เรารักการอ่าน: ย้อนดู 'นโยบายส่งเสริมการอ่าน' รัฐบาล 'ทักษิณ-อภิสิทธิ์-คสช.'

ไอโกะ ฮามาซากิ 30 มิ.ย. 2562 | อ่านแล้ว 8118 ครั้ง

คนไทยใช้เวลา 'อ่านหนังสือนอกเวลาเรียน/นอกเวลาทำงาน' เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 35 นาทีต่อวัน ในปี 2554 เพิ่มเป็น 80 นาทีต่อวัน ในปี 2560 ย้อนดูนโยบายรัฐกับการส่งเสริมการอ่าน ‘ทักษิณ-อภิสิทธิ์-คสช.’ รัฐบาลทักษิณตั้งเป้าหมาย ‘รณรงค์ให้ประชาชนทุกคนอ่านหนังสือวันละ 10-15 นาที’ รัฐบาลอภิสิทธิ์ ‘กำหนดให้วันที่ 2 เม.ย. เป็นวันรักการอ่าน-มีแนวคิดนำหนังสือที่ไม่มีลิขสิทธิ์แล้วมาจัดพิมพ์และพิมพ์หนังสือสำหรับเด็กและเยาวชนเผยแพร่ให้มากยิ่งขึ้น’ รัฐบาล คสช. 'ผ่านแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย สร้างพฤติกรรมรักการอ่านให้กับคนทุกช่วงวัย' ที่มาภาพประกอบ: sasint (Pixabay License)

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ‘การอ่าน’ มักเป็นประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจ เพราะการอ่านเปรียบเสมือนเป็นรากฐานของความรู้ที่จะใช้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งความรู้ที่จะพัฒนาศักยภาพและงอกเงยเป็นความรู้ที่จะนำไปพัฒนาประเทศชาติ นอกจากนี้การอ่านยังสร้างเสริมลักษณะนิสัยที่ดีในอีกหลายประการ ช่วยให้เป็นคนที่สนใจในการสืบค้น ช่วยให้เป็นคนที่มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้ในระยะเวลาที่ยาวนาน อีกทั้งการอ่านยังให้ประสบการณ์ ขยายวิสัยทัศน์ที่แตกต่างและกว้างไกลไปจากตัวเราให้กับตัวผู้อ่าน

นอกจากนี้การอ่านมักจะถูกนำมาเชื่อมโยงกับการพัฒนา ‘เยาวชน’ โดยมีคำกล่าวให้ได้ยินจนติดหูอยู่เป็นประจำว่า “เด็ก คือ อนาคตของชาติ” ผู้คนในประเทศจึงมักฝากและหวังจะปลูกเมล็ดพันธ์ที่ดีลงไปให้กับเด็กเยาวชน เพื่องอกเงยเป็นผลอันดีแก่ประเทศชาติ การอ่านจึงกลายเป็นเรื่องที่ถูกใส่ใจมากเป็นพิเศษในกลุ่มเยาวชน

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศให้เป็นปีหนังสือสากล เนื่องด้วยเห็นถึงความสำคัญของหนังสือและการอ่าน ที่เป็นเครื่องมือช่วยให้สอดประสานสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศต่างๆ อีกทั้งยังช่วยให้มนุษย์เจริญงอกงาม ประเทศไทยซึ่งเข้าร่วมองค์การยูเนสโกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2492 จึงเข้าร่วมวาระแห่งการอ่าน ดำเนินงานจัดโครงการสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ และโครงการประกวดหนังสือดีเด่น ซึ่งมีสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบและดำเนินงานโครงการประกวดหนังสือแห่งชาติ ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 ‘คณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ’ ซึ่งถูกแต่งตั้งโดย กระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้รับผิดชอบและดำเนินงานจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2546 ก่อนได้รับการปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานภายใน ในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จึงเป็นผู้รับผิดชอบและดำเนินโครงการประกวดหนังสือดีเด่น

สถิติการอ่านของคนไทย

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในทุกๆ ปี ในทุกๆ วาระ ในทุกๆ แผนการพัฒนาชาติ พัฒนาประเทศไทย การอ่านยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญ และยังคงเป็นเรื่องที่ถูกใส่ใจ ด้วยเห็นว่าเป็นพื้นฐานในหลายๆ เรื่อง เป็นดั่งเมล็ดพันธุ์อันดีที่จะงอกเงยให้เก็บเกี่ยวผลอันงอกงาม แต่ถึงกระนั้น การอ่านก็เหมือนจะไปไม่ถึงฝัน ดั่งที่คนในชาติตั้งเป้าหมายไว้ ด้วยศักยภาพของบุคลากรในประเทศ ยังคงไม่สามารถพัฒนาจนนำพาประเทศไปถึงฝั่งฝัน หรือเทียมเท่านานาอารยประเทศได้

“คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด” ดูจะเป็นคำกล่าวที่คนไทยทุกคนได้ยินจนคุ้นหู คุ้นตา บ้างเคยเป็นผู้พูดกล่าวเอง บ้างเคยเป็นผู้รับฟังประโยคข้างต้น แต่จากการสืบค้น ยังคงไม่มีสถิติการสำรวจหรืองานวิจัย หลักฐานการยืนยันว่าคำกล่าวข้างต้นเป็นจริง มีเพียงข้อมูลอันเล่าลือจากอินเตอร์เน็ต ทั้งนี้ประโยคคำกล่าวข้างต้นอาจเป็นเพียงวาทกรรมมายาคติต่อพฤติกรรมการอ่านของคนไทย

จากข้อมูลการอ่านหนังสือของประชากร ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2554 พบว่าผู้อ่านหนังสือที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปทั้งหมด ใช้เวลาอ่านหนังสือนอกเวลาเรียน/นอกเวลาทำงานเฉลี่ย 35 นาทีต่อวัน [1] ปี พ.ศ. 2556 ผู้อ่านหนังสือที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปทั้งหมดใช้เวลาอ่านหนังสือนอกเวลาเรียน/นอกเวลาทำงานเฉลี่ย 37 นาทีต่อวัน โดยกลุ่มเด็กและเยาวชนใช้เวลาอ่านหนังสือเฉลี่ย 46-50 นาทีต่อวัน [2] ปี พ.ศ. 2558 ผู้อ่านหนังสือที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปทั้งหมดใช้เวลาอ่านหนังสือนอกเวลาเรียน/นอกเวลาทำงานเฉลี่ย 66 นาทีต่อวัน โดยกลุ่มเยาวชนใช้เวลาอ่านมากที่สุดเฉลี่ย 94 นาทีต่อวัน [3] ปี พ.ศ. 2561 ผู้อ่านที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปทั้งหมดใช้เวลาอ่านนอกเวลาเรียน/นอกเวลาทำงานเฉลี่ย 80 นาทีต่อวัน โดยกลุ่มเยาวชนใช้เวลาอ่านมากที่สุดเฉลี่ย 109 นาทีต่อวัน [4]

แม้ผลสำรวจการอ่านจะมีตัวเลขสถิติที่ค่อนข้างสูง แต่ก็ยังมีข้อวิจารณ์ที่ว่า ‘คนไทยยังอ่านกันไม่มากพอ’ อาจเนื่องด้วยข่าวการปิดตัวลงของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ และอาจเนื่องด้วยความเป็นอยู่ของประเทศชาติ ที่ยังไม่งอกเงยผลอันงดงามจากการอ่าน จึงทำให้หลายๆ ภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ยังคงรู้สึกว่าแผนพัฒนาการอ่านของประเทศชาติยังไม่สัมฤทธิ์ผล ต้องมีการกระตุ้นพฤติกรรมการอ่านมากกว่านี้

นโยบายรัฐกับการส่งเสริมการอ่าน ยุค ‘ทักษิณ-อภิสิทธิ์-คสช.’

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น พร้อมทั้งคณะรัฐมนตรีคณะที่ 54 ได้ประกาศถึงการปฏิรูปการศึกษาพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งความรู้ เพื่อพาประเทศไทยให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ต่างๆ โดยเน้นในเรื่องของการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และการส่งเสริมการอ่าน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 ได้มีการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ให้จัดตั้ง ‘องค์กรเพื่อส่งเสริมการอ่าน การเรียนรู้ และเผยแพร่งานวิชาการ’ โดยมีวัตถุประสงค์ให้เยาวชนและประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ในวงกว้าง ที่มีวิทยาการใหม่ๆ การคิดค้นพัฒนา และเผยแพร่นำเสนอข้อมูลเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะจัดตั้งองค์กรมหาชนที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงงานด้านการวิจัย และหน่วยงานห้องสมุดทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนเข้าด้วยกัน โดยภารกิจหน้าที่ขององค์กรมหาชนนี้ จะรวมไปถึงการจัดทำหนังสือประเภทต่างๆ ทั้งหนังสือที่เป็นรูปเล่มและหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-book) ไปจนกระทั่ง การรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนและเยาวชนมีนิสัยรักการอ่าน โดยจะจัดมุมหนังสือไว้ตามสถานที่ต่างๆ มีกิจกรรมที่สำคัญคือ รณรงค์ให้ประชาชนทุกคนอ่านหนังสือวันละ 10-15 นาที ‘วางทุกงาน อ่านทุกคน’ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในที่ประชุม [5]

วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 ‘สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์กรมหาชน)’ (สบร.) หรือที่รู้จักกันในชื่อของ OKMD (Office of Knowledge Management and Development) ได้ถูกจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง ภายใต้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งในอดีตนั้นมีหน่วยที่สังกัดอยู่ภายใต้ OKMD อยู่ 7 แห่ง คือ 1.สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) 2.ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ศสบ.), 3.สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.), 4.สถาบันวิทยาการการเรียนรู้ (สวร.), 5.ศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษแห่งชาติ (สมพช.), 6.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (ศลชท.), และ 7.ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม)

มหากาพย์ ‘สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้’ (OKMD)

ระหว่างปี พ.ศ. 2550 - 2554 หน่วยที่สังกัดอยู่ภายใต้ OKMD ได้ทำการควบรวมหน่วยงานเฉพาะด้าน เปลี่ยนชื่อเรียก ปรับโครงสร้าง ยกเลิกหน่วยงานที่สังกัดภายใต้ OKMD และแยกตัวออกเป็นองค์กรมหาชนที่อยู่ภายใต้สังกัดใหม่ จึงเหลืออยู่เพียง 3 หน่วยงานภายใต้สังกัด OKMD คือ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) หรือ TK park, สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) หรือ NDMI และ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ศสบ.) หรือ TCDC

ปี พ.ศ. 2561 ‘TCDC : Thailand Creative & Design Center’ หรือ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ศสบ.)” ที่ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2547 และเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 ซึ่งจัดพิธีขึ้นในศูนย์การค้าเอ็มโพเรียม ชั้น 6 และเปิดให้บริการแก่ประชาชนในวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2547  ได้แยกตัวออกมาเป็นสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์กรมหาชน) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ในปัจจุบันหน่วยงานที่สังกัดอยู่ภายใต้การดูแลของ OKMD จึงเหลืออยู่เพียง 2 แห่ง 1. “TK park : Thailand Knowledge Park หรือ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.)” ก่อตั้งขึ้นในวันที่ ในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2547 อย่างเป็นทางการ ตามประกาศคณะกรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ ที่ 4/2547 เรื่อง การจัดตั้งและการจัดการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ซึ่งเป็นหน่วยงานเฉพาะด้านภายใน [6] และ 2. NDMI : National Discovery Museum Institute หรือ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2551

โดยวัตถุประสงค์ตั้งต้นขององค์กร OKDM นั้น จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ และกระจายโอกาสในการเรียนรู้ให้กับเยาวชน ประชาชนคนทั่วไป “โดยมีภารกิจหลักด้านการรณรงค์ส่งเสริมให้เยาวชน และประชาชนมีอุปนิสัยรักการอ่าน และการเรียนรู้ เพื่อสร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ในที่สุด” [7]

 

วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2548 นายทักษิณ ชินวัตร ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่า “รัฐบาลจะส่งเสริมนิสัยรักการอ่านหนังสืออย่างจริงจัง ตั้งแต่เด็กจนตลอดชีวิต เพื่อรองรับรับสังคมเศรษฐกิจบนฐานความรู้” และจะเร่งสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อเฟื้อเหมาะสมต่อการเรียนรู้ ทั้งการเรียนศึกษาในระบบและนอกระบบ อีกทั้งรัฐบาลจะร่วมมือกับทุกฝ่าย เพื่อสร้างแหล่งการเรียนรู้ที่ให้บริการประชาชนในทั่วทุกภูมิภาค 

28 สิงหาคม พ.ศ. 2549 นายทักษิณ ชินวัตร ได้ประชุมร่วมกับคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ณ ห้องประชุมกระทรวงศึกษาธิการ โดยอดีตนายกรัฐมนตรีได้เสนอแนะนโยบายในการจัดการศึกษา เน้นเรื่องสำคัญ คือ ‘สร้างเด็กที่รักการอ่าน’ ใฝ่รู้ใฝ่เรียน รักการเรียนรู้ตลอดชีวิต และให้มีการสนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อ Laptop สำหรับเด็กประถม 1 เพื่อโอกาสการเข้าถึงการเรียนรู้อย่างทัดเทียม โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็นเครื่องมือ และสนับสนุนให้ใช้งบประมาณเพื่อการพัฒนาห้องเรียน การพัฒนาเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ส่วนการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยนั้น ควรเปิดโอกาสให้อิสระในการย้ายคณะ เมื่อค้นพบความสามารถในสาขาที่ตนถนัด และควรให้มีการทำงานวิจัยข้ามมหาวิทยาลัย เพื่อการทำงานร่วมกันขององค์ความรู้ ให้เกิดสิ่งใหม่ๆ [8]

ข้ามมาในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงศึกษาธิการ คือ • กำหนดให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ, • กำหนดให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปี เป็นวันรักการอ่าน, • กำหนดให้ปี พ.ศ. 2552-2561 เป็นทศวรรษแห่งการอ่าน, • กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นกลไกขับเคลื่อนการส่งเสริมการอ่านให้เกิดเป็นรูปธรรม และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งและปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการส่งเสริมการอ่าน เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมทั้งปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าวได้ตามความเหมาะสม และให้ดำเนินการต่อไปได้ [9]

วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553 คณะรัฐมนตรีรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีมติให้กระทรวงศึกษาธิการรับความเห็นของคณะรัฐมนตรีที่เห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการสมควรพิจารณานำหนังสือที่ไม่มีลิขสิทธิ์แล้วมาจัดพิมพ์ เนื่องจากต้นทุนการผลิตจะไม่สูง รวมทั้งจัดพิมพ์หนังสือสำหรับเด็กและเยาวชนเผยแพร่ให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการอ่านอีกทางหนึ่ง ไปพิจารณาดำเนินการด้วย [10]

และในยุคของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ. 2560 – 2564 ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมนำเสนอ ในการส่งเสริม กระตุ้นการอ่านของประชากรไทย ผ่าน 4 ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วย สร้างพฤติกรรมรักการอ่านให้กับคนทุกช่วงวัย ให้การอ่านเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่ายในทุกภูมิภาคของประเทศไทย พัฒนาคุณภาพ ยกระดับแหล่งการเรียนรู้ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อเฟื้อต่อวัฒนธรรมการอ่าน โดยมีระยะเวลาดำเนินแผนวัฒนธรรมการอ่านภายใน 5 ปี [11]

‘การอ่าน’ ที่เริ่มจาก ‘สมุดบันทึก’ ตัวอย่างของ ‘เด็กหญิงตินติน’

‘เด็กหญิงตินติน’ หรือ ดญ.ติณณา แดนเขตต์ นักเขียนเยาวชนที่ได้รับการตีพิมพ์แล้ว 2 เล่ม (ได้รับรางวัลทั้ง 2 เล่ม ว่าด้วยหนังสือดีเด่น 1 เล่ม รางวัลชมเชยหนังสือดีเด่นอีก 1 เล่ม) วาดภาพประกอบหนังสือ 1 เล่ม และปัจจุบันกำลังตีพิมพ์อีก 1 เล่ม ในวัย 9 ขวบ

ในห้องสอบวิชาบรรณาธิการศึกษา เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 ณ อาคารมหาจักรีสิรินธร ชั้น 4 ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ‘กรุณา ตริยานนท์’ ได้นำเสนอหัวข้อ ความงอกงามด้าน 'การอ่าน' ที่เกิดจาก 'การเขียน' ที่อธิบายถึงวิธีการของการปลูกฝังให้เยาวชนมีพฤติกรรมการอ่านหนังสืออย่างเป็นธรรมชาติ

กรุณา ซึ่งเป็นแม่ของ ‘เด็กหญิงตินติน’ หรือ ดญ.ติณณา แดนเขตต์ นักเขียนเยาวชนที่เคยได้รับรางวัลหนังสือดีเด่น ได้เล่าประสบการณ์ ที่ได้เฝ้าสังเกตชีวิตประจำวันของลูกในวัย 5 ขวบ และเห็นว่าเด็กหญิงคนนี้มีความสุขกับอะไรเล็กๆ น้อยๆ รอบๆ ตัว เธอได้เห็นลูกของเธอที่นั่งอยู่กับพื้น แล้วคลานมดที่เดินเป็นแถว แล้วก็หัวเราะอย่างร่าเริง สิ่งที่เธอเห็นทำให้เธอเกิดภาพสะท้อนและคิดถึงตัวเองในวัยเด็ก เธอจึงเกิดคำถามกับตัวเองว่า “จะทำอย่างไร จึงจะทำให้ธรรมชาติในวัยเด็กนี้อยู่กับ ดญ.ติณณา แดนเขตต์ จะเก็บสิ่งเหล่านี้ไว้อย่างไร”

กรุณาจึงเริ่มจากการชักชวนลูกให้เขียนบันทึก ซึ่ง ณ ขณะนั้น เด็กหญิงตินตินยังพูดไม่เป็นคำ พูดไม่ชัด ยังเขียนหนังสือไม่ได้ ไม่รู้จักตัวอักษร และไม่รู้ว่าบันทึกคืออะไร เธอจึงเริ่มจากการถามลูกว่า “วันนี้เจออะไร” แล้วให้ลูกพูดออกมาเป็นคำ จากนั้นเธอก็เป็นคนจดสิ่งที่ลูกพูดลงไปบนกระดาษ “วันนี้หนูดีใจที่ได้กินไอติม วันอื่นไม่ได้กิน” เธอจดสิ่งที่ลูกของเธอพูดลงในสมุดบันทึกทุกวันอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อเด็กหญิงตินตินอายุได้ 6 ขวบ เธอได้พูดว่า “วันนี้หนูได้เห็นพระจันทร์ที่กลมอยู่ในท้องฟ้า” ทำให้เธอรู้สึกว่า สิ่งที่ลูกของเธอเห็นนั้นกว้างกว่าที่เธอคิด ขณะเดียวกัน เพื่อนของเธอได้ชักชวนให้เธอเข้าร่วมโครงการ ‘วิธีสมุดบันทึก’ ของ ‘มกุฏ อรฤดี’ นักเขียนในนามปากกา ‘นิพพานฯ’ และ ‘วาวแพร’ บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ที่ได้เคยประกาศไว้ว่า

"ประกาศมายังเด็กอายุ 5-7 ขวบ และ 8-11 ขวบ เพศใดก็ตาม พำนักอาศัยอยู่ ณ ที่แห่งใดก็ตามในประเทศไทย อยากเขียนบันทึกประจำวัน และประสงค์จะได้สมุดบันทึกจากผม ขอให้เขียนจดหมายด้วยลายมือถึงผม ส่งทางไปรษณีย์ ไปที่ 5/4 ถนนสุขุมวิท ซอย 24 กรุงเทพฯ 10110 ผู้ใหญ่ที่รู้ข่าวนี้ กรุณาแจ้งแก่เด็กๆ ของท่าน สมุดบันทึกไม่จำกัดจำนวน มีเงื่อนไขประการเดียว คือ เมื่อได้รับสมุดแล้ว ต้องเขียนบันทึก"

โดยการ 'มอบสมุดให้เด็กเขียนบันทึกแต่เยาว์วัย' ในครั้งนั้น มกุฏระบุว่าได้เตรียมสมุดบันทึกไว้ 1,000 เล่ม และไม่จำกัดจำนวน จะมากถึง 10,000 หรือ 100,000 หรือมากจนถึง 1,000,000 เล่ม ก็จะพยายามหามาให้ได้

เมื่อได้รับรู้ข่าวโครงการนี้ กรุณาก็เกิดความสนใจ และได้สอบถามความต้องการของลูกสาว เด็กหญิงตอบตกลงยินดีที่จะเข้าร่วมโครงการวิธีสมุดบันทึก ขณะที่เขียนจดหมาย เด็กหญิงก็เกิดคำถามว่า “จดหมายคืออะไร” “ไปรษณีย์คืออะไร” แม่ของเธอก็อธิบายและพาไปรู้จักทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอเกิดคำถาม

เมื่อเริ่มลงมือเขียนจดหมาย เด็กหญิงก็นั่งอยู่หน้ากระดาษตั้งแต่เช้ายันค่ำ ด้วยไม่รู้ว่า จะเขียนสิ่งใดลงไป แต่ในที่สุดเธอก็ทำจนสำเร็จ เธอบอกกับแม่ว่า “หนูจะเขียนคำว่า สวัสดีค่ะ สะ – หวัด - ดี เขียนยังไงคะ” แม่ของเธอก็เริ่มเอ่ยตัวอักษร เอ่ยตัวสะกดให้เธอฟัง และเธอก็เริ่มลงมือเขียน

กรุณาเล่าต่อไปว่าในคราแรกเมื่อเด็กหญิงได้รับสมุดบันทึก เด็กหญิงวาดรูปเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อเธอวาดรูป เธอจะถามแม่ของเธอว่า “หนูวาดรูปแบบนี้ หนูจะบอกว่าไปให้อาหารปลา หนูต้องเขียนอย่างไรว่า ไปให้อาหารปลา” แม่ของเธอก็จะค่อยๆ สะกดคำให้เธอ และเธอก็เขียนตามที่แม่บอก จนวันหนึ่ง เด็กหญิงได้พบกับมกุฏ อรฤดี เด็กหญิงยื่นภาพรูปวาดให้มกุฏดู เป็นภาพที่มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง และมีสีสันเป็นหย่อมๆ และมีจุดดำๆ แทรกอยู่ มกุฏจึงสอบถามกับเด็กหญิงว่า “ตรงนี้คืออะไร ตรงจุดหย่อมๆ สีดำ สีฟ้า สีต่างๆ” เด็กหญิงตอบว่า “มันคือก้อนเมฆ มันมีชีวิตไง” มกุฏจึงถามต่อว่า “แล้วทำไมต้องมีชีวิต” เด็กหญิงตอบว่า “ก็หนูอยากให้ทุกสิ่งในโลกนี้มีชีวิต” และตั้งแต่นั้น เด็กหญิงจึงเริ่มเขียนอย่างอื่นที่ไม่ใช่บันทึกประจำวัน เด็กหญิงเขียนจากความคิด เขียนจากสิ่งที่อยู่ภายในของเธอ และเขียนไปเรื่อยๆ เขียนไปเรื่อยๆ

และเมื่อเด็กหญิงเริ่มเขียน เด็กหญิงก็เริ่มสังเกตสิ่งรอบตัว เริ่มสงสัยอย่างลึกซึ้งมากขึ้นด้วยตัวของเด็กหญิงเอง เด็กหญิงจึงอยากค้นคว้าด้วยตนเอง เด็กหญิงจึงเริ่มอ่านหนังสือจนการอ่านหนังกลายเป็นธรรมชาติในชีวิตประจำวัน กรุณาระบุว่าใน 1 ปี ลูกของเธออ่านหนังสือมากกว่า 80 เล่ม

 

การอ่านในภาคการศึกษาไทย

จากการสืบค้นพบว่า ‘แผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ปี พ.ศ. 2520’ รัฐบาลได้เน้นหลักการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง สามารถใช้ภาษาไทยได้เป็นอย่างดีในการสื่อสาร และสนับสนุนให้ผลิตตำรา แบบเรียน เอกสารทางวิชาการ ที่ไม่ขัดต่อหลักวัฒนธรรมไทย และไม่ขัดต่อกฎหมาย อีกทั้งยังสนับสนุนการศึกษานอกโรงเรียน เปิดโอกาสให้ประชาชน บุคคลที่ไม่มีโอกาสได้ศึกษาในระบบ ได้รับการศึกษาตลอดชีวิต

ส่วน ‘แผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 4 ปี พ.ศ. 2535’ ด้านการจัดกระบวนการเรียนการสอน ยังคงให้ความสำคัญกับการให้ผู้เรียนใฝ่หาความรู้ การคิดริเริ่ม และการสังเคราะห์ วิเคราะห์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 กระทรวงศึกษาธิการได้ประเจตนารมณ์ ให้เป็นปีแห่งการปฏิรูปการเรียนการสอน มุ่งเน้นให้เด็กมีกระบวนการคิดวิเคราะห์ ทักษะการใช้ภาษา และส่งเสริมการอ่าน

ขณะเดียวกันอีกฟากฝั่งของทางโรงเรียน จากการสืบค้นแผนงานของโรงเรียนจำนวนหนึ่ง พบว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 – ปัจจุบัน เนื่องด้วย พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มาตราที่ 24 ที่เน้นนำเรื่องของ ‘การอ่าน’ จึงทำให้โรงเรียนต่างๆ พยายามจัดกระบวนการ โครงการที่ส่งเสริมการอ่าน มีชั่วโมงรายวิชาที่เน้นนำให้นักเรียนเข้าใช้บริการห้องสมุดของโรงเรียน ด้วยชื่อที่คุ้นหูกันว่า ‘โครงการรักการอ่าน’ หรืออาจจะเป็นชื่อที่แตกต่างไปจากนี้ เช่น ‘โครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน’ ‘โครงการยอดนักอ่าน’ ‘หนูน้อยยอดนักอ่าน’ ‘โครงการอ่านออกเขียนได้’ และ ‘โครงการบันทึกการอ่าน’… ฯลฯ ซึ่งพบว่าแม้ชื่อจะแตกต่างกัน แต่กิจกรรมเหล่านี้โรงเรียนต่างๆ ล้วนมุ่งเน้นปลูกฝังการอ่านให้เด็กนักเรียนในสถานศึกษาของตนตามแบบแผนการของกระทรวงศึกษาธิการ เท่านั้น

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] สำรวจการอ่านหนังสือของประชากร พ.ศ. 2554 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 25 มิถุนายน 2562)
[2] สำรวจการอ่านหนังสือของประชากร พ.ศ. 2556 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 25 มิถุนายน 2562)
[3] สำรวจการอ่านหนังสือของประชากร พ.ศ. 2558 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 25 มิถุนายน 2562)
[4] สำรวจการอ่านหนังสือของประชากร พ.ศ. 2562 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 25 มิถุนายน 2562)
[5] การจัดตั้งองค์กรเพื่อส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้และเผยแพร่งานวิชาการ (มติคณะรัฐมนตรี, 25 มีนาคม 2546)
[6] รู้จักเรา TK park: สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (Thailand Knowledge Park) (สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 25 มิถุนายน 2562)
[7] เพิ่งอ้าง
[8] สรุปประเด็นนายกรัฐมนตรีพบคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2549 (มติคณะรัฐมนตรี, 12 กันยายน 2549)
[9] การส่งเสริมการอ่านให้เป็นวาระแห่งชาติเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต (มติคณะรัฐมนตรี, 5 สิงหาคม 2552)
[10] มาตรการทางภาษีเชิงรุกเพื่อสนับสนุนการอ่าน (มติคณะรัฐมนตรี, 12 ตุลาคม 2553)
[11] (ร่าง) แผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ. 2560 - 2564 (มติคณะรัฐมนตรี, 17 มกราคม 2560)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: (ร่าง) แผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ. 2560 – 2564

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: