จับตา: ปี 2553-2562 เด็กจมน้ำเสียชีวิต 8,394 ราย เฉลี่ยปีละ 839 ราย

กองบรรณาธิการ TCIJ 12 ส.ค. 2563 | อ่านแล้ว 3070 ครั้ง


กรมควบคุมโรคเปิดข้อมูล 10 ปี (ปี 2553-2562) เด็กจมน้ำเสียชีวิต 8,394 ราย เฉลี่ยปีละ 839 ราย หรือวันละ 2 ราย สาเหตุหลักจากการชวนกันเล่นน้ำเป็นกลุ่มตามแหล่งน้ำธรรมชาติ-เด็กขาดทักษะเอาชีวิตรอด | ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

เมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค. 2563 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ว่า ข้อมูลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2553-2562) พบว่าการจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงถึง 8,394 ราย เฉลี่ยปีละ 839 ราย หรือวันละ 2 ราย โดยสาเหตุหลักเกิดจากการชวนกันไปเล่นน้ำเป็นกลุ่มตามแหล่งน้ำธรรมชาติ เด็กขาดทักษะเอาชีวิตรอดในน้ำ และการช่วยเหลือที่ถูกต้อง

ส่วนสถานที่เกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นแหล่งน้ำสาธารณะที่อยู่ในชุมชน เช่น สระน้ำ บ่อขุดเพื่อการเกษตร ฝายทดน้ำ อ่างเก็บน้ำ เป็นต้น จากการเฝ้าระวังเหตุการณ์ในปี 63 ถึงปัจจุบัน ได้รับรายงานเหตุการณ์จมน้ำเสียชีวิต 34 เหตุการณ์ จาก 20 จังหวัด มีผู้เสียชีวิตรวม 49 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 34 ราย คิดเป็นร้อยละ 69.4 แหล่งน้ำที่เกิดเหตุสูงสุด ได้แก่ ทะเล, บ่อน้ำ/สระสาธารณะ, แหล่งน้ำคู/หนอง/คลองธรรมชาติ อย่างละ 6 เหตุการณ์ และแม่น้ำ, สระขุด/บ่อน้ำขุด, คลองส่งน้ำ/คลองชลประทานเพื่อการเกษตร อย่างละ 3 เหตุการณ์ เป็นต้น”

“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสจะพบเหตุการณ์คนจมน้ำได้ เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน ทำให้แหล่งน้ำต่างๆ มีระดับน้ำสูงขึ้น ทำให้ความลึกของระดับน้ำมากขึ้น ประกอบกับเด็กๆ มักชวนกันไปเล่นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งอาจทำให้เด็กตกน้ำหรือจมน้ำเสียชีวิตได้ กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำวิธีป้องกันเด็กจมน้ำ คือ ผู้ปกครองต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด อย่าปล่อยให้เด็กชวนกันไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง ส่งเสริมและสนับสนุนให้ครัวเรือนที่มีเด็กแรกเกิด - 2 ปี มีการใช้คอกกั้นเด็ก (Playpen)” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

สำหรับในชุมชน ขอให้ร่วมกันดำเนินการ ดังนี้ 1.สำรวจแหล่งน้ำเสี่ยงในชุมชน เฝ้าระวังและแจ้งเตือน เช่น ประกาศเสียงตามสาย ตักเตือนเมื่อเห็นเด็กเล่นน้ำตามลำพัง 2.จัดการแหล่งน้ำให้ปลอดภัย เช่น สร้างรั้ว ติดป้ายคำเตือน ให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำเสี่ยง เช่น ถังแกลลอนเปล่าผูกเชือก ขวดน้ำพลาสติกเปล่า และไม้ เป็นต้น 3.สอนให้เด็กรู้จักแหล่งน้ำเสี่ยงและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น และรู้วิธีการเอาชีวิตรอดในน้ำเมื่อตกน้ำ โดยการลอยตัวเปล่าหรือลอยตัวโดยใช้อุปกรณ์ช่วยชูชีพ และ 4.สื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อให้ชุมชนเกิดความตระหนักและมีส่วนร่วม

นอกจากนี้ หากพบเห็นคนตกน้ำ ไม่ควรกระโดดลงไปช่วยเพราะอาจจมน้ำพร้อมกันได้ ขอให้ช่วยด้วยการใช้มาตรการ “ตะโกน โยน ยื่น” ดังนี้ ตะโกน คือเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วย และโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 โยน คือโยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว ช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น และ ยื่น คือยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ที่มาข้อมูล: Hfocus | สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: