สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP สินค้าไทย 231 รายการ ตอบโต้ไทยไม่เปิดตลาดสุกร พานิชย์ชี้กระทบ 600 ล้านบาท

กองบรรณาธิการ TCIJ | 8 พ.ย. 2563 | อ่านแล้ว 10583 ครั้ง

สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP สินค้าไทย 231 รายการ อ้างเหตุไทยไม่เปิดตลาดสินค้าสุกร หลังสภาผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติของสหรัฐฯ กดดันมาหลายปี – กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ระบุปี 2562 จากสินค้า 231 รายการที่ถูกตัดสิทธิ ใช้สิทธิ์จริง 147 รายการ กระทบประมาณ 600 ล้านบาท ไม่ใช่ 25,000 ล้านบาท - 7 เดือนแรกปี 2563 ไทยใช้สิทธิ GSP ส่งออกไปสหรัฐฯ 2,243.21 ล้านดอลลาร์ฯ คิดเป็นสัดส่วน 83.24% ของรายการที่ได้รับสิทธิ -นักวิชาการระบุผลกระทบทางลบต่อภาคส่งออกไทยมีไม่มากนัก ชี้ไม่มีความจำเป็นเปิดตลาดเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงเพราะได้ไม่คุ้มเสีย คาดหาก 'โจ ไบเดน' ชนะการเลือกตั้ง มีแนวโน้มสูงที่จะนำเอาประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน และประชาธิปไตยมาเป็นประเด็นสำคัญพิจารณาเรื่องการค้า

เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2563 นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น เปิดเผยว่าสหรัฐฯ จะระงับสิทธิพิเศษทางการค้าสำหรับสินค้าบางรายการของประเทศไทยภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 ธ.ค. 2563 นี้

"ผมพิจารณาแล้วพบว่า ไทยไม่ได้ให้ความมั่นใจกับสหรัฐฯ ว่าไทยจะเปิดโอกาสให้สหรัฐฯ เข้าถึงตลาดของไทยได้อย่างเท่าเทียมและสมเหตุสมผล" ทรัมป์ระบุในจดหมายที่ส่งถึงรัฐสภาสหรัฐฯ

"ด้วยเหตุนี้ ผมจึงพิจารณาแล้วว่า เป็นการเหมาะสมที่สหรัฐฯ จะระงับ GSP สำหรับสินค้าของประเทศไทย" ทรัมป์ระบุ

สำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐ (USTR) เปิดเผยว่าระบบ GSP ได้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจโดยอนุญาตให้มีการส่งสินค้าปลอดภาษี 3,500 รายการจากประเทศและเขตแดนกว่า 100 แห่งไปยังสหรัฐฯ [1]

GSP คืออะไร?

GSP ย่อมาจาก Generalized System of Preferences คือสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกาการ ที่ประเทศพัฒนาแล้วให้กับประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา โดยเป็นการลดภาษีสินค้านำเข้าให้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้สินค้าจากประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา สามารถแข่งขันกันสินค้าจากประเทศพัฒนาแล้วได้

โดยสิทธิ GSP นี้ ถือเป็นการให้ฝ่ายเดียว (unilateral) กล่าวคือประเทศที่ให้สิทธิ GSP นั้น ไม่ได้เรียกร้องผลประโยชน์ใด ๆ ตอบแทนจากประเทศผู้รับ แต่การให้สิทธิ GSP นี้ก็เป็นการให้แบบมีเงื่อนไข กล่าวคือประเทศผู้รับจะต้องมีคุณสมบัติเข้าเงื่อนไขต่าง ๆ ตามที่ประเทศผู้ให้สิทธิกำหนด เช่นในกรณีของสิทธิ GSP จากสหรัฐฯ จะมอบให้กับประเทศที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว (GNP per capita) ไม่เกิน 12,735 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น โดยในปี 2561 GNP per capita ของไทยอยู่ที่ประมาณ 7,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ จึงเข้าเงื่อนไขดังกล่าวนี้ในการรับสิทธิ GSP จากสหรัฐฯ

นอกจากนี้ สำหรับการรับสิทธิจากสหรัฐฯ ยังมีเงื่อนไขอื่น ๆ กำหนดไว้อีก เช่น จะต้องมีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ดีพอ มีการคุ้มครองแรงงานในระดับที่นานาชาติยอมรับ มีการเปิดตลาดสินค้าและบริการอย่างสมเหตุผล รวมถึงหากเป็นประเทศที่มีการก่อการร้ายสากล ก็จะต้องเป็นประเทศที่ให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการต่อต้านการก่อการร้ายด้วย 

ทั้งนี้ไม่ใช่เพียง สหรัฐฯ เท่านั้นที่ได้ให้สิทธิ GSP กับไทย ที่ผ่านมาไทยเคยรับสิทธิ GSP จากหลายประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ สหภาพยุโรป ตุรกี แคนาดา รัสเซียและเครือรัฐเอกราช เป็นต้น 

อนึ่ง ไทยโดนตัดสิทธิ GSP มาหลายครั้งแล้วเช่นเมื่อปี 2558 ไทยเคยโดนสหภาพยุโรป ตุรกี และแคนาดา ตัดสิทธิ GSP มาแล้ว  ต่อมาในช่วงปี 2562 ประเทศญี่ปุ่นก็ได้ตัดสิทธิ GSP ที่เคยให้กับไทยด้วย

 

กรมการค้าต่างประเทศเผยเพราะไทยไม่เปิดตลาดสินค้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์

การตัดสิทธิ GSP  ของสหรัฐฯ ครั้งนี้  เชื่อมโยงกับการกดดันให้ไทยเปิดตลาดสินค้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากสหรัฐฯ เห็นว่าการเปิดตลาดสินค้าของไทยนั้น ไม่อยู่ในระดับที่เท่าเทียมและสมเหตุสมผล แม้ไทยชี้แจงอย่างต่อเนื่องถึงผลกระทบด้านสุขภาพและสุขอนามัยของประชาชน | ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ต่อมาในวันที่ 31 ต.ค. 2563 นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่าได้รับการแจ้งจากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ถึงประกาศประธานาธิบดีสหรัฐฯ (Presidential Proclamation) เกี่ยวกับผลการพิจารณาตัดสิทธิ GSP ของสหรัฐฯ ซึ่งครั้งนี้เป็นการทบทวนรายประเทศ (Country Practice) โดยเป็นเรื่องของการเปิดตลาดสินค้าและบริการ ประเด็นการเปิดตลาดสินค้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากสหรัฐฯ เห็นว่าการเปิดตลาดสินค้าของไทยนั้น ไม่อยู่ในระดับที่เท่าเทียมและสมเหตุสมผล แม้ไทยชี้แจงอย่างต่อเนื่องถึงผลกระทบด้านสุขภาพและสุขอนามัยของประชาชน โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 30 ธ.ค. 2563 เป็นต้นไป (อ่านเพิ่มเติมในล้อมกรอบ ‘สงครามเนื้อหมู ไทย-สหรัฐฯ’)

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่าการให้สิทธิ GSP นั้นเป็นการให้ฝ่ายเดียวโดยสหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมาไทยและสหรัฐฯ ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้มาโดยตลอดผ่านเวที TIFA (Trade and Investment Framework Agreement) โดยหลังจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ จะเร่งดำเนินการในการประสานกับฝ่ายสหรัฐฯ ซึ่งสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United States Trade Representative: USTR) ยินดีหากไทยจะหาทางออกร่วมกันในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากสิทธิ GSP จะช่วยทำให้ผู้ส่งออกไทยและผู้นำเข้าสหรัฐฯ สามารถลดภาระภาษี ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ

พร้อมกันนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมพร้อมมาตรการรองรับผลกระทบจากการระงับสิทธิฯ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยแล้ว โดยในเบื้องต้นวางแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างหลากหลาย อาทิ Online Business Matching สำหรับสินค้าที่มีความต้องการในตลาดสหรัฐฯ และตลาดใหม่ การจัดกิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทยในงานแสดงสินค้าในสหรัฐฯ และตลาดใหม่ การส่งเสริมสินค้าไทยเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยใช้ช่องทาง Cross border e-commerce เข้าสู่ผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ และตลาดใหม่โดยตรง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้หารือ และทำความเข้าใจกับภาคเอกชนตลอดมา เพื่อเตรียมการรองรับและเน้นในเรื่องกลยุทธ์การตลาดที่ให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพมาตรฐานสินค้ามากกว่าการแข่งขันด้านราคา [2]

สงครามเนื้อหมู ไทย-สหรัฐฯ

ข้อมูลจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เมื่อปี 2561 ระบุว่าสหรัฐฯ ต้องการนำเนื้อหมูรวมถึงเศษชิ้นส่วนที่คนอเมริกันไม่ทาน ทั้งหัว ขา เครื่องใน ส่งออกมาขายในไทย ซึ่งไม่เฉพาะผู้บริโภคเท่านั้นที่ต้องเสี่ยงกับการต้องกินหมูสหรัฐฯ ที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงหมูได้อย่างอิสระ หากแต่เกษตรกรคนไทยทั้งคนเลี้ยงหมู 195,000 ราย และห่วงโซ่การผลิตทั้งอุตสาหกรรมตั้งแต่ เกษตรกรผู้ปลูกพืชทั้งส่วนของรำข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ภาคอาหารสัตว์ จนถึงเวชภัณฑ์สัตว์ไทย รวมกันกว่า 2 แสนราย อาจต้องล่มสลายเพราะไม่สามารถแข่งขันกับหมูสหรัฐฯ ได้

นักวิจัยของ EfeedLink, Singapore ได้เคยวิเคราะห์ความพยายามของสหรัฐฯ ในกรณีนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ว่าเนื่องจากไทยกับ สหรัฐ มีการเลี้ยงหมูที่แตกต่าง โดยเฉพาะการใช้สารปรับสภาพซากซึ่งเป็นสารเร่งเนื้อแดง-แร็กโตพามีน (Ractopamine) ที่ใช้กันเป็นปกติในสหรัฐฯ แต่ในประเทศไทยเป็นสารต้องห้ามตามกฎหมายทั้งห้ามใช้ผสมอาหารสัตว์ ห้ามปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้า-อะโกนิสต์ (Beta-Agonist) ทำให้เป็นข้อกำหนดที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายห้ามของไทยประกอบด้วย ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะของอาหารสัตว์ที่ไม่อนุญาตให้นำเข้าเพื่อขาย และกำหนดชื่อ ประเภท ชนิด ลักษณะคุณสมบัติและส่วนประกอบของวัตถุที่เติมในอาหารสัตว์ที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตอาหารสัตว์ พ.ศ.2545 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 269) พ.ศ.2546 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้า-อะโกนิสต์ 

ขณะที่สหรัฐฯ พยายามแก้ปมสารเร่งเนื้อแดงของตัวเองในเวทีที่ประชุม CODEX ครั้งที่ 35 เมื่อปี 2555 โดยสามารถชนะมติ MRL ของ Ractopamine แบบไม่เป็นเอกฉันท์จากประเทศสมาชิก 69 ต่อ 67 โดยไทยวางตัวเป็นกลาง ทั้ง ๆ ที่มีกฎหมาย 2 ฉบับในประเทศที่ห้ามใช้ผสมอาหารสัตว์ ห้ามปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้า-อะโกนิสต์ ดังกล่าวข้างต้น

ระหว่างการยื่นร่างมาตรฐานนี้ กลุ่มสหภาพยุโรป นอร์เวย์ สมาพันธรัฐสวิส อียิปต์ รัสเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีนคัดค้านการรับรองร่างมาตรฐานนี้ โดยสหภาพยุโรปได้แสดงเจตจำนงที่จะยังคงกฎหมายของสหภาพยุโรปในปัจจุบันไว้ เนื่องจากประเด็น safety concerns นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเทศได้ขอบันทึกความไม่เห็นชอบในการรับรองครั้งนี้ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน เคนยา อียิปต์ ตุรกี โครเอเชีย อิหร่าน รัสเซียและซิมบับเวย์

หลังจากนั้นสหรัฐอ้างมติ CODEX กดดันให้ไทยเปิดตลาดเนื้อหมูมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 โดยดำเนินการผ่านที่ประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุน ไทย-สหรัฐฯ (TIFA JC) ที่มีตัวแทนหน่วยงานราชการฝ่ายไทยและผู้แทนการค้าสหรัฐร่วมประชุมปีละ 2 ครั้ง และในการประชุมอื่น ๆ อีกหลายครั้งในระดับทวิภาคี 

นอกจากนี้สภาผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติของสหรัฐฯ (NPPC) รุกหนักขึ้นผ่านผู้แทนทางการค้า (USTR) โดยเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) ที่ให้กับภาคส่งออกของไทย หรือแม้แต่ 44 สมาชิกสภาคองเกรส ก็ยังร่วมลงนามและยื่นหนังสือถึงเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสหรัฐอเมริกา ให้เปิดตลาดเนื้อหมูและยังไม่ลืมอ้างการขอให้รัฐบาลสหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP 

นักวิจัยของ EfeedLink, Singapore ยังวิเคราะห์จากปมประเด็นดังกล่าว จากการผูกโยงกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยถือปฏิบัติ และกฎขององค์การการค้าโลก WTO สำหรับกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยถือปฏิบัติ เป็นไปตามแนวทาง ทฤษฎีทวินิยม (Dualism) ทฤษฎีนี้ถือว่ากฎหมายภายในกับกฎหมายระหว่างประเทศ มีลักษณะที่แตกต่างกัน ไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน เป็นกฎหมายคนละระบบแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด แตกต่างกันทั้งที่มา การบังคับใช้ และความผูกพัน ในการณ์นี้ ถ้ากฎหมายภายในขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ ยังถือว่ากฎหมายภายในสมบูรณ์อยู่ใช้บังคับได้ภายในรัฐ แต่ถ้าการบังคับใช้กฎหมายภายในดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐอื่น รัฐนั้นในฐานะเป็นบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศ ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายนั้นด้วย นอกจากนี้ รัฐที่นิยมในทฤษฎีดังกล่าว เมื่อเข้าผูกพันในกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ในกรณีที่จะนำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับในประเทศ จะนำมาใช้บังคับเลยไม่ได้ จะต้องนำกฎหมายนั้นมาแปลงให้เป็นกฎหมายภายในเสียก่อน อาทิ ออกประกาศ หรือ พ.ร.บ. รองรับ

ประเทศไทยถือว่า กฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศมีฐานะเท่าเทียมกัน และเป็นอิสระจากกันและกัน ดังนั้นจึงไม่อาจที่จะนำกฎหมายระหว่างประเทศมาบังคับใช้ภายในประเทศได้โดยอัตโนมัติ แต่ต้องผ่านกระบวนการเปลี่ยนหรือแปลงรูปกฎหมายนั้นให้เป็นกฎหมายภายในเสียก่อนจึงจะสามารถนำมาบังคับใช้ได้ ส่วนกฎขององค์การการค้าโลก WTO ที่สหรัฐอ้างถึงเชิงเปรียบเทียบแม้ไม่ได้กล่าวตรง ๆ ดังที่ NPPC ของสหรัฐฯ กล่าวในแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์

สำหรับประเด็นที่ NPPC กล่าวว่าประเทศไทยไม่เปิดตลาดเนื้อหมูและเครื่องในหมูให้สหรัฐ แต่มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ (เครื่องใน) จากประเทศอื่น ๆ ... Thailand also does not import uncooked pork and pork offal from the United States, even though it imports these products from other international supplies. เท่ากับอ้างถึง "หลักการไม่เลือกปฏิบัติ" (Non-Discrimination Principles) ถึงแม้ไทย-สหรัฐ ไม่มีข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างกัน แต่สหรัฐฯ ก็อ้างถึงการเป็นสมาชิก WTO เหมือนกับประเทศที่ไทยนำเข้าเครื่องในจากประเทศที่กล่าวถึง ปัจจุบันนำเข้า 5 ประเทศหลักคือ จีน เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน อิตาลี นอกนั้นจะมี เกาหลีใต้ เบลเยี่ยม โปแลนด์ บราซิล หากแต่ประเทศที่กล่าวมานี้ไม่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง [3]

 

ปี 2562 มีรายการถูกตัดสิทธิ 231ใช้สิทธิจริง 147 ชี้กระทบราว 600 ลบ. ไม่ใช่ 25,000 ลบ.

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ยังระบุอีกว่าจากการที่สหรัฐฯ ตัด GSP ของไทยโดยมีสาเหตุจากการเปิดตลาดสินค้าและบริการ ประเด็นการเปิดตลาดสินค้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากสหรัฐฯ เห็นว่าการเปิดตลาดสินค้าของไทยนั้น ไม่อยู่ในระดับที่เท่าเทียมและสมเหตุสมผล แม้ไทยชี้แจงอย่างต่อเนื่องถึงผลกระทบด้านสุขภาพและสุขอนามัยของประชาชน โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 30 ธ.ค. 2563 เป็นต้นไป ทั้งนี้การตัดสิทธิฯ ดังกล่าวมีจำนวน 231 รายการ เป็นสินค้าที่มีการใช้สิทธิฯ จริงในปี 2562 จำนวน 147 รายการ คิดเป็นภาษีที่ต้องกลับไปเสียในอัตราปกติมูลค่าประมาณ 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 600 ล้านบาท มิใช่ 25,000 ล้านบาท มีสินค้าที่ได้รับผลกระทบ อาทิ อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ พวงมาลัยรถยนต์ กรอบโครงสร้างแว่นตาทำด้วยพลาสติก เคมีภัณฑ์ เกลือฟลูออรีน ที่นอนและฟูกทำด้วยยางหรือพลาสติก หีบกล่องทำจากไม้ ตะปูควงสำหรับใช้กับไม้ อะลูมิเนียมเจือแผ่นบาง เป็นต้น

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า การให้สิทธิฯ GSP นั้นเป็นการให้ฝ่ายเดียวโดยสหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมาสหรัฐฯ มีการทบทวนคุณสมบัติของประเทศที่ได้รับสิทธิฯ อย่างต่อเนื่อง และในปี 2562 ได้ประกาศระงับสิทธิฯ GSP ทั้งประเทศ กับอินเดีย และตุรกี ด้วยเหตุผลด้านการเปิดตลาดสินค้าและบริการ และด้านเกณฑ์ระดับการพัฒนาประเทศ ตามลำดับ และได้ระงับสิทธิฯ บางรายการสินค้ากับยูเครน ด้วยเหตุผลด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากนี้ ยังมีหลายประเทศที่สหรัฐฯ อยู่ในระหว่างการพิจารณาระงับสิทธิฯ GSP เพิ่มเติมด้วยเหตุผลการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ อินโดนีเซีย และแอฟริกาใต้ และในประเด็นการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เช่น เอริเทรีย ซิมบับเว คาซัคสถาน และอาเซอร์ไบจัน เป็นต้น

สำหรับการพิจารณาต่ออายุโครงการ GSP ที่สหรัฐอเมริกาให้สิทธิฯ แก่ทุกประเทศ (119 ประเทศกำลังพัฒนา และพัฒนาน้อยที่สุด) จะสิ้นสุดอายุโครงการในวันที่ 31 ธ.ค. 2563 ขณะนี้ สหรัฐฯ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อต่ออายุโครงการ GSP โดยจะต้องออกเป็นกฎหมาย ทั้งนี้ อาจมีความล่าช้าและต่ออายุไม่ทันระยะเวลาสิ้นสุดโครงการ ซึ่งโดยปกติแล้ว ขั้นตอนการพิจารณาเพื่อต่ออายุโครงการอาจใช้เวลาหลายเดือน และต่ออายุให้หลังจากหมดอายุแทบทุกครั้ง และที่ผ่านมา หากสหรัฐฯ ต่ออายุโครงการไม่ทันกำหนดเวลาสิ้นสุดโครงการ สหรัฐฯ จะให้สิทธิฯ ย้อนหลัง เพื่อให้การให้สิทธิ GSP เป็นไปอย่างต่อเนื่อง อย่างกรณีการต่ออายุครั้งล่าสุดเมื่อปี 2561 สหรัฐฯ ได้ประกาศต่ออายุในเดือน มี.ค. 2561 โดยให้มีผลใช้บังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 ซึ่งผู้ส่งออกมีความเข้าใจเรื่องดังกล่าวอย่างดีอยู่แล้ว

สำหรับแนวทางการส่งเสริมการค้าระหว่างสองประเทศ และรองรับผลกระทบจากการตัดสิทธิฯ ดังกล่าว หลังจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ จะเร่งดำเนินการในการประสานกับฝ่ายสหรัฐฯ ซึ่งสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United States Trade Representative: USTR) ยินดีหากไทยจะหาทางออกร่วมกัน เนื่องจากสิทธิฯ GSP จะช่วยทำให้ผู้ส่งออกไทยและผู้นำเข้าสหรัฐฯ สามารถลดภาระภาษี ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ พร้อมกันนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมพร้อมมาตรการรองรับผลกระทบจากการระงับสิทธิฯ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยแล้ว โดยในเบื้องต้นวางแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างหลากหลาย อาทิ Online Business Matching สำหรับสินค้าที่มีความต้องการในตลาดสหรัฐฯ และตลาดใหม่ การจัดกิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทยในงานแสดงสินค้าในสหรัฐฯ และตลาดใหม่ การส่งเสริมสินค้าไทยเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยใช้ช่องทาง Cross border e-commerce เข้าสู่ผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ และตลาดใหม่โดยตรง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้หารือ และทำความเข้าใจกับภาคเอกชนตลอดมา เพื่อเตรียมการรองรับและเน้นในเรื่องกลยุทธ์การตลาดที่ให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพมาตรฐานสินค้ามากกว่าการแข่งขันด้านราคา [4]

7 เดือนแรกปี 2563 ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ 2,243.21 ล้านดอลลาร์ฯ คิดเป็น 83.24% ของรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิ์ GSP

ข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าใน 7 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-ก.ค.) ไทยมีมูลค่าการค้ารวมกับสหรัฐฯ 29,078.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 1.54 โดยเป็นการส่งออก 19,026.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้า 10,052.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไทยได้ดุลการค้า 8,973.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สินค้าส่งออกสำคัญไปสหรัฐฯ ได้แก่ หน่วยเก็บผลข้อมูลอัตโนมัติ รถถังและยานรบหุ้มเกราะอื่น ๆ ยางนอกใหม่สำหรับรถยนต์นั่ง/รถบรรทุก อุปกรณ์กึ่งตัวนำแบบไวแสงและโฟโตวอลตาอิกเซลล์ เครื่องจักรสำหรับการรับ เปลี่ยน และการส่ง หรือการสร้างเสียง ภาพ หรือข้อมูลอื่น ๆ รวมถึงอุปกรณ์ตัดต่อสัญญาณและจัดเส้นทาง ข้าวที่สีบ้างแล้วหรือสีทั้งหมด ปลาทูน่าปรุงแต่ง เครื่องจักรเกี่ยวกับการพิมพ์ การทำสำเนา หรือการส่งโทรสาร และเครื่องเปลี่ยนกระแสไฟฟ้าชนิดคงที่

สินค้านำเข้าสำคัญจากสหรัฐฯ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ รถถังและยานรบหุ้มเกราะอื่น ๆ ส่วนประกอบวงจรรวม เครื่องกังหันไอพ่น ถั่วเหลืองอื่น ๆ ก๊าซธรรมชาติเหลว ข้าวสาลีและเมสลินอื่น ๆ วงจรรวม อาหารปรุงแต่งอื่น ๆ และ กระปุกเกียร์และส่วนประกอบ

ใน 7 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-ก.ค.) การส่งออกภายใต้สิทธิฯ GSP สหรัฐฯ มีมูลค่า 2,243.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 0.49 คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 83.24 ของมูลค่าการส่งออกรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ GSP [5]

นักวิชาการชี้ผลกระทบทางลบไม่มากนัก ไม่มีความจำเป็นต้องทำตามเงื่อนไขสหรัฐฯ เพราะได้ไม่คุ้มเสีย

เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2563 นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยและอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต นักวิชาการที่มีบทบาทวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ได้ให้ความเห็นว่าผลกระทบทางลบต่อภาคส่งออกไทย เศรษฐกิจไทยโดยรวมไม่มากนักจากการตัดสิทธิ GSP ของสหรัฐฯ ต่อสินค้าไทย 231 รายการและไม่มีความจำเป็นในการทำตามที่สหรัฐฯ ต้องการในการเปิดตลาดเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงเพราะได้ไม่คุ้มเสีย โดยเฉพาะประเด็นทางด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนชาวไทย และประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ น่าจะตัดสินใจบนพื้นฐานผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าความสมเหตุสมผลทางเศรษฐศาสตร์เพื่อรักษาฐานคะแนนจากกลุ่มเกษตรกรสหรัฐฯ สินค้าไทย 231 รายการที่ถูกตัดสิทธิล่าสุดและมีผลตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2563 มีเพียง 147 รายการเท่านั้นที่ผู้ส่งออกไทยใช้สิทธิ สินค้ากลุ่มนี้ (147 รายการ) มีมูลค่านำเข้าเฉลี่ยประมาณ 600-700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี เมื่อเสียภาษีเพิ่ม 4-5% คิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 20-30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 640-960 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อบริษัทส่งออกขนาดกลางขนาดเล็กที่อาศัยตลาดสหรัฐฯ เป็นหลัก อาจจะกระทบมากพอ สมควร ฉะนั้นต้องเร่งหาตลาดใหม่ทดแทนหากแข่งขันไม่ได้ในด้านราคาในตลาดสหรัฐฯ อันเป็นผลที่ไม่ได้รับสิทธิ GSP แล้ว สินค้าส่งออกที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ กระปุกเกียร์ ผลิตภัณฑ์ยางหลากหลายประเภท กรอบแว่นตา เคมีภัณฑ์ อลูมิเนียมแผ่นบาง เป็นต้น ผลที่มีต่อตลาดการเงินในประเทศมีจำกัดแต่บริษัทที่ผลิตและส่งออกสินค้าประเภทดังกล่าวในตลาดหลักทรัพย์อาจได้รับผลกระทบบ้าง โดยราคาหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์และกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางที่ราคาปรับขึ้นไปก่อนหน้านี้อาจปรับฐานลดลงได้จากข่าวการตัด GSP ดังกล่าว

ส่วนความเคลื่อนไหวของเงินบาทไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญใด ๆ ขณะที่ไทยยังคงใช้สิทธิและยังไม่ถูกตัดสิทธิ GSP ในสินค้าอีก 638 รายการ โดยตนมองว่าผู้ประกอบการไทยควรเตรียมหาตลาดใหม่ ๆ ไว้ทดแทนบ้าง เนื่องจากไทยอาจถูกติดสิทธิ GSP จากการอ้างเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ในระยะต่อไป และหาก 'โจ ไบเดน' ชนะการเลือกตั้งมีแนวโน้มสูงที่จะนำเอาประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงานและประชาธิปไตยมาเป็นประเด็นสำคัญในการกำหนดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศมากขึ้น [6]

 

ที่มาข้อมูล
[1] ทรัมป์ประกาศตัด GSP สินค้าไทย-มีผล 30 ธ.ค.นี้ (สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 30 ต.ค. 2563)
[2] “พาณิชย์” พร้อมเดินหน้าช่วยภาคเอกชนรับมือสหรัฐฯ ระงับสิทธิฯ GSP สินค้าไทย อ้างไทยไม่เปิดตลาดสุกรและผลิตภัณฑ์ (กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, 31 ต.ค. 2563)
[3] สารเร่งเนื้อแดงในหมูสหรัฐ...หายนะหมูไทย (สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ, 6 ส.ค. 2561)
[4] “พาณิชย์” ย้ำ สหรัฐฯ ระงับสิทธิฯ GSP สินค้าไทยมีผลกระทบ 600 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าช่วยเอกชนรับมือ (กรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, 2 พ.ย. 2563)
[5] การใช้สิทธิประโยชน์ส่งออกภายใต้สิทธิ GSP ของสหรัฐอเมริกาใน 7 เดือนแรกของปี 2563  (มกราคม-กรกฎาคม) (กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, 26 ต.ค. 2563)
[6] นักวิชาการชี้สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP สินค้าไทย 231 รายการ ไม่กระทบส่งออกมากนัก (ประชาไท, 1 พ.ย. 2563)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: ส่งออกสินค้าไทยภายใต้สิทธิ FTA-GSP ม.ค.-ก.ค. 2563 ลดลง 14.77%

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: