“นักรบเศรษฐกิจ” หรือพลเมืองไทยที่ถูกลืม: แรงงานข้ามชาติ เพศและความเป็นชาย

ภัทรัตน์ พันธุ์ประสิทธิ์: 7 พ.ค. 2562 | อ่านแล้ว 4462 ครั้ง


งานเขียนที่ถูกรวบรวมและตีพิมพ์หลังการเสียชีวิตของพัฒนา กิติอาษา เรื่อง The "Bare Life" of Thai Migrant Workmen in Singapore. เป็นงานที่เผยให้เห็นชีวิตของแรงงานไทยที่ไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ ชีวิตของแรงงานข้ามชาติไม่ได้เป็นไปอย่างสวยหรูที่ได้ค่าแรงจำนวนมากแล้วส่งกลับมาให้กับครอบครัวในประเทศไทย แต่เงินค่าแรงเหล่านี้แลกมาด้วยน้ำตา หยาดเหงื่อและแม้แต่ชีวิตของแรงงานไกลบ้านทุกคน

 

พัฒนาชี้ให้เห็นว่าพื้นที่ของการทำงานในต่างประเทศของแรงงานไร้ทักษะเป็นพื้นที่พิเศษรูปแบบหนึ่ง กล่าวคือพวกเขาต้องเผชิญกับการที่ประเทศปลายทางอย่างสิงคโปร์ไม่ได้ต้อนรับนัก ขณะเดียวกันประเทศต้นทางหรือประเทศไทยก็ไม่ได้รับผิดชอบต่อชีวิตและสิทธิของการทำงานเช่นกัน ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติมีชีวิตอยู่บนความเสี่ยงที่ต้องแบกรับด้วยตนเอง คำว่า “bare life” ในที่นี้จึงเป็นชีวิตของแรงงานไทยที่ถูกดึงทึ้งออกจากอำนาจทางสังคม เศรษฐกิจ การเข้าถึงการคุ้มครองทางกฎหมายทั้งในประเทศไทยและสิงคโปร์

ที่ผ่านมางานศึกษาเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติจำนวนมากมักจะเน้นประเด็นไปที่ความยากลำบากของแรงงานหญิง ในฐานะที่ถูก "กดขี่สองชั้น" จากสังคม ไม่เพียงแต่ได้ค่าแรงน้อยกว่าผู้ชาย แต่การเป็นผู้หญิงยังถูกขูดรีดจากค่านิยมของสังคมไทยที่เชื่อว่าลูกสาวต้องส่งเสียพ่อแม่ ไม่นับรวมว่าการทำงานในอาชีพสีเทายังสุ่มเสี่ยงต่อการถูกมองว่าเป็นผู้หญิงที่ไร้ศีลธรรมอีกด้วย อย่างไรก็ตามงานของพัฒนาจึงต้องการชี้ว่าแรงงานชายไม่ได้มีสถานะที่ดีกว่าแรงงานหญิงมากเท่าใดนัก เนื่องจากความคิดว่าผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบต่อความเป็นอยู่ของสมาชิกทำให้ภาระที่อยู่บนบ่าของผู้ชายก็หนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน ทั้งยังมีความกดดันเนื่องจากการไปทำงานต่างประเทศหมายถึงการที่คนในครอบครัวต้องสละเงินเก็บที่มีหรือจำนองจำนำทรัพย์สินทั้งหมดเป็นการลงทุนให้ผู้ชายได้ไปทำงานแล้วส่งเงินกลับมา

ในบทแรกๆของหนังสือเป็นการบรรยายถึงชีวิตที่ยากลำบากและบอกเล่าการออกไปทำงานของแรงงานไทยในอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเริ่มจากการเดินทางออกจากชนบทบ้านเกิดไปทำงานในกรุงเทพฯ จนกระทั่งเริ่มขยับขยายเดินทางไปต่างประเทศ ความเศร้าของการจากบ้านและความสัมพันธ์ทางไกลกับคนรักสะท้อนให้เห็นผ่านเพลงลูกทุ่ง เพลงหมอลำและเพลงเพื่อชีวิตจำนวนมาก แต่สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือบทที่เกี่ยวกับการควบคุมเรื่องเพศของแรงงานข้ามชาติโดยรัฐสิงคโปร์ เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐปลายทางที่รับเอาแรงงานเข้าไปเติมเต็มการว่างงานในประเทศไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องการทำงานของแรงงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องการลงลึกไปควบคุมแม้แต่เรื่องส่วนตัวที่สุดอย่างเรื่องเพศอย่างเข้มงวด

ขณะที่รัฐสิงคโปร์พยายามส่งเสริมการเพิ่มจำนวนประชากรของพลเมือง เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศหนึ่งที่ประสบปัญหาประชากรลดจำนวนลง แต่สำหรับแรงงานข้ามชาติที่จะเข้ามาทำงานเพียงชั่วคราว รัฐสิงคโปร์กลับมีกฎหมายที่ควบคุมอย่างชัดเจน กรณีของแรงงานไร้ทักษะ ซึ่งส่วนมากแรงงานไทยที่ไปทำงานสิงคโปร์เป็นแรงงานไร้ทักษะ ภรรยาและครอบครัวจะไม่ได้รับอนุญาตให้ติดตามเข้าประเทศ หมายความว่าแรงงานชายจะต้องเป็นผู้เดินทางเข้ามาทำงานเพียงคนเดียวเท่านั้น นอกจากนี้การแต่งงานระหว่างหญิงสิงคโปร์กับแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย เช่นเดียวกับการแต่งงานกันเองระหว่างแรงงานข้ามชาติก็เป็นเรื่องผิดกฎหมายเช่นกัน

เหตุผลของการออกกฎหมายในลักษณะนี้ คือ เพศสัมพันธ์ของแรงงานนั้นไม่ถือว่าก่อให้เกิดการเพิ่มจำนวนประชากรให้กับพลเมืองสิงคโปร์ และนอกจากไม่ทำให้ประชากรของประเทศเพิ่มขึ้นยังอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่างๆตามมาไม่ว่าจะเป็นโรคติดต่อและอาชญากรรม พัฒนาชี้ว่าการควบคุมนี้ทำให้เกิดการซ้อนทับและแบ่งแยกของพื้นที่ในสิงคโปร์ คือ พื้นที่ของพลเมืองและพื้นที่ของแรงงานข้ามชาติ โดยสองพื้นที่นี้มีเส้นแบ่งขีดไว้อย่างชัดเจนที่คนสองกลุ่มจะไม่ปะปนกัน ในกรณีของผู้หญิงที่เข้ามาทำงานบ้านอย่างผู้หญิงฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียการควบคุมทางเพศยิ่งลงลึก มีการตรวจร่างกายเป็นประจำปีละสองครั้ง จุดมุ่งหมายหลักเป็นไปเพื่อการตรวจหาว่าตั้งครรภ์หรือไม่

ในบทสัมภาษณ์แรงงานชายไทย หลายคนเล่าถึงประสบการณ์ของตนเองพื้นที่คู่ขนานระหว่างคนข้ามชาติกับพลเมืองสิงคโปร์ ผู้ชายที่เป็นแรงงานมักถูกมองอย่างดูถูกจากผู้หญิงสิงคโปร์ ผู้หญิงบางคนปฏิเสธไม่ยอมรับที่นั่งที่เขาเสนอให้บนรถไฟฟ้า บางคนทำท่าทางหวาดกลัวเมื่อพบว่าแรงงานชายมองตน ฯลฯ ตามกฎหมายแล้วผู้หญิงสามารถแจ้งความกับตำรวจได้หากรู้สึกว่าตนเองถูกคุกคามหรือไม่ปลอดภัย ซึ่งแรงงานจำนวนมากไม่ต้องการที่จะมีเรื่องและถูกส่งตัวกลับประเทศ มองในแง่นี้อำนาจระหว่างเพศจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าคุณเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย แต่อยู่ที่ว่าคุณอยู่ในชนชั้นใดของสังคม

ปฏิสัมพันธ์และความสัมพันธ์ทางเพศของแรงงานชายไทยจึงจำกัดวงอยู่ในผู้หญิงไทยหรือผู้หญิงจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศอื่น ในกรณีผู้หญิงไทย จะมีคนจัดหาผู้หญิงมาให้ มีเต็นท์กางไว้ให้ประกอบกิจหลังสุมทุมพุ่มไม้หรือตามมุมลับตาคน ในเต็นท์จะมีฟูก กระดาษทิชชู ขวดน้ำเตรียมไว้ให้พร้อม โดยผู้หญิงไทยที่เดินทางมาทำงานจะต้องรับแขกวันละ 20 คนต่อคืน ครึ่งหนึ่งของรายได้จะตกเป็นของผู้ดูแล นอกจากนี้ยังมี "แม่ค้า" หรือผู้หญิงไทยที่ปกติแล้วจะเป็นคนเดินทางไปมาระหว่างไทยและสิงคโปร์ จัดหาสินค้า เช่น เสื้อผ้า อาหาร ข้าวของเครื่องใช้จากไทยมาให้ร้านไทยในสิงคโปร์ แม่ค้าเหล่านี้จะเป็นผู้ปล่อยเงินกู้ให้กับแรงงานไทยและในบางครั้งก็รวมถึงการขายบริการทางเพศด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานชายไทยกับแม่ค้าบางคนพัฒนาไปเป็นเพื่อน พวกเธอยังทำหน้าที่รับฝากเงินเดือนในแต่ละเดือนเนื่องจากผู้ชายจำนวนไม่น้อยไม่เคยชินกับการเป็นผู้จัดการเงินของตัวเองเพราะภรรยาจะเป็นผู้ทำหน้าที่นั้น ปัญหาการจัดการเงินส่งผลให้เงินที่ควรจะเก็บถูกใช้ไปกับสุรา การพนันหรือใช้จ่ายในเรื่องผู้หญิง แทนที่จะได้เก็บส่งไปให้คนทางบ้าน ดังนั้นความห่างไกลจากครอบครัวและคนรักจึงไม่ได้ส่งผลแค่เรื่องของจิตใจและความสัมพันธ์ทางเพศ แต่ยังส่งผลถึงเรื่องเงินทองของผู้ชายอีกด้วย

ในกรณีของผู้หญิงอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ความสัมพันธ์มักเป็นไปในเชิงเพื่อน คู่รัก ก่อนจะนำไปสู่การเป็นคู่นอน เนื่องจากผู้หญิงกลุ่มนี้เดินทางมาเป็นแม่บ้านในสิงคโปร์ เช้าจรดเย็นต้องทำงานบ้านและมีโอกาสได้พักเพียงหนึ่งวันต่อสัปดาห์ ความห่างไกลจากครอบครัวและความโดดเดี่ยวทำให้พวกเธอมองหาเพื่อนให้พักพิงทางใจมากพอๆกับคู่นอนที่เติมเต็มความต้องการ แรงงานชายไทยเล่าว่าตนเองมักจะต้องเริ่มจากการสนทนาทางโทรศัพท์ระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะนัดเจอกัน ซึ่งความสัมพันธ์ทางเพศมักจะเกิดขึ้นในเดทที่สองหรือหลังจากนั้น

แรงงานไทยจำนวนมากเดินทางออกนอกประเทศเพื่อขายแรงงาน ก่อนที่จะกลับบ้านเกิดหลังได้เงินเก็บสักก้อน แต่ไม่ใช่แรงงานทุกคนจะมีชีวิตตามที่มุ่งหวัง หลายคนเสียชีวิตในระหว่างการทำงาน สภาวะไหลตาย (SUNDs) เกิดขึ้นสูงมากโดยเฉพาะในหมู่แรงงานชายที่ทำงานหนัก การเสียชีวิตในต่างประเทศทำให้ต้องเผาศพผู้เสียชีวิตและส่งอัฐิกลับไทย เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเรื่องนี้หลายคนรายงานถึงเหตุการณ์ประหลาดที่มาในรูปแบบกลิ่น เสียง และเงา บางครั้งเห็นเป็นผู้ชายใส่เสื้อผ้าเก่าและรองเท้าแตะ

"ผีแรงงาน" ที่ปรากฏขึ้นจึงเป็นเสมือนเรื่องน่าเศร้าที่เกิดขึ้นกับแรงงานไทย ที่ทั้งตอนมีชีวิตอยู่และเสียชีวิตไปแล้วก็ไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐ และแสดงให้เห็นถึงปัญหาของรัฐไทยในการจัดการกับแรงงานข้ามชาติอย่างให้เกียรติสมศักดิ์ศรีของพลเมืองของประเทศ

พัฒนาส่งท้ายด้วยการบรรยายถึงกองทัพ "นักรบเศรษฐกิจ" หรือแรงงานข้ามชาติชาวไทยที่สวมเสื้อผ้าประดับตราบริษัทต่อแถวรอขึ้นเครื่องบินเพื่อไปทำงานยังต่างประเทศ  นักรบเหล่านี้จากลาประเทศไปอย่างเดียวดายเพราะครอบครัวไม่มีกำลังพอที่จะมาส่งยังสนามบิน ขณะเดียวกันก็กลับมาอย่างเงียบๆเช่นกันทั้งในแบบมีชีวิตและอัฐิเพียงหยิบมือ

อาจกล่าวได้ว่าพัฒนา กิติอาษาเป็นนักวิชาการมานุษยวิทยาที่สนใจประเด็นเกี่ยวกับแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติมาอย่างยาวนาน ด้วยความที่เป็นคนอีสานจึงทำให้ความสนใจในเรื่องนี้เป็นไปอย่างเข้มข้น ไม่เพียงแต่เขียนงานทางวิชาการเพื่อเผยแพร่เรื่องราวของแรงงานไกลบ้าน แต่พัฒนายังทำกิจกรรมต่างๆร่วมกับพี่น้องแรงงาน เช่น เข้าร่วมงานบุญหรืองานสังสรรค์ และสอนภาษาอังกฤษยกระดับชีวิตและสิทธิให้กับแรงงานไทยในสิงคโปร์ ดังนั้นงานเกี่ยวกับแรงงานอันเป็นคนชายขอบของสังคมไทยเสมอมาเมื่ออยู่ในงานเขียนของพัฒนาจึงกลายเป็นกลุ่มคนที่น่าสนใจและมีเส้นทางชีวิตที่ควรค่าต่อการศึกษาทั้งนั้น

หนังสือเล่มนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงงานศึกษาที่ตั้งคำถามต่อความรับผิดชอบของรัฐไทยที่มีต่อแรงงานข้ามชาติและนโยบายการจัดการแรงงานของสิงคโปร์เท่านั้น แต่ยังลงลึกไปถึงการทำความเข้าใจในมิติทางเพศและเพศสภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นชาย การจัดการความสัมพันธ์ของชายหญิงทั้งในบริบทของครอบครัว คู่รักและคู่นอน

“แรงงานชาย” ที่ปรากฏอยู่ในงานของพัฒนา จึงเป็นแรงงานที่เราสัมผัสได้ถึงเลือดเนื้อและจิตใจในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่แบกรับภาระของการเป็นหัวหน้าครอบครัวเอาไว้และต้องจากบ้านเพื่อไปทำงานส่งเงินกลับมาให้คนข้างหลัง ครอบครัวที่พร้อมหน้าสุขสันต์ตามที่ทุกคนใฝ่ฝันมีราคาแพงสูงลิ่วจนคนบางกลุ่มในสังคมไทยไม่สามารถมีได้ และบางครั้งความอยู่รอดของครอบครัวก็วางอยู่บนความเสี่ยงของชีวิตคนคนหนึ่งเช่นกัน


แด่พัฒนา กิติอาษาและนักรบเศรษฐกิจทุกคน

 


 

ที่มา Kittiarsa, Pattana. The "Bare Life" of Thai Migrant Workmen in Singapore. Chiang Mai: Silkworm Books, 2014.
ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: Singapore Policy Journal

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: