กคศ.ออกเกณฑ์ปรับใหม่ สัดส่วนครู/นักเรียน ส่งผลต้องลดจำนวนครู 8,000 อัตรา

กองบรรณาธิการ TCIJ 3 ธ.ค. 2563 | อ่านแล้ว 5254 ครั้ง

กคศ.ออกเกณฑ์ปรับใหม่ สัดส่วนครู/นักเรียน ส่งผลต้องลดจำนวนครู 8,000 อัตรา

คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (กคศ.) เห็นชอบปรับหลักเกณฑ์อัตรากำลังครูและบุคลากรทางการศึกษาใหม่ โดยหลักเกณฑ์เก่าที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2545 หนดอัตรากำลังครู 1 คนต่อเด็ก 20 คน ส่วนหลักเกณฑ์ใหม่ใช้ฐานการคิดจากโรงเรียนเป็นตัวตั้ง ทำให้การกระจายตัวของครูดีขึ้นโดยที่โรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็กต่ำกว่า 120 คนจะมีครูผู้สอนอย่างน้อย 5 คนในโรงเรียน ซึ่งเกณฑ์อัตรากำลังใหม่นี้ต้องลดจำนวนครู 8,000 อัตรา | ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย. 2563 เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานว่านายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (เลขาฯ ก.ค.ศ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่มีนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธาน ว่าที่ประชุมยังเห็นชอบปรับหลักเกณฑ์อัตรากำลังครูและบุคลากรทางการศึกษาใหม่ ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ใช้มาตั้งแต่ปี 2545 นับรวมกว่า 18 ปี แล้วและมีอยู่มิติเดียวคือการหนดอัตรากำลังครู 1 คนต่อเด็ก 20 คน โดยเป็นการกำหนดอัตรากำลังเชิงปริมาณเพียงด้านเดียวเท่านั้น

ดังนั้นที่ประชุมจึงปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าวใหม่ให้เป็นหลักเกณฑ์ที่มีมิติทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ โดยใช้ฐานการคิดจากโรงเรียนเป็นตัวตั้ง เช่น ในโรงเรียน 1 แห่งควรจะมีอัตรากำลังครูจำนวนกี่คนและให้แยกเป็นครูประถมศึกษาและมัธยมศึกษา รวมถึงครูจะต้องมีความรู้วิชาเอกอะไรบ้าง เป็นต้น ซึ่งเกณฑ์อัตรากำลังใหม่นี้จะทำให้ครูถูกปรับลงประมาณ 8,000 อัตราแต่เมื่อเหลือจำนวนเท่านี้จะทำให้การกระจายตัวของครูดีขึ้นโดยที่โรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็กต่ำกว่า 120 คนจะมีครูผู้สอนอย่างน้อย 5 คนในโรงเรียน ทั้งนี้การปรับหลักเกณฑ์อัตรากำลังครูและบุคลากรทางการศึกษานี้จะไปเชื่อมโยงกับการผลิตครูของมหาวิทยาลัยด้วย ดังนั้นต่อจากนี้ไปการผลิตครูในอนาคตจะเป็นไปตามความต้องการมากขึ้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกรอบการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนการแต่งตั้ง ซึ่งกรอบดังกล่าวจะใช้กับผู้ที่จะเปลี่ยนสายงานไปเป็นศึกษานิเทศก์ รองผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ซึ่งจะทำให้กรอบการพัฒนาตำแหน่งเหล่านี้มีมาตรฐานเดียวกันมากขึ้น โดยยึดกรอบแนวคิดใหญ่ คือ ต้องการพัฒนาบุคคลให้มีความพร้อมก่อนเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก ให้มีทักษะพื้นฐาน ได้แก่ ทักษะภาษาไทย ทักษะภาษาอังกฤษ และทักษะดิจิทัล และให้มีความพร้อมในทักษะที่จำเป็นและสมรรถนะที่เหมาะสมตามมาตรฐานตำแหน่งที่ กคศ. กำหนด ซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการพัฒนาก่อนการคัดเลือกแล้วจะเป็นผู้ที่สามารถปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งได้ทันทีและเมื่อผ่านการคัดเลือกได้แล้ววันแรกของการทำงานจะต้องทำงานได้ทันที โดยที่ไม่มีการไปอบรมพัฒนาก่อนเข้าสู่ตำแหน่งที่ต้องใช้ระยะเวลาเป็นเดือนๆอีกต่อไป ดังนั้นใครที่ต้องการจะเปลี่ยนสายงานจะต้องเข้ารับการพัฒนาตัวเองก่อนตามกรอบสมรรถนะที่ ก.ค.ศ.กำหนด

“ที่ประชุมได้เห็นชอบเรื่องการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจสำหรับตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค (2) ซึ่งเป็นครูสายปฎิบัติการที่ยังไม่จบปริญญาตรีแต่ได้ทำงานและระหว่างการทำงานไปพัฒนาตัวเองจนได้วุฒิการศึกษาปริญญาตรี ซึ่งเราได้ทำหลักเกณฑ์ใหม่ขึ้นโดยให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้มีโอกาสเข้าสู่ตำแหน่งเชิงวิชาการได้ โดยจะกันสัดส่วนไว้ที่ 50:50 แบ่งเป็นใช้ในการคัดเลือกและเปิดสอบแข่งขันทั่วไป”เลขาฯ กคศ. กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: