ฟังเสียง 'คนกาดหลวง' ช่วงโควิด

กลุ่ม IN CHIANGMAI 5 พ.ค. 2563 | อ่านแล้ว 3638 ครั้ง


กลุ่ม IN CHIANGMAI ตั้งใจที่จะขยายเสียงของคนในสังคมเชียงใหม่ โดยครั้งนี้พวกเราอยากนำเสนอเสียงของผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัส Covid 19 ซึ่งเป็นผู้ประกอบอาชีพในเขตพื้นทีตลาดขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่ หรือที่พวกเราเรียกกันว่า “กาดหลวง”

พูดถึงกาดหลวง หรือตลาดวโรรส คงไม่มีใครไม่รู้จัก ทั้งคนในพื้นที่เอง และคนต่างจังหวัดที่แวะเวียนมาทั้งจับจ่ายใช้สอย ตลาดขนาดใหญ่เขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2453 ความครึกครื้น เสียงจอแจของผู้คนและรถสัญจรไปมาดูจะเป็นที่ชินชาสำหรับพื้นที่นี้อย่างแน่นอน

เมื่อไวรัส COVID 19 แพร่ระบาด ทั้งยังพบผู้ติดเชื้อในจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 ได้มีคำสั่งจากทางจังหวัดเชียงใหม่ ถึงมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันวิกฤติการณ์จากเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ให้มีการปิดสถานที่เสี่ยง ซึ่ง ตลาด เป็นหนึ่งในพื้นที่ควบคุม

ให้มีการเปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงสำเร็จ เพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น อาหารสัตว์ ร้านขายยา และสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

ลองมาฟังเสียงของวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ในยามที่พื้นที่ค้าขายหลายจุดต้องปิดทำการชั่วคราว หลายร้านเริ่มประกาศเซ้งกิจการและหลายผู้ค้าขายเริ่มคิดหาหนทางเพื่อความอยู่รอด เมื่อกาดหลวงต้องประสพภาวะไม่ทันคาดการณ์แบบนี้

..............................................................

อ้ายสมชาย อาชีพคนขับรถสองแถวคิวสันกำแพง-ตลาดวโรรส มาเกือบ 30 ปี

เมื่อถามถึงสถานการณ์อาชีพ อ้ายบอกประโยคแรกว่าไม่มีผู้โดยสารเลย วันนี้จนเย็นวันอาทิตย์ วิ่งรถได้รอบเดียว มีผู้โดยสารนั่งมาจากสันกำแพง 1 คน ได้ค่าโดยสาร 15 บาท ต้องรอผู้โดยสารจากกาดหลวงขับตีกลับไปสันกำแพง รอเป็นชั่วโมง ยังแทบไม่มี บางทีก็ได้แค่ 3-4 คน

ปกติเคยวิ่งรถไปกลับหลายรอบ รายได้วันหนึ่งประมาณ 300-400 บาท แต่ช่วงนี้วิ่งได้ไม่กี่รอบ ยิ่งวันอาทิตย์แบบนี้ได้วิ่งรอบเดียว รายได้วันหนึ่งได้ไม่ถึง 100 บาท ลูกค้าแทบไม่มี

อ้ายสมชาย คนขับรถสองแถวคิวสันกำแพง-ตลาดวโรรส

อ้ายสมชายบอกว่าก่อนหน้านี้ ช่วงเริ่มปิดเมืองป้องกันไวรัส เขาก็หยุดงานไป แต่นอนอยู่บ้านที่สันกำแพงเฉยๆ ก็ “ก่าย” วันๆ ไม่มีอะไรทำ และไม่มีรายได้ เลยเริ่มกลับมาวิ่งช่วงไม่กี่วันนี้

รายได้ในครัวเรือนที่ลดลง ทำให้ครอบครัวต้องขุดเงินเก็บและเงินที่ฝากไว้มาใช้ ยิ่งลูกชายกำลังเรียนจบม.6 ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเรียนต่อ แต่ดีอย่างที่ครอบครัวไม่มีหนี้สิน

ส่วนเรื่องการขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาทต่อเดือนจากรัฐบาล อ้ายสมชายก็ได้ลงทะเบียนไว้ แต่กลับได้รับคำตอบทาง sms ว่าไม่ได้รับสิทธิ์ โดยไม่บอกเหตุผลใดๆ ว่าทำไมไม่ได้ ตอนนี้จึงแจ้งขอให้ทบทวนสิทธิอยู่ โดยไม่รู้เลยว่าจะได้หรือไม่

ข้อความจากโทรศัพท์อ้ายสมชาย ได้รับแจ้งจากภาครัฐ “ไม่ได้รับสิทธิรับเงินเยียวยา สามารถยื่นทบทวนสิทธิ

“ไม่รู้จะพูดอะไรน่ะ มันกระทบไปหมดช่วงนี้ ทุกคนเลย” อ้ายสมชายให้ความเห็น

 …………………………………………………………..

เสียงจากลุงๆ ปั่นสามล้อถีบ

จุดที่หนึ่ง: สองสามล้อถีบย่านตรอกเล่าโจ๊ว กาดหลวง เชียงใหม่

ลุงสะอาด (อายุ 63 ปี) คนสันกำแพงที่ประกอบอาชีพปั่นสามล้ออยู่ในระยะย่านตรอกเล่าโจ๊ว กาดหลวงมานานกว่า 40 ปี หลังจากพูดคุยกันได้สักพัก ลุงสะอาดเล่าว่าตนปั่นสามล้อรอบหนึ่งจะได้ค่าจ้างประมาณ 30 – 40 บาท ขณะที่ปัจจุบันนี้รายได้หดหาย นับตั้งแต่มีโควิด 19 “บางวันได้แค่เที่ยวเดียว บางวันก็ไม่ได้สักเที่ยว”

เช่นเดียวกับลุงจัน (อายุ 74 ปี) ซึ่งพื้นเพเป็นคนอำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา หากแต่ย้ายมาอยู่เชียงใหม่และประกอบอาชีพปั่นสามล้อถีบที่กาดหลวงเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว ลุงจันบอกว่าปัจจุบันตนไม่ได้ปั่นสามล้อเลย “ตั้งแต่ปิดกาด”

ลุงสะอาด

ลุงจัน

และเมื่อถามถึงเรื่องเงินเยียวยา 5,000 บาทว่าได้รับหรือไม่? ลุงจันว่าตนเองได้รับและได้นำเงินจำนวนนั้นไปจ่ายค่าเช่าบ้าน ที่เหลือจากนั้นก็เก็บไว้เป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ในส่วนของลูกหลานนั้น ลุงจันพูดเพียงว่าพวกเขาต่างก็ต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเอง

ส่วนเรื่องการแจกจ่ายอาหาร ลุงทั้งสองคนรู้ว่ามีการแจกอาหาร บริเวณวัดอุปคุตและจะแจกเรื่อยไปจนถึงจนถึงวันที่ 30 เมษายน โดยมีเงื่อนไขคือ รับอาหารได้ 1 คนต่อ 1 กล่อง เพื่อให้เกิดความทั่วถึงแก่คนอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

จุดที่สอง: เพื่อนซี้สามล้อถีบบริเวณริมสะพานข้ามแม่น้ำปิง กาดหลวง เชียงใหม่

ลุงแตง และลุงมานิตย์ สองเพื่อนซี้สามล้อถีบ ทั้งคู่อายุ 68 ปี ประจำอยู่บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำปิงของกาดหลวง โดยส่วนใหญ่แล้วลูกค้าของลุงทั้งสองจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แต่เมื่อมีการระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำให้นักท่องเที่ยวลดลงเช่นเดียวกับรายได้ของคนปั่นสามล้อถีบ ลุงแตงเล่าว่าเดิมทีพวกตนเคยมีรายได้หลักร้อยต่อวัน แต่ในช่วงเวลาแบบนี้บางวันก็ “ไม่มีใครมาว่าจ้างรถถีบเลย”

ส่วนเงินเยียวยา 5000 บาทจากรัฐที่จะได้ในช่วงกลางเดือนเมษายนนั้น ต่างต้องนำไปจ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ และค่าไฟ และเมื่อพูดคุยกันถึงเรื่องอาหารการกินและถามว่าเคยไปรับอาหาร ณ จุดแจกอาหารหรือไม่? ลุงทั้งสองตอบว่าไม่ได้ไป เพราะอายุที่มากแล้วเป็นอุปสรรคสำคัญทำให้ไม่สะดวกเมื่อต้องต่อแถวรอคิวนานๆ ทั้งไม่แน่ใจว่าจะมีอาหารเพียงพอ แต่หลายครั้งก็ได้รับอาหารจากคนนำอาหารมาแจกในย่านที่พวกตนประจำอยู่

ลุงแตง

ลุงมานิตย์

…………………………………………………………………

เนย อายุ 27 ปี อาชีพลูกจ้างร้านขายเสื้อผ้าย่านตลาดวโรรส

เนยเป็นคนจังหวัดนครราชสีมา มาทำงานอยู่เชียงใหม่ได้ 7-8 ปีแล้ว แต่ทำงานที่ร้านขายเสื้อผ้าย่านกาดหลวงได้ประมาณ 2 ปี

เนยบอกว่าช่วงปีแรกที่มาทำงาน เคยขายดีกว่านี้มาก แต่เมื่อเจอกับทั้งสภาพเศรษฐกิจและไวรัสโควิด-19 ทำให้ร้านเงียบไปมาก

ก่อนหน้านี้ เฮียเจ้าของร้านต้องปิดร้านไป 14 วันช่วงเริ่มปิดเมืองหลังไวรัสระบาดแรกๆ ก็ทำให้ได้หยุดงาน แต่ดีว่าเฮียยังจ่ายค่าจ้างเท่าเดิม ช่วงหยุดก็ไม่ได้กลับบ้าน เพราะกลัวจะต้องกักตัว กลับมาเชียงใหม่ไม่ได้

ร้านเพิ่งกลับมาเปิดหลังสงกรานต์นี้ ก็ขายได้น้อย ร้านเปิดตั้งแต่ 9 โมงเช้า มาเริ่มขายได้บ้างช่วงบ่ายโมง เพราะมีลูกค้าที่มาซื้อไปขายส่งบ้าง ยอดขายอย่างวันนี้ก็เหลือประมาณ 1,200 บาท ซึ่งคิดว่าน้อยมาก

เนย อายุ 27 ปี อาชีพลูกจ้างร้านขายเสื้อผ้าย่านตลาดวโรรส

……………………………………………………………

ลุงบุญส่ง คนขับรถแดง ย่านกาดหลวง

ลุงบุญส่ง อายุ 68 ปี เป็นคนบ้านแม่ก๊ะ อำเภอดอยสะเก็ด อาชีพขับรถสองแถวคิวรถดอยสะเก็ด-ตลาด
วโรรส

ลุงบอกว่าขับรถคิวนี้มาตั้งแต่ปี 2535 ถึงตอนนี้ก็ 28 ปีแล้ว ไม่เคยเจอแบบนี้มาก่อน ตอนมีโรคซาร์ส มีไข้หวัดนก ก็ไม่ได้เป็นแบบนี้

ลุงบุญส่งบอกว่าเศรษฐกิจทั้งหมดแย่มาเป็นเดือนแล้ว คนไม่มาตลาด กาดหลวงเงียบไปหมด แทบจะปิดทั้งกาด คนทำงานแถวนี้ก็หยุดกันหมด แม้ลูกค้าแทบไม่มี แต่ลุงยังวิ่งรถอยู่ พอให้ได้ค่ากับข้าว

วันนี้ - เย็นวันอาทิตย์ - ลุงยังได้รายได้แค่ 20 บาท วันธรรมดาก็อาจสูงสุดไม่เกิน 100 บาท ดี ที่น้ำมันถูกลงไปบ้าง ทำให้ต้นทุนลดลง โดยเมื่อเทียบกับช่วงก่อนปิดเมือง ได้วันหนึ่งประมาณ 600-700 บาท หักค่าน้ำมันสัก 300 บาท เหลือกลับบ้าน 300-400 บาท

ลุงบอกว่าตอนนี้มีค่าใช้จ่ายก็คือค่ากินอยู่ ค่าน้ำค่าไฟ ค่าน้ำมัน ส่วนลูกๆ ก็มีงานการทำ และยังมีรายได้อยู่ ทำให้ไม่มีภาระในส่วนนี้

วิกฤตแบบนี้ ทางเทศบาลที่ลุงอยู่ ได้ช่วยเหลือโดยนำข้าว ไข่ และน้ำมันไปแจกตามบ้านเรือน ทำให้พอมีข้าวกินโดยไม่ต้องซื้อ ส่วนเรื่องเงินเยียวยา “เราไม่ทิ้งกัน” ของรัฐบาลนั้น ลุงบุญส่งก็ให้ลูกลงทะเบียนให้ แต่ปรากฏว่าไม่ได้ ลุงบอกเขาแจ้งมาว่าเป็นเกษตรกร เลยไม่เข้าเกณฑ์ ซึ่งลุงก็ยังไม่แน่ใจว่าไปเป็นเกษตรกรตอนไหน เพราะขับรถคิวมาตั้งแต่ยังเป็นบ่าวแล้ว

“เศรษฐกิจก็ไม่ดีอยู่แล้ว มาเจอโรคซ้ำแบบนี้อีก ผู้โดยสารไม่มี รายได้ไม่มีเลย” ลุงบุญส่งย้ำภาวะที่หลายคนกำลังเผชิญเช่นกัน

ลุงบุญส่ง คนขับรถแดง ย่านกาดหลวง

เสียงของคนกาดหลวง ผู้ขับเคลื่อนแหล่งใจกลางเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ 

กลุ่ม IN CHIANGMAI ได้รวบรวมข้อมูล นับตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม – 30 เมษายน 2563 ที่ได้มีการประกาศ ประชาสัมพันธ์ ผ่านสื่อออนไลน์ พบว่า มีจุดแจกอาหารในเขตเมืองเชียงใหม่และรอบๆเมืองไม่ต่ำกว่า 66 จุด และวันที่ 30 เมษายน หลายจุดได้เริ่มยุติการแจกอาหารหรือปรับเปลี่ยนสถานที่ แต่พวกเขา ที่ยังคงปักหลักทำมาหากินอยู่ที่ “กาดหลวง” ด้วยความจำเป็นและความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงานของตน เมื่อจุดแจกอาหารเริ่มเบาบางลง หรือแม้กระทั่งเงื่อนไขเฉพาะบุคคลไม่ว่าจะด้วยอายุที่มาก ความไม่แน่นอนว่าหลังจากต่อคิวรับอาหารแล้ว จะได้รับหรือไม่ ทั้งมีผู้ที่ได้รับเงินเยียวยาและไม่ได้รับเงิน การตั้งคำถามถึง “ความมั่นคงในชีวิต” ของพวกเขายามเผชิญสภาวะวิกฤติเยี่ยงนี้ แน่นอนว่าพวกเขาย่อมต้องการได้รับคำตอบ และรัฐควรเป็นผู้ตอบคำถามต่อพวกเขาในฐานะความเป็นพลเมืองของประเทศมากที่สุด

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: