ภัยจาก 'ยาเหลือใช้' กระทบงบประมาณรัฐ-ปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม

ทีมข่าว TCIJ: 5 พ.ค. 2562 | อ่านแล้ว 17047 ครั้ง

ปัญหา 'ยาเหลือใช้' และ 'การครอบครองยาเกินจำเป็น' ต้นเหตุหลักมาจาก ‘สิทธิการรับยาฟรี-ระบบบริการ รพ.ที่ไม่คำนึงถึงการครอบครองยาเกินจำเป็น-บรรจุภัณฑ์ไม่เหมาะสำหรับการจ่ายยาให้ตรงจำนวนวัน-ได้รับยาซ้ำซ้อนจากต่างสถานพยาบาล-ไม่รับประทานยาตามแพทย์สั่ง’ ส่งผลกระทบต่องบประมาณรัฐ ทำไทยสูญเสียทางการคลังประมาณ 2,350 ล้านบาท/ปี หรือคิดเป็น 1.75% ของมูลค่าการบริโภคยาในประเทศ นอกจากนี้ยังพบมียาหลายชนิดปนเปื้อนในแม่น้ำ 6 สายสำคัญแล้ว ที่มาภาพประกอบ: สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน

คนไทยใช้ยาวันละ 128 ล้านเม็ด – รวมเป็น 46.7% ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ

จากข้อมูล ‘สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ (ค่ายา ค่ารักษา) ต่อค่าใช้จ่ายครัวเรือนทั้งหมด (GDP)’  ที่รวบรวมโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่าในปี 2561 คนไทยมีค่าใช้จ่ายสุขภาพเฉลี่ยต่อครัวเรือนที่ 388,954 บาท คิดเป็นค่ายา 181,553 บาท [1]

นอกจากนี้ กรมการแพทย์ได้ทำการสำรวจเมื่อปี 2553 พบว่าคนไทยกินยา (ทั้งยาแผนปัจจุบันและยาแผนโบราณ) เฉลี่ยแล้วปีละประมาณ 47,000 ล้านเม็ด หรือเฉลี่ยวันละประมาณ 128 ล้านเม็ด [2] ตัวเลขนี้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายในการผลิตยาขององค์การเภสัชกรรม ในปี 2559 ที่มีอัตราการผลิตยาสำหรับจำหน่ายไปยังโรงพยาบาลและร้านขายยาต่าง ๆ สูงขึ้นจาก 2 ปีก่อนหน้านั้น (2557-2558) ถึงร้อยละ 12.7 [3]  ส่วนข้อมูลการขายยาและเวชภัณฑ์ขององค์การเภสัชกรรม ก็มีรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยในปี 2559 มีรายได้จากการขายยาและเวชภัณฑ์ 15,134,316,805.31 บาท ต่อมาในปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 15,881,005,340.00 บาท [4]

โดยภาพรวมแล้วพบว่าประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายจากการใช้ยาเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 15 ต่อปี จาก 36,506 ล้านบาทในปี 2543 เพิ่มเป็น 98,375 ล้านบาทในปี  2551 ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยคิดเป็นร้อยละ 46.7 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ ซึ่งสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วกว่า 2 เท่าตัวเลยทีเดียว [5]

ข้อมูลที่ยกมานี้ แสดงให้เห็นว่าไทยไม่ได้มีปัญหาในการเข้าถึงยามากนัก แต่กำลังพบปัญหาอีกด้าน นั่นก็คือปัญหา 'ยาเหลือใช้' และ 'การครอบครองยาเกินจำเป็น'

ปัญหายาเหลือใช้ พบมากว่า 20 ปีแล้ว ทำสิ้นเปลืองงบประมาณสาธารณสุข

ยาเหลือใช้ จากการลงพื้นที่สำรวจใน จ.ลำพูน โดย ภญ.พิมพ์ชนก ขันแก้วหล้า เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลลำพูน และ ภก.สมพงค์ คำสาร เภสัชกรเชี่ยวชาญ โรงพยาบาลลำพูน ที่มาภาพประกอบ: สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน

ประเทศไทยมีการศึกษาปัญหายาเหลือใช้มากว่า 20 ปีแล้ว โดยในปี 2541 สุวรรณี เจริญพิชิตนันท์ ได้ศึกษายาเหลือใช้จากยาที่ผู้ป่วยนำมาบริจาคที่โรงพยาบาลรัฐบาลแห่งหนึ่งเป็นระยะเวลา 3 เดือน พบว่าจำนวนยาเหลือใช้ทั้งหมดเท่ากับ 1,550 รายการมูลค่ารวม 140,202 บาท โดยกลุ่มยาแก้ปวดหรือลดไข้ ยาต้านการอักเสบและยาในโรคเกาต์ เป็นกลุ่มยาที่ถูกนำมาคืนเป็นจำนวนมากที่สุด 253 รายการ และกลุ่มยาโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นกลุ่มยาที่มีมูลค่าการคืนยามากที่สุดคือ 36,927 บาท ต่อมาในปี 2547 โพยม วงศ์ภูวรักษ์และคณะ ได้สำรวจยาเหลือใช้จากประชาชน 931 ครัวเรือนใน จ.สงขลา พบรายการยาเหลือใช้ทั้งหมด 1,004 รายการ จาก 453 ครัวเรือน โดยมีกลุ่มยาแก้ปวดกล้ามเนื้อและข้อเป็นกลุ่มยาที่ถูกนำมาคืนบ่อยที่สุด [6]

ผลการศึกษาของ ภญ.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ สมาคมเภสัชกรรมชุมชน ซึ่งได้สำรวจลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยในระหว่างปี 2551-2552 จำนวน 700 ราย จาก 45 ชุนชนในกรุงเทพฯ เพื่อสำรวจยาที่เหลือใช้ของประชาชน พบว่าผู้ป่วยมีอัตราการสะสมยาประมาณ 1,000 บาท ต่อเดือน/คน เฉลี่ย 6.7 รายการ/คน บางรายมียาเหลือใช้ในครอบครองมากถึง 20 รายการ และมียอดยาสูงถึง 70,000 บาท [7] นอกจากนี้ในปี 2552 ยังมีการเปิดเผยข้อมูลผลการศึกษายาเหลือใช้ของโรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก พบว่ามียาเหลือใช้เกินความจำเป็นในครอบครอง 5 รายการรวมเฉลี่ยเท่ากับ 1,040,387 บาท [8]

ส่วน 'การสำรวจปริมาณและมูลค่ายาเหลือใช้ในผู้ป่วยนอก ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช' ของฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลศิริราช, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้นำข้อมูลเมื่อปี 2553 ของผู้ป่วย 82 คน มาวิเคราะห์ ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยร้อยละ 74.4 มียาเหลือใช้ คิดเป็นมูลค่ารวม 187,950.55 บาท มูลค่าเฉลี่ยคิดเป็น 3,081.16 บาทต่อคน [9]

ต่อมาใน 'การศึกษามูลค่ายาและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการหาสาเหตุพร้อมทั้งแนวทางแก้ปัญหายาเหลือใช้ในผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง : กรณีศึกษา ชุมชนบ้าน' ของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ได้ศึกษากลุ่มตัวอย่างอายุ 18-80 ปี จำนวน 93 คน จากชุมชนบ้านมะกอก อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม เมื่อปี 2554 ผลการศึกษาพบผู้ป่วยมียาเหลือใช้ 17 คน (ร้อยละ 27.4) มีมูลค่ายาเหลือใช้ในระยะเวลา 1 เดือน คิดเป็นเงิน 3,005.30 บาท โดยผู้ป่วยคิดว่าสาเหตุยาเหลือใช้มาจากการรับประทานไม่ครบตามแพทย์สั่ง [10]

ข้อมูลจากโครงการรณรงค์ให้ผู้ป่วยนำยาเหลือใช้มาคืน ณ คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล ระหว่างเดือน ธ.ค. 2553 - ก.พ. 2555 โดยเภสัชกรเป็นผู้รับยาเหลือใช้คืนและบันทึกข้อมูลลงในฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะ พบว่าจากผู้ป่วย 1,092 ราย ที่นำยาเหลือใช้กว่า 4,624 รายการมาคืนที่โรงพยาบาล ยาเหล่านี้มีชื่อการค้าแตกต่างกันถึง 722 แบบ และปริมาณยาเหลือใช้ทั้งหมดเท่ากับ 321,193 หน่วย มีมูลค่ายาเหลือใช้ทั้งหมดเท่ากับ 3,430,358.85 บาท จำนวนรายการยาเหลือใช้เฉลี่ยเท่ากับ 4.23 รายการ 294.13 หน่วยและ 3,141.35 บาทต่อผู้ป่วยหนึ่งราย [11]

และในปี 2555 ณธร ชัยญาคุณาพฤกษ์และคณะ ได้ศึกษาขนาดและผลกระทบทางการคลังของการครอบครองยาเกินจำเป็นและการแก้ปัญหาเชิงนโยบายโดยใช้วิธีการศึกษาย้อนหลังจากโรงพยาบาลศูนย์ 2 แห่ง และโรงพยาบาลทั่วไป 1 แห่ง ร่วมกับการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พบว่าการสูญเสียทางการคลังจากการครอบครองยาเกินจำเป็นมีมูลค่าประมาณ 25.3 ล้านบาทต่อปี [12]

ทั้งนี้ มีการประเมินว่าไทยต้องสูญเสียทางการคลังโดยไม่จำเป็นจากการครอบครองยาเกินจำเป็นประมาณ 2,350 ล้านบาทต่อปี  หรือคิดเป็นร้อยละ 1.75 ของมูลค่าการบริโภคยาในประเทศ [13]

สาเหตุสำคัญ ‘ผู้ป่วยไม่รับประทานยาตามแพทย์สั่ง’

ในงานศึกษาต่างๆ ได้ระบุถึงสาเหตุของการเกิด 'ยาเหลือใช้' และ 'การครอบครองยาเกินจำเป็น' ไว้ได้แก่ สิทธิการรับยาฟรี, ระบบบริการของโรงพยาบาลที่ไม่คำนึงถึงการครอบครองยาเกินจำเป็น, รูปแบบของบรรจุภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสำหรับการจ่ายยาให้ตรงจำนวนวัน, แพทย์สั่งยามากกว่าวันนัด, ได้รับยาซ้ำซ้อนจากต่างคลินิก/สถานพยาบาล, ผู้ป่วยมีพฤติกรรมการใช้ยาไม่ครบใช้ยาไม่สม่ำเสมอ, การลดเพิ่มการใช้ยาเองแบบไม่สมเหตุสมผล และสาเหตุที่สำคัญมากที่สุดคือ ‘ผู้ป่วยไม่รับประทานยาตามแพทย์สั่ง’ [14] [15] [16] ซึ่งข้อมูลจากสภาเภสัชกรรม เมื่อปี 2553 ระบุว่าสาเหตุสำคัญที่ผู้ป่วยมียาเหลือใช้จำนวนมาก ก็เพราะผู้ป่วยไม่รับประทานยาตามแพทย์สั่งสูงถึงร้อยละ 90 (แบ่งเป็นรับประทานยาไม่สม่ำเสมอร้อยละ 25 และไม่ยอมรับประทานยาเลยถึงร้อยละ 65) [17]

ยาเหลือใช้กับการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม

ทั่วโลกพบการปนเปื้อนของยาในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ 'แหล่งน้ำ' มีการปนเปื้อนยาหลากหลายชนิด ด้วยความเข้มข้นระดับต่าง ๆ เช่น ยาแก้ปวด ลดไข้ ยาคุมกำเนิด ยาปฏิชีวนะ ยาต้านเชื้อรา และยารักษาอาการซึมเศร้า เป็นต้น ที่มาภาพประกอบ: Environmental Bid Network

จากงานศึกษา 'การพัฒนาแนวทางการจัดการยาหรือเภสัชภัณฑ์ที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมจากครัวเรือนและชุมชน' โดย ผาไท จุลสุข สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่เมื่อปี 2558 ระบุว่าจากข้อมูลในหลายประเทศ พบสถานการณ์การปนเปื้อนของยาในแหล่งน้ำโดยเฉพาะกลุ่มยาประเภทที่มีฤทธิ์ตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม อาทิ ยารักษาโรคความดันโลหิต ยารักษาโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด ยาปฏิชีวนะ และฮอร์โมน เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติม จับตา: การปนเปื้อนจาก 'ยาเหลือใช้' ประสบการณ์จากต่างประเทศ) ซึ่งกลุ่มยาประเภทดังกล่าวไม่สามารถทำลายได้ด้วยระบบกรองน้ำปกติ จึงมีโอกาสย้อนกลับเข้ามาสู่ร่างกายและส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้

โดยงานศึกษาชิ้นนี้ ได้ทำการศึกษากลุ่มเป้าหมาย 480 คน จากทุกภูมิภาคในประเทศไทย ผลการศึกษาพบว่าส่วนใหญ่กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังกินยาไม่ครบตามแพทย์สั่งซึ่งแตกต่างจากกลุ่มปกติ โดยทั้งกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังและกลุ่มปกติยังไม่ทราบวิธีการจัดการยาอย่างถูกต้อง (ร้อยละ 94.2 และ 95.6 ตามลำดับ) และส่วนใหญ่เคยนำยาที่เหลือใช้หรือไม่ใช้แล้วไปทิ้งลงถังขยะ ซึ่งการนำยาไปทิ้งลงถังขยะย่อมมีโอกาสที่ยาจะปนเปื้อนในน้ำหรือดิน เนื่องจากประเทศไทยยังมีการกำจัดขยะแบบนำไปกองทิ้งรวมบนพื้นแบบไม่ถูกต้องในหลายพื้นที่ โดยพฤติกรรมการทิ้งยาลงสู่สิ่งแวดล้อมของประชาชนนี้ทำให้ยามีโอกาสปนเปื้อนลงในดินและแหล่งน้ำและหมุนเวียนมาสู่น้ำบริโภค

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้เคยดำเนินการตรวจวิเคราะห์หาปริมาณการปนเปื้อนของยาในสิ่งแวดล้อมในแหล่งน้ำผิวดิน แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำปิง, แม่น้ำวัง, แม่น้ำยม, แม่น้ำน่าน และแม่น้ำบางปะกงเมื่อปี 2553 พบว่ามียาหลายประเภทในระดับความเข้มข้นต่างๆ ที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำรายละเอียดมีดังนี้

ที่มา: งานศึกษา 'การพัฒนาแนวทางการจัดการยาหรือเภสัชภัณฑ์ที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมจากครัวเรือนและชุมชน' โดย ผาไท จุลสุข สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2558

ในด้านผลกระทบจากยาที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม พบว่าการปนเปื้อนของฮอร์โมนประเภท 'เอสโตรเจน' และ 'ฮอร์โมนสังเคราะห์' ในระดับความเข้มข้นต่ำอาจไม่สามารถวิเคราะห์ผลกระทบที่ชัดเจนต่อสิ่งแวดล้อมได้ แต่ฮอร์โมนสังเคราะห์บางประเภทสามารถทำให้เกิดปัญหาต่อสัตว์น้ำที่สัมผัสกับน้ำทิ้งที่ปนเปื้อนยาประเภทฮอร์โมนที่มีความเข้มข้นสูงได้ เช่น ปลา กบ หอย และสัตว์เลื้อยคลาน เป็นต้น เนื่องจากมีผลต่อระบบต่อมไร้ท่อของสัตว์ โดยเฉพาะสารประกอบเอสโตรจินิก (ฮอร์โมนเอสโตรเจน) ที่มีความเข้มข้นน้อยกว่า 1 ทำให้เกิดผลกระทบต่อการสร้างไข่ปลาและโครงสร้างของสัตว์น้ำเพศผู้

ส่วน 'ยาประเภทที่เกี่ยวกับการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ' ครอบคลุมไปถึง ‘ยาที่ลดระดับไขมันในเส้นเลือดและลดคลอเรสเตอรอลในเลือด’ ยาเหล่านี้ส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดในสัตว์น้ำ โดยพบว่ายาประเภทดังกล่าวสามารถทำให้เกิดการลดระดับฮอร์โมน Testosterone ในเลือดของปลา เกิดผลต่อการสืบพันธุ์และการวางไข่ของปลาด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ 'ยารักษาโรคซึมเศร้า' บางชนิด จะสะสมในตัวปลาที่อยู่ในแหล่งน้ำที่มีการปนเปื้อนยาประเภทดังกล่าว ซึ่งการรับสัมผัสยาประเภทนี้จะส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพในการว่ายน้ำของสัตว์จำพวกหอย กุ้ง ปู และ รบกวนการทำงานของสารสื่อประสาทในสมองของสัตว์น้ำ

ส่วน 'ยาปฏิชีวนะ' นั้น พบว่าเป็นยาที่สะสมในแหล่งน้ำทั้งแหล่งน้ำผิวดินและน้ำดื่มน้ำใช้ปริมาณสูงที่สุด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบต้านเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดการดื้อยาในคนและสัตว์ [18]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ (ค่ายา ค่ารักษา) ต่อค่าใช้จ่ายครัวเรือนทั้งหมด (GDP) (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 2 พ.ค. 2562)
[2] คนไทยกินยาปีละ 47,000 ล้านเม็ด (เชิดชู อริยศรีวัฒนา, ไทยพับลิก้า, 19 มี.ค. 2555)
[3] การพัฒนาแนวทางการจัดการยาหรือเภสัชภัณฑ์ที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมจากครัวเรือนและชุมชน (ผาไท จุลสุข, สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, 2558) 
[4] รายงานประจำปี 2560 (องค์การเภสัชกรรม, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 2 พ.ค. 2562)
[5] คนไทยกินยาปีละ 47,000 ล้านเม็ด (เชิดชู อริยศรีวัฒนา, ไทยพับลิก้า, 19 มี.ค. 2555)
[6] วิกฤตปัญหา 'ยาเหลือใช้' ในเขตชุมชนเมือง (Hfocus, 5 ก.ค. 2560)
[7] สถานการณ์การใช้ยาเหตุผล สภาพปัญหาและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง (กลุ่มนโยบายแห่งชาติด้านยา, พ.ค. 2559)
[8] การสำรวจปริมาณและมูลค่ายาเหลือใช้ในผู้ป่วยนอก ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช (วุฒิรัต ธรรมวุฒิ, เวชบันทึกศิริราช, ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 ม.ค.-มิ.ย. 2557)
[9] เพิ่งอ้าง
[10] การศึกษามูลค่ายาและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการหาสาเหตุพร้อมทั้งแนวทางแก้ปัญหายาเหลือใช้ในผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง : กรณีศึกษา ชุมชนบ้าน (กนกพร พาพิทักษ์ และคณะ, วารสารเภสัชศาสตร์อีสาน, Volume 9 No.1 January – April 2013)
[11] วิกฤตปัญหา 'ยาเหลือใช้' ในเขตชุมชนเมือง (Hfocus, 5 ก.ค. 2560)
[12] การศึกษาขนาดและผลกระทบทางการคลังของการครอบครองยาเกินจำเป็นและการแก้ปัญหาเชิงนโยบาย (ณธร ชัยญาคุณาพฤกษ์ และคณะ,สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, 2555)
[13] เพิ่งอ้าง
[14] เพิ่งอ้าง
[15] การสำรวจปริมาณและมูลค่ายาเหลือใช้ในผู้ป่วยนอก ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช (วุฒิรัต ธรรมวุฒิ, เวชบันทึกศิริราช, ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 ม.ค.-มิ.ย. 2557)
[16] เพิ่งอ้าง
[17] "ยาเหลือใช้" ภัยเงียบสุขภาพคนไทย [ข่าวสุขภาพ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), 22 มิ.ย. 2553]
[18] การพัฒนาแนวทางการจัดการยาหรือเภสัชภัณฑ์ที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมจากครัวเรือนและชุมชน (ผาไท จุลสุข, สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, 2558)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: การปนเปื้อนจาก 'ยาเหลือใช้' ประสบการณ์จากต่างประเทศ
‘เชื้อดื้อยา’ ทำคนไทยตายปีละกว่า 3 หมื่น ลามถึงสัตว์-สิ่งแวดล้อมแล้ว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: