ห้องสมุดไทยเอาไงดี: ยุคแห่ง Big Data กับความเหลื่อมล้ำห้องสมุดไทย

นฤมล กระจ่างดารารัตน์ | TCIJ School รุ่นที่ 6 | 13 ก.ย. 2562 | อ่านแล้ว 13303 ครั้ง

 

ในยุคที่เราเข้าถึงข้อมูลต่างๆได้เพียงแค่ปลายนิ้ว พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตในการค้นหาข้อมูลมีมากถึงร้อยละ 70.8 [1] ช่วยให้เราประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย แต่ขณะเดียวกัน อีกกว่าร้อยละ 29 ยังเลือกที่จะไม่ท่องโลกข้อมูลด้วยระบบออนไลน์ แต่กลับเลือกใช้การอ่านหนังสือหรือไปค้นคว้าที่ห้องสมุดด้วยตนเอง แม้ว่าจำนวนห้องสมุดในประเทศไทย ถูกจัดว่ามีน้อยและด้อยคุณภาพ อีกทั้งยังมีความแตกต่างเหลื่อมล้ำด้วยทรัพยากรสนับสนุน กฎระเบียบ และค่าใช้จ่ายในการเข้าถึง ที่มาภาพ: Singapore-ETH Centre

ดิจิทัลหรืออนาล็อก: การปะทะกันระหว่างโลกใหม่กับโลกเก่า

ทำไมคนบางส่วนเลือกที่จะไม่ใช้การค้นคว้าผ่านระบบดิจิทัล แต่เลือกที่จะใช้บริการห้องสมุดที่เป็นวิธีการแบบเก่า แม้ว่าจำนวนห้องสมุดที่เปิดให้บริการมีอย่างจำกัด และยังต้องใช้เวลาเดินทางไปกับการจราจรอันเลวร้ายติดอันดับโลก ซึ่งสถานที่ตั้งของห้องสมุดขนาดใหญ่ส่วนใหญ่ก็ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีการจราจรติดขัดมากเป็นอันดับต้น ๆของกรุงเทพฯ

แม้ต้องมีค่าใช้จ่ายและเวลาที่มากกว่าการค้นคว้าข้อมูลผ่านทางอินเทอร์เน็ต แต่การได้ค้นคว้าข้อมูลที่อยู่ในลำดับชั้นปฐมภูมิที่มาจากการบันทึกโดยตรงของผู้เกี่ยวข้องในช่วงเวลานั้นๆ ย่อมเป็นเรื่องดีกว่าการใช้หลักฐานจากโลกดิจิทัลที่ส่วนใหญ่เป็นความรู้ขั้นทุติยภูมิ ที่ผู้บันทึกไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือนำข้อมูลแบบปฐมภูมิมาเรียบเรียงใหม่และแก้ไขเป็นสำนวนตัวเอง 

อีกปัจจัยหนึ่งคือ การผลิตหนังสือออกมาให้มีคุณภาพได้  1 เล่มนั้น จะต้องผ่านการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนการตีพิมพ์ หนังสือจึงเป็นหลักฐานรูปธรรมที่จับต้องได้ ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับใครหลายคนที่ให้คุณค่ามากกว่าความรวดเร็วของข้อมูลที่มีในแหล่งค้นคว้าออนไลน์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา อ้างอิง และการทำงาน หรืออื่นๆที่มีรูปแบบเป็นทางการ หรืองานวิชาการ แม้ภาพจำของห้องสมุดจะเป็นพื้นที่ที่ดูไม่ทันสมัย และข้อมูลที่มีอาจจะเป็นข้อมูลชุดเก่าไม่ได้รับการแก้ไข แต่การเป็นพื้นที่ต้นทางที่อุดมไปด้วยข้อมูลชั้นปฐมภูมิจึงเป็นประเด็นหลักที่ทำให้พวกเขาเลือกที่จะใช้ห้องสมุดเป็นหมุดหมายหลักในการค้นคว้ามากกว่าแหล่งความรู้อื่นๆ

อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ห้องสมุดมีคุณภาพที่ทั้งน่าพอใจและไม่น่าพอใจ และทำไมจำนวนห้องสมุดที่มีอยู่ในกรุงเทพมหานคร จึงมีน้อยจนน่าตกใจ ทั้งที่มีประชากรประมาณ 10 ล้านคน และยังมีสมญานามที่อยากบอกแก่ชาวโลกว่าเป็น ‘เมืองหนังสือโลก’  แต่ทุกอย่างกลับดูสวนทางกว่าที่ควรจะเป็นอย่างน่าประหลาด

นอกจากคุณภาพและปริมาณห้องสมุดที่มีอยู่น้อยแล้ว ประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่างของแต่ละห้องสมุดอีกด้วย เพื่อที่จะเปรียบเทียบให้เห็นภาพได้ชัดขึ้น จึงขอหยิบยกห้องสมุดในพื้นที่กรุงเทพมหานครมา 4 แห่งคือ 1. หอสมุดแห่งชาติ 2.หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร 3.หอสมุดกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานวิทยทรัพยากร)  4.ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์  ซึ่ง 3 แห่งแรกเป็นห้องสมุดที่อยู่ในสังกัดภาครัฐ และสุดท้ายเป็นห้องสมุดของภาคเอกชน

หอสมุดแห่งชาติ: ในวันที่คนวัยเกษียณต้องการพื้นที่พักผ่อน

ผู้มาใช้บริการหอสมุดแห่งชาติในโซนนิตยสารสิ่งพิมพ์

หอสมุดแห่งชาติที่ตั้งอยู่ตรงย่านเทเวศร์ อาจจะเป็นห้องสมุดอันดับต้นๆ ที่ใครหลายคนนึกถึงเพราะเป็นหอสมุดแห่งแรกของประเทศไทย และก่อตั้งมายาวนานถึง 114 ปี (ก่อตั้ง พ.ศ.2448) ปัจจุบันอยู่ในสังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ความเก่าแก่ของหอสมุดแห่งนี้จึงเป็นแหล่งรวบรวมหนังสือเก่าและเอกสารชั้นต้นจำนวนมาก เราจะพบนักศึกษา นักวิจัย และนักวิชาการมาใช้บริการพื้นที่แห่งนี้ ค้นคว้าเอกสารโบราณ ไมโครฟิล์ม หนังสืองานศพ เอกสารบันทึกประวัติศาสตร์สำคัญต่างๆซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นข้อมูลขั้นปฐมภูมิ นอกจากนี้หอสมุดแห่งชาติยังมีพื้นที่สำหรับให้บริการสิ่งพิมพ์ประเภทข่าวสาร หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และมีห้องสำหรับฉายภาพยนตร์ที่น่าสนใจอีกด้วย  ทำให้นอกจากผู้ต้องการมาค้นคว้าข้อมูลแล้ว ยังมีกลุ่มคนที่มีเวลาว่างและต้องการพักผ่อนมาใช้พื้นที่นี้อีกด้วย

ผู้ใช้บริการในโซนห้องบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ส่วนใหญ่แล้วเป็นกลุ่มคนวัยเกษียณ และกลุ่มคนวัยทำงานซึ่งมีเวลาว่างจากการประกอบอาชีพ ทั้งสองกลุ่มล้วนพูดถึงข้อดีของหอสมุดแห่งชาติว่ามีสิ่งพิมพ์ให้เลือกอ่านจำนวนมาก ในหนึ่งวันพวกเขาสามารถอ่านหนังสือพิมพ์เป็นจำนวนมาก หรือหากต้องการเปลี่ยนบรรยากาศก็เลือกที่จะไปดูภาพยนตร์ที่เปิดให้บริการได้ 

การเดินทางมาใช้บริการที่ห้องสมุดแห่งนี้ ทั้งสองกลุ่มตอบเหมือนกันว่าที่เลือกมาที่นี่เพราะเดินทางสะดวก สามารถมาได้โดยรถประจำทางเพียงทอดเดียว และเนื่องจากเป็นห้องสมุดของรัฐ จึงไม่ต้องเสียค่าใช้บริการ น่าสังเกตว่า ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นคนวัยเกษียณ หรือคนวัยทำงานที่ไม่ได้มีรายได้มากนัก เลือกที่จะมาใช้บริการที่นี่ เพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ถือว่าเป็นข้อดีที่หอสมุดแห่งชาติเป็นสมบัติสาธารณะที่เปิดให้คนทุกกลุ่มทุกฐานะเข้าถึงได้ ควรที่จะมีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนความพร้อมและบริการที่มีคุณภาพมากกว่าเดิม  การจัดสรรงบประมาณสำหรับหอสมุดแห่งชาติมาจากกระทรวงวัฒนธรรมซึ่งได้รับงบประมาณในปี 2562 จำนวน 8,115,315,100 บาท ผ่านกรมศิลปากรจำนวน  3,070,147,500 บาท[2] และหอสมุดแห่งชาติได้รับเพียง 16,198,383.53 บาท[3] (คำนวณจากงบดำเนินงานและงบการจัดซื้อทรัพยากรสารสนเทศของหอสมุดแห่งชาติ เดิมหอสมุดแห่งชาติอยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ออกมา ทำให้หอสมุดฯ ย้ายมาอยู่ในกระทรวงวัฒนธรรม การโยกย้ายสังกัดของหอสมุดแห่งชาติ ทำให้ภาพลักษณ์ของหอสมุดแห่งชาติเปลี่ยนแปลงไปจากการเป็นพื้นที่สำหรับความรู้และการศึกษา ได้ถูกขับเน้นเป็นพื้นที่ของการอนุรักษ์และรักษาไปแทน  อีกทั้งประเด็นสำคัญคืองบประมาณที่ได้รับการจัดสรรนั้นย่อมได้รับน้อยลงไปด้วย หากย้อนกลับไปดูงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งในแต่ละปีได้รับการจัดสรรมากกว่า  500,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุดเป็นอันดับ 1  นี่อาจเป็นข้อถกเถียงที่สำคัญในอนาคตได้ หากเราต้องการจัดวางสถานะของหอสมุดแห่งชาติว่ามีไว้เพื่ออะไร และเพื่อใคร และหากต้องการเป็นสถานที่สำหรับเพิ่มพูนปัญญาพัฒนาประชากร ควรจะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเพิ่มเติมกว่าที่เคยได้รับในปัจจุบันหรือไม่

เจ้าหน้าที่ของหอสมุดแห่งชาติท่านหนึ่งเล่าให้ฟังอย่างน่าสนใจ เขามองว่าคุณภาพของห้องสมุดดีหรือไม่นั้น ย่อมสะท้อนออกมาผ่านจำนวนผู้มาใช้บริการ ซึ่งสถิติที่เขามีอยู่นั้นถือว่าน้อย ไม่เท่าที่ตั้งเป้าไว้ เขามองว่าปัญหาคือระบบการค้นหาและจัดเก็บหนังสือซึ่งยังต้องปรับปรุงอยู่พอสมควร  ทุกครั้งที่ผู้ใช้บริการต้องการค้นหาหนังสือสักเล่มหนึ่ง เมื่อค้นหาผ่านระบบสืบค้นของหอสมุดแล้วกลับไม่พบ ต้องไปค้นหาในห้องบริการอื่นๆต่ออีก หนังสือบางเล่มอาจจะต้องตามหาอยู่หลายชั้น กว่าจะพบได้ก็ต้องใช้เวลานาน 

 

ที่มาภาพ แผนพัฒนาหอสมุดแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๖๔

“ห้องสมุดที่นี่เป็นห้องสมุดแรก ๆ ที่หลายคนนึกถึง แต่พอมาถึงแล้วค้นหนังสือที่อยากได้ไม่เจอ ก็คงไม่อยากมาอีก ถ้ามีเงินก็คงซื้อเอง หรือไปหาที่ห้องสมุดอื่น ๆ แทนมากกว่า” เจ้าหน้าที่หอสมุดกล่าว

อีกหนึ่งปัญหานอกเหนือไปจากระบบการค้นหาหนังสือแล้ว การที่มีผู้ใช้บริการไม่มากเท่าที่ควรนั้นเกิดจากการที่หอสมุดแห่งชาติไม่อนุญาตให้ยืมหนังสือ หากผู้ใช้บริการคนไหนต้องการจะใช้หนังสือเล่มไหนอาจทำได้โดยคัดลอกออกไป เช่น ถ่ายรูป หรือทำเป็นสำเนาเอกสาร ซึ่งเจ้าหน้าที่อธิบายว่า เนื่องจากมีระเบียบข้อบังคับหนึ่งของหอสมุดแห่งชาติที่กำหนดไว้ หากจะแก้ไข คงต้องให้ผู้มีอำนาจระดับกระทรวงมีคำสั่งออกมายกเลิกเรื่องระเบียบการยืม-คืนหนังสือ แต่ปัจจุบันยังไม่มีนโยบายเรื่องนี้ออกมา ซึ่งตัวเจ้าหน้าที่ของหอสมุดเองก็ฝันและหวังอยากจะให้เป็น  และเชื่อว่านี่เป็นความคาดหวังของผู้ใช้บริการด้วยเช่นกัน

หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร: co-working space ราคาประหยัดของนักเรียนและคนทำงาน

 

สี่แยกคอกวัว บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นอกจากจะเคยเป็นพื้นที่ในการเรียกร้องประชาธิปไตยที่สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ ยังเป็นที่ตั้งของห้องสมุดแห่งใหม่ที่อยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นห้องสมุดที่เปิดให้ใช้บริการมาไม่นานนัก

หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานครเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2560 พื้นที่ห้องสมุดเป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งกรุงเทพมหานครเป็นผู้เช่าที่เพื่อนำมาใช้เป็นหอสมุด เนื่องจากพื้นที่ของหอสมุดมีไม่มากนัก บวกกับระยะเวลาที่เปิดให้บริการยังไม่นาน ทำให้ทรัพยากรหลักของห้องสมุดยังมีจำนวนไม่มากเท่าที่ควร ประเภทหนังสือที่ให้บริการมีอยู่อย่างจำกัด โดยส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือนวนิยายและหนังสือบันเทิงคดีเสียมากกว่า ส่วนหนังสือที่เป็นวิชาการและสารคดี กลับไม่ค่อยมีให้บริการ หรือที่มีให้บริการก็เป็นหนังสือที่ค่อนข้างเก่าและข้อมูลล้าสมัย

กลุ่มผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนละแวกที่ตั้งของหอสมุด ซึ่งเข้ามานั่งทำการบ้านหรือใช้เวลาว่างในช่วงหลังเลิกเรียน เมื่อสอบถามบรรดานักเรียนถึงสาเหตุที่มาใช้หอสมุดแห่งนี้  ส่วนใหญ่ตอบว่ามาใช้นั่งทำงานหรือรอผู้ปกครอง บ้างมาหาหนังสือมาอ่าน โดยเลือกที่จะอ่านหนังสือนิยายเพื่อพักผ่อนมากกว่า  และเมื่อลองไปสำรวจโซนหนังสือที่ให้บริการ ก็พบว่ามีนวนิยายทั้งของไทยและต่างประเทศให้บริการเป็นจำนวนมากกว่าโซนหนังสือประเภทอื่น ๆ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากทำเลของหอสมุดตั้งอยู่ใกล้กับโรงเรียนสตรีล้วนแห่งหนึ่ง จึงทำให้หนังสือโซนนี้ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ

นอกจากกลุ่มนักเรียนที่มาใช้พื้นที่แห่งนี้แล้ว ยังพบว่ามีบางส่วนใช้สำหรับเป็นที่นั่งทำงาน ซึ่งหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานครมีอินเทอร์เน็ตให้บริการ โดยจะต้องสมัครสมาชิกปีละ 5 บาท สำหรับบุคคลที่อายุไม่เกิน 15 ปี และ 10 บาทสำหรับบุคคลที่อายุเกิน 15 ปี และมีค่าประกันสำหรับการยืมหนังสือที่ 20 และ 40 บาท ตาม ลำดับ

ด้วยสาเหตุที่ค่าสมัครสมาชิกไม่แพงมากนัก ทำให้หอสมุดแห่งนี้นอกจากจะมีไว้สำหรับการอ่านหนังสือแล้ว ยังกลายเป็น co-working space ราคาย่อมเยากว่าการไปใช้บริการร้านกาแฟหรือสถานที่อื่นๆ เป็นอีกหนึ่งทาง เลือกที่ดีของนักเรียน นักศึกษา และกลุ่มคนทำงานฟรีแลนซ์ ที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย และมีรายได้ไม่แน่นอน

ที่น่าสนใจคือ การที่หอสมุดเมืองกรุงเทพฯมีระบบยืม-คืนหนังสือ ผู้ใช้บริการที่เป็นสมาชิกสามารถยืมได้ครั้งละ 2 เล่ม เป็นเวลา 7 วัน นี่คือข้อแตกต่างจากหอสมุดแห่งชาติที่มีระเบียบบังคับห้ามยืมหนังสือออกนอกห้องสมุด

คุณภาพของหอสมุดเมืองกรุงเทพฯ อาจจะพัฒนาได้มากกว่านี้ แต่ข้อจำกัดด้านพื้นที่ใช้สอย ซึ่งมีพื้นที่ไม่มากนัก ทำให้ไม่สามารถเพิ่มเติมอะไรได้มากกว่านี้ เมื่อติดข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ ผนวกกับกลุ่มผู้ใช้บริการที่ส่วนใหญ่แล้วเน้นที่การใช้สำหรับนั่งทำงานมากกว่า หอสมุดเมืองกรุงเทพฯ จึงอาจพัฒนาให้เป็นรูปแบบ  co-working space ที่มีความพร้อมให้บริการมากกว่านี้ เช่น ข้อจำกัดในการให้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตเพียง 1 ชั่วโมง อาจเพิ่มระยะเวลาให้ใช้ได้นานมากขึ้น มีจุดสำหรับชาร์ตแบตเตอรี่ อุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ การพัฒนาเพื่อรองรับความต้องการเช่นนี้ อาจเป็นจุดแข็งของหอสมุดแห่งนี้ ที่ทำให้ผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์จากพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด แม้จะไม่ใช่ห้องสมุดที่มีหนังสือให้บริการจำนวนมากที่สุด แต่ในอนาคตอาจต้องหาวิธีในการให้บริการในแนวทางของห้องสมุดดิจิทัล เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องพื้นที่ที่มีอย่างจำกัดได้

หอสมุดกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: ขุมทรัพย์ทางปัญญาของแผ่นดิน

 

ที่มาภาพ https://omega.car.chula.ac.th/

อีกหนึ่งห้องสมุดที่น่าสนใจคือ หอสมุดกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือสำนักงานวิทยทรัพยากร เนื่องจากเป็นห้องสมุดของมหาวิทยาลัยที่มีการจัดอันดับว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมมากเป็นอันดับต้นๆของประเทศ

งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยน่าจะมีจำนวนมากพอสมควร แม้จะไม่มีข้อมูลที่เป็นตัวเลขมาใช้เป็นหลักฐานได้ แต่สังเกตจากทรัพยากรที่ให้บริการมีจำนวนมากและคุณภาพดี เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ มีหนังสือใหม่ๆเข้าทุกเดือน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือประเภทสารคดีหรือบันเทิงคดี หรือการให้บริการทรัพยากรอื่นๆที่ไม่ใช่หนังสือเล่มเช่น ระบบหนังสือ e-book ก็มีความพร้อมและมีระบบที่ดีมากกว่าห้องสมุดอื่นๆที่เปิดให้บริการ รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย ครบครัน

คุณภาพและความพร้อมสรรพของห้องสมุดแห่งนี้ก็มีราคาที่ต้องจ่าย หากต้องการเข้ามาใช้บริการจะต้องเสียค่าเข้าใช้บริการห้องสมุดวันละ 20 บาท ถ้าหากต้องการใช้ทรัพยากรของห้องสมุดมากกว่านี้ เช่นการยืม-คืนหนังสือ ผู้ใช้บริการจะต้องเป็นสมัครสมาชิกห้องสมุดแบบรายปี หากเป็นบุคคลทั่วไปจะต้องเสียค่าบำรุงรายปี 1,500 บาท และค่าประกันความเสียหาย 2,500 รวมทั้งสิ้น 4,000 บาท เพื่อแลกกับการเป็นสมาชิกราย 1 ปีและมีสิทธิในการยืมทรัพยากรออกไปจากห้องสมุด

ที่มาภาพ  https://www.tcijthai.com/news/2018/9/scoop/8329  

งบประมาณอุดหนุนการศึกษาที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งได้รับนั้น มีส่วนในการช่วยพัฒนาให้มหาวิทยาลัยมีคุณภาพเช่นกัน ที่มาของเงินอุดหนุนดังกล่าวนั้นได้รับการจัดสรรจากกระทรวงศึกษาธิการ  จึงเท่ากับว่าการ พัฒนาภายในมหาวิทยาลัยที่นอกจากการเรียกเก็บค่าบำรุงการศึกษาแล้ว ยังมีงบประมาณอุดหนุนที่มาจากผู้เสียภาษีด้วย จากตารางจะเห็นได้ว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับงบประมาณอุดหนุนมากเป็นอันดับที่ 5 จำนวน 5,556.22 ล้านบาท เราจะบอกได้หรือไม่ว่ามหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่สาธารณะ และมีหน้าที่ให้ความรู้กับคนในสังคม หากเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่จะต้องมอบความรู้ให้แก่ผู้คนในสังคม คำถามคือเราจะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ที่มหาวิทยาลัยมีอยู่ได้อย่างไร มหาวิทยาลัยมีนโยบายหรือสิ่งใดที่จะช่วยสนับสนุนให้ทุกคนสามารถใช้บริการในแหล่งค้นคว้าเช่นห้องสมุดของมหาวิทยาลัยได้โดยมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด

ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์: ห้องสมุดที่มาจากประชาชนและอยู่ได้ด้วยประชาชน

 

ห้องสมุดแห่งนี้มีความต่างจากห้องสมุดข้างต้นทั้งหมด เนื่องจากเราสามารถตีความได้ว่านี่เป็นห้องสมุดที่มาจากประชาชนโดยตรง เพราะที่มาของห้องสมุดแห่งนี้ไม่ได้มาจากนโยบายของภาครัฐแต่อย่างใด จุดเริ่มต้นของห้องสมุดเกิดจากชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย และจัดตั้ง ‘สมาคมห้องสมุดสตรีกรุงเทพฯ’ ขึ้น ภายหลังการเสียชีวิตของ เจนนี่ เนียลสัน (Jennie Neilson) ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มในการก่อตั้งสมาคมขึ้นมา ทำให้สามีของเธอคือ โทมัส เฮย์วอร์ด เฮส์ (Thomas Heyward Hays) ซื้อที่ดินบริเวณสุรวงศ์และสร้างเป็นห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ ขึ้น

เนื่องจากทรัพยากรในห้องสมุดที่มีให้บริการทั้งหมดล้วนเป็นภาษาอังกฤษ จึงทำให้ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช่ชาวต่างชาติแล้วก็ต้องเป็นคนที่ใช้ภาษาอังกฤษได้เชี่ยวชาญ นอกจากข้อจำกัดที่เกี่ยวกับเนื้อหาของหนังสือที่ให้บริการแล้ว ข้อจำกัดเรื่องค่าใช้บริการ หากเข้าใช้บริการห้องสมุดจะต้องจ่าย 100 บาท ซึ่งถือว่าเป็นการระดมทุนของห้องสมุด แต่หากต้องการยืมหนังสือและเป็นสมาชิก จะต้องเสียค่าสมัครสมาชิกรายปี ปีละ 2,500 บาท

แม้ว่าจะมีการเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้เข้าใช้บริการเหมือนกันระหว่างห้องสมุดมหาวิทยาลัยกับห้องสมุดเนียลสัน เฮส์แห่งนี้ แต่การเก็บค่าเข้าใช้บริการของห้องสมุดแห่งนี้เป็นเรื่องที่อธิบายได้ว่าทำไมถึงต้องเรียกว่าเป็นการ ‘ระดมทุน’

สาเหตุหลักคือห้องสมุดเนียลสัน เฮส์นี้เป็นห้องสมุดเอกชน การเรียกเก็บเงินค่าใช้บริการนั้น เนื่องจากเป็นองค์กรที่ไม่ได้อยู่ในการควบคุมของภาครัฐ ซึ่งไม่ได้รับการสนับสนุนในเรื่องงบประมาณ จะต้องบริหารและหารายได้มาขับเคลื่อนองค์กรด้วยตัวเอง ซึ่งถือเป็นความท้าทายอีกประการหนึ่ง เนื่องจากพื้นที่ห้องสมุดนั้นไม่ได้มีวัตถุประสงค์ตั้งขึ้นมาเพื่อมุ่งหวังผลประกอบการที่เป็นตัวเงิน แต่มุ่งเน้นที่สร้างให้เป็นพื้นที่สำหรับค้นคว้าและแลกเปลี่ยนความรู้กันมากกว่า นี่จึงเป็นโจทย์หลักของห้องสมุดที่ไม่แสวงผลกำไรแห่งนี้ ว่าจะอยู่ต่อไปได้อย่างไรในยุคที่ห้องสมุดไม่ได้เป็นที่นิยมเหมือนเมื่อก่อน

บรรณารักษ์หญิงประจำห้องสมุดให้สัมภาษณ์ว่า ที่มาของรายได้ที่เป็นงบประมาณขับเคลื่อนห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ มาจากค่าเช่าที่ทำร้านกาแฟข้างห้องสมุด และค่าเช่าใช้พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ การเก็บเงินค่าสมาชิกรายปีของห้องสมุด เงินระดมทุนจากการใช้บริการของผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ความที่เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร จึงทำให้มีคนสนใจและเข้ามาบริจาคเพื่อสนับสนุนห้องสมุดอยู่เสมอ

บรรณารักษ์ของห้องสมุดได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับผู้มาใช้ห้องสมุดว่า แม้ห้องสมุดแห่งนี้จะมีแต่หนังสือภาษาอังกฤษ แต่ผู้ใช้บริการไม่ได้มีจำนวนน้อยแบบที่คิดไว้ กลุ่มผู้ใช้บริการที่เป็นชาวต่างชาติเมื่อมาใช้บริการมักจะยืมหนังสือครบจำนวนโควตาที่สามารถยืมได้ และประเภทหนังสือที่อ่านมักหลากหลาย ส่วนผู้ใช้บริการฝั่งคนไทยส่วนใหญ่มักเป็นครอบครัว และมีเด็กมาใช้บริการด้วย ซึ่งห้องสมุดได้ให้ความสำคัญกับโซนหนังสือเด็กพอกับหนังสือโซนอื่น ๆ และมีกิจกรรมที่ทำให้เด็กมีส่วนร่วมหลายอย่างเช่นกัน พ่อแม่ส่วนใหญ่ที่พาลูกมาที่นี่มักต้องการให้ลูกฝึกใช้ภาษาอังกฤษอย่างคล่องแคล่ว

“ส่วนใหญ่เด็กๆก็มาจากโรงเรียนนานาชาติ หรือโรงเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษ เขาก็อ่านหนังสือภาษาอังกฤษที่มีในโซนหนังสือเด็กได้ไม่ยาก” บรรณารักษ์ห้องสมุดกล่าว

 

ไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจนักหากดูจากทำเลที่ตั้งของห้องสมุดที่อยู่ใจกลางเมือง ซึ่งเป็นย่านธุรกิจที่เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ การมีทักษะทางด้านภาษา ย่อมเป็นโอกาสที่ดีในการแสวงหาความรู้ ทำให้เข้าถึงหนังสือที่เป็นองค์ความรู้จากต่างประเทศได้ก่อนโดยไม่ต้องรอให้มีการแปล และเมื่อรู้ก่อนย่อมทำให้มีโอกาสได้รับประโยชน์มากกว่าคนอื่นๆที่มีความพร้อมน้อยกว่าทั้งในเรื่องต้นทุนทางการเงินและต้นทุนทางเวลา

โลกเก่าราคาแพง: ความรู้แบบอนาล็อกยังจำเป็นต่อสังคม

เราอาจจะเห็นถึงความแตกต่างของกลุ่มผู้ใช้บริการในห้องสมุดแต่ละแห่งโดยเชื่อมโยงผ่านความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจขนานคู่กันไปได้ ความแพงของห้องสมุดแต่ละแห่งที่แต่ละคนต้องจ่ายนั้นไม่เท่ากัน เมื่อราคาที่ต้องจ่ายไม่เท่ากัน โอกาสในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลในแต่ละแห่งจึงต่างกันด้วย ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อมูลชั้นปฐมภูมิแบบอนาล็อกที่ยังคงมีในห้องสมุด เป็นสิ่งจำเป็นต้องใช้และหลีกเลี่ยงไม่ได้  แต่ขณะเดียวกันโลกดิจิทัลที่ง่ายต่อการเข้าถึงก็ยังขาดแคลนเรื่องความน่าเชื่อถือในแหล่งที่มาและความถูกต้อง

จะเป็นการดีหรือไม่ หากนำข้อมูลชั้นปฐมภูมิมาอยู่บนโลกดิจิทัล การได้อ่านเอกสารเก่าเก็บเมื่อร้อยปีก่อนผ่านโลกดิจิทัลคงเป็นเรื่องที่ใครหลายคนฝันเอาไว้ การประสานกันระหว่างโลกดิจิทัลและอนาล็อกในทุกวันนี้เริ่มเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น การสร้างหอจดหมายเหตุออนไลน์ (Archives) ทำหน้าที่รวบรวมเอกสารทางประวัติศาสตร์โดยที่ทุกคนสามารถอ่านเปิดอ่านได้จากทุกที่และทุกเวลา

ห้องสมุดดิจิทัล จะเชื่อมโลกเก่ากับโลกใหม่เอาไว้ด้วยกันได้หรือไม่  เราจะยังต้องเดินทางฝ่ารถติดไปใช้บริการห้องสมุดแบบเดิมรึเปล่า?  เรายังต้องจ่ายค่าสมาชิกห้องสมุดแบบแพงๆอีกไหม? ทิศทางของห้องสมุดไทยจะเป็นรูปแบบไหนในอนาคต ? คำตอบคงไม่ได้มาจากฟากรัฐเพียงฝ่ายเดียว หากแต่มาจากฟากฝั่งของผู้รักการแสวงหาความรู้ด้วยเช่นกัน

                 


                 

[1] รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยไทย ปี 2561 สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ https://www.etda.or.th/publishing-detail/thailand-internet-user-profile-2018.html

[2] เอกสารงบประมาณ ฉบับที่ ๓ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๒ เล่มที่ ๙

[3] แผนพัฒนาหอสมุดแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๖๔

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: