จาก 9 ปี และอีก 9 เดือน ย้อนมองโทษประหารชีวิตในประเทศไทย

ทรัพย์ทวี พุฒหอม: 31 มี.ค. 2562 | อ่านแล้ว 4033 ครั้ง


จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 ที่กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการบังคับโทษตามคำพิพากษาของศาลด้วยการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดชายธีรศักดิ์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 26 ปี ซึ่งเป็นการประหารชีวิตผู้ต้องขังเป็นรายแรกหลังจากที่พักการบังคับโทษเป็นระยะเวลานานถึง 9 ปี และนำไปสู่การออกมาแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับการประหารชีวิตขององค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย โดยการกล่าวว่าเป็นการละเมิดสิทธิในการมีชีวิต ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นสูงสุดตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และการลงโทษด้วยการประหารชีวิตนั้น ไม่ได้ส่งผลให้มีการก่ออาชญากรรมลดลงตามที่ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจ หากแต่เป็นการลงโทษที่ทารุณโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม

อีกทั้งยังเป็นการกระทำที่สวนทางกับแนวโน้มของการบังคับใช้โทษประหารชีวิตทั่วโลก ที่มีแนวโน้มการบังคับโทษที่ลดลง โดยตัวเลขที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล นำเสนอคือมีประเทศมากกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนประเทศทั่วโลก ที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว ทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ แม้ว่าล่าสุดจะมีความพยายามบังคับใช้โทษประหารชีวิตโดยการถูกขว้างด้วยหินจนตาย กับผู้ที่มีรสนิยมรักร่วมเพศ ในประเทศบรูไนก็ตาม (โดยกฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 เมษายน 2562)

ที่มาภาพประกอบ: Amnesty International Thailand

โทษประหารชีวิตยังคงเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมที่ประชาชนยังคงมีโอกาสตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ด้วยความรู้สึกว่า การมีโทษประหารชีวิต จะสามารถทำให้อาชญากรที่คิดจะกระทำความผิดเกิดความหวาดกลัวโทษทัณฑ์ที่จะตามมา หากแต่สถิติจากการทำการวิจัยในต่างประเทศนั้นต่างให้ข้อสรุปว่า การมีโทษประหารชีวิตนั้นไม่ได้ส่งผลต่อจำนวนการเกิดอาชญากรรมแต่อย่างใด

จากวันที่ 18 มิถุนายน 2561 ถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลาประมาณ 9 เดือน และเวลาที่ล่วงผ่านนั้นอาจจะทำให้อารมณ์ที่คุกรุ่นรุนแรงนั้นได้บางเบาลงไปบ้าง เพื่อที่ทุกคนจะสามารถมองลงไปในประเด็นนี้ได้โดยที่ไม่ใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง และพร้อมที่จะหาทางออกไปสู่สังคมที่ปลอดภัยไปด้วยกันอย่างสันติ

“การประหารชีวิต ละเมิดสิทธิมนุษยชน” จริงหรือ ?

“การประหารชีวิตไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตราบใดที่ทำภายใต้เกณฑ์ที่กำหนด คือจะต้องทำเฉพาะ Most Serious Crime ความผิดที่เป็นความผิดรุนแรง การฆ่าคนนี่เป็น Most Serious Crime แน่นอน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณกรณ์ บุญมี กล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณกรณ์ บุญมี: ภาพถ่ายโดย ตะวัน ดิสนีเวทย์

จากการสัมภาษณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณกรณ์ บุญมี ในฐานะผู้เชี่ยวชาญกฎหมายสิทธิมนุษยชน พบว่าการประหารชีวิตนั้นไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนใน ‘ทุกกรณี’ เพราะแม้แต่องค์กรระหว่างประเทศก็ยังรับรองการลงโทษด้วยการประหารชีวิตในหลายกรณี และประเทศไทยก็ยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นภาคีกับพิธีสารเลือกรับของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองทั้งฉบับแรกและฉบับที่ 2 (Optional Protocol to the ICCPR , Second Optional Protocol to the ICCPR) ที่จะมีผลสืบเนื่องให้ประเทศไทยต้องยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางกฎหมาย

“สิทธิมนุษยชนจะมีก็ต่อเมื่อมีกฎหมายรับรองและคุ้มครองให้เท่านั้น กฎหมายในที่นี้ไม่ใช่เฉพาะกฎหมายภายในแต่รวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมวิพากษ์แอมเนสตี้ ในทางวิชาการคือการพูดไม่ตรงความจริง หลายประเทศทั่วโลกยังมีการปฏิบัติเรื่องการประหารชีวิตอยู่ องค์กรระหว่างประเทศของ UN ออกมาเรียกร้องให้ลดโทษประหารชีวิต แต่ไม่มีใครกล้าพูดขนาดที่ว่าการประหารชีวิตเป็นการขัดสิทธิมนุษย์ชน”  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณกรณ์ บุญมี กล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณกรณ์ บุญมี ยังอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับความหมายของ Legal Possitivism ว่ากฎหมายในประเทศไทย ไม่เพียงแต่เป็นคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ภายในประเทศ หากแต่ผูกพันธ์กับกฎหมายหรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีอยู่ ซึ่งประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีกับสนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ภายใต้สหประชาชาติอยู่ถึง 7 ฉบับ จากจำนวนทั้งหมด 9 ฉบับ และกำลังจะเข้าเป็นภาคีในฉบับที่ 8 นั่นส่งผลให้ประเทศไทยนั้นไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ หากแต่ต้องคำนึงถึงกฎหมายระหว่างประเทศเหล่านี้ด้วย

จะต้องถกเถียงเรื่องนี้กันทำไม เมื่อคนส่วนใหญ่ในประเทศไม่เห็นด้วยกับการยกเลิก ?

จากกรณีที่ผ่านมาพบว่าหลังจากการออกมาแสดงจุดยืนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นเป็นวงกว้างทั้งบนโลกออนไลน์ และจากสื่อมวลชน ว่าการแสดงออกซึ่งจุดยืนดังกล่าวนั้นขัดต่อความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ ที่ต้องการให้คงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิต เพื่อเป็นการป้องปรามการเกิดคดีอาชญากรรมที่คล้ายกันขึ้นในอนาคต

นายชำนาญ จันทร์เรือง: ภาพถ่ายโดย ตะวัน ดิสนีเวทย์

 

จากการสัมภาษณ์นายชำนาญ จันทร์เรือง อดีตประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และ รองศาสตราจารย์ ดร.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าความพยายามในการยกเลิกโทษประหารในหลายประเทศนั้น ไม่ได้มาจากฉันทามติของประชาชนส่วนใหญ่ภายในประเทศแต่อย่างใด หากแต่เป็นผลสืบเนื่องจากสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และภาวะผู้นำของผู้มีอำนาจของประเทศนั้นๆว่าจะดำเนินการเกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอย่างไร แม้ว่าจะเป็นการขัดต่อความต้องการของคนส่วนใหญ่ในประเทศก็ตาม

“ประเทศที่เจริญแล้วก็ยังมีอาชญากรรมอยู่ ไม่ใช่ไม่มี ยุโรปอาชญากรรมก็ยังมีอยู่ แต่ว่ามันไม่ใช่เหตุว่าจะมีหรือไม่มีโทษประหารชีวิต หลายๆประเทศอย่างเช่นในยุโรป หรือในหลายๆที่ การรณรงค์ให้ไม่มีโทษประหารชีวิตก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนส่วนใหญ่จะเอาด้วย มันอยู่ที่รัฐสภา อยู่ที่ภาวะผู้นำ ในการชี้แจงให้ความรู้แก่ประชาชนทำให้สภามีมติออกมาได้ ถ้าสำรวจประชามติตามหลักทั่วๆไปคนส่วนใหญ่จะหวาดกลัวไว้ก่อน ป้องกันไว้ก่อนดีกว่า แต่พอผู้นำมีภาวะผู้นำ รัฐสภาให้ความรู้แก่ประชาชนเขาก็ยอมตามทั้งนั้น น้อยมากที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้วนำกลับมาใช้อีก ไม่มี” นายชำนาญ จันทร์เรือง กล่าว

รองศาสตราจารย์ ดร.โคทม อารียา: ภาพถ่ายโดย ณัฐสุวัชร์ บุญมา

“การเมืองเป็นปัจจัยที่สำคัญอยู่แล้วทั้งการยกเลิกหรือการนำโทษกลับมาใหม่ แต่ว่าก็ต้องคิดให้ละเอียดรอบคอบว่าจะไปทางไหน ถ้านักการเมืองคิดอย่างเดียวคือว่ากระแสสังคมอยู่ทางไหน ก็จะไปทางนั้น ผมคิดว่านักการเมืองในลักษณะนี้จะนำพาหรือเป็นผู้นำทางความคิด ทางจริยธรรมของประเทศได้ยาก ถ้าฟังพระอาจารย์ประยุทธ์ ปยุตฺโต ท่านบอกว่าเป็นพวกที่ยึดโลกาธิปไตย โลกเขาไปทางไหนก็ถือว่าทางนั้นแหละดี คือเชื่อกระแสสังคม แต่ท่านอาจจะอยากเสนอแนะให้ถือหลักการ ให้ถือสิ่งที่เป็นสาระที่อยู่ลึกไปกว่านั้นซึ่งท่านเรียกว่าธรรมาธิปไตย คือหลักแห่งธรรมชาติ และธรรมชาติก็คือทุกชีวิตย่อมรักชีวิตของตนเอง และพึงเอื้อเฟื้อความรักชีวิต ไปทำความเข้าใจกับชีวิตของคนอื่น” รองศาสตราจารย์ ดร.โคทม อารียา กล่าว

ที่มาภาพประกอบ: Facebook ธกร อำพันธ์เปรม

ในขณะเดียวกัน ก็มีมุมมองจากประชาชนคนที่เคยได้ทำงานรณรงค์เพื่อการแก้ไขปรับปรุงโทษในคดีข่มขืน และได้มีประสบการณ์ในการช่วยเหลือเหยื่อในคดีข่มขืนหลายต่อหลายคนจนได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวางอย่าง นายธกร อำพันธ์เปรม ยังคงยืนยันว่าปัญหาอาชญากรรมนั้นเป็นผลมาจากการไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง หากมีโทษบัญญัติไว้ ก็ต้องบังคับใช้โทษตามนั้น เพื่อเป็นการคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่ออย่างเหมาะสม โดยเฉพาะในคดีข่มขืนที่มีเหตุในการลดหย่อนโทษมากมาย จนทำให้ผู้กระทำความผิดไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย

“มีก็บังคับใช้ให้จริง ถ้าบังคับใช้ไม่จริง ก็ดูแลตัวเองกันได้ คนจะได้ระวังป้องกันตัวเอง สัญชาตญาณการระวังป้องกันภัยของมนุษย์จะเกิดขึ้นได้เองหากกฎหมายไม่มี เพราะฉะนั้นกฎหมายเบาหวิวไปเลยก็ได้ ปรับ 20 บาทก็ได้ คนจะได้ระวังป้องกันตัว ไม่ใช่ว่ามีกฎหมายที่เขารู้ ผู้หญิงพยายามศึกษากฎหมายเพื่อป้องกันตัวเอง ว่ากฎหมายคุ้มครองเราในเรื่องไหนบ้าง พวกเธอรู้ กฎหมายยังมีอยู่ พวกเธอก็เชื่อมั่นและเคารพต่อกฎหมาย แต่ผู้ชายที่ลงมือทำกับเธอไม่คิดอย่างนั้น มันไม่ได้กลัวกฎหมาย เพราะผู้ชายมันรู้เยอะกว่า คือรู้ว่ามันไม่ได้หนักขนาดนั้น กฎหมายไทยมันไม่ได้หนักขนาดนั้น พอเข้าสู่กระบวนการจริงๆแล้วมันลดลงไปได้อีก” นายธกร อำพันธ์เปรม กล่าว

นายธกร อำพันธ์เปรม: ภาพถ่ายโดย ปวริศ ปฏิเมธีภรณ์

จากความคิดเห็นที่แตกต่างกันของฝ่ายนักสิทธิมนุษยชนที่ต้องการให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต และฝ่ายประชาชนที่ต้องการให้คงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิตนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณกรณ์ บุญมี ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่าความคิดเห็นที่ต่างกันนั้นมาจากฐานคิดที่ต่างกันคือ การลงโทษที่คาดหวังผลไปข้างหน้า คือหวังให้การลงโทษประหารชีวิตนั้นทำให้สังคมมีอาชญากรรมที่ลดลง ซึ่งถูกตอบด้วยการวิจัยในต่างประเทศแล้วว่าการมีโทษประหารชีวิตไม่ได้ส่งผลให้อาชญากรรมลดลง และอีกฐานคิดหนึ่งคือ การลงโทษโดยการมองย้อนกลับไปที่ความผิดของตัวอาชญากร และลงโทษให้ได้ตามสัดส่วนความผิดนั้นโดยไม่ได้คาดหวังถึงผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“หลายคนชอบพูดว่า ‘เห็นไหมในหลายประเทศมีการยกเลิกโทษประหารชีวิตหรือว่ายังมีโทษประหารชีวิตอยู่อัตราการประกอบอาชญากรรมก็ไม่ได้ต่างกัน เพราะฉะนั้นโทษประหารชีวิตไม่ได้มีประสิทธิภาพในการยับยั้งอาชญากรรม’ เพราะว่าคุณมองไปข้างหน้า คุณหวังว่าการใช้โทษประหารชีวิตจะยับยั้งอาชญากรรมได้ ผมไม่ได้ต้องการแบบนั้น การลงโทษของผมคือการมองย้อนหลัง คุณทำผิด ณ วันนี้ นี่คือราคาที่คุณต้องจ่าย คุณละเมิดสิทธิ์เขาคุณจ่ายราคามา เขาเรียกว่า Backward Looking และมักจะถูกเข้าใจว่าเป็นการแก้แค้นทดแทน เป็น Retributvism ซึ่งก็ไม่เสมอไป การมองย้อนหลังถูกมองได้ในลักษณะที่เรียกว่า Just Deserts คือลงโทษให้เหมาะสมกับความผิดที่คุณทำ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณกรณ์ บุญมี กล่าว

โดยที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณกรณ์ บุญมี ยังเน้นย้ำว่าถึงแม้จะสนับสนุนโทษประหารชีวิต แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนในทุกฐานความผิด จะต้องเป็นความผิดที่รุนแรงเหมาะสมหรือได้สัดส่วนกับโทษประหารชีวิต และวิธีการจะต้องไม่เกินสัดส่วน ต้องไม่ใช้วิธีการที่โหดร้าย และสุดท้ายคือต้องมั่นใจว่าคนๆนั้นทำผิดจริง ถ้าจะประหาร ต้องไม่ประหารผิดคน

ถูกต้อง ? รวดเร็ว ? เป็นธรรม ?

ในปลายทางของการถกเถียงเรื่องโทษประหารชีวิตในประเทศไทย อาจจะยังไม่สามารถสิ้นสุดภายในเร็ววันนี้ หากแต่สิ่งที่ทุกคนในประเทศนี้ต้องพิจารณากันอย่างจริงจังมากขึ้น นั้นอาจจะเป็นประเด็นว่า เราทุกคนกำลังใช้ชีวิตอยู่ในสังคมแบบใด ? เรากำลังสร้างสังคมที่ปลอดภัยอย่างที่เราต้องการหรือไม่ ? เรากำลังจะส่งทอดสังคมแบบไหนให้กับคนรุ่นใหม่ ? กระบวนการยุติธรรมในสังคมของเรานั้นมีประสิทธิภาพเพียงพอแล้วหรือยัง ?

จากการสำรวจตัวเลขสถิติผลการดำเนินงานของสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ พบว่าตลอดการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2545 ถึง ปัจจุบัน มีการใช้งบประมาณในการเยียวยาจำเลยในคดีอาญาที่ในท้ายที่สุดศาลมีคำพิพากษาว่าไม่มีความผิดหรือถอนฟ้อง ไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 500 ล้านบาท จากจำนวนจำเลยทั้งหมด 2,338 คน นั้นแสดงให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยนั้นยังคงมีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดได้ และรัฐก็ยังคงต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

ที่มาภาพประกอบ : สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา

จากการสัมภาษณ์นักเขียนสารคดีอิสระ อย่างคุณอรสม สุทธิสาคร ที่ได้อุทิศตัวให้กับการทำโครงการเยียวยาและฟื้นฟูผู้ต้องขังภายในเรือนจำผ่านวิชาการเขียนเรื่องเล่าจากประสบการณ์จริงของผู้ต้องขังในแดนประหาร และโครงการปั้นดินให้เป็นบุญที่ให้โอกาสกับผู้ต้องขังโทษสูงของเรือนจำบางบางขวางได้มีโอกาสในเรียนรู้การปั้นพระพุทธรูปเพื่อขัดเกลาจิตใจ โดยพัฒนาเป็นกองทุนที่นำรายได้จากการรับหล่อพระพุทธรูปมาใช้เป็นเงินทุนเริ่มต้นชีวิตให้กับผู้ต้องขังที่พ้นโทษจากเรือนจำ และกำลังจะพัฒนาไปสู่การเยียวยาครอบครัวเหยื่อในคดีอาชญากรรมอีกด้วย และจากประสบการณ์การทำงานในเรือนจำของคุณอรสมนั้นทำให้พบว่า ปัญหาที่มีจำนวนนักโทษในเรือนจำมากเกินจำนวนปกติที่จะรองรับได้นั้น ทำให้การฟื้นฟู เยียวยา หรือการ คืนคนดีมีคุณค่าสู่สังคม ตามวิสัยทัศน์ของกรมราชทัณฑ์นั้น เป็นเรื่องที่ยาก และหากจะปรับปรุงแก้ไข ก็ควรที่จะต้องแก้ไขที่ต้นทาง คือการลดจำนวนผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิด ให้ไม่ต้องเข้ามารับโทษในเรือนจำ

คุณอรสม สุทธิสาคร : ภาพถ่ายโดย ณัฐสุวัชร์ บุญมา

“ในเมื่อราชทัณฑ์รับภาระเยอะมาก เกินกว่าที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้นจะมาเรียกร้องให้เขาปฏิรูปอะไรตรงนี้ เป็นเรื่องยาก เลยอยากจะบอกว่าให้แก้ไขที่ต้นทางเถิด เพราะว่าทุกวันนี้เจ้าหน้าที่เองก็ทำงานกันหนัก กำลังเจ้าหน้าที่ก็น้อยผู้ต้องขังก็เยอะ เพราะฉะนั้นการแก้ไขมันคงต้องทำกระบวนการยุติธรรมไทยให้คนที่ไม่ผิดไม่ต้องเข้ามารับโทษ หรือผิดแต่น้อยก็อาจจะใช้กระบวนการของการคุมประพฤติเข้ามาช่วย” คุณอรสม สุทธิสาคร กล่าว

ในข้อเท็จจริงที่จำเป็นต้องนำมาพิจารณาในส่วนนี้คือปัจจุบันมีผู้ต้องขังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำทั้งสิ้น 334,279 คน และเป็นผู้ต้องขังจากคดี พ.ร.บ. ยาเสพติด จำนวนถึง 294,633 คน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 77.18 ของจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด (ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ สำรวจเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2562) ในขณะที่เรือนจำทั้งหมดในประเทศไทยมีความสามารถในการรองรับผู้ต้องขังได้เพียง 120,000 - 200,000 คนเท่านั้น จึงเป็นข้อสังเกตว่ากระบวนการยุติธรรมไทยควรมีการจัดการกับคดียาเสพติดที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้หรือไม่ เพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังภายในเรือนจำ และให้กรมราชทัณฑ์ได้สามารถ คืนคนที่มีคุณค่าให้สังคม ได้ตามวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้

“เราไม่มีกำลังพอ ปัจจุบันเอาเฉพาะเงินเราจ่ายเงินค่าอาหาร 50 กว่าบาทต่อคนต่อวัน นักโทษเรา 2 แสนคน 3 แสนคน ตีต่ำๆ 2 แสนคน วันนึงเท่าไหร่ เอา 2 แสน คูณด้วย 50 ก็ได้เท่าไหร่ 10 ล้าน ปีนึงเท่าไหร่ เราเสียงบประมาณกับเรื่องพวกนี้เยอะขนาดนี้ เราจะเงินที่ไหนไปพัฒนาเรื่องอื่น 1. ทรัพยากรด้านกำลังคนไม่พอ 2. ทรัพยากรด้านสถานที่ไม่พอ 3. ทรัพยากรด้านงบประมาณไม่พอ มันแก้ไขไม่ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องพวกนี้ต้องแก้หมด ยาเสพติดควรจะเข้าคุกไหมอันนี้ควรจะต้องมาคุยกัน ผมคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ ผมไม่คิดว่ายาเสพติดทั้งหมดควรจะต้องเข้าคุก” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณกรณ์ บุญมี กล่าว

9 ปี 9 เดือน และอีกต่อๆไป

จากข้อถกเถียงเรื่องโทษประหารชีวิตนำไปสู่คำถามถึงกระบวนการยุติธรรม และระบบราชทัณฑ์ในประเทศไทย ซึ่งไม่ว่าจะยกเลิกโทษประหารชีวิตหรือไม่ก็ตาม ก็ยังคงมีปัญหาในส่วนต่างๆที่จำเป็นต้องมีการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม เพราะไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิต เราต่างก็ยังคงต้องใช้ชีวิตกับสิ่งต่างๆเหล่านี้ต่อไป เรายังคงต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่ไม่สามารถถูกเรียกได้อย่างเต็มปากว่าเป็น “สังคมที่ปลอดภัย” เราทุกคนต่างมีโอกาสที่จะตกเป็นเหยื่อ แพะ หรือแม้กระทั่งจำเลยในคดีอาชญากรรม

และแม้ความต้องการให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในประเทศไทย นั้นจะเป็นจุดยืนที่ขัดต่อความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ และการพูดเรื่องนี้จะนำไปสู่การถกเถียงของคนในประเทศ หากแต่การถกเถียงบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง โดยไม่ใช้อารมณ์ในการโจมตีกันและกันนั้น ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย หากการถกเถียงนั้นจะทำให้เกิดการพัฒนาสังคมของเราให้เป็นสังคมที่ปลอดภัยขึ้นสำหรับคนทุกคน ไม่ว่าคนๆนั้นจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม

“พูดง่ายๆอกเขาอกเรา การรณรงค์เรื่องนี้เราจะไม่ใช้โดยเด็ดขาดว่า ‘คุณไม่รู้อะไร’ ‘คุณยังไม่เข้าใจ’ พูดอย่างนี้ไม่ได้ ต้องใช้คำว่าตอนนี้คุณยังไม่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร เราก็ให้เหตุผลอย่างนี้ อธิบายไป คือเราพูดไปพูดมากลายเป็นคนฟังเข้าใจว่าไปว่าเขาโง่ แทนที่จะดี ยิ่งหนักเข้าไปอีก เหตุการณ์มันเป็นอย่างนี้ที่การต่อต้านมันถึงเยอะ หรือไปมองว่าเขาป่าเถื่อนโหดร้ายทารุณเหมือนไปด่าเขา เขาก็ตอบกลับ แต่ถ้าเราพูดไปอีกทางนึงหละ ว่าชีวิตมนุษย์มันก็เป็นชีวิต ชีวิตคนอื่นก็เหมือนกัน ไม่มีใครอยากถูกทำร้าย”

“ผมก็เพียงแต่เสนอว่า ท่านเพียงแต่เปิดใจรับฟังบ้าง ยังไม่ต้องรีบเห็นด้วยหรอก เพียงแต่เปิดใจรับฟังบ้างเท่านั้นเอง ส่วนท่านจะตัดสินใจอย่างไรก็เป็นการตัดสินใจของท่านว่าท่านจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เปิดใจรับฟังไว้ก่อน อย่าพึ่งโต้กลับมาจนแรงนัก เดี๋ยวนักสิทธิมนุษยชนก็จะหมดแรงไปเสียเปล่าๆ ก็ถ้อยทีถ้อยรับฟังไปก่อน จะขอบคุณเป็นอย่างสูงครับ” รองศาสตราจารย์ ดร.โคทม อารียา กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: