ไทยเร่งปรับ 'ป่าแก่งกระจาน' ตามข้อแนะนำคณะกรรมการมรดกโลก

กองบรรณาธิการ TCIJ 15 พ.ค. 2563 | อ่านแล้ว 1642 ครั้ง

ไทยเร่งปรับ 'ป่าแก่งกระจาน' ตามข้อแนะนำคณะกรรมการมรดกโลก

ไทยเร่งดำเนินการตามข้อแนะนำคณะกรรมการมรดกโลก ปรับปรุงการดำเนิการกลุ่มป่าแก่งกระจาน เตรียมพร้อมสู่การพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกโลก ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 | ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2563 ว่าภายหลังการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 43 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ระหว่างวันที่ 30 มิ.ย.–10 ก.ค. 2562 ซึ่งไทยได้ข้อให้พิจารณาขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ซึ่งคณะกรรมการมรดกโลกได้พิจารณาการนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานในแนวโน้มที่ดี ก่อนมีมติให้ส่งกลับเอกสาร (Refers) เพื่อเพิ่มเติมข้อมูล ให้ไทยกลับมาแก้ไขใน 3ประเด็นสำคัญ

1.ปรับปรุงแนวขอบเขต การเสนอแหล่งโดยอยู่บนพื้นฐานความตกลงระหว่าง ไทย และเมียนมา

2.ให้นำเสนอข้อมูล และการศึกษาเปรียบเทียบที่แสดงให้เห็นว่าการลดขอบเขตพื้นทียังคงคุณค่าภายใต้หลักเกณฑ์ข้อที่ 10 เรื่องความสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ในการขอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ

3.แสดงให้เห็นว่า ข้อกังวลทั้งหมดได้รับการแก้ไขโดยการปรึกษาอย่างเต็มที่กับชุมชนท้องถิ่น

คณะทำงานไทยจึงได้นำข้อเสนอแนะมาปรับปรุง และเร่งดำเนินการตามข้อกำหนดให้ครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะเดินหน้าผลักดันกลุ่มป่าแก่งกระจานให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกให้ได้สำเร็จ โดยได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเละสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน พร้อมมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติเละสิ่งแวดล้อม เเละกรมอุทยานเห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นเลขานุการร่วม ขณะที่ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศ และหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดทำเอกสารข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ต่อไป ซึ่งเชื่อว่าจะมีความพร้อมเสนอให้ที่ประชุมมรดกโลกเห็นชอบได้มากขึ้น

ทั้งนี้กลุ่มป่าแก่งกระจาน เป็นผืนป่าที่มีขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัด ราชบุรี เพชรบุรี และ ประจวบคีรีขันธ์ ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี รวมพื้นที่กว่า 1,821,687 ไร่ ซึ่งเป็นกลุ่มป่าที่มีระบบนิเวศทั้งระบบนิเวศบก แหล่งน้ำ เป็นแหล่งพันธุกรรมของพืชและสัตว์ป่าที่สำคัญของภูมิภาคเอเชีย ไทยจึงพยายามเสนอกลุ่มป่าแก่งกระจาน ขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ ภายใต้เกณฑ์ข้อ 10 ซึ่งระบุไว้ในเอกสารเนวทางการอนุวัตตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (Operational Guidelines for the Implementation of the World Heritage Convention)

โดยจากการศึกษาของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์เละความหลากหลายทางชีวภาพ ของพื้นที่ภายหลังการปรับลดขนาดพื้นที่นำเสนอบนพื้นฐานข้อหารือระหว่างไทยและเมียนมา พบว่ามีความหลากหลายของชนิดพันธุ์สัตว์ป่า และพันธุ์พืชที่สำคัญแสดงถึงความสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างชัดเจน สามารถพบสัตว์ป่าหายากหลายชนิดทั้งสัตว์ผู้ล่า เช่น เสือโคร่ง เสือดาวหรือเสือดำ เสือลายเมฆ แมวลายหินอ่อน(สัตว์ป่าสงวน) และเสือปลา อีกทั้งยังมีสัตว์ป่าชนิดอื่นที่บ่งชี้ถึงความหลากลายทางชีวภาพ เช่น จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย สมเสร็จ(สัตว์ป่าสงวน) เก้งหม้อ(สัตว์ป่าสงวน) ช้างป่า กระทิง หมีควาย หมีหมา หมาใน หมาจิ้งจอก ชะมดแปลงลายแถบ รวมทั้งนกกับแมลงอีกหลายชนิด เช่น นกกะลิงเขียดหางหนาม นกพญาปากกว้าง ซึ่งในประเทศไทยมีทั้งหมด 6 ชนิด พบได้ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานทั้งหมด 6 ชนิด ตระกูลนกเงือกที่พบในประเทศไทยพบ 13 ชนิด สามารถพบได้ที่ป่าแก่งกระจาน 6 ชนิด ส่วนผีเสื้อที่อยู่ในรายชื่อแมลงคุ้มครองภายใต้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ก็พบในกลุ่มป่านี้เช่นกัน เช่น ผีเสื้อหางติ่งสะพายเขียว และผีเสื้อรักแร้ขาว ปัจจุบันทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้มีการร่วมดำเนินการในการสำรวจสัตว์ป่ากับทางสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย, กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ประเทศไทย (WWF Thailand) ติดตั้งระบบการตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ สำรวจความสมบูรณ์ของทรัพยากรแหล่งอาศัยของเสือโคร่งและสัตว์ป่าอื่นๆ ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ติดตามสภาพปัญหาที่คุกคามเสือโคร่งและสัตว์ป่าชนิดสำคัญอื่นๆ ช่วยให้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทำการสำรวจและติดตามประชากรสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อย่างเป็นระบบ มีข้อมูลพื้นฐานที่ถูกต้อง ช่วยจัดการอนุรักษ์รัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนข้อกังวลการทำความเข้าใจกับชุมชนในพื้นที่ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ดำเนินการชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเสนอมรดกโลกและการขอสนับสนุนการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกกับชุมชน ที่อยู่ในเขตและนอกเขตอุทยานแห่งชาติ ร่วมประชุมหมู่บ้านและชี้แจงทำความเข้าใจมาโดยตลอด ตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 2562 จนถึงปัจจุบัน ส่วนด้านงานสำรวจการครอบครองที่ดินในป่าอนุรักษ์ ได้ดำเนินการตามแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ตามมาตรา 64 ให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อาศัยหรือทำกิน ในอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งให้แล้วเสร็จภายใน 240 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้บังคับใช้ โดยรัฐบาลมีแผนงานหรือนโยบายในการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินในอุทยานแห่งชาติตามกฎหมายที่ระบุไว้ ขณะที่แนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ สำรวจรูปแปลงและตำแหน่งที่ดินของผู้ครอบครองทุกราย รวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลโดยคณะทำงานสำรวจการครอบครองที่ดินระดับพื้นที่ส่งให้คณะกรรมการพิจารณาผลการสำรวจระดับพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อเป็นฐานข้อมูลพื้นที่ทำกินในเขตป่าอนุรักษ์ให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ เพื่อให้ได้แนวเขตบริหารจัดการด้านอนุรักษ์ที่เป็นที่ตกลงและยอมรับร่วมกัน ทั้งนี้มีพื้นที่เป้าหมายในการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตพื้นที่อนุรักษ์ 39 หมู่บ้าน 8 ตำบล 3 อำเภอ 2 จังหวัด พื้นที่ประมาณ 38,999 ไร่

ส่วนปัญหาชุมชนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติปัจจุบันโดยเฉพาะชนชาติกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บ้านบางกลอยได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต จากหน่วยราชการต่างๆจนทำให้เกิดรายได้ของชุมชนจากการค้าสินค้าเกษตร จัดการท่องเที่ยวและบริการมากขึ้น มีการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานโรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สุขศาลาพระราชทาน ระบบน้ำโซล่าเซลล์ ที่สามารถปั้มหน้าได้ตลอดเวลา ทำให้หมู่บ้านได้รับการพัฒนาคนที่อยู่ได้รับการจัดสรรที่ดินที่ทำกิน คนที่ไม่มีที่ดินทำกินสามารถพัฒนาด้านอาชีพรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการการเป็นลูกจ้างของรัฐ จากข้อมูลในปี 2562 มีรายได้ภาคการเกษตร ภาคบริการ และรับจ้างกว่า 15 ล้านบาท สำหรับที่ดินที่ได้รับการตรวจสอบตามกฎหมาย สามารถตกทอดถึงลูกหลานได้ จึงมีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้นนับตั้งแต่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วม โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่บ้านโป่งลึกบางกลอย เพื่อให้สังคมได้รับรู้ถึงว่าทำประเพณีที่กลมกลืนและสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: