พับแผนลงทุน FSRU โรงไฟฟ้าพระนครใต้ กฟผ. หลัง ปตท.จัดหาก๊าซป้อนต่ออีก 10 ปี

กองบรรณาธิการ TCIJ 4 มิ.ย. 2563 | อ่านแล้ว 2259 ครั้ง

พับแผนลงทุน FSRU โรงไฟฟ้าพระนครใต้ กฟผ. หลัง ปตท.จัดหาก๊าซป้อนต่ออีก 10 ปี

ก.พลังงาน สั่ง กฟผ.พับแผนลงทุนโครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ (Floating Storage and Regasification Unit - FSRU) สำหรับป้อนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ หลังให้ปตท.จัดหาก๊าซป้อนต่ออีก 10 ปี โดยให้เปลี่ยนมาศึกษาโครงการ LNG Receiving Facilities ป้อนโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ที่มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือศึกษาร่วมกับ ปตท.เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมาแทน | ที่มาภาพ: Energy News Center

Energy News Center รายงานเมื่อปลายเดือน พ.ค. 2563 อ้างแหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานระบุว่าการบรรลุข้อตกลงระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ ปตท. ที่เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน ในสัญญา Global DCQ เพื่อให้ ปตท.เป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติป้อนโรงไฟฟ้าของกฟผ.ในระยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2563 เป็นต้นไปนั้น ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่ กฟผ.จะต้องลงทุน โครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ(Floating Storage and Regasification Unit หรือ FSRU) เพื่อป้อนโรงไฟฟ้าพระนครใต้อีก

ทั้งนี้ที่ผ่านมา กฟผ. มีการศึกษาความเป็นไปได้โครงการ FSRU ขนาด 5 ล้านตันต่อปี วงเงินลงทุนประมาณ 24,500 ล้านบาท ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน เพื่อนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จัดส่งให้กับโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อปี 2559 ที่ได้มีการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment หรือ EIA) รวมทั้งจัดงานด้านมวลชนสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์ ชี้แจงรายละเอียดแก่หน่วยงานและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและมีการกำหนดจัดรับฟังความคิดเห็น ตลอดจนจัดเตรียมเอกสาร(Terms of Reference : TOR) เอาไว้พร้อมแล้ว และมีความพร้อมที่จะเริ่มลงทุนได้ภายในปี 2563 นี้ ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี แต่กระทรวงพลังงานเห็นควรให้มีการปรับแผน ให้ดำเนินการเฉพาะในส่วนของโครงการ LNG Receiving Facilities ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อรองรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ส่งป้อนให้กับโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1-2 กำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ (จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ หรือ Commercial Operation Date : COD ในปี 2570 และ 2572) และ โรงไฟฟ้าใหม่ (COD ในปี 2578) กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ แทนโดยร่วมมือกันกับ ปตท. ซึ่งทั้งสองหน่วยงาน ได้มีการลงนามข้อตกลงร่วมกันไปเมื่อวันที่ 12 พ.ค.2563 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามการปรับแผนศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโครงการ FSRU อ่าวไทยตอนบนเพื่อส่งก๊าซป้อนโรงไฟฟ้าพระนครตอนใต้ จะต้องมีการรายงาน ให้ กพช.ได้รับทราบก่อนจึงจะมีผลในทางปฏิบัติ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: