7 ปี สนง.สลากกินแบ่งฯ รายได้ 5.97 แสนล้าน กำไร 1.51 หมื่นล้าน-เปิดงานวิจัยเปลี่ยนหวยเป็นเงินออม

ทีมข่าว TCIJ: 31 มี.ค. 2562 | อ่านแล้ว 6420 ครั้ง

ปี 2555-2561 ‘สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล’ มีรายได้ 597,795.57 ล้านบาท กำไร 15,138.15 ล้านบาท ผลสำรวจพบคนไทยเสพติด ‘หวยบนดิน-ใต้ดิน’ รวมกันกว่า 250,000 ล้านบาท/ปี มูลค่าเทียบเท่ากับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เปิดงานวิจัย 'ศึกษาความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนเงินหวยเป็นเงินออมของประชาชนในต่างจังหวัด' ชี้ ‘คนจน’ ซื้อหวยเพราะเหตุที่ประเทศไทยยังไม่มีตราสารทางการเงินที่เหมาะสมสำหรับพวกเขา ที่มาภาพประกอบ: ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล ตรวจหวย งวด 1 กรกฎาคม 2559 HD - YouTube

ปี 2550-2561 สนง.สลากฯ มีรายได้ 597,795.57 ล้านบาท กำไร 15,138.15 ล้านบาท

ข้อมูลจาก รายงานประจำปีของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลปี 2560 ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และ รายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2561 โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน พบว่าในรอบ 7 ปี ตั้งแต่ปี 2555-2561 สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมีรายได้รวม 597,795.57 ล้านบาท (ปี 2555 มีรายได้ 61,589.39 ล้านบาท ปี 2556 มีรายได้ 64,299.21 ล้านบาท ปี 2557 มีรายได้ 64,498.72 ล้านบาท ปี 2558 มีรายได้ 65,016.06 ล้านบาท ปี 2559 มีรายได้ 92,222.79 ล้านบาท ปี 2560 มีรายได้ 113,725.60 ล้านบาท และปี 2561 มีรายได้ 136,443.80 ล้านบาท)

ซึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วจะเหลือเป็นกำไรรวม 15,138.15 ล้านบาท (ปี 2555 มีกำไร 1,360.61 ล้านบาท ปี 2556 มีกำไร 1,366.55 ล้านบาท ปี 2557 มีกำไร 1,149.95 ล้านบาท ปี 2558 มีกำไร 812.4 ล้านบาท ปี 2559 มีกำไร 2,694.83 ล้านบาท ปี 2560 มีกำไร 3,955.28 ล้านบาท และปี 2561 มี กำไร 3,798.53 ล้านบาท) [1] [2]

คนไทยถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลมากน้อยแค่ไหน

สื่อนำเสนอข่าวผู้ถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลรางวัลใหญ่อยู่เสมอ ทั้งนี้พบว่าการดำเนินการจ่ายรางวัลให้ผู้ถูกรางวัลในแต่ละปีมีสัดส่วนสูง ตัวอย่างเช่นในปี 2560 มีสัดส่วนสูงถึงประมาณ 65% ของรายได้ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเลยทีเดียว ที่มาภาพประกอบ: แนวหน้า

จากข้อมูลที่ยกมานี้ (ระหว่างปี 2555-2561) จะพบว่าแม้รายได้ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจะอยู่ในระดับที่สูง (61,589.39-136,443.80 ล้านบาท) แต่เมื่อหักรายจ่ายแล้วจะเหลือกำไรไม่สูงมากนัก (812.4-3,955.28 ล้านบาท) ทั้งนี้เป็นเพราะว่าค่าใช้จ่ายที่สำคัญของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลก็คือการดำเนินการจ่ายรางวัล ตัวอย่างในปี 2560 พบว่าการดำเนินการจ่ายรางวัลนั้นมีผู้ขอรับรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลและสลากการกุศล 207,962 คน จำนวนฉลาก 42,814,646 ฉบับ จำนวนเงินรางวัลที่จ่ายไปทั้งสิ้น 74,470,154,000 บาท หรือคิดสัดส่วนเป็นร้อยละ 65 ของรายได้ทั้งหมดที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ในปีนั้น [3]

คนไทยเสพติดหวย รวมกว่า 250,000 ล้านบาท/ปี มูลค่าเทียบเท่าโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

ข้อมูลจาก Google Trend ยังชี้ว่าในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาคนไทย search คำว่า “เลขเด็ด” ซึ่งเป็นคำที่ฮิตทั่วไทยเพิ่มขึ้นถึงปีละ 18%

เมื่อปลายปี 2561 ศูนย์วิเคราะห์ Customer Insights by TMB Analytics ได้เปิดเผยผลการศึกษาพฤติกรรมการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลและหวยใต้ดินของคนไทย พบว่า 1 ใน 4 หรือประมาณ 20 ล้านคน ซื้อ ‘หวย’ (หมายรวมถึงทั้งสลากกินแบ่งรัฐบาลและหวยใต้ดิน) รวมกันกว่า 250,000 ล้านบาท/ปี หรือคิดเป็น 3 เท่าของมูลค่าซื้อกองทุน LTF และ RMF หรือเทียบเท่ากับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

ศูนย์วิเคราะห์ Customer Insights by TMB Analytics อ้างอิงข้อมูลจาก Google Trend ชี้ว่าในช่วง 15 ปี ที่ผ่านมาคนไทย search คำว่า ‘เลขเด็ด’ ซึ่งเป็นคำที่ฮิตทั่วไทยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 18 ต่อปี ขณะที่การ search คำว่า ‘ฝากเงิน’ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงร้อยละ 9 ต่อปี และกระจุกอยู่แค่หัวเมืองเท่านั้น ส่วนเสียงสะท้อนจากสื่อโซเชียลส่วนใหญ่และผลสำรวจ พบว่าร้อยละ 55 มองหวยเป็นความฝันและความหวังที่ทำให้รวยและมีความเป็นอยู่ที่ดี แต่จากสถิติชี้ว่าโอกาสที่จะรวยจากการถูกรางวัลนั้นน้อยมาก โดยคนคาดหวังว่าจะถูกสลากกินแบ่งรัฐบาลรางวัลที่ 1 มีอยู่ร้อยละ 44 แต่โอกาสถูกจริงเน้นว่าเป็นเพียง 1 ในล้าน ส่วนคนที่คาดว่าจะถูกรางวัลเลขท้าย 2-3 ตัวบนล่างมีอยู่ถึงร้อยละ 78 แต่โอกาสถูกจริงคิดเป็นร้อยละ 0.4-2 เท่านั้น

ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในปี 2552 รายจ่ายในการซื้อหวยของคนไทยอยู่ที่ 340 บาทต่อเดือนหรือคิดเป็นร้อยละ 2.1 ต่อรายได้ทั้งหมด เทียบกับช่วงเศรษฐกิจไทยในปี 2560 รายจ่ายด้านนี้อยู่ที่ 452 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.1 ต่อรายได้ทั้งหมด ซึ่งตอกย้ำความเชื่อที่ว่าหวยเป็นความหวังที่ทำให้รวยและมีชีวิตที่ดีขึ้น แม้ในสถานการณ์ที่รายได้ตกต่ำควรเก็บเงินเพื่อใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น แต่ก็ยังต้องการเสี่ยงโชคแทงหวย หรือหวยจะมีบทบาทกลายเป็นสินค้าจำเป็นตามหลักเศรษฐศาสตร์เข้าไปทุกที

การสำรวจยังพบว่า คนไทยไม่ว่าจะรายได้มากหรือน้อยก็เล่นหวยทั้งนั้น โดยกลุ่มคนที่มีรายได้สูงกว่า 15,000 บาทต่อเดือน มีการซื้อหวยเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 680 บาท คิดเป็นร้อยละ 1.2 ของรายได้ ซึ่งมากกว่ากลุ่มคนที่มีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือนที่เฉลี่ยอยู่ที่ 350 บาท คิดเป็นร้อยละ 2.2 ของรายได้ กลุ่มคนวัยสร้างครอบครัว (อายุ 35-55 ปี) หรือมีภาระรับผิดชอบเยอะ เป็นกลุ่มที่ซื้อหวยหนักที่สุดเฉลี่ยเดือนละ 500 บาท มากกว่าวัยทำงานและวัยเกษียณที่เฉลี่ยต่อเดือนราว 400 บาท โดยส่วนใหญ่เป็นมนุษย์เงินเดือนและเจ้าของกิจการ อย่างไรก็ตาม สถิติและผลสำรวจยังชี้ถึงประเด็นที่น่าตกใจว่าร้อยละ 10 ของจำนวนนักเรียนและนักศึกษาเล่นหวย โดยซื้อหวยต่อเดือนเฉลี่ยประมาณ 187 บาท เรียกว่าเริ่มเล่นหวยกันตั้งแต่ยังไม่มีรายได้ สาเหตุที่ซื้อเพราะมีแรงจูงใจมาจากผู้ปกครอง คนรอบข้าง และสื่อโซเชียล

นอกจากนี้ ยังพบว่าร้อยละ 50 ของมนุษย์เงินเดือนและเจ้าของธุรกิจ หรือประมาณ 12 ล้านคนเล่นหวย โดยหากแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามลักษณะการเล่นหวย เราพบว่าร้อยละ 26 ‘เล่นขำๆ’ คือ เล่นสนุกไม่จริงจัง มีความสุขจากการได้หวังเงินรางวัล ร้อยละ 63 ‘ชอบหวย’ เพราะชอบลุ้นหรือเสี่ยงโชค มีความสุขจากการได้หวังเงินรางวัล และที่น่าสนใจคือร้อยละ 11 ‘ติดหวย’ ชอบลุ้นหรือเสี่ยงโชค มองว่ามูลค่าของเงินรางวัลสูงยังไงก็คุ้มกับเงินที่ซื้อหวย จึงซื้อแบบไม่ได้คิด ทั้งนี้อาจสรุปได้ว่า มนุษย์เงินเดือนและเจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่หรือราว 9 ล้านคน ชอบลุ้นรางวัลไปจนถึงเสี่ยงโชคเพื่อรวยขึ้น

เมื่อเจาะลึกถึงพฤติกรรมการซื้อหวยของกลุ่มคน ‘ชอบหวย’ พบว่ากว่าร้อยละ 80 ซื้ออย่างน้อยเดือนละครั้ง เฉลี่ยเดือนละ 420 บาท และซื้อเพิ่มขึ้นจากครั้งแรกของการเล่นหวยราวร้อยละ 18 ยิ่งไปกว่านั้นพบว่ากลุ่มคน ‘ติดหวย’ จะซื้อทุกงวด หรือ 24 ครั้งต่อปี จ่ายค่าหวยมากกว่ากลุ่ม ‘ชอบหวย’ ถึงสองเท่า แถมยังซื้อเพิ่มขึ้นจากครั้งแรกถึงร้อยละ 26 ทั้งนี้หากกลุ่มคนเหล่านี้ซื้อหวยต่อเนื่อง 50 ปี สิ่งที่พวกเขาเสียไปเทียบเท่าได้กับรถยนต์ City Car หรือบ้านถึง 1 หลัง เลยทีเดียว สะท้อนให้เห็นว่าหวยคือความฝันที่แลกด้วยเงินล้านของคนไทยจริงๆ และเมื่อเจาะลึกไปถึงสาเหตุของพฤติกรรมพบว่าทั้งคน ‘ชอบหวย’ และคน ‘ติดหวย’ มองเงินที่ซื้อหวยเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องมีเพราะชอบเสี่ยงโชค แต่ต่างกันตรงที่ คน ‘ชอบหวย’ มีการวางแผนทางการเงิน โดยกันเงินเพื่อซื้อหวย ในขณะที่คน ‘ติดหวย’ ซื้อหวยแบบไม่ได้คิดคือหากได้เงินมาก็ใช้ซื้อหวยทันทีและอาจยอมลดเงินซื้อหวยส่วนหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้พบว่าคน ‘ติดหวย’ จะนำเงิน (ถ้าถูกรางวัล) จ่ายหนี้ ต่างจากคน ‘ชอบหวย’ ที่เก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น และให้ครอบครัว จึงเป็นข้อยืนยันว่าหวยคือความหวังที่ช่วยปลดล็อดให้มีความเป็นอยู่ที่ดี

ศูนย์วิเคราะห์ Customer Insights by TMB Analytics ยังระบุว่า อย่างไรก็ตามจากผลสำรวจสัดส่วนในการออมเงิน คน ‘ชอบหวย’ ส่วนใหญ่ราวร้อยละ 66 มีเงินออมเฉลี่ยมากกว่า 5,000 บาท ขณะที่เงินออมเฉลี่ยต่อเดือนของคน ‘ติดหวย’ นั้นส่วนใหญ่น้อยกว่า 5,000 บาท โดยสรุปแล้วมนุษย์เงินเดือนและเจ้าของธุรกิจที่ ‘ชอบหวย’ และ ‘ติดหวย’ หากนำเงินเหล่านี้ไปออมเพิ่มขึ้น หรือลงทุนในทางเลือกอื่นที่มีผลตอบแทนและความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึง โปร่งใส รวมถึงการมีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำ จะทำให้มีรายรับเพิ่มขึ้น และอาจนำไปใช้จ่ายสิ่งจำเป็น เช่น ประกันสุขภาพ รถยนต์ หรือ บ้าน ได้โดยไม่ต้องหวังลุ้นเสี่ยงโชคทุกวันที่ 1 และ 16 ของแต่ละเดือนอีกต่อไป [4] [5]

เปิดงานวิจัย 'ศึกษาความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนเงินหวยเป็นเงินออมของประชาชนในต่างจังหวัด'

จากงานวิจัย 'โครงการศึกษาความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนเงินหวยเป็นเงินออมของประชาชนในต่างจังหวัด' โดย รศ.ดร.พรเพ็ญ วรสิทธา คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่ได้ศึกษาพฤติกรรมการออมและการซื้อหวยของคนไทย ข้อมูลที่ใช้เป็นข้อมูลปฐมภูมิจากกลุ่มตัวอย่าง 4,800 คน และจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารจากสถาบันการเงินที่มีอำนาจทางกฎหมายในการออกสลากออมทรัพย์ 2 แห่งคือ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) จำนวน 24 คน ระยะเวลาในการจัดเก็บข้อมูลคือตั้งแต่เดือน ก.พ.-มิ.ย. 2555 โดยแบ่งจุดการสำรวจกระจายไปตามภาคต่างๆ ของประเทศ เป็น 6 ภาคๆ ละ 2 จังหวัดรวม 12 จังหวัดผลการศึกษาพบว่าร้อยละ 76.50 ของกลุ่มตัวอย่างมีการซื้อหวยใต้ดินและ/หรือสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยมีเหตุผลที่ว่าประเทศไทยยังไม่มีตราสารทางการเงินที่เหมาะสมสำหรับคนจน นอกจากหวย

งานวิจัยชิ้นนี้ได้เสนอแนวคิดของการเปลี่ยนเงินหวยเป็นเงินออมในระยะยาวว่า หากสามารถสร้าง 'ตราสารทางการเงินใหม่ที่คืนเงินต้นให้แก่ประชาชน' โดยแบ่งผลตอบแทนจากเงินดังกล่าวเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเพื่อเป็นเงินรางวัล ส่วนที่ 2 เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหาร และส่วนที่ 3 คือส่วนของเงินกำไร เงินส่วนที่ 3 นี้รัฐบาลควรนำไปบริหารในรูปกองทุน และคืนผลตอบแทนจากการลงทุนพร้อมเงินต้นของส่วนที่ 3 เมื่อผู้ซื้อมีอายุครบ 60 ปี ดังเช่นกองทุนเพื่อวัยเกษียณอายุทั่วไป เช่นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประชาชนผู้มีรายได้น้อยส่วนหนึ่งก็จะสามารถมีเงินออมเมื่อวัยชราของตนเอง และพึ่งสวัสดิการภาครัฐน้อยลง

ซึ่งเงินออมที่เพิ่มขึ้นในส่วนนี้ น่าจะถือว่าเป็นเสาหลักที่ 3 ตามกรอบของธนาคารโลก คือ เป็นการออมเพื่อวัยชราโดยสมัครใจ ในขณะที่ผู้ที่ออมในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เช่น กองทุน RMF หรือ กองทุน LTF ได้รับการยกเว้นเงินภาษีเงินได้ส่วนบุคคลตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ผู้ออมกลุ่มที่แปลงเงินหวยเป็นเงินออมก็น่าจะได้รับการลดหย่อนภาษีเช่นกัน แต่จะใช้กฎเกณฑ์เดียวกันหรือไม่นั้นควรมีการศึกษาเพิ่มเติมจากงานวิจัยนี้ [6]

ข้อมูลอ้างอิง

[1] รายงานประจำปีของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลปี 2560 (สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล, 2560)
[2] รายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2561 (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน, 2561)
[3] รายงานประจำปีของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลปี 2560 (สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล, 2560)
[4] ทีเอ็มบีเผยคนไทยเสพติดลอตเตอรี่และหวย รวยจนไม่เกี่ยว [ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน), 27/11/2561]
[5] งานวิจัยทีเอ็มบี เจาะลึกพฤติกรรมคนเสพหวย – “หวย” คือ ความฝันที่แลกด้วยเงินล้านของคนไทย (ไทยพับลิก้า, 18/1/2562)
[6] โครงการศึกษาความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนเงินหวยเป็นเงินออมของประชาชนในต่างจังหวัด (รศ.ดร.พรเพ็ญ วรสิทธา คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2555)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: เยาวชนไทยติดการพนันถึง 207,000 คน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: