สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 9 มิ.ย. 2563

กองบรรณาธิการ TCIJ 9 มิ.ย. 2563 | อ่านแล้ว 1915 ครั้ง

สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 9 มิ.ย. 2563

เว็บไซต์สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 9 มิ.ย. 2563

9 มิ.ย. 2563 เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

กฎหมาย

                    1.       เรื่อง     ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….     (การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service))
                    2.       เรื่อง     ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ….
                    3.       เรื่อง     ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยกำหนดหลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์และอาคารชุด ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 3 รวม 2 ฉบับ
                    4.       เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีการะเบียบข้าราชการพลเรือนกลาโหม พ.ศ. ….
                    5.       เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา)
                    6.       เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ พ.ศ. ….
                    7.       เรื่อง     ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..)  พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานที่ยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทอำนาจลดและยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนและการขอสำเนาเอกสาร และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการประชุมกรรมการ)
                    8.       เรื่อง     ร่างพระราชกฤษฎีกายกเว้นคุณสมบัติและลักษณะในเรื่องทุนและอำนาจการบริหารกิจการของผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตอากาศยาน ผู้ขอรับใบอนุญาตผลิต     ส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน และผู้ขอรับใบรับรองหน่วยซ่อมประเภทที่หนึ่ง พ.ศ. ....
                    9.       เรื่อง     ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบูรณาการเพื่อพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม พ.ศ. ....
                    10.      เรื่อง     ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้เหรียญตัวเปล่าโลหะเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. ....
                    11.      เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับการประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. ....

เศรษฐกิจ - สังคม

                    12.      เรื่อง     การจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (National Energy Technology Center : ENTEC)
                    13.      เรื่อง     ของดการจัดสรรเงินส่งเข้ากองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527
                    14.      เรื่อง     การติดตามการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2562/63
                    15.      เรื่อง     สรุปมติที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ครั้งที่ 1/2563 
                    16.      เรื่อง     มาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย
                    17.      เรื่อง     รายงานผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้ง ปี 2562/63 และการเตรียมความพร้อมรองรับฤดูฝน ปี 2563
                    18.      เรื่อง     ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรณีศึกษา กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
                    19.      เรื่อง     รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home)  และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 4
                    20.      เรื่อง     รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ
                    21.      เรื่อง     โครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตฤดูการผลิตปี 2562/2563

ต่างประเทศ

 
                    22.      เรื่อง     การแต่งตั้งหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทยการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (ASEAN Ministerial Meeting on Transnational      Crime: AMMTC) และการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานด้านอาชญากรรมข้ามชาติ
                    23.      เรื่อง     การขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาว่าด้วยการบรรเทาผลกระทบของโควิด-19  ต่อ  กลุ่มเปราะบางในอาเซียน (Joint Statement of the ASEAN Ministerial  Meeting on Social Welfare and Development on Mitigating Impacts of COVID-19 on Vulnerable Groups in ASEAN)
 

แต่งตั้ง

                    24.      เรื่อง     การแต่งตั้งผู้ไปปฏิบัติงานตามมติคณะรัฐมนตรีกลับเข้ารับราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงยุติธรรม)
                    25.      เรื่อง     การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงอุตสาหกรรม)
                    26.      เรื่อง     การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
                    27.      เรื่อง     การแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการธนาคารออมสิน
 

*******************
สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 
 
 
 
 
 

กฎหมาย

1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service))
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….  ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
                   ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่กระทรวงการคลังเสนอ คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติหลักการ (มติคณะรัฐมนตรี 17 กรกฎาคม 2561) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว เป็นการแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร ซึ่งประกอบกิจการให้บริการโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามประมวลรัษฎากร โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศแก่ผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในประเทศ หากผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศมีรายรับจากการให้บริการดังกล่าวเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และให้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับกรณีผู้ประกอบการต่างประเทศได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้รับบริการในประเทศไทยผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศ กำหนดให้รายได้ที่ได้รับจากการให้บริการนั้นเป็นฐานภาษีมูลค่าเพิ่มของดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศ ซึ่งหากดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และให้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ เพื่อป็นการสนับสนุนให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เกิดความเหมาะสมและส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ
                   สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ  
                   1. แก้ไขเพิ่มเติมให้การดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานหรือหนังสืออื่นใดตามประมวลรัษฎากรสามารถดำเนินการด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้  
                   2. แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “สินค้า” และเพิ่มบทนิยามคำว่า “บริการทางอิเล็กทรอนิกส์” และคำว่า “อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม”  
                   3. แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศแก่ผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน โดยคำนวณจากภาษีขายโดยไม่ให้หักภาษีซื้อ และกำหนดให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ 
                   4. แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่ของผู้จ่ายเงินในการนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม และหน้าที่ของผู้ประกอบการในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศแก่ผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน
                   5. กำหนดให้การดำเนินการทางทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกระทำโดยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ 
                   6. กำหนดห้ามมิให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศออกใบกำกับภาษี
 
2. เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนา เขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย 
                   สศช. เสนอว่า ตามที่คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563 มีมติให้ความเห็นชอบกรอบแนวคิดการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 4 พื้นที่ ได้แก่ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง-ภาคตะวันตก เพื่อเป็นพื้นที่การพัฒนาเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมาย และมอบหมายให้ สศช. จัดทำร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. …. โดยแก้ไขปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารการพัฒนาพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. 2558 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563 แล้ว ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจและมติคณะรัฐมนตรี (21 พฤษภาคม 2556 และ 4 กุมภาพันธ์ 2563) สศช. จึงได้ยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้ขึ้น ซึ่งร่างระเบียบในเรื่องนี้จะเป็นกลไกในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ในการบริหารจัดการ กำกับติดตาม และสนับสนุนการดำเนินงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง อันจะทำให้การบริหารจัดการและขับเคลื่อนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษทั้งหมดอย่างบูรณาการ มีประสิทธิภาพและต่อเนื่องทั้งพื้นที่ที่ดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน และพื้นที่ที่มีศักยภาพเพิ่มเติมจึงได้เสนอร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. …. มาเพื่อดำเนินการ
                   สาระสำคัญของร่างระเบียบ 
                   1. กำหนดบทนิยามคำว่า “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” หมายถึง พื้นที่ดังต่อไปนี้ 
                             1.1 พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง ได้แก่  
                                      (1) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี 
                                      (2) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย
                                      (3) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก
                                      (4) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด
                                      (5) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม
                                      (6) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาส
                                      (7) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร
                                      (8) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา
                                      (9) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว
                                      (10) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย 
                             1.2 พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC)
                             1.3 พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC – Creative LANNA)
                             1.4 พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor : NeEC - Bioeconomy) 
                             1.5 พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง - ภาคตะวันตก (Central-Western Economic Corridor : CWEC)
และบริเวณพื้นที่อื่นใดที่กำหนดเพิ่มเติมโดยคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และให้ถือว่าเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ที่ดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบันสามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยให้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ นี้ไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวก่อนวันที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ นี้ใช้บังคับ  
                   2. กำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ” เรียกโดยย่อว่า “ กพศ.” มีอำนาจหน้าที่หลักในการกำหนดนโยบายแนวทางการดำเนินงานและการบริหารการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบด้วย 
                             2.1 นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน 
                             2.2 รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ
                             2.3 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่า การกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นกรรมการ 
                             2.4 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการ 
                             2.5 ประธานกรรมการหอการค้าไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นกรรมการ  
                             2.6 ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง จำนวนไม่เกินสามคนเป็นกรรมการ 
                             ให้เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ได้รับมอบหมายหนึ่งคน และเจ้าหน้าที่ สศช. ที่ได้รับมอบหมายหนึ่งคน เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ  
                             ให้ สศช. ทำหน้าที่เลขานุการของ กพศ. รับผิดชอบในด้านวิชาการและธุรการ ตลอดจนอำนวยการในการปฏิบัติหน้าที่ของ กพศ. และปฏิบัติการอื่นตามที่ กพศ. มอบหมาย
 
3. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยกำหนดหลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์และอาคารชุด ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 3 รวม 2 ฉบับ
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีการควบรวมกิจการของธนาคารพาณิชย์ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 3 ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด กรณีการควบรวมกิจการของธนาคารพาณิชย์ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 3 ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ มท. รับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                   ทั้งนี้ มท. เสนอว่า กรมที่ดินได้ดำเนินการยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย รวม 2 ฉบับ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนและค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์และอาคารชุดให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 แล้ว โดยเชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมสรรพากร กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะด้วยแล้ว 
                   กระทรวงการคลัง (กค.) ได้รายงานการดำเนินการตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ว่า การเสนอร่างประกาศ รวม 2 ฉบับ ตามมาตรการเพื่อสนับสนุนการควบรวมธนาคารพาณิชย์ไทยที่ กค. เสนอ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (17 เมษายน 2561) เห็นชอบนั้น จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษีสรรพากรประมาณ 600 – 1,400 ล้านบาท แต่จะถูกชดเชยด้วยการขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่วนมาตรการภาษีเพื่อขจัดอุปสรรคของการควบรวมกิจการธนาคารพาณิชย์ไทยนั้น หากถือว่าการควบรวมกิจการเป็นการดำเนินกิจการต่อเนื่อง อาจถือได้ว่าไม่ได้ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษีแต่อย่างใด
จึงได้เสนอร่างประกาศฯ รวม 2 ฉบับ มาเพื่อดำเนินการ
 
                   สาระสำคัญของร่างประกาศฯ
                   1. ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีการควบรวมกิจการของธนาคารพาณิชย์ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 3 ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด เป็นการกำหนดให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์กรณีที่มีทุนทรัพย์ ในอัตราร้อยละศูนย์จุดศูนย์หนึ่ง สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่ควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนให้แก่กัน ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 
                   2. ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด กรณีการควบรวมกิจการของธนาคารพาณิชย์ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 3 ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด เป็นการกำหนดให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองห้องชุดกรณีที่มีทุนทรัพย์ ในอัตราร้อยละศูนย์จุดศูนย์หนึ่ง สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่ควบเข้ากัน หรือโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนให้แก่กัน ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
 
4. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีการะเบียบข้าราชการพลเรือนกลาโหม พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดังนี้ 
                   1. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีการะเบียบข้าราชการพลเรือนกลาโหม พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้  
                   2. ให้กระทรวงกลาโหมรับความเห็นของสำนักงบประมาณ และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย  
                   3. ให้กระทรวงกลาโหมเร่งรัดการเสนอร่างพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่น ๆ ของข้าราชการพลเรือนกลาโหม พ.ศ. …. ต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
                   สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
                   1. กำหนดให้มีคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนกลาโหม (กขพ.) โดยมีปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน มีหน้าที่เสนอแนะและให้คำปรึกษาในเรื่องที่เกี่ยวกับระเบียบข้าราชการพลเรือนกลาโหมแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือทำการใด ๆ ตามที่ กขพ. มอบหมายได้ 
                   2. กำหนดให้การจัดระเบียบข้าราชการพลเรือนกลาโหมตามพระราชกฤษฎีกานี้ ให้คำนึงถึงระบบคุณธรรม เช่น การรับบุคคลเพื่อบรรจุเข้ารับราชการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต้องคำนึงถึงความรู้ความสามารถของบุคคล ความเสมอภาค ความเป็นธรรม และประโยชน์ของทางราชการ การบริหารจัดการข้าราชการต้องคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพของทางราชการและลักษณะของงานโดยไม่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม 
                    3. กำหนดคุณสมบัติทั่วไปของผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนกลาโหม รวมทั้งเงื่อนไขการพิจารณายกเว้นให้ผู้ที่ขาดคุณสมบัติทั่วไปบางประการเข้ารับราชการได้  
                   4. กำหนดเกี่ยวกับวัน เวลาทำงาน วันหยุดราชการตามประเพณี วันหยุดราชการประจำปี และเครื่องแบบของข้าราชการพลเรือนกลาโหม 
                   5. กำหนดให้ตำแหน่งข้าราชการพลเรือนกลาโหม มีดังนี้ 
                             5.1 ตำแหน่งประเภทบริหาร ได้แก่ ตำแหน่งที่ปฏิบัติงานบริหารราชการในฐานะหัวหน้าส่วนราชการ รองหัวหน้าส่วนราชการ และตำแหน่งอื่นตามที่ กห. กำหนด 
                             5.2 ตำแหน่งประเภทอำนวยการ ได้แก่ ตำแหน่งที่ปฏิบัติงานด้านอำนวยการ ปฏิบัติราชการในฐานะหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดส่วนราชการ รองหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดส่วนราชการซึ่งมิใช่ตำแหน่งตาม 6.1 และตำแหน่งอื่นตามที่ กห. กำหนด 
                             5.3 ตำแหน่งประเภทวิชาการ ได้แก่ ตำแหน่งที่จำเป็นต้องใช้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตามที่ กห. กำหนด เพื่อปฏิบัติงานในหน้าที่ของตำแหน่งนั้น  
                              5.4 ตำแหน่งประเภทการสอนหรือวิจัย ได้แก่ ตำแหน่งที่จำเป็นต้องใช้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตามที่ กห. กำหนด เพื่อปฏิบัติหน้าที่ด้านการสอนหรือวิจัยในสถาบันการศึกษาสังกัด กห.   
                             5.5 ตำแหน่งประเภททั่วไป ได้แก่ ตำแหน่งที่ไม่ใช่ตำแหน่งตาม 5.1 5.2 5.3 และ 5.4 ตามที่ กห. กำหนด 
                   6. กำหนดให้ระดับตำแหน่งข้าราชการพลเรือนกลาโหม มีดังนี้ 
                             6.1 ตำแหน่งประเภทบริหาร มีระดับต้น และสูง 
                             6.2 ตำแหน่งประเภทอำนวยการ มีระดับต้น และสูง 
                             6.3 ตำแหน่งประเภทวิชาการ มีระดับปฏิบัติการ ชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ และทรงคุณวุฒิ 
                             6.4 ตำแหน่งประเภทการสอนหรือวิจัย มีดังนี้  
                                      1) ประเภทครู (ปฏิบัติหน้าที่ด้านการสอนในสถาบันการศึกษาสังกัด กห.) มีระดับครู ครูชำนาญการ ครูชำนาญการพิเศษ ครูเชี่ยวชาญ และครูเชี่ยวชาญพิเศษ 
                                      2) ประเภทคณาจารย์ (ปฏิบัติหน้าที่ด้านการสอนหรือวิจัยในสถาบันการศึกษาสังกัด กห. ที่ให้การศึกษาหรือจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาระดับปริญญา) มีระดับอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์             รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์) 
                             6.5 ตำแหน่งประเภททั่วไป มีระดับปฏิบัติงาน ชำนาญงาน อาวุโส และทักษะพิเศษ
                   7. กำหนดให้ตำแหน่งข้าราชการพลเรือนกลาโหม จะมีในส่วนราชการใด จำนวนเท่าใด และเป็นตำแหน่งประเภทใด สายงานใด ระดับใด ให้เป็นไปตามที่ กห. กำหนด และให้ กห. จัดทำมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง โดยจำแนกตำแหน่งเป็นประเภทและสายงานตามลักษณะงาน และจัดตำแหน่งในประเภทเดียวกันและสายงานเดียวกันที่คุณภาพของงานเท่ากันโดยประมาณเป็นระดับเดียวกัน ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงลักษณะหน้าที่ความรับผิดชอบหลักและคุณภาพของงาน  
                   8. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการสรรหาเพื่อให้ได้บุคคลมาบรรจุเข้ารับราชการ การสอบแข่งขัน การบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ การทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่ง การย้าย การโอน การนับเวลาราชการ การให้ได้รับเงินเดือน การแต่งตั้ง การเลื่อนเงินเดือน การดำเนินการทางวินัย การออกจากราชการ และการให้พ้นจากตำแหน่งราชการของข้าราชการพลเรือนกลาโหม  
                   9. กำหนดเกี่ยวกับการเพิ่มพูนประสิทธิภาพและการเสริมสร้างแรงจูงใจ เช่น ส่วนราชการมีหน้าที่ดำเนินการให้มีการเพิ่มพูนประสิทธิภาพและเสริมสร้างแรงจูงใจแก่ข้าราชการ ผู้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติตนต่อผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างมีคุณธรรมและเที่ยงธรรม และเสริมสร้างแรงจูงใจให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาดำรงตนเป็นข้าราชการที่ดี ข้าราชการผู้ใดประพฤติตนอยู่ในจริยธรรมและปฏิบัติราชการอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนให้ตามสมควรแก่กรณี เป็นต้น  
                   10. กำหนดเกี่ยวกับการบังคับบัญชา ข้อปฏิบัติและข้อห้าม วินัย การรักษาวินัย ผู้กระทำผิดวินัย ความผิดวินัยอย่างร้ายแรง โทษทางวินัยและเหตุอันควรงดโทษ การดำเนินการทางวินัย การลงโทษ ผู้มีอำนาจในการสั่งลงโทษ การอุทธรณ์และการร้องทุกข์ ของข้าราชการพลเรือนกลาโหม 
                   11. กำหนดเกี่ยวกับการออกจากราชการ การรับราชการต่อเมื่ออายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ การสั่งให้ออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทน และการสั่งให้ออกจากราชการเพื่อไปรับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหารของข้าราชการพลเรือนกลาโหม 
                   12. กำหนดให้ในระหว่างที่ยังมิได้ดำเนินการให้มีการบรรจุบุคคลเข้ารับราชการในตำแหน่งอัตราข้าราชการพลเรือนกลาโหม ให้ข้าราชการทหารที่รับราชการอยู่ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับให้คงอยู่รับราชการในฐานะข้าราชการทหารเช่นเดิม โดยให้สามารถดำรงตำแหน่งอัตราข้าราชการพลเรือนกลาโหมไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการบรรจุหรือแต่งตั้งบรรจุบุคคลเข้ารับราชการหรือดำรงตำแหน่งอัตราข้าราชการพลเรือนกลาโหมนั้น
 
5. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดังนี้
                   1. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รวมพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้กับร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ที่เป็นเรื่องทำนองเดียวกันซึ่งอยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาให้เป็นฉบับเดียวกัน แล้วดำเนินการต่อไปได้  
                   2. ให้หน่วยงานของรัฐที่ประสงค์จะให้ตราร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้เสนอเรื่องไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีภายในเดือนมิถุนายน 2563 เพื่อให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้ไปในคราวเดียวกัน
                   กสศ. เสนอว่า 
                   1. พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 มาตรา 5 และมาตรา 8 บัญญัติให้จัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยให้กองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐและมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น และปัจจุบัน กสศ. ยังไม่ได้รับการกำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539  
                   2. โดยที่พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 บัญญัติให้ “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น และมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานอื่นของรัฐที่พระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย  
                   3. ดังนั้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของ กสศ. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 สมควรกำหนดให้ กสศ. เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของ กสศ. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าว
จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มาเพื่อดำเนินการ
                   สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
                   กำหนดให้ กสศ. เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของ กสศ. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
                   ทั้งนี้ ปัจจุบันได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว จำนวน 64 แห่ง และอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก การเสนอมาในครั้งนี้จึงเป็นลำดับที่ 68
 
6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ พ.ศ. ….
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงพลังงานรับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป 
                   พน. เสนอว่า 
                   1. ได้มีกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการแจ้งการอนุญาตและอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2556 ข้อ 44 กำหนดให้ระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อเป็นกิจการควบคุมที่ต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตก่อนจึงจะประกอบการได้ ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ประกอบกับกฎกระทรวงระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ พ.ศ. 2556 ข้อ 2 ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าวข้างต้นได้กำหนดให้ “ก๊าซธรรมชาติ” หมายความว่า ก๊าซปิโตรเลียมที่ประกอบด้วยมีเทนเป็นส่วนใหญ่และอยู่ในสถานะไอก๊าซ และ “ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ” ไม่รวมถึงท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในพื้นที่นอกชายฝั่งทะเลจนถึงสถานีแรกบนฝั่ง 
                   2. โดยที่ปัจจุบันมีการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อที่อยู่ในสถานะของเหลวรวมอยู่ด้วย ประกอบกับพระราชบัญญัติดังกล่าวตามข้อ 1. ได้แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “น้ำมันเชื้อเพลิง” หมายความว่า ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันดิบ ฯลฯ ดังนั้น เพื่อให้มีการกำกับดูแลท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่อยู่นอกชายฝั่งทะเลจนถึงสถานีแรกบนฝั่ง และการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อที่อยู่ในสถานะของเหลว ซึ่งจะทำให้เกิดความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการประกอบกิจการในปัจจุบัน ตลอดจนสอดคล้องกับมาตรฐานสากล จึงสมควรปรับปรุงกฎกระทรวงระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ พ.ศ. 2556 เพื่อให้ครอบคลุมถึงการประกอบกิจการทั้งท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกและท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเล รวมถึงท่อส่งก๊าซธรรมชาติเหลว ทั้งนี้ ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงตามพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 ด้วยแล้ว
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ พ.ศ. …. มาเพื่อดำเนินการ 
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 
                   1. กำหนดให้ “ก๊าซธรรมชาติ” หมายความว่า ก๊าซปิโตรเลียมที่ประกอบด้วยมีเทนเป็นส่วนใหญ่ 
                   2. กำหนดให้ “ระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ” หมายความว่า ระบบที่เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายก๊าซธรรมชาติผ่านท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก หรือท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเลจากต้นทางไปยังปลายทาง ซึ่งประกอบด้วย สถานี ท่อ อุปกรณ์ หรือเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการขนส่งก๊าซธรรมชาติ 
                   3. กำหนดให้ระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อต้องได้รับการเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและจัดทำรายงานการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน แก้ไข ลด ติดตาม และตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ระบุไว้ในรายงานด้านสิ่งแวดล้อม  
                   4. กำหนดให้ระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อที่ไม่ถือเป็นระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อตามกฎกระทรวงนี้ เช่น พื้นที่พัฒนาร่วม โรงแยกก๊าซธรรมชาติ และโรงผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว เป็นต้น 
                   5. กำหนดให้ระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อต้องมีแผนผังโดยสังเขป แสดงตำแหน่งที่ตั้งของระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ แผนผังบริเวณแสดงแนวท่อ แบบก่อสร้าง ระบบการขนส่ง และรายการคำนวณความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัย  
                   6. กำหนดให้การออกแบบ การก่อสร้าง ติดตั้ง และวัสดุ อุปกรณ์ ของระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางก่อต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่ประกาศโดยสมาคมวิศวกรเครื่องกลแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา มาตรฐานของประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป หรือมาตรฐานอื่นที่อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานเห็นชอบ  
                   7. กำหนดให้สถานีและแท่นประกอบการขนส่งก๊าซธรรมชาติต้องจัดให้มีป้ายห้ามและคำเตือนเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสีและเครื่องหมายเพื่อความปลอดภัย และต้องติดตั้งไว้ในที่ที่เห็นได้ง่าย ได้แก่ ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามจุดไฟและก่อประกายไฟ และห้ามใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ นอกจากนี้ สถานีต้องติดตั้งเครื่องดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้งขนาดบรรจุไม่น้อยกว่า 6.8 กิโลกรัม ที่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือมาตรฐานอื่นที่กรมธุรกิจพลังงานเห็นชอบอย่างน้อยสองเครื่องไว้ ณ บริเวณที่มองเห็นและสามารถนำออกมาใช้ได้โดยง่าย  
                   8. กำหนดให้ผู้ขออนุญาตต้องจัดให้มีการเตรียมการในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินอย่างน้อยต้องมีการจัดทำแผนป้องกันเหตุฉุกเฉินซึ่งครอบคลุมทั้งจากเหตุอันเกิดจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการขนส่ง และจากเหตุอันเกิดจากบุคคลทั่วไป จัดทำแผนระงับเหตุฉุกเฉินและแผนเผชิญเหตุฉุกเฉิน และจัดทำป้ายขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อประสบเหตุฉุกเฉินสำหรับบุคคลทั่วไปเมื่อมีการก่อสร้างในพื้นที่เขตระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ
 
7. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานที่ยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท อำนาจลดและยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนและการขอสำเนาเอกสาร และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการประชุมกรรมการ)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานที่ยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท อำนาจลดและยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนและการขอสำเนาเอกสาร และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการประชุมกรรมการ) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
                   พณ. เสนอว่า
                   1. พณ. ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วขอยืนยันให้ดำเนินการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อไป
                   2. ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีดังนี้
                       2.1 ผลกระทบเชิงลบ กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้บริษัทต้องปฏิบัติ เช่น ในกรณีแก้ไขร่างมาตรา 1099 ซึ่งเป็นการลดระยะเวลาให้หนังสือบริคณห์สนธิสิ้นผลหากมิได้จดทะเบียนบริษัท ภายใน 10 ปี เป็น 3 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิจึงอาจเป็นการจำกัดระยะเวลาการใช้สิทธิของผู้เริ่มก่อการในการใช้ชื่อบริษัทที่ได้มีการจดทะเบียนไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิ แต่ พณ. มีมาตรการป้องกัน แก้ไข คุ้มครอง หรือเยียวยา ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบในเรื่องดังกล่าว โดยได้เพิ่มบทเฉพาะกาลเพื่อให้หนังสือบริคณห์สนธิที่สิ้นผลไปโดยผลของการแก้ไขร่างมาตรา 1099 ยังสามารถนำมาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทได้ภายใน 180 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ
                       2.2 ผลกระทบเชิงบวก กฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความคล่องตัว สะดวก และช่วยลดต้นทุนในการดำเนินการทางธุรกิจ เพิ่มช่องทางให้บริษัทจำกัดสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงาน และลดภาระที่ไม่จำเป็นแก่ประชาชน อันเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจสามารถจัดตั้งธุรกิจได้ง่ายขึ้น มีบทคุ้มครองนักลงทุนรายย่อยที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล และมีมาตรการคุ้มครองผู้ถือหุ้น รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามาดำเนินธุรกิจในรูปแบบบริษัทง่ายขึ้น ซึ่งเป็นการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการประกอบธุรกิจและสอดคล้องกับตัวชี้วัดของธนาคารโลก (World Bank) ซึ่งจะส่งผลดีต่อการประเมินของประเทศไทยในการจัดอันดับความยาก-ง่าย ในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) โดยจะทำให้มีการพัฒนาและยกระดับความสามารถในการแข่งขันขององค์กรธุรกิจให้ทัดเทียมนานาประเทศ
                   3. สำหรับการรับฟังความคิดเห็นนั้นได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยการจัดประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th โทรสารหมายเลข 0 2547 4472 และไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ dbd.legal@gmail.com จำนวน 1 ครั้ง ระหว่างวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 ถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2560 รวมทั้งได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ให้ประชาชนได้รับทราบด้วยแล้ว
จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานที่ยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท อำนาจลดและยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนและการขอสำเนาเอกสาร และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการประชุมกรรมการ) มาเพื่อดำเนินการ
                   สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
                   1. กำหนดให้การยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทสามารถยื่น ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแห่งใดก็ได้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
                   2. กำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน การขอตรวจเอกสาร การขอสำเนาเอกสารพร้อมคำรับรอง และค่าธรรมเนียมอื่นที่เกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนและบริษัท
                   3. กำหนดให้หนังสือบริคณห์สนธิที่จดทะเบียนไว้สิ้นผลลง หากมิได้ดำเนินการจดทะเบียนภายในสามปี
                   4. กำหนดให้มีการประทับตราบริษัทในใบหุ้นทุกใบเฉพาะกรณีที่บริษัทมีตราประทับ
                   5. กำหนดให้การประชุมกรรมการอาจดำเนินการโดยการติดต่อสื่อสารด้วยเทคโนโลยีอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งทำให้กรรมการไม่จำเป็นต้องปรากฏตัวในที่ประชุมก็ได้ เว้นแต่ข้อบังคับของบริษัทจะกำหนดห้ามไว้ โดยการประชุมดังกล่าวต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง และให้ถือว่ากรรมการซึ่งใช้การติดต่อสื่อสารนั้นได้เข้าร่วมประชุมกรรมการ และให้นับเป็นองค์ประชุมและมีสิทธิออกเสียงในการประชุมด้วย
                   6. กำหนดวิธีการบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นโดยให้ส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้น เว้นแต่บริษัทมีหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือที่ต้องโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ด้วย
                   7. กำหนดบทเฉพาะกาลรองรับกรณีที่มีการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและเมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่มีการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิดังกล่าวถึงวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแล้ว มีระยะเวลาเกินสามปี แต่ยังมิได้จดทะเบียนบริษัท ให้สามารถดำเนินการจดทะเบียนบริษัทได้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ
 
8. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกายกเว้นคุณสมบัติและลักษณะในเรื่องทุนและอำนาจการบริหารกิจการของผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตอากาศยาน ผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน และผู้ขอรับใบรับรองหน่วยซ่อมประเภทที่หนึ่ง พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกายกเว้นคุณสมบัติและลักษณะในเรื่องทุนและอำนาจการบริหารกิจการของผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตอากาศยาน ผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน และผู้ขอรับใบรับรองหน่วยซ่อมประเภทที่หนึ่ง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของกระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                   คค. เสนอว่า
                   1. โดยที่มาตรา 6/2 แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2562 กำหนดว่า เพื่อประโยชน์ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและส่งเสริมการลงทุนเกี่ยวกับการผลิตอากาศยาน การผลิตส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน และการบำรุงรักษาอากาศยานของหน่วยซ่อมประเภทที่หนึ่ง สำหรับอากาศยานที่มีมวลวิ่งขึ้นสูงสุดตั้งแต่ห้าพันเจ็ดร้อยกิโลกรัมขึ้นไป อาจตราพระราชกฤษฎีกายกเว้นคุณสมบัติและลักษณะของผู้ขอรับใบอนุญาตหรือใบรับรองตามมาตรา 41/22 มาตรา 41/33 และมาตรา 41/95 (1) ในส่วนที่เกี่ยวกับทุนจดทะเบียนซึ่งต้องเป็นของผู้มีสัญชาติไทยตามมาตรา 41/23 วรรคหนึ่ง (2) และอำนาจการบริหารกิจการซึ่งต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของบุคคลผู้มีสัญชาติไทยตามมาตรา 41/23 วรรคหนึ่ง (4) โดยจะกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และระยะเวลาของการยกเว้นไว้ด้วยก็ได้
                   2. ดังนั้น จึงเห็นสมควรยกเว้นคุณสมบัติและลักษณะของผู้ขอรับใบอนุญาตหรือใบรับรอง ในส่วนที่เกี่ยวกับทุนจดทะเบียนซึ่งต้องเป็นของผู้มีสัญชาติไทย และอำนาจการบริหารกิจการซึ่งต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของบุคคลผู้มีสัญชาติไทย เพื่อประโยชน์ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและส่งเสริมการลงทุนเกี่ยวกับการผลิตอากาศยาน การผลิตส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานและการบำรุงรักษาอากาศยานของหน่วยซ่อมประเภทที่หนึ่งสำหรับอากาศยานที่มีมวลวิ่งขึ้นสูงสุดตั้งแต่ห้าพันเจ็ดร้อยกิโลกรัมขึ้นไป จึงได้ยกร่างพระราชกฤษฎีกายกเว้นคุณสมบัติและลักษณะในเรื่องทุนและอำนาจการบริหารกิจการของผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตอากาศยาน ผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน และผู้ขอรับใบรับรองหน่วยซ่อมประเภทที่หนึ่ง พ.ศ. .... ขึ้น เพื่อประโยชน์ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและส่งเสริมการลงทุนเกี่ยวกับการผลิตอากาศยาน การผลิตส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน และการบำรุงรักษาอากาศยานของหน่วยซ่อมประเภทที่หนึ่งสำหรับอากาศยานที่มีมวลวิ่งขึ้นสูงสุดตั้งแต่ห้าพันเจ็ดร้อยกิโลกรัมขึ้นไป ทั้งยังส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการบิน สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการพัฒนาระบบคมนาคม อันเป็นอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต (New S-curve) ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติเพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติและเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่คนไทย และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในภาพรวม
จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกายกเว้นคุณสมบัติและลักษณะในเรื่องทุนและอำนาจการบริหารกิจการของผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตอากาศยาน ผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน และผู้ขอรับใบรับรองหน่วยซ่อมประเภทที่หนึ่ง พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
                   สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
                   ยกเว้นคุณสมบัติและลักษณะของผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตอากาศยาน และผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน เช่น ทุนจดทะเบียนต้องเป็นของผู้มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของทุนทั้งหมด และการบริหารกิจการต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้มีสัญชาติไทย ตามมาตรา 41/22 และมาตรา 41/33 และยกเว้นคุณสมบัติและลักษณะของผู้ขอรับใบรับรองหน่วยซ่อมประเภทที่หนึ่ง สำหรับอากาศยานที่มีมวลวิ่งขึ้นสูงสุดตั้งแต่ห้าพันเจ็ดร้อยกิโลกรัมขึ้นไปตามมาตรา 41/95 (1) ในส่วนที่เกี่ยวกับทุนจดทะเบียนซึ่งต้องเป็นของผู้มีสัญชาติไทยตามมาตรา 41/23 วรรคหนึ่ง (2) และอำนาจการบริหารกิจการซึ่งต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของบุคคลผู้มีสัญชาติไทย ตามมาตรา 41/23 วรรคหนึ่ง (4) โดยกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และระยะเวลาของการยกเว้นไว้ ดังนี้
                   1. ผู้ขอรับใบอนุญาตหรือผู้ได้รับใบรับรองนั้นต้อง
                             1.1 เป็นผู้ได้รับการส่งเสริมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุน และ
                             1.2 ประกอบกิจการโดยอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะต้องมีการใช้อุปกรณ์ที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ในการออกแบบ การผลิต การจัดการผลิตภัณฑ์ หรือในการบำรุงรักษาอากาศยานด้วย
                             1.3 จัดให้มีแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากรไทย เสนอมาพร้อมกับการขอรับใบอนุญาตหรือใบรับรองด้วย พร้อมทั้งกำหนดองค์ประกอบขั้นต่ำของแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากรไทย
                   2. กำหนดเงื่อนไขบังคับภายหลังให้ผู้รับใบอนุญาตหรือใบรับรองต้องปฏิบัติตาม ได้แก่
                             2.1 ผู้รับใบอนุญาตหรือใบรับรองต้องดำเนินการตามแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากรไทยตลอดระยะเวลาตามใบอนุญาตหรือใบรับรอง และรายงานการดำเนินการตามแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากรไทยดังกล่าวด้วย
                             2.2 ภายในระยะเวลาห้าปีนับแต่ได้รับใบอนุญาตหรือใบรับรองผู้รับใบอนุญาตหรือผู้รับใบรับรองต้องจัดให้มีการใช้บุคลากรไทยในการประกอบกิจการของตนไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบจนสิ้นอายุใบอนุญาตหรือใบรับรอง แล้วแต่กรณี
                   3. กำหนดให้พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับได้ มีกำหนดสิบปี
 
9. เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบูรณาการเพื่อพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบูรณาการเพื่อพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม พ.ศ. .... ที่คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 ได้ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
                   สาระสำคัญของร่างระเบียบ
                   1. กำหนดให้ในการบูรณาการเพื่อพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม ต้องเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการดำเนินการใด ๆ ที่จะให้เกิดความร่วมมือกันของภาคส่วนต่าง ๆ อันจะเป็นการลดหรือแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมกันจากสถานะ สิทธิ โอกาส และการเข้าถึงด้านต่าง ๆ ไม่ว่าด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม กระบวนการยุติธรรม และด้านอื่นใดที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในสังคม เพื่อให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างยั่งยืนและสมดุล
                   2. กำหนดให้มีคณะกรรมการบูรณาการเพื่อพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม (กบสท.) และกำหนดองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ
                   3. กำหนดให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ทำหน้าที่เลขานุการของ กบสท. รับผิดชอบในงานธุรการและอำนวยการในการปฏิบัติหน้าที่ของ กบสท.
                   4. กำหนดให้หน่วยงานรัฐให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงานของ กบสท.
                   5. กำหนดให้เบี้ยประชุม ค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของ กบสท. และคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน และที่ปรึกษา ที่ กบสท. แต่งตั้งให้เบิกจ่ายตามระเบียบของทางราชการ โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณของ สศช.
 
10. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้เหรียญตัวเปล่าโลหะเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้เหรียญตัวเปล่าโลหะเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมาย และร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วให้ดำเนินการต่อไปได้
                   พณ. เสนอว่า
                   1. กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ขอให้ พณ. ปรับปรุงประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 93) พ.ศ. 2536 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2536 โดยมีเหตุผลว่าเพื่อปรับปรุงบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 93) พ.ศ. 2536 ให้สอดคล้องกับชนิดราคา และชนิดโลหะของเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนที่ใช้ในปัจจุบัน โดยให้เหลือบัญชีเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนเพียงบัญชีเดียว และยกเลิกบัญชีเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 9 ชนิดราคา เนื่องจากขนาด น้ำหนักของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกจะเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม และเหรียญที่ระลึกดังกล่าวมิใช่เงินตรา จึงไม่สามารถชำระหนี้ตามกฎหมายได้ ประกอบกับปัจจุบันชนิดโลหะในการผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน 5 ชนิดราคานั้น ชนิดราคา 5 บาท 1 บาท 50 สตางค์ และ 25 สตางค์ มีการเปลี่ยนแปลงไปตามบัญชีเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนท้ายประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 93) พ.ศ. 2536 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2536 จึงทำให้บัญชีเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนท้ายประกาศดังกล่าวมีผลเฉพาะเหรียญกษาปณ์ชนิดราคา 10 บาท เท่านั้น
                   2. พณ. พิจารณาแล้วจึงได้จัดทำ “ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้เหรียญโลหะตัวเปล่าเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชขอาณาจักร พ.ศ. .... ละบัญชีท้ายร่างประกาศ” และได้ประชุมหารือร่วมกับกรมธนารักษ์และกรมศุลกากร เพื่อพิจารณาร่างประกาศดังกล่าว รวมทั้งสิ้น 3 ครั้ง โดยที่ประชุมเห็นชอบกับร่างประกาศดังกล่าวและบัญชีท้ายร่างประกาศฯ
                   3. ต่อมา พณ. โดยกรมการค้าต่างประเทศได้รับการประสานจากกรมธนารักษ์และกรมศุลกากร ดังนี้
                             3.1 กรมธนารักษ์ขอแก้ไขชื่อสินค้าจากเดิม “เหรียญโลหะตัวเปล่า” เป็น “เหรียญตัวเปล่าโลหะ” เนื่องจากลักษณะของสินค้า คือ เป็นเหรียญที่ยังไม่มีการพิมพ์ลวดลายและทำมาจากโลหะ และแก้ไขการกำหนดลักษณะ ขนาด น้ำหนัก และส่วนผสมของเหรียญตัวเปล่าโลหะให้สอดคล้องกับเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนที่ใช้ในปัจจุบันที่ต้องขออนุญาตนำเข้า 9 ชนิดราคา ได้แก่ 10 บาท 5 บาท 2 บาท 1 บาท 50 สตางค์ 25 สตางค์ 10 สตางค์ 5 สตางค์ และ 1 สตางค์ และใช้คำว่า “ประมาณ” สำหรับขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางและน้ำหนักของเหรียญตัวเปล่าโลหะทุกชนิด
                             3.2 กรมศุลกากรกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรและรหัสสถิติของเหรียญตัวเปล่าโลหะ 9 ชนิดราคาตามข้อมูลของกรมธนารักษ์ตามข้อ 3.1 โดยจัดประเภทของเหรียญตัวเปล่าโลหะให้อยู่ในรายการอื่น ๆ ที่ทำด้วยโลหะ เพื่อจำแนกเหรียญตัวเปล่าโลหะออกจากของอื่น ๆ ที่ทำด้วยโลหะในรอบการปรับปรุงแก้ไขพิกัดอัตราศุลกากรฮาร์โมไนซ์ ฉบับปี 2022 (พ.ศ. 2565)
                   4. พณ. โดยกรมการค้าต่างประเทศจึงได้ปรับปรุงร่างประกาศตามข้อ 2 ให้สอดคล้องกับความเห็นของกรมธนารักษ์และกรมศุลกากรตามข้อ 3 เป็น “ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้เหรียญตัวเปล่าโลหะเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. .... และบัญชีท้ายร่างประกาศฯ” และแก้ไขการกำหนดลักษณะ ขนาด น้ำหนัก และส่วนผสมของเหรียญตัวเปล่าโลหะให้สอดคล้องกับเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนที่ใช้ในปัจจุบัน โดยกำหนดให้เหรียญตัวเปล่าโลหะที่ใช้ในการผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อยและรหัสสถิติ ดังนี้ 7419.99.99.000 7326.90.99.090 และ 7616.99.90.090 เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตนำเข้า เพื่อป้องกันการปลอมแปลงหรือเลียนแบบเหรียญกษาปณ์
                   5. พณ. โดยกรมการค้าต่างประเทศได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความเห็นต่อร่างประกาศฯ ตามข้อ 4 โดยกรมธนารักษ์ กรมศุลกากร และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเห็นชอบด้วยกับร่างประกาศดังกล่าว และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยไม่มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติม และได้รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องผ่านเว็บไซต์ของกรมการค้าต่างประเทศ (www.dft.go.th) ระหว่างวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ถึงวันที่ 8 มกราคม 2563 โดยไม่มีผู้แสดงความเห็นต่อร่างประกาศดังกล่าว
                   สาระสำคัญของร่างประกาศ
                   1. ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 93) พ.ศ. 2536 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2536
                   2. กำหนดบทนิยามคำว่า “เหรียญตัวเปล่าโลหะ” หมายความว่าเหรียญตัวเปล่าโลหะที่มีลักษณะ ขนาด น้ำหนัก และส่วนผสมตามบัญชีท้ายประกาศ
                   3. กำหนดให้เหรียญตัวเปล่าโลหะเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร
                   4. ในกรณีที่กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เป็นผู้นำเข้าเหรียญตัวเปล่าโลหะไม่ต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักรตามประกาศนี้
 
11. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับการประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับการประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
                   มท. เสนอว่า
                   1. ตามที่ได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมเป็นจำนวนมากไม่สามารถดำเนินกิจการได้ตามปกติ เนื่องจากไม่มีผู้เข้าพักภายในโรงแรม ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (17 มีนาคม 2563) รับทราบข้อสรุปมาตรการและข้อสั่งการเกี่ยวกับ COVID-19 รวมทั้งให้หน่วยงานภาครัฐพิจารณามาตรการในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสดังกล่าว โดยอาจพิจารณาการขยายเวลาหรือผ่อนผันค่าธรรมเนียมตามกฎระเบียบต่าง ๆ ได้
                   2. มท. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อเป็นการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสดังกล่าว และเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวสมควรยกเว้นค่าธรรมเนียมประกอบธุรกิจโรงแรม อันจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่จะต้องชำระค่าธรรมเนียมประกอบธุรกิจโรงแรมในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
                   3. มท. ได้รายงานผลการดำเนินการตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ว่า มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมประกอบธุรกิจโรงแรมจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 31,354,200 บาทต่อปี โดยพิจารณาจากจำนวนห้องพักของโรงแรมประจำปี พ.ศ. 2562 จำนวน 783,855  ห้อง ค่าธรรมเนียมห้องละ 40 บาท แต่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับการประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                   ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมประกอบธุรกิจโรงแรม ปีละ 40 บาทต่อห้องพัก ตามข้อ 1 (7)  แห่งกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม หลักเกณฑ์ และวิธีการชำระค่าธรรมเนียมสำหรับการประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2551 แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม หลักเกณฑ์ และวิธีการชำระค่าธรรมเนียมสำหรับการประกอบธุรกิจโรงแรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565
 

เศรษฐกิจ - สังคม

12. เรื่อง การจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (National Energy Technology Center : ENTEC)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (National Energy Technology Center : ENTEC) เป็นหน่วยงานเฉพาะทางในสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   อว. รายงานว่า
                   1. รัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านพลังงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงาน ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันผ่านการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานเป็นหนึ่งในนโยบายหลักสำคัญ 12 ด้าน ในคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาที่ต้องการขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อมุ่งมั่นให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในศตวรรษที่ 21 ทั้งนี้ หน่วยงานวิจัยด้านพลังงานในประเทศยังอยู่อย่างกระจัดกระจาย โดยส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การดำเนินการของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย ขณะที่รัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนก็มีการทำวิจัยของตนเองเป็นบางส่วน จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยที่มีต่อการสร้างขีดความสามารถทางเทคโนโลยีพลังงานของประเทศ อีกทั้งยังขาดสถาบันวิจัยด้านพลังงานที่มีการวิจัยแบบเต็มเวลาและครอบคลุมในหลายสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ สวทช. จึงได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และได้ข้อสรุปที่ตรงกันในการสนับสนุนให้มีการบูรณาการทรัพยากรต่าง ๆ ภายใต้ สวทช. โดยการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) เป็นหน่วยงานเฉพาะทาง
                   2. คณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (กวทช.) ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 มีมติให้ความเห็นชอบในหลักการการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติเป็นหน่วยงานเฉพาะทางภายใต้ สวทช. โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติตามลำดับ
                   3. ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) จะเป็นศูนย์รวมในการบูรณาการความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานของประเทศและนานาชาติ รวมทั้งเชื่อมโยงงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานที่มุ่งเน้นการต่อยอดไปสู่การใช้งานจริง (Translational Research) สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคอุตสาหกรรมและขยายผลต่อยอดไปสู่การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ โดยอาศัยการทำงานในรูปแบบจตุภาคี (Quadruple Helix) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
                       3.1 โครงสร้างของศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) ประกอบด้วยหน่วยงานย่อย ดังนี้
                             3.1.1 หน่วยวิจัยด้านพลังงาน โดยกำหนดกรอบการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานระยะ 5 ปีแรกใน 5 ด้าน ได้แก่

ด้านกรอบวิจัย รายละเอียด
กลยุทธ์ความเป็นผู้นำด้านงานวิจัย
1. พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาทางด้านพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าและความร้อน รวมทั้งพลังงานหมุนเวียนอื่นที่มีศักยภาพ เช่น พลังงานลมเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยการปรับปรุงคุณภาพเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับการใช้งานในสัดส่วนสูงขึ้น เพื่อลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล ลดปัญหามลพิษ และช่วยพยุงราคาพืชพลังงานในประเทศ พัฒนาเทคโนโลยีต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างคุ้มค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
2. ระบบกักเก็บพลังงาน
(Energy Storage System)
มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาด้านแบตเตอรี่และซุปเปอร์คาปาซิเตอร์1 (Super Capacitor) เพื่อสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมในประเทศ โดยให้ภาคเอกชนไทยมีส่วนร่วมในห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่การผลิตวัสดุตั้งต้น เซลล์ (Cell) แพ็ก (Pack) การนำไปใช้งาน จนถึงการกำจัด
3. พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล (Conventional Energy) มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อผลิตน้ำมันที่มีมาตรฐานสูงขึ้น เช่น EURO5 และ EURO6
 
กลยุทธ์ความเป็นผู้นำด้านการสร้างเครือข่าย
ดำเนินการร่วมกับกระทรวงพลังงาน (พน.) และภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงหน่วยงานวิจัยด้านพลังงาน
ของประเทศที่อยู่ภายใต้มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยภาครัฐและเอกชน
4. การจัดการระบบพลังงาน
(System Integration and Energy Management)
มุ่งเน้นการวิจัยเทคโนโลยี ระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก (Microgrid) บูรณาการนำพลังงานทดแทนและระบบกักเก็บพลังงานเข้าสู่ระบบไฟฟ้า (Renewable Energy Integration)
5. การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน (Energy Efficiency)  มุ่งเน้นการวิจัยเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางไฟฟ้า (Electrical Efficiency) และประสิทธิภาพทางความร้อน (Thermal Efficiency) และการใช้ประโยชน์จากของเสียหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมพลังงาน

                            
                             3.1.2 หน่วยความร่วมมือ มีบทบาทในการสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัยในประเทศ (เช่น ศูนย์ต่าง ๆ ภายใต้ สวทช. และ พน.) และต่างประเทศ (เช่น ศูนย์พลังงานอาเซียน) โดยการดำเนินงานลักษณะภาคีเครือข่าย (Consortium) ที่ได้ดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา เช่น (1) การสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านเทคโนโลยีพลังงานกับหน่วยงานในต่างประเทศ (2) การรวมกลุ่มของนักวิจัยด้านพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดเพอรอฟสไกต์ (3) ภาคีเครือข่ายเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (Thailand Energy Storage Technology Alliance : TESTA) และ (4) ภาคีเครือข่ายทางด้านพลังงานไฮโดรเจน เพื่อขับเคลื่อนแฟลตฟอร์มพลังงานในอนาคตที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้ฐานการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งนี้ การดำเนินการในรูปแบบภาคีเครือข่ายจะช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งในการบูรณาการงานวิจัยและพัฒนาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการใช้ประโยชน์หรือแก้ไขปัญหาทางด้านพลังงานเป็นสำคัญ  โดยศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติจะมีส่วนในการทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการเสนอขอทุนวิจัยสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน
                             3.1.3 หน่วยถ่ายทอดเทคโนโลยี ทำหน้าที่พัฒนากลไกความร่วมมือการถ่ายทอดเทคโนโลยีพลังงานใหม่จากการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมสู่การผลิตภาคอุตสาหกรรม เช่น การส่งเสริมการร่วมลงทุน 3 ฝ่าย (รัฐ เอกชน และสถาบันวิจัย)
                             3.1.4 ศูนย์เรียนรู้ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้โครงการสาธิตการใช้เทคโนโลยีด้านพลังงาน
                       3.2 อัตรากำลังเป็นบุคลากรเดิมที่ปฏิบัติงานด้านพลังงานของ สวทช. โดยมีการบริหารจัดการอัตรากำลังและสังกัดภายใต้ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) ให้มีความเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบ จึงไม่มีภาระงบประมาณเพิ่มแต่อย่างใด
                        3.3 ผลสัมฤทธิ์ที่คาดว่าจะได้รับ
                             3.3.1 เชื่อมโยงงานวิจัยและพัฒนา ร่วมกับ พน. สู่การขับเคลื่อนแผนพลังงานให้เป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับประสิทธิภาพด้านพลังงาน
                             3.3.2 สร้างพันธมิตรหน่วยงานด้านพลังงานในระดับประเทศ และนานาชาติ เพื่อเข้าถึงสถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัย ภายใต้ อว.
                             3.3.3 ขับเคลื่อนกลไกงานวิจัยพื้นฐานสู่ธุรกิจนวัตกรรม (Startup) และภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างขีดความสามารถที่จะแข่งขันในเวทีโลก
                             3.3.4 สนับสนุนการพึ่งพาพลังงานภายในประเทศอย่างยั่งยืน
                             3.3.5 ส่งเสริมการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
                             3.3.6 บรรลุเป้าประสงค์ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของสหประชาชาติตามเป้าหมายด้านพลังงานข้อที่ 7 การสร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานในราคาที่หาซื้อได้ เชื่อถือได้ มีความยั่งยืนและทันสมัย
                       3.4 เป้าหมายในระยะ 5 ปีแรก (ปี พ.ศ. 2563 - 2567)
                             3.4.1 สร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจ 10,000 ล้านบาท ซึ่งวิธีการคิดมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจมาจากหลายองค์ประกอบ ได้แก่ การลดค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ การลดต้นทุนในการผลิต การสร้างรายได้เพิ่ม และประโยชน์ในเชิงมูลค่าของผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ และชุมชน
                             3.4.2 ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานไม่น้อยกว่า 10 ราย
                             3.4.3 สร้างเครือข่ายทางด้านพลังงานภายในประเทศและต่างประเทศไม่น้อยกว่า  60 พันธมิตร
                             3.4.4 มีบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญทางด้านพลังงาน ทั้งในด้านวิจัย และด้านเทคนิคของ ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติไม่น้อยกว่า 120 ราย
                             3.4.5 พัฒนาการแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีเชิงลึก (Deep technology)

                   4. สวทช. ได้หารือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภายใต้ อว. ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยงานภายใต้ พน. (กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานและสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน) โดยเห็นพ้องกันว่าควรสนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานร่วมกับพันธมิตรภายนอก

ซุปเปอร์คาปาซิเตอร์ หรือตัวเก็บประจุยิ่งยวด เป็นตัวเก็บประจุชนิดหนึ่งที่มีขนาดความจุมากกว่าชนิดปกติ ใช้ในรถไฮบริดโครงงานพลังงานทดแทนต่าง ๆ
 
13. เรื่อง ของดการจัดสรรเงินส่งเข้ากองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้งดการจัดสรรเงินส่งเข้ากองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ในทุกฤดูการผลิตเป็นการชั่วคราวจนกว่าการแก้ไขพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 จะแล้วเสร็จตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) (คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย) เสนอ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   อก. รายงานว่า
                   1. ในฤดูการผลิตปี 2558/2559 (เฉพาะเขตคำนวณราคาอ้อยที่ 1 2 3 4 6 7 และ 9) และฤดูการผลิตปี 2559/2560 พบว่าเกิดผลต่างระหว่างรายได้สุทธิที่ได้จากการจำหน่ายน้ำตาลทรายในแต่ละฤดูการผลิต ตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 และค่าอ้อยตามราคาอ้อยขั้นสุดท้ายรวมกับผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ซึ่งตามมาตรา 57 บัญญัติให้โรงงานน้ำตาลทรายนำส่งเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเท่าจำนวนผลต่างดังกล่าว โดยในฤดูการผลิตปี 2558/2559 มีการหักเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ในอัตราตันอ้อยละ 11 บาท (เฉพาะเขตคำนวณราคาอ้อยที่ 1 2 3 4 6 7 และ 9) ส่วนในฤดูการผลิตปี 2559/2560 มีการหักเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายในอัตราตันอ้อยละ 5 บาท
                   2. ผลการเรียกเก็บเงินตามข้อ 1
                             2.1 ฤดูการผลิตปี 2558/2559 จากโรงงานน้ำตาล จำนวน 51 บริษัท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,031.68 ล้านบาท มีบริษัทโรงงานน้ำตาลนำเงินมาชำระ 50 บริษัท รวมเป็นเงินจำนวน 1,016.60 ล้านบาท และค้างชำระ 1 บริษัท เป็นเงินจำนวน 15.08 ล้านบาท
                             2.2 ฤดูการผลิตปี 2559/2560 จากโรงงานน้ำตาล จำนวน 54 บริษัท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 464.75 ล้านบาท มีโรงงานน้ำตาลนำส่งครบทุกบริษัท
                   3. มาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 บัญญัติให้คณะกรรมการบริหารกองทุนจัดสรรเงินจำนวนร้อยละสิบของเงินที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายได้รับตามมาตรา 57 ส่งเข้ากองทุนสงเคราะห์เกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร โดยในกรณีจำเป็นเกี่ยวกับฐานะทางการเงินของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย คณะรัฐมนตรีจะอนุมัติให้งดจัดสรรเงินดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวก็ได้
                   4. คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 มีมติเห็นชอบให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาการของดการจัดสรรเงินส่งเข้ากองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527
                   5. อก. ได้แจ้งเหตุผลความจำเป็นของการของดการจัดสรรเงินส่งเข้ากองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ดังนี้
                             5.1 ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การกำหนดผลิตผลเกษตรกรรมขั้นต้น ออกตามความในพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พ.ศ. 2554 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ได้ถอดอ้อยออกจากผลิตผลเกษตรกรรมขั้นต้นแล้ว เนื่องจากอ้อยเป็นพืชที่มีพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ โดยมีกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอยู่แล้ว
                             5.2 ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การกำหนดผลิตภัณฑ์อาหาร ออกตามความในพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พ.ศ. 2554 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2557 ได้ถอดอ้อยออกจากผลิตภัณฑ์อาหารแล้ว
                             5.3 ร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ได้ยกเลิกบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรเงินกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเข้ากองทุนสงเคราะห์เกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร
                             5.4 ปัจจุบันกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรไม่ได้มีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับอ้อยและน้ำตาลทราย และที่ผ่านมาไม่ปรากฏว่ามีการนำส่งเงินให้แก่กองทุนดังกล่าว (อก. แจ้งอย่างไม่เป็นทางการว่า ตั้งแต่พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มีผลใช้บังคับจนถึงฤดูการผลิตปี 2557/58 ไม่เคยเกิดผลต่างระหว่างรายได้สุทธิตามมาตรา 54 และค่าอ้อยตามราคาอ้อยขั้นสุดท้ายรวมกับผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย จึงไม่มีการนำส่งเงินให้แก่กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร) อีกทั้งยังไม่เคยนำเงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรมาใช้จ่าย
                             5.5 สถานะทางการเงินของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย มีแนวโน้มขาดสภาพคล่อง ตามข้อ 6
                   6. สถานะทางการเงินของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย
                             6.1 สถานะเงินกองทุน
                             ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 ยอดเงินคงเหลือรวมทั้งสิ้น 2,357.63 ล้านบาท โดยมีภาระผูกพันที่ต้องจ่ายรวมโครงการต่าง ๆ จำนวน 1,359.63 ล้านบาท ส่งผลให้มีเงินสดคงเหลือปลอดภาระผูกพันที่สามารใช้จ่ายได้ จำนวน 997.99 ล้านบาท
                             6.2 เจ้าหนี้และลูกหนี้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 ดังนี้
                                      6.2.1 เจ้าหนี้ ได้แก่ เงินกู้เพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยฤดูการผลิตปี 2558/2559 ต่อธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 2,085.16 ล้านบาท
                                      6.2.2 ลูกหนี้ (เช่น ลูกหนี้โรงงานที่ค้างชำระ ลูกหนี้ชาวไร่อ้อยและโรงงานตามโครงการสินเชื่อสำหรับจัดซื้อรถตัดอ้อย เป็นต้น) รวมทั้งสิน 2,012.49 ล้านบาท
                             6.3 ภาระต้องจ่ายเงินชดเชยตามาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 คืนให้กับโรงงานน้ำตาล เนื่องจากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ในฤดูการผลิตปี 2560/2561 และฤดูการผลิตปี 2561/2562 กรณีดังกล่าวจะทำให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย มีภาระหนี้เงินชดเชยที่จะต้องชำระคืนให้แก่โรงงานน้ำตาลไปจนถึงปีงบประมาณ 2566 ซึ่งคาดว่ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจำเป็นต้องชดเชยประมาณ 22,799.22 ล้านบาท
 
14. เรื่อง  การติดตามการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2562/63
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ  การติดตามการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2562/2563 [คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (12 พฤศจิกายน 2562 และ 24 กันยายน 2562) อนุมัติในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2562/63 และอนุมัติให้ดำเนินโครงการป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง ตามลำดับ] โดยเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2563 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้ลงพื้นที่ ณ จังหวัดนครราชสีมา เพื่อติดตามการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง โดยได้ชี้แจงประชาสัมพันธ์โครงการฯ และร่วมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของเกษตรกรและผู้ประกอบการโดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                    1. ความคืบหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2562/63 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้จ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคา  (ข้อมูล ณ วันที่ 23 พฤษภาคม 2563) ดังนี้
                   วงเงินจ่ายขาด                                9,442,342,800.00       บาท
                    จ่ายเงิยชดเชยส่วนต่างราคาแล้ว     4,842,778,169.24   บาท (ร้อยละ 51)
                   คงเหลือ                                        4,599,564,630.76       บาท
                   ได้รับอนุมัติวงเงินเพิ่มเติม                       448,226,666.97     บาท
                   คงเหลืองบประมาณจ่ายขาด             5,047,791,297.73    บาท
โดยมีเกษตรกรได้รับเงินจำนวนทั้งสิ้น 398,704 ครัวเรือน ซึ่งเกษตรกรและผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง และขอให้รัฐบาลดำเนินโครงการดังกล่าวในปีต่อไป
                   2. ปัญหาและแนวทางการแก้ไข  จากการรับฟังปัญหาและความคิดเห็นจากเกษตรกรและผู้ประกอบการ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับกรมส่งเสริมการเกษตร ธ.ก.ส. และจังหวัดนครราชสีมา สรุปได้ดังนี้
 

                        โครงการ
ข้อเท็จจริง
โครงการประกันรายได้ฯ
(กรณีได้รับเงินชดเชยล่าช้า)
โครงการป้องกันและกำจัดโรค
ใบด่างมันสำปะหลัง
(กรณียังไม่ได้รับเงินชดเชย)
ปัญหา Ÿ เกษตรกรได้รับเงินชดเชยส่วนต่างตามโครงการประกันรายได้ฯ ล่าช้าเนื่องจากกรมส่งเสริมการเกษตรส่งข้อมูลการแจ้งเก็บเกี่ยวของเกษตรกรให้ ธ.ก.ส. ในแต่ละเดือน ยังไม่ครบถ้วนในครั้งเดียว Ÿ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ แล้วยังไม่ได้รับเงินชดเชยค่าทำลายต้นมันสำปะหลัง ไร่ละ 3,000 บาท จากโครงการฯ ทำให้เกษตรกรที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ เกิดความไม่มั่นใจ จึงไม่เข้าร่วมโครงการฯ และทำลายแปลง
  Ÿ เกษตรกรบางรายที่แจ้งเก็บเกี่ยวในเดือนเมษายน 63 ยังไม่ได้รับเงิน Ÿ มีการจำหน่ายท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคให้เกษตรกรไปปลูก  ทำให้โรคดังกล่าวแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น
สาเหตุ Ÿ เกษตรกรบางส่วนแจ้งข้อมูลเก็บเกี่ยวแล้ว แต่ยังไม่ได้ยืนยันสิทธิหรือยืนยันหลังจากการประชุมคณะอนุกรรมการฯ Ÿ กรมส่งเสริมการเกษตรอยู่ระหว่างจัดหาเอกสารที่แสดงว่าราชการสั่งให้ทำลายโดยยังไม่ได้รับการช่วยเหลือในความเสียหายที่เกิดขึ้น  ตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) ร้องขอ        
Ÿ ในเดือนเมษายน 63 ได้มีการเปิดระบบช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้เกิดปัญหาระบบฐานข้อมูลขัดข้อง เนื่องจากมีผู้ใช้งานจำนวนมาก จึงต้องส่งข้อมูลรายชื่อพร้อมกับเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวในเดือนพฤษภาคม 63 โดยคาดว่าจะโอนเงินชดเชยให้เกษตรกรได้ภายในต้นเดือนมิถุนายน 63 Ÿ การทำลายแปลงยังไม่แล้วเสร็จโดยอยู่ระหว่างการจัดจ้างทำลายแปลง จำนวน 26,824.975 ไร่
Ÿ อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตรกับ ธ.ก.ส. เช่น การแจ้งเพาะปลูกซ้ำซ้อน  
แนวทางการแก้ไข Ÿ เร่งรัดให้กรมส่งเสริมการเกษตร และ ธ.ก.ส. ดำเนินการแก้ไขปัญหาโครงการประกันรายได้ฯ ในส่วนข้อมูลเกษตรกรและการโอนเงินส่วนต่าง
Ÿ เร่งรัดให้กรมส่งเสริมการเกษตรและ สงป. เร่งรัดจ่ายเงินชดเชยรายได้ให้เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลังเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
Ÿ มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตมันสำปะหลังจัดตั้งศูนย์บริหารโครงการประกันรายได้เกษตรกรแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service)  ของจังหวัด เพื่อรับเรื่องร้องทุกข์จากเกษตรกรในการแก้ไขปัญหาพืชเกษตรที่มีการประกันรายได้ทั้ง 5 ชนิด

 
15. เรื่อง  สรุปมติที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ครั้งที่ 1/2563 
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ  มติที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.)  ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 [ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ตามมาตรา 5 (1) ที่กำหนดให้ คจร. เสนอนโยบายและแผนหลักต่อคณะรัฐมนตรี] โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
                   1. คจร. ได้รับทราบเรื่องต่าง ๆ  ดังนี้

ลำดับ เรื่อง มติ คจร.
1) ความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดย ณ เดือนมกราคม 2563  สรุปได้ดังนี้ (1) โครงการที่เปิดให้บริการแล้ว              6 เส้นทาง ระยะทางรวม 137.80 กิโลเมตร (2) โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง  9 เส้นทาง ระยะทางรวม 188.94 กิโลเมตร (3) โครงการอยู่ระหว่างประกวดราคา 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 97.99 กิโลเมตร และ (4) โครงการส่วนต่อขยายปี พ.ศ. 2570-2572 จำนวน 8 เส้นทาง ระยะทางรวม 134.43 กิโลเมตร รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนแม่บทฯ
2) แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง  โดย คค. ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบราง ประกอบด้วย (1) แผนระยะเร่งด่วน 4 ปี  (พ.ศ. 2563 -2566) สำหรับการจัดซื้อขบวนรถไฟประเภทที่ใช้เทคโนโลยีทั่วไป  และ (2) แผนระยะ 6 ปี (พ.ศ. 2563-2568) สำหรับการจัดซื้อขบวนรถไฟประเภทที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งได้จัดประชุมสำรวจความสนใจของผู้ประกอบการเอกชนเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน/ผู้ประกอบการร่วมแสดงความเห็นและข้อเสนอแนะ โดยทุกหน่วยงานเห็นด้วยและมีความพร้อมสำหรับแผนดังกล่าว ทั้งนี้ คค. จะนำแนวทางการพัฒนาฯ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป รับทราบแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง
3) โครงการการศึกษาสำรวจข้อมูลด้านการขนส่งและจราจรเพื่อจัดทำแผนแม่บทในเมืองภูมิภาค จังหวัดบึงกาฬ ปัจจุบันศึกษาแล้วเสร็จ และอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกได้เห็นชอบและมีมติมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปใช้เป็นข้อมูลและแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านการขนส่งและจราจรของจังหวัด โดยพิจารณาขอรับการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินงานตามแผน 9,202.07 ล้านบาท รับทราบผลการศึกษาฯ

 
                   2. คจร. ได้พิจารณาเรื่องต่าง ๆ เช่น

ลำดับ เรื่อง มติ คจร.
1) แผนม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล  แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ (1) การเพิ่มพื้นที่และความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจรบนถนนในจุดที่จำเป็น และ (2) การส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะโดยแบ่งแผนงานเป็น 2 ระยะ  คือ แผนงานระยะเร่งด่วน (พ.ศ. 2562-2566) และแผนระยะกลาง/ยาว (พ.ศ. 2567-2576) รวมงบประมาณทั้งสิ้น 273,678 ล้านบาท เห็นชอบแผนแม่บทฯ
มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้แผนแม่บทฯ เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาจราจรต่อไป และให้รายงานความคืบหน้าต่อ คจร. ต่อไป
2) การจัดทำมาตรฐานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านการจราจร ได้จัดทำมาตรฐานการวิเคราะห์ฯ เสร็จแล้ว และจากผลการศึกษาได้กำหนดให้การพัฒนาโครงการต่าง ๆ  ซึ่งเดิมไม่ต้องมีการศึกษาผลกระทบด้านการจราจร เช่น ห้างสรรพสินค้า หอประชุม สนามกีฬา  สำนักงานของรัฐ  จะต้องมีการศึกษาและจัดทำผลกระทบด้านการจราจรในอนาคตด้วย  นอกจากนี้ ได้กำหนดกรอบการนำผลการศึกษาไปสู่การปฏิบัติ  ดังนี้  (1) ระยะสั้น  (พ.ศ. 2563-2564) จัดให้มีมาตรฐานในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์การจราจร  (TIA)  (2) ระยะกลาง (พ.ศ. 2565-2567) ประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีและเสนอร่างพระราชบัญญัติ (3) ระยะยาว (พ.ศ. 2568-2569) ประกาสใช้พระราชบัญญัติ รับทราบการจัดทำมาตรฐานการวิเคราะห์ฯ
เห็นชอบแผนการนำเสนอผลการศึกษาไปสู่การปฏิบัติ
มอบหมายสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ดำเนินการตามแผนการนำผลการศึกษาไปสู่การปฏิบัติต่อไป
3) การปรับเพิ่มอัตราความเร็วของรถยนต์ทุกประเภทบนถนนที่มีช่องจราจรตั้งแต่ 4 ช่องขึ้นไป เห็นชอบในหลักการปรับเพิ่มอัตราความเร็วของรถยนต์บนถนนทางหลวงที่มีทางเดินรถที่จัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ ตั้งแต่ 2 ช่องเดินรถ  มีเกาะกลาง ถนนเฉพาะแบบกำแพงกั้นและไม่มีจุดกลับรถเสมอระดับถนน เป็นอัตราความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม.
มอบหมาย คค. ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พิจารณาปรับปรุงกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดอัตราความเร็วสูงสุดเป็นไม่เกิน 120 กม./ชม.  และการกำหนดความเร็วขั้นต่ำ  สำหรับการขับรถยนต์ในช่องทางเดินรถช่องขวาสุดโดยใช้ความเร็วไม่ต่ำกว่า 100 กม./ชม.
4) การขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2536 เรื่อง การส่งเสริมการจัดท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อแก้ปัญหาจราจรให้สามารถนำพื้นที่บางส่วนของท่าเรือสาธารณะมาใช้ในเชิงพาณิชย์   เนื่องจากเดิมจะไม่ให้เอกชนเช่าท่าเทียบเรือของหน่วยงานของรัฐ หรือวัดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลแบบผูกขาด  แต่ควรกำหนดให้เป็นท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อสนับสนุนการขนส่งทางน้ำ อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการลดปัญหาการจราจรในปัจจุบันและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการ จึงต้องเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะเข้าด้วยกันเพื่อให้บริหารในลักษณะตั๋วร่วม และจำเป็นต้องบริหารจัดการพื้นที่บนท่าเรือให้มีพื้นที่ปิดสำหรับให้เอกชนลงทุนในระบบตั๋วร่วมดังกล่าว เห็นชอบให้กรมเจ้าท่านำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีฯ เพื่อให้สามารถนำพื้นที่บางส่วนของท่าเรือสาธารณะมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้
มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนการดำเนินการให้เกิดการพัฒนาระบบขนส่งทางน้ำเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
5) ขอความเห็นชอบการดำเนินงานส่วนของฐานรากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย  (รฟม.) ในส่วนที่ซ้อนทับกับโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยปัจจุบัน รฟม. และ กทพ. อยู่ระหว่างเตรียมจัดทำบันทึกข้อตกลงการดำเนินงานร่วมกัน ซึ่งรวมถึงการบริหารและกำกับดูแลการก่อสร้าง การตรวจรับพัสดุ  และการเบิกจ่ายเงินค่าจ้างก่อสร้าง รวมทั้งปรับแผนการดำเนินการเพื่อให้สามารถก่อสร้างฐานรากของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) ของ รฟม. ในส่วนที่ซ้อนทับกับโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ของ กทพ. ไปพร้อมกัน เห็นชอบการดำเนินงานส่วนของฐานรากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลฯ ให้ดำเนินการก่อสร้างฐานรากของโครงการทั้งสองไปพร้อมกัน ทั้งนี้ ให้ กทพ. ตกลงรายละเอียดกับ รฟม. ต่อไป
มอบหมายให้กระทรวงการคลัง (กค.) หารือสำนักงบประมาณจัดหาแหล่งเงินที่เหมาะสมสำหรับก่อสร้างฐานรากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลฯ วงเงินรวม 1,470 ล้านบาท
รับทราบการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลฯ โดย รฟม. จะดำเนินการตามขั้นตอนในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
6) แนวทางการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ (1) แนวทางการดำเนินงานระยะสั้น เช่น มาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม โดยมีค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท (2) แนวทางการดำเนินงานระยะยาว เช่น การศึกษา การจัดตั้งทุนหมุนเวียน มาตรการทางด้านภาษี รับทราบแนวทางการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า
มอบหมาย คค. ร่วมกับ กค. ศึกษาแนวทางการดำเนินงานระยะยาวต่อไป
7) แนวทางการพัฒนาระบบเทคโนโลยีด้านการจราจรและขนส่งเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการขนส่งและจราจรในส่วนของฮาร์ดแวร์ค่อนข้างมาก เช่น การติดตั้งกล้องโทรทัศน์ CCTV  การติดตั้งระบบตรวจนับปริมาณจราจรบนถนน และการติดตั้งระบบ GPS  ต่าง ๆ  โดย สนข. จะขอรับการสนับสนุนการใช้ข้อมูลหรือทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว ของหน่วยงานต่าง ๆ และนำมาบูรณาการและพัฒนาทางด้านซอฟต์แวร์ต่อไป มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตร. กทพ. ให้การสนับสนุน
ข้อมูลและการใช้อุปกรณ์ตรวจวัดสภาพจราจรต่าง ๆ  เพื่อร่วมสนับสนุนให้ สนข. สามารถพัฒนาระบบเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการต่อไป

 
                   3. เรื่องอื่น ๆ เช่น

ลำดับ เรื่อง มติ คจร.
1) การเตรียมมาตรการภาคขนส่งเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19)  โดย คค. ได้ดำเนินการจัดระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) โดยแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว รับทราบการเตรียมมาตรการภาคขนส่งเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19



16. เรื่อง มาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมเป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนตามมาตรการดังกล่าวต่อไป โดยให้กระทรวงมหาดไทย (กรมการพัฒนาชุมชน) รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   มท. รายงานว่า
                   1. สภาสมาคมสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ร่วมกับ มท. โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้จัดทำโครงการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน โดยมีวัตถุประสงค์สืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จ    พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงต่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย โดยได้ร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดำเนินการตามโครงการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดินกับจังหวัด 75 จังหวัด และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในส่วนกลาง ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค เพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า รากเหง้าจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สะท้อนให้เห็นบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ด้วยการส่งเสริมและเผยแพร่ผ้าพื้นถิ่นไทยอันให้ดำรงคงอยู่ปรากฏเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลให้ประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤติและกระทบในวงกว้างต่อการใช้ชีวิตของประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อรายได้ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย และผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งเป็นผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานราก ดังนั้น การรณรงค์กระตุ้นให้เกิดค่านิยมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผ้าทอซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนไทยจะก่อให้เกิดรายได้กระจายสู่ชุมชนอย่างรวดเร็วและทั่วถึง
                   2. นายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบให้กรมการพัฒนาชุมชน มท. เป็นเจ้าภาพหลักและเร่งดำเนินการจัดทำและเสนอมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยต่อคณะรัฐมนตรี
                   3. มท. ได้จัดทำมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
                             3.1 ให้ถือว่ามาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยเป็นนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมให้ข้าราชการ ประชาชน แต่งกายด้วยผ้าไทยตามความเหมาะสมของท้องถิ่นเพิ่มขึ้นหรือ               อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน
                             3.2 ให้ทุกกระทรวงพิจารณาจัดทำมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยโดยมีแนวทางของการดำเนินการ ได้แก่
                                      3.2.1 สร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบาย เรื่อง การรณรงค์การแต่งกายด้วยผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองแก่ส่วนราชการในสังกัด และในพื้นที่จังหวัดให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ หน่วยงาน/องค์กร ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
                                      3.2.2 วิธีสร้างการรับรู้ผ่านกิจกรรม เช่น การประชุม เสวนา เป็นต้น
                                      3.2.3 วิธีสร้างการรับรู้ผ่านสื่อ เช่น แผ่นพับ ป้ายนิทรรศการ สื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น
                             3.3 จัดทำแผนงาน/โครงการรณรงค์การใช้และสวมใส่ผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
                                      3.3.1 รวบรวมเนื้อหาสาระและข้อมูลเกี่ยวกับผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองในพื้นที่จังหวัด
                                      3.3.2 กำหนดรูปแบบการรณรงค์ ประเมินหน่วยงานภาครัฐ/ภาคเอกชนที่มีศักยภาพในการรณรงค์ และสถานการณ์เกี่ยวกับการรณรงค์การแต่งกายด้วยผ้าไทยและผ้าพื้นเมือง
                                      3.3.3 จัดทำแผนปฏิบัติการรณรงค์การแต่งกายด้วยผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองของจังหวัด
                                      3.3.4 จัดทำสื่อเนื้อหาสาระเกี่ยวกับวิธีการรณรงค์แต่งกายด้วยผ้าไทยและผ้าพื้นเมือง เพื่อสร้างค่านิยมและการตระหนักรับรู้การรักษามรดกและอัตลักษณ์ภูมิปัญญาของไทย  เผยแพร่แก่ประชาชนทั่วไป
                             3.4 สร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการรณรงค์ระหว่างภาครัฐ/เอกชน และประชาชน รวมทั้งกำหนดบทบาทและหน้าที่ในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการของภาคีเครือข่าย เช่น ให้การสนับสนุนงบประมาณทรัพยากร/บุคลากรช่วยทำงาน และนำไปรณรงค์ในหน่วยงานของตน
                             3.5 จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการแต่งกายด้วยผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองในจังหวัดตามห้วงระยะเวลาที่เหมาะสม
                             3.6 จัดให้มีการอนุรักษ์ต่อยอดภูมิปัญญาเกี่ยวกับการแปรรูปผ้าไทยผลิตเป็นสินค้าต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ และสร้างเศรษฐกิจฐานรากในระดับจังหวัดและชุมชน
ต่าง ๆ
                             3.7 ประกาศยกย่องหน่วยงาน/องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนต้นแบบของจังหวัดที่รณรงค์การแต่งกายด้วยผ้าไทย และผ้าพื้นเมืองที่เกิดผลเป็นรูปธรรม
                             3.8 ให้มท. โดยกรมการพัฒนาชุมชน เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย
 
17. เรื่อง รายงานผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้ง ปี 2562/63 และการเตรียมความพร้อมรองรับฤดูฝน ปี 2563
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เสนอดังนี้
                   1. รับทราบผลการดำเนินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63
                   2. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามมาตรการเตรียมความพร้อมรองรับฤดูฝน ปี 2563 เพื่อลดผลกระทบความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น 
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   สทนช. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ รายงานสรุปผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้ง ปี 2562/63 และมาตรการเตรียมความพร้อมรองรับฤดูฝนปี 2563 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                       2.1 สรุปผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้ง ปี 2562/63

ประเด็น การดำเนินการ
1) การคาดการณ์และชี้เป้าพื้นที่เฝ้าระวังขาดแคลนน้ำ
(ช่วงปลายฤดูฝน ปี 2562)
1.1) การขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค มีพื้นที่ในเขตให้บริการของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) 22 จังหวัด และพื้นที่นอกเขตให้บริการของ กปภ.                 38 จังหวัด
1.2) การขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร มีพื้นที่ในเขตชลประทาน 36 จังหวัด พื้นที่นอกเขตชลประทาน 36 จังหวัด และพื้นที่ที่มีการปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น 30 จังหวัด
2) ปริมาณฝนสะสมในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 ภาพรวมทั้งประเทศมีปริมาณฝนสะสมรวม 216.8 มิลลิเมตร ต่ำกว่าค่าปกติ 100.1 มิลลิเมตร (ร้อยละ 32) โดยภาคกลางมีฝนสะสมต่ำกว่าค่าปกติมากที่สุด (ร้อยละ 54)
3) ผลการจัดสรรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63
 
 
 
 
 
 
 
 
หน่วย : ล้านลูกบาศก์เมตร
ภาค การจัดสรรน้ำ
แผน ผล ร้อยละ
ภาคเหนือ 3,541 3,755 106
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,703 1,521 89
ภาคตะวันออก 673 630 93
ภาคกลาง 263 154 59
ภาคตะวันตก 6,273 6,194 99
ภาคใต้ 1,300 1,389 107
รวม 13,753 13,643  
4) แผน-ผลการเพาะปลูก
พืชฤดูแล้ง ปี 2562/63
(ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2563)
มีแผนการเพาะปลูกพืชที่กำหนดไว้ 7.21 ล้านไร่ ผลการเพาะปลูกพืชทั้งประเทศ รวม 8.83 ล้านไร่ เพาะปลูกพืชเกินแผน 1.62 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 122
5) มาตรการการแก้ไขปัญหาที่สำคัญ 5.1) การแก้ไขปัญหาน้ำเค็ม โดยการเพิ่มปริมาณน้ำจืดเพื่อผลักดันและเจือจาง   ค่าความเค็มบริเวณสถานีสูบน้ำสำแล รวม 9 ครั้ง สามารถแก้ไขปัญหาความเค็มรุกตัวในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และควบคุมคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถนำไปผลิตน้ำประปาได้
5.2) การประเมินปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ถึงเดือนมิถุนายน 2563 มีเพียง 390 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยและไม่เพียงพอต่อการใช้น้ำในพื้นที่ จึงมีมาตรการแก้ปัญหาเพื่อให้มีน้ำใช้ตลอดฤดูแล้ง ปี 2563 เช่น การแบ่งปันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองประแกดมาเติมอ่างเก็บน้ำประแสร์ การนำน้ำจากแหล่งน้ำของภาคเอกชนเข้ามาเสริมระบบเครือข่ายน้ำ การสูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกงมาเติมอ่างเก็บน้ำบางพระ และการรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนลดการใช้น้ำลงร้อยละ 10 เพื่อบรรเทาสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ให้ดีขึ้น
6) สรุปสถานการณ์ภัยแล้ง
และการช่วยเหลือ (ข้อมูล
ณ วันที่ 30 เมษายน 2563)
6.1) การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ที่ขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค และการเกษตร จำนวน 27 จังหวัด 157 อำเภอ 832 ตำบล              5 เทศบาล 7,242 หมู่บ้าน/ชุมชน
6.2) โครงการช่วยเหลือกรณีภัยแล้ง ปี 2562/63 ตามมติคณะรัฐมนตรี  (7 มกราคม 2563) ในพื้นที่ 44 จังหวัด จำนวน 2,041 แห่ง ได้รับงบประมาณแล้ว จำนวน 3,079 ล้านบาท ดำเนินการแล้ว 787 แห่ง (แผน 1,424 แห่ง)  คิดเป็นร้อยละ 55.26
6.3) โครงการเร่งด่วนเพื่อเก็บกักน้ำในฤดูฝน ปี 2563 และแก้ไขปัญหา            การขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 (เพิ่มเติม) ตามมติคณะรัฐมนตรี (17 มีนาคม 2563) ในพื้นที่ 72 จังหวัด จำนวน 6,806 โครงการ สามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้ 214 ล้านลูกบาศก์เมตร งบประมาณรวม 8,269 ล้านบาท ได้เริ่มดำเนินการแล้ว จำนวน 107 แห่ง โดยเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้ 29.91 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ 115,662 ไร่

                  

2. การวางแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกในฤดูฝน ปี 2563
                       2.1 การประเมินปริมาณน้ำต้นทุนฤดูฝน ปี 2563 ภาพรวมทั้งประเทศมีปริมาณน้ำ รวม 33,944 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นน้ำใช้การ 10,518 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็น

หน่วย : ล้านลูกบาศก์เมตร
 
ภาค ปริมาณน้ำต้นทุน คิดเป็นน้ำใช้การ
ภาคเหนือ 8,831 2,055
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2,757 1,238
ภาคกลาง 184 141
ภาคตะวันออก 268 168
ภาคตะวันตก 17,920 4,560
ภาคใต้ 3,984 2,356


                    



                  




2.2 การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง ในช่วงฤดูฝน ปี 2563 ภาพรวมทั้งประเทศมีปริมาณน้ำใช้การรวม 10,307 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่า ปี 2562 จำนวน 6,360 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยได้วางแผนการจัดสรรน้ำ รวม 12,530 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็น
หน่วย : ล้านลูกบาศก์เมตร

ภาค แผนการจัดสรรน้ำ
ภาคเหนือ 3,368
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,716
ภาคตะวันออก 506
ภาคกลาง 113
ภาคตะวันตก 5,213
ภาคใต้ 1,614

                      2.3 การประเมินความต้องการใช้น้ำรายกิจกรรม รวมทั้งสิ้น 83,085 ล้านลูกบาศก์เมตร
หน่วย : ล้านลูกบาศก์เมตร

กิจกรรมการใช้น้ำ ในเขตชลประทาน
(กรมชลประทาน)
นอกเขตชลประทาน
(กรมทรัพยากรน้ำ)
ความต้องการ
ใช้น้ำรวม
1) เพื่อการอุปโภค-บริโภค 2,725 928 3,653
2) เพื่อการรักษาระบบนิเวศ 5,626 5,870 11,496
3) เพื่อการเกษตรกรรม 22,634 44,532 67,166
4) เพื่อการอุตสาหกรรม 367 403 770
    รวมทั้งสิ้น 83,085

                             ทั้งนี้ ในช่วงฤดูฝน ปี 2563 มีความต้องการใช้น้ำทุกกิจกรรม มีปริมาณมากกว่าน้ำต้นทุน ซึ่งทำให้ต้องนำน้ำฝนมาใช้อีก 63,072 ล้านลูกบาศก์เมตร ถึงจะมีปริมาณน้ำที่เพียงพอในกิจกรรมด้านเกษตรกรรมที่มีแผนการเพาะปลูกพืชทั้งประเทศ 76.27 ล้านไร่
                       2.4 อ่างเก็บน้ำที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการใช้น้ำในเขตชลประทาน

อ่างเก็บน้ำ ข้อจำกัดการจัดสรรน้ำ จำนวน (แห่ง)
1) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำ
ใช้การน้อยกว่าร้อยละ 15
เฉพาะอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ และการทำเกษตรต่อเนื่อง 19
2) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำ
ใช้การน้อยกว่าร้อยละ 30
เฉพาะอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ การทำเกษตรฤดูฝน (บางพื้นที่) และอุตสาหกรรม 11
3) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำ
ใช้การน้อยกว่าร้อยละ 60
เฉพาะอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ การทำเกษตรฤดูฝน (ตามศักยภาพ) และอุตสาหกรรม 4
4) อ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่คาดว่า
จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร
ทั้งประเทศ
เฉพาะการทำเกษตร 182

                  
                   3. การเตรียมการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับในฤดูฝน ปี 2563

มาตรการ หน่วยงานที่รับผิดชอบ
1) การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย โดยจัดทำหลักเกณฑ์การวิเคราะห์พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมจากฝนคาดการณ์ในระบบ ONE MAP - สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.)
- กรมชลประทาน
- กรมทรัพยากรน้ำ
- กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
- สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.)
2) การปรับแผนการส่งน้ำเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 13 แห่ง - กรมชลประทาน
- กรมส่งเสริมการเกษตร
3) หลักเกณฑ์และมาตรฐานการบริหารจัดการน้ำเพื่อเตรียมการรองรับการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน - คณะอนุกรรมการจัดทำหลักเกณฑ์และมาตรฐานการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
- การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
- กรมชลประทาน
- สสน.
4) การตรวจสอบอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ และสถานีโทรมาตร - กรมชลประทาน (43 สถานี)
- กรมทรัพยากรน้ำ (228 สถานี)
- กฟผ. (152 สถานี)
5) การตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำ - กรมทางหลวง
- กรมทางหลวงชนบท
- การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
- กรมชลประทาน
- กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อปท.)
6) การสำรวจแม่น้ำคูคลอง และดำเนินการขุดลอก กำจัดผักตบชวา - กรมโยธาธิการและผังเมือง
- กรมชลประทาน
- กรมเจ้าท่า
- อปท.
- กรุงเทพมหานคร
- สทอภ.
7) การเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือในการให้ความช่วยเหลือ (รวม 7,661 เครื่องมือ) - กระทรวงมหาดไทย (มท.)
- กระทรวงกลาโหม (กห.)
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)
- กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)
8) การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ - สทนช.
- กรมประชาสัมพันธ์ (กปส.)

 
18. เรื่อง ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรณีศึกษา กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เสนอข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรณีศึกษา กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการและให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับ กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยให้รับความเห็นของสำนักงบประมาณ (สงป.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการด้วย
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมของ พม. กรณีศึกษา กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ซึ่งได้ปรากฏปัญหาการร้องเรียนโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคามขณะฝึกงานที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่นถูกสั่งให้ปลอมเอกสารลายมือชื่อและข้อมูลเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย รวมถึงปลอมรายมือชื่อในใบเสร็จรับเงิน ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 988-59/2561 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 จึงได้มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษามาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับงบประมาณงบเงินอุดหนุน โดยการทุจริตที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาการรั่วไหลของงบประมาณงบเงินอุดหนุนในหลายขั้นตอน ทั้งในด้านกฎ ระเบียบ ข้อบังคับทางกฎหมาย วิธีการ และแนวทางปฏิบัติของผู้ปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงหรือมีช่องว่างที่อาจกระทำการทุจริตได้ รวมทั้งระบบการติดตาม ประเมินผล และการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณงบเงินอุดหนุนที่ไม่รัดกุม ตลอดจนปัญหาในด้านการจัดทำฐานข้อมูลผู้ประสบปัญหาทางสังคมของประเทศไทย ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นสมควรเสนอข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตออกเป็น 3 ด้าน โดย พม. ได้พิจารณาแล้วเห็นด้วยในหลักการของข้อเสนอแนะดังกล่าว ซึ่ง พม. ได้มีการดำเนินการในบางประเด็นแล้ว สรุปได้ ดังนี้
 

ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. การดำเนินการของ พม.
1. ด้านการจัดทำระบบฐานข้อมูลผู้ประสบปัญหาทางสังคมของประเทศไทย
(1) รัฐบาลควรกำหนดให้การจัดทำฐานข้อมูลผู้ประสบปัญหาทางสังคมของประเทศไทยเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อบูรณาการการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการจัดทำสำมะโนประชากร (Census) โดยปรับปรุงและจัดทำฐานข้อมูลผู้ประสบปัญหาทางสังคมและดำเนินการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักของกรมการปกครอง ฐานข้อมูลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตลอดจนฐานข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้ พม. เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงแรงงาน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นต้น พม. ได้มีการพัฒนาและจัดทำฐานข้อมูลระบบสารสนเทศ ดังนี้
- มีการพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลกลางสวัสดิการของ พม. โดยใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชนในรูปแบบ Web Service
- มีการจัดทำฐานข้อมูลการให้บริการ
- มีการจัดทำระบบรายงานผลการพิจารณาให้การช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมในรูปแบบกระดานสถานการณ์ทางสังคม
- มีการกำหนดมาตรฐานข้อมูลกลางในการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูล
- มีการประมวลข้อมูลการให้ความช่วยเหลือในภาพรวมรูปแบบ One Report เป็นต้น
(2) ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อร่วมกันดำเนินการบูรณาการการปฏิบัติงานและปรับปรุงฐานข้อมูลประสบปัญหาทางสังคมของประเทศไทย
(3) ควรจัดทำระบบสารสนเทศรองรับการใช้งานข้อมูลจากฐานข้อมูลที่ผู้ใช้งานสามารถปฏิบัติงานและเรียกดูข้อมูลบน Web Browser หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ และมีการรายงานข้อมูลได้ตลอดเวลา รวมทั้งจะต้องเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้
2. ด้านเบิกจ่ายเงินงบประมาณงบเงินอุดหนุน
(1) ให้ พม. พิจารณาสั่งการให้ส่วนราชการภายใต้สังกัดทบทวนหรือปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนและการกำหนดหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือกรณีเงินสงเคราะห์ในแต่ละประเภทให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ตลอดจนกำหนดระเบียบ วิธีการ และขั้นตอนในการจ่ายเงินสงเคราะห์ให้มีความชัดเจนเหมาะสมกับสถานการณ์และสภาวการณ์ในปัจจุบัน พม. ได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
- มีการจัดทำแบบฟอร์มหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเงิน            ผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อน เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่
- กำหนดให้มีการจ่ายเงินผ่านระบบธนาคาร
(e-Payment) โดยจ่ายผ่านระบบ Krungthai Corporate Online ซึ่งจะช่วยให้สามารถจ่ายเงินให้แก่ผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนได้โดยตรง ลดความผิดพลาดและโอกาสการทุจริต
(2) ให้มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดให้มีระบบการจ่ายเงินผ่านระบบธนาคารโดยใช้บัตรใบเดียวที่สามารถเบิกจ่ายเงินให้ประชาชน ซึ่งจะเป็นการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคมและพัฒนาระบบการรับจ่ายเงินภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์และมีระบบติดตามผลเพื่อตรวจสอบสถานภาพของผู้มีสิทธิเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ฐานข้อมูลเป็นปัจจุบันและสามารถตรวจสอบได้
(3) พิจารณาศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการจัดให้มีบัตรสงเคราะห์ผู้ประสบปัญหาทางสังคม โดยใช้ฐานข้อมูลเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก
3. ด้านการติดตาม ประเมินผล และตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณงบเงินอุดหนุน
(1) ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผล และให้มีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ได้แก่ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนผู้ตรวจราชการภาคประชาชน นักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญด้านการสังคมสงเคราะห์ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการดังกล่าว โดยให้มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบเกี่ยวกับความถูกต้องโปร่งใสและความรวดเร็วในการเบิกจ่ายเงินงบประมาณงบเงินอุดหนุน พร้อมการเปิดเผยรายงานผลการติดตามและประเมินผลของโครงการต่อสาธารณะ พม. ได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
- มีระบบสารสนเทศช่วยในการติดตามและประเมินผลการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมแบบ Real Time  และนำเสนอข้อมูลให้ผู้บริหารระดับสูงสามารถติดตามได้
- กำหนดให้มีคณะนิเทศก์ลงพื้นที่สุ่มตรวจการดำเนินงานของหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง
(2) เห็นควรให้ พม. พิจารณาสั่งการให้ส่วนราชการภายใต้สังกัดจัดทำแผนการตรวจสอบประเด็นหรือขั้นตอนที่มีความเสี่ยงต่อการทุจริตในการดำเนินการใช้จ่ายงบประมาณงบเงินอุดหนุน พร้อมทั้งจัดทำแผนสำหรับการสุ่มตรวจสอบกรณีที่อาจมีความเสี่ยงต่อการทุจริตในการเบิกจ่ายเงินงบประมาณงบเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคม

 
19. เรื่อง รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home)  และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 4
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home)  และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 4 ตามที่สำนักงาน ก.พ.เสนอ โดยสรุปข้อมูล ณ วันที่ 2 มิถุนายน 2563 ซึ่งได้รับข้อมูลจาก 146 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 99 ของส่วนราชการทั้งหมด (147 ส่วนราชการ) สรุปข้อมูลดังนี้
                   1. การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ  (Work From Home)   
                             1.1 ส่วนราชการร้อยละ 94 (138 ส่วนราชการ) มีการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ และส่วนราชการร้อยละ 45 (66 ส่วนราชการ) กำหนดให้มีจำนวนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งร้อยละ 50 ขึ้นไป  (ลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมี 83 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 57) โดยในจำนวนนี้มีส่วนราชการร้อยละ 14 (21 ส่วนราชการ)  มอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (ลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมี 29 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 18) ทั้งนี้ มีการมอบหมายให้ปฏิบัติงานที่บ้านในหลายรูปแบบ เช่น ปฏิบัติงานที่บ้านสลับกับการมาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของส่วนราชการ วันเว้นวัน สัปดาห์ละ 1 วัน สัปดาห์ละ 2 วัน สัปดาห์เว้นสัปดาห์ เป็นต้น
                              1.2 ส่วนราชการร้อยละ 6 (8 ส่วนราชการ) มีการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทุกคนปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ เช่น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา เป็นต้น
                    2. การเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ
                              2.1 ส่วนราชการกำหนดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่เหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานเมื่อจำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 55 กำหนดการเหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานเป็น 3 ช่วงเวลา คือ เวลา 7.30 – 15.30 น. เวลา 8.30 – 16.30 น. และเวลา 9.30 – 17.30 น.
                              2.2 ส่วนราชการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งตามวันเวลาปกติในบางลักษณะงาน โดยลักษณะงานส่วนใหญ่ คือ งานให้บริการประชาชน งานรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล งานในห้องปฏิบัติการ งานควบคุมผู้ต้องขัง  งานจัดเก็บภาษี
                    3. แนวทางการบริหารงานของส่วนราชการ
                              3.1 การกำกับดูแลและบริหารผลการทำงาน ส่วนราชการร้อยละ 100 กำหนดให้มีระบบรายงานผลงานผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 56 ให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รายงานความก้าวหน้าของงานทั้งรายวันและรายสัปดาห์ ผ่าน Application LINE  ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ และ Google From
                              3.2 การนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงาน ส่วนราชการมีการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานโดยส่วนใหญ่เลือกใช้ Application LINE  ร้อยละ 99 Application Zoom ร้อยละ 66 Microsoft Team ร้อยละ 32 Cisco Webex ร้อยละ 25 ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่ใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์แบบพกพาและโทรศัพท์เคลื่อนที่ เช่นเดียวกับข้อมูลในสัปดาห์ที่ผ่านมา
                    4. ข้อจำกัดของส่วนราชการ ในการมอบหมายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ ได้แก่ การขาดความพร้อมด้านอุปกรณ์ปฏิบัติงานและสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ต   การขาดความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในการใช้เทคโนโลยีในการปฏิบัติงาน ความไม่สะดวกในการติดต่อสื่อสารและ                     การประสานงานในกรณีเร่งด่วน งานเกี่ยวกับเอกสารราชการที่ยังคงมีความจำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้ง และลักษณะงานที่ต้องลงพื้นที่เพื่อพบปะติดต่อสื่อสารกับเกษตรกร เป็นต้น ไม่สามารถดำเนินการได้ ทำให้ผลการปฏิบัติงานไม่เป็นตามแผนที่กำหนด
                    5. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิบัติงานใน-นอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ ได้แก่ ควรจัดให้มีอุปกรณ์รองรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ควรสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานที่บ้าน เช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าบริการอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
 
20. เรื่อง รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจในสัปดาห์ช่วงระหว่างวันที่ 25 – 29 พฤษภาคม 2563 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
                   สาระสำคัญ
                   รัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มีจำนวน 55 แห่ง ลดลง 1 แห่ง จากที่ได้รายงานในสัปดาห์ก่อนหน้า (ช่วงระหว่างวันที่ 18 – 22 พฤษภาคม 2563) เนื่องจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) พ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 โดยผลสัมฤทธิ์ฯ ของรัฐวิสาหกิจในสัปดาห์ช่วงระหว่างวันที่ 25 – 29 พฤษภาคม 2563 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                   1. การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ (ปฏิบัติงานที่บ้านหรือที่พักหรือสถานที่ตามที่รัฐวิสาหกิจกำหนด)
                       รัฐวิสาหกิจ 50 แห่ง ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง และมีรัฐวิสาหกิจ 5 แห่ง ได้แก่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด โรงพิมพ์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร และองค์การสุรา กรมสรรพสามิต ที่ให้พนักงานกลับมาปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งตามปกติแล้ว เช่นเดียวกับสัปดาห์ก่อนหน้า (ช่วงระหว่างวันที่ 18 – 22 พฤษภาคม 2563) ทั้งนี้ จากจำนวนพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด จำนวน 272,340 คน มีพนักงานและลูกจ้างปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งจำนวน 55,166 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 20
                   2. การปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ
                        รัฐวิสาหกิจ 32 แห่ง ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานเหลื่อมเวลา โดยมีช่วงเวลาเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่เวลา 6.00 น. – 10.30 น. เช่นเดียวกับสัปดาห์ก่อนหน้า (ช่วงระหว่างวันที่ 18 – 22 พฤษถาคม 2563)
                   3. แนวทางการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจ
                        รัฐวิสาหกิจที่ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งมีการติดตามผลการปฏิบัติงานทั้งเป็นรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน ขึ้นอยู่กับประเภทของงาน ซึ่งรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มีการกำกับ ติดตาม และบริหารผลการปฏิบัติงานผ่านแอปพลิเคชัน Line ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ และระบบการติดตามงานและการลงเวลาปฏิบัติงานที่องค์กรพัฒนาขึ้นเอง โดยรัฐวิสาหกิจยังคงใช้แอปพลิเคชัน Line มาสนับสนุนการปฏิบัติงานมากที่สุด ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจมีข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งว่า ควรเตรียมอุปกรณ์และระบบเพื่อรองรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งให้เพียงพอ และควรพัฒนาระบบการปฏิบัติงานขององค์กรให้สามารถรองรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้ ซึ่งรวมถึงมีการจัดเก็บข้อมูลหรือเอกสารให้อยู่ในรูปแบบของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งควรพิจารณาลักษณะงานที่จำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งเท่านั้น เช่น การให้บริการประชาชน และสำหรับงานอื่นที่ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้ง ควรพิจารณาเปลี่ยนรูปแบบเป็นการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งแทน
 
21. เรื่อง โครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ฤดูการผลิตปี 2562/2563
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่เหมาะสม ตามโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ฤดูการผลิตปี 2562/2563 ตามความเห็นของกระทรวงการคลัง โดยกำหนดอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยในวงเงิน 6,500 ล้านบาท แก่ชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยเข้าโรงงานทุกราย ในอัตราตันละ 85 บาท รายละไม่เกิน 5,000 ตัน และวงเงิน 3,500 ล้านบาท ช่วยเหลือเฉพาะชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดเข้าโรงงานทุกตันอ้อย ในอัตราตันละ 92 บาท ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ
 

ต่างประเทศ

 
22. เรื่อง การแต่งตั้งหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทยการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (ASEAN Ministerial Meeting on Transnational Crime: AMMTC) และการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานด้านอาชญากรรมข้ามชาติ
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานด้านอาชญากรรมข้ามชาติ โดยไม่ต้องเสนอให้จัดทำเป็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานด้านอาชญากรรมข้ามชาติขึ้นอีก ทั้งนี้ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติถือปฏิบัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะกรรมการต่างๆ ตามแนวทางอย่างเคร่งครัด  สำหรับการพิจารณามอบหมายผู้แทนที่เหมาะสมเพื่อทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทยในการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาตินำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณามอบหมายต่อไป  ตามนัย ข้อ 14 วรรคหนึ่ง (1) ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุมัติให้เดินทางไปราชการและการจัดการประชุมของทางราชการ พ.ศ. 2524 
                    สาระสำคัญ
                    การเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานด้านอาชญากรรมข้ามชาติตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 (เรื่อง คณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี) ที่ให้ส่วนราชการพิจารณาเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการที่ยังมีภารกิจสำคัญและจำเป็นจะต้องคงอยู่ต่อไป ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติเห็นว่าคณะกรรมการประสานงานด้านอาชญากรรมข้ามชาติมีบทบาทในการเป็นผู้แทนส่วนราชการไทยในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (ASEAN Senior Officials Meeting on Transnational Crime: SOMTC) และการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (ASEAN Ministerial Meeting on Transnational Crime: AMMTC) โดย SOMTC และ AMMTC  เป็นองค์กรสาขาภายใต้ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political and Security Community) ได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อกำหนดนโยบายด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติในภูมิภาคอาเซียนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งมีการจัดประชุมร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยในการประชุมครั้งต่อไปของ SOMTC ครั้งที่ 20 กำหนดจะจัดขึ้น ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และการประชุม AMMTC ครั้งที่ 14 กำหนดจะจัดขึ้น ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขอความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกอาเซียนในการกำหนดวันประชุม ทั้งนี้ ได้ขอเพิ่มเติมองค์ประกอบกรรมการในคณะกรรมการดังกล่าว จำนวน 3 ตำแหน่ง ได้แก่ ผู้แทนกองทัพเรือ ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ และผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อให้มีความเหมาะสมเป็นปัจจุบัน สอดคล้องกับส่วนราชการและหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทยที่มีความเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งจะส่งเสริมให้การดำเนินงานและประสานความร่วมมือในกรอบความร่วมมือดังกล่าวเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
 
23.  เรื่อง  การขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาว่าด้วยการบรรเทาผลกระทบของโควิด-19  ต่อกลุ่มเปราะบางในอาเซียน (Joint Statement of the ASEAN Ministerial Meeting on Social Welfare and Development on Mitigating Impacts of COVID-19 on Vulnerable Groups in ASEAN)
                   คณะรัฐมนตรีมีติเห็นชอบในหลักการต่อร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาว่าด้วยการบรรเทาผลกระทบของโควิด-19 ต่อกลุ่มเปราะบางในอาเซียน โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ต่อประเทศไทยให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดำเนินการได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาสมัยพิเศษ ว่าด้วยการบรรเทาผลกระทบของโควิด-19 ต่อกลุ่มเปราะบางในอาเซียน ร่วมรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาว่าด้วยการบรรเทาผลกระทบของโควิด-19 ต่อกลุ่มเปราะบางในอาเซียน ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความความมั่นคงของมนุษย์เสนอ
                   สาระสำคัญของร่างถ้อยแถลงฯ ดังกล่าวเพื่อประกาศเจตนารมณ์ร่วมของรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา ในการตระหนักถึงความร้ายแรงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของ เด็ก สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้ กลุ่มคนชายขอบในสังคม และความจำเป็นในการปกป้องคุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มคนเหล่านี้อย่างเร่งด่วน โดยให้คำมั่นว่าจะดำเนินการและผลักดันในประเด็นต่อไปนี้
                             ก. สร้างหลักประกันการเข้าถึงการคุ้มครองทางสังคมในเวลาที่เหมาะสมด้วยการจัดสรรงบประมาณภาครัฐที่เพียงพอสำหรับการช่วยเหลือสังคม
                             ข. ปกป้องสิทธิ ความปลอดภัย และศักดิ์ศรี
                             ค. สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพและความปลอดภัยให้นักสังคมสงเคราะห์
                             ง. เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในระดับชาติและความร่วมมือระหว่างสาขาในระดับอาเซียน
                             จ. มุ่งมั่นที่จะพัฒนาโครงการฟื้นฟูเยียวยาภายหลังการสิ้นสุดของการแพร่ระบาดแบบบูรณาการและครอบคลุม
                             ฉ. ยึดมั่นที่จะพัฒนาแผนงานและมาตรการต่อเนื่องที่ผนวกรวมประเด็นคนพิการคำนึงถึงมิติหญิงชาย ตระหนักถึงมิติด้านอายุ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็ก
 
 
 

แต่งตั้ง

24. เรื่อง การแต่งตั้งผู้ไปปฏิบัติงานตามมติคณะรัฐมนตรีกลับเข้ารับราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงยุติธรรม)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเสนอแต่งตั้ง นายพสิษฐ์   อัศววัฒนาพร ผู้ไปปฏิบัติงานตามมติคณะรัฐมนตรีกลับเข้ารับราชการให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาเฉพาะด้านกฎหมายมหาชน (นิติกรทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2563 สำหรับในส่วนของเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และค่าตอบแทนพิเศษนอกเหนือจากเงินเดือน ให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
                   ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมได้มีคำสั่งให้ นายพสิษฐ์ อัศววัฒนาพร ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง  ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย (นิติกรทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม ลาออกจากราชการเพื่อไปปฏิบัติงานตามมติคณะรัฐมนตรี (ซึ่งคำสั่งดังกล่าวออกตามความในมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 และตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์การสั่งให้ข้าราชการไปทำการ ซึ่งให้นับเวลาระหว่างนั้นเหมือนเต็มเวลาราชการ พ.ศ. 2550) โดยปฏิบัติหน้าที่ที่สถาบันอนุญาโตตุลาการ เป็นเวลา 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2559 ซึ่งจะครบกำหนด 4 ปี ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 โดยนายพสิษฐ์    อัศววัฒนาพร ได้ยื่นแบบขอกลับเข้ารับราชการ ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2563 เนื่องจากครบกำหนด 4 ปี  
 
25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงอุตสาหกรรม)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอการแต่งตั้ง นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา ให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป
 
26. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง รวม 10 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี ดังนี้ 
                   ประธานกรรมการ
                   1. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ
                   กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 
                   2. นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ 
                   3. นายนิพนธ์ ฮะกีมี 
                   4. นายบุญอนันต์ วรรณพานิชย์ 
                   5. นายประสงค์ วินัยแพทย์ 
                   6. นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง
                   7. นายฤทัย หงส์สิริ
                   8. นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์
                   9. นายอธิคม อินทุภูติ
                   10. นายเอกบุญ วงศ์สวัสดิ์กุล 
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป
 
27. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการธนาคารออมสิน
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้คณะกรรมการธนาคารออมสินมีจำนวนทั้งสิ้น 13 คน (นับรวมคณะกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งไว้แล้ว และผู้อำนวยการซึ่งเป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง) ตามมาตรา 6 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และอนุมัติแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการธนาคารออมสินเพิ่มเติม ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
                   1. นายวิจักษณ์ อภิรักษ์นันท์ชัย    กรรมการ
                   2. นายก้อง รุ่งสว่าง                 กรรมการ
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป โดยให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในวาระเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
 
 
..............
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: