ทั่วโลกเลื่อนพิจารณาข้อตกลงเก็บ 'ภาษีดิจิทัล' เหตุความเห็นยังไม่ตรงกัน

กองบรรณาธิการ TCIJ 20 ต.ค. 2563 | อ่านแล้ว 2834 ครั้ง

ทั่วโลกเลื่อนพิจารณาข้อตกลงเก็บ 'ภาษีดิจิทัล' เหตุความเห็นยังไม่ตรงกัน

ประเทศกว่า 130 ประเทศได้ตั้งเป้าหมายที่จะเห็นพ้องกันในเรื่องกฎระเบียบในการจัดเก็บภาษีบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่เป็นภายในกลางปี 2021 เนื่องจากขณะนี้มีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับข้อเสนอของสหรัฐฯ และอุปสรรคจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 | ที่มาภาพประกอบ: Communal News

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ รายงานเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2563 ว่าองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เปิดเผยว่าประเทศกว่า 130 ประเทศได้ตั้งเป้าหมายที่จะเห็นพ้องกันในเรื่องกฎระเบียบในการจัดเก็บภาษีบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่เป็นภายในกลางปีหน้า เนื่องจากขณะนี้มีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับข้อเสนอของสหรัฐฯ และอุปสรรคจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ตามกำหนดการเดิมนั้น ประเทศกลุ่มนี้มีเป้าหมายที่จะเผยแพร่รายงานขั้นสุดท้ายภายในปลายปีนี้ โดยเป็นการตอบสนองต่อเสียงวิจารณ์ที่ว่า บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ เช่น เฟซบุ๊กและแอมะซอน ไม่ได้จ่ายภาษีอย่างเป็นธรรม

OECD เปิดเผยว่าขณะนี้ยังมีประเด็นทางเทคนิคและประเด็นทางการเมืองรอให้หารือเพิ่มเติม โดยสหรัฐคัดค้านการเก็บภาษีบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐ ขณะที่ยุโรปต้องการเก็บภาษีบริษัทเทคโนโลยีอย่างเหมาะสมตามแหล่งทำกำไรของบริษัทนั้น

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ข้อเสนอดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนกฎระเบียบภาษีเดิม ที่เก็บภาษีโดยอาศัยเพียงสถานที่ตั้งของบริษัท เช่น สำนักงานและโรงงาน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีเปิดเผยว่า บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของโลกมักใช้ช่องโหว่ดังกล่าวในการทำกำไรจากประเทศที่เก็บภาษีต่ำ ไม่ว่าแท้จริงแล้วลูกค้าอยู่ประเทศใดก็ตาม

ภายใต้กฎเกณฑ์ใหม่นี้ บรรดาบริษัทข้ามชาติที่ทำรายได้โดยจำหน่ายสินค้าสำหรับผู้บริโภคหรือให้บริการด้านดิจิทัล จะถูกเก็บภาษีโดยอิงกับยอดขายที่ได้รับ แม้แต่ในประเทศที่บริษัทไม่ได้มีสำนักงานตั้งอยู่ก็ตาม

กฎเกณฑ์ดังกล่าวครอบคลุมธุรกิจต่างๆ แต่ส่วนใหญ่มองว่า มาตรการนี้พุ่งเป้าไปที่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของสหรัฐ อาทิ กูเกิล แอปเปิล เฟซบุ๊ก และอเมซอนดอทคอม ซึ่งเรียกรวมกันว่ากลุ่ม GAFA

กฎระเบียบการเก็บภาษีระหว่างประเทศแบบใหม่นี้มีเป้าหมายที่จะตกลงกันให้ได้ภายในปลายปีนี้ แต่กระบวนการดังกล่าวอาจเผชิญกับความซับซ้อนเมื่อต้องลงรายละเอียด

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: