ก.ย.-ต.ค. 63 ผู้ประกันตนว่างงานสูงเป็นสถิติใหม่ต่อเนื่องเดือนที่ 6 และ 7

ทีมข่าว TCIJ | 14 ธ.ค. 2563 | อ่านแล้ว 8764 ครั้ง

เดือน ก.ย.-ต.ค. 2563 ผู้ประกันตนว่างงาน 487,980 คน และ 491,662 คน ทำสถิติใหม่และวิกฤตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และ 7 ตามลำดับ - สภาพัฒน์แถลง GDP ไตรมาส 3/2563 หด -6.4% ปรับคาดการณ์ทั้งปี 2563 อยู่ที่ -6% ส่วนอัตราว่างงานยังสูง แนวโน้มหนี้ครัวเรือนเพิ่ม | ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ข้อมูลจาก รายงานเศรษฐกิจแรงงาน ประจำเดือน ต.ค. 2563 โดยกองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่าการจ้างงานในตลาดแรงงาน เดือน ต.ค. 2563  มีแรงงานในระบบประกันสังคมหรือผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,036,662 คน มีอัตราการหดตัวร้อยละ -5.04 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 11,622,267 คน) และมีอัตราการหดตัวร้อยละ -0.52

ก่อนหน้านี้ในเดือน ก.ย. 2563 มีแรงงานในระบบประกันสังคมหรือผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,093,914 คน มีอัตราการหดตัวร้อยละ -5.08 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 11,687,597 คน) และมีอัตราการหดตัวร้อยละ -0.21 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (ส.ค. 2563 จำนวน 11,117,083 คน)

สถานการณ์การว่างงาน เดือน ต.ค. 2563 มีผู้ว่างงานจำนวน 491,662 คน มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 181.71 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 174,529 คน) และมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.75 

เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 487,980 คน) ทั้งนี้ อัตราการว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เดือน ต.ค. 2563 พบว่าอยู่ที่ร้อยละ 2.1 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ต.ค. 2562 ร้อยละ 0.9) และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ในเดือน ก.ย. 2563 มีผู้ว่างงานจำนวน 487,980 คน มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 183.03 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 172,412 คน) และมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 12.18 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 435,010 คน) ทั้งนี้ อัตราการว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติเดือน ก.ย. 2563 พบว่าอยู่ที่ร้อยละ 1.8 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.9

ทั้งนี้จากข้อมูลผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมระหว่างปี 2539-2563 พบว่าก่อนหน้านี้สถิติผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมเคยสูงสุดที่เดือน มิ.ย. 2552 จำนวน 188,986 คน ต่อมาถูกทำลายสถิติเมื่อเดือน เม.ย. 2563 ที่ 215,652 คน และเดือน พ.ค. 2563 ที่จำนวน 332,060 คน เดือน มิ.ย. 2563 ที่จำนวน 395,693 คน ก.ค. 2563 ที่จำนวน 410,061 คน ส.ค. 2563 ที่จำนวน 435,010 คน ก.ย. 487,980 คน ล่าสุดสถิติ 491,662 คน ณ เดือน ต.ค. 2563 นี้ก็ได้กลายเป็นสถิติสูงสุดใหม่อีกครั้งในรอบปี 2563 และสถิติผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมในเดือน ก.ย.-ต.ค. 2563 นี้ยังวิกฤตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และ 7 ตามลำดับ

 

ข้อมูลผู้ประกันตนที่รับประโยชน์ทดแทนกรณีการว่างงานรายเดือน (มิ.ย. 2539 - ต.ค. 2563) by TCIJ on Scribd

 

สถานการณ์การเลิกจ้าง เดือน ต.ค. 2563 มีผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้าง จากสำนักงานประกันสังคม มีจำนวน 233,326 คน มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 746.06 เมื่อเทียบกับ เดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 27,578 คน) และมีอัตราการหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -3.63 เมื่อเทียบกับ เดือนที่ผ่านมา

สำหรับตัวเลขลูกจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้าง เดือน ต.ค. 2563 ที่ 233,326 คน นี้ ลดลงมาจากเดือน ก.ย. 2563 ที่จำนวน 242,114 คน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขสูงสุดที่สำนักงานประกันสังคมเคยเก็บสถิติมา [1] [2]

สภาพัฒน์แถลง GDP ไตรมาส 3/2563 หด -6.4% ปรับคาดการณ์ทั้งปี 2563 อยู่ที่ -6%

เมื่อช่วงกลางเดือน พ.ย. 2563 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่าอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในไตรมาส 3/2563 หดตัว -6.4% ปรับตัวดีขึ้นจากที่หดตัว -12.1% ในไตรมาส 2/2563 ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนปีนี้ GDP ไทยหดตัว -6.7% ขณะที่ประมาณการทั้งปีจะหดตัวราว -6% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวสูงถึง -7.8 ถึง -7.3%

ปัจจัยสำคัญของการที่เศรษฐกิจไตรมาส 3/2563 ติดลบน้อยลงจากไตรมาสก่อนหน้า มาจากการส่งออกสินค้าและบริการ การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาลและการลงทุนของภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่าสภาพัฒน์ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ที่ -6.0% หดตัวน้อยลงกว่าประมาณเดิมที่คาดไว้ที่ -7.3 ถึง-7.8% ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัยหนุนประกอบกันไป ได้แก่ การลงทุนภาคชน ราคาสินค้าเกษตร และการส่งออกที่หดตัวน้อยลง "ตัวเลข GDP ปีนี้ที่ติดลบน้อยลงกว่าคาด ไม่ได้มีปัจจัยไหนโดดเด่น แต่มาจากหลายๆ ปัจจัยรวมกัน ทั้งการลงทุนภาคเอกชน, ราคาสินค้าเกษตร และการส่งออกที่ติดลบน้อยลง ซึ่งเป็นหลายๆ ปัจจัยผสมกันไป ไม่มีปัจจัยไหนเป็นพระเอก ดังนั้นในระยะนี้และระยะถัดไป จะต้องร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปด้วยกัน" เลขาธิการสภาพัฒน์ระบุ

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปีนี้ ภายใต้แนวโน้มสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งจากปัจจัยในประเทศและต่างประเทศ หากไม่มีปัจจัยใดที่เข้ามากระทบรุนแรงก็คาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 จะดีขึ้นกว่าไตรมาส 3 เนื่องจากจะเห็นได้จากดัชนีที่เป็นเครื่องชี้เศรษฐกิจรายเดือนมีการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง หลังจากมีมาตรการคลายล็อกดาวน์ในช่วงโควิด ในขณะที่ตลาดส่งออกแม้จะยังติดลบ แต่ก็ติดลบน้อยลง ซึ่งส่งผลให้ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้จะหดตัวน้อยลงเหลือ -6.0% โดยในปีนี้สภาพัฒน์ประเมินว่าการส่งออกจะอยู่ที่ -7.5% การนำเข้า -13.8% ดุลการค้าเกินดุล 38.3 พันล้านดอลลาร์ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 14 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 2.8% ของจีดีพี อัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ระดับ -0.9% ส่วนการลงทุนรวมอยู่ที่ -3.2% การลงทุนภาคเอกชน -8.9% การลงทุนภาครัฐ 13.7% การบริโภคภาคเอกชน -0.9% การอุปโภคภาครัฐบาล 3.6% ประมาณการรายได้การท่องเที่ยวปีนี้อยู่ที่มูลค่า 4.6 แสนล้านบาท ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 41.8 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ระดับ 31.30 บาท/ดอลลาร์ ทั้งนี้ในปี 2563 ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราการว่างงาน, ปัญหาหนี้ครัวเรือน, ปัญหาภัยแล้ง

"ตัวที่จะขับเคลื่อนหลักในปีนี้ คือ การลงทุนภาครัฐ ซึ่งจะเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การลงทุนของภาครัฐจะต้องเริ่มก่อน แล้วในระยะถัดไปจึงค่อยกระตุ้นให้เอกชนลงทุนมากขึ้น เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไป" นายดนุชากล่าว

ส่วนในปี 2564 สภาพัฒน์ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายได้ที่ระดับ 3.5-4.5% โดยมีแรงสนับสนุนจากปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่ การปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ, การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก, แรงขับเคลื่อนของภาครัฐจากการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณและมาตรการทางเศรษฐกิจ และฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปีนี้ โดยสภาพัฒน์ประเมินว่าในปี 2564 การส่งออกจะกลีบมาขยายตัว 4.2% การนำเข้า 5.3% ดุลการค้าเกินดุล 37.9 พันล้านดอลลาร์ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 13.9 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 2.6% ของจีดีพี อัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ระดับ 0.7-1.7% ส่วนการลงทุนรวมอยู่ที่ 6.6% การลงทุนภาคเอกชน 4.2% การลงทุนภาครัฐ 12.4% การบริโภคภาคเอกชน 2.4% การอุปโภคภาครัฐบาล 4.7% ประมาณการรายได้การท่องเที่ยวปี 64 จะมีมูลค่า 4.9 แสนล้านบาท ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในช่วง 41-51 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน ณ สิ้นปี 2564 อยู่ในช่วง 30.30-31.30 บาท/ดอลลาร์

นายดนุชา ยังกล่าวถึงแนวทางในการบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2563 รวมถึงปี 2564 ว่า สภาพัฒน์มองว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญกับประเด็นดังนี้

1. การป้องกันการกลับมาระบาดของไวรัสโควิดระลอกที่สองภายในประเทศ

2.การดูแลภาคเศรษฐกิจที่มีข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดยต้องเร่งรัดติดตามมาตรการที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการพิจารณามาตรการเพิ่มเติม หรือปรับเปลี่ยนให้ตอบสนองสาขาและพื้นที่เศรษฐกิจที่มีข้อจำกัดในการฟื้นตัว การช่วยเหลือดูแลแรงงาน การรณรงค์ให้คนไทยท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคอย่างรัดกุม รวมทั้งการดำเนินงานด้านวัคซีนป้องกันโควิด-19

3.การขับเคลื่อนการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2564 ให้ได้ไม่น้อยกว่า 94.4% งบลงทุนต้องเบิกจ่ายให้ได้ไม่น้อยกว่า 70% ส่วนการเบิกจ่ายตามโครงการใน พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ต้องให้ได้ไม่น้อยกว่า 70%

4.การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการลงทุนภาคเอกชน โดยเน้นการขับเคลื่อนสินค้าส่งออกที่ได้รับประโยชน์จากการระบาดของโควิด, การขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า การลดต้นทุนการผลิตสินค้าที่สำคัญ การป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนและการแข็งค่าของเงินบาท

5. การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2561-2563 ให้เกิดการลงทุนจริง, ขับเคลื่อนการส่งออกเพื่อเพิ่มการใช้กำลังการผลิต, ประชาสัมพันธ์จุดแข็งของไทย เช่น Health Care เพื่อสร้างธุรกิจใหม่

6.การดูแลราคาสินค้าเกษตรในบางพื้นที่ช่วงผลผลิตออกสู่ตลาด และการเตรียมการรองรับปัญหาภัยแล้ง

7.การรักษาบรรยากาศทางการเมืองในประเทศ

8. การเตรียมการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก และการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศ [3]

อัตราว่างงานยังสูง แนวโน้มหนี้ครัวเรือนเพิ่ม

ด้าน ภาวะสังคมไตรมาส 3/2563 นี้ในภาพรวมอัตราการว่างงานปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง โดยอัตราการว่างงานในไตรมาส 3/2563 พบว่ามีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 7.4 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.90 ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ 1.95 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ส่วนการจ้างงานในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น โดยผู้มีงานทำมีจำนวน 37.9 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.2% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม 1.8% ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีการเปิดเป็นปกติมากขึ้น ประกอบกับฐานการจ้างงานนอกภาคเกษตรในช่วงเดียวกันของปีก่อนลดต่ำลงมาก จากผลกระทบของการส่งออกที่หดตัวและมีการใช้กำลังการผลิตลดลง

ทั้งนี้ สาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาก่อสร้าง, การขายส่งและขายปลีก, การขนส่ง/เก็บสินค้า ในขณะที่สาขาการผลิตยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ซึ่งนอกจากเป็นผลของคำสั่งซื้อที่ลดลงแล้ว อุตสาหกรรมเหล่านี้ยังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการแข่งขันกับต่างประเทศ สำหรับภาคเกษตรกรรม แม้ว่าจะอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก แต่เนื่องจากในหลายพื้นที่ของประเทศยังประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้การจ้างงานภาคเกษตรกรรมลดลง -0.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ดี แม้แรงงานจะมีงานทำ แต่ไม่ได้เป็นการทำงานอย่างเต็มที่ เนื่องจากชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จาก 43.5 ชม./สัปดาห์ มาเหลือ 41.6 ชม./สัปดาห์ และจำนวนผู้ที่ทำงานล่วงเวลา หรือผู้ที่ทำงานมากกว่า 50 ชม./สัปดาห์ ลดลง 19.7% ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณผลผลิต และรายได้ของแรงงานที่อาจลดลงตามชั่วโมงการทำงานที่ลดลง ซึ่งจะกระทบต่อเนื่องไปถึงกำลังซื้อของครัวเรือน

"ภาวะสังคมไตรมาส 3 นี้ อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูง ชั่วโมงการทำงานยังลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของครัวเรือนในด้านต่างๆ อีกทั้งแรงงานจบใหม่ แรงงานอายุน้อย และมีการศึกษาสูง ยังมีปัญหาการว่างงานเป็นจำนวนมาก" เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าว พร้อมระบุว่า จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กระทบต่อตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 2/63 แม้จะมีสัญญาณการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 นี้ แต่ยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามในระยะต่อไป คือ 1. ความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดระลอกที่สอง 2.การเข้าร่วมมาตรการจ้างงานของรัฐ 3. ผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติต่อการจ้างงานภาคเกษตรกรรม และ 4. คุณภาพชีวิตแรงงาน

นายดนุชา ยังกล่าวถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนใน ไตรมาส 2/2563 ว่า มีมูลค่า 13.59 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% แต่ชะลอตัวลงจาก 4.1% ในไตรมาส 1/2563 โดยคิดเป็นสัดส่วน 83.8% ต่อจีดีพี ทั้งนี้ การที่หนี้ครัวเรือนยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มีสาเหตุหลักมาจากการหดตัวของเศรษฐกิจอย่างรุนแรง รวมถึงมูลค่าหนี้ครัวเรือนที่ยังเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหรือมีความเสี่ยงทางรายได้และการมีงานทำ จากวิกฤติทางเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด

ขณะที่ภาพรวมคุณภาพสินเชื่อยังมีความเสี่ยงและต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยจากข้อมูลยอดคงค้างหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคาพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาส 2/2563 มีมูลค่า 152,501 ล้านบาท ขยายตัว 19.7% และมีสัดส่วน 3.12% ต่อสินเชื่อรวม ลดลงจากสัดส่วน 3.23% ในไตรมาส 1/2563 โดยเป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ ที่ทำให้ภาพรวมคุณภาพลูกหนี้มีสถานการณ์ดีขึ้น

เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวถึงแนวโน้มหนี้ครัวเรือนไตรมาส 3/2563 โดยคาดว่าความต้องการสินเชื่อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการระบาด และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้น เช่นเดียวกันสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพี รวมถึงยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นได้ ตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวและสัญญาณการฟื้นตัวที่ยังไม่ชัดเจน

ทั้งนี้ ผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อหนี้ครัวเรือนไทย ถือเป็นวิกฤติที่สะท้อนและตอกย้ำถึงความเปราะบางทางการเงิน และปัญหาเชิงโครงสร้างของครัวเรือนไทย จากการขาดหลักประกันและภูมิคุ้มกันในการรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมา ภาครัฐและสถาบันการเงินได้มีมาตรการในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทั้งในส่วนของลูกหนี้รายย่อย และลูกหนี้ธุรกิจ

แต่ในระยะต่อไป หากระยะเวลาของมาตรการช่วยเหลือสิ้นสุดลง และสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว จะเสี่ยงเกิดหนี้เสียจำนวนมาก และครัวเรือนอาจมีการก่อหนี้นอกระบบมากขึ้น โดยเฉพาะการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายของทั้งภาครัฐ และสถาบันการเงิน ในการออกแบบนโยบายการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในสภาวะของความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น [4]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] ข้อมูลด้านเศรษฐกิจแรงงาน เดือนกันยายน 2563 (กองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงาน, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 12 ธ.ค. 2563)
[2] ข้อมูลด้านเศรษฐกิจแรงงาน เดือนตุลาคม 2563 (กองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงาน, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 12 ธ.ค. 2563)
[3] (เพิ่มเติม) GDP ไตรมาส 3/63 หด -6.4% ปรับคาดทั้งปีดีขึ้นเป็น -6% ฟื้นโต 3.5-4.5%ปี 64 (สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 16 พ.ย. 2563)
[4] สภาพัฒน์ เผยภาวะสังคม Q3/63 อัตราว่างงานยังสูง แนวโน้มหนี้ครัวเรือนเพิ่ม (สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 16 พ.ย. 2563)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ก.ค. 63 ผู้ประกันตน 'ว่างงาน-ถูกเลิกจ้าง' สถิติสูงสุด - เสนอจ้างงาน นศ. จบใหม่ 2.6 แสนตำแหน่ง
มิ.ย.63 ผู้ประกันตน 'ว่างงาน-ถูกเลิกจ้าง' ทำสถิติสูงสุด - ธปท.ชี้เศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุดแล้ว
พ.ค. 63 ผู้ประกันตนว่างงานทำลายสถิติอีกครั้ง เลิกจ้างทะลุหลักแสน
เม.ย. 63 ผู้ประกันตนว่างงานทำลายสถิติ คาด นศ.จบใหม่ว่างงานกว่า 60%
ส.ค. 63 ผู้ประกันตน 'ว่างงาน-ถูกเลิกจ้าง' สถิติใหม่สูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: