จับตา: SCB EIC ชี้ท่องเที่ยวไทยเริ่มฟื้นตัวได้บ้าง แต่ยังห่างจุดเดิม

กองบรรณาธิการ TCIJ 2 ก.ย. 2563 | อ่านแล้ว 2642 ครั้ง


บทวิเคราะห์ Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินการท่องเที่ยวในประเทศเริ่มฟื้นตัวได้บ้างโดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวที่ใกล้กรุงเทพฯ แต่ในภาพรวมยังคงต่ำกว่าระดับช่วงก่อนการ lockdown อยู่มาก และยังมีแนวโน้มอ่อนไหวต่อความเสี่ยงของการระบาดระลอกที่ 2 ของ COVID-19 | ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวไทย

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2563 Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เผยแพร่ 'EIC Data Analytics : ท่องเที่ยวไทย ฟื้นบ้างแต่ยังห่างจุดเดิม' ระบุว่าเศรษฐกิจไทยมีการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวค่อนข้างสูง โดยรายได้จากนักท่องเที่ยวรวมทั้งไทยและต่างชาติในปี 2562 มีสัดส่วนสูงถึง 18.6% ของ GDP (รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 11.9% และจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 6.7% ของ GDP) แต่ในปี 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้มีการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ภาคการท่องเที่ยวของไทยจึงต้องหันมาพึ่งพานักท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยจากข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในปี 2562 พบว่า กว่า 49.5% ของครัวเรือนที่มีรายจ่ายด้านการท่องเที่ยวเป็นครัวเรือนที่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวมกันเป็นสัดส่วนถึง 63.8% ของรายจ่ายท่องเที่ยวทั้งหมดของครัวเรือนไทย จากการวิเคราะห์พบประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

EIC ประเมินว่าภาคการท่องเที่ยวยังคงอยู่ในภาวะซบเซา แม้เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวภายในประเทศหลังการผ่อนคลายมาตรการ lockdown โดยมีปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่

1) นักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปยังไม่กลับมา สาเหตุสำคัญที่ภาคการท่องเที่ยวยังไม่สามารถกลับไปจุดเดิมได้ก็คือการหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งสร้างรายได้ถึง 60.3% ของรายได้นักท่องเที่ยวทั้งหมดในปี 2562 ทั้งนี้แม้ว่าจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2563 ไทยจะไม่มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่ติดเชื้อจากภายในประเทศติดต่อกันถึง 5 เดือนแล้ว แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกจนถึงเดือนสิงหาคมยังมีความไม่แน่นอนสูง เป็นสาเหตุหนึ่งที่รัฐบาลไทยยังไม่เปิดรับการเดินทางจากต่างชาติ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างชาติลดลงเหลือศูนย์นับตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา ทำให้ภาคการท่องเที่ยวเผชิญกับข้อจำกัดสำคัญในการฟื้นตัว

2) การหันมาพึ่งพาจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยทดแทนยังทำได้ไม่เต็มศักยภาพมากนัก แม้จะมีการฟื้นตัวหลังการผ่อนคลายมาตรการ lockdown มาบ้างอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าปริมาณการท่องเที่ยวโดยคนไทยก็ยังต่ำกว่าเดิมอยู่พอสมควร สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนคนไทยในเดือนกรกฎาคมปี 2563 ที่มีการเพิ่มขึ้นมาบางส่วนจากช่วงมาตรการ lockdown แต่ก็ยังอยู่ต่ำกว่าระดับในปีก่อนหน้าถึง -27.1% แม้ว่าจะมีช่วงวันหยุดยาวเพิ่มเติมเข้ามาช่วยในปีนี้ก็ตาม อีกทั้งจำนวนผู้เยี่ยมเยือนคนไทยก็ยังคงต่ำกว่าระดับก่อนมาตรการ lockdown (เฉลี่ยช่วงเดือนกุมภาพันธ์) ที่ -13.8% เช่นกัน

3) การฟื้นตัวด้วยนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ใช้จ่ายต่อคนน้อยกว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอยู่มากถือเป็นอีกความท้าทายสำคัญ จากข้อมูลปี 2561 รายจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อคนต่อวันสูงกว่านักท่องเที่ยวไทยถึง 2.1 เท่า และสูงกว่าในทุกหมวดการใช้จ่ายโดยเฉพาะหมวดที่พัก โดยค่าใช้จ่ายโดยรวมเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวคนไทยอยู่ที่ 2,866 บาทต่อคนต่อวัน ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะใช้จ่ายอยู่ที่ 6,039 บาทต่อคนต่อวัน ดังนั้น การจะฟื้นภาคการท่องเที่ยวด้วยการใช้จ่ายของคนไทยเพียงกลุ่มเดียวอาจต้องมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่มากกว่าเดิมมาก หรือต้องเพิ่มการใช้จ่ายต่อคนจากเดิมอีกมากซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังมีปัญหา

การเพิ่มขึ้นของการท่องเที่ยวโดยคนไทยหลัง lockdown ยังไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่ เมื่อพิจารณาเฉพาะเพียงการท่องเที่ยวโดยคนไทยในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ (ในที่นี้ ได้แก่ จังหวัดในประเทศไทยที่มีจำนวนห้องพักโรงแรมต่อจำนวนประชากรสูงสุด 15 จังหวัดแรก ไม่รวมกรุงเทพฯ) โดยใช้ข้อมูลผู้เยี่ยมเยือนของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและข้อมูล Facebook Movement Range ซึ่งเป็นข้อมูล high frequency ที่แสดงถึงการเคลื่อนไหวของผู้ใช้งาน Facebook ภายในพื้นที่นั้น ๆ และสามารถติดตามได้เป็นรายวัน และลงรายละเอียดได้ถึงระดับอำเภอ มีข้อค้นพบเกี่ยวกับลักษณะของการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวโดยคนไทยดังนี้

1) จังหวัดท่องเที่ยวที่มีระยะทางใกล้กรุงเทพฯ จะมีอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เยี่ยมเยือนหลังการผ่อนคลาย lockdown เทียบช่วงก่อนหน้า lockdown ที่สูงกว่าจังหวัดท่องเที่ยวที่ไกลกว่า ทั้งนี้เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และยังสอดคล้องกับมุมมองที่คนไทยยังเลือกการเดินทางด้วยรถยนต์มากกว่าเครื่องบินจากความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของ COVID-19 นอกจากนี้ ลักษณะความสัมพันธ์ดังกล่าวยังอาจสะท้อนถึงผลของกำลังซื้อที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ เพราะการท่องเที่ยวจังหวัดที่ไกลจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูงกว่า โดยกลุ่มจังหวัดท่องเที่ยวที่ใช้ระยะเวลาขับรถไม่เกิน 4 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ เช่น ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี เพชรบุรี และชลบุรี มีอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เยี่ยมเยือนสูงกว่าจังหวัดที่ไกลกว่าอย่างมีนัย ทั้งนี้ EIC ยังพบอีกว่าความแตกต่างของการไปเที่ยวของคนไทยในจังหวัดใกล้และไกลกรุงเทพฯ ในช่วงวันหยุดยาวในปีนี้มีความเด่นชัดมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาตามเหตุผลที่ได้กล่าวไป

2) เมื่อพิจารณากิจกรรมการเดินทางในช่วงวันหยุดยาว ได้แก่ ช่วงวันที่ 4-7 กรกฎาคม และ 25-28 กรกฎาคม โดยใช้ข้อมูล Facebook Movement Range ก็พบลักษณะที่สอดคล้องกับความสัมพันธ์ดังกล่าวเช่นกัน โดยเมื่อเปรียบเทียบระหว่างเมืองท่องเที่ยวที่ใกล้กรุงเทพฯ ได้แก่ หัวหิน และเมืองที่ไกลกรุงเทพฯ ได้แก่ ภูเก็ต ข้อมูลบ่งชี้ว่าการเพิ่มขึ้นของการเดินทางในเมืองหัวหินนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของจังหวัดท่องเที่ยวโดยรวม ขณะที่กิจกรรมการเดินทางในภูเก็ตนั้นอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยค่อนข้างมากและยังไม่กลับไปเท่าช่วงก่อนหน้า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยไม่ค่อยไปท่องเที่ยว

EIC มองว่าการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อภาคการท่องเที่ยวในระยะข้างหน้า เพราะคนไทยมีแนวโน้มอ่อนไหวต่อความเสี่ยงดังกล่าว เมื่อพิจารณาจากกรณีศึกษาของจังหวัดระยอง ที่พบผู้ติดเชื้อที่เดินทางออกนอกพื้นที่กักตัวที่รัฐจัดไว้ให้ ส่งผลให้กิจกรรมการเดินทางเมื่อวัดจากข้อมูล Facebook Movement Range ภายในจังหวัดลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศหลังวันที่พบผู้ติดเชื้อ (10 กรกฎาคม 2563) ส่วนหนึ่งเกิดจากมาตรการควบคุมโรคที่กลับมาเข้มงวดในพื้นที่อีกครั้ง อาทิ การปิดห้างสรรพสินค้า 2 วันเพื่อทำความสะอาดหลังพบผู้ติดเชื้อ ประกอบกับประชาชนเกิดความตื่นตระหนกและกังวลในประเด็นด้านสุขภาพ จึงลดการเดินทางไปในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบทันทีโดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้จังหวัดระยองต้องใช้เวลาราว 1 เดือน ในการฟื้นตัวให้เข้าสู่ระดับก่อนมีการระบาดระลอกใหม่ ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นทั้งจากภาครัฐและท้องถิ่นผ่านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การแข่งขันวิ่งมินิมาราธอน และงานเทศกาลอาหารอร่อย เป็นต้น นอกจากนี้ ความกังวลต่อการแพร่ระบาดระลอกใหม่ยังมีส่วนทำให้การเปิดประเทศถูกเลื่อนออกไป ซึ่งกระทบกับภาคการท่องเที่ยวในภาพรวมทั้งหมดไม่ใช่เพียงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น ปัจจัยดังกล่าวจึงเป็นความเสี่ยงที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญอยู่เสมอ เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวรวมถึงเศรษฐกิจในภาพรวมฟื้นกลับมาได้โดยเร็ว

EIC มองว่า ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพ และแผนการตลาดเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยของผู้ประกอบการ จะเป็นกุญแจสำคัญในการประคับประคองภาคการท่องเที่ยวในช่วงที่ยังต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก โดยจากข้อมูลจะเห็นว่าทั้งในแง่ของปริมาณและการใช้จ่ายของคนไทยยังอยู่ในระดับไม่สูงและยังไม่ได้มีการกระจายตัวอย่างทั่วถึง ดังนั้น ภาครัฐและภาคเอกชนควรร่วมมือกันเพื่อทำความเข้าใจในอุปสรรคในการท่องเที่ยวของคนไทยและหาทางแก้ไข เช่น การสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยจากการแพร่ระบาด การสนับสนุนด้านค่าใช้จ่ายการเดินทางโดยเฉพาะค่าโดยสารเครื่องบินที่มีราคาสูงเพิ่มเติม การลดความยุ่งยากซับซ้อนในการเข้าร่วมและใช้สิทธิ์ตามมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ไปจนถึงการสนับสนุนการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวในด้านอื่น ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวที่อยู่ในจังหวัดที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติสูงอาจต้องมีแผนการตลาดเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวคนไทยให้เดินทางและใช้จ่ายมากขึ้นควบคู่กันไปด้วย โดยมีทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยที่นิยมเที่ยวในประเทศ และกลุ่มที่นิยมเที่ยวต่างประเทศแต่หันมาท่องเที่ยวในประเทศในปีนี้ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ประกอบการจะจัดทำโปรโมชันเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยกลุ่มนี้เพิ่มเติม

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: