7 พ.ค. ไทยติดเชื้อเพิ่ม 3 คน สะสม 2,992 คน เสียชีวิต 0 คน สะสม 55 คน รักษาหายสะสม 2,772 คน

กองบรรณาธิการ TCIJ 7 พ.ค. 2563 | อ่านแล้ว 1589 ครั้ง

7 พ.ค. ไทยติดเชื้อเพิ่ม 3 คน สะสม 2,992 คน เสียชีวิต 0 คน สะสม 55 คน รักษาหายสะสม 2,772 คน

7 พ.ค. 2563 ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 3 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสม 2,992 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต รวมผู้เสียชีวิตสะสม 55 คน รักษาหาย 11 คน รวมรักษาหายสะสม 2,772 คน แย้ม 17 พ.ค.นี้ คาดว่าจะประกาศผ่อนปรนเปิดกิจการขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้าในระยะ 2 แต่ขอให้ช่วยกันคงตัวเลขผู้ป่วยหลักเดียว

7 พ.ค.2563 Thai PBS รายงานว่า นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าวสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ว่า วันนี้ไทยยังมีผู้ป่วยใหม่เป็นเลขหลักเดียว โดยมีรายใหม่เพิ่มขึ้น 3 คน รวมตัวเลข 2,992 คน หายป่วยเพิ่มขึ้น 11 คน รวมสะสม 2,772 คนและยังรักษาอยู่ที่โรงพยาบาล 165 คน และไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยังคงที่ 55 คน

สำหรับผู้ป่วยใหม่พบจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 1 คน เป็นผู้ป่วยหญิง อายุ 59 ปี ที่ จ.ยะลา สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันจากมาเลเซีย ส่วนอีก 2 คน เป็นผู้ป่วยที่เดินทางมาจากประเทศคาซักสถาน แล้วเข้าเฝ้าดูอาการที่ state quarantine

ส่วนสถานการณ์โลก พบผู้ป่วยใหม่เพิ่มวันเดียว 95,565 คน รวมสะสม 3,822,860 คน อาการหนัก 48,211 คน หายป่วยรวม 1,302,297 คน และเสียชีวิตวันเดียวเพิ่ม 6,750 คน รวมสะสม 265,076 หรือคิดเป็น 6.9% ของผู้ป่วยทั้งหมด สหรัฐอเมริกา ยังมีผู้ป่วยสะสมมากสุด 1,263,092 คน เพิ่มขึ้นวันเดียวกว่า 25,000 คน

“อินเดียยังพบผู้ป่วยมากสุด 52,987 คน เพิ่มขึ้นวันเดียว 3,587 คน รองลงมาคือปากีสถาน และสิงคโปร์ ขณะที่เกาหลีใต้ยังมีผู้ป่วยใหม่เพิ่มรายวันหลักเดียว คือ 4 คน ใกล้เคียงกับไทย”

17 พ.ค.นี้รอผ่อนปรนกิจการบางประเภทระยะที่ 2

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 8-12 พ.ค.นี้ จะเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับประเภทกิจการ และกิจกรรมต่างที่เตรียมจะคลายล็อกเพิ่มเติม โดย และวันที่ 13 พ.ค.จะมีการซักซ้อมความเข้าใจ และยกร่างผ่อนปรนระยะที่ 2

“ภายในวันที่ 17 พ.ค.นี้ ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงจะเริ่มมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 เพิ่มเติม ดังนั้นจึงขอความร่วมมอในการป้องกันไม่ให้ตัวเลขผู้ป่วยเพิ่ม ในช่วงอีก 10 วันข้างหน้านี้ ก่อนจะเข้าสู่ระยะที่ 2 เป็นกิจการขนาดใหญ่ที่มีคนพลุกพล่านมากขึ้น”

ส่วนคำถามว่าจะเปิดห้างสรรรพสินค้า และจะมีมาตรการป้องกันอย่างไร โฆษก ศบค.ระบุว่า ขณะนี้ตามไทม์ไลน์ที่เตรียมไว้ในช่วงสัปดาห์หน้านี้จะมีคำตอบ ซึ่งถ้าดีก็จะเปิดแน่นอน เพื่อให้เศรษฐกิจเดินได้ แต่ไม่ใช่ขึ้นกับภาครัฐ ผู้ประกอบการ และประชาชนต้องร่วมมือกัน เช่น ถ้ามีการออกกฎมาตรการต่างๆมาแล้ว ต้องยอมรับและปฏิบัติ ที่สำคัญยังขอให้ตัวเลขผู้ป่วยใน 10 วันนี้ก็จะชี้วัดว่าเปิดได้หรือไม่ได้

นายกฯ เล็งหน่วยงานรายงาน WFH

โฆษกศบค.กล่าวอีกว่า นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอให้คงมาตรการในประเทศให้เข้มข้น และตรึงการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศให้ได้ เพื่อให้ไทยมีตัวเลขหลักเดียวต่อไป โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แนะว่าให้มีมาตรการเฉพาะของกิจกรรม กิจการต่างๆ ด้วย เช่น รถไฟฟ้า โดยเน้นให้ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมและแก้ปัญหาเพื่อลดความแออัด

ข้อสรุปในที่ประชุมที่เห็นตรงกันคือ การเหลื่อมเวลาทำงาน โดยเบื้องต้นอาจต้องมีการเหลื่อมหลายช่วงเวลา เพราะความแออัดในสถานที่ขนส่งมวล ชน เพราะประชาชนยังไปทำงานกันอยู่มาก ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น และยังต้องเน้นย้ำเรื่องการ Work From Home 50%

“นายกรัฐมนตรี ให้มีระบบการรายงานการทำงานที่บ้าน WFH เพื่อลดการเดินทางและทำงานเหลื่อมเวลา และเป็นไปตามนโยบาย”

นอกจากนี้ยังฝากว่า การทำงานของ ศบค.มีการทำงานแบบวงกว้าง มีทั้งข้าราชการ และผู้บริหารฝ่ายการเมือง ภาคธุรกิจ 20 ที่เป็นผู้นำในประเทศ คณะที่ปรึกษาทางวิชาการ และเราผ่านตรงนี้มาได้ด้วยทีมไทยแลนด์ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ยังขอบคุณว่าความร่วมมือจะเกิดจากประชาชน

ขยายผลตรวจกลุ่มเสี่ยง 4 แสนคน

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า นอกจากนี้ สธ.ยังได้เสนอว่าจะพัฒนาการตรวจเชื้อ COVID-19 ด้วยสารคัดหลั่งในโพรงจมูก หลังมีการตั้งคำถามว่าตรวจน้อยไปหรือไม่ โดยตั้งเป้าหมายตรวจเชิงรุกในกลุ่มประชากรกลุ่มเสี่ยงหรือสถานที่เสี่ยงให้ได้ 6,000 คนต่อ 1 ล้านประชากร หรือประมาณ 400,000 คน ขณะนี้ตรวจไปแล้ว 230,00 คน โดยเหลืออีก 170,000 คน พร้อมขยายเกณฑ์การตรวจคนที่มีอาการป่วย คาดว่าจะมี 85,000 คนคือประชากรกลุ่มเสี่ยง ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ คนไทยเดินทางจากต่างประเทศ แรงงานเข้าไทยผิดกฎหมาย คนขับรถสาธารณะ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน ด้วยการเก็บรายละเอียดในกลุ่มย่อยๆ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: