ทั่วโลกมี ‘ผู้หญิง’ เสียชีวิตจาก ‘คนใกล้ชิดทำร้าย’ เฉลี่ย 137 คน/วัน

ทีมข่าว TCIJ: 10 มี.ค. 2562 | อ่านแล้ว 8276 ครั้ง

กลับกลายเป็นว่า 'บ้าน' คือสถานที่เสี่ยงจะถูกทำร้ายจนเสียชีวิตมากที่สุดสำหรับ ‘ผู้หญิง’ ข้อมูลจาก UNODC ระบุว่าในแต่ละวันทั่วโลกจะมี 'ผู้หญิง' ถูก 'คู่รัก' หรือ 'คนในครอบครัว' ทำร้ายจนเสียชีวิตเฉลี่ย 137 คน ผู้หญิงในแอฟริกาเสี่ยงที่สุด บ้านเราสถิติจากข่าวความรุนแรงทางเพศพบว่าผู้กระทำความรุนแรงกว่าครึ่งเป็นคนรู้จักคุ้นเคยหรือบุคคลในครอบครัว แต่สังคมไทยคาดหวัง 'ผู้หญิง' แก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวด้วยการ 'คุยกันก่อน' 69.90% 'อดทนเพื่อคงความเป็นครอบครัว' 17.02% ส่วนการ 'หาคนกลางมาช่วยไกล่เกลี่ย' และ 'ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง' มีเพียง 2.31% และ 1.17% เท่านั้น ที่มาภาพประกอบ: Alexas_Fotos (Pixabay License)

ผู้หญิงเอเชียเสียชีวิตเพราะคนใกล้ชิดมากที่สุด แต่เมื่อเทียบสัดส่วนประชากร ‘แอฟริกา’ สูงสุด

ที่มา: GLOBAL STUDY ON HOMICIDE Gender-related killing of women and girls 2018

ข้อมูลจากรายงาน GLOBAL STUDY ON HOMICIDE Gender-related killing of women and girls 2018 ของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ที่ทำการเก็บสถิติผู้หญิงประมาณ 87,000 คนที่ถูกฆาตกรรมในปี 2017 พบว่าประมาณ 50,000 คน (ร้อยละ 58) ถูก ‘คนใกล้ชิด’ (คนรัก แฟน คู่สมรส หรือสมาชิกในครอบครัวและญาติ) ทำร้ายจนเสียชีวิต เฉลี่ยแล้วผู้หญิงจะเสียชีวิตจากบุคคลเหล่านี้ 157 คนต่อ 1 วัน

จากผู้หญิงประมาณ 50,000 คน ที่ถูกคนใกล้ชิดทำร้ายจนเสียชีวิตนั้น พบว่าจำนวนถึงประมาณ 20,000 คน อยู่ในทวีปเอเชีย ตามมาด้วยประมาณ 19,000 คน ในทวีปแอฟริกา, ทวีปอเมริกาประมาณ 8,000 คน, ทวีปยุโรปประมาณ 3,000 คน และทวีปโอเชียเนียประมาณ 300 คน

แต่เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนต่อประชากร 100,000 คน ในทวีปนั้นๆ พบว่าทวีปแอฟริกา ผู้หญิงมีความเสี่ยงที่จะถูกคนใกล้ชิดทำร้ายจนเสียชีวิตมากที่สุดที่ 3.1 ต่อประชากร 100,000 คน ตามมาด้วยทวีปอเมริกา 1.6 ต่อประชากร 100,000 คน (ค่าเฉลี่ยกลางของทั้งโลกอยู่ที่ 1.3 ต่อประชากร 100,000 คน) ทวีปโอเชียเนีย 1.3 ต่อประชากร 100,000 คน  ทวีปเอเชีย 0.9 ต่อประชากร 100,000 คน และทวีปยุโรป 0.7 ต่อประชากร 100,000 คน

ในปี 2017 พบว่าผู้หญิงประมาณ 30,000 คน ถูกคนรักทำร้ายจนเสียชีวิต ที่มาภาพประกอบ: akiragiulia (Pixabay License)

จากสถิติผู้หญิงที่ถูกคนใกล้ชิดทำร้ายจนเสียชีวิตประมาณ 50,000 คน ทั่วโลกในปี 2017 นั้นพบว่าในจำนวนนี้ประมาณ 30,000 คน ถูกคนรักทำร้ายจนเสียชีวิต (ไม่นับคนในครอบครัว) ในด้านจำนวน เมื่อแยกเป็นภูมิภาคพบว่าในทวีปแอฟริกาและเอเชียมีผู้หญิงที่ถูกคนรักทำร้ายจนเสียชีวิตทวีปละประมาณ 11,000 คน ตามมาด้วยทวีปอเมริกาประมาณ 6,000 คน  ยุโรปประมาณ 2,000 คน และโอเชียเนียประมาณ 200 คน

ในรายงานชิ้นนี้แม้สถิติจะระบุว่าผู้ชายมีแนวโน้มจะถูกฆาตกรรมโดยเจตนาสูงกว่าผู้หญิงถึง 4 เท่า แต่ผู้หญิงกลับเป็นเหยื่อฆาตกรรมโดยเจตนาจากคนใกล้ชิดมากกว่า ถึงกว่า 8 ใน 10 คน [1]

เด็ก-วัยรุ่นหญิงไทย ถูกทำร้ายมากสุด

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้สำรวจความถี่ของปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง ใน 10 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย พบว่าผู้หญิงอายุน้อย โดยเฉพาะระหว่าง 15-19 ปี มีความเสี่ยงที่จะถูกกระทำรุนแรงทางร่างกายหรือทางเพศ โดยคู่รักหรือแฟนมากที่สุด เมื่อเทียบกับผู้หญิงในช่วงอายุอื่น ซึ่งความรุนแรงในชีวิตคู่ในลักษณะดังกล่าว ยังพบมากในคู่รักหรือแฟนที่อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงาน สะท้อนให้เห็นว่าผู้ชายอายุน้อยมีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรงมากกว่าผู้ชายที่มีอายุมากกว่า

ข้อมูลนี้สอดคล้องกับการรวบรวมสถิติข่าวความรุนแรงทางเพศปี 2560 ในหนังสือพิมพ์ 13 ฉบับ โดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบว่าเกิดเหตุความรุนแรงทางเพศทั้งหมด 317 ข่าว ซึ่งช่วงอายุของผู้ถูกกระทำ เกินครึ่งเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน อายุ 5-20 ปีถึงร้อยละ 60.6 รองลงมาอายุ 41-60 ปี ร้อยละ 30.9 ที่น่ากังวลใจคืออายุของผู้ถูกกระทำน้อยที่สุด เป็นเด็กหญิง 5 ขวบถูกข่มขืน และมากที่สุด 90 ปี และที่น่าเศร้าใจคือมีผู้เสียชีวิต 20 ราย ด้านกลุ่มอาชีพผู้ถูกกระทำมากที่สุดคือ นักเรียน นักศึกษาถึงร้อยละ 60.9 ที่น่าตกใจคือผู้กระทำความรุนแรงกว่าครึ่งเป็นคนรู้จักคุ้นเคยหรือบุคคลในครอบครัวกว่าร้อยละ 53 รองลงมาเป็นคนแปลกหน้า ไม่รู้จักกันร้อยละ 38.2 และคนที่รู้จักกันผ่านโซเชียลร้อยละ 8.8 โดยอายุของผู้กระทำที่น้อยที่สุดคือ 12 ปี ซึ่งปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงทางเพศมากที่สุดคือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูงถึงร้อยละ 31.1 รองลงมาอ้างว่ามีอารมณ์ทางเพศร้อยละ 28 ส่วนสถานที่เกิดเหตุเกิดมักจะเป็นในที่พักของผู้ถูกกระทำฯ และในที่เปลี่ยว ถนนเปลี่ยว

ในส่วนกรณีที่เป็นคนใกล้ชิดหรือรู้จักคุ้นเคยกระทำ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเภทข่าวข่มขืน และมีหลายกรณีที่อาศัยความไว้ใจเชื่อใจ และล่อลวง ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำให้หวาดผวา ระแวง และกลัว มากที่สุดร้อยละ 26.1 แต่ที่น่าห่วงคือยังถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์เป็นระยะเวลายาวนาน หลายครั้ง ร้อยละ 12.8 [2]

สังคมไทยคาดหวัง 'ผู้หญิง' เป็นผู้แก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นทางสังคม พม. POLL กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 1-12 ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็น 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง 'หญิงไทยยุคใหม่ สไตล์ 4.0' ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 24 พ.ค. 2561 ถึงวันที่ 15 มิ.ย. 2561 จากประชาชนที่มีอายุระหว่าง 18-72 ปี กระจายทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่ม (Cluster Sampling) รวมขนาดตัวอย่างทั้งสิ้น จำนวน 4,800 หน่วยตัวอย่าง

จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อความจำเป็นที่ผู้หญิงต้องมีคู่ครอง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 64.38 ระบุว่า จำเป็นต้องมีคู่ครอง แต่ร้อยละ 35.62 ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องมีคู่ครอง เพราะว่า สภาพสังคมเอื้อให้ผู้หญิงสามารถประกอบอาชีพดูแลตัวเองและครอบครัวได้ ซึ่งในปัจจุบันผู้หญิงสามารถอยู่คนเดียวเป็นโสด โดยไม่จำเป็นต้องมีคู่ อีกทั้งผู้หญิงสามารถทำอะไรได้เองโดยที่ไม่ต้องพึ่งผู้ชาย และยังต้องการความเป็นอิสระในการตัดสินใจ การใช้ชีวิตที่ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละบุคคล ผู้หญิงมีสิทธิและทางเลือกที่เท่าเทียมกับผู้ชาย ในบางความคิดเห็น คู่ครองอาจไม่ได้ช่วยแบ่งเบาภาระ เมื่อเกิดปัญหาทุกอย่างจะตกอยู่กับฝ่ายผู้หญิง และผู้ชายที่มีความประพฤติดีหายาก ส่วนมากเจ้าชู้ไม่ซื่อสัตย์ ขาดความรับผิดชอบและชอบใช้ความรุนแรง ซึ่งในส่วนของวิธีการแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวหลังจากแต่งงานแล้ว พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 69.90 ระบุว่า ปรับความเข้าใจกันก่อน ร้อยละ 17.02 ระบุว่า อดทนเพื่อคงความเป็นครอบครัว ร้อยละ 5.35 ระบุว่า เลิกรา/หย่าร้าง ร้อยละ 4.10 ระบุว่า แยกกันอยู่ ร้อยละ 2.31 ระบุว่า หาคนกลางมาช่วยไกล่เกลี่ย ร้อยละ 1.17 ระบุว่า ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และร้อยละ 0.15 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ แล้วแต่ปัญหาความรุนแรงของแต่ละครอบครัว [3]

กลุ่มเครือข่ายสตรี ยื่น 9 ข้อเสนอเรียกร้องผู้หญิงต้องอิสระ ปลอดภัยจากความรุนแรง

เครือข่ายสตรี 11 กลุ่ม ยื่น 9 ข้อเสนอเรียกร้องผลักดันนโยบายส่งเสริมสตรี เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2562 ที่มาภาพ: ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม P-move

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2562 เครือข่ายสตรี 11 กลุ่ม ประกอบด้วย มูลนิธิพิทักษ์สตรี, มูลนิธิชุมชนไท, เครือข่ายสตรี 4 ภาค, เครือข่ายเพื่อนหญิงล้านนา, เครือข่ายแม่หญิงลุ่มน้ำเจ้าพระยา, เครือข่ายแม่หญิงอีสาน, เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงหาสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้, มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน, เครือข่ายเพื่อนหญิงนนท์เพื่อสุขภาวะ, ชมรมแม่หญิงจังหวัดบุรีรัมย์ และมูลนิธิเพื่อนหญิง ได้เดินทางมายื่นข้อเสนอเกี่ยวกับสตรี ต่อพรรคการเมือง สำหรับนโยบายเร่งด่วนทั้ง 9 ข้อ คือ 1.การคุ้มครองสิทธิ์การเป็นมารดา แม่และเด็กต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยให้แรงงานหญิงมีสิทธิ์ในการลาคลอดได้ไม่น้อยกว่า 120 วัน และได้รับค่าจ้างเต็มจำนวนของแรงงานหญิงในภาคเกษตรอุตสาหกรรม การผลิต ภาคธุรกิจ ภาคราชการ และแรงงานนอกระบบ อีกทั้งขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานรัฐ นายจ้างสถานประกอบการภาคธุรกิจเอกชนสนับสนุนให้เห็นความสำคัญเกี่ยวกับการให้นมบุตรเพราะนมแม่ดีที่หนึ่ง

2.ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่ผู้หญิงต้องอิสระภัย ปลอดภัยจากความรุนแรง ไม่ตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวมีผลต่อสุขภาพจิตของผู้หญิงทั้งในบ้าน ที่ทำงาน และที่สาธารณะ โดยอยากให้ควบคุมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจัง เพราะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงถูกทำร้ายและล่วงละเมิดทางเพศจากการเมาแล้วขาดสติ รวมถึงเรียกร้องให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีส่วนร่วมรับผิดชอบกึ่งหนึ่งกับผู้กระทำผิด นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรเพิ่มพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้หญิงให้เพียงพอ และขอให้จัดตั้งแผนกสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับเพศความรุนแรงในครอบครัวและการค้ามนุษย์ในเด็กและผู้หญิง เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้หญิงที่ไปแจ้งความร้องทุกข์ รวมทั้งแก้ไขอายุความสำหรับผู้หญิงอายุมากกว่า 18 ปีในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศให้สามารถร้องทุกข์ได้ภายใน 1 ปี เพราะปัจจุบันมีอายุความแค่ 3 เดือน นอกจากนี้ต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กและสตรีในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งทาง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เดินหน้ากระบวนการเจรจาสันติภาพโดยมีตัวแทนกลุ่มผู้หญิงเยาวชนเข้าไปในวงเจรจารวมทั้งมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนทุกมิติ

3.ผู้หญิงต้องเข้าถึงการบริการสุขภาพทางเพศที่เป็นมิตร เสริมสร้างพลังผู้หญิงทุกช่วงวัยตั้งแต่เด็ก เยาวชนผู้หญิงวัยทำงาน วัยหมดประจำเดือน ผู้สูงอายุ และมีกลไกหน่วยงานด้านสุขภาพของรัฐที่มีคุณภาพรองรับเพื่อสร้างความมั่นใจในการเข้าใช้บริการ เช่น เด็กผู้หญิงทุกคนต้องได้รับสิทธิ์การเข้าถึงวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย, ผู้หญิงที่เจ็บป่วยจากมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก ต้องได้รับสิทธิ์การเข้าถึงการบำบัดรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายครอบคลุมไปถึงยานอกบัญชี, ผู้หญิงที่อยู่ในภาวะวิกฤตท้องไม่พร้อม ทั้งในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน รัฐต้องจัดตั้งกลไกรองรับเพื่อคุ้มครองผู้หญิงให้มีทางเลือกหลากหลายทางการเรียน การศึกษา รวมไปถึงอาชีพที่สอดคล้องกับภาวะการตั้งครรภ์ มีเงินช่วยเหลือในช่วงตั้งครรภ์และหลังคลอดเพื่อให้สามารถพึ่งพาดูแลตนเองและลูกได้ ที่สำคัญต้องเพิ่มมาตรการเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้ชาย หากผลการตรวจ DNA พิสูจน์ว่าเป็นลูกชายของคนใด

4.การเสริมสร้างพลังและปกป้องเด็กผู้หญิงจากการค้ามนุษย์และถูกแสวงหาประโยชน์ทางการผิดทางเพศในรูปแบบต่างๆ เช่น เพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย การถูกล่อลวง และละเมิดทางเพศจากสื่อออนไลน์ เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนรายวิชาสุขศึกษาของกระทรวงศึกษาเรื่องเพศและมิติหญิงชายภายใต้แนวคิดหญิงชายย่อมมีสิทธิความเสมอภาคโดยกำเนิด  การพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและวัฒนธรรมปราศจากธุรกิจทางเพศพาณิชย์ และมีมาตรการควบคุมการเติบโตของสถานบันเทิงและแหล่งอบายมุข ควรจัดทำโซนนิ่งให้อยู่ไกลจากบ้าน วัด ชุมชน โรงเรียน สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้ผู้หญิง, จัดสรรที่ดินทำกินที่อยู่อาศัย, จัดให้มีกองทุนให้แม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องรับผิดชอบเลี้ยงลูกตามลำพัง และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานรัฐในด้านการดูแลคุ้มครองผู้หญิง เคารพในศักดิ์ศรี เป็นมิตร เสริมพลังผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์โดยไม่มีอคติหรือทัศนคติเชิงลบ

5.การพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อคุ้มครองสิทธิ์ของหญิงไทยที่ทำงานและแต่งงานในต่างประเทศ กรณีหญิงไทยถูกหลอกลวงทำร้ายหรือฆาตกรรมในต่างประเทศ ขอให้มีการพัฒนาความร่วมมือกับประเทศที่มีหญิงไทยไปทำงานหรือแต่งงานกับคนไร้สัญชาติเพื่อเพิ่มมาตรการในการคุ้มครองสิทธิ์ตามกฎหมาย, กรณีเด็กและผู้หญิงจากเพื่อนบ้าน อยากให้ติดตามความก้าวหน้าบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างอาเซียนในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อผลักดันเป็นแผนร่วมกันระหว่างประเทศในการปราบปรามเครือข่ายค้ามนุษย์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ ลาว กัมพูชา และพม่ามา

6.ขอให้รัฐมีมาตรการเปิดช่องทางการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในเรื่องสิทธิ์ชุมชนและที่อยู่อาศัย 7.ออกมาตรการพิเศษเพื่อส่งเสริมบทบาทการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิงในทุกระดับ เช่น มาตรการสัดส่วนโควต้าที่ใกล้เคียงในทางการเมืองทุกระดับ และ 8.จัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อจัดตั้งกองทุนผู้หญิงให้องค์กรพัฒนาเอกชนในลักษณะเงินให้เปล่าที่มีระบบการตรวจสอบ

"เราอยากให้พรรคการเมืองที่มีแนวโน้มเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเห็นความสำคัญของผู้หญิงในไทยที่มีจำนวน 33 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้หญิงกว่า 25 ล้านคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.นี้" น.ส.ธนวดี ท่าจีน ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าว [4]

ข้อมูลอ้างอิง
[1] UNODC, Global Study on Homicide 2018 (Vienna, 2018)
[2] พบสถิติ 'ความรุนแรงทางเพศ' ของไทยยังน่าห่วง (thaihealth.or.th, 15/11/2561)
[3] หญิงไทยยุคใหม่ สไตล์ 4.0 (นิด้าโพล, 26/7/2561) 
[4] เลือกตั้ง'62: กลุ่มเครือข่ายสตรี ยื่น 9 ข้อเสนอเรียกร้องพลังประชารัฐผลักดันนโยบายส่งเสริมสตรี (สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 8/3/2562)

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: สังคมไทยคาดหวัง 'ผู้หญิง' แก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวด้วยการ 'คุยกันก่อน'

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: