พบเด็กไทยถูกครอบครัวลงโทษทางร่างกายรุนแรงปีละ 4.7 แสนคน

ทีมข่าว TCIJ: 2 มิ.ย. 2562 | อ่านแล้ว 14660 ครั้ง

ข้อมูลจาก 662 รพ. ปี 2560 มีเด็กเกือบ 9,000 คน ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากถูกทำร้ายร่างกายและถูกล่วงละเมิดทางเพศ ส่วนผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยปี 2558-2559 มีเด็กอายุระหว่าง 1-14 ปี ประมาณ 470,000 คน เคยถูกลงโทษทางร่างกายอย่างรุนแรงมากที่บ้าน แต่ละปีกลับมีผู้แจ้งเหตุรุนแรงต่อเด็กผ่านสายด่วน 1300 เพียงแค่ 3,266 ราย เท่านั้น ที่มาภาพประกอบ: Pixabay

เด็กไทยถูกครอบครัวลงโทษทางร่างกายรุนแรงปีละ 4.7 แสนคน

จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2560 ซึ่งเก็บข้อมูลจากโรงพยาบาล 622 แห่งในประเทศไทย พบว่ามีเด็กเกือบ 9,000 คน ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากถูกทำร้ายร่างกายและถูกล่วงละเมิดทางเพศ ขณะเดียวกัน ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยปี 2558-2559 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีเด็กอายุระหว่าง 1-14 ปี จำนวนร้อยละ 4 หรือคิดเป็นประมาณ 470,000 คน เคยถูกลงโทษทางร่างกายอย่างรุนแรงมากที่บ้าน ในขณะที่แต่ละปีกลับมีผู้แจ้งเหตุรุนแรงต่อเด็กผ่านสายด่วน 1300 เพียงแค่ 3,266 ราย เท่านั้น [1]

เด็กถูกทำร้ายร่างกาย มีผลกระทบอย่างยิ่งต่อสมอง-พัฒนาการ

มีงานวิจัยเกี่ยวกับเด็กที่ถูกทารุณกรรม พบว่าการกระทำความรุนแรงต่อเด็กมีผลต่อสมองทุกส่วน งานวิจัยในหลายๆ ประเทศระบุว่าผลของ Trauma (อาการทุกข์ทรมานใจ) จะรบกวนการทำงานของสมองอย่างมาก ที่มาภาพประกอบ: Nebeep.com

ข้อมูลจากศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กระบุว่าเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงของครอบครัว มีอาการที่หลากหลาย ตั้งแต่ หวาดกลัวที่จะถูกทำร้าย เหม่อลอย ซึมเศร้า เก็บกด ขาดความไว้วางใจ สูญเสียสัมพันธภาพกับผู้อื่น มีปัญหาการปรับอารมณ์ มีอาการผิดปกติทางเพศ กระบวนการรู้คิดผิดปกติ ขาดแรงจูงใจพัฒนาชีวิต มีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำร้ายผู้อื่น สิ้นหวัง ทำร้ายตนเอง บางรายอาจรุนแรงถึงฆ่าตัวตาย ที่กล่าวมานี้เป็นผลจากบาดแผลทางใจ เป็นความเสียหายในส่วนของสมอง อาการที่พบบ่อยคือ ไม่สามารถปรับอารมณ์ มีความทนทานต่อความเครียดได้น้อย รู้สึกขาดคุณค่าในตนเอง ขาดความมั่นคงทางใจ เมื่อเผชิญความเครียดเพียงเล็กน้อยจะทำให้พบอาการต่างๆ ตามมา และไม่ใช่แต่เด็กที่ถูกทำร้ายที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น ครอบครัวของเด็กก็ถูกกระทบและมีบาดแผลที่ต้องการเยียวยาเช่นกัน

งานวิจัยเกี่ยวกับเด็กที่ถูกทารุณกรรม พบว่าการกระทำความรุนแรงต่อเด็กมีผลต่อสมองทุกส่วน งานวิจัยในหลายๆ ประเทศระบุว่าผลของ Trauma (อาการทุกข์ทรมานใจ) จะรบกวนการทำงานของสมองอย่างมาก เด็กจะมีภาวะอาการต่างๆ เหล่านี้เป็นเพราะว่าสมองไปจดจำ อย่างเช่นเด็กมีอาการกลัว เด็กมีอาการไม่มั่นคงต่างๆ เป็นเพราะสมองจำอย่างฝังแน่นในเรื่องที่ถูกกระทำ

งานวิจัยจำนวนมากยืนยันว่าถ้าเด็กถูกทารุณกรรมในช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดถึงไม่เกิน 2 ปี จะมีผลต่อสมองอย่างร้ายแรงเพราะจะไปทำลายโครงสร้างของการพัฒนาสมองอย่างทั่วด้าน ทำให้เกิดผลกระทบตามมานานัปการ เช่น กระบวนการเรียนรู้หรือความสามารถในการเรียนรู้มีปัญหา, ภาวะความไม่มั่นคงทางด้านจิตใจซึ่งเป็นผลมาจากถูกปล่อยปละละเลยทอดทิ้ง จนเกิดความไม่มั่นคงทางจิตใจว่าหากมีปัญหาหรือมีภัยจะมีใครมาปกป้องคุ้มครองดูแลหรือไม่ โดยเขาไม่อาจยึดถือผู้ดูแลเป็นที่พึ่งได้นั่นเอง และความสามารถในการฟื้นตัว (Resilience) ต่ำ เมื่อมีภัยหรือภาวะวิกฤติหรือปัญหาที่เข้ามาซึ่งเป็นผลโดยตรงจากถูกปล่อยปละละเลยทอดทิ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถูกปล่อยปละละเลยทางจิตใจ จนเกิดความไม่มั่นคงทางจิตใจแล้วเกิดความอ่อนแอทางจิตใจ ขาดความหวังที่จะผ่านพ้นวิกฤต เป็นต้น [2] [3]

ผู้แทน UNICEF ย้ำหากเห็นเด็กถูกทำร้าย ต้องขัดขวางหรือโทรแจ้งเหตุ

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา ยูนิเซฟ (UNICEF) จับมือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดตัวแคมเปญ #หนึ่งเสียงเปลี่ยนชีวิต สร้างการมีส่วนร่วมของสังคมในการหยุดยั้งความรุนแรงต่อเด็ก โดยขอให้ประชาชนตื่นตัวและรีบแจ้ง ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 ซึ่งเป็นสายด่วนของรัฐ เมื่อพบเห็นเด็กถูกกระทำรุนแรงทุกรูปแบบ

นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “ความรุนแรงส่งผลให้เด็กจำนวนมากต้องมีชีวิตอยู่กับฝันร้ายวันแล้ววันเล่า แต่ฝันร้ายเหล่านั้นหยุดได้ ถ้าประชาชนที่สงสัยหรือพบเห็นเด็กถูกกระทำรุนแรงเข้าไปขัดขวางหรือยกหูโทรศัพท์เพื่อแจ้งเหตุ”

การศึกษาทั่วโลกของยูนิเซฟ ชี้ให้เห็นว่า ความรุนแรงต่อเด็กเกิดขึ้นในทุกช่วงอายุของเด็กและเกิดในทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน โรงเรียน ชุมชน หรือสถานที่ที่เด็กๆ ควรได้เรียนรู้ โดยมักกระทำโดยบุคคลที่ใกล้ชิดกับเด็ก ซึ่งเหตุการณ์ส่วนใหญ่มักไม่เป็นที่รับรู้หรือไม่มีการรายงาน โดยความรุนแรงสามารถส่งผลกระทบต่อเด็กทั้งทางร่างกายและจิตใจไปตลอดชีวิต และยังทำลายการพัฒนาโครงสร้างทางสมองของเด็ก บั่นทอนความสามารถในการเรียนรู้ และอาจส่งผลให้เด็กเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ใช้ความรุนแรง นอกจากนี้ ยังเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล การทำร้ายตัวเอง ไปจนถึงการฆ่าตัวตาย

นายปรเมธี  วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า “ความรุนแรงต่อเด็กเป็นประเด็นที่มีผลกระทบทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว การจะยุติความรุนแรงต่อเด็กได้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกๆ คนในสังคม ในการที่จะไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉยต่อความรุนแรงทุกรูปแบบ สิ่งหนึ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ คือการแจ้งเหตุเมื่อพบเห็นหรือสงสัยว่ามีเหตุการณ์ใช้ความรุนแรงต่อเด็ก ทั้งนี้เด็กไม่สามารถปกป้องคุ้มครองตนเองได้ และต้องอาศัยทุกคนในสังคมช่วยกันดูแล” 

 

แคมเปญ #หนึ่งเสียงเปลี่ยนชีวิต

แคมเปญ #หนึ่งเสียงเปลี่ยนชีวิต เปิดตัวด้วยคลิปวิดีโอความยาว 4 นาที http://bit.ly/evac-2019-01 ซึ่งจำลองเหตุการณ์ในร้านอาหารแห่งหนึ่งที่พ่อลงโทษลูกสาวอย่างรุนแรง ทั้งด่าทอหยาบคาย และลงมือทำร้ายร่างกายลูกจนมีรอยบาดเจ็บฟกช้ำตามตัว คลิปวิดีโอแสดงให้เห็นปฏิกิริยาของลูกค้าที่อยู่ในร้าน โดยหลายคนแสดงความเป็นห่วงและกังวลต่อสวัสดิภาพของเด็กอย่างชัดเจน แต่ไม่แน่ใจว่าจะเข้าไปช่วยเหลือเด็กได้อย่างไร

แคมเปญนี้ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 ตลอดจนบอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์ของผู้ที่เคยแจ้งเหตุ และเสียงของเด็กที่เคยถูกทำร้าย และยังมี ศิลปินชื่อดังมาร่วมเป็นกระบอกเสียง นอกจากนี้ยังเสนอกิจกรรมต่าง ๆ ที่ประชาชนสามารถทำได้ เช่น จัดทำสติ๊กเกอร์ โปสเตอร์ หรือกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อสร้างความตื่นตัวในชุมชน

นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า “เด็กทุกคนต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองเพื่อให้มีวัยเด็กที่ปลอดภัยและเป็นสุข  โดยไม่ควรมีเด็กคนใดต้องใช้ชีวิตอยู่กับความหวาดกลัว เราอยากเรียกร้องให้ทุกคนตื่นตัวในการปกป้องคุ้มครองเด็กก่อนที่จะสายเกินไป เพราะทุกคนต่างมีส่วนสำคัญในการยุติความรุนแรงต่อเด็กในสังคม”

 

อ้างอิง
[1] ยูนิเซฟจับมือกระทรวงพม. เปิดตัวแคมเปญ หนึ่งเสียงเปลี่ยนชีวิต กระตุ้นให้ประชาชนแจ้งเหตุรุนแรงต่อเด็กผ่านสายด่วน 1300 (ข้อมูลแถลงข่าวกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม 2562 เวลา 10.00 น.  ณ ห้องโถงชั้น 1 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ)
[2] ความจริงของเด็กที่ถูกทำร้าย ตอนที่ 1 (ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 28 พ.ค. 2562)
[3] ความจริงของเด็กที่ถูกทำร้าย ตอนที่ 2 การบำบัดฟื้นฟูเด็กตามแนวทางมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก (ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 28 พ.ค. 2562)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: ข้อสังเกตว่าเด็กอาจถูกกระทำรุนแรงทางร่างกาย-ทางเพศ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: