วิกฤตไวรัสโคโรน่าในมุมมองชนชั้น

พัชณีย์ คำหนัก | Labour rights activist | 6 ต.ค. 2563 | อ่านแล้ว 5693 ครั้ง


สรุปจากกลุ่มศึกษาสังคมนิยมแรงงาน 19 สิงหาคม 2563

 

การกำเนิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่กับการผลิตในระบบทุนนิยม

ก่อนหน้าผู้นำเสนอได้เขียนรายงานเกี่ยวกับการกำเนิดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในโลกทุนนิยมลงในประชาไท โดยเข้าไปดูวิธีการผลิตของระบบทุนนิยม พบว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์มาจากการจับ-บริโภคสัตว์ป่าในเมืองหวูฮั่น ประเทศจีน ซึ่งจีนออกมายอมรับถึงการมีตลาดสดขายสัตว์ป่าดังกล่าวและทำให้เกิดการระบาดในวงกว้างจนต้องปิดเมืองปิดประเทศชั่วคราว นักนิเวศวิทยาวิเคราะห์โรคระบาดใหม่ว่า ด้านหนึ่งการผลิตที่ทำลายระบบนิเวศวิทยาได้นำพามนุษย์เข้าไปสัมผัสสัตว์ป่ามากขึ้นกว่าแต่ก่อนดังเช่น ไวรัสอีโบล่า ไข้หวัดนก เอดส์ ที่มีหลักฐานชี้ชัด แม้จะพูดว่าเชื้อไวรัสไม่เลือกปฏิบัติ แต่ความรุนแรงของโรคระบาด คืออัตราการแพร่เชื้อ ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และการเสียชีวิตมาจากสถานะทางเศรษฐกิจของคนและความปลอดภัยของกลุ่มเสี่ยง พูดง่ายๆ คือ ถ้าเรามีเงินพอ ก็จะช่วยให้เราอยู่บ้านตามมาตรการกักตัวของรัฐบาลได้

ไม่เพียงแค่นี้ การผลิตของทุนที่แข่งขันกันได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นำไปสู่การประท้วงของประชาชนทั่วโลกก่อนเกิดโรคระบาด การใช้พลังงานถ่านหิน ฟอสซิล การเผาทำลายป่าไม้ คุกคามพื้นที่ชุมชน โดยปราศจากการมีส่วนร่วม เป็นต้น

ยกกรณีประเทศจีน การพัฒนาอย่างเร่งด่วนซึ่งทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างมาก มีการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ เช่น สร้างเขื่อนนับร้อยในพื้นที่กว้างทั้งในจีนและลาว ประชาชนได้รับความเดือดร้อนไร้ที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ มีการใช้อุดมการณ์ความมั่นคงของชาติให้คนเห็นว่า นี่เป็นการพัฒนาเพื่อคนในชาติทุกคน แต่ในความเป็นจริงการพัฒนาจากบนลงล่างสร้างความขัดแย้งกับคนในชุมชน การละเมิดสิทธิในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน การกดขี่และเกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

การจัดการปัญหาด้วยระบบทุนนิยมกลไกตลาดและผลกระทบ

ในการจัดการปัญหาการแพร่ระบาดที่ลุกลามอย่างรวดเร็วนั้น ภายใต้ระบบทุนนิยมกลไกตลาดและรัฐบาลที่มีลักษณะอำนาจนิยมซ้ำเติมประชาชน เช่น ในไทยมีการกักตุนหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ สินค้าจำเป็น การขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภค การเยียวยาไม่ทันท่วงทีและไม่เพียงพอของรัฐบาล การไม่กล้าแทรกแซงกลไกตลาด ปล่อยให้นายจ้างเลิกจ้างง่ายดาย และยังมีคนงานนอกระบบออกมาทำงานในช่วงแรกของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อและประสบปัญหาความยากจนตามมา ทุนนิยมกลไกตลาดก็ไม่สามารถแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาด้วย ตอนนี้ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น

ในงานของนักวิชาการแรงงานคนหนึ่งในเอเชีย บอกว่า ในช่วงวิกฤตการเงินปี 2551 รัฐบาลในสหรัฐอเมริกา ทุ่มเงินภาษีเข้าสู่ภาคการเงิน ใช้งบประมาณไปกับการช่วยเหลือฝ่ายทุนมากกว่าประชาชน ในกรณียุโรปหลังจากวิกฤต เมื่อปี 2010 ก็มีการใช้นโยบายตัดสวัสดิการ (Austerity) ทำให้การบริการสาธารณะอย่างการรักษาพยาบาลด้อยประสิทธิภาพ ดูแลคนไม่ทั่วถึง นำไปสู่การขยายความรุนแรงของระบาด การติดเชื้อและการเสียชีวิตของคนยากจนและกลุ่มเสี่ยง

จากบทสัมภาษณ์ของนอม ชอมสกี้ นักวิชาการจากสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า โควิด-19 ลุกลามอย่างรวดเร็ว ประชากรติดเชื้อนับล้านคน เพราะประธานาธิบดีไม่เห็นหัวประชาชน สวัสดิการรักษาพยาบาลไม่เพียงพอ ราคาแพง  การดำเนินนโยบายเสรี-ทุนนิยมที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทำให้การแพร่ระบาดหนักขึ้น

ข้อเสนอในการแก้ปัญหาของนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายและขบวนการแรงงาน

มีข้อเสนอมากมายในหมู่ขบวนการแรงงานในเอเชียและฝ่ายซ้ายทั่วโลก ในการแก้ปัญหาโรคระบาดและปัญหาระบบเศรษฐกิจทุนนิยม คือ ให้รัฐเน้นเยียวยาประชาชน เช่น ยกเลิกหนี้สิน ป้องกันการเลิกจ้าง สร้างงานใหม่ กระจายรายได้ ให้เงินเดือนพื้นฐานแก่ทุกคน พร้อมกับเก็บภาษีจากคนรวยมากขึ้น รัฐต้องลงทุนภาคบริการสาธารณะมากขึ้น ผลิตสิ่งจำเป็นเช่น ยาฟรี เพิ่มสวัสดิการ ดูแลแรงงานในภาคงานดูแล แรงงานนอกระบบให้ทัดเทียมกับแรงงานในระบบ ต้องแทรกแซงกลไกตลาด ควบคุมราคาสินค้า และการผลิต เช่น ยึดโรงงานหากโรงงานล้มละลาย ดังข้อเสนอของพรรคแรงงาน อังกฤษ พรรคสังคมนิยมของมาเลเซีย อีกทั้ง ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาจากบนลงล่างเป็นล่างขึ้นบน เน้นพัฒนาคนมากกว่ากำไร ให้ประชาชนมีส่วนร่วม พัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ การผลิตในระบบทุนนิยมมีลักษณะล้นตลาด แข่งขันรุนแรง กระตุ้นการบริโภคไม่จำกัด คนมีเงินเข้าถึงก่อน และกดต้นทุนแรงงาน อีกด้าน มีการผลิตที่ทันสมัยเป็นประโยชน์กับสังคม เช่น เทคโนโลยีทางการแพทย์ ดังนั้น เราไม่ปฏิเสธการพัฒนาแบบอุตสาหกรรม แต่หลักสำคัญคือ คนทำงานมีส่วนร่วม มุ่งสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของคนส่วนใหญ่ และมีการวางแผนการผลิต การแทรกแซงนายทุน โดยรัฐที่เป็นประชาธิปไตย อีกภารกิจที่สำคัญคือ การปลดปล่อยพลังการผลิต โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ให้มีความสามารถควบคู่กับการมีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม ตามหลักการแรงงานสร้างโลก ประชาชนต้องมาก่อนกำไร (People  before profit)

 


อ้างอิง

  1. พัชณีย์ คำหนัก.  (25 มี.ค. 63). กำเนิด COVID-19 ในโลกทุนนิยมสู่วิกฤตสังคม ‘นักนิเวศวิทยา’ เตือนไม่ใช่ครั้งสุดท้าย.  ในประชาไท https://prachatai.com/journal/2020/03/86920
  2. 2. Dae-oup Chang. (17 เม.ย. 63).  Coronavirus: normal was the problem. ในวารสาร Ecologist.  https://theecologist.org/.../coronavirus-normal-was-problem
  3. 3. สัมภาษณ์ Noam Chomsky. (18 พ.ค. 63). The Pandemic Has Only Exposed the Suicidal Tendencies of Capitalism. ใน The Wire.  https://thewire.in/.../noam-chomsky-interview-covid-19...
  4. 4. เสวนาออนไลน์ฝ่ายซ้ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. (27 มิ.ย 63). Capitalist Pandemic, Socialist Solution. จัดโดยพรรคมวลชนแรงงาน (Party of the Labouring Masses-PLM) ฟิลิปปินส์.

 ที่มาภาพ: geralt (CC0 Public Domain)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: