เรียกร้องให้ผลักดัน พ.ร.บ.กิจการอวกาศ หวั่นประเทศเสียโอกาส

กองบรรณาธิการ TCIJ 2 ม.ค. 2563 | อ่านแล้ว 2762 ครั้ง

เรียกร้องให้ผลักดัน พ.ร.บ.กิจการอวกาศ หวั่นประเทศเสียโอกาส

ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย เรียกร้องผลักดัน พ.ร.บ.กิจการอวกาศ ให้มี Space Agency ขึ้นมาดูและกิจการอวกาศโดยเฉพาะ เผยองค์การอวกาศจีน CNSA พยายามติดต่อประสานงานมาว่าทางประเทศไทยสนใจทำ MOU กับเขาหรือไม่กว่า 4 ปีแล้ว ทุกครั้งไทยก็จะเงียบไม่มีความคืบหน้า หวั่นประเทศเสียโอกาสไปมากกว่านี้ | ที่มาภาพประกอบ: NCATS - NIH

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2562 ว่าที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดย พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวในวาระหารือว่า ตนมีประเด็นหารือต่อเนื่องจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตนอยากจะฝากไปถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ช่วยกันผลักดัน พ.ร.บ.กิจการอวกาศ ซึ่งเราต้องหันมาให้ความสำคัญอย่างจริงจัง เพราะ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะทำให้เรามีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่เป็น Space Agency ขึ้นมาดูและกิจการอวกาศโดยเฉพาะ จึงเป็นผลดีต่อการเตรียมพร้อมในการพัฒนาธุรกิจด้านอวกาศที่มีมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจหลายล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในไม่กี่ปีนี้ สำหรับประเทศไทยมีหลายบริษัทด้านกิจการอวกาศทั้งจีน สหรัฐอเมริกา ยุโรป ก็มีแนวโน้มอยากมาเปิดธุรกิจด้านนี้ที่ประเทศไทยด้วย แต่ที่ผ่านมา เราไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็น Space Agency ในเรื่องกิจการอวกาศอย่างจริงจัง โดยมีตัวอย่างหนึ่งที่เราอาจจะเสียโอกาสการพัฒนาด้านอวกาศได้ในอนาคต เนื่องจากมีหน่วยงานที่่ชื่อว่า China National Space Administration (CNSA) เป็น Space Agent ของประเทศจีน ทำหน้าที่คล้าย NASA ของประเทศสหรัฐอเมริกา พยายามติดต่อประสานงานมาว่าทางประเทศไทยสนใจทำ MOU กับเขาหรือไม่ โดยมีการประสานงานมาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว ทุกครั้งที่ประสานงานเรื่องก็จะเงียบไป ไม่มีความคืบหน้า

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า ล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทาง CNSA ได้มีการประสานเข้ามาอีก แต่ก็ไม่มีการตอบกลับ ที่ตนมาย้ำว่าต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้ เพราะทางจีนต้องการรู้ให้แน่ชัดว่าเราสามารถที่จะร่วมมือกับเขาได้หรือไม่ เพราะจีนอยากให้เราเข้าร่วมเนื่องจากเขาจะปล่อยยานอวกาศที่ชื่อ ฉางเอ๋อ 4 เพื่อลงบนดาวอังคารในปี 2563 ซึ่งจะถือเป็นประวัติศาสตร์ด้านอวกาศระหว่างไทยกับจีน แต่ด้วยการที่ไทยไม่มีหน่วยงานที่ทำเรื่องนี้อย่างชัดเจน เมื่อมีการประสานเรื่องมายังไทย เรื่องจึงถูกส่งต่อกันเป็นทอดๆ จากหน่วยงานหนึ่งไปอีกหน่วยงานหนึ่ง เพราะไม่มีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบ จึงยังไม่เกิดการตัดสินใจ ซึ่งหากยังไม่รีบดำเนินการในทางใดทางหนึ่ง ไทยอาจเสียโอกาสในการพัฒนาด้านอวกาศในครั้งนี้ได้ เนื่องจากภาคใต้ของประเทศไทยมีภูมิศาสตร์และระบบเศรษฐกิจที่เหมาะสมที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในการเป็นฐานยิ่งดาวเทียมขึ้นสู่ห้วงอวกาศ และยังเป็นการสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ Southern Economic Corridor (SEC) ในอนาคตอีกด้วย ซึ่งหากมีความร่วมมือกับต่างประเทศก็จะทำให้การพัฒนาภาคใต้มีความสมบูรณ์ครอบคลุมทุกมิติในด้านเศรษฐกิจ

“ผมเห็นว่าประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับกิจการด้านอวกาศอย่างจริงจัง จึงอยากฝากผ่านท่านประธานสภาฯ ไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ช่วยกันผลักดัน พ.ร.บ.กิจการอวกาศให้เกิดขึ้นได้จริงโดยเร็ว เพื่อปูทางให้เรามีองค์กรขึ้นมากำกับดูแลกิจการอวกาศโดยเฉพาะ ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามผลักดัน พ.ร.บ.กิจการอวกาศมาแล้วครั้งหนึ่ง ในช่วงของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชุดที่ผ่านมา แต่น่าเสียดายที่หมดอายุ สนช.ไปเสียก่อน ผมจึงอยากฝากไปยังรัฐบาลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยกันผลักดันอีกครั้ง ต้องให้ความสำคัญกับนโยบายอวกาศของประเทศ ต้องทำให้เป็นเรื่องหลักการใหญ่ในการพัฒนาด้านอวกาศของประเทศ” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: