เตรียมติดทุ่นกักขยะลอยน้ำบริเวณปากแม่น้ำและลำคลองสาขา นำร่อง 5 จุด เดือน ก.ค. 2562 นี้

กองบรรณาธิการ TCIJ 28 มิ.ย. 2562 | อ่านแล้ว 3311 ครั้ง

เตรียมติดทุ่นกักขยะลอยน้ำบริเวณปากแม่น้ำและลำคลองสาขา นำร่อง 5 จุด เดือน ก.ค. 2562 นี้

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เตรียมติดทุ่นกักขยะลอยน้ำบริเวณปากแม่น้ำและลำคลองสาขา นำร่องแม่น้ำระยองและคลองในจังหวัดสมุทรสาคร 5 จุดภายในเดือน ก.ค. 2562 นี้ ที่มาภาพประกอบ: กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2562 ว่านายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่ากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ร่วมกันพัฒนาต้นแบบทุ่นกักขยะลอยน้ำเพื่อป้องกันขยะไหลลงสู่ทะเลอีกหนึ่งทางออกการแก้ปัญหาขยะในทะเล ด้วยการทำโครงการ “พัฒนาอุปกรณ์ติดทุ่นกักขยะลอยน้ำสำหรับติดตั้งในบริเวณปากแม่น้ำและลำคลองสาขา” เพื่อลดปัญหาขยะในทะเล เนื่องจากขยะส่วนใหญ่ไหลผ่านชุมชนมาตามแม่น้ำลำคลองและไหลลงสู่ทะเล

จากการสำรวจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบประเทศไทยมีแม่น้ำลำคลองที่เชื่อมต่อกับทะเลไม่ต่ำกว่า 900 สาย ทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย จึงจำเป็นพัฒนาอุปกรณ์สำหรับติดทุ่นกักขยะลอยน้ำที่มีกลไกฝาเปิดปิด โดยอาศัยหลักการไหลของน้ำและแรงดันช่วยกักเก็บขยะที่ไม่ไหลย้อนกลับจากการเปลี่ยนทิศทางกระแสน้ำและอิทธิพลน้ำขึ้นน้ำลง ในเบื้องต้นทดลองติดตั้งต้นแบบทุ่นกักขยะลอยน้ำในลำคลอง 4 แห่งของ จ.สมุทรสาคร พบสามารถรวบรวมและกักขยะลอยน้ำได้เฉลี่ย 7.7 กิโลกรัมต่อวันต่อชุด ทำให้ ทช. และเอสซีจี จะติดตั้งทุ่นกักขยะบริเวณแม่น้ำระยองและคลองใน จ.สมุทรสาคร 5 จุดภายในเดือน ก.ค. นี้ จากนั้นจะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไปอีก 20 จุด ระหว่างเดือน ก.ค.-ธ.ค. นี้ คาดว่า จะช่วยลดปริมาณขยะลงสู่ทะเลได้ประมาณ 30 ตัน ถือเป็นอีกแนวทางการจัดการช่วยลดปริมาณขยะที่จะไหลลงสู่ทะเล ลดผลกระทบที่จะเกิดต่อระบบนิเวศทางทะเลและสัตว์ทะเลหายาก

ด้านนายชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า ต้นแบบทุ่นกักขยะลอยน้ำนี้เป็นโมเดลที่มีจุดเด่นอยู่ที่การออกแบบให้มีกลไกฝาเปิดปิดปิดที่อาศัยหลักการไหลของน้ำและแรงดันช่วยกักขยะลอยน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถรองรับขยะได้สูงสุด 700 กิโลกรัม ซึ่งเอสซีจีจะนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ไปพัฒนากลไกการทำงานของทุ่นในรูปแบบ 4.0 ด้วยการนำระบบอัตโนมัติ (Automation) และพลังงานแสงอาทิตย์มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น และอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่มากขึ้น คาดว่าจะแล้วเสร็จและทดลองใช้ภายในต้นปี 2563 พร้อมทั้งจะศึกษาการใช้ประโยชน์จากขยะที่เก็บได้ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: