กขค.เสียงข้างน้อยแจงเหตุไม่เห็นด้วยควบรวม 'ซีพี-เทสโก้ โลตัส' ห่วงผูกขาด

กองบรรณาธิการ TCIJ 11 พ.ย. 2563 | อ่านแล้ว 10598 ครั้ง

โฆษกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เผย กขค.เสียงข้างน้อย 3 คน ไม่เห็นชอบการอนุญาตให้รวมธุรกิจระหว่าง 'ซีพี-เทสโก้' เห็นว่าการรวมธุรกิจจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากมีโอกาสทำให้เกิดการผูกขาด หรือครอบงำทางเศรษฐกิจขึ้นได้

สืบเนื่องจากกรณีที่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ได้พิจารณาการขออนุญาตรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้น จำกัดและบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด โดยกรรมการเสียงข้างมากมีความเห็นว่า การรวมธุรกิจดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ขออนุญาตรวมธุรกิจซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดในตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภคประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็ก จะมีอำนาจตลาดเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่เป็นการผูกขาด เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา

กขค. ระบุว่าการรวมธุรกิจดังกล่าวมีความจำเป็นตามควรทางธุรกิจและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจเพิ่มมากขึ้นและอาจส่งผลให้การแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สำคัญอันควรมีควรได้ของผู้บริโภคส่วนรวม ทั้งนี้ มีความจำเป็นต้องกำหนดมาตรการเพื่อลดหรือเยียวยาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการแข่งขันในตลาดร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภคภายหลังการรวมธุรกิจ

คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า โดยกรรมการเสียงข้างมากจึงมีมติอนุญาตให้รวมธุรกิจระหว่างบริษัทซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด โดยกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้รวมธุรกิจปฏิบัติ ดังนี้

(1) ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้รวมธุรกิจและผู้ประกอบธุรกิจที่มีสถานะเสมือนเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกัน กระทำการรวมธุรกิจกับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นในตลาดร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภค เป็นระยะเวลา 3 ปี ทั้งนี้ ไม่รวมถึงตลาดอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce)

(2) ให้บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด เพิ่มสัดส่วนของยอดขายสินค้าที่มาจากผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ประกอบด้วย กลุ่มสินค้าเกษตร สินค้าเกษตรชุมชน สินค้าชุมชน สินค้าวิสาหกิจชุมชนหรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (OTOP) และกลุ่มสินค้าอื่น ๆ ของร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และ เทสโก้ สโตร์ส รวมกันทุกรูปแบบ ในอัตราเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี

ทั้งนี้ ให้ใช้หลักเกณฑ์ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ตามความในกฎหมายว่าด้วยการกำหนดลักษณะของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

(3) ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้รวมธุรกิจและผู้ประกอบธุรกิจที่มีสถานะเสมือนเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกันในตลาดร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภค ใช้ข้อมูลร่วมกันหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการตลาดที่เกี่ยวข้องกับผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบ โดยให้ถือว่าเป็นความลับทางการค้า

(4) ให้บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด คงไว้ซึ่งเงื่อนไขของสัญญาและข้อตกลงระหว่าง ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบรายเดิม ที่ได้มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงไว้ เป็นระยะเวลา 2 ปีเว้นแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสัญญาที่เป็นคุณหรือเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบรายเดิม และต้องได้รับการยินยอมจากผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบนั้น ๆ ด้วย

(5) ให้บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด สนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ตามความในกฎหมายว่าด้วยการกำหนดลักษณะของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น ด้วยการกำหนดระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) เป็นระยะเวลา 30 – 45 วัน นับจากวันที่ยื่นเอกสารเรียกเก็บเงินเป็นระยะเวลา 3 ปี จำแนกเป็น

(5.1) กลุ่มสินค้าเกษตร สินค้าเกษตรชุมชน สินค้าชุมชน สินค้าวิสาหกิจชุมชนหรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (OTOP) ภายในระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน และ

(5.2) กลุ่มสินค้าอื่น ๆ ภายในระยะเวลาไม่เกิน 45 วัน ทั้งนี้ กรณีข้อกำหนดระยะเวลาการให้สินเชื่อเดิมที่มีผลใช้บังคับก่อนคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าออกคำสั่งนี้มีระยะเวลาการให้สินเชื่อน้อยกว่าที่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ากำหนด ให้ใช้ข้อกำหนดระยะเวลาการให้สินเชื่อเดิม หรือกรณีที่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

(6) ให้บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด รายงานผลการประกอบธุรกิจ ภายใต้การดำเนินการตามกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขที่ได้รับจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เป็นรายไตรมาสหรือในระยะเวลาที่กำหนด ตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ากำหนด เป็นระยะเวลา 3 ปี

(7) ให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตรวมธุรกิจและผู้ประกอบธุรกิจที่มีสถานะเสมือนเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกันในตลาดร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภค กำหนดมาตรฐานในการปฏิบัติทางการค้าที่ดี (Code of Conduct) เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน และถือปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าว ตลอดจนประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกกับผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย พ.ศ. 2562 อย่างเคร่งครัดและต้องไม่กระทำการที่เป็นข้อห้ามของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560

นายสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตรวมธุรกิจดำเนินการตามกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตรวมธุรกิจปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าหลังจากที่การรวมธุรกิจแล้วเสร็จและให้มีหนังสือรายงานผลการรวมธุรกิจภายใน 30 วัน นับแต่วันที่รวมธุรกิจแล้วเสร็จด้วย และในกรณีผู้ประกอบธุรกิจซึ่งได้รับแจ้งคำสั่งของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าและไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนี้ มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง [1]

'ก้าวไกล' จับตาต่อหลังการควบรวม

7 พ.ย. 2563 นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ได้พิจารณาการขออนุญาตรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้น จำกัด และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย)

กรรมการเสียงข้างมากมีมติอนุญาตให้ควบรวมกิจการได้โดยมีเงื่อนไขโดยให้ความเห็นว่าการควบรวมธุรกิจครั้งนี้ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจมีอำนาจเหนือตลาดเพิ่มขึ้นในตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่ สินค้าอุปโภคบริโภคประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็ก แต่ไม่เป็นการผูกขาด ส่งผลให้การแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคส่วนรวม แต่มีความจำเป็นต้องกำหนดมาตรการเพื่อลด หรือเยียวยาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

แน่นอนว่าการตัดสินว่าการควบรวมครั้งนี้ไม่เป็นการผูกขาดนั้นไม่เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด เพราะการกำหนดว่าอะไรคือ “ตลาด” นั้นใช้ดุลพินิจได้ค่อนข้างมาก และในกรณีนี้กำหนดว่าเป็นตลาดของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ หรือ Modern trade ซึ่งรวมทั้งร้านค้าสะดวกซื้อ และไฮเปอร์มาร์เก็ต ส่วนการใช้ส่วนแบ่งตลาดเป็นเกณฑ์ก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าแข็ง และตายตัวเกินไป จำเป็นต้องพิจารณาถึงยอดขายรายสินค้า ทรัพย์สิน และส่วนแบ่งตลาดที่อาจเพิ่มขึ้นภายหลังควบรวมด้วย

เมื่อไม่ผูกขาด แต่มีอำนาจเหนือตลาดเพิ่มขึ้น (หมายถึงอำนาจที่จะขึ้นราคาสินค้ากับผู้บริโภค หรือกดราคาสินค้ากับซัพพลายเออร์ได้) ก็จำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันการใช้อำนาจเหนือตลาดที่นำไปสู่การค้าที่ไม่เป็นธรรม ผลการวินิจฉัยกล่าวว่าจะไม่กระทบผู้บริโภค แต่จะกระทบกับคู่ค้าของซีพีและเทสโก้ โลตัส เช่น ซัพพลายเออร์ ผู้ประกอบการคลังสินค้าและโลจิสติกส์

มาดูกันว่าในมติไมีการระบุเงื่อนไขเพื่อลดหรือเยียวยาผลกระทบไว้อย่างไรบ้าง โดยเงื่อนไข 7 ข้อ ที่บอร์ดประกาศออกมา มีทั้งที่ซีพี และเทสโก้ต้องทำ และห้ามทำ

ที่ห้ามทำ คือ ห้ามควบรวมอีกใน 3 ปี และห้ามแชร์ข้อมูลซัพพลายเออร์ระหว่างกัน

ที่ต้องทำ คือ 1. ให้ซีพี และเทสโก้เพิ่มสัดส่วนยอดขายของ SME ประกอบด้วย OTOP และวิสาหกิจชุมชนในอัตราเพิ่มขึ้นปีละ 10% เป็นเวลา 5 ปี 2. ให้เทสโก้คงเงื่อนไขตามสัญญากับซัพพลายเออร์เดิม เป็นเวลา 2 ปี 3. ให้ซีพีและเทสโก้กำหนดสินเชื่อการค้าระยะเวลา credit term เป็น 30-45 วัน เฉพาะสินค้าจาก SME 4. ให้ซีพีและเทสโก้ส่งรายงานผลการปฏิบัติตามเงื่อนไข รายไตรมาสกับบอร์ดแข่งขันทางการค้า และ 5. ให้ทำมาตรฐานการปฏิบัติทางการค้าที่ดี (code of conduct) เผยแพร่กับสาธารณะ

จะเห็นว่าเป็นเงื่อนไขเรื่อง “พฤติกรรม” เป็นส่วนใหญ่ และซอฟต์มากจนไม่ได้รู้สึกว่าจะป้องกันการใช้อำนาจเหนือตลาดได้จริง ทั้งเรื่องเพิ่มสัดส่วนสินค้า otop การลดระยะเวลาสินเชื่อการค้าซึ่งไม่ต่างจากเดิมมากนักสำหรับสินค้าเกษตร การคงเงื่อนไขตามสัญญาและข้อตกลงการค้าเดิมก็กำหนดระยะเวลาไว้เพียง 2 ปี แต่ไม่มีเงื่อนไขที่เกี่ยวกับเรื่องของขนาดภายหลังการควบรวมเลย และพฤติกรรมเหล่านี้ แม้ไม่มีการควบรวมก็สมควรกำหนดให้ทำอยู่แล้ว

ในขณะที่คดีควบรวมในธุรกิจค้าปลีกในประเทศที่มีการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าจริงจัง โดยปกติจะกำหนดเงื่อนไขโดยมีจุดประสงค์ให้ขนาดของบริษัทเมื่อควบรวมเรียบร้อยแล้วมีขนาดไม่ใหญ่จนเกินไป โดยอาจจะกำหนดเงื่อนไขให้ “ลดขนาด” ของการควบรวม หรือแม้กระทั่งกำหนดให้ “ขาย” กิจการบางส่วนออกไปก่อนการควบรวมเพื่อให้เมื่อควบรวมแล้วธุรกิจตลอดสายไม่ได้มีขนาดใหญ่จนสร้างผลเสียต่อการแข่งขันในตลาด

ลองนึกภาพดูว่า ระหว่างการมานั่งตรวจสอบการใช้อำนาจเหนือตลาดต่อคู่ค้าเป็นรายกรณี กับการปล่อยให้ตลาดมีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งเป็นการลดอำนาจเหนือตลาดทางอ้อม แบบไหนมีต้นทุนในการควบคุมน้อยกว่ากัน และการสลายการควบรวม (divestiture remedy) ในภายหลังเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก (แม้จะมีอำนาจก็ตาม) เพราะต้นทุนสูงทั้งต่อสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าในการตรวจสอบ และต่อผู้ประกอบการผู้รับคำสั่งเองด้วย

อีกทั้งเปิดเผยว่าคณะ กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ จะติดตามรายละเอียดของมติบอร์ดแข่งขันในครั้งนี้ต่อ และอยากขอความร่วมมือให้ SME ที่เป็นคู่ค้ากับทั้ง 2 บริษัทหากพบการค้าที่ไม่เป็นธรรม ให้แจ้งเบาะแส ข้อมูลหลักฐานให้กับ พรรคก้าวไกล หรือ ส.ส.ของพรรค ทางเรายินดีจะปกปิดตัวตนของท่านระหว่างการตรวจสอบ เพราะเราทราบดีว่าการออกมาเปิดเผยข้อมูลอาจนำไปสู่ผลเสียต่อธุรกิจของท่านได้ [2]

กขค.เสียงข้างน้อยแจงเหตุไม่เห็นด้วยควบรวม 'ซีพี-เทสโก้' ห่วงผูกขาด

ต่อมาในวันที่ 11 พ.ย. 2563 นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า และโฆษกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผยว่า กขค.เสียงข้างน้อย 3 คนไม่เห็นชอบการอนุญาตให้รวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้น จำกัด และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เห็นว่าการรวมธุรกิจจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากมีโอกาสทำให้เกิดการผูกขาด หรือครอบงำทางเศรษฐกิจขึ้นได้

กขค.เสียงข้างน้อยมองว่า ผู้ขออนุญาต มีสถานะเป็นผู้ผลิตสินค้าสำคัญหลายประเภท ทั้งสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำ เมื่อผนวกรวมกับธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ในระดับสูงทุกรูปแบบการค้า ตั้งแต่ระดับค้าส่ง ค้าปลีกขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่งเป็นช่องทางการจำหน่ายสำคัญที่จะกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภค ด้วยปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ผู้ขออนุญาตมีอำนาจเหนือตลาดสูงมากจนสามารถครอบงำเศรษฐกิจการค้าของประเทศได้โดยง่าย และจะมีส่วนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบต่อคู่แข่งในตลาด เพราะผู้ขออนุญาตเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด และมีส่วนแบ่งตลาดในระดับสูงทุกรูปแบบของการค้าส่งและค้าปลีก ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นคู่แข่งทางธุรกิจที่มีอยู่ หรือผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาด จะยิ่งเข้าสู่ตลาดยากยิ่งขึ้น เพราะคู่แข่งที่จะแข่งขันได้ในตลาด จะต้องใช้กลยุทธ์ทางธุรกิจและการตลาดที่เน้นการลงทุน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ตลอดจนลดราคาแข่งขัน เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ แม้จะมีผลดีในระยะสั้น แต่หากผู้ประกอบธุรกิจรายใดไม่สามารถปรับตัวได้ อาจจะต้องออกจากตลาดไปในที่สุด โดยเฉพาะคู่แข่งที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ในที่สุด จะทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคลดน้อยลง

ส่วนผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบ (ซัพพลายเออร์) จะได้รับผลกระทบ เนื่องจากเป็นการรวมธุรกิจระหว่างผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่รายใหญ่ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด โดยภายหลังการรวมธุรกิจส่งผลให้ผู้ขออนุญาตและบริษัทในเครือเป็นผู้ประกอบธุรกิจร้านจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคครบทุกรูปแบบ ทั้งร้านค้าส่ง ร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าปลีกขนาดเล็ก อันเป็นผลให้ผู้ขออนุญาตมีอำนาจเหนือตลาดและมีอำนาจต่อรองกับ (ซัพพลายเออร์) มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ผลิตที่เป็นเอสเอ็มอี ที่อาจไม่มีอำนาจต่อรองมาก จึงมีโอกาสสูงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมในการกำหนดเงื่อนไขทางการค้า หรืออาจอยู่ในภาวะจำยอมที่จะต้องรับเงื่อนไขตามที่ผู้ขออนุญาตรวมธุรกิจเสนอโดยไม่มีข้อต่อรองใดๆ เนื่องจากหากไม่ยินยอมดำเนินการในลักษณะดังกล่าว ก็ไม่สามารถวางสินค้าจำหน่าย หรืออาจถูกปิดกั้นช่องทางการจำหน่าย และต้องล้มเลิกกิจการไปในที่สุด

สำหรับผู้บริโภค ผลของการรวมธุรกิจครั้งนี้ทำให้จำนวนคู่แข่งขันในตลาดลดน้อยลง แม้ว่าในระยะสั้นอาจไม่มีผลต่อผู้บริโภค ทั้งในด้านราคาหรือประเภทสินค้าที่มีให้เลือก แต่ในระยะยาวแล้วอาจมีผลต่อทางเลือกของผู้บริโภค ทั้งประเภทชนิดสินค้า และระดับราคา อาจมีการกำหนดตามความต้องการ หรือนโยบายของกลุ่มบริษัทที่เป็นของผู้ขออนุญาต และหากมีการลงทุนเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในตลาดค้าส่งค้าปลีก ซึ่งจะมีต้นทุนค่อนข้างสูง ผู้บริโภคอาจเป็นผู้ต้องรับภาระอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

"การออกมาชี้แจงในครั้งนี้ เพราะต้องการสร้างความชัดเจนให้เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นหลักความโปร่งใสในการพิจารณา ไม่ได้ต้องการสร้างความสับสน ความแตกแยก เพียงแค่ต้องการชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่เป็นกังวล และไม่เห็นด้วยในการพิจารณาให้ควบรวมธุรกิจ ส่วนมติที่ออกมาด้วยเสียงข้างมาก อนุญาตให้ควบรวมธุรกิจ พร้อมมี่เงื่อนไขให้ปฏิบัติตาม ก็ยังคงเป็นมติอยู่ ถือว่าเป็นทางการแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้"

อนึ่ง กรรมการเสียงข้างน้อย 3 คนที่ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมธุรกิจ ประกอบด้วย นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธาน กขค. และกรรมการอีก 2 คน คือ นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ และนางอร่ามศรี รุพันธ์ [3]

ที่มาข้อมูล
[1] “กขค.” มีมติควบรวม ซี.พี.-เทสโก้ โลตัส ไม่ผูกขาดธุรกิจค้าปลีก (ประชาชาติธุรกิจ, 6 พ.ย. 2563)
[2] 'ศิริกัญญา' ชี้หลังควบรวม 'ซีพี-เทสโก' หากพบการค้าที่ไม่เป็นธรรม แจ้งเบาะแสได้ (ประชาไท, 7 พ.ย. 2563)
[3] กขค.เสียงข้างน้อยแจงเหตุไม่เห็นด้วยควบรวม ซีพี-โลตัส ห่วงผูกขาด (สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 11 พ.ย. 2563)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: