พบครูสิงคโปร์ทำงานยาวนานกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD

แปลและเรียบเรียงโดย พัชณีย์ คำหนัก 20 มิ.ย. 2562 | อ่านแล้ว 3641 ครั้ง

พบครูสิงคโปร์ทำงานยาวนานกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD

พบครูในประเทศสิงคโปร์ทำงาน 46 ชั่วโมง/สัปดาห์ ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ที่ 39 ชั่วโมง/สัปดาห์ ที่มาภาพประกอบ: The Straits Times

ครูในประเทศสิงคโปร์ยังคงทำงานหลายชั่วโมง ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) แต่สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว จากผลสำรวจที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2019 ที่ผ่านมา

กล่าวคือครูในสิงคโปร์ทำงาน 46 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในปี 2018 จากการสำรวจการเรียนการสอนระดับนานาชาติ (TALIS) ของครูระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD คือ 39 ชั่วโมง ชั่วโมงทำงานนั้นรวมถึงการทำงานนอกโรงเรียนด้วย

ทำให้อาชีพครูในสิงคโปร์เป็นงานหนักอันดับ 7 ของการสำรวจระบบการศึกษาทั้งหมด 48 ระบบ โดยครู ม.ต้นในญี่ปุ่นทำงานยาวนานที่สุด ตามมาด้วยครูในประเทศคาซัคสถาน และรัฐแอลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา

มีครูและผู้บริหารโรงเรียนประมาณ 3,300 คนจากโรงเรียนของรัฐ 157 แห่ง และโรงเรียนเอกชน 12 แห่งถูกสุ่มเลือกเข้าร่วมในการสำรวจทางออนไลน์

การลดงานธุรการ

เมื่อปี 2013 เคยมีการสำรวจชั่วโมงทำงานของครูสิงคโปร์เช่นนี้ ซึ่งขณะนั้น ครูทำงานนานกว่า 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

กระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์ ให้สัมภาษณ์ว่า เวลาทำงานลดลงอย่างมาก เนื่องจากมีการลดงานธุรการ จำนวนชั่วโมงที่ทำงานธุรการลดลงจาก 5.3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในปี 2013 เป็น 3.8 ชั่วโมงในปี 2018 ซึ่งยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มประเทศ OECD คือ 2.7 ชั่วโมง

“จำนวนชั่วโมงที่ครูทำงานธุรการเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากเราเคยทำงานด้านนี้มาแล้ว ตัวอย่างที่สำคัญที่สุดคือการทำเครื่องหมายเข้างานในแอปลิเคชั่น ช่วยให้ครูประหยัดเวลามากขึ้น” กระทรวงฯ กล่าว

งานธุรการทั่วไปอื่น ๆ เช่น การขอรับแบบฟอร์มยินยอมสำหรับทำกิจกรรม เช่น ออกไปทัศนศึกษา ได้รับการปรับปรุงผ่านแอป ที่อนุญาตให้ผู้ปกครองให้ความยินยอมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

เวลาที่ใช้ในการให้คะแนนก็น้อยลง

จากชั่วโมงทำงานทั้งหมด 46 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ครูใช้เวลาสอนเพียง 18 ชั่วโมง

ชั่วโมงทำงานของครูได้รวมการวางแผนและการเตรียมบทเรียน ทำกิจกรรมหลักสูตรร่วมและการให้คะแนนเด็ก เมื่อถึงเวลาให้คะแนน ครูก็จะใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่แสดงช่องว่างการเรียนรู้ของนักเรียนเพื่อทำเครื่องหมาย” กระทรวงฯ กล่าว และ “นั่นช่วยประหยัดเวลา”

ครูใช้เวลา 7.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในการให้คะแนนในปี 2018 ซึ่งต่ำกว่า 8.7 ชั่วโมงในปี 2013 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศ OECD ครูใช้เวลา 4.2 ชั่วโมงในการนี้

เมื่อถูกถามว่า รัฐบาลสิงคโปร์จะพยายามทำตามอย่างกลุ่มประเทศ OECD ที่ครูทำงานเฉลี่ยสัปดาห์ละ 39 ชั่วโมงหรือไม่ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า “คำถามที่เรามักถูกถามคือ การเทียบมาตรฐานที่ถูกต้องนั้นคืออะไร?” คำตอบต้องเป็นสิ่งที่เราคิดว่า เราควรทำอะไรเพื่อนักเรียนของเราให้มีความพร้อมสำหรับอนาคต จำนวนเวลาที่ถูกต้องควรเป็นเท่าไรนั้น ไม่มีใครสามารถบอกได้”

เขาเสริมว่า จุดเน้นของกระทรวงฯ คือการดูแลครูเป็นอย่างดี และเมื่อครูทำงานหนักก็แสดงว่าพวกเขามีความหลงใหลและรู้สึกดีที่ได้ช่วยนักเรียนในหลาย ๆ ทางเท่าที่จะทำได้

“สิ่งที่กล่าวนั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญกว่าชั่วโมงทำงาน” เขากล่าวเสริม

กลุ่มครู ม.ต้น ที่หลงใหลในงาน

ผลการสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า ครูระดับมัธยมศึกษาตอนต้นของสิงคโปร์กระตือรือร้น ชื่นชอบงาน กระทรวงฯ กล่าว ครู ม.ต้นเกือบทั้งหมด (ร้อยละ 98) ระบุว่า พวกเขาเป็นครูเพราะงานนี้เปิดโอกาสให้พวกเขามีอิทธิพลต่อการพัฒนาคนหนุ่มสาว และประมาณร้อยละ 70 ของครูกลุ่มนี้ เลือกอาชีพสอนเป็นตัวเลือกแรก

ผลการวิจัยยังแสดงให้เห็นว่า ครูได้ฝึกและยกระดับทักษะการสอนอย่างต่อเนื่อง โฆษกกระทรวงฯ กล่าว

OECD ชื่นชมสิงคโปร์ว่าเป็นประเทศที่ “การพัฒนาอาชีพครูอย่างต่อเนื่องคือวิสัยทัศน์ของการเรียนรู้แบบมืออาชีพของโรงเรียน” กระทรวงฯ กล่าวเพิ่มเติม
ความต้องการฝึกอบรมเพิ่มเติมเพื่อรองรับความต้องการพิเศษของนักเรียน

อย่างไรก็ตาม ครูบางคนรู้สึกว่า ความจำเป็นสำหรับการพัฒนาวิชาชีพ คือการสอนนักเรียนที่มีความต้องการด้านการศึกษาพิเศษ ในปี 2018 ครูร้อยละ 20 มองเห็นความจำเป็นของการพัฒนาวิชาชีพดังกล่าว เมื่อเทียบกับปี 2013 อยู่ที่ร้อยละ 15

“สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของครูของเราในการเตรียมทักษะและความสามารถที่จำเป็นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการการเรียนรู้ที่หลากหลายของนักเรียนมากขึ้น เนื่องจากโรงเรียนของเรารองรับนักเรียนที่มีความสามารถหลากหลายมากขึ้น” กระทรวงฯ กล่าว

ปัจจุบันโรงเรียนทุกแห่ง จะมีครูแกนนำกลุ่มหนึ่งที่มีทักษะในการสอนนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ

สัดส่วนของครูที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาวิชาชีพด้านการสอนนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 23 ในปี 2013 เป็นร้อยละ 35 ในปี 2018

จากรายงานผลสำรวจ ครูที่นี่ยังใช้แบบฝึกหัดที่ส่งเสริมการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นและมั่นใจที่จะใช้วิธีการประเมินการเรียนรู้ที่หลากหลาย
ครูยังอุทิศกับการให้ข้อเสนอแนะเชิงคุณภาพอีกด้วย กล่าวคือ ในปี 2018 ครูร้อยละ 77 ที่ตอบแบบสำรวจได้เขียนข้อเสนอแนะ นอกเหนือจากกาแบบสำรวจ เทียบกับปี 2013 อยู่ที่ร้อยละ 72 และในกลุ่มประเทศ OECD ปี 2018 อยู่ที่ร้อยละ 58

หวู่เซียวฮอง อธิบดีด้านการศึกษา กล่าวว่า ครูสิงคโปร์หลงใหลกับงานพัฒนานักเรียนให้มีศักยภาพเต็มที่

“การสร้างพลเมืองที่เรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นบทบาทของครูมากที่สุด เพื่อช่วยให้นักเรียนมีความพร้อมสำหรับอนาคต และที่สำคัญกว่านั้นคือการยังรักษาความต้องการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผลการสำรวจนี้ให้เราได้เข้าใจด้านต่าง ๆ ที่เราสามารถนำไปใช้ได้ เพราะเรายังคงสนับสนุนครู ซึ่งเป็นงานสำคัญที่เราทำอยู่” กล่าว


แปลและเรียบเรียงจาก
https://www.channelnewsasia.com/news/singapore/singapore-teachers-work-longer-hours-than-oecd-average-11641480

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: