานชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นผู้พิจารณาร่วม”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: