หรือจะเหลือเพียง “ป่าอภิสิทธิ์ชน”

มานพ คีรีภูวดล | 12 ต.ค. 2563 | อ่านแล้ว 2982 ครั้ง


จนถึงวันนี้ สังคมไทยยังคงอยู่ในวังวน ของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ที่ผูกขาด อำนาจ อยู่กับรัฐราชการรวมศูนย์ ที่มีกฎหมายและกลไกการทำงานของตัวเอง ที่สามารถชี้กำหนดวิถีชีวิตของผู้คนโดยตรง จากนโยบายและกฎหมาย ที่ขาดมิติ ของการปรับตัว ต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งผลต่อความล้าหลังโดยรวมของสังคม และกลายเป็นเครื่องมือกีดกัน อำนาจชุมชนท้องถิ่น ออกจากการบริหารจัดการทรัพยากร ในพื้นที่ของพวกเขา

อย่างน้อย นับแต่ชุมชนเหล่านั้น ถูกประกาศเขตป่าประเภทต่างๆ ทับพื้นที่ ชีวิตที่สัมพันธ์กับฐานทรัพยากรธรรมชาติ เป็นชนวนใหญ่ที่สร้างข้อพิพาท และสร้างความขัดแย้ง ที่ยืดเยื้อ ระหว่างภาครัฐกับประชาชน หรือแม้กระทั่ง ระหว่างประชาชน ต่อประชาชนด้วยกันเอง สั่งสมมายาวนาน

ไม่ว่าจะผ่านมากี่ทศวรรษ เรายังคงรับทราบถึงหลายกรณีปัญหาข้อพิพาท เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนกลายเป็นข้อถกเถียงและเป็นคำถามระดับสังคม ที่ล้วนวางอยู่บนมโนสำนึกเรื่อง “ความเป็นธรรม” “ความยุติธรรม” “สิทธิมนุษชน” “สิทธิชุมชน” “ความเหลื่อมล้ำ” “สองมาตรฐาน”  หรือแม้แต่ “คุกมีไว้ขังคนจน”

ทำไม ? ชุมชนของกะเหรี่ยง แห่งผืนป่าตะวันตกจึงต้องถูกเผาบ้าน ขับไล่อพยพ ทำไมผู้อาวุโสอย่าง ปู่คออี้ ที่เป็นดั่งจิตวิญญาณของวิถีชาติพันธุ์และผืนป่า กลับต้องใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายเผชิญการต่อสู้คดี ทำไมคนหนุ่ม ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรมอย่าง บิลลี่ ต้องถูกกระทำให้หายไปอย่างเหี้ยมโหด

ทำไม ? ชุมชนชาติพันธุ์บนที่สูงหลายแห่งหรือชุมชนท้องถิ่นที่อาศัยกับป่า ต้องใช้ชีวิตโดยที่ไม่มีแม้กระทั่งถนนปกติ ไม่มีระบบไฟฟ้า น้ำประปา ไม่มีโรงเรียน ไม่มีโรงพยาบาล เฉกเช่นผู้คนในเขตเมือง ไม่มีสิทธิแม้แต่จะเป็นผู้ประกอบการที่สร้างรายได้เลี้ยงดูครอบครัว อยากสร้างโอกาสให้ลูกหลานได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หลายชุมชมถูกส่งเสริมศักยภาพ ด้านการท่องเที่ยวแต่วันนี้กลับต้องถูกรื้อทำลาย หลายชุมชมถูกส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ แต่วันนี้ต้องเป็นจำเลยด้านสิ่งแวดล้อม หลายชุมชนเป็นผู้ร่วมรบกับรัฐไทย แต่วันนี้กำลังถูกแย่งยึดที่ดินถิ่นอาศัย

ทำไม ? ผู้คนที่อยู่อาศัยทำกินมาก่อนการประกาศเขตป่าของรัฐ วันนี้ ถึงต้องกลายเป็นผู้อยู่อาศัยอย่างผิดกฎหมาย บนแผ่นดินที่พวกเขาเกิด ดิ้นรน เรียกร้องกันมารุ่นต่อรุ่น จนถึงวันนี้ยังคงมีคนที่ต้องเผชิญกับคดีความและจบลงที่คุกตาราง

ทำไม ? ชุมชนชาวเล แห่งผืนทะเล ต้องถูกขับไล่ ทำร้าย แย่งยึดที่ดินจนแทบไม่เหลือ แม้กระทั่งพื้นที่สุสาน ที่ฝังร่างและเรื่องราวของบรรพบุรุษชน ทำไมผืนทะเลถึงถูกจับจองเป็นสมบัติส่วนตัวของใครบางกลุ่มบางคน

ในขณะเดียวกัน ทำไม ? ถึงมีคนสามารถครอบครองใช้ประโยชน์จากผืนป่าอย่างง่ายดาย มีบ้านพักกลางป่า มีรีสอร์ทหรูบนม่อนผา บางโครงการได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์อย่างน่ากังขา บางคนมีอำนาจแทบจะปิดเกาะทั้งเกาะ หรือสำหรับบางคน ป่าอุทยานเป็นเหมือนสวนสนุก ไว้ยิงล่าสัตว์  หลายกรณีสถานะที่ดินหรือป่าไม้ถูกเปลี่ยนได้ดังมีเวทมนต์

หรือแท้จริง เราคือสังคมไร้มาตรฐานหรืออย่างดีที่สุดคือสังคมมีเพียงมาตรฐานเดียว คือ” อภิสิทธิ์ฐาน” ?

ตัวอย่างคำถามข้างต้น เป็นสิ่งที่คนในสังคมจำเป็นต้องช่วยกันอภิปรายถกเถียง นำเสนอความเห็น ข้อเสนอ ร่วมกันรณรงค์ เพื่อสร้างฉันทามติร่วมในการสร้างรูปธรรม ในการจัดการต่อปัญหาดังกล่าว เราคงไม่สามารถละเลย ให้หน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่ง หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มีอำนาจและผูกขาดบทบาทความรับผิดชอบ ต่อปัญหาใหญ่ที่ซับซ้อน และกระทบต่อผู้คนจำนวนมหาศาลเช่นนี้ได้

ตัวอย่างในประเด็นพื้นที่ป่าไม้นั้น ควรเป็นป่าไม้ในมโนทัศน์ใหม่ และเต็มไปด้วยรูปแบบอันตอบสนองกับทุกชีวิต อย่างเป็นธรรมและสร้างความก้าวหน้าต่อสังคมแห่งอนาคต  อนาคตที่ไม่จำเป็นต้องมีระบอบอำนาจที่กดทับศักยภาพผู้คน “อนาคตที่ต้องร่วมกันสร้างป่าที่ปลอดอภิสิทธิ์ชน”

โดยเฉพาะอภิสิทธิ์ชนภายใต้เงินภาษีของประชาชนที่ยังลุแก่อำนาจ อ้างใช้กฎหมายที่เขียนมา เพื่อประโยชน์ของตัวเอง และประกาศทับชีวิตของผู้อื่น กดขี่ข่มแหงผู้ด้อยอำนาจกว่า ยังคงไม่สามารถสร้างพัฒนาทางความคิดออกจากโลกกะลาผุพังของตัวเองและยังคงไม่สำเหนียก ว่าตัวเองคือหนึ่งในตัวถ่วงความเจริญก้าวหน้าของสังคมไทย

 


 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่เฟสบุ๊ก Manop Keereepuwadol-มานพ คีรีภูวดล

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: ข่าวสด

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: