กฎกระทรวงคลัง ให้ธนาคารรายงานธุรกรรม 'โอนเงิน-รับฝาก' ต่อสรรพากรภายใน 31 มี.ค. 2563

กองบรรณาธิการ TCIJ 1 ม.ค. 2563 | อ่านแล้ว 3135 ครั้ง

กฎกระทรวงคลัง ให้ธนาคารรายงานธุรกรรม 'โอนเงิน-รับฝาก' ต่อสรรพากรภายใน 31 มี.ค. 2563

คลังประกาศกฎกระทรวงให้ธนาคารรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ โดยมีการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป หรือมีการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดเงินรวมกันตั้งแต่ 2,000,000 บาทขึ้นไป กำหนดต้องรายงานภายใน 31 มี.ค. 2563 | ที่มาภาพประกอบ: mohamed_hassan (Pixabay License)

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานเมื่อปลายเดือน ธ.ค. 2562 ว่ากระทรวงการคลังได้ประกาศกฎกระทรวง ฉบับที่ 355 (พ.ศ.2562) ออกตามความในประมวลรัษฎากร เพื่อกำหนดรายการข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะที่ต้องรายงานและวิธีการรายงานได้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค. 2562 เป็นต้นไป โดยได้กำหนดวันในการเริ่มเก็บและรวบรวมข้อมูลการฝากหรือรับโอนของบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคือตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค. 2562 เป็นต้นไป โดยผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูลต้องรายงานข้อมูลบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะของปี 2562 (ข้อมูลระหว่างวันที่ 24-31 ธ.ค. 2562) ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2563

โดยกฎกระทรวงดังกล่าวมีรายละเอียดการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ (มีการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป หรือมีการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้งและมียอดเงินรวมกันตั้งแต่ 2,000,000 บาทขึ้นไป) ที่ต้องรายงานและวิธีการรายงานตามกฎกระทรวงตามมาตรา 3 สัตตรสแห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้

1.กำหนดให้การจัดทำรายการข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ ต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) เลขประจำตัวประชาชน หรือเลขทะเบียนนิติบุคคล
(2) ชื่อ-สกุล ของบุคคลธรรมดา หรือชื่อนิติบุคคล ที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ
(3) จำนวนครั้งของการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกัน
(4) จำนวนเงินที่ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชี
(5) เลขที่บัญชีที่มีการฝากหรือรับโอนเงิน
(6) ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด

2.กำหนดให้นำส่งข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะข้างต้นตามรูปแบบข้อมูล (Format) และมีฟิลด์ข้อมูล (Data Field) ตามที่อธิบดีประกาศกำหนด และอาจดำเนินการจัดทำและนำส่งเป็นภาษาอังกฤษ หรือด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: