สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 1 ก.ย. 2563

กองบรรณาธิการ TCIJ 1 ก.ย. 2563 | อ่านแล้ว 2151 ครั้ง

สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 1 ก.ย. 2563

1 ก.ย. 2563 เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

กฎหมาย

 
1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบกฎหมายในความรับผิดชอบ หากมีกรณีที่จะต้องดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นไปตามหลักการที่บัญญัติไว้ในมาตรา 180 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในทำนองเดียวกับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ให้เร่งรัดการพิจารณาเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าวโดยด่วน ตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
                   สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ 
                   เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 เกี่ยวกับการแต่งตั้งและการให้พ้นจากตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญ โดยให้การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ ไม่ต้องนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง  และการออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่งที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ให้นำความกราบบังคมทูลฯ ให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่ออกจากราชการเพราะความตาย เกษียณอายุ หรือออกจากราชการเพราะถูกลงโทษ เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 180 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
 
2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน   (ฉบับที่ 2) พ.ศ. ....
                                คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน โดยให้รับความเห็นของกระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของกระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                   ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงที่กระทรวงการคลังเสนอ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ. 2563 เกี่ยวกับประเภทของพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุนและกำหนดวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับพัสดุส่งเสริมวิสาหกิจและการประกอบอาชีพพัสดุส่งเสริมพัสดุที่ผลิตในประเทศ และพัสดุส่งเสริมพัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 มกราคม 2563 และวันที่ 26 พฤษภาคม 2563) และข้อสั่งการรองนายกรัฐมนตรี  (นายวิษณุ เครืองาม)
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                   1. แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 2 พัสดุส่งเสริมวิสาหกิจและการประกอบอาชีพและพัสดุส่งเสริมผู้ด้อยโอกาสรายละเอียด
                   · แก้ไขชื่อหมวด 2 เป็น “พัสดุส่งเสริมวิสาหกิจและการประกอบอาชีพ
                   · กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างพัสดุจากผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยใช้เงินงบประมาณไม่น้อยกว่าร้อยละสามสิบในการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุจากผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้ขึ้นบัญชีรายการพัสดุและรายชื่อไว้กับ สสว.
                   · การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งใช้เกณฑ์ราคาในการคัดเลือกผู้เสนอราคาต่ำสุดเป็นผู้ชนะการซื้อหรือการจ้าง หากผู้เสนอราคาที่เป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่เสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุดของผู้เสนอราคารายอื่นไม่เกินกว่าร้อยละสิบให้ซื้อหรือจ้างจากผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รายนั้น
                        · กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อผลิตภัณฑ์ของร้านค้าสหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกรที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับรอง
                   2. เพิ่มหมวด 9 พัสดุ ส่งเสริมพัสดุที่ผลิตในประเทศ
                        รายละเอียด
                   · กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศที่ได้ขึ้นบัญชีรายชื่อไว้กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดังนี้
                       1. ให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตในประเทศ ไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบของพัสดุที่จะใช้ สำหรับงานก่อสร้างกำหนดให้ใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศก่อน โดยต้องไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบของมูลค่าหรือปริมาณเหล็กหรือเหล็กกล้าที่ใช้ในงานก่อสร้างทั้งหมดในครั้งนั้น
                       2. การจัดซื้อจัดจ้างที่มีผู้เสนอราคาเป็นบุคคลธรรมดาที่มิได้ถือสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศเข้าเสนอราคาแข่งขันกับผู้เสนอราคาที่เป็นบุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หากผู้เสนอราคาซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยเสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุดของผู้เสนอราคาซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่มิได้ถือสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศไม่เกินร้อยละสาม ให้ซื้อหรือจ้างจากผู้เสนอราคาซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลตามกฎหมายไทยรายนั้น
                   3. เพิ่มหมวด 10 พัสดุส่งเสริมพัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
                   รายละเอียด
                   · กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและจากผู้ประกอบการตามที่ได้ขึ้นบัญชีรายการพัสดุและรายชื่อไว้กับกรมควบคุมมลพิษ
 
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดด่านศุลกากรและด่านพรมแดน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ด่านศุลกากรเชียงแสน)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดด่านศุลกากรและด่านพรมแดน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ 
                   ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงที่กระทรวงการคลังเสนอ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดด่านศุลกากรและด่านพรมแดน พ.ศ. 2560 เพื่อปรับปรุงสถานที่ตั้ง ด่านศุลกากร เขตศุลกากร และด่านพรมแดนของด่านศุลกากรเชียงแสน เนื่องจากด่านศุลกากรเชียงแสนได้ย้ายสถานที่ปฏิบัติราชการไปสถานที่แห่งใหม่ ทั้งนี้   เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติพิธีการศุลกากรและการตรวจของที่ขนส่งมาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                   1. กำหนดด่านศุลกากรเชียงแสน ตั้งอยู่เลขที่ 888/1 หมู่ที่ 10 ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย  
                   2. กำหนดเขตศุลกากร 
                             2.1 บริเวณด่านศุลกากรเชียงแสน ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย 
                             2.2 บริเวณท่าเรือห้าเชียง 1 และท่าเรือห้าเชียง 2 ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย 
                             2.3 บริเวณตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย 
                   3. กำหนดด่านพรมแดนและเขตแดนทางบก  
                             3.1 ด่านพรมแดนท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย 
                                      เขตแดนทางบก ราชอาณาจักรกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 
                             3.2 ด่านพรมแดนเชียงแสน ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย 
                                      เขตแดนทางบก ราชอาณาจักรกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 
                             3.3 ด่านพรมแดนสบรวก ไทย – ลาว ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย 
                                      เขตแดนทางบก ราชอาณาจักรกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 
                             3.4 ด่านพรมแดนสามเหลี่ยมทองคำ ไทย – เมียนมา ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย 
                                      เขตแดนทางบก ราชอาณาจักรกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
 
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการปรับปรุงรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน และร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดจำนวนรายได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 71 ตรี วรรคสาม รวม 2 ฉบับ 
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการปรับปรุงรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน และร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดจำนวนรายได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 71 ตรี วรรคสาม รวม 2 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 
                   1. ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการปรับปรุงรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน เป็นการกำหนดลักษณะการดำเนินการด้านการพาณิชย์หรือการเงินที่เชื่อได้ว่ามีการถ่ายโอนกำไรระหว่างกันของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน และกำหนดหลักเกณฑ์ให้เจ้าพนักงานประเมินดำเนินการในการปรับปรุงรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน  
                   2. ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดจำนวนรายได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 71 ตรี วรรคสาม เป็นการยกเว้นให้บริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรายได้ต่อรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินสองร้อยล้านบาทไม่ต้องรายงานข้อมูลและมูลค่ารวมของธุรกรรมระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี โดยให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป
 
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงผู้ดำเนินการสถานพยาบาลตามประเภทและลักษณะการให้บริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาล พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงผู้ดำเนินการสถานพยาบาลตามประเภทและลักษณะการให้บริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาล พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ 
                   ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เป็นการแก้ไขปรับปรุงการกำหนดลักษณะของสถานพยาบาลและลักษณะการให้บริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลตามกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของสถานพยาบาลและลักษณะการให้บริการของสถานพยาบาล พ.ศ. 2558 เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                   1. กำหนดบทนิยามคำว่า “สถานพยาบาลประเภทที่ไม่รับผู้ป่วยค้างคืน” หมายความว่า สถานพยาบาลประเภทคลินิกตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดลักษณะของสถานพยาบาล และลักษณะการให้บริการของสถานพยาบาล และบทนิยามคำว่า “สถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน” หมายความว่า สถานพยาบาลประเภทโรงพยาบาลตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดลักษณะของสถานพยาบาลและลักษณะการให้บริการของสถานพยาบาล  
                   2. กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัด ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย และผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ มีสิทธิได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ดำเนินการตามประเภทและลักษณะการให้บริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลประเภทที่ไม่รับผู้ป่วยค้างคืนและสถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน 
                   3. กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง หรือผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ และผู้ประกอบโรคศิลปะ ตามลำดับ มีสิทธิได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลประเภทที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน ประเภทสหคลินิกที่จัดให้มีการประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ ประเภทคลินิกเทคนิคการแพทย์หรือสหคลินิกที่จัดให้มีการประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ และประเภทคลินิกการประกอบโรคศิลปะสาขานั้น ๆ หรือสหคลินิกที่จัดให้มีการประกอบโรคศิลปะสาขาใดสาขาหนึ่ง ตามลำดับ
                            
6. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงาน      สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรองกรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเพื่อ              ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ
                   ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติรวม 2 ฉบับที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. 2542 โดยปรับปรุงกระบวนการการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นสามารถเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นได้สะดวกและมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น และปรับปรุงวิธีการในการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นให้สอดคล้องกับมาตรา 254 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
                   สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ รวม 2 ฉบับ 
                   1. ร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. ....  
                             1.1 กำหนดนินาม “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” “ข้อบัญญัติท้องถิ่น” “ผู้บริหารท้องถิ่น” “ประธานสภาท้องถิ่น” และ “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” เพื่อให้เกิดความชัดเจน  
                             1.2 กำหนดจำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นเป็นไม่น้อยกว่า 5,000 คน หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น 
                             1.3 กำหนดให้ผู้เข้าชื่อสามารถยื่นคำร้องขอต่อประธานสภาท้องถิ่น เพื่อดำเนินการจัดทำร่างข้อบัญญัติหรือดำเนินการเชิญชวนให้ร่วมเข้าชื่อหรือขอให้ดำเนินการทั้งสองกรณี และให้ประธานสภาท้องถิ่นตรวจสอบความถูกต้องของคำร้อง หากเห็นว่าไม่ถูกต้อง ให้แจ้งเพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง เว้นแต่ความไม่ถูกต้องเกิดจากการปลอมลายมือชื่อให้ยุติการดำเนินการ 
                             1.4 กำหนดให้สภาท้องถิ่นตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นโดยมีผู้แทนของผู้เข้าชื่อไม่น้อยกว่า 2 คน ร่วมเป็นกรรมการวิสามัญ 
                             1.5 กำหนดให้ในกรณีที่ร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นต้องตกไปเพราะเหตุอายุของสภาท้องถิ่นสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาท้องถิ่น ถ้าภายใน 120 วันนับแต่วันที่เรียกประชุมสภาท้องถิ่นครั้งแรก ผู้แทนของผู้เข้าชื่อได้ยืนยันเป็นหนังสือให้พิจารณาร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นนั้นต่อไป  ให้ประธานสภาท้องถิ่นดำเนินการเสนอร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นนั้นต่อสภาท้องถิ่นโดยเร็ว 
                   2. ร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. .... 
                             2.1 กำหนดนิยามผู้กำกับดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภทเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 
                             2.2 กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นโดยต้องไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือถูกจำกัดสิทธิในการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 
                             2.3 กำหนดวิธีการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ไว้สองกรณี ดังนี้ (1) การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (2) การเข้าชื่อขอให้มีการสอบสวนเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 
                             2.4 กำหนดพฤติการณ์ของสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ที่จะเป็นเหตุให้ถูกเข้าชื่อเพื่อถอดถอนออกจากตำแหน่ง เช่น มีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียหรือก่อความไม่สงบเรียบร้อย มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต ซึ่งการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นต้องมีจำนวนผู้เข้าชื่อเกินกึ่งหนึ่งของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สำหรับการเข้าชื่อขอให้มีการสอบสวนเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 คน หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 
                             2.5 กำหนดให้ในกรณีการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น     หากมีการถอนชื่อแล้วจำนวนเหลือไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้ผู้กำกับดูแลยุติเรื่อง หากมีการถอนชื่อหรือไม่ถอนชื่อและมีจำนวนเกินกึ่งหนึ่ง ให้ผู้กำกับดูแลประกาศให้ประชาชนทราบและให้ถือวันประกาศเป็นวันพ้นจากตำแหน่งของผู้ถูกถอดถอน 
                             2.6 กำหนดให้กรณีการเข้าชื่อขอให้มีการสอบสวนเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หากมีการถอนชื่อแล้วจำนวนไม่ถึง 5,000 คน หรือไม่ถึง 1 ใน 5 ให้ผู้กำกับดูแลยุติเรื่อง หากมีการถอนชื่อหรือไม่ถอนชื่อและมีจำนวนเกิน 5,000 คน หรือเกิน 1 ใน 5 ให้ผู้กำกับดูแลตั้งคณะกรรมการสอบสวน และการสอบสวนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนด 
                             2.7 กำหนดฐานความผิดของผู้กระทำความผิดฐานปลอมลายมือชื่อผู้ให้เสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้ หรือผู้เรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด เพื่อดำเนินการเข้าชื่อหรือมิให้เข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
 
7. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สาขาฉุกเฉินการแพทย์เป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. ....
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สาขาฉุกเฉินการแพทย์เป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงาน ก.พ. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ สธ. รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
                   ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ สธ. เสนอ เป็นการกำหนดให้สาขาฉุกเฉินการแพทย์เป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้บริการด้านฉุกเฉินการแพทย์แก่ผู้ป่วย ซึ่งเป็นการดูแลรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินนอกที่ตั้งสถานพยาบาล รวมถึงการเคลื่อนย้ายหรือลำเลียงผู้ป่วยตั้งแต่ที่เกิดเหตุจนถึงสถานพยาบาล เพื่อให้การให้บริการมีมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพ เพื่อให้การช่วยเหลือและรักษาชีวิตของผู้ป่วยให้ทันเวลา ลดความสูญเสียและความพิการ ซึ่งคณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะให้ความเห็นชอบด้วยแล้ว 
                   สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
                   1. กำหนดนิยามคำว่า “ฉุกเฉินการแพทย์” และ “ผู้ป่วยฉุกเฉิน” 
                   2. กำหนดให้สาขาฉุกเฉินการแพทย์เป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะตามมาตรา 5 (8) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ  (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2556 
                   3. กำหนดให้มีคณะกรรมการวิชาชีพสาขาฉุกเฉินการแพทย์ ประกอบด้วยผู้แทนส่วนราชการ คณบดีของสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนสาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ กรรมการวิชาชีพซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง กรรมการวิชาชีพที่ได้รับการเลือกตั้ง เป็นต้น 
                   4. กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการวิชาชีพ และเหตุแห่งการพ้นจากการดำรงตำแหน่งของกรรมการ 
                   5. กำหนดคุณสมบัติของผู้ขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาฉุกเฉินการแพทย์ ให้เป็นผู้ที่ได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญาสาขาฉุกเฉินการแพทย์จากสถาบันการศึกษาที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขาฉุกเฉินการแพทย์รับรอง และต้องสอบความรู้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขาฉุกเฉินการแพทย์กำหนด ส่วนผู้สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศซึ่งมิได้มีสัญชาติไทย นอกจากจะต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดแล้ว ต้องได้รับใบอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะสาขาฉุกเฉินการแพทย์จากประเทศที่สำเร็จการศึกษาด้วย และกรณีผู้ที่ได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญาสาขาอื่นด้านฉุกเฉินการแพทย์ ด้านการแพทย์ ด้านการพยาบาล หรือด้านทันตกรรมอยู่ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ และปฏิบัติงานด้านฉุกเฉินการแพทย์ในโรงพยาบาลหรือองค์กรใดที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขาฉุกเฉินการแพทย์รับรองให้มีสิทธิขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาฉุกเฉินการแพทย์ ภายในห้าปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ
 
8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหน่วยงานของรัฐที่สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับทางปกครองแทน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหน่วยงานของรัฐที่สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับทางปกครองแทน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้หน่วยงานของรัฐที่ประสงค์จะเสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐที่สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับทางปกครองแทนตามมาตรา 63/15 วรรคหก แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ให้เสนอเรื่องไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีภายในเดือนกันยายน 2563 เพื่อให้มีการออกกฎกระทรวงในเรื่องนี้รวมเป็นฉบับเดียว 
                   สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
                   เป็นการกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีในสังกัดกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ดำเนินการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำสั่งทางปกครองได้ อันจะทำให้การบังคับทางปกครองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  
 
9. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน กรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19))
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน กรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) โดยลดหย่อนการออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนเหลือฝ่ายละ ร้อยละ 2 ของค่าจ้างของผู้ประกันตน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอและประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
                   ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน มีสาระสำคัญคือ 1) ให้นายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ได้รับการลดหย่อนการออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมประจำงวดเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 ถึงงวดเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 โดยให้ส่งเงินสมทบในอัตราฝ่ายละ ร้อยละสองของค่าจ้างของผู้ประกันตน 2) ให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้รับการลดหย่อนการออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมประจำงวดเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 ถึงงวดเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 โดยให้ส่งเงินสมทบในอัตราเดือนละเก้าสิบหกบาท 3) ในกรณีที่มีการส่งเงินเกินกว่าจำนวนเงินที่กำหนดไว้ตามประกาศนี้ ให้นายจ้างหรือผู้ประกันตนยื่นคำร้องขอรับเงินในส่วนที่เกินคืนได้ ณ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ สำนักงานประกันสังคมจังหวัด หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา แล้วแต่กรณี
                   ทั้งนี้ รง. เสนอว่า กรณีเกิดภัยพิบัติการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) รัฐบาลได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) และได้มีการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งตามประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 4) นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตามมติเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 จึงให้ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีกคราวหนึ่ง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2563 จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ประกอบกับเพื่อให้มาตรการการลดหย่อนการออกเงินสมทบกองทุนประกันสังคม มีผลใช้บังคับต่อการนำส่งเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตนในงวดเดือนกันายายน พ.ศ. 2563 ซึ่งต้องนำส่งภายในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ดังนั้น เพื่อให้ทันต่อระยะเวลาการนำส่งเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตน จึงเห็นควรนำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร่งด่วน
                   ทั้งนี้ คณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา (ชุดที่ 13) ในการประชุมครั้งที่ 15/2563 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน ปี พ.ศ. 2563 โดยให้นายจ้างและผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบฝ่ายละ ร้อยละ 2 ของค่าจ้างของผู้ประกันตน เป็นระยะเวลา 3 เดือน สำหรับงวดค่าจ้างเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 ถึง ตุลาคม พ.ศ. 2563 เพื่อรักษาระดับการจ้างงานและเพิ่มกำลังซื้อของตลาดในประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานพิจารณาแล้ว เพื่อประโยชน์ของนายจ้างและผู้ประกันตน หากกำหนดให้ปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมโดยเริ่มตั้งแต่งวดค่าจ้างเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งจะต้องชำระเงินสมทบภายในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2563 จะก่อให้เกิดภาระแก่นายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ที่จะต้องมาขอรับเงินสมทบที่นำส่งไว้เกินคืนในงวดค่าจ้างเดือนสิงหาคม  พ.ศ. 2563 ประกอบกับเพื่อเป็นการให้ระยะเวลาแก่หน่วยงานภาคเอกชนที่มีหน้าที่ดำเนินการรับชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการลดหย่อนการออกเงินสมทบดังกล่าว กระทรวงแรงงานจึงพิจารณาระยะเวลาการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตนเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่งวดค่าจ้างเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 ถึง พฤศจิกายน พ.ศ. 2563
 

เศรษฐกิจ - สังคม

10. เรื่อง ขออนุมัติกู้เงินเพื่อใช้ในการดำเนินงาน วงเงิน 11,500.00 ล้านบาท และวงเงินกู้ระยะสั้น  จำนวน 800.000 ล้านบาท (วงเงินกู้เบิกเกินบัญชี) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ประจำปีงบประมาณ 2564
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอการกู้เงินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2494 มาตรา 39 (4) โดยให้กระทรวงการคลัง (กค.) เป็นผู้ค้ำประกัน รวมทั้งพิจารณาวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดตามความเหมาะสม โดยในส่วนของการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมการกู้เงิน ให้ รฟท. พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป สำหรับเงินกู้ ดังต่อไปนี้
                   1. เงินกู้เพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่องในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 วงเงิน 11,500 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้ รฟท. ดำเนินการกู้เงินได้ภายหลังจากวงเงินดังกล่าวได้รับการบรรจุไว้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว ตามความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
                   2. เงินกู้ระยะสั้น (วงเงินกู้เบิกเกินบัญชี) วงเงิน 800 ล้านบาท โดยให้ดำเนินการคัดเลือกสถาบันการเงินด้วยวิธีการประมูล ตามความเห็นของ กค.
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   คค. รายงานว่า
                   1. รฟท. ประสบปัญหาขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 รฟท. คาดการณ์ว่าจะมีเงินสดรับ 46,370.67 ล้านบาท และเงินสดจ่าย 57,970.67 ล้านบาท โดยมีเงินสดยกมาจากปี 2563 จำนวน 100 ล้านบาท ส่งผลให้ รฟท. ขาดเงินสดไว้ใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2564 จำนวน 11,500 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องกู้เงินจำนวน 11,500 ล้านบาท เพื่อให้มีเงินสดหมุนเวียนในการใช้จ่ายดำเนินงาน การลงทุน การจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญ และการชำระหนี้เงินกู้ โดย รฟท. คาดว่าจะเริ่มขาดเงินในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 นอกจากนี้ รฟท. มีความจำเป็นต้องกู้เงินระยะสั้น เพื่อให้มีวงเงินสำรองไว้ใช้เสริมสภาพคล่องโดยทำสัญญาเงินกู้ระยะสั้น วงเงิน 800 ล้านบาท ด้วยวิธีการประมูลตามความเห็นของ กค.
                   2. รฟท. จะเป็นผู้รับภาระต้นเงินกู้ ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายในการกู้เงิน และ กค. ค้ำประกันการกู้เงิน รวมทั้งพิจารณาจัดหาแหล่งเงินกู้ วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดตามความเหมาะสม สำหรับการขอยกเว้นการคิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันเงินกู้ตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราและเงื่อนไขการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมค้ำประกันของกระทรวงการคลัง พ.ศ. 2551 รฟท. จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ คณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยได้มีมติเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 เห็นชอบกสรกู้เงินดังกล่าวแล้ว
                   3.หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กค. [สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)] คค. สศช. และสำนักงบประมาณ (สงป.) พิจารณาแล้วเห็นชอบและไม่ขัดข้อง 
 
11. เรื่อง การขอปรับแผนงานและงบประมาณในการดำเนินโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศกิจกรรมที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ ดังนี้
                   1. เห็นชอบการขอปรับแผนงานปรับปรุงประสิทธิภาพโครงข่ายที่ออกแบบเพื่อทดแทนการยกเลิกระบบ Phetchaburi-Sriracha (PS) ภายใต้กิจกรรมย่อยที่ 1 และแผนงานก่อสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำ Asia Direct Cable (ADC) ภายใต้กิจกรรมย่อยที่ 3 โดยงบประมาณการดำเนินการดังงกล่าวคงอยู่ในวงเงิน 5,000 ล้านบาท ตามที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 ดังนี้
หน่วย : ล้านบาท

กิจกรรม งบประมาณตลอดทั้งแผนเดิมตามมติ ครม.
(19 ม.ค. 2559
และ 1 ส.ค. 2560)
ประมาณการงบประมาณตลอดทั้งแผนที่ขอปรับใหม่
กิจกรรมย่อยที่ 1 การจัดหาอุปกรณ์เพิ่มความจุโครงข่ายเชื่อมโยงไปยังชายแดนฯ ขนาดความจุรวม 2,300 Gbps 2,100 2,213.87
กิจกรรมย่อยที่ 2 การขยายความจุโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศของระบบที่มีอยู่ 1,770 Gbps 720 573.13
กิจกรรมย่อยที่ 3 การร่วมก่อสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำ ADC เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิการใช้งานวงจร 200 Gbps 2,180 2,180.00
รวม 5,000 4,967.00

                   2. เห็นชอบการปรับแผนการดำเนินโครงการ ASEAN Digital Hub ในกิจกรรมย่อยที่ 1 ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ทำให้ระบบเคเบิลใต้น้ำ PS ไม่สามารถใช้งานได้ตามแผนที่ได้ออกแบบไว้ จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงโครงข่ายซึ่งมีผลกระทบต่อวงเงินงบประมาณและระยะเวลาดำเนินงาน และกิจกรรมย่อยที่ 3 การลงทุนก่อสร้างระบบโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำเส้นใหม่มีกรอบระยะเวลาตามสัญญาก่อสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำ ADC ที่แตกต่างจากที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ               โดยขอขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการกิจกรรมย่อยที่ 3 จากปี พ.ศ. 2563 เป็น พ.ศ. 2565
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติ (19 มกราคม 2559 และ  1 สิงหาคม 2560) เห็นชอบโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศกิจกรรมที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) วงเงิน 5,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 กิจกรรมย่อย ซึ่งต่อมา บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด มหาชน (บมจ. กสท) ที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินโครงการแทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) แจ้งว่ามีปัญหาในกิจกรรมย่อยที่ 1 และ 3 ดังนี้

กิจกรรมย่อย ปัญหา
กิจกรรมย่อยที่ 1 การจัดหาอุปกรณ์เพิ่มความจุโครงข่ายเชื่อมโยงไปยังชายแดน ขนาดความจุรวม 2,300 Gbps แนวสายเคเบิลใต้น้ำ Phetchaburi-Sriracha (PS) ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 จึงต้องรื้อแนวสายเคเบิ้ล PS แล้วสร้างเส้นทางใหม่ทดแทน
กิจกรรมย่อยที่ 3 การร่วมก่อสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำ ADC เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิการใช้งานวงจร 200 Gbps มีการลงนามในข้อตกลง ADC ซึ่งเงื่อนไขการดำเนิตนงานภายหลังลงนามจะดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 32 เดือน และ บมจ. กสท จำเป็นต้องมีระยะเวลาในการตรวจรับอีกประมาณ 2 เดือน ทำให้จำเป็นต้องขยายระยะเวลาโครงการถึงปีงบประมาณ 2565

ดังนั้น ดศ. ได้ขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบให้ปรับแผนการดำเนินการของกิจกรรมย่อยที่ 1 และกิจกรรมย่อยที่ 3 สรุปดังนี้
หน่วย : ล้านบาท

กิจกรรม วงเงินงบประมาณ กรอบระยะเวลา
ตามมติคณะรัฐมนตรี
(19 มกราคม 2559
และ
1 สิงหาคม 2560)
ดศ. ขอความ
เห็นชอบในครั้งนี้
ตามมติคณะรัฐมนตรี
(19 มกราคม 2559
และ
1 สิงหาคม 2560)
ดศ. ขอความ
เห็นชอบในครั้งนี้
กิจกรรมย่อยที่ 1 2,100 2,213.87* ปี 2560 – ปี 2561 จนถึงปี 2563
กิจกรรมย่อยที่ 3 2,180 2,180 ปี 2560 – ปี 2563 จนถึงปี 2565

*แม้ว่าการปรับกรอบวงเงินของกิจกรรมย่อยที่ 1 ในครั้งนี้จะทำให้วงเงินเพิ่มขึ้น 113.87 ล้านบาท แต่เนื่องจากกิจกรรมย่อยที่ 2 ที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วใช้งบประมาณต่ำกว่าวงเงินที่กำหนดไว้ 146.87 ล้านบาท จึงทำให้วงเงินของโครงการในภาพรวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 4,967 ล้านบาท (2,213.87 + 573.13 + 2,180) ยังคงอยู่ภายใต้กรอบวงเงินจำนวน 5,000 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้
                   คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 ได้รับทราบการขอปรับแผนงานและงบประมาณในการดำเนินโครงการดังกล่าว ประกอบกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นชอบ/ไม่มีข้อขัดข้อง
 
12. เรื่อง ขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี เพื่อทำเหมืองแร่ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีพุธศิลาทอง ที่จังหวัดตรัง
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการขอผ่อนผันให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีพุธศิลาทอง ใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี เพื่อทำเหมืองแร่ ตามคำขอประทานบัตรที่ 2/2557 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤศจิการยน 2532 และวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ โดยให้ อก. (กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) ดำเนินการให้ครบถ้วนถูกต้องตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรต่อไป
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีพุธศิลาทอง ได้ยื่นคำขอประทานบัตรที่ 2/2557 ชนิดแร่หินอุตสาหกรรม ชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่ตำบลเขาขาว อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง เนื่อที่ 168 ไร่ 2 งาน 61 ตารางวา ซึ่งเป็นการขอประทานบัตรในพื้นที่ประทานบัตรเดิมเต็มทั้งแปลงที่ครบกำหนดสิ้นอายุแล้วเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 โดยได้มีการดำเนิการให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องและผ่านการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยแล้ว ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นด้วย/ไม่ขัดข้อง
 
13. เรื่อง ขออนุมัติในหลักการเตรียมความพร้อมโครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบหลักการเตรียมความพร้อมโครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้ถูกต้อง เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณดำเนินการศึกษาแนวทางเลือกของแหล่งเงินนอกเหนือจากงบประมาณในการดำเนินโครงการ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   โครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรีเป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีโดยการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำลงสู่อ่าวไทย เนื่องจากที่ผ่านมาระบบการระบายน้ำในพื้นที่ยังไม่มีความต่อเนื่อง จึงทำให้ขาดประสิทธิภาพ รวมถึงเพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) โดยกรมชลประทานจะดำเนินการปรับปรุงคลองระบายน้ำสายที่ 1 (D1) และคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา 1 (RMC1) ให้สามารถระบายน้ำลงสู่อ่าวไทยรวมทั้งสิ้น 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการสำรวจ – ออกแบบรายละเอียดโครงการฯ ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถเริ่มก่อสร้างโครงการฯ ได้เร็วขึ้น 1 ปี (จากแผนเดิมปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เป็นปีงบประมาณ พ.ศ. 2565) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้เสนอขออนุมัติหลักการในการเตรียมความพร้อมโครงการฯ เพื่อกรมชลประทานจะได้ดำเนินการ ดังนี้ (1) กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในขั้นตอนการสำรวจ – ออกแบบรายละเอียดและชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการ และ (2) กระบวนการจัดหาที่ดินเพื่อการก่อสร้าง และงานเตรียมความพร้อมเพื่อก่อสร้าง ซึ่งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติในคราวประชุมครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2562 มีมติเห็นชอบในหลักการแล้ว และเมื่อกรมชลประทานดำเนินการเตรียมความพร้อมแล้วเสร็จให้เสนอโครงการ          ต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติพิจารณา ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติแผนงานและวงเงินงบประมาณในการดำเนินการก่อสร้างอีกครั้งหนึ่ง โดยคาดว่าจะสามารถเสนอคณะรัฐมนตรีและเริ่มงานก่อสร้างได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
 
14. เรื่อง ขออนุมัติปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณจากรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่ได้กันเงินไว้และไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทัน มาดำเนินรายการค่าซื้อที่ดิน ค่าทดแทน ค่ารื้อย้ายในการจัดหาที่ดินเพื่อการชลประทาน
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กรมชลประทานปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณจากรายการที่ได้มีการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณและได้กันเงินไว้ตามระเบียบเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินจากคลัง (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 - 2562) ที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทันภายในวันที่ 30 กันยายน 2563 จำนวน 16 รายการ วงเงินรวม 1,059.19 ล้านบาท มาดำเนินการในงบลงทุน ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง รายการค่าซื้อที่ดิน ค่าทดแทน ค่ารื้อย้ายในการจัดหาที่ดิน จำนวน 9 รายการ วงเงินรวม 1,059.19 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้กรมชลประทานปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 – 2562 ที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทันภายในวันที่ 30 กันยายน 2563 จำนวน 16 รายการ มาดำเนินการในงบลงทุน ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง รายการค่าซื้อที่ดิน ค่าทดแทน และค่ารื้อย้ายในการจัดหาที่ดินจำนวน 9 รายการ วงเงินรวม 1,059.19 ล้านบาท เพื่อให้สามารถใช้จ่ายเงินดังกล่าวได้ภายในวันที่ 30 กันยายน 2563 โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

จากเดิม 16 รายการ วงเงิน 1,059.19 ล้านบาท เปลี่ยนเป็น 9 รายการ วงเงิน 1,059.19 ล้านบาท
1) ระบบชลประทาน จำนวน 2 รายการ ที่จังหวัดลำปางและปราจีนบุรี
2) เขื่อนหัวงานและอาคารประกอบพร้อมส่วนประกอบอื่น จำนวน 2 รายการ ที่จังหวัดเชียงรายและพะเยา
3) ค่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา จำนวน 3 รายการ ที่จังหวัดเชียงราย สุราษฎร์ธานี และพะเยา
4) งานคลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำพร้อมอาคารประกอบ และปรับปรุงระบบส่งน้ำ จำนวน 4 รายการ ที่จังหวัดชลบุรี นครศรีธรรมราช 2 แห่ง และพิษณุโลก
5) สถานีสูบน้ำพร้อมอาคารประกอบ จำนวน 5 รายการ ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา 3 แห่ง และสงขลา 2 แห่ง
1) โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย จำนวน 2 รายการ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและชุมพร
2) โครงการอ่างเก็บน้ำ จำนวน 7 รายการ ที่จังหวัดพัทลุง สุโขทัย มุกดาหาร แพร่ นครราชสีมา เพชรบูรณ์ และจันทบุรี

 
 
15. เรื่อง ขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เพื่อต่ออายุประทานบัตรทำเหมืองแร่ของบริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด ที่จังหวัดสระบุรี
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เพื่อต่ออายุประทานบัตรทำเหมืองแร่ตามคำขอต่ออายุประทานบัตร ที่ 7/2557 (ประทานบัตรที่ 28034/15723) ของบริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด ที่จังหวัดสระบุรี ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 และ 6 กุมภาพันธ์ 2544 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอโดยเมื่อหน่วยงานเจ้าของพื้นที่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่แล้ว ให้ อก. โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ดำเนินการให้ครบถ้วนถูกต้องตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรต่อไป
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   อก. รายงานว่า
                   1. บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด เป็นผู้ถือประทานบัตรที่ 28034/15723 ชนิดแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2548 ตั้งอยู่ที่ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี เนื้อที่ 235 ไร่ 41 ตารางวา มีอายุประทานบัตร 10 ปี และต่อมาได้รับอนุญาตให้เพิ่มชนิดแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างลงในประทานบัตรอีกชนิดหนึ่งเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2557 โดยครบกำหนดสิ้นอายุแล้วเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2558 ซึ่งการออกประทานบัตรดังกล่าวได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะมาตรการการใช้ที่ดินในเขตลุ่มน้ำภาคตะวันตก ภาคกลาง และลุ่มน้ำป่าสัก กรณีแหล่งแร่หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์โดยเจ้าของโครงการจะต้องปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดในรายงานฯ อย่างเคร่งครัดตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538
                   2. บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด ได้ยื่นคำขอต่ออายุประทานบัตรที่ 7/2557 ชนิดแร่อุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างในพื้นที่ประทานบัตรเดิมทั้งหมดของบริษัทฯ ซึ่งครบกำหนดสิ้นอายุแล้วดังกล่าว
                   3. การดำเนินการในขั้นตอนนี้ไม่ได้เป็นการพิจารณาอนุญาตให้ทำเหมืองแร่แต่เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเพื่อขออนุมัติผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ
 
16. เรื่อง  ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ปัญหาและผลกระทบจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ปัญหาและผลกระทบจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ของคณะกรรมาธิการการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน  สภาผู้แทนราษฎร  ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป
                    เรื่องเดิม
                    1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) ได้เสนอผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ปัญหาและผลกระทบจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรมาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้มีข้อสังเกต รวม 3 ประเด็น ได้แก่ 1) ความไม่ชัดเจนของบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562                           2)  การคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก่อให้เกิดความไม่ป็นธรรมและมีผลกระทบต่อประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ประกอบการ และ 3) การแก้ไขเพิ่มเติมและการบังคับใช้กฎหมาย
                    2. รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ในขณะนั้นสั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี
พิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ กค. เป็นหน่วยงานหลักรับข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าวไป
พิจารณาร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะของข้อสังเกตและข้อเสนอแนะดังกล่าว
และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการ
คณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
                    ข้อเท็จจริง
                    กค. เสนอว่า ได้ร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ แล้ว สรุปผล ดังนี้
                    1. ความไม่ชัดเจนของบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 กค. และ มท. ได้ดำเนินการยกร่างกฎหมายลำดับรองภายใต้พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ที่ต้องประกาศใช้สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 18 ฉบับ ซึ่งปัจจุบันได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วและในส่วนของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีความแตกต่างจากภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ใช้จัดเก็บในอดีต ได้มีกฎหมายกำหนดทั้งในส่วนของนิยามของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ผู้เสียภาษี การกำหนดฐานภาษี การคำนวณมูลค่าฐานภาษีและค่าภาษี รวมถึงขั้นตอนและกระบวนการทางปฏิบัติไว้ในพระราชบัญญัติภาษีที่ดินฯ และกฎหมายลำดับรองฉบับต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจน ซึ่งจะทำให้การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีความเป็นธรรมทางภาษีสามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน
                    2. การคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและมีผลกระทบต่อประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ประกอบการ เนื่องจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อปท. แต่ละแห่งได้กำหนดเองทำให้ฐานภาษีไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่เป็นธรรมกับผู้เสียภาษี และเกิดความลักลั่นในการจัดเก็บภาษี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม จึงได้จัดเก็บจากฐานมูลค่าทรัพย์สินที่คำนวณจากราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ประเมินโดยกรมธนารักษ์ซึ่งมีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งแก้ไขข้อบกพร่องของภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ถูกยกเลิกไป   และผลจากการเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บภาษีฐานทรัพย์สินจากภาษีโรงเรือนและที่ดินเดิมซึ่งเก็บภาษีจากค่าเช่า และภาษีบำรุงท้องที่ซึ่งเก็บภาษีจากราคาปานกลางที่ดินปี 2521-2524 มาเป็นการจัดเก็บภาษีจากมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปัจจุบัน จะส่งผลให้ อปท. มีรายได้รวมทั้งประเทศเพิ่มขึ้นแต่จะทำให้ภาระภาษีของผู้เสียภาษีแต่ละรายจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยชำระในอดีต โดยจะมีภาระภาษีทั้งเพิ่มขึ้น ลดลง หรือใกล้เคียงกับภาระภาษีเดิม ดังนั้น การพิจารณาผลกระทบต่อประชาชน ผู้ประกอบการ และ อปท. จึงไม่ควรพิจารณาผลกระทบเปรียบเทียบเป็นกรณีเฉพาะราย แต่ควรพิจารณารายได้ในภาพรวมเป็นสำคัญ
                    3. การแก้ไขเพิ่มเติมและการบังคับใช้กฎหมาย กค. และ มท. ได้เตรียมการเพื่อรองรับและแจ้งให้ อปท. รับทราบ หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบกฎหมายในเดือนพฤศจิกายน 2561 แล้ว เพื่อให้ อปท. และประชาชนผู้เสียภาษีมีระยะเวลาในการเตรียมตัวซึ่ง กค. และ มท.ได้จัดให้มีประชาสัมพันธ์และให้ความรู้อย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลามากกว่า 1 ปี ตั้งแต่การจัดทำคู่มือ สื่อประชาสัมพันธ์ การนำหลักการกฎหมายลำดับรองมาให้ความรู้แก่ อปท. ทั่วประเทศ ตลอดจนประชาชนและผู้ประกอบการ
 
17. เรื่อง ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันความเสี่ยงเกี่ยวกับการทุจริตในการบริหารจัดการงบประมาณโครงการกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันความเสี่ยงเกี่ยวกับการทุจริตในการบริหารจัดการงบประมาณโครงการกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เสนอ และให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงบประมาณ (สงป.) ไปพิจารณาประกอบการดำเนินการด้วย
                   สาระสำคัญของเรื่อง
                   คณะกรรมการ ป.ป.ช. รายงานว่า
                   1. คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ศึกษาปัญหาการทุจริตในการบริหารจัดการงบประมาณโครงการกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ โดยพบว่าปัญหาการกระทำทุจริตดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการและสะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาการรั่วไหลของงบประมาณงบเงินอุดหนุนที่เกิดจากการกระทำทุจริตในหลายขั้นตอน ดังนั้นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พ.ศ. 2561 และเอกสารแนบท้ายประกาศ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

ประเด็น รายละเอียด
การบริหารงบประมาณ เปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจ/ผู้รับผิดชอบในการบริหารงบประมาณของโครงการ
จากเดิม คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
เป็น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ส่งผลให้วิธีการบริหารงบประมาณต้องดำเนินการภายใต้ระเบียบและข้อบังคับที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือปฏิบัติเป็นสำคัญ
การเบิกจ่ายงบประมาณ ปรับปรุงวิธีการจ่ายเงินโดยให้ใช้ระบบการเบิกจ่ายงบประมาณผ่านบัญชีธนาคารและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นการลดการถือครองเงินสด

                   2. คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า ถึงแม้กรณีการทุจริตตามกรณีศึกษาดังกล่าวจะได้รับการแก้ไขแล้ว แต่เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจึงได้พิจารณาประเด็นปัญหาที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการทุจริตและได้มีข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดมาตรการป้องกันการทุจริต โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

ปัญหา/ความเสี่ยงต่อการทุจริตที่อาจเกิดขึ้น ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
1. ระบบการจัดสรรงบประมาณ ตั้งแต่การเสนอโครงการเพื่อขอรับงบประมาณ และการอนุมัติโครงการ เช่น
1) ไม่มีแนวทางการวิเคราะห์หรือการประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตในโครงการที่จะขอรับการสนับสนุนงบประมาณ ให้ สปสช. กำหนดแนวทางหรือรูปแบบการวิเคราะห์และการประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตของกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
2) ความเสี่ยงจากการอนุมัติโครงการในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนได้ เช่น การอนุมัติโครงการให้แก่ผู้ใกล้ชิดกับคณะกรรมการกองทุนระดับท้องถิ่น เป็นต้น ให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่พิจารณาความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมหรือผลประโยชน์ทับซ้อนได้
3) ไม่มีแนวทางการวิเคราะห์ผลลัพธ์การใช้งบประมาณโดยเปรียบเทียบกับต้นทุนที่ใช้ไป (Cost-Benefit Analysis) ทำให้โครงการบางอย่างอาจไม่มีความคุ้มค่า ให้ สปสช. วางแนวทางการดำเนินการวิเคราะห์ที่ไม่ซับซ้อนเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาอนุมัติโครงการ โดยพิจารณาทั้งมิติด้านการเงินและมิติเชิงสังคม และความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข
4) การอนุมัติแผนงาน/โครงการไม่เชื่อมโยงกับเป้าประสงค์ แนวทาง และวิธีการในแผนระดับท้องถิ่น เช่น แผนพัฒนาท้องถิ่น แผนสุขภาพชุมชน เป็นต้น ซึ่งต้องเป็นส่วนหนึ่งในแบบคำขอรับการจัดสรรงบประมาณ ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการอนุมัติโครงการที่ผิดวัตถุประสงค์หรือซ้ำซ้อนกับการดำเนินการของหน่วยงานอื่น ให้คณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่พิจารณาอนุมัติแผนงาน/โครงการ โดยต้องเชื่อมโยงกับเป้าประสงค์ แนวทาง และวิธีการที่ปรากฏในแผนระดับท้องถิ่น และให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในแบบคำขอรับการจัดสรรงบประมาณ
2. ระบบการบริหารงบประมาณ การเบิกจ่ายงบประมาณ และการใช้งบประมาณ เช่น
1) ผู้ปฏิบัติขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้อง ให้ สปสช. ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) ให้ความรู้ซักซ้อมความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารงบประมาณ การเบิกจ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
2) เจ้าหน้าที่ขาดความตระหนักและมีความจงใจ โดยอาศัยช่องว่างของกฎหมายเพื่อกระทำการทุจริต ให้ มท. มีหนังสือเวียนเพื่อเน้นย้ำแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องให้แก่ผู้ปฏิบัติ รวมทั้งชี้ให้เห็นโทษที่จะได้รับหากมีการทุจริต
3) คณะกรรมการกองทุนฯ ขาดการประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้ประชาชนทราบถึงการดำเนินงานของกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ส่งผลทำให้ขาดการมีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสการทุจริต ให้ สปสช. นำข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการงบประมาณมาสรุปเป็นอินโฟกราฟิก และเผยแพร่ให้แก่สาธารณะ และให้คณะกรรมการกองทุนฯ ระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่เพิ่มการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อให้ประชาชนทราบถึงการดำเนินงานของกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่และเพื่อให้มีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสการทุจริต
3. ระบบการติดตามและประเมินผล และการรายงานผลการดำเนินโครงการ เช่น
1) การรายงานผลการดำเนินโครงการยังไม่ชัดเจน เช่น การรายงานข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริงทำให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียขาดข้อมูลที่จำเป็นในการตรวจสอบ ให้ สปสช. และคณะกรรมการกองทุนฯ ระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เพิ่มข้อมูลการรายงานข้อเท็จจริง รวมทั้งกำกับติดตามให้มีการรายงานผลการดำเนินงานตามที่กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนด
2) การรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการไม่มีความต่อเนื่อง ทำให้การติดตามการใช้จ่ายงบประมาณไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ให้ สปสช. เพิ่มระบบการแจ้งเตือนการรายงานผลหรือเพิ่มช่องทางการรายงานผ่านทางระบบออนไลน์ และให้ สปสช. งดการสนับสนุนงบประมาณในกรณีที่หน่วยงานไม่รายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณตามหลักเกณฑ์ของกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
3) ขาดช่องทางการรายงานผลการดำเนินโครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณด้วยภาพถ่ายหรือภาพวีดิทัศน์ ให้ สปสช. ปรับปรุงระบบการรายงานผลการดำเนินแผนงาน/โครงการ ควรมีการรายงานด้วยภาพถ่ายหรือวีดิทัศน์ภาพการดำเนินการจริง
4) ขาดช่องทางให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการเข้ามามีส่วนร่วมประเมินผลโครงการ ให้ สปสช. กำหนดแนวทางที่จะทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการสามารถร่วมประเมินผลประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ และให้ สปสช. เพิ่มช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย

 
18. เรื่อง ข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ระยะที่ 3
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ระยะที่ 3 ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เสนอ และให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกับสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยให้รับความเห็นและข้อสังเกตของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และสำนักงาน ป.ป.ท. ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
                   ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ระยะที่ 3 ให้เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า ข้อเสนอแนะระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ยังคงมีปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ เช่น ความไม่สอดคล้องของปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข การขาดการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานและการขาดระบบการติดตามและการประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงวิเคราะห์ข้อเสนอแนะขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ และวิเคราะห์รายละเอียดเชิงลึกของ 9 แหล่งข้อมูลที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาตินำมาใช้ในการคำนวณคะแนน CPI โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีข้อเสนอแนะและได้มอบหมายให้มีหน่วยงานหลักเพื่อดำเนินการในประเด็นต่าง ๆ
 
19. เรื่อง รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 16
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 16 ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ
                   สาระสำคัญของเรื่อง               
                   สำนักงาน ก.พ. ได้รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 16 โดยข้อมูล ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2563 ซึ่งได้รับข้อมูลจาก 147 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 99 ของทั้งหมด (148 ส่วนราชการ) สรุปได้ ดังนี้  1. การปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งส่วนของราชการ ส่วนราชการมีการมอบหมายให้บุคลากรปฏิบัติงานในสถานที่ฯ ตามปกติเพิ่มมากขึ้น (82 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 56) (เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมี 81  ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 55) และส่วนราชการกำหนดให้บุคลากรเหลื่อมเวลาในการทำงานเป็น 3 ช่วงเวลาลดลง (76 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 52) (ลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมี 79 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 54)                   
                    2. การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ (Work From Home) ส่วนราชการมอบหมายให้บุคลากรปฏิบัติงานนอกสถานที่ฯ ลดลง (65 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 44) (ลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมี 66 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 45) โดยในจำนวนนี้มี 16 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 11 มอบหมายให้บุคลากรทุกคนปฏิบัติงานนอกสถานที่ฯ (ไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา)
 
20. เรื่อง รายงานสภาพการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานในราชการพลเรือนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
                    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสภาพการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานในราชการพลเรือนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จำนวน 2 เรื่อง ตามที่สำนักงาน ก.พ.เสนอ
                    สำนักงานกพ. รายงานว่า ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30  มิถุนายน 2563 มีมติให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐเร่งรัดการดำเนินการจ้างงานในกิจกรรม/โครงการต่าง ๆ ในความรับผิดชอบเพื่อรองรับแรงงานที่ว่างงานจำนวนมาก เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นั้น เพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว สำนักงาน ก.พ. ได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานบุคลากรภาครัฐในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ  และบรรเทาสถานการณ์การว่างงานภายในประเทศของผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฯ ซึ่งมีแนวโน้มของผู้ว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ทั้งผู้ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาและอยู่ระหว่างหางานทำ ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนงานและ/หรือผู้ที่ถูกเลิกจ้างงานจากภาคส่วนอื่น จึงจำเป็นต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบและสั่งการตามที่เห็นสมควรต่อไป
                    ผลการดำเนินการของสำนักงาน ก.พ.
                    เรื่องที่ 1  เรื่อง รายงานสรุปเรื่องการดำเนินการสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก.)
                    ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 สำนักงาน ก.พ. ได้วางแผนและเตรียมการจัดสอบภาค ก. ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนแรกของการประเมินความเหมาะสมของบุคคลเพื่อเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งมีผู้สนใจสมัครสอบ จำนวน 500,000 คน และจะจัดดำเนินการสอบ ในวันที่ 27 กันยายน 2563 ณ ศูนย์สอบทั่วประเทศ 15 แห่ง โดยสำนักงาน ก.พ ได้คำนึงถึงการจัดระบบการสอบให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ด้วยแล้ว รวมทั้งจัดให้มีการสอบด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างวันที่ 18-22 กันยายน 2563 ณ ศูนย์สอบทั่วประเทศ 9 แห่ง ซึ่งมีผู้สมัครสอบ จำนวน 21,723 คน  รวมผู้สมัครสอบภาค ก. ทั้งสิ้น 521,723 คน นอกจากนี้ ยังได้เตรียมแผนดำเนินการสอบเพิ่มเติมสำหรับผู้สมัครสอบภาค ก. ซึ่งยังไม่สามารถชำระเงินได้เนื่องจากที่นั่งสอบเต็ม จำนวน 95,610 คน โดยคาดว่าจะดำเนินการจัดสอบให้กับผู้สมัครสอบที่เหลืออยู่ดังกล่าวได้ประมาณเดือนมกราคม 2564
                    อย่างไรก็ดี กรณีที่ส่วนราชการมีอัตราว่างและประสงค์จะสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นการเฉพาะ สามารถดำเนินการสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง (ภาค ข.) และ/หรือการสอบเพื่อวัดความเหมาะสมกับตำแหน่ง (ภาค ค.) โดยรับสมัครจากผู้ที่ยังไม่มีผลการสอบภาค ก. ก่อนได้และเมื่อดำเนินการสอบภาค ข. และภาค ค. แล้วเสร็จ สำนักงาน ก.พ. จะจัดสอบภาค ก. พิเศษ ให้แก่ส่วนราชการ เพื่อจะได้ดำเนินการประกาศขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้และบรรจุเข้ารับราชการต่อไป ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สนับสนุนการจ้างงานของส่วนราชการให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
                    เรื่องที่ 2 แนวทางเพิ่มโอกาสการจ้างงานผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาด
ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID- 19) ด้วยระบบพนักงานราชการ
                    ปัจจุบันภาครัฐมีรูปแบบการจ้างงานแบบสัญญาจ้างที่หลากหลาย ทั้งการจ้างลูกจ้างชั่วคราวพนักงานกองทุนตามระเบียบกระทรวงการคลัง หรือการจ้างพนักงานตามระเบียบของส่วนราชการ เช่น พนักงานกระทรวงสาธารณสุข  (พกส.) พนักงานจ้างของท้องถิ่น และพนักงานมหาวิทยาลัย เป็นต้น โดยระบบพนักงานราชการเป็นการจ้างงานแบบสัญญาจ้างอีกรูปแบบหนึ่งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยพนักงานราชการ พ.ศ. 2547 ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงความทันการณ์ของการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติตเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ผ่านกลไกการจ้างงาน อีกทั้งการสนับสนุนให้ส่วนราชการสามารถบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานตามความจำเป็นของภารกิจได้ โดยไม่มีผลผูกพันค่าใช้จ่ายระยะยาวแล้ว คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 จึงมีมติเห็นชอบแนวทางการเพิ่มโอกาสให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID- 19) ด้วยระบบพนักงานราชการ เพื่อช่วยบรรเทาสภาวะเศรษฐกิจ การว่างานภายในประเทศ เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการจ้างงานให้กลุ่มผู้สำเร็จการศึกษาและอยู่ระหว่างการหางานทำ ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนงาน และหรือผู้ที่ถูกเลิกจ้างจากภาคส่วนอื่นมีโอกาสได้รับการจ้างงานและสั่งสมประสบการณ์การทำงานในหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งเพื่อให้ส่วนราชการได้สรรหาบุคลากรคุณภาพเพื่อปฏิบัติภารกิจที่มีความจำเป็นเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล ภารกิจตามยุทธศาสตร์ หรือภารกิจสำคัญอื่นของส่วนราชการ โดยมีหลักการสำคัญ คือ ไม่ใช่การจ้างงานประจำ เป็นการจ้างงานระยะสั้น และบรรจุบุคคลเข้าปฏิบัติงานให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ คพร.จะพิจารณาจัดสรรกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการเป็นกรณีพิเศษให้แก่ส่วนราชการเพื่อจ้างพนักงานราชการได้ไม่เกิน 2 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2565) เน้นการกระจายการจ้างงานลงสู่ระดับพื้นที่ ตลอดจนกำหนดรูปแบบการจ้าง อัตราค่าตอบแทน วิธีการสรรหาและการบริหารการจ้างป็นการเฉพาะ เพื่อให้ส่วนราชการดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว คล่องตัว และมีประสิทธิภาพ
                    ทั้งนี้ การดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนเงินงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการจ้างงานพนักงานราชการและจัดสรรให้แก่ส่วนราชการตามความจำเป็น โดยอาจพิจารณานำเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ส่วนราชการได้รับจัดสรรมาใช้ หรือขอรับการสนับสนุนเงินกู้จากรัฐบาลเพื่อดำเนินการเป็นการเฉพาะ นอกจากนี้ ในการบริหารงานพนักงานราชการให้นำแนวทางการให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการกรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVD- 19) มาใช้ เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น คล่องตัว และสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยไม่ส่งผลกระทบหรือเกิดผลเสียหายต่อประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการปฏิบัติงาน และการให้บริการประชาชน
                    บทสรุป
                    สำนักงาน ก.พ. คาดว่าการดำเนินการทั้งสองเรื่องดังกล่าวจะช่วยบรรเทาสภาพการณ์ว่างงานภายในประเทศ โดยบรรจุบุคคลเข้ารับราชการประจำ ทั้งจากผู้ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการว่างงาน/เลิกจ้างงาน ซึ่งภายหลังจากการดำเนินการสอบภาค ก. ในช่วงเดือนกันยายน 2563 จำนวน 521,723 คน แล้ว ส่วนราชการสามารถดำเนินการจัดสอบภาค ข. และภาค ค. เพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการได้ ซึ่งจะมีตำแหน่งว่างรองรับการจ้างงานประกอบด้วย อัตราข้าราชการตั้งใหม่ที่ส่วนราชการได้รับการจัดสรรในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562-2563 ที่ยังไม่ได้บรรจุจำนวนประมาณ 20,000 อัตรา และอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการเมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวนประมาณ 8,900 อัตรา หรือพิจารณาใช้รูปแบบการจ้างงานแบบสัญญาจ้างเพื่อบรรจุเป็นพนักงานราชการในอัตราว่างตามกรอบอัตรากำลังปกติ หรือกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการตามแนวทางที่ คพร. เห็นชอบสำหรับการจ้างงานระยะสั้นไม่เกิน 2 ปี ซึ่งอาจบริหารจัดการได้จำนวนประมาณ 10,000 อัตรา
 
21. เรื่อง ขอขยายเวลาการควบรวมกิจการของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ ดังนี้
                   1. รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการควบรวมกิจการของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)  (บมจ. ทีโอที) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (บมจ. กสท โทรคมนาคม) ตามแผนการควบรวมกิจการของ บมจ.ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม รวมทั้งประเด็นการได้รับสิทธิตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 ของ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม ไปยังบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ ตามมาตรา 153 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการหารือข้อกฎหมาย              ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ
                   2. รับทราบการใช้ชื่อบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการของ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม โดยเมื่อจดทะเบียนจะใช้ชื่อว่า “บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)” และชื่อภาษาอังกฤษว่า “National Telecom Public Company Limited : NT Plc.” ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติ บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
                    3. เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการควบรวมตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 ต่อไปอีก 6 เดือน จากกำหนดเดิม
 
22. เรื่อง รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ ในสัปดาห์ช่วงระหว่างวันที่ 17 – 21 สิงหาคม 2563 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
                   สาระสำคัญ
                   รัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มีจำนวน 55 แห่ง โดยผลสัมฤทธิ์ฯ ของรัฐวิสาหกิจในสัปดาห์ช่วงระหว่างวันที่ 17 – 21 สิงหาคม 2563 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
                   1. การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ (ปฏิบัติงานที่บ้านหรือที่พักหรือสถานที่ตามที่รัฐวิสาหกิจกำหนด)
                   รัฐวิสาหกิจ 14 แห่ง ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง โดยมีรัฐวิสาหกิจ 41 แห่ง ที่ให้พนักงานกลับมาปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งตามปกติแล้ว เท่ากับสัปดาห์ก่อนหน้า (ช่วงระหว่างวันที่ 10 – 14 สิงหาคม 2563) ทั้งนี้ จากจำนวนพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจทั้งหมดจำนวน 272,574 คน มีพนักงานและลูกจ้างปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งจำนวน 12,439 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 5
                   2. การปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ (การปฏิบัติงานเหลื่อมเวลา)
                   รัฐวิสาหกิจ 26 แห่ง ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานเหลื่อมเวลาเท่ากับสัปดาห์ก่อนหน้า               (ช่วงระหว่างวันที่ 10 – 14 สิงหาคม 2563) โดยรัฐวิสาหกิจ 26 แห่ง มีช่วงเวลาเริ่มปฏิบัติงานเหลื่อมเวลาตั้งแต่เวลา 6.00 น. – 10.00 น.
                    3. แนวทางการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจ
                   รัฐวิสาหกิจที่ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งมีการติดตามผลการปฏิบัติงานทั้งเป็นรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน ขึ้นอยู่กับประเภทของงาน ซึ่งรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มีการกำกับ ติดตาม และบริหารผลการปฏิบัติงานผ่านแอปพลิเคชัน Line ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ และระบบการติดตามงานและการลงเวลาปฏิบัติงานที่องค์กรพัฒนาขึ้นเอง โดยรัฐวิสาหกิจยังคงใช้แอปพลิเคชัน Line มาสนับสนุนการปฏิบัติงานมากที่สุด ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจมีข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งว่า ควรเตรียมอุปกรณ์และระบบเพื่อรองรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งให้เพียงพอ และควรพัฒนาระบบการปฏิบัติงานขององค์กรให้สามารถรองรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้ ซึ่งรวมถึงมีการจัดเก็บข้อมูลหรือเอกสารให้อยู่ในรูปแบบของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งควรพิจารณาลักษณะงานที่จำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งเท่านั้น เช่น การให้บริการประชาชน และสำหรับงานอื่นที่ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้ง ควรพิจารณาเปลี่ยนรูปแบบเป็นการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งแทน
 
23. เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระยะที่ 3
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพิ่มเติม งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 883,422,500 บาท ให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดทำพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) สำหรับแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19 ) ระยะที่ 3 ต่อไป ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ
                   สาระสำคัญ
                   1. ตามที่รัฐบาลได้กำหนดมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) สำหรับคนไทยทุกคนที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศจะต้องเข้าพัก ณ พื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) ทันทีเป็นเวลา 14 วัน เมื่อเดินทางกลับถึงประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรีได้กรุณาสั่งการให้กระทรวงกลาโหม และกระทรวงมหาดไทยร่วมกันจัดสถานที่/พื้นที่สำหรับสังเกตอาการเพื่อใช้ในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค โดยการดำเนินการที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ได้จัดตั้งพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) โดยใช้สถานที่ราชการจำนวน 2 แห่ง และโรงแรมเอกชน จำนวน 31 แห่ง รองรับผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและเข้ารับการกักกันตัวในพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) จำนวน 27,977 คน
                   2. การดำเนินการพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) ที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพิ่มเติม งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดทำพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) ระยะที่ 1 จำนวน 4,200 คน วงเงิน 95,221,620 บาท และระยะที่ 2 จำนวน 4,200 คน วงเงิน 97,647,694 บาท รวมจำนวนทั้งสิ้น 8,400 คน รวมวงเงินทั้งสิ้น 192,869,314 บาท
                   3. กระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งประมาณการจำนวนคนไทยในต่างประเทศที่มีความประสงค์เดินทางกลับประเทศไทยทางอากาศ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ที่สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลกได้สำรวจล่าสุดมีจำนวน 22,470 คน โดยอาจมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVD - 19) มาตรการการผ่อนคลายการควบคุมโรค และมาตรการทางเศรษฐกิจของประเทศต้นทาง
                   4. กระทรวงกลาโหมได้ดำเนินการจัดทำพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) สำหรับผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ฯ ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 จำนวน 27,977 คน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการจัดทำพื้นที่สำหรับผู้เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 แล้ว จำนวน 8,400 คน ตามข้อ 2 และจากประมาณการของกระทรวงการต่างประเทศ มีคนไทยในต่างประเทศที่มีความประสงค์เดินทางกลับประเทศไทยทางอากาศ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 จำนวน 22,470 คน ตามข้อ 3 ทำให้มีผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและเข้ารับการกักกันตัวในพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) แล้วรวมกับผู้ที่มีความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทย ที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการจัดทำพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) รวมทั้งสิ้น จำนวน 42,047 คน (27,977 – 8,400 + 22,470 คน)
                   5. กระทรวงสาธารณสุข ได้พิจารณาค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดทำพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) แล้ว แจ้งว่าค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ระยะที่ 3 วงเงิน 902,597,160 บาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดทำพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) ในส่วนของสถานที่เอกชน เป็นไปตามที่ขอตกลงกับกรมบัญชีกลางและไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น จึงเห็นควรให้ดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ รายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 ตามขั้นตอนต่อไป
                   6. กระทรวงกลาโหมได้มีหนังสือเรียนผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เพื่อขอให้พิจารณาการขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 902,597,160 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVD - 19) ระยะที่ 3 และสำนักงบประมาณได้นำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแล้ว มีบัญชาเห็นชอบให้กระทรวงกลาโหม โดยสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 883,422,500 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVD - 19) ระยะที่ 3 (ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563) สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดทำพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) จำนวน 41,514 คน โดยให้เบิกจ่ายในงบดำเนินงาน ประกอบด้วย
                       6.1 ค่าตอบแทนบุคลากร วงเงิน 32,692,400  บาท
                       6.2 ค่าเช่าที่พักและค่าอาหารของเจ้าหน้าที่ วงเงิน 91,411,200 บาท
                       6.3 ค่าเช่าที่พักและค่าอาหารของผู้ถูกกักกันโรค วงเงิน 747,252,000 บาท
                       6.4 ค่าวัสดุการแพทย์ วงเงิน 621,000 บาท
                       6.5 ค่าจ้างเหมา วงเงิน 8,493,000 บาท
                       6.6 ค่าใช้จ่ายยานพาหนะในภารกิจ COVID -19 วงเงิน 2,952,900 บาท
 
 

ต่างประเทศ

 
24. เรื่อง รายงานสรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 23 (23rd Meeting of the ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC Council) ผ่านระบบการประชุมทางไกล
                   คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 23 (23rd Meeting of the ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC Council) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 เห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 23) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ
                   สาระสำคัญของการประชุมคณะรัฐมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 23 ได้มีมติร่วมกันในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
                   1. สนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและแนวคิดหลัก “แน่นแฟ้นและตอบสนอง” และแผนงานสำคัญสำหรับประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งรวมถึงความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค ความแน่นแฟ้น และการแสวงหาผลประโยชน์จากโอกาส การส่งเสริมอัตลักษณ์อาเซียนและความตระหนักรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน การยกระดับความเป็นหุ้นส่วนกับประชาคมโลกในด้านสันติภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของอาเซียน และการเพิ่มพูนขีดความสามารถและประสิทธิภาพทางสถาบันของอาเซียน
                   2. รับรองถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน  ครั้งที่ 23 และเห็นชอบให้เสนอเอกสารผลลัพธ์สำคัญต่อผู้นำอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 1) เอกสารที่เสนอเพื่อรับรอง คือ ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปของงาน และ 2) เอกสารเพื่อรับทราบ คือ ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของสภาอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมแห่งอาเซียน และรายงานของคณะรัฐมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 23 ต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 36
                   3. รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการประเมินผลแผนงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ค.ศ. 2025 ในระยะครึ่งแผน และให้เสนอผลการประเมินดังกล่าวต่อผู้นำอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 ในเดือนพฤศจิกายน 2563
                   4. รับทราบรายงานของเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนเกี่ยวกับความก้าวหน้าในประเด็นต่าง ๆ ที่ต้องบูรณาการระหว่างสาขาและระหว่างสามเสาของประชาคมอาเซียน
                   ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้หยิบยกประเด็นสำคัญแถลงต่อที่ประชุมฯ เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศสมาชิกอาเซียน จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาระบบการคุ้มครองทางสังคมที่มีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน และควรเพิ่มการรับรู้และสร้างการยอมรับต่อวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ รวมทั้งควรมีการพัฒนากรอบการดำเนินงานหรือเวทีที่เป็นทางการสำหรับการประชุมภาคประชาสังคมและภาคประชาชนอาเซียน
                   การประชุมคณะรัฐมนตรีประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนในครั้งต่อไป (ครั้งที่ 24) จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2563 ณ กรุงโฮจิมินห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามหรือผ่านระบบการประชุมทางไกล ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
                   สำหรับประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับหรือข้อสังเกตจากการประชุม เช่น ประเทศไทยได้มีโอกาสนำเสนอมาตรการการช่วยเหลือเยียวยาด้านสวัสดิการสังคมและการสังคมสงเคราะห์ที่มีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนผ่านการทำงานแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ การผลักดันนโยบายระหว่างประเทศ ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากความร่วมมือต่าง ๆ ไปสู่การปฏิบัติ เช่น ด้านสิทธิสตรีและเด็กด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการศึกษา ด้านแรงงาน และด้านสาธารณสุข
 
 

แต่งตั้ง

25. เรื่อง ขอปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการผู้แทนรัฐบาลเพื่อพิจารณาทำความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศกับรัฐบาลต่างประเทศเป็นประจำ
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการผู้แทนรัฐบาลเพื่อพิจารณาทำความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศกับรัฐบาลต่างประเทศเป็นประจำ โดยตัด “ผู้แทน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา” ออกจากคณะกรรมการดังกล่าว ทั้งนี้ ให้องค์ประกอบอื่นและอำนาจหน้าที่คงเดิม ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 เป็นต้นไป
                   สาระสำคัญของเรื่อง 
                   คค. รายงานว่า 
                   1. สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการผู้แทนรัฐบาลเพื่อพิจารณาทำความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศกับรัฐบาลต่างประเทศเป็นประจำ ได้รายงาน คค. ว่า เห็นควรกำหนดการประชุมของคณะกรรมการดังกล่าวเพื่อพิจารณาเรื่องสำคัญเร่งด่วนเกี่ยวกับการเจรจาการบินระหว่างประเทศ และเรื่องสำคัญอื่น ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการประสานความร่วมมือด้านการขนส่งทางอากาศกับองค์กรหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ เมื่อการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของประเทศไทยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย  
                   2. โดยที่คณะกรรมการฯ ดังกล่าว มีอำนาจหน้าที่และกำหนดท่าทีในการเจรจาทำความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศกับรัฐบาลต่างประเทศ แต่เนื่องจากองค์ประกอบของคณะกรรมการดังกล่าวมีผู้แทน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา ซึ่งปัจจุบัน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้พ้นสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของ คค. แล้ว ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติ จึงเห็นควรตัดผู้แทน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา ออกจากคณะกรรมการดังกล่าว (เดิมมีคณะกรรมการฯ รวม 12 ตำแหน่ง)
 
 
26. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 5 ราย เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ และสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้
                   1. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ
                   2. นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ดำรงตำแหน่ง                   รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง  
                   3. นายสุรชัย อจลบุญ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง                        อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
                   4. นายอดิศร นุชดำรงค์ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง                           อธิบดีกรมป่าไม้
                   5. นายจเรศักดิ์ นันตะวงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง            รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
                   ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง                เป็นต้นไป
 
27. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงยุติธรรม)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง จำนวน 5 ราย ดังนี้
                   1. นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการ (ประเภทบริหาร ระดับสูง) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม รับโอนเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (ประเภทบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม เป็นการโอนไปดำรงตำแหน่งทดแทนตำแหน่งผู้เกษียณอายุราชการ 
                   2. นายสหกรณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดี (ประเภทบริหาร ระดับสูง) กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (ประเภทบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม เป็นการโอนไปดำรงตำแหน่งทดแทนตำแหน่งผู้เกษียณอายุราชการ 
                   3. พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบัน (ประเภทบริหาร ระดับสูง) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (ประเภทบริหาร ระดับสูง) กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม เป็นการโอนไปดำรงตำแหน่งแทนผู้ครองตำแหน่งเดิมซึ่งจะไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม 
                   4. พันตำรวจเอก ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผู้ตรวจราชการ (ประเภทบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบัน (ประเภทบริหาร ระดับสูง) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เป็นการโอนไปดำรงตำแหน่งแทนผู้ครองตำแหน่งเดิมซึ่งจะไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม
                   5. นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ประเภทบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (ประเภทบริหาร ระดับสูง) กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม เป็นการโอนไปดำรงตำแหน่งทดแทนตำแหน่งผู้เกษียณอายุราชการ
                   ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง               เป็นต้นไป
 
28. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงยุติธรรม)               คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอแต่งตั้งนายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษาการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง              เป็นต้นไป
 
29. เรื่อง การแต่งตั้งผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอการแต่งตั้ง นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า ตามมติคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า ในการประชุมเมื่อวันที่            29 กรกฎาคม 2563 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้างเป็นต้นไปแต่ไม่ก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ
 
30. เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จำนวน 7 คน เนื่องจากคณะกรรมการชุดเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี และให้ดำรงตำแหน่งต่อไปอีกวาระหนึ่ง ดังนี้ 
                   1. นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล                           ประธานกรรมการ 
                   2. นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร                          กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน 
                   3. นางจินตนา พันธุฟัก                                 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชน
                   4. รองศาสตราจารย์ศุภกรณ์ ดิษฐพันธุ์                กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปวัฒนธรรม
                   5. นายสุรพล ทิพย์เสนา                                กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย
                   6. รองศาสตราจารย์ลือชัย ศรีเงินยวง                 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการประเมินผล
                   7. รองศาสตราจารย์นรีวรรณ จินตกานนท์           กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการประเมินผล
                   ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 เป็นต้นไป
 
31. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการคลัง)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญในสังกัดกระทรวงการคลัง ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 4 ราย ดังนี้ 
                   1. ย้าย นายจำเริญ โพธิยอด ผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง ไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง (นักบริหารสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง 
                   2. โอน นายพชร  อนันตศิลป์ อธิบดี (นักบริหารสูง) กรมสรรพสามิต ไปดำรงตำแหน่งอธิบดี          (นักบริหารสูง) กรมศุลกากร
                     3. โอน นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ (นักบริหารสูง) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ไปดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารสูง) กรมสรรพสามิต 
                   4. โอน นางวรนุช ภู่อิ่ม ที่ปรึกษาด้านการบริหารเหรียญกษาปณ์และทรัพย์สินมีค่า (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กรมธนารักษ์ ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง
                   ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง             เป็นต้นไป
 
32. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอแต่งตั้ง นายอารัญ บุญชัย        รองอธิบดี (นักบริหารต้น) กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 
33. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพาณิชย์)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง เพื่อเป็นการสับเปลี่ยนหมุนเวียนและเพื่อทดแทนผู้ที่จะเกษียณอายุราชการ ดังนี้ 
                   1. นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง 
                   2. นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 
                   3. นายวุฒิไร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทรัพย์สิน                   ทางปัญญา
                   ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง                 เป็นต้นไป
 
34. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงแรงงาน)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอการแต่งตั้งหม่อมหลวงปุณฑริก               สมิติ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 เป็นต้นไป
 
35. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอการแต่งตั้งนายธนกร            วังบุญคงชนะ ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี                  (นายอนุชา นาคาศัย) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 เป็นต้นไป
 
36. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอการแต่งตั้ง นายรณภพ    ปัทมะดิษ เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง
 
37. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
                   คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอการแต่งตั้ง นายเนวินธุ์                  ช่อชัยทิพฐ์ เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง
 
38. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)
                   คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอแต่งตั้ง นายปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวง (ตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี (ตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง) กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563              เพื่อทดแทนผู้เกษียณอายุราชการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
 
 
.............
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: