สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 4 ส.ค. 2563

กองบรรณาธิการ TCIJ 4 ส.ค. 2563 | อ่านแล้ว 1492 ครั้ง

สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 4 ส.ค. 2563

4 ส.ค. 2563 เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

กฎหมาย

1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่ สธ. เสนอ
                   ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ สธ. เสนอ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการอนุญาตให้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการรับรองจาก    ผู้ประกอบวิชาชีพ และผู้ประกอบกิจการด้านเกษตรกรรม กำหนดหลักเกณฑ์ในการนำเข้ายาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 เฉพาะกัญชา และกำหนดกระบวนการเกี่ยวกับการเก็บรักษาและทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง เพื่อให้ผู้ป่วยที่ได้รับการรับรองจากผู้ประกอบวิชาชีพสามารถเข้าถึงการใช้กัญชาทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึง และเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์ความรู้ และต่อยอดกัญชาทางการแพทย์เพื่อประโยชน์ของประชาชน รวมทั้งแก้ไขปัญหาการเก็บรักษายาเสพติดให้โทษของกลางไว้เป็นเวลานาน ซึ่งทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณและสถานที่ในการเก็บรักษา 
                   สธ. ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำร่างกฎหมาย และเปิดเผยสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย รวมทั้งจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมกับการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายให้ประชาชนได้รับทราบแล้ว
                   สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
                   1. กำหนดให้ผู้ป่วยที่ได้รับการรับรองจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอชาวบ้าน ผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตด้านเกษตรกรรมและเกษตรกรที่ดำเนินการผลิตภายใต้ความร่วมมือกับผู้รับอนุญาตผลิตซึ่งยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร และบุคคลอื่น ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษกำหนด สามารถได้รับใบอนุญาตให้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ได้
                   2. กำหนดให้ในกรณีที่มีการยึดหรือริบยาเสพติดให้โทษ เมื่อได้มีการตรวจชนิดและปริมาณแล้วว่าเป็นยาเสพติดให้โทษแล้ว ให้ สธ. หรือผู้ซึ่ง สธ. มอบหมายทำลายหรือนำยาเสพติดให้โทษดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้ 
                   3. กำหนดให้ภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7)   พ.ศ. 2562 ใช้บังคับ การนำเข้ายาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 เฉพาะกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการรักษาผู้ป่วยจะสามารถนำเข้าได้เฉพาะเมล็ดพันธุ์ ยกเว้นกรณีหน่วยงานของรัฐ ผู้ป่วยเดินทางระหว่างประเทศ หรือผู้ที่มีวัตถุประสงค์ดำเนินการเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยและพัฒนา (มาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 บัญญัติให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562)
 
2. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันในท้องที่ตำบลชุมแพ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันในท้องที่ตำบลชุมแพ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ มท. รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
 
                   สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
                   กำหนดให้ถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ในท้องที่ตำบลชุมแพ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น เนื้อที่ประมาณ 119 ไร่ 3 งาน 59.7 ตารางวา ซึ่งปัจจุบันราษฎรได้เลิกใช้ประโยชน์ร่วมกันในที่ดินสาธารณประโยชน์ แปลงดังกล่าวแล้ว เพื่อมอบหมายให้เทศบาลเมืองชุมแพใช้เพื่อพัฒนาเป็นระบบบำบัดน้ำเสียและพื้นที่สาธารณะเพื่อนันทนาการ
                   ทั้งนี้ มท. เสนอว่า เทศบาลเมืองชุมแพขอถอนสภาพที่ดินสาธารณประโยชน์แปลง “หนองแซงกระเทิบ” ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ ขก. 3073 เนื้อที่ประมาณ 119 ไร่ 3 งาน 59.7 ตารางวา   เพื่อพัฒนาเป็นระบบบำบัดน้ำเสียและพื้นที่สาธารณะเพื่อนันทนาการ ซึ่งที่ดินสาธารณประโยชน์ดังกล่าว เดิมราษฎรได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นที่ใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร แต่ปัจจุบันราษฎรได้เลิกใช้ประโยชน์ร่วมกันในที่ดินสาธารณประโยชน์แปลงนี้แล้ว ที่ดินดังกล่าวจึงอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะถอนสภาพตามมาตรา 8 วรรคสอง (1) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการถอนสภาพ การจัดขึ้นทะเบียน และการจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2550 จึงเห็นควรให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ในท้องที่ตำบลชุมแพ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น เพื่อมอบหมายให้เทศบาลเมืองชุมแพใช้เพื่อพัฒนาเป็นระบบบำบัดน้ำเสีย และพื้นที่สาธารณะเพื่อนันทนาการ โดย มท. ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาฯ มาเพื่อดำเนินการ
 
3. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ (สกช.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รวมพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้กับร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ที่เป็นเรื่องทำนองเดียวกันซึ่งอยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาให้เป็นฉบับเดียวกัน แล้วดำเนินการต่อไปได้
                   สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
                   กำหนดให้สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติเป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าว 
                   ทั้งนี้ สกช. เสนอว่า พระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. 2553 มาตรา 20 บัญญัติให้จัดตั้งสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น ซึ่งปัจจุบัน สกช. ยังไม่ได้รับการกำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539  
                   โดยที่พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 บัญญัติให้ “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น และมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่พระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย 
                   ดังนั้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของ สกช. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 สมควรกำหนดให้ สกช. เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของ สกช. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าว จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาฯ มาเพื่อดำเนินการ
 
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต และหนังสือรับรอง การแจ้งตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต หนังสือรับรองการแจ้ง และการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือ มูลฝอย พ.ศ. 2559 พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต และหนังสือรับรองการแจ้งตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต หนังสือรับรองการแจ้ง และการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย พ.ศ. 2559 พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                    สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                   1. กำหนดให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต หนังสือรับรองการแจ้ง และการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย พ.ศ. 2559 ที่ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกข้อกำหนดของท้องถิ่นในการออกใบอนุญาตในข้อ 2 (2) (3) (4) และ (5) เกี่ยวกับใบอนุญาตดำเนินกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามประเภทที่ท้องถิ่นกำหนด ใบอนุญาตจัดตั้งตลาด ใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารหรือสถานที่สะสมอาหาร และใบอนุญาตจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะ และการออกหนังสือรับรองการแจ้งใน              ข้อ 3 เกี่ยวกับการจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารหรือสถานที่สะสมอาหาร
                   2. กำหนดให้การยกเว้นค่าธรรมเนียมตามข้อ 1 ให้ใช้บังคับได้มีกำหนด 1 ปี นับแต่กฎกระทรวงฉบับนี้ใช้บังคับ
                   สธ. เสนอว่า
                   1. ได้มีกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต หนังสือรับรองการแจ้ง และการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย พ.ศ 2559 ซึ่งเป็นการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม เพื่อให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกข้อกำหนดสามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุญาต หนังสือรับรองการแจ้ง และการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย ดังนี้
                       1.1 ใบอนุญาตดำเนินกิจการเกี่ยวกับการเก็บ กำจัด และขนสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย โดยทำเป็นธุรกิจ หรือได้รับประโยชน์ตอบแทนด้วยการคิดค่าบริการ
                       1.2 ใบอนุญาตดำเนินกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามประเภทที่มีข้อกำหนดของท้องถิ่นกำหนดให้เป็นกิจการที่ต้องมีการควบคุมภายในท้องถิ่นในลักษณะที่เป็นการค้า
                       1.3 ใบอนุญาตจัดตั้งตลาดในอาคารหรือพื้นที่ที่มีจำนวนแผงค้าในตลาดไม่เกินหนึ่งร้อยแผงและที่เกินกว่าหนึ่งร้อยแผง
                       1.4 ใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารหรือสถานที่สะสมอาหารในอาคารหรือพื้นที่ที่มีพื้นที่เกินสองร้อยตารางเมตร และมิใช่เป็นการขายของในตลาด
                       1.5 ใบอนุญาตจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะ ซึ่งจำหน่ายโดยลักษณะวิธีการจัดวางสินค้าในที่หนึ่งที่ใดเป็นปกติ หรือจำหน่ายโดยลักษณะการขายเร่
                       1.6 หนังสือรับรองการแจ้งการจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารหรือสถานที่สะสมอาหารในอาคาร หรือพื้นที่ใด ซึ่งมีพื้นที่ไม่เกินสองร้อยตารางเมตรและมิใช่เป็นการขายของในตลาด
                       1.7 การให้บริการเก็บ ขน หรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย
                   2. โดยที่มาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ได้กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมได้ ซึ่งกฎกระทรวงตามข้อ 1 มิได้กำหนดเรื่องการยกเว้นค่าธรรมเนียมไว้แต่อย่างใด ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ได้แพร่กระจายไปทั่วโลกและสร้างความเสียหายในหลายประเทศ สธ. โดยกรมควบคุมโรคจึงได้ออกประกาศให้โรคดังกล่าวเป็นโรคติดต่ออันตรายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อ และอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 และหน่วยงานภาครัฐได้ใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 เช่น มาตรการสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว เป็นต้น ซึ่งส่งผลกระทบสร้างความเสียหายต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและผู้ประกอบกิจการเป็นอย่างมาก โดยสถานประกอบการที่ถูกสั่งปิดตามมาตรการดังกล่าวเกือบทั้งหมดเป็นกิจการตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ทำให้ผู้ประกอบการเป็นจำนวนมากไม่สามารถดำเนินการชำระค่าธรรมเนียม หรือชำระค่าธรรมเนียมรายปีตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตหนังสือรับรองการแจ้ง และการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย พ.ศ. 2559 ได้ อันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัยที่เกิดจากโรคโควิด 19ซึ่งมิใช่ความผิดของผู้ประกอบกิจการ
                   3. ดังนั้น เพื่อเป็นการลดภาระและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบกิจการตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเนื่องจากมาตรการของรัฐดังกล่าว  จึงเห็นสมควรยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตในข้อ 2 (2) (3) (4) และ (5) และการออกหนังสือรับรองการแจ้งในข้อ 3 ของกฎกระทรวงตามข้อ 1 ซึ่งเกี่ยวกับการใบอนุญาตตามข้อ 1.1 ถึงข้อ 1.5 และการออกหนังสือรับรองการแจ้งตามข้อ 1.6 และ สธ. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและหารือกับเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยแล้ว
                   4. การดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ดังนี้
                       4.1 ประมาณการสูญเสียรายได้ มาตรการดังกล่าวจะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสูญเสียรายได้ประมาณ 16,837,761,600 บาท
                       4.2 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ มาตรการดังกล่าวจะเป็นการลดภาระและบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบกิจการตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขอันเกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต และหนังสือรับรองการแจ้งตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต หนังสือรับรองการแจ้งและการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย พ.ศ. 2559 พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
 
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดเขตท่าเรือบางปะกง และเขตจอดเรือบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา พ.ศ. ....
                    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดเขตท่าเรือบางปะกง และเขตจอดเรือ            บางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                   ทั้งนี้ คค. เสนอว่า
                   เนื่องจากบริเวณอ่าวไทยและแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่ที่มีการขนส่งสินค้าทางน้ำที่สำคัญและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีเรือขนส่งสินค้าเดินเข้าออกเพื่อเทียบท่า ทอดสมอ เพื่อทำการขนถ่ายสินค้าเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่มีการกำหนดเขตท่าเรือให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับการคมนาคมขนส่งทางน้ำและปริมาณเรือที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมได้ จึงสมควรกำหนดเขตท่าเรือและเขตจอดเรือบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อประโยชน์ต่อการควบคุมดูแลความปลอดภัย จัดระเบียบการจราจรทางน้ำ และวางระบบการขนส่งทางน้ำให้มีความปลอดภัยและมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเพื่อประโยชน์ในการควบคุมมลภาวะทางน้ำ ซึ่งสอดคล้องกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก
                   โดยที่มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยพระพุทธศักราช 2456 และที่แก้ไขเพิ่มเติม บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดแนวแม่น้ำลำคลองหรือทะเลอาณาเขตแห่งใดเป็นเขตท่าเรือและเขตจอดเรือได้ ดังนั้น คค. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้เพื่อกำหนดเขตท่าเรือบางปะกงและเขตจอดเรือบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดเขตท่าเรือบางปะกง และเขตจอดเรือบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
 
6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงเพื่อรองรับการใช้บังคับพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตทำงาน การออกใบอนุญาตทำงาน และการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. .... ร่างกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคนต่างด้าวที่ขอรับใบอนุญาตทำงาน พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 
                   1. ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตทำงาน การออกใบอนุญาตทำงาน และการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังนี้ 
                             1.1 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตทำงาน และการออกใบอนุญาตทำงานตามมาตรา 59 มาตรา 60 วรรคหนึ่ง มาตรา 63 มาตรา 63/1 มาตรา 63/2 และมาตรา 64 
                             1.2 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวของผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานตามมาตรา 41 วรรคสี่ และนายจ้างซึ่งประสงค์จะจ้างคนต่างด้าวซึ่งอยู่นอกราชอาณาจักรเข้ามาทำงานในกิจการของตนในราชอาณาจักรตามมาตรา 60 วรรคสอง
                             1.3 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการแจ้งการทำงาน การออกหนังสือรับแจ้งการทำงาน การแจ้งการขยายเวลาทำงาน และการออกหนังสือรับแจ้งการขยายเวลาทำงานตามมาตรา 61  
                             1.4 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการออกใบอนุญาตทำงานและการรับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวตามมาตรา 62 
                             1.5 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอต่ออายุใบอนุญาตทำงาน และการต่ออายุใบอนุญาตทำงานตามมาตรา 67
                   2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคนต่างด้าวที่จะขอรับใบอนุญาตทำงาน พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดให้คนต่างด้าวที่จะขอรับใบอนุญาตทำงานต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้  
                             2.1 ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
                             2.2 ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองหรือกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เว้นแต่พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปีก่อนวันขอรับใบอนุญาตทำงาน  
                             2.3 ไม่เป็นผู้เจ็บป่วยด้วยโรค ดังนี้ 
                                      (ก) โรคเรื้อนระยะติดต่อหรือในระยะปรากฏอาการอันเป็นที่รังเกียจแก่สังคม 
                                      (ข) วัณโรคระยะติดต่อ
                                      (ค) โรคเท้าช้างในระยะปรากฏอาการอันเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
                                      (ง) โรคติดยาเสพติดให้โทษ
                                      (จ) โรคพิษสุราเรื้อรัง
                                      (ฉ) โรคซิฟิลิสในระยะที่ 3
                   3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศและการทำงานของคนต่างด้าว ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ทั้งนี้ ยังคงใช้อัตราค่าธรรมเนียมเดิม และยกเว้นค่าธรรมเนียมในกรณีเดียวกับกฎกระทรวงที่ได้ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 และพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศง 2559 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ
 
 

เศรษฐกิจ - สังคม

7. เรื่อง ผลการดำเนินโครงการตามภารกิจของ บจธ. สิ้นสุด ณ วันที่ 7 มิถุนายน 2563
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและมอบหมายดังนี้
                   1. รับทราบผลการดำเนินโครงการตามภารกิจของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (บจธ.) สิ้นสุด ณ วันที่ 7 มิถุนายน 2563 ตามที่ บจธ. เสนอ และให้ บจธ. รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
                   2. มอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชนเร่งดำเนินการประเมินผลการดำเนินการของ บจธ. ว่า เกิดผลสัมฤทธิ์หรือมีความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับภาระงบประมาณ และสมควรยุบเลิกหรือไม่ ซึ่งต้องดำเนินการภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ (ครบ 1 ปี เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2563)
                   3. มอบหมายให้กระทรวงการคลังและผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเร่งดำเนินการเสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งธนาคารที่ดินหรือองค์การอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในลักษณะทำนองเดียวกับธนาคารที่ดินต่อคณะรัฐมนตรี ตามนัยมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ซึ่งต้องดำเนินการภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับ (ครอบ 1 ปี เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2563)
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                    1. โดยที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (5 กุมภาพันธ์ 2562 และ 18 มิถุนายน 2562) เห็นชอบให้สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (บจธ.) เร่งดำเนินโครงการตามภารกิจของ บจธ. ทั้ง 4 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการต้นแบบการบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจร (2) โครงการแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจน (3) โครงการนำร่องธนาคารที่ดิน ในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน และ (4) โครงการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาด้านที่ดินจากการดำเนินนโยบายของรัฐ วงเงินงบประมาณ 400.427 ล้านบาท ให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมและบรรลุวัตถุประสงค์ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ภายในวันที่ 7 มิถุนายน 2563 ซึ่ง บจธ. รายงานว่า ได้ดำเนินโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของโครงการเรียบร้อยแล้ว และมีงบประมาณคงเหลือ 77.429 ล้านบาท ซึ่ง บจธ. จะนำเงินคงเหลือส่วนนี้และเงินสมทบของ บจธ. จำนวน 5.071 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 84.500 ล้านบาท ไปใช้ดำเนินโครงการต้นแบบการบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจรเพิ่มเติมใน 4 พื้นที่ ในท้องที่จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน และจังหวัดตากให้แล้วสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
                   2. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และสำนักงาน ก.พ.ร. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชนรับทราบ/เห็นชอบ/ไม่มีข้อขัดข้องและมีความเห็นเพิ่มเติม เช่น (1) บจธ. ควรถอดบทเรียนที่ได้รับจากการปฏิบัติงานในโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน ในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน เพื่อเป็นแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินการของ บจธ. ในระยะต่อไป (2) บจธ. ควรสรุปปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดในการดำเนินโครงการ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งธนาคารที่ดิน และ (3) งบประมาณคงเหลือที่จะนำมาดำเนินการจะมีผลให้เกิดภาระงบประมาณอย่างต่อเนื่อง               จึงควรดำเนินการประเมินผลการดำเนินงานของ บจธ. รอบ 1 ปี โดยคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน ตามนัยมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 เป็นต้น
 
8. เรื่อง แผนปฏิบัติการภาค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 แผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด พ.ศ. 2561–2565 ฉบับทบทวน แผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด และคำของบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบูรณาการนโยบายการพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) เสนอผลการประชุมคณะกรรมการ ก.บ.ภ. ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สรุปสาระสำคัญของผลการประชุมได้ ดังนี้
                   1. แผนปฏิบัติการภาค ประจำปีงบประมาณ .ศ. 2564
                             1.1 เห็นชอบแผนปฏิบัติการ 6 ภาค ประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2564 จำนวน 1,097 โครงการ วงเงิน 76,244.41 ล้านบาท ดังนี้
 
                                                                                                                                        (หน่วย : ล้านบาท)

แผนปฏิบัติการภาค วงเงิน
ภาคกลางและพื้นที่กรุงเทพมหานคร 11,961.91
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 26,533.43
ภาคตะวันออก 7,433.78
ภาคเหนือ 12,825.66
ภาคใต้ 13,992.40
ภาคใต้ชายแดน 3,497.23
รวม 76,244.41

                             1.2 เห็นชอบหลักเกณฑ์และแนวทางการปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ โดยให้ส่วนราชการที่มีความจำเป็นต้องปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเสนอคำขอปรับแผนฯ มายัง สศช. เพื่อรวบรวมและประเมินผลก่อนนำเสนอนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน ก.บ.ภ. พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนแจ้งเวียน ก.บ.ภ. เพื่อทราบต่อไป
                   2. แผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดพ.ศ. 2561-2565 ฉบับทบทวน
                             2.1 เห็นชอบแผนพัฒนาจังหวัด 76 จังหวัด และแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด 18 กลุ่มจังหวัด พ.ศ. 2561-2565 ฉบับทบทวน ประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2564
                             2.2 ให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดนำความเห็นและข้อเสนอแนะของฝ่ายเลขานุการฯ ไปทบทวนและปรับปรุงแผนเพื่อให้มีความสมบูรณ์ในระยะต่อไป เช่น (1) ควรนำเสนอข้อมูลการพัฒนาอย่างเป็นอนุกรม 3 ปีขึ้นไป และป็นข้อมูลที่ทันสมัยสำหรับการวิเคราะห์เปรียบเทียบให้เห็นศักยภาพและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในแต่ละด้าน (2) ควรจัดลำดับความสำคัญของปัญหาและความต้องการของประชาชน (3) ควรกำหนดประเด็นการพัฒนาให้สอดคล้องกับศักยภาพและปัญหาของพื้นที่ และ (4) กำหนดแผนงานและโครงการแบบย่อให้มีความเชื่อมโยงการพัฒนาในลักษณะห่วงโซ่คุณค่า
                   3. แผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด
                             3.1 เห็นชอบแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดจำนวน 76 จังหวัด และ 18 กลุ่มจังหวัด รวมทั้งสิ้น 1,953 โครงการ งบประมาณรวม 47,379.82 ล้านบาท ประกอบด้วย
                                                                                                                                           (หน่วย :  ล้านบาท)

รายการ สนับสนุนภายในกรอบวงเงิน สนับสนุนเกินกรอบวงเงิน
โครงการ งบประมาณ โครงการ งบประมาณ
คำของบประมาณจังหวัด 1,230 20,362.53 462 14,499.86
คำของบประมาณกลุ่มจังหวัด 177 9,257.81 84 3,259.62
ส่วนที่ 1 สำหรับขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพที่เป็นความต้องการและแก้ไขปัญหาประเด็นร่วมของกลุ่มจังหสัด 117 4,608.15 84 3,259.62
ส่วนที่ 2 เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาในลักษณะ Cluster หรือตอบสนองนโยบายเชิงพื้นที่ 60 4,649.66    
รวม 1,407 29,620.34 546 17,759.48

                             3.2 เห็นชอบกรอบวงเงินการปรับลดงบประมาณตามแผนปฏิบัติราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กรอบวงเงิน 23,378.67 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 [เรื่อง การปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และการปรับปรุงปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ                  พ.ศ. 2564]
                   นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2564 (เพิ่มเติม) และแนวทางการกำหนดกรอบการจัดสรรงบประมาณ ปะจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด
 
9. เรื่อง  ผลการดำเนินโครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการดำเนินโครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า  ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
                    สาระสำคัญ
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอรายงานผลการดำเนินโครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า ระยะที่ 1 ระยะเร่งด่วน (ดำเนินการแล้วเสร็จก่อนวันที่ 28 กรกฎาคม 2563) ประกอบด้วย การดำเนินโครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า ในพื้นที่เร่งด่วน การเปิดโครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่า และการจัดฝึกอบรมหลักสูตร “จิตอาสา” ตามโครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า ดังนี้
1. การดำเนินโครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า ในพื้นที่เร่งด่วน จำนวนรวมทั้งหมด 8 พื้นที่ใน 6 จังหวัด (เชียงใหม่ ตาก น่าน นครราชสีมา ชัยภูมิ และนครศรีธรรมราช) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ
และสิ่งแวดล้อม ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานโครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ซึ่งได้ดำเนินกิจกรรมปลูกป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียวรวมกันทั้งสิ้น 1,599 ไร่ 1 งาน โดยปลูกกล้าไม้รวมกันจำนวน 227,150 ต้น รวมทั้ง ทำฝาย จำนวน 71 แห่ง ซึ่งผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายโครงการ ระยะที่ 1 (ปลูกป่าไม่น้อยกว่า 1,010 ไร่ และจัดทำฝาย
ไม่น้อยกว่า 70 แห่ง)
2. การจัดพิธีเปิดโครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า พร้อมกันทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ  (รวมกรุงเทพมหานคร)
    2.1 พิธีเปิดโครงการหลักจัดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม 2563 ณ อุทยานแห่งชาติน้ำตกบัวตอง – น้ำพุเจ็ดสี อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โดยนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี พลเรือเอก ปวิตร รุจิเทศ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทานผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด เจ้าหน้าที่ และประชาชนจิตอาสาประมาณ 1,000 คน ร่วมถวายพระพร พร้อมทั้งปลูกต้นไม้ ปลูกกล้วยไม้ จัดทำฝาย และจัดทำโป่งเทียม เพื่อแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน และเป็นการฟื้นฟูดิน น้ำ ป่า สิ่งแวดล้อม กลับคืนระบบนิเวศให้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนด้วย
                       2.2 พิธีเปิดโครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่าในพื้นที่ 77 จังหวัด (รวมกรุงเทพมหานคร) จัดขึ้นพร้อมกันในวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ซึ่งผลการดำเนินโครงการระยะเร่งด่วน (ดำเนินการแล้วเสร็จก่อนวันที่ 28 กรกฎาคม 2563) ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนถึงวันจัดพิธีเปิดโครงการมีการปลูกป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ 77 จังหวัด             (รวมกรุงเทพมหานคร) รวมกันทั้งสิ้น 3,042 ไร่ 2 งาน 95.25 ตารางวา โดยปลูกกล้าไม้รวมทั้งสิ้นจำนวน 467,853 ต้น ทำฝาย 147 แห่ง ทำโป่งเทียม 3 แห่ง
                       3. การจัดฝึกอบรมหลักสูตร “จิตอาสา” ตามโครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า ระหว่างวันที่ 19 - 23 กรกฎาคม 2563 สรุปได้ดังนี้
         4.3.1   ฝึกอบรมระดับปฏิบัติการ (ระดับอำเภอ ระดับตำบล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) จำนวน 150 คน ระหว่างวันที่ 19 – 23 กรกฎาคม 2563 ณ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จังหวัดเชียงใหม่ โดยรัฐมนตรีว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในการมอบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรม
4.3.2   มอบนโยบายการดำเนินโครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า ให้แก่
ผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ โดยพลเรือเอก ปวิตร  รุจิเทศ ผู้อำนวยการ
ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด จัดทำแผนการดำเนินโครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า ในพื้นที่แต่ละจังหวัด ส่งให้ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ.) เพื่อประกอบการดำเนินโครงการปลูกป่า และป้องกันไฟป่า ในระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ต่อไป
 
10. เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น                
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเสนอ โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในกรอบวงเงิน 435,289,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และลดผลกระทบจากสัตว์ป่า รวมถึงการแก้ไขปัญหาการดูแลสัตว์ป่าของกลางตามหลักสวัสดิภาพสัตว์จำนวน 3 โครงการ ดังนี้
                   1. โครงการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกหากินนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์แบบบูรณาการ วงเงิน 370,608,000 บาท
                   2. โครงการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบของลิงในชุมชน วงเงิน 24,461,000 บาท
                   3. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการรับสัตว์ป่าของกลางและสัตว์ป่า กรณีแก้ไขปัญหาตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ในกรงเลี้ยง วงเงิน 40,220,000 บาท
สำหรับกิจกรรม/รายการอื่นที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชยังมีความจำเป็นต้องดำเนินการให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่เสนอตั้งงบประมาณบางส่วนรองรับไว้แล้ว รวมถึงการปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีผลบังคับใช้แล้ว ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   ทส. เสนอว่า
                   1. ปัจจุบันมีช้างป่าอาศัยอยู่ตามธรรมชาติประมาณ 3,168-3,440 ตัว ในพื้นที่อนุรักษ์ทั้งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จำนวน 69 แห่ง โดยปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่ออกหากินนอกพื้นที่อนุรักษ์ทวีความรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตร ทรัพย์สินและชีวิตของคนและสัตว์ สาเหตุมาจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย ความไม่สอดคล้องของประชากรในพื้นที่อนุรักษ์ และปัจจัยในการดำรงชีวิตในพื้นที่ป่าไม่เพียงพอ ทำให้สัตว์ป่าออกมากินใกล้พื้นที่เกษตรกร
                   2. สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนกับลิง จากการสำรวจข้อมูลประชากรลิง โดยใช้วิธีการใช้แบบสอบถามไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลทุกแห่ง พบว่า ปัจจุบันพื้นที่ที่มีปัญหาทั้งหมด จำนวน 222 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 51 จังหวัด โดยแบ่งเป็นนอกพื้นที่ ป่าอนุรักษ์ จำนวน 206 แห่ง และในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน   16 แห่ง มีการสำรวจนับประชากรลิงแล้ว 173 แห่ง พบประชากรลิง จำนวน 53,068 ตัว
                   3. จากสถานการณ์การป้องกันและปราบปรามลักลอบการค้าสัตว์ป่าที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้มีการตรวจยึดสัตว์ป่าของกลางเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้กรงและคอกที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะรองรับสัตว์ป่าของกลางให้เป็นไปตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ โดยปัจจุบันมีสัตว์ป่าของกลางที่ต้องดูแล จำนวน 9,276 ตัว
                   4. เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่าที่ออกหากินนอกพื้นที่อนุรักษ์ได้ทวีความรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตร ทรัพย์สินและชีวิตของคนและสัตว์ จึงเห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยด่วน
                   5. การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและลดผลกระทบจากสัตว์ป่า รวมถึงการดูแลสัตว์ป่าของกลางตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ มีความจำเป็นต้องขอใช้งบกลาง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการจำนวน 3 โครงการ ในช่วงระยะเวลาเดือนสิงหาคม-กันยายน 2563 ดังนี้
                             (1) โครงการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกหากินนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์แบบบูรณาการ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกหากินนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์แบบบูรณาการ โดยดำเนินกิจกรรม
                                      1) ฟื้นฟูและจัดการทุ่งหญ้า                  13,583                     ไร่
                                      2) ปลูกพืชอาหารช้าง                          6,736          ไร่
                                      3) สร้างแหล่งน้ำ (3,000 ลบ.ม.)                   49                    แห่ง
                                      4) สร้างแหล่งน้ำ (10,000 ลบ.ม.)                 18                    แห่ง
                                      5) สร้างแหล่งน้ำ (20,000 ลบ.ม.)                   3          แห่ง
                                      6) รั้วกึ่งถาวร                                 157.42                     กิโลเมตร
                                      7) สร้างคูกั้นช้าง                              105.20                     กิโลเมตร
                                      8) เครือข่ายอาสาสมัครเฝ้าระวังช้างป่า          304           เครือข่าย
                                      9) ติดตั้งอุปกรณ์ ระบบการเฝ้าระวังระวังแจ้งเตือนภัย  300 จุด
                             (2) โครงการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบของลิงในชุมชน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างลิงกับคนในพื้นที่ชุมชนเมืองโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีปัญหา โดยดำเนินกิจกรรม ดังนี้
                                      1) ควบคุมประชากรลิงในพื้นที่ที่พบปัญหา จำนวน 3,500 ตัว
                                      2) จัดทำฐานข้อมูลประชากรลิงและสภาพพื้นที่ที่เกิดปัญหาโดยระบบที่ทันสมัย เข้าถึงได้สะดวกและรวดเร็ว
                                      3) จัดสร้างกรงเลี้ยงลิง เพื่อดูแลและรองรับลิงกรณีแก้ไขปัญหา 67 กรง
                             (3) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการรับสัตว์ป่าของกลางและสัตว์ป่ากรณีแก้ไขปัญหาตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ ในกรงเลี้ยง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยดำเนินกิจกรรม ดังนี้
                                       1) สร้างกรงคอกมาตรฐานและจัดทำพื้นที่กักกันโรคในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า 23 แห่ง
                                      2) จัดสร้างคลินิกสัตว์ป่าพร้อมอุปกรณ์รักษา 12 แห่ง
 
11. เรื่อง รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 12
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 12 ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ ข้อมูล ณ วันที่ 28 กรกฎาคม 2563 ซึ่งได้รับข้อมูลจาก 147 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 99 ของส่วนราชการทั้งหมด (148 ส่วนราชการ) สรุปข้อมูลดังนี้
                   1. การปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ
                    ส่วนราชการได้มีการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กลับมาปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการตามปกติเพิ่มมากขึ้น (73 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 49) โดยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา (72 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 49) และส่วนราชการพิจารณากำหนดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่เหลื่อมเวลาในการทำงานเป็น  3 ช่วงเวลาเพิ่มมากขึ้น (71 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 48)           
                    2. การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ (Work From Home)
                    ส่วนราชการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการลดลง (74 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 51) โดยในจำนวนนี้มีส่วนราชการ 17 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 12 ที่มอบหมายให้ทุกคนปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง
                   
12. เรื่อง รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ ในสัปดาห์ช่วงระหว่างวันที่  20 –24 กรกฎาคม 2563 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
                   สาระสำคัญ
                   รัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มีจำนวน 55 แห่ง โดยผลสัมฤทธิ์ฯ ของรัฐวิสาหกิจในสัปดาห์ช่วงระหว่างวันที่ 20 – 24 กรกฎาคม 2563 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
                   1. การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ (ปฏิบัติงานที่บ้านหรือที่พักหรือสถานที่ตามที่รัฐวิสาหกิจกำหนด)
                   รัฐวิสาหกิจ 16 แห่ง ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง โดยมีรัฐวิสาหกิจ 39  แห่ง ที่ให้พนักงานกลับมาปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งตามปกติแล้ว เพิ่มขึ้น 1 แห่ง จากสัปดาห์ก่อนหน้า (ช่วงระหว่างวันที่ 13 – 19 กรกฎาคม 2563) ทั้งนี้ จากจำนวนพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจทั้งหมดจำนวน 272,598 คน มีพนักงานและลูกจ้างปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งจำนวน 12,228 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 4
                   2. การปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ (การปฏิบัติงานเหลื่อมเวลา)
                   รัฐวิสาหกิจ 25 แห่ง ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานเหลื่อมเวลา โดยมีรัฐวิสาหกิจกลับมาดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานเหลื่อมเวลาเพิ่มขึ้น 3 แห่งจากสัปดาห์ก่อนหน้า (ช่วงระหว่างวันที่ 13 – 17 กรกฎาคม 2563) โดยรัฐวิสาหกิจ 25 แห่ง มีช่วงเวลาเริ่มปฏิบัติงานเหลื่อมเวลาตั้งแต่เวลา 6.00 น. – 10.00 น.
                   3. แนวทางการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจ
                   รัฐวิสาหกิจที่ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งมีการติดตามผลการปฏิบัติงานทั้งเป็นรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน ขึ้นอยู่กับประเภทของงาน ซึ่งรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มีการกำกับ ติดตาม และบริหารผลการปฏิบัติงานผ่านแอปพลิเคชัน Line ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ และระบบการติดตามงานและการลงเวลาปฏิบัติงานที่องค์กรพัฒนาขึ้นเอง โดยรัฐวิสาหกิจยังคงใช้แอปพลิเคชัน Line มาสนับสนุนการปฏิบัติงานมากที่สุด ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจมีข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งว่า ควรเตรียมอุปกรณ์และระบบเพื่อรองรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งให้เพียงพอ และควรพัฒนาระบบการปฏิบัติงานขององค์กรให้สามารถรองรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้ ซึ่งรวมถึงมีการจัดเก็บข้อมูลหรือเอกสารให้อยู่ในรูปแบบของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งควรพิจารณาลักษณะงานที่จำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งเท่านั้น เช่น การให้บริการประชาชน และสำหรับงานอื่นที่ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้ง ควรพิจารณาเปลี่ยนรูปแบบเป็นการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งแทน
 
13.  เรื่อง การกู้เงินจากธนาคารพัฒนาเอเชียภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
                   1. เห็นชอบร่างสัญญาเงินกู้ COVID-19 Active Response and Expenditure Support Program ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB)
                   2. อนุมัติให้ใช้อนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทตามเงื่อนไขที่กำหนดใน Asian Development Bank Ordinary Operation Loan Regulation ลงวันที่ 1 มกราคม 2560 ของ ADB
                   3. อนุมัติให้ กค. กู้เงินในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยจาก ADB วงเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำไปใช้จ่ายในแผนงาน/โครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนด)
                   4. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบหมายเป็นผู้ลงนามในสัญญาเงินกู้ฯ ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย
                   5. มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) จัดเตรียมทำคำรับรองทางกฎหมาย (Legal Opinion) สำหรับสัญญาเงินกู้ฯ ของ ADB ในโอกาสแรกภายหลังจากที่ได้มีการลงนามในสัญญาเงินกู้ดังกล่าวแล้ว
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   กค. ได้มีหนังสือถึง ADB เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 เพื่อขอกู้เงิน COVID-19 Active Response and Expenditure Support Program สำหรับนำไปใช้แผนงาน/โครงการภายใต้พระราชกำหนดฯ วงเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย กค. และ ADB ได้เจรจาเงื่อนไขการกู้เงิน ร่างสัญญาเงินกู้ฯ รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้อง และได้ลงนามในบันทึกการเจรจาเงินกู้ (Minute of Negotiations) เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ทั้งนี้ ร่างสนธิสัญญาเงินกู้ฯ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
         

ประเด็น สาระสำคัญ
1. ผู้กู้ กค.
2. ผู้ให้กู้ ADB
3. วงเงินกู้/สกุลเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 48,000 ล้านบาท คำนวณโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน 32 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ)
4. อัตราดอกเบี้ย/การชำระดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยลอยตัว โดยอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระหว่างธนาคารของตลาดลอนดอน (London Interbank Offered Rate: LIBOR) ระยะ 6 เดือน บวกด้วยส่วนต่างร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยชำระดอกเบี้ยของวงเงินกู้คงค้างทุก 6 เดือน (วันที่ 15 กุมภาพันธ์ และวันที่ 15 สิงหาคม)
5. ค่าธรรมเนียมผูกพันเงินกู้ อัตราร้อยละ 0.15 ต่อปี
(ภายหลัง 60 วัน นับจากวันที่ลงนามในสัญญาเงินกู้ ของวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย) โดยชำระค่าธรรมเนียมพร้อมกับการชำระดอกเบี้ย
6. อายุเงินกู้/การชำระคืนต้นเงินกู้ วงเงินที่ 1 วงเงินกู้ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อายุเงินกู้ 10 ปี รวมระยะเวลาปลอดการชำระต้นเงินกู้ 3 ปี ทยอยชำระคืนต้นเงินกู้โดยแบ่งชำระเป็น 14 งวด งวดละ 35.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 15 สิงหาคม 2566 และชำระงวดสุดท้ายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2573 วงเงินที่ 2 วงเงินกู้ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อายุเงินกู้ 5 ปี รวมระยะเวลาปลอดการชำระต้นเงินกู้ 3 ปี ทยอยชำระคืนต้นเงินกู้โดยแบ่งชำระเป็น 4 งวด งวดละ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 15 สิงหาคม 2566 และชำระงวดสุดท้ายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568
7. ระยะเวลาสิ้นสุดการเบิกจ่ายเงินกู้ 30 มิถุนายน 2564
8. เงื่อนไขการใช้จ่ายเงินกู้ เพื่อนำไปใช้จ่ายในโครงการ/แผนงานเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายใต้พระราชกำหนดฯ โดยจะต้องไม่เป็นโครงการ/แผนงาน ที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ของ ADB

                   ในส่วนของการขออนุมัติให้ใช้วิธีการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับการกำหนดให้ใช้วิธีอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทตามเงื่อนไขที่กำหนด General Terms and Conditions for Japanese ODA Loans (GTC) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของร่างสัญญาเงินกู้ภายใต้กรอบของหนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต่างประเทศ ไว้ว่า ไม่เป็นกรณีที่ต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 เนื่องจากร่างสัญญาเงินกู้ดังกล่าวจัดทำขึ้นระหว่างรัฐกับหน่วยงานของรัฐต่างประเทศ มิใช่ระหว่างรัฐกับองค์กรเอกชน
                   ภายหลังจากการกู้เงินจาก ADB วงเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในครั้งนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด จะเท่ากับร้อยละ 2.41 ซึ่งไม่เกินร้อยละ 10 ตามกรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด (ข้อมูล ณ วันที่ 24 กรกฎาคม 2563) และกระทรวงการคลังจะดำเนินการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (CCS) เมื่อภาวะตลาดเอื้ออำนวย
 
14.  เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
                   1. กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการ
                       1.1 ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ให้คนต่างด้าวรวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวที่มีสิทธิอยู่ในราชอาณาจักรตามสิทธิของคนต่างด้าวซึ่งเป็นบิดาหรือมารดาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะเพื่อดำเนินการตามแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และมิให้นำมาตรา 12 (10) และมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาใช้บังคับแก่คนต่างด้าวที่ได้ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว รวมถึงกำหนดการสิ้นผลของการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะของคนต่างด้าว
                             โดยคนต่างด้าวดังกล่าวข้างต้น หมายถึงคนต่างด้าว ดังต่อไปนี้
                             (1) คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MoU) ภายใต้บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน (Agreement) วาระการจ้างงานครบ 4 ปี ซึ่งยังคงอยู่ในราชอาณาจักร และมีนายจ้างที่ต้องการจ้างคนต่างด้าวเข้าทำงาน
                             (2) คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MoU) ภายใต้บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน (Agreement) ที่การอนุญาตทำงานสิ้นสุด เนื่องจากการถูกเลิกจ้างและไม่สามารถหานายจ้างรายใหม่ได้ทันภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา 50 มาตรา 53 และมาตรา 55 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งยังคงอยู่ในราชอาณาจักร และมีนายจ้างที่ต้องการจ้างคนต่างด้าวเข้าทำงาน
                             (3) คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ
ได้รับเอกสารประจำตัว ได้แก่ หนังสือเดินทาง เอกสารเดินทาง หรือเอกสารรับรองบุคคล ซึ่งการได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและการอนุญาตให้ทำงานสิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2562 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 แต่นายจ้างไม่ได้ดำเนินการยื่นขอรับบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งยังคงอยู่ในราชอาณาจักร และมีนายจ้างที่ต้องการจ้างคนต่างด้าวเข้าทำงาน
                             ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คน  ต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
                       1.2 ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา และเมียนมา ที่เข้ามาทำงานตามความตกลงว่าด้วยการข้ามแดนในลักษณะไป - กลับ หรือแบบตามฤดูกาล ตามมาตรา64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่ครบวาระการจ้างงานและการอนุญาตให้พำนักในเขตพื้นที่ชายแดนที่ได้รับอนุญาตสิ้นสุด ซึ่งยังคงอยู่ในราชอาณาจักร และมีนายจ้างที่ต้องการจ้างคนต่างด้าวเข้าทำงาน อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ เพื่อให้คนต่างด้าวดังกล่าวดำเนินการตามแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งนี้ มิให้นำมาตรา 12 (10) และมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาใช้บังคับแก่คนต่างด้าวที่ได้ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว รวมถึงกำหนดการสิ้นผลของการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะของคนต่างด้าว
                             ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาและเมียนมา ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามมาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
                       1.3 ให้กรมการปกครองและกรุงเทพมหานคร ดำเนินการจัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติ และออกบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ให้แก่คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตร ที่ถือหนังสือเดินทาง เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง หรือหนังสือรับรองสถานะบุคคล และได้รับการอนุญาตทำงาน ตรวจสุขภาพ และการตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ตามแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2564
                   2. กระทรวงแรงงาน ดำเนินการ
                       2.1 ออกประกาศกระทรวงแรงงาน โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 14 ประกอบกับมาตรา 63/2 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติมให้คนต่างด้าวสามารถทำงานไปพลางก่อนได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตทำงาน เพื่อการดำเนินการตามแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และให้กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการขอรับใบอนุญาตทำงานประเภทงานที่อนุญาตให้คนต่างด้าวทำ เงื่อนไขในการอนุญาตให้ทำงาน การสิ้นผลของการอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว รวมถึงการยกเว้นการแจ้งข้อมูลการจ้างคนต่างด้าวเข้าทำงานของนายจ้างตามมาตรา 13 และการแจ้งข้อมูลการทำงานของคนต่างด้าวตามมาตรา 64/2 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว เฉพาะการยื่นคำขออนุญาตทำงานตามแนวทางดังกล่าว
                             โดยคนต่างด้าวดังกล่าวข้างต้น หมายถึงคนต่างด้าว ดังต่อไปนี้
                             (1) ดนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MoU) ภายใต้บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน (Agreement) วาระการจ้างงานครบ 4 ปี ซึ่งยังคงอยู่ในราชอาณาจักร และมีนายจ้างที่ต้องการจ้างคนต่างด้าวเข้าทำงาน
                             (2) คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MoU) ภายใต้บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน (Agreement) ที่การอนุญาตทำงานสิ้นสุด เนื่องจากการถูกเลิกจ้างและไม่สามารถหานายจ้างรายใหม่ได้ทันภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา 50 มาตรา 53 และมาตรา 55 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งยังคงอยู่ในราชอาณาจักร และมีนายจ้างที่ต้องการจ้างคนต่างด้าวเข้าทำงาน
                             (3) คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ
ได้รับเอกสารประจำตัว ได้แก่ หนังสือเดินทาง เอกสารเดินทาง หรือเอกสารรับรองบุคคล ซึ่งการได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและการอนุญาตให้ทำงานสิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2562 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน  พ.ศ. 2563 แต่นายจ้างไม่ได้ดำเนินการยื่นขอรับบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งยังคงอยู่ในราชอาณาจักร และมีนายจ้างที่ต้องการจ้างคนต่างด้าวเข้าทำงาน
                             (4) ผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวตาม (3) ที่มีสิทธิอยู่ในราชอาณาจักรตามสิทธิของคนต่างด้าวซึ่งเป็นบิดาหรือมารดาที่มีอายุตั้งแต่สิบแปดปีบริบูรณ์
                             ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้ยกร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
                       2.2 ออกประกาศกระทรวงแรงงาน โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 14 ประกอบกับมาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา และเมียนมา ที่เข้ามาทำงานตามความตกลงว่าด้วยการข้ามแดนในลักษณะไป – กลับ หรือแบบตามฤดูกาลที่ครบวาระการจ้างงานและการอนุญาตให้พำนักในเขตพื้นที่ชายแดนที่ได้รับอนุญาตสิ้นสุด ซึ่งยังคงอยู่ในราชอาณาจักร และมีนายจ้างที่ต้องการจ้างคนต่างด้าวเข้าทำงาน ให้สามารถทำงานไปพลางก่อนได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตทำงาน เพื่อการดำเนินการตามแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และให้กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการขอรับใบอนุญาตทำงาน ประเภทงานที่อนุญาตให้คนต่างด้าวทำ เงื่อนไขในการอนุญาตให้ทำงาน การสิ้นผลของการอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว รวมถึงการยกเว้นการแจ้งข้อมูลการจ้างคนต่างด้าวเข้าทำงานของนายจ้างตามมาตรา 13 และการแจ้งข้อมูลการทำงานของคนต่างด้าวตามมาตรา 64/2 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว เฉพาะการยื่นคำขออนุญาตทำงานตามแนวทางดังกล่าว
         ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้ยกร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา และเมียนมา ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามมาตรา 64 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
    2.3 ให้กรมการจัดหางานเริ่มดำเนินการรับคำขอรับใบอนุญาตทำงานและออกใบอนุญาตทำงาน ตามแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2563
3. กระทรวงสาธารณสุข โดยสถานพยาบาลของรัฐที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ดำเนินการ
    3.1 ตรวจสุขภาพคนต่างด้าวและผู้ติดตามที่อายุไม่เกินสิบแปดปีบริบูรณ์
    3.2 ประกันสุขภาพในกรณีที่คนต่างด้าวทำงานในกิจการที่เข้าระบบประกันสังคมแต่สิทธิประกันสังคมยังไม่มีผล หรือกรณีที่คนต่างด้าวทำงานในกิจการที่ไม่เข้าระบบประกันสังคม
    3.3 ประกันสุขภาพผู้ติดตามที่อายุไม่เกินสิบแปดปีบริบูรณ์
    ตามแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2563 โดยสถานพยาบาลของรัฐต้องตรวจสุขภาพและออกผลการตรวจสุขภาพ (ใบรับรองแพทย์) ให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข
4. สำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ดำเนินการตรวจอนุญาตให้คนต่างด้าวที่มีหนังสือเดินทาง เอกสารเดินทาง หรือเอกสารรับรองบุคคล และผู้ติดตามที่อายุไม่เกินสิบแปดปีบริบูรณ์ อยู่ต่อในราชอาณาจักร ตามแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตรวจอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรต่อไปเพื่อการทำงาน ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2564 และเมื่อคนต่างด้าวดังกล่าวอยู่ในราชอาณาจักรครบกำหนดระยะเวลาที่อนุญาตแล้ว หากประสงค์จะอยู่ในราชอาณาจักรต่อไปอีกเพื่อการทำงานให้ขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรได้อีกไม่เกินวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565
    สำหรับผู้ติดตามคนต่างด้าวให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเท่ากับระยะเวลาที่คนต่างด้าวซึ่งเป็นบิดาหรือมารดาได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร แต่ระยะเวลาเวลาดังกล่าวต้องไม่เกินวันที่ผู้ติดตามมีอายุครบสิบแปดปีบริบูรณ์
    กรณีเอกสารประจำตัวของคนต่างด้าวมีอายุเหลือน้อยกว่าหนึ่งปี ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองตรวจอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปเท่ากับอายุเอกสารประจำตัว หากคนต่างด้าวประสงค์อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานต่อไป ต้องไปดำเนินการขอมีเอกสารประจำตัวฉบับใหม่กับหน่วยงานของประเทศต้นทาง เมื่อคนต่างด้าวได้รับเอกสารประจำตัวฉบับใหม่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองย้ายรอยตราประทับอนุญาตไปยังเอกสารประจำตัวฉบับใหม่ และขยายระยะเวลาการอนุญาตให้ตามสิทธิ
    คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา และเมียนมา ที่เข้ามาทำงานตามความตกลงว่าด้วยการข้ามแดนในลักษณะไป - กลับ หรือแบบตามฤดูกาลตามมาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่ม ซึ่งครบกำหนดวาระการจ้างงานและการอนุญาตให้พำนักในเขตพื้นที่ชายแดนที่ได้รับอนุญาตสิ้นสุดลงในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 ซึ่งได้รับการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อทำงานถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส           โคโรนา 2019 รวมถึง เจ้าบ้าน เจ้าของหรือผู้ครอบครองเคหสถาน หรือผู้จัดการโรงแรมซึ่งรับคนต่างด้าวดังกล่าวเข้าพักอาศัย ต้องปฏิบัติตามนัยมาตรา 37 และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522
5. ให้กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้นายจ้าง ผู้ประกอบการ แรงงานต่างด้าว และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้รับทราบข้อมูลอย่างถูกต้องทั่วถึง
                   6. หลังสิ้นสุดระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะสำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา และเมียนมา ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามมาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงดำเนินการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุมดำเนินคดี นายจ้าง แรงงานผิดกฎหมายที่ลักลอบทำงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
 
15. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 13/2563
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ในคราวประชุมครั้งที่ 13/2563 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ที่ได้มีการพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการของจังหวัดที่มีหน่วยรับผิดชอบอยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และโครงการของส่วนราชการสังกัดกระทรวงคมนาคมและกระทรวงพลังงานเพื่อขอใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามมาตรา 8 (1) แห่งพระราชกำหนดฯ ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอดังนี้
                   1. อนุมัติโครงการของจังหวัดภายใต้แผนงาน 3.2 จำนวน 157 โครงการ วงเงิน 884,625,068 บาท โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลางฯ โดยให้หน่วยงานรับผิดชอบดำเนินโครงการตามหลักการทั้ง 8 ข้อของคณะกรรมการฯ อย่างเคร่งครัด และจัดทำหนังสือยืนยันว่าการประมาณค่าใช้จ่ายเป็นไปตามระเบียบของทางราชการ พร้อมทั้งรับความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
                    2. ให้กระทรวงคมนาคม (กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท) ดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติและโครงการติดตั้งหลักนำทางยางธรรมชาติเพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน วงเงินรวม 40,179.46 ล้านบาท ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
                    3. ให้กระทรวงพลังงานพิจารณาทบทวนการดำเนินโครงการลดต้นทุนพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก วงเงินรวม 1,187.64 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินจากเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงาน เนื่องจากวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ (แผนงานที่ 3.1 3.2 และ 3.4) ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ นอกจากนี้ ยังมีความซ้ำซ้อนกับโครงการต่าง ๆ ของกระทรวงพลังงานซึ่งเป็นภารกิจปกติ อาทิ การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ดำเนินการอยู่แล้วและได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ทั้งนี้ ในกรณีที่ข้อเสนอโครงการของจังหวัดที่มีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ เห็นควรมอบหมายให้ สศช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ รวบรวมข้อเสนอโครงการของจังหวัดให้กระทรวงพลังงานพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป
                   4. ให้หน่วยงานของรัฐที่จะจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อขอใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯพิจารณาว่าโครงการดังกล่าวสามารถดำเนินโครงการด้วยแหล่งเงินอื่น ๆ อาทิ เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเงินรายได้ เงินกองทุนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้หน่วยงานพิจารณาจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับการจัดสรรหรือใช้จ่ายจากแหล่งเงินดังกล่าวเป็นลำดับแรก
                   5. ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ พิจารณาเสนอโครงการในลักษณะเป็น package ที่ครอบคลุมสหกรณ์การเกษตรและสหกรณ์การประมง เพื่อให้การดำเนินการของสหกรณ์ดังกล่าวเป็นกลไกในการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนได้อย่างเป็นระบบและรวดเร็ว รวมทั้งสามารถนำไปสู่การสร้างงานสร้างอาชีพในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความยั่งยืน
                   6. กำหนดอัตราการจ่ายเงินสมทบของสหกรณ์สำหรับโครงการที่ขอใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดฯ ในอัตราสูงสุดร้อยละ 30 โดยให้เป็นไปตามศักยภาพของสหกรณ์แต่ละแห่ง ทั้งนี้ ในการจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดฯ กรมส่งเสริมสหกรณ์ต้องจัดทำผลการวิเคราะห์สถานะการเงินของสหกรณ์ทั้งในส่วนงบดุล เงินสดคงเหลือ ข้อมูล เครื่องมือและอุปกรณ์ที่สหกรณ์มีอยู่ในปัจจุบัน ความคุ้มค่าและความยั่งยืนของโครงการ รวมถึงกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์จากการดำเนินโครงการ รวมทั้งพิจารณากำหนดอัตราการจ่ายเงินสมทบที่เหมาะสมกับศักยภาพของสหกรณ์แต่ละแห่ง เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ด้วย

 

ต่างประเทศ

16. เรื่อง การนำเสนอรายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทยตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (ฉบับที่ 2)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบรายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทยตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (ฉบับที่ 2) และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดส่งรายงานผลการดำเนินงานของไทยตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติฯ ต่อคณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมานต่อไป ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   รายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทยฯ (ฉบับที่ 2) เป็นการนำเสนอข้อมูลภาพรวมการดำเนินงานตามอนุสัญญาฯ ของประเทศไทยตามแนวคำถามล่วงหน้าที่ได้รับจากคณะกรรมการสหประชาชาติฯ สรุปได้ดังนี้
                   ด้านนโยบาย รายงานผลดำเนินงานของประเทศไทยฯ ได้สะท้อนข้อมูลการประกาศวาระแห่งชาติด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยได้กำหนดให้การป้องกันและปราบปรามการทรมานเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญตามกรอบวาระแห่งชาติฯ นอกจากนั้น ยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ และคณะอนุกรรมการ 4 คณะ เพื่อเป็นกลไกระดับชาติในการป้องกัน คัดกรอง ติดตาม ตรวจสอบ ปราบปราม และเยียวยาการกระทำทรมานและบังคับให้หายสาบสูญ
                   ด้านกฎหมาย กล่าวถึงบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตลอดจนกฎหมาย คำสั่ง และมาตรการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังได้สะท้อนพัฒนาการในการประกาศใช้กฎหมายที่เป็นประโยชน์หลายฉบับ โดยเฉพาะการจัดทำร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ....
                   ด้านการปฏิบัติ นำเสนอพัฒนาการการดำเนินงานของประเทศไทยในทางปฏิบัติ โดยรัฐบาลได้บังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดและยืนยันว่าไม่มีการยกเว้นความรับผิดแก่เจ้าหน้าที่ทั้งทางกฎหมายและข้อเท็จจริง รวมถึงได้ดำเนินความพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เหยื่อที่ถูกกระทำทรมาน เหยื่อค้ามนุษย์และผู้แสวงหาที่พักพิง แก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ปรับปรุงเรือนจำให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล จัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไป                 ตามกฎหมายและเพิ่มศักยภาพแก่เจ้าหน้าที่ และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม รวมถึงมีการรายงานความคืบหน้าของคดีเป็นรายคดีตามข้อห่วงกังวลของคณะกรรมการสหประชาชาติฯ ด้วย อย่างไรก็ตาม ข้อท้าทายในทางปฏิบัติที่สำคัญ คือการที่ประเทศไทยยังไม่ได้กำหนดให้ “การกระทำทรมาน” เป็นความผิดเฉพาะ จึงทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ไม่มีการจัดเก็บข้อมูลและสถิติที่เกี่ยวข้องสำหรับกรณีการกระทำทรมาน เพราะในทางปฏิบัติทุกหน่วยงานจะจัดเก็บข้อมูลและสถิติตามฐานความผิดที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญาเท่านั้น และมีการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ “การกระทำทรมาน” ตามอนุสัญญาฯ ให้กับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ยังคงเป็นเรื่องสำคัญและมีความจำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
                   ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทยตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (ฉบับที่ 2) เพื่อมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศจัดส่งรายงานผลการดำเนินงานของไทยตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติฯ ต่อคณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมานต่อไป
 
17. เรื่อง โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ในการดำเนินงานศูนย์นวัตกรรมระดับภูมิภาค (Regional Innovation Center: RIC) ในประเทศไทย
                    คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอแล้วมีมติ ดังนี้
                    1. เห็นชอบให้  สศช. เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยในฐานะผู้ประสานงานศูนย์นวัตกรรมระดับภูมิภาค (Regional Innovation Center: RIC) ประเทศไทย โดยมีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติในการดำเนินงานศูนย์ RIC ประเทศไทย
                    2. เห็นชอบร่างเอกสารโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติในการดำเนินงานศูนย์ RIC ในประเทศไทย ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของร่างเอกสารโครงการฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือไม่ขัดผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ สศช. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
                    3. สำหรับงบประมาณสนับสนุนโครงการความร่วมมือ ฯ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 42,625,000 บาท และได้เสนอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 30,500,000 บาท  สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2565  เห็นควรให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
                    4. อนุมัติให้เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงนามในร่างเอกสารโครงการฯ ของฝ่ายไทย พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่ผู้ลงนาม
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    รัฐบาลไทยและโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nation Development Program: UNDP) ได้มีการหารือกันอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการ Future Lab และ Policy Lab ซึ่งจะเชื่อมโยงกับโครงการ Gov Lab ที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้นำแนวคิด Government Innovation Lab มาดำเนินการออกแบบนวัตกรรมบริการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพสูงและตอบสนองความต้องการของประชาชนแล้ว  โดยมีข้อสรุปรูปแบบการดำเนินการเป็นโครงการจัดตั้งศูนย์ RIC ในประเทศไทย โดย สศช. และ UNDP ได้ร่วมกันจัดทำร่างเอกสารโครงการฯ โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดรูปแบบและรายละเอียดของการดำเนินโครงการ ซึ่งสามารถสรุปได้ ดังนี้
                    เป้าหมาย
                    - ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการจัดทำนวัตกรรมเชิงนโยบาย
                    - UNDP เป็นเครือข่ายศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะด้านกว่า 60 ประเทศ เช่น เทคโนโลยีเศรษฐกิจหมุนเวียน
                    วัตถุประสงค์
                    - เป็นพื้นที่ออกแบบนวัตกรรมเชิงนโยบาย และส่งเสริมการพัฒนาเครื่องมือจัดทำนโยบายสาธารณะ
                    - เป็นกลไกในการนำไทยสู่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมเชิงนโยบายในภูมิภาค
                    - เป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้สำหรับชุมชนนวัตกรทั่วโลก
 
                    กรอบความร่วมมือและกิจกรรม
                    - พัฒนานวัตกรรมเชิงนโยบายระดับภูมิภาค เช่นกิจกรรมการสำรวจ ออกแบบ และทดลองนโยบาย
                    - เสริมสร้างขีดความสามารถด้านนวัตกรรมเชิงนโยบาย เช่น ฝึกอบรมเพื่อสร้าง องค์ความรู้เพื่อพัฒนานโยบายใหม่ ๆ
                    - สร้างชุมชนแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนวัตกร
                    กลไกลบริหารจัดการ ไทยจะโอนเงินอุดหนุนให้แก่ UNDP เป็นผู้บริหารจัดการการเบิกจ่ายภายใต้การควบคุมของผู้แทน สศช. และ UNDP
                    โครงสร้างศูนย์ RIC ประธานร่วม ได้แก่ สศช. และ UNDP
                    ค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มา สศช. และ UNDP สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการฯ ต่อเนื่อง 3 ปี (ปี63-65) รวม 6 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ไทย 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ UNDP 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดย สศช. ได้รับการจัดสรรงบฯ ปี 63 ประเภทงบเงินอุดหนุน จำนวน 42.625 ล้านบาท
 
 

แต่งตั้ง

18. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการคลัง ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 4 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้ 
                   1. นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ (นักวิเคราะห์รัฐวิสาหกิจทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 
                   2. นางสาวนิภา ลำเจียกเทศ รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง (นักวิชาการคลังทรงคุณวุฒิ) กรมบัญชีกลาง ตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563  
                   3. นายกิตติ สุทธิสัมพันธ์ รองอธิบดีกรมศุลกากร ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี (นักวิชาการศุลกากรทรงคุณวุฒิ) กรมศุลกากร ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 
                   4. นางชลิดา พันธ์กระวี รองอธิบดีกรมศุลกากร ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาการคลัง  (นักวิชาการคลังทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563   
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 
19. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นางเบญจวรรณ เพชรสุขศิริ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านชีวโมเลกุลและการพัฒนาวัคซีน (นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เชี่ยวชาญ)                    ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์และสาธารณสุข สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์การแพทย์ (เทคโนโลยีชีวภาพ) (นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ทรงคุณวุฒิ) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 
20. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง จำนวน 2 ราย ดังนี้ 
                   1. นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) โดยให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งในอัตรา 21,000 บาท 
                   2. นายมงคลชัย สมอุดร นักวิชาการทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักวิชาการศึกษาระดับทรงคุณวุฒิ) ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 
 
..............
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: