หมอเขียนบทความ 'ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมจากนโยบายปลดล็อคกัญชาในอเมริกา'

กองบรรณาธิการ TCIJ 28 ส.ค. 2562 | อ่านแล้ว 5948 ครั้ง

หมอเขียนบทความ 'ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมจากนโยบายปลดล็อคกัญชาในอเมริกา'

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความ 'ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมจากนโยบายปลดล็อคกัญชาในอเมริกา' เผยแพร่ใน Hfocus.org ระบุการปลดล็อคกัญชาทางการแพทย์นั้น พบว่ากัญชาไม่ได้มีสรรพคุณที่จะมาทดแทนการรักษามาตรฐานได้ ทำให้การปลดล็อคดังกล่าวส่งผลกระทบต่อทั้งบุคลากรทางการแพทย์และคนไข้จำนวนมาก ทั้งในเรื่องความเชื่อและการปฏิบัติระหว่างการดูแลรักษา ส่งผลต่อผลลัพธ์ทางสุขภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่มาภาพประกอบ: Thomas Hawk (CC BY-NC 2.0)

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความ 'ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมจากนโยบายปลดล็อคกัญชาในอเมริกา' เผยแพร่ใน Hfocus.org เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา โดยรายละเอียดทั้งหมดของบทความมีดังต่อไปนี้

นพ.ธีระ วรธนารัตน์ : ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมจากนโยบายปลดล็อคกัญชาในอเมริกา

ปี ค.ศ.2013 Evans และคณะตีพิมพ์งานวิจัยทบทวนผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมจากนโยบายปลดล็อคกัญชาในอเมริกา ลงในวารสารวิชาการ The Journal of Global Drug Policy and Practice

ผลสรุปคือ ปลดล็อคแล้วเสียหายหนักต่อเนื่องไประยะยาว ได้น้อยแต่เสียมาก

รัฐต่างๆ ที่ปลดล็อคกัญชาทางการแพทย์ พบว่า เอาเข้าจริง คนเสพกัญชาเพิ่มขึ้น 2 เท่า และมีอาการติดยาต้องเข้ารับการบำบัดเพิ่มขึ้น 2 เท่า ตัวเลขแต่ละรัฐต่างกันไป มีตั้งแต่เพิ่มขึ้น 75% ไปจนถึง 300% หนักหน่วงสุดคือ อัตราการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ตามข้อบ่งชี้จริงๆ นั้นมีน้อยกว่า 5% ของจำนวนคนใช้กัญชาทั้งหมด ที่เหลือคือแอบใช้เอง หาซื้อใช้เอง รวมถึงหมอสั่งจ่ายให้แบบแอบอ้างข้อบ่งชี้ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นจริง

เด็ก เยาวชน วัยรุ่น และวัยทำงานหนุ่มสาวอายุน้อยกว่า 24 ปี คือกลุ่มคนที่มีอัตราการเสพกัญชามากที่สุดในทุกรูปแบบ

ผลสำรวจการรับรู้เรื่องผลกระทบจากกัญชา พบว่าในกลุ่มเด็ก เยาวชน และวัยรุ่นนั้น มีการรับรู้อันตรายจากกัญชาลดลงอย่างต่อเนื่อง และทำให้เกิดการเสพมากขึ้นเรื่อยๆ จนนำมาซึ่งการออกจากระบบการศึกษา และการเกิดอุบัติเหตุจราจรหลังเสพกัญชามากขึ้น

การปลดล็อคกัญชาทางการแพทย์นั้น พบว่ากัญชาไม่ได้มีสรรพคุณที่จะมาทดแทนการรักษามาตรฐานได้ ทำให้การปลดล็อคดังกล่าวส่งผลกระทบต่อทั้งบุคลากรทางการแพทย์และคนไข้จำนวนมาก ทั้งในเรื่องความเชื่อ และการปฏิบัติระหว่างการดูแลรักษา และแน่นอนว่าส่งผลต่อผลลัพธ์ทางสุขภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ภาระงานมากขึ้นในระบบสุขภาพอันเนื่องมาจากจำนวนคนติดกัญชาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วติด 10% แต่หากเป็นเด็กและเยาวชนที่เริ่มเสพ จะมีโอกาสติด 16% และหากคนเสพกัญชาทุกวันจะมีโอกาสเกิดอาการติดยาถึง 30-50%

ทั้งนี้มีการคาดประมาณว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ประเทศต้องแบกรับเพื่อดูแลรักษาผลกระทบจากการเสพกัญชาจะสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะคิดเป็น 60% ของค่าความเสียหายทั้งหมดที่เกิดจากการปลดล็อคกัญชา

นอกจากนี้ปัญหาอุบัติเหตุจราจรยังมากขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง จนในปัจจุบันรัฐที่เป็นโมเดลกัญชาอย่างแคลิฟอร์เนียนั้นพบว่า มีปัญหาการขับขี่ผิดกฎหมายจากการเสพกัญชามากกว่าการดื่มเหล้าไปแล้ว

ทั้งนี้มีการวิจัยจาก Columbia University ตอกย้ำว่าการเสพกัญชาจะทำให้มีโอกาสขับขี่จนเกิดอุบัติเหตุรถชนกันมากขึ้นกว่าปกติถึง 2 เท่า ปัญหาอาชญากรรมที่เกิดจากการเสพกัญชามากขึ้นอย่างชัดเจนในรัฐที่ปลดล็อคกัญชา ทั้งในเรื่องการจี้ปล้น การทำร้ายร่างกาย การฆาตกรรม ฯลฯ เช่นในรัฐแคลิฟอร์เนียที่ปลดล็อคมาตั้งแต่ ค.ศ.2003

Imler S ผู้มีส่วนผลักดันกฎหมายปลดล็อคกัญชาในแคลิฟอร์เนียถึงกับแจ้งต่อสาธารณะว่า เดิมพยายามจะปลดล็อคเพื่อหวังช่วยคนให้พ้นจากตลาดมืด แต่สถานการณ์จริงหลังปลดล็อคกลับพบว่า ทุกอย่างที่ดำเนินไปนั้นก็อยู่ในวงจรอุบาทว์ของการทำเพื่อค้าขายหากำไร และควบคุมไม่ได้ รวมถึงการใช้กัญชาก็กลายเป็นวงจรของหมู่คนติดยาเสพติด

สำหรับเมืองไทยนั้น ชูแคลิฟอร์เนียโมเดลมาเป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนนโยบายกัญชา ดูบทเรียนของเค้าแล้วยังน่ากลัว แต่ในเมืองไทยอาจรุนแรงกว่าก็เป็นได้

ขอให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติ และใช้ปัญญาในการคิดไตร่ตรอง เลือกดำรงชีวิตให้ห่างไกลยาเสพติด

สวัสดีวันหยุดครับ

อ้างอิง Evans DG et al. The Economics Impacts of Marijuana Legalization. The Journal of Global Drug Policy and Practice, December 2013.

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: