รอบ 40 ปี‘ความหลากหลายชีวภาพ’ลดลงกว่าครึ่ง มนุษย์ทำเองทั้งทางตรง-อ้อม

ศิริลักษณ์ แสวงผล | TCIJ School รุ่นที่ 6 | นศ.วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ | 30 ส.ค. 2562 | อ่านแล้ว 24508 ครั้ง

 

งานวิจัยระบุรอบ 40 ปี สัตว์และพืชป่าลดลงครึ่งหนึ่งจากกว่า 1,000 ชนิดพันธุ์ ชี้ ‘ถูกคุกคาม’ ส่งผลให้ความหลากหลายทางชีวภาพน่าเป็นห่วง ทั้งในระดับโลก ภูมิภาค และระดับประเทศ นักวิทยาศาสตร์เตือนการสูญพันธุ์ของสัตว์หลาย เป็นภัยคุกคามการอยู่รอดของอารยธรรมมนุษย์ สาเหตุหลักจากการทำลายที่อยู่อาศัย การล่าเกินระดับที่เหมาะสม การปนเปื้อนของมลภาวะ การคุกคามโดยชนิดพันธุ์ต่างถิ่น การบุกรุกป่าไม้ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  เพราะจำนวนประชากรมนุษย์ที่มากเกินไป การเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง การบริโภคเกินความจำเป็น รวมถึงพฤติกรรมที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์  ที่มาภาพ: cocoparisienne (CC0 Public Domain)

รู้จัก ‘ความหลากหลายทางชีวภาพ’ และการหายไปในระดับโลก

กว่า 10 ปีที่ผ่านมา คำว่า “ความหลากหลายทางชีวภาพ” ถูกกล่าวถึงในแวดวงวิชาการกว้างขวางขึ้น ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญไปที่ระบบนิเวศป่าไม้ อันเป็นที่ยอมรับว่าเป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุด[1] ซึ่งมีความหมายครอบคลุมถึงสิ่งมีชีวิตทั้งพืช สัตว์ จุลินทรีย์ที่ต่างก็มีความหลากหลายในทุกระดับนับตั้งแต่ยีนหรือพันธุกรรม (ดีเอ็นเอหรืออาร์เอ็นเอ) ถึงระดับความหลากหลายของชนิดหรือสปีชีส์ที่มีความเชื่อมโยงกันเป็นสายใยในระบบนิเวศหลากหลายรูปแบบ อันเป็นผลพวงจากกระบวนการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลก และกระจายตัวอยู่ทั่วไปบนโลก แต่ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ป่าเขตร้อนที่มีพื้นที่รวมกันเพียง 7% ของผืนแผ่นดินบนโลก และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากอย่างเด่นชัด มีรูปแบบของสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายมากถึง 90% [2]

ความหลากหลายทางชีวภาพที่เปราะบางกำลังคุกคาม ในช่วง 44 ปีที่ผ่านมา ระหว่าง พ.ศ. 2513 ถึง 2557 ปริมาณประชากรสัตว์ป่าลดลงราวร้อยละ 60 ในขณะที่พื้นที่ซึ่งเหมาะสมแก่การอยู่อาศัยของสัตว์ป่าลดลงร้อยละ 22 ในช่วงเวลาเดียวกัน

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้เปิดเผยรายงานดัชนีโลกมีชีวิต (Living Planet Index: LPI) ซึ่งเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ โดยกองทุนสัตว์ป่าสากล(WWF) อ้างอิงจากความเสี่ยงในการสูญพันธ์ของบัญชีแดงซึ่งจัดทำโดย IUCN สัญญาณน่ากังวลคือสัตว์และแมลงผสมเกสร ลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มดังกล่าว ผสานกับการหายไปของผึ้งผสมเกสร และการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ในดิน อาจส่งผลต่อความสามารถของมนุษยชาติในการผลิตอาหาร

รายงานดังกล่าวยังระบุถึงดัชนีความหลากหลายทางชีวภาพดั้งเดิม (Biodiversity Intactness Index: BII) เปรียบเทียบระหว่างความหลากหลายทางชีวภาพในปัจจุบันกับสมัยที่ยังมีการรบกวนจากมนุษย์เพียงเล็กน้อย รายงานล่าสุดระบุว่า ดัชนีข้างต้นลดลงจากร้อยละ 81.6 เมื่อ พ.ศ. 2513 เหลือร้อยละ 78.6 ในปี พ.ศ. 2557 ในระดับโลก แต่หากพิจารณาในระดับภูมิภาค เช่น เขตชีวภูมิป่าฝนร้อนชื้น จะพบการลดลงที่รวดเร็วอย่างมาก จากร้อยละ57.3 เมื่อ พ.ศ. 2544 เหลือเพียงร้อยละ 54.9 เมื่อ พ.ศ. 2555 ตัวเลขดังกล่าวนับว่าน่าตื่นตระหนก เพราะการคำนวณ BII นั้นค่อนข้างอนุรักษนิยม และยังไม่รวมปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไปอีกด้วย

แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นภัยคุกคามที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น แต่ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพก็ยังเป็นการใช้ชนิดพันธุ์อย่างเปล่าเปลือง การเกษตร และการแปลงสภาพพื้นดิน Marco Lambertini กรรมการอำนวยการ WWF International ระบุว่า การลดลงที่น่ากังวลคือดัชนีชี้วัดได้เป็นอย่างดีถึงแรงกดดันจากกิจกรรมของมนุษย์ต่อโลก รวมถึงความเสื่อมโทรมของดินทำให้เกิดการสูญเสียป่าไม้ในเขตร้อนชื้น พื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงอันดับต้นๆ ส่งผลกระทบถึงหลากชนิดพันธุ์ คุณภาพของถิ่นที่อยู่อาศัย และการทำงานของระบบนิเวศ

ระหว่างปี 1970 ถึงปี 2012 ดัชนีชี้วัดความหลากหลายทางชีวภาพของโลกแสดงให้เห็นจำนวนประชากรสัตว์มีกระดูกสันหลังที่ลดลงถึงร้อยละ 58 ที่มาภาพ: WWF

รายงานของ Living Planet Report ที่มีการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องพบว่า ดัชนีชี้วัดความหลากหลายทางชีวภาพมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยล่าสุด ประชากรสัตว์จำนวน 3,772 กลุ่ม จำนวน 668 ชนิดพันธุ์ ได้รับการบรรจุเพิ่มเข้ามาในฐานข้อมูลดัชนีชี้วัดความหลากหลายทางชีวภาพ (ภาพประกอบ 2) แม้ว่าข้อมูลปัจจุบันจะจำกัดอยู่เพียงแค่ประชากรสัตว์มีกระดูกสันหลัง แต่ในอนาคตจะมีการพัฒนาวิธีเก็บข้อมูลเพื่อให้ครอบคลุมถึงสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังและพืชด้วยแต่ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการพัฒนาวิธีเก็บข้อมูลเพื่อให้ครอบคลุม [3]

ที่มาภาพ: WWF

Living Planet Report 2018 ระบุว่าจำนวนสัตว์ป่าลดลงมหาศาล เพราะการบริโภคของมนุษย์ และโลกในปัจจุบันกำลังสูญเสียความหลากหลายทางธรรมชาติ [4]

โดย WWF เผยว่า ในช่วงปี 1970-2014 ที่ผ่านมา โลกได้สูญเสียสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังไปมากกว่า 60% ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก ปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ หรือแม้แต่สัตว์เลื้อยคลาน ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการบริโภคอย่างไม่หยุดยั้งของมนุษย์ โดยภูมิภาคลาตินอเมริกาเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนประชากรสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังล้มตายและสูญพันธุ์ไปมากที่สุดถึง 89% เมื่อเทียบกับช่วงยุคทศวรรษ 1970 [5]

ปัจจุบันทั่วทั้งโลกมีพื้นที่ราว 1 ใน 4 ของโลกเท่านั้นที่ปลอดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ แต่คาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะมีลดลงเหลือเพียง 1 ใน 10 เท่านั้น ภายในปี 2050 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดจากความต้องการผลผลิตทางด้านอาหาร น้ำ พลังงานและที่ดินที่เพิ่มมากขึ้น

วิกฤติความหลากหลายทางชีวภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ย่อลงมาในส่วนของภูมิภาคเอเชีย ก็นับว่าเป็นพื้นที่ที่อุดมด้วยสัตว์ป่านานาชนิด โดยมีพื้นที่อย่างน้อย 6 แห่ง จาก 25 แห่งที่เป็นพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity hotspot) หมายถึงพื้นที่ที่มีชนิดพันธุ์ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (endangered species) อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น

อย่างไรก็ดี ภัยคุกคามมากมายกำลังทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพอยู่ในสภาวะน่าเป็นกังวล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องถิ่นที่อยู่อาศัยถูกทำลาย ผืนป่าโดนคุกคามอย่างหนัก การทำเขื่อนและเหมืองแร่ การล่าและการค้าทรัพยากรป่าไม้หรือสัตว์ป่า

สิ่งเหล่านี้มีส่วนทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในสภาวะถูกคุกคามอย่างหนัก นักวิจัยคาดว่าในอีก 9 ปีข้างหน้า บางพื้นที่ในภูมิภาคอาจสูญเสียพื้นที่ป่าราวร้อยละ 98 ของผืนป่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเป็นพื้นที่ที่อันตรายที่สุดสำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้สูญเสียพื้นที่ป่ามากที่สุดในโลก คือราวร้อยละ 14.5 จากพื้นที่ที่เคยมีอยู่เดิม

บางพื้นที่ เช่น ป่าในประเทศฟิลิปปินส์ ถูกทำลายลงราวร้อยละ 89 จากพื้นที่ป่าดั้งเดิม การสูญเสียดังกล่าวสามารถพบเห็นได้อย่างชัดเจนขึ้นจากเทคโนโลยภาพถ่ายดาวเทียมที่ทันสมัย เช่น Google Earth ที่สามารถเก็บข้อมูลได้อย่างชัดเจนว่าพื้นที่ป่าดั้งเดิมได้ถูกแปลงให้กลายพื้นที่ทางการเกษตร การสูญเสียพื้นที่ป่านับว่าเป็นสาเหตุสำคัญของการสูญพันธุ์ โดยมีอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ การปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมัน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผืนป่าถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว [6]

สถานการณ์ความหลากหลายทางชีวภาพของไทย

สำหรับประเทศไทย แม้จะยังไม่มีตัวเลขภาพรวมเหมือนดัชนีโลกมีชีวิต (Living Planet Index: LPI) แต่ตัวเลขบ่งชี้ทางสิ่งแวดล้อมเท่าที่พอจะหาได้ เช่น การลดลงจำนวนสัตว์ป่า จำนวนพื้นที่ป่าไม้ ข้อมูลช่วง 50 ปีที่ผ่านมา พบว่าจำนวนลดลงทรัพยากรลดลงและถูกคุกคามผืนป่ามากขึ้นเรื่อย ๆ

จากเว็บไซต์กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในบทความสัมภาษณ์ ศ.ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (Biodiversity Research and Training Program- BRT) หรือ โครงการบีอาร์ที ได้อธิบายว่าประเทศไทยอยู่ในชัยภูมิที่อุดมสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งของโลก มีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้สรรพชีวิตกำเนิด อยู่อาศัย และแพร่กระจายพันธุ์ ซึ่งประมาณได้ว่าในประเทศไทยมีความหลากหลายของชนิด สิ่งมีชีวิตราว 10% ของโลก มีพันธุ์พืชมากกว่า 15,000 ชนิด มีนกกว่า 930 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกว่า 300 ชนิด สัตว์เลื้อยคลานอีกว่า 300 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกกว่า 110 ชนิด และปลาอีกกว่า 1,400 ชนิด ทว่า ความหลากหลายของชนิดสิ่งมีชีวิตเหล่านี้กำลังถูกรุกรานจากเพื่อนร่วมโลก คือ มนุษย์

ข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ที่ทำการศึกษา สำรวจสถานภาพและถิ่นที่อยู่อาศัย รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลของชนิดพันธุ์หายาก ใกล้สูญพันธุ์ และชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่นในกลุ่มสัตว์มีกระดูกสันหลังใน ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2004 โดยครอบคลุมสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และปลา พบว่ามีอยู่ทั้งสิ้น 4,591 ชนิด ในจำนวนนี้สูญ พันธุ์ไปแล้ว 6 ชนิด สูญพันธุ์ในธรรมชาติแล้ว 7 ชนิด และอีก 84 ชนิดในจำนวนกว่า 500 ชนิดของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม จัดเป็นชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง

สถานการณ์สัตว์ป่า - จากฐานข้อมูลเพื่อการรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ได้เผยข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมขาติและสิ่งแวดล้อม ปี พ.ศ. 2560 ถึงตัวชี้วัดของจำนวนชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม ว่าใน พ.ศ. 2559 ประเทศไทยได้มีการสำรวจและประเมินสถานภาพการถูกคุกคามของสัตว์มีกระดูกสันหลัง จำนวน 2,276 ชนิด พบว่า มีสถานภาพสูญพันธุ์แล้ว 8 ชนิด ได้แก่ สมัน กูปรี กระซู่ แรด นกพงหญ้า นกช้อนหอยใหญ่ นกหัวขวานด่างหน้าผากเหลือง และปลาหวีเกศ อีกทั้งมีสถานภาพสูญพันธุ์ในธรรมชาติ 4 ชนิดส่วนชนิดพันธุ์ที่อยู่ในสถานภาพที่ถูกคุกคาม (Threatened species) มี 569 ชนิด คิดเป็นร้อยละ 12.03 ของชนิดพันธุ์ในไทย จำแนกเป็นมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ 282 ชนิด ใกล้สูญพันธุ์ 185 ชนิด และใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง 102 ชนิด โดยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีชนิดพันธุ์ที่มีสถานภาพถูกคุกคามมากที่สุดร้อยละ 35.65 ของชนิดพันธุ์ที่พบในไทย รองลงมา คือ นก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และปลา ตามลำดับ

 

สัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีสถานภาพชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย พ.ศ. 2559 ที่มาภาพ: สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สถานการณ์ป่าไม้และพันธุ์พืชไทย – ชนิดพันธุ์พืชในไทย มีจำนวนมากกว่า 15,000 ชนิด ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีการค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกจากพื้นที่ป่าในหลายจังหวัดของประเทศไทยอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ในปัจจุบัน ถิ่นอาศัยของพืชหลายแห่งในประเทศไทยลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายกิจกรรม เช่น การทำลายพื้นที่ป่า การเกษตร การท่องเที่ยว รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก จึงมีการคาดการณ์ว่าหากไม่มีการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง อาจมีพืชอย่างน้อย 60,000 ชนิด ที่จะสูญพันธุ์ภายใน 50 ปี ข้างหน้า  [7]

ที่มาภาพ: GISTDA

พื้นที่ผืนป่าในไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเหลือเพียง 102.17 ล้านไร่ โดยภาคเหนือเหลือป่ามากที่สุด ขณะที่ตัวเลขงบ ประมาณผู้พิทักษ์ป่า มีแค่ 61 บาทต่อ 625 ไร่ ด้าน สคช. ผุดยุทธศาสตร์ชาติชุบคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น หวังไทยเป็นที่หนึ่งในอาเซียนใน 20 ปี

จากการแปลภาพถ่ายดาวเทียม พื้นที่ป่าไม้ประเทศไทยปี 2559 โดยกรมป่าไม้ พบว่าปัจจุบันมีพื้นที่ป่าไม้ ร้อยละ 31.58 ของพื้นที่ประเทศไทย หรือเท่ากับ 102.17 ล้านไร่ คิดเป็น 163,479.69 ตารางกิโลเมตร ลดลงจากปี2558 ร้อยละ 0.02 หรือประมาณ 65,500 ไร่ และจากสถิติพื้นที่ป่าไม้ประเทศไทยจากปี 2557-2559 ที่ผ่านมา พื้นที่ป่าลดลงร้อยละ 0.02 ทุกปี [8] 

ปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของพืช ส่วนมากเกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อมซึ่งสามารถระบุสาเหตุสำคัญๆ ได้ดังนี้ เช่น

  1. การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตและบริโภคเพื่อทำการเกษตรแบบมุ่งเน้นการค้า มีการผลิตสายพันธุ์เดียวโดยละทิ้งสายพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิม มีการใช้สารเคมีมากขึ้นในการเกษตร เช่น ยาฆ่าแมลงและยาปราบศัตรูพืช เกิดสารพิษตกค้างในดินและแหล่งน้ำ กระทบต่อสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในดิน และสัตว์น้ำ รวมถึงกระทบต่อสภาพดั้งเดิมของพื้นที่การเจริญของพืช
  2. การเติบโตของประชากรและการกระจายตัวของประชากร ทำให้เกิดการรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ซึ่งกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศ
  3. การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสัตว์นานาพันธุ์เช่น การทำลายป่า การล่าสัตว์ การอพยพหนีภัยธรรมชาติของสัตว์ ทำให้เกิดการขาดสมดุลทางธรรมชาติ
  4. จากการตักตวงผลประโยชน์จากชนิดพันธุ์ของพืชและสัตว์ป่าเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า โดยการค้าขายสัตว์และพืชป่าแบบผิดกฎหมาย
  5. ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีชีวภาพ(biotechnology)ด้านการตัดต่อพันธุกรรมหรือ  จีเอ็มโอ (GMO; Genetically Modified Organisms) หรือพันธุวิศวกรรม(genetic  engineering) อาจทำให้เกิดการรุกรานที่รุนแรงขึ้นและมีโอกาสในการเปลี่ยนแปลงของประชากรพืช เป็นต้น

การแก้ปัญหาของต่างประเทศ : คน-สิ่งแวดล้อมอยู่ร่วมกันได้

ประเทศที่พัฒนาแล้วที่ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม มีหลายกรณีศึกษาที่น่าสนใจขอยกตัวอย่าง 2 กรณีศึกษาดังนี้

ประเทศญี่ปุ่น  [9] ประเทศญี่ปุ่นมีการพัฒนาเศรษฐกิจโดยมีภาครัฐและกลุ่มทุนเป็นแกนหลักในการพัฒนาเทคโนโลยี ทำให้ภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นแกนนำทางเศรษฐกิจเติบโตและนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น วิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น แต่การพัฒนาดังกล่าวนำมาซึ่งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการผลิตทางอุตสาหกรรมที่ทำให้คุณภาพน้ำและอากาศเสื่อมโทรมลง เนื่องมาจากการปล่อยของเสีย ปัญหาขยะและมลพิษต่าง ๆ รวมถึงกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดลงของสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและวิถีชีวิต

ปัญหาเหล่านี้ทำให้ญี่ปุ่นเริ่มหันกลับมาทบทวนถึงแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมา ประกอบกับปัญหาภาวะโลกร้อนที่นานาชาติให้ความสำคัญ และเริ่มเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และคำนึงถึงคนรุ่นหลัง นับว่า เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงกระแสแนวทางการพัฒนาของญี่ปุ่น

แนวทางการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืนของญี่ปุ่นแนวทางหนึ่งคือ การส่งเสริมแนวคิดเมืองนิเวศ (Eco-Town) ซึ่งเป็นแนวทางที่เกิดขึ้นจากการเป็นแกนนำของรัฐบาลกลางญี่ปุ่นในปี 1997 โดยมอบหมายให้ 2 กระทรวงหลักเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดเมืองนิเวศหรืออีโคทาวน์ ในญี่ปุ่นโดยหน่วยงานของรัฐบาลกลางที่มีบทบาทดังกล่าวคือ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (Ministry of Economic, Trade and Industry: METI) และกระทรวงสิ่งแวดล้อม (Ministry of Environment: MoE) เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวญี่ปุ่นประสบปัญหาการขาดแคลนที่ทิ้งขยะและความจำเป็นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่น รวมทั้งแรงกดดันในการส่งเสริมให้เกิดการปล่อยของเสียเป็นศูนย์ (zero-emission) รัฐบาลจึงจัดตั้งอีโคทาวน์ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่ทิ้งขยะและช่วยเหลือบริษัทต่างๆ ในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยของเสียเป็นศูนย์ โดยการนำของเสียที่เกิดขึ้นกลับมารีไซเคิลเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบอีกครั้ง

ประเทศบราซิล เมื่อการฟื้นป่าคือการพัฒนาเศรษฐกิจ [10] การทำลายป่าเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอยู่คู่กับบราซิลมาทุกยุคสมัย ผู้คนถางป่าเพื่อเปลี่ยนไปเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์เพราะนั่นคือการหาเงินที่ง่ายที่สุดแม้ตัวเลขโดยรวมจะแสดงว่าพื้นที่ป่าไม้ในบราซิลลดลงอย่างมาก แต่หากแบ่งตามลักษณะทางภูมิภาคก็จะเห็นว่าสถานการณ์แต่ละพื้นที่แตกต่างกันไป

เปโดร นักวิชาการด้านการฟื้นฟูป่าไม้รุ่นใหม่ซึ่งกำลังมาแรงที่สุดคนหนึ่งบอกว่าการอนุรักษ์ป่าที่ดีเเละถูกที่สุดคือการปกป้องไม่ให้ป่าธรรมชาติถูกทำลาย หากย้อนกลับไปเมื่อ 150 ปีที่แล้ว การฟื้นฟูป่าในบราซิลไม่ใช่เรื่องใหม่ จุดเปลี่ยนสำคัญในการอนุรักษ์ป่าของบราซิลก็คือการตราบัญญัติป่าไม้ หรือ Forest Code เมื่อปีค.ศ.1934 เริ่มมีการกำหนดว่าในพื้นที่ถือครองโดยเอกชนนั้นจำเป็นจะต้องเหลือพื้นที่ป่าไว้อย่างน้อยเท่าไหร่ ตั้งแต่ร้อยละ 20 ไปจนถึงร้อยละ 80 ของพื้นที่รวมไปถึงการจัดตั้งพื้นที่อนุรักษ์ถาวร

การปรับปรุง Forest Code ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2012 มีข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางเพราะดูเหมือนจะยกประโยชน์ให้กับผู้บุกรุกป่า แต่ขณะเดียวกันก็กำหนดเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ป่าอย่างจริงจัง แม้จะอนุโลมให้เกษตรกรที่อยู่ในเขตป่าทำมาหากินต่อไปได้แต่จะต้องมีพื้นที่ป่าไม้อย่างน้อย 20-80% ในที่ทำกินหากยึดตามเป้าหมายของกฎหมายฉบับปัจจุบัน บราซิลต้องฟื้นฟูป่ามากกว่า 120 ล้านไร่ โดยเกือบ 40 ล้านไร่อยู่ในเขตอเมซอน

นอกจากนี้ ทางกรมป่าไม้ของบราซิลเริ่มนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ เช่น การสำรวจทางไกล (remote sensing) มีระบบรายงานผลการลาดตระเวนที่เเสดงผลเป็นปัจจุบัน การตรวจตราการบุกรุกทำลายป่าจึงมีประสิทธิภาพมากขึ้นถึงแม้จะยังมีการบุกรุกอยู่เรื่อยๆแต่ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันการตรวจพบและบังคับใช้กฎหมายก็เป็นไปอย่างรวดเร็วและทันท่วงที

ผลลัพธ์นี้ ทำให้ภายในระยะเวลา 10 ปีอัตราการทำลายป่าในอเมซอนที่เคยสูงถึงกว่า 17 ล้านไร่ต่อปีเมื่อปี 2004 ลดลงเกือบ 80% เหลือราว 3.6 ล้านไร่ต่อปีในปี 2013 โดยรัฐบาลบราซิลตั้งเป้าสำหรับหยุดยั้งการทำลายป่าให้ได้อย่างสิ้นเชิงภายในปี 2020 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า ทำให้ปัจจุบันการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมอย่างรวดเร็วของบราซิลประกอบนโยบายที่เอื้อต่อการอนุรักษ์ ทำให้สถานการณ์ป่าไม้ในบราซิลมีแนวโน้มดีขึ้น

 

การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของไทยในปัจจุบัน มาถูกทางหรือไม่?

ปัจจุบัน การตระหนักรู้ถึงสถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมในไทยดูเหมือนจะแพร่หลายมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น กรณีการล่าเสือดำ ดูเหมือนคนจะหันมาให้ความสนใจถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศและประชากรสัตว์ป่า เห็นได้จากการวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์อย่างแพร่หลาย

ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นข้างต้นกับ TCIJ ว่า ความจริงแล้วความตื่นตัวที่เห็นในโลกออนไลน์ สามารถต่อยอดไปเป็นรูปธรรมให้สถานการณ์สิ่งแวดล้อมในไทยดีขึ้นได้ เพียงเเต่ว่าต้องมีองค์กรที่มาขับเคลื่อนทิศทางให้ถูก กล่าวคือ ทางสังคมมีความพร้อมอยู่แล้ว อยู่ที่ว่า รัฐบาลเองหรือว่าองค์กรที่ทำงานด้านอนุรักษ์จะทำอย่างไรกับสังคม นั่นคือโจทย์ใหญ่

“เเสดงว่าสังคมก็มีความสนใจ หลายคนความรู้พื้นฐานก็มีเเล้ว เพียงเเต่ว่าเวที กิจกรรมที่จะพาเขาทำจริง ๆ มันคืออะไร อยู่ที่ไหน ที่ไหนเหมาะสม อันนั้นก็คือโจทย์ที่องค์กรต่าง ๆ ต้องหาให้เจอ”

ศศินยังกล่าวถึงเรื่องของการลดลงของพื้นที่ธรรมชาติว่ามันค่อนข้างคงที่แล้ว จำนวนผืนป่าที่ไทยคงไม่ลดและไม่เพิ่มไปกว่านี้ ภาครัฐเองมีนโยบายมาเต็มที่ของมันเเล้ว หากมองในมุมการพัฒนาไปไกลกว่านี้ของผืนป่าไทย ในเเง่ของพื้นที่ป่าธรรมชาติ คงไม่มากกว่านี้

“ในเรื่องป่า ของไทยมาสุดทางแล้ว พื้นที่อนุรักษ์มันอนุรักษ์ได้เท่านี้ ถ้าเพิ่มเติมก็ต้องเพิ่มเติมเรื่องของการเพาะพันธุ์ แต่มนุษย์ต้องไปช่วยในเรื่องของการเพาะพันธุ์สัตว์ป่า แล้วก็ทำอะไรที่ไม่ให้มีผลกระทบต่อผืนป่า แต่มันก็คงไม่ได้มากกว่านี้เท่าไหร่ ไม่ได้มาก ไม่ได้น้อยกว่านี้ในส่วนของป่า”

“ทว่ายังมีพื้นที่ป่าที่เป็นป่าปลูกหรือป่าเศรษฐกิจที่จะปลูกเพื่อการทำไม้และก็ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพอยู่ในป่าพวกนี้ได้ด้วย ทุกวันนี้ นโยบายเริ่มมาถูกทางแล้ว ในส่วนความหลากหลายทางชีวภาพของทะเล พื้นที่อนุรักษ์ก็ยังอนุรักษ์ได้อีกพอ สมควร ทาง IUCN (International Union for Conservation of Nature) หรือในชื่อภาษาไทย คือ องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ มีสถิติออกมาว่า การอนุรักษ์ของไทยเรายังไม่ตามแผนเท่าไหร่ ยังมีศักยภาพที่จะอนุรักษ์ได้อีก”

รวมทั้งเรื่องการประมง วันนี้เรามาค่อนข้างถูกทางแล้ว เช่น การจำกัดอวนรุน อวนลาก มาตราการเหล่านี้มีส่วนทำให้ปลามีโอกาสเติบโตมากขึ้น เพียงแต่ว่าทุกวันนี้จะเพิ่มความเข้มข้นมันยังไงของการบริหารมันอย่างไร”

ในภาวะวิกฤติของความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดลงของไทย ศศินแนะให้ลองมองในเรื่องของพื้นที่เกษตร ที่มีการใช้สารเคมีเข้มข้น เขาบอกว่าเราต้องไปปรับเรื่องของการใช้เคมีการเกษตร หรือการเปลี่ยนแปลงลำน้ำเองก็ดี ทั้งนี้ก็เพื่อการป้องกันน้ำท่วม เพื่อการชลประทาน สิ่งเหล่านี้มีส่วนทำลายแหล่งธรรมชาติทางนิเวศวิทยาไปเกือบทั้งหมด การเปลี่ยนแปลงลำน้ำ ไปเป็นทางระบายน้ำเกือบทั้งหมดในเมือง ความหลากหลายทางชีวภาพก็ไม่เหลือ

พื้นที่ที่ใกล้ชิดกับคนเมือง อย่างลำพู ลำคลอง วัด โรงเรียน ไม่เหลือดินแล้ว เพราะทุกที่ลาดปูนซีเมนต์กันหมด ความหลากหลายทางชีวภาพก็ตายพร้อมกับสิ่งปลูกสร้างของมนุษย์ไปพร้อม ๆ กัน

ศศินทิ้งท้ายว่า คุณค่าและเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมควรอยู่ทั้งในระดับรัฐบาล ระดับชุมชน ระดับชาติ และนานาชาติ ต้องได้รับการปรับปรุง ผู้มีอำนาจด้านนโยบาย ต้องร่วมมือกันเพื่อจัดการปัญหาสุขภาพโลกที่ย่ำแย่ลง นั่นหมายถึงการเปลี่ยนแปลงแรงจูงใจทางการเงิน การลงทุน ในโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การบัญชีเพื่อธรรมชาติ การค้าระหว่างประเทศ การจัดการจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น และความไม่เท่าเทียมในแง่การบริโภค การร่วมมืออย่างแนบแน่นจากภาคส่วนต่างๆ กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ และการบังคับใช้ที่เข้มข้นขึ้น

การขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมของคนรุ่นใหม่

ดูเหมือนว่ากระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในคนรุ่นใหม่จะได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง หากมองดูถึงกิจกรรมตามรั้วมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ อีกทั้งปัจจุบันยังมีกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาชมรมอนุรักษ์ ออกมารณรงค์ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมทางโชเชี่ยล เฟสบุ๊ก สื่อต่าง ๆ  แล้วพวกเขาเหล่านั้นได้ทำกิจกรรมอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้างที่ส่งผลต่อการรักษา ส่งเสริม ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง

นางสาวพัชริดา ภักดิ์ดี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ชมรมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมและทรัพยากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น เธอตีความความหลากหลายทางชีวภาพว่าคือ ความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งที่มีชีวิต ไม่มีอะไรแยกขาดจากกัน ทั้งนี้ เธอยังเล่าถึงกิจกรรมในชมรมที่สอดคล้องกับเรื่องระบบนิเวศ ให้ฟังว่า

“กิจกรรมที่ทำเเล้วเชื่อมโยงหรือสื่อสารไปถึงประเด็นความหลากหลายชีวภาพหลัก ๆ ของชมรมมี ค่าย 2 ค่าย ค่ายแรกเป็นค่ายพี่เลี้ยง รับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเข้าร่วมกิจกรรม มีฝ่ายวิชาการที่เน้นพูดเรื่องความสำคัญของป่าไม้ ให้น้อง ๆ เเละผู้เข้าร่วม แทรกกิจกรรมเดินป่า เรียนรู้การอยู่ในป่า เน้นให้เจอของจริง ป้อนข้อมูล พาเขาไปนอนอยู่ในป่า อยากให้น้อง ๆ ได้เห็นความสำคัญของธรรมชาติจริง ลองฟังเสียงป่า แล้วชวนตกตะกอนว่าธรรมชาติให้อะไรมากกว่าที่เราคิดนะ โดยใช้ระยะเวลา 3 วัน 2 คืน ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะพัฒนาไปสู่ค่ายที่ 2 ตอนปิดเทอมใหญ่ และเพื่อเพิ่มเติมความต่อเนื่องหลังค่าย ทางชมรมจะมีกิจกรรคาบเกี่ยวเสมอ เช่น เสวนาในประเด็นสิ่งแวดล้อม การทำโครงการ เป็นต้น”

 นอกจากนี้ ทางชมรมอนุรักษ์ มข. ยังมีกิจกรรมดูนก ซึ่งเธอมองว่าการดูนกมีนัยยะบางอย่าง ได้เรียนรู้ความหลากหลายในระบบนิเวศ เพราะนกมีความหลากหลายมาก เพื่อจะปรับตัวให้เข้ากับทุกระบบนิเวศ ในทะเลทราย กลางทะเล ในน้ำแข็ง ยอดเขา หุบเขา ป่าต่ำ ป่าสูง อะไรพวกนี้ แม้กระทั่งในป่าเดียวกัน ก็มีทั้งที่พยายามปรับตัวให้เข้ากับยอดไม้ กลางไม้ หรือว่าพุ่มไม้ แม้กระทั่งในพุ่มไม้เดียวกัน ก็ยังมีนกหลายชนิด ซึ่งเธอก็ได้สะท้อนให้เราฟังว่า ปัจจุบันในรั้วมหาวิทยาลัยขอนแก่น นกที่เคยอพยพมาก็น้อยลงเรื่อย ๆ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมไม่เอื้อต่อการเป็นแหล่งทีอยู่อาศัยของพวกมัน

 

ด้านนาย ศักรินทร์ ภู่เจริญ นักศึกษาและประธานชุมนุมอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าถึงกิจกรรมในชมรมอนุรักษ์ฯ ที่ยังคงคำถึงความหลากหลายชีวภาพอยู่ ว่า

“ที่ผ่านมาใน 1 ปีการศึกษา ชุมนุมจัดค่าย 3 ค่ายหลัก ๆ คือ ค่ายดอย ค่ายป่า ค่ายทะเล เราไม่ได้มองว่ารับลูกค่ายไปถึงสถานที่แล้วลงมือทำกิจกรรมแล้วจบ ในตัวกิจกรรมเรามองภาพระยะยาวมากกว่า เช่น การไปค่ายทะเล เราจะพาลูกค่ายไปเห็นภาพกว้างของระบบสิ่งแวดล้อมทางทะเล สร้างการมองภาพใหม่ ลดพฤติกรรมให้รู้จักทำลายทรัพยากรน้อยลง  “จากที่เราไม่รู้จักมัน เเต่พอไปเราจะรู้สึกว่าข้อมูลและสิ่งเหล่านี้มันอยู่ใกล้ตัวเรา เราจะใส่ใจกันมากขึ้น ดูเเลมันมากขึ้น เช่น ปะการัง ไปดูให้รู้ว่าปะการังสำคัญอย่างไรต่อเรา

“ค่ายป่า ค่ายดอย ค่ายทะเล เราพยายามเตะทุกอย่างเพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเห็นภาพที่หลากหลายเเละกว้างขึ้น เห็นตั้งเเต่ ทะเล ป่า เเละ ดอย พยายามเน้นให้เห็นว่ามีความเเเตกต่างและเชื่อมโยงอย่างไรบ้าง คนกับป่าอย่าร่วมกันได้อย่างไร” ศักรินทร์กล่าว

 

ขณะที่นายณรงค์​ฤทธิ์ ​ชัย​วงค์​ นักศึกษา ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าทุก ๆ ปี ของมหาวิทยาลัยจะมีค่าย ซึ่งกิจกรรมในค่ายนั้นเน้นความหลากหลายทางสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ พวกเขาสื่อสารผ่านรูปแบบของกิจกรรม เช่น การใช้เกมที่ชี้ชวนให้ตั้งคำถามและค้นหาคำตอบในกิจกรรมที่สื่อถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ถ้าน้อยลงจะมีผลอย่างไร เกิดเพราะอะไร เราสามารถทำยังไงกับมันต่อ

นอกจากนี้ เมื่อประเทศไทยเกิดประเด็นทางสิ่งแวดล้อม นักศึกษาอนุรักษ์ฯ มช. มักเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อกระตุ้นให้เห็นถึงผลกระทบและปัญหาของระบบนิเวศที่เกิดขึ้น เช่น การเคลื่อนไหวเรื่องหมู่บ้านป่าเเหว่ง ดอยสุเทพ  เเละกรณีเสือดำ หมอกควันเชียงใหม่ เป็นต้น   

“จุดประสงค์ของการทำค่ายคือ การเรียนรู้ประเด็นสิ่งแวดล้อม มีการเสนอเเนวทางการจะใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เราใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติได้ แต่ก็ต้องให้ธรรมชาติพักฟื้นตัวเองด้วย ”

 

มนุษย์ไม่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยวโดยไม่ต้องพึ่งพาโครงข่ายชีวภาพ ไม่มีเทคโนโลยีใดที่ทำให้เราอยู่รอดได้เหมือนกับการที่ความหลากหลายทางชีวภาพเลี้ยงดูเรา เรามีชีวิตอยู่ได้ก็เพราะความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านการบริโภคและอุปโภคสินค้าและบริการจากสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตเหล่านั้น เราอยู่ในยุคที่ต้องตัดสินใจว่าจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับธรรมชาติ หรือจะนิ่งเฉยแล้วปล่อยให้ความพยายามในการอนุรักษ์ล้มเหลว ทางเลือกอยู่ในมือของเราทุกคน

 

อ้างอิง

  1. การหายไปของความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งผลต่อมนุษยชาติอย่างไร
  2. เฮือกสุดท้ายก่อนสูญความหลากหลายชีวภาพ
  3. ดัชนีชี้วัดความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Living Planet Index - LPI)
  4. รายงาน WWF 2018 เผย จำนวนสัตว์ป่าลดลงมหาศาล เพราะการบริโภคของมนุษย์
  5. Humanity Has Wiped Out 60% of Global Wildlife in the Past 45 Years, WWF Report Says
  6. วิกฤติความหลากหลายทางชีวภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  7. สถานีวิจัยลำตะคองกับการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
  8. วิกฤติป่าไม้ไทย ผลักดันยุทธศาสตร์ชาติ
  9. กรณีศึกษาการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของต่างประเทศ
  10. บทเรียนจากบราซิล เมื่อการฟื้นป่าคือการพัฒนาเศรษฐกิจ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: