รายงานชี้ ‘ทหารเยี่ยมโรงเรียนตาดีกา’ ทำครูอึดอัด-เด็กไม่ได้ประโยชน์นอกจาก ‘ตัดผม’

กองบรรณาธิการ TCIJ: 26 ม.ค. 2563 | อ่านแล้ว 8855 ครั้ง

รายงานที่จัดทำโดย ‘เครือข่ายปกป้องเด็กจังหวัดชายแดนใต้’ พบทหารติดอาวุธตระเวนเยี่ยม 'โรงเรียนตาดีกา' บ่อยครั้ง 'ครู' กังวลเรื่องการถูกกล่าวหาและการพูดจาข่มขู่ มองไม่เกิดประโยชน์นอกจากมา 'ตัดผมให้เด็ก'  ซึ่งควรเป็นกิจกรรมของพลเรือนที่ไม่ติดอาวุธ กิจกรรมอื่นก็ไม่สอดคล้องกับการเรียนการสอน แถมยังทำให้เวลาเรียนลดลง  - ชี้ฝ่ายรัฐยังมีมุมมองหวาดระแวงครูตาดีกาว่าจะชักจูงเด็กร่วมกองกำลังติดอาวุธ ตั้งข้อสันนิษฐานเป็นปฏิบัติการภายใต้ ‘กรอบของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี’ | ที่มาภาพประกอบ: facebook.com/WassanaJournalist

จาก รายงานการศึกษาโรงเรียนปลอดภัยเพื่อทุกคน Safe School for All โดย เครือข่ายปกป้องเด็กจังหวัดชายแดนใต้ ที่เผยแพร่ในช่วงวันเด็กปี 2563 ระบุว่าเครือข่ายปกป้องเด็กจังหวัดชายแดนใต้ ได้พบว่ามีรายงานสถานการณ์ที่น่าห่วงกังวลต่อเด็กในจังหวัดชายแดนใต้ คือการปฏิบัติการทางทหารโดยรัฐภายในโรงเรียนภายใต้นโยบายการป้องกันการชักจูงเด็กเข้าร่วมขบวนการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งทำให้หน่วยงานทหารในจังหวัดชายแดนใต้มีมาตรการการดูแล 'โรงเรียนตาดีกา'  โดยมีเป้าหมายอยู่ที่เด็กจำนวนกว่า 159,305 คน ในจังหวัดชายแดนใต้ หากมาตรการนี้ยังไม่ยุติหรือไม่ดำเนินการโดยบุคลากรที่มีความเข้าใจเรื่องสิทธิเด็กแล้ว ย่อมส่งผลกระทบทางด้านจิตใจต่อเด็กในระยะยาว และขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วย 'โรงเรียนที่ปลอดภัย' (Safe School Declaration)  อีกทั้งกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศระบุว่า "โรงเรียนจะต้องได้รับการพิจารณาว่าเป็นพื้นที่ของพลเรือนและจะต้องไม่ถูกโจมตี ครูและนักเรียนมีความเสี่ยงเป็นพิเศษหากอาคารเรียนถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางทหารโดยฝ่ายต่างๆ ที่ขัดแย้งกัน"

'โรงเรียนตาดีกา' หรือ 'ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด' คือโรงเรียนสอนจริยธรรม ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ คือ สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล เปิดสอนเยาวชนที่นับถือศาสนาอิสลาม อายุระหว่าง 5-12 ปี ในวันเสาร์-อาทิตย์ให้กับ ส่วนมากจะสอนในชุมชนหรือมัสยิดที่เยาวชนเดินทางไปเรียนได้อย่างสะดวกไม่ไกลเกินไปนัก

ทั้งนี้รูปแบบการเรียนการสอนว่า โรงเรียนตาดีกาเป็นโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามเบื้องต้นให้กับเด็ก เน้นการสอนจริยธรรม การอ่าน-เขียน ภาษามลายู รวมถึงการประกอบศาสนกิจ โดยผู้นำชุมชนและอาสาสมัครในชุมชนเป็นผู้สอน

ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 10 ม.ค. 2561 จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) มีโรงเรียนตาดีกาจำนวน 2,116 ศูนย์ มีจำนวนนักเรียน 159,305 คน จำนวนครู 14,732 คน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา

 

ครูกังวลการมาของทหารทำชั่วโมงในการเรียนการสอนลดลง-กิจกรรมก็ไม่สอดคล้องกับการเรียนการสอนเดิม

รายงานฉบับนี้ เครือข่ายปกป้องเด็กจังหวัดชายแดนใต้ได้รวบรวมข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ที่เกี่ยวข้องกับการโจมตีโรงเรียน ครูและนักเรียน และการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) กับครูตาดีกาจำนวน 12 โรงเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวมจำนวน 17 คนและสัมภาษณ์แบบกลุ่ม (Focus group) จำนวน 30 คน เพื่อศึกษาเบื้องต้นถึงรูปแบบการปฏิบัติการทางทหารโดยรัฐในโรงเรียนตาดีกาและค้นหาแนวทางในการปกป้องคุ้มครองเด็กนักเรียนและครูในสถานศึกษาซึ่งอาจไม่ใช่จำนวนทั้งหมดของครูตาดีกาแต่เพื่อศึกษารูปแบบปฏิบัติการทหารในโรงเรียนตาดีกาและแนวทางในการแสวงหาแนวทางในการปกป้องและคุ้มครองเด็กในโรงเรียนตาดีกาและเพื่อป้องกันโรงเรียนอื่นๆ ต่อไปในอนาคต

ในรายงานได้อ้างข้อมูลของ 'กลุ่มด้วยใจ' ระบุว่าปี 2560 เป็นปีแรกที่มีการเข้าไปขอจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับสิทธิทางการเมืองและหน้าที่พลเรือนโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงให้กับเด็ก ซึ่งการเรียนการสอนที่เจ้าหน้าที่จัดให้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนศาสนาแต่อย่างใด และเด็กได้เรียนเรื่องดังกล่าวจากโรงเรียนของรัฐแล้ว โดยในช่วงปลายปี 2560 เริ่มมีภาพเจ้าหน้าที่ทหารแต่งกายด้วยชุดเครื่องแบบและพกพาอาวุธปืนเข้าไปในโรงเรียนตาดีกาประมาณ  6-7 คน เพื่อไปทำกิจกรรมกับเด็กที่โรงเรียนตาดีกา ทั้งนี้ครูตาดีกาบางโรงเรียนก็มีความกังวลใจในการเข้ามาของเจ้าหน้าที่เพราะทำให้ชั่วโมงในการเรียนการสอนปกติของโรงเรียนลดลง และกิจกรรมก็ไม่สอดคล้องกับการเรียนการสอนเดิม บางโรงเรียนพบว่ากิจกรรมเน้นสนุกสนานและบันเทิงเริงใจ

ในประเด็น 'การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหาร' พบช่วงเวลาที่มาโดยส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่จะมาเวลาประมาณ 8 โมงเช้าคิดเป็นร้อยละ 35 รองลงมาคือเวลา 9 โมง ซึ่งเป็นเวลาที่ครูและนักเรียนกำลังจะเริ่มการเรียนการสอน

"ไม่อยากให้มายุ่งมารบกวน รบกวนเวลาสอน ต้องหยุดสอน"

"เฉยๆ แต่ก็ทำให้เสียเวลาต้องไปต้อนรับและพูดคุย"

ในประเด็น 'การแจ้งชื่อหน่วยงานให้ครูตาดีการับรู้ก่อนทำกิจกรรม' พบว่าการมาทำกิจกรรมของเจ้าหน้าที่ที่ตาดีกามีทั้งที่แจ้งมาก่อนล่วงหน้าและไม่แจ้งข้อมูลมาก่อนเลยในสัดส่วนที่เท่ากันคือ ร้อยละ 41 โดยส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารที่ทำงานในพื้นที่

ในประเด็น 'จำนวนครั้งที่มา' พบว่าเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาทำกิจกรรมในโรงเรียนโดยส่วนใหญ่จะมา 2-3 ครั้งต่อเดือนคิดเป็นร้อยละ 57 รองลงมาคือ 3 ครั้งต่อปี ซึ่งค่อนข้างมีความต่างกันมากในจำนวนครั้งที่มาทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นที่เช่นพื้นที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบบ่อยครั้งหรือไม่มีเหตุการณ์

ครูกลัว อาวุธปืนลั่นหรือเด็กไปจับอาวุธปืนด้วย ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ภาพการพกปืนสั้นของเจ้าหน้าที่ที่มาเยี่ยมโรงเรียนตาดีกาแห่งหนึ่ง ที่มีการระบุว่านำภาพนี้มาจากโซเชียลมีเดียเมื่อช่วงปี 2562  | ที่มาภาพ: รายงานการศึกษาโรงเรียนปลอดภัยเพื่อทุกคน Safe School for All

ภาพการพกปืนยาวของเจ้าหน้าที่ที่มาเยี่ยมโรงเรียนแห่งหนึ่ง | ที่มาภาพ: เว็บไซต์มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

ในประเด็น 'การแต่งกาย' ผู้ให้ข้อมูลระบุเหมือนกันทุกโรงเรียนคือเจ้าหน้าที่จะมาในชุดเครื่องแบบคือแต่งกายด้วยชุดทหาร 'สีดำ' หรือ 'สีเขียว' และบางกรณี สีเขียวหมวกแดงและ 'พกพาอาวุธ' มาด้วยทุกครั้ง อาวุธที่นำมาด้วยมีทั้งปืนสั้นและปืนยาวการที่เจ้าหน้าที่พกอาวุธมาด้วยระหว่างการทำกิจกรรมกับเด็ก ทำให้เด็กอยู่ในระยะใกล้กับปืนซึ่งทำให้ครูกลัวอาวุธปืนลั่นหรือเด็กไปจับอาวุธปืนด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ประเด็น 'การแจ้งให้โรงเรียนทราบก่อนเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาทำกิจกรรม' พบว่าเจ้าหน้าที่ทหารที่มาโดยส่วนใหญ่จะไม่แจ้งให้ครูหรือผู้ดูแลโรงเรียนทราบล่วงหน้า ถึงแม้ว่าจะมีการให้เบอร์โทรศัพท์เพื่อการติดต่อประสานงานแล้วก็ตาม จากข้อมูลพบว่าเจ้าหน้าที่ทหารไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าคิดเป็นร้อยละ 82 ในขณะที่บางโรงเรียนมีการแจ้งล่วงหน้าคิดเป็นร้อยละ ร้อยละ 12

"เขาไม่เคยแจ้งให้เราหรือผู้ใหญ่บ้านทราบก่อนว่าจะมา เบอร์โทรศัพท์เราเขาก็มีแล้วทำไมไม่โทรมา เจ้าหน้าที่ที่มาก็เป็นทหารในพื้นที่นี่เอง"

ส่วน 'การแจ้งวัตถุประสงค์ในการมาโรงเรียน' ในการมาโรงเรียนตาดีกา เจ้าหน้าที่ทหารจะแจ้งวัตถุประสงค์ในการมาโรงเรียนร้อยละ 50 และไม่แจ้งให้ทราบร้อยละ 31 การแจ้งนั้นเจ้าหน้าที่ระบุว่ามาเยี่ยม มาพูดคุยมาบำเพ็ญประโยชน์ หรือนายสั่ง แต่ในการทำกิจกรรมจริงกลับพบว่าไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้เช่นแจ้งว่ามาเยี่ยมแต่ไม่ได้มีของมาให้ และมีการถ่ายรูปนักเรียน ครู และบัตรประชาชนครูเป็นต้น

"มาเยี่ยมเยียน นายสั่ง"

"มาเยี่ยมทำความรู้จักกับครูและหน่วยเหนือสั่งมา"

ในประเด็น 'จำนวนเจ้าหน้าที่ทหารที่มาในโรงเรียนตาดีกา' เจ้าหน้าที่ทหารที่มาทำกิจกรรมในโรงเรียนตาดีกามาด้วยรถปิกอัพบ้างและรถที่มีลักษณะบ่งบอกว่าเป็นรถทหาร และโดยส่วนใหญ่จำนวนของเจ้าหน้าที่ที่มาโรงเรียนตาดีกา  3-5 คน คิดเป็นร้อยละ 44 รองลงมาคือมาครั้งละ 6-7 คน คิดเป็นร้อยละ 39

"บางครั้งเจ้าหน้าที่มาด้วยรถนาวารา ที่มีโครงใหญ่ๆ อยู่บนรถดูเหมือนจะไปรบ"

ประเด็น 'ระยะเวลาที่ทหารมาทำกิจกรรมในโรงเรียน' พบว่าเจ้าหน้าที่จะใช้เวลาส่วนใหญ่ในโรงเรียนตาดีกา 30 นาทีคิดเป็นร้อยละ 53 และ 1-2 ชั่วโมง คิดเป็นร้อยละ 41 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการเรียนการสอนแต่ครูและนักเรียนจะต้องมาต้อนรับเจ้าหน้าที่ที่มาในโรงเรียน

ในประเด็น 'การทำกิจกรรมของเจ้าหน้าที่ทหารในโรงเรียนตาดีกา' พบว่าเจ้าหน้าที่ทหารที่มาจะมาทำกิจกรรมดังนี้ กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ตามที่แจ้ง 1.มาเยี่ยม พบปะเด็กๆ เล่นกับเด็ก และมาคุย สอบถามสารทุกข์สุกดิบ 2. นำพระบรมฉายาลักษณ์ ธงชาติ ฟุตบอล ขนม มาแจกให้  3. ตัดผมเด็ก และ 4. สอนเด็กเรื่องภัยยาเสพติด

กิจกรรมที่ไม่ได้แจ้งไว้ 1. มาถ่ายรูปกับเด็กๆ และครูทุกคนในโรงเรียน การถ่ายรูปภาพรวม ถ่ายรูปตอนกำลังเรียนกำลังสอน และมีการสั่งให้ถ่ายรูปด้วยท่าทางที่เจ้าหน้าที่ต้องการให้แสดง 2. ให้ส่งรายชื่อครูกี่คนเด็กกี่คน ข้อมูล ประวัติของครู และ 3. มีการถ่ายรูปบัตรประชาชนครู ถ่ายรูปหน้าเด็ก ถ่ายรูปครูแบบกลุ่ม

"มาคุย มาถามสารทุกข์สุกดิบ นำรูปและฟุตบอลมาแจก บางครั้งมีขนม มีการถ่ายรูปบัตรประชาชนครู ถ่ายรูปหน้าเด็ก ถ่ายรูปครูแบบกลุ่มทำให้เรากังวล"

"รู้สึกกลัวจะโดนจับเฉพาะครูผู้ชาย เสียเวลาในการสอน กลัวการที่มีอาวุธในโรงเรียน เด็กมีความเสี่ยงเพราะไปใกล้อาวุธ"

ผลกระทบต่อการเรียนการสอน

ในรายงานชิ้นนี้ ยังระบุว่าการมาของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งมาในช่วงเช้าที่ทางโรงเรียนเริ่มมีการเรียนการสอนเกิดขึ้นแล้วทำให้ครู เด็กนักเรียนต้องมาต้อนรับและทำกิจกรรมตามที่เจ้าหน้าที่ทหารให้ทำซึ่งทำให้เวลาในการเรียนลดลง นอกจากนี้ก็เกิดความวุ่นวายจากการที่สิ่งของที่เจ้าหน้าที่ทหารนำมาให้ไม่เพียงพอกับจำนวนเด็กที่มีและทำให้เด็กขาดสมาธิในการเรียน

ในด้าน 'ผลกระทบต่อครู' ครูมีความกังวลเรื่องการถูกกล่าวหาและการพูดจาข่มขู่โดยเฉพาะครูผู้ชาย ทั้งนี้ในระหว่างการทำกิจกรรมทหารก็ได้ให้ทำท่าทางตามที่ต้องการโดยไม่ได้คำนึงถึงความรู้สึกของครูและเด็กในขณะนั้นแต่ด้วยความจำยอมเนื่องจากอาวุธที่เจ้าหน้าที่พกมาและอำนาจของกฎหมาย ครูไม่สามารถแสดงความเห็นได้ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกันการถ่ายรูปหน้าตรง ภาพรวมหมู่ การถ่ายรูปบัตรประชาชน และข้อมูลของเด็ก ครูและโรงเรียน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ทางโรงเรียนได้มีการส่งให้กับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) นอกจากนี้ครูยังรู้สึกว่าการมาของทหารและกิจกรรมที่ทำไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับเด็กๆ ใดๆ ยกเว้น ‘กิจกรรมการตัดผมให้เด็ก’ ซึ่งก็ควรเป็นกิจกรรมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนที่ไม่ติดอาวุธน่าจะเหมาะสมกว่า

"เบื่อ หงุดหงิด เสียเวลา ทหารบังคับให้ครูยิ้ม เด็กยิ้ม ให้ทำท่าตามที่ทหารบอก"

"ไม่สบายใจ ไม่อยากให้มายุ่งมารบกวน รบกวนเวลาสอน ต้องหยุดสอน"

"กลัวการที่มีอาวุธในโรงเรียน เด็กมีความเสี่ยงเพราะไปใกล้อาวุธ"

"ไม่อยากให้มาเพราะรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่มองเราในทางไม่ดี ในทางที่ผิดต่อความมั่นคง กลัวว่าจะเอาข้อมูลไปใช้ในทางคดีความมั่นคง"

"เสียเวลากับแผนการสอนที่วางไว้ เอาจริงๆ คือรำคาญไม่อยากให้มาเลยบางทีการพูดไม่เพราะใช้คำไม่สุภาพพูดจากกับครู ถ้ามาในช่วงที่พักเที่ยงไม่เป็นไรแต่มาช่วงเรียนทำให้เด็กต้องออกข้างนอก มามุงดูทำให้วุ่นวายและเสียเวลาในการเรียนการสอน"

ส่วนในประเด็น 'ผลกระทบต่อนักเรียน' ในกรณีของนักเรียนจากข้อมูลที่ได้รับจากครูพบว่าเด็กจะแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ เด็กเล็ก เด็กเล็ก 3-5 ปี จะสนุกที่เจ้าหน้าที่มาแจกของ ขนม ทำกิจกรรม ตัดผม เมื่อเจ้าหน้าที่มาก็จะเกิดความวุ่นวายและเด็กไม่มีสมาธิในการเรียน ต้องออกมานอกห้องและทำกิจกรรมกับเจ้าหน้าที่ทหาร เด็กกลุ่มนี้จะเข้าไปใกล้ปืนเพราะอยากดูใกล้ๆหรือเข้าไปใกล้เจ้าหน้าที่เพราะต้องการขนมและทำให้เข้าไปใกล้ปืนที่เจ้าหน้าที่นำติดตัวมาด้วย

เด็กโต เด็กที่มีอายุ 6-12 ปี ซึ่งเป็นเด็กที่รับรู้ข่าวสารและมีการติดตามสถานการณ์บ้างจึงมีคำถามถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทหาร เด็กกลุ่มนี้จะชาชินและเฉยเมยกับการมาของเจ้าหน้าที่ บางคนก็รู้สึกกลัวการมาของเจ้าหน้าที่ทหารและไม่เข้าไปใกล้

"รู้สึกกลัวจะโดนจับเฉพาะครูผู้ชาย เสียเวลาในการสอน กลัวการที่มีอาวุธในโรงเรียน เด็กมีความเสี่ยงเพราะไปใกล้อาวุธ"

"วิ่งไปหา เด็กเล็กชอบวิ่งสนุกสนาน เด็กโตไม่ค่อยสนใจ"

"เด็กไม่กลัวแต่ไม่ไปหาทหารและไม่ตัดผม ทำให้ครูต้องขอความร่วมมือกับเด็ก"

สะท้อนรัฐยังระแวงครูชักจูงเด็กร่วมกองกำลังติดอาวุธ - ตั้งข้อสันนิษฐานเป็นปฏิบัติการภายใต้กรอบของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ในรายงานยังระบุว่าการมาโรงเรียนตาดีกาของเจ้าหน้าที่ทหารมีเป้าหมายคือการต้องการข้อมูลครูตาดีกา เพราะมีความเชื่อว่าครูตาดีกาคือครูที่ชักจูงเด็กให้เข้าร่วมกองกำลังติดอาวุธในระหว่างการสอนตาดีกา จึงทำให้ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งให้ติดตาม ตรวจสอบและให้เปลี่ยนความคิดของเด็ก

รายงานชิ้นนี้ได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่าเป็นไปได้อย่างยิ่งที่ปฏิบัติการเหล่านี้ตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลไทยที่อยู่ภายใต้กรอบของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งหมายจะสลายแนวคิดของฝ่ายตรงกันข้ามผ่านกิจกรรมต่างๆ ในโครงการส่งเสริมและเผยแพร่ความจริงที่ถูกต้อง ซึ่งระบุเอาไว้ใน 'แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนเพื่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2563'  โดยหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญได้แก่การมุ่งเปลี่ยนความคิดเด็กอายุ 1-5 ขวบ ในช่วงระยะแรกของการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ (จนถึงปี 2565) ในขณะที่รายละเอียดของกิจกรรมนั้นมุ่งสอดส่องพฤติกรรมเด็กผ่านการใช้กลไกของผู้ปกครอง ครูประจำชั้น และผู้นำศาสนา ตลอดจนในระยะยาวแล้วก็มุ่งปรับเปลี่ยนหลักสูตรและครูของโรงเรียนตาดีกาไปตามที่รัฐเห็นสมควร

 

 ดาวน์โหลดรายงาน ‘รายงานการศึกษาโรงเรียนปลอดภัยเพื่อทุกคน Safe School for All’ โดย ‘เครือข่ายปกป้องเด็กจังหวัดชายแดนใต้’ ได้ที่นี่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: