FTA ช่วยดันส่งออกมังคุดไทย 6 เดือนแรกปี 2562 โตกว่า 220%

กองบรรณาธิการ TCIJ 27 ส.ค. 2562 | อ่านแล้ว 6291 ครั้ง

FTA ช่วยดันส่งออกมังคุดไทย 6 เดือนแรกปี 2562 โตกว่า 220%

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผย FTA ช่วยดันส่งออกมังคุดไทยเติบโตก้าวกระโดดแม้อยู่ในช่วงการค้าชะลอตัว ทำยอดส่งออกครึ่งแรกปี 2562 กว่า 325 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 2561 220% ชี้ตลาดจีนและอาเซียนขยายตัวสูงสุด พร้อมหนุนผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จาก FTA ต่อเนื่อง ที่มาภาพประกอบ: bluebeens (Pixabay License)

เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ รายงานเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2562 ว่านางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่ามังคุดไทยได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักในฐานะราชินีแห่งผลไม้ ประกอบกับเอฟทีเอ 13 ฉบับ ที่ส่งผลให้ในปัจจุบันมี 14 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เมียนมา อินเดีย ชิลี เปรูและฮ่องกงยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ามังคุดจากไทยแล้วนั้น ทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้ามังคุดอันดับต้นของโลก โดยในปี 2561 ไทยส่งออกมังคุดไปตลาดโลกถึง 226.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวกว่าปี 2560 ร้อยละ 3.32 ทั้งนี้ แม้ว่าสถานการณ์การส่งออกของเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว แต่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 (ม.ค.-มิ.ย.) ไทยส่งออกมังคุดได้สูงถึง 325 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 2561 ถึงร้อยละ 220 ซึ่งมีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ จีนและอาเซียน ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันถึงร้อยละ 97 โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 (มกราคม-มิถุนายน) ไทยส่งออกมังคุดไปจีนมูลค่า 229.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 2561 ถึงร้อยละ 408 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 71 สำหรับอาเซียน ไทยส่งออกมังคุดมูลค่า 84.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 2561 ถึงร้อยละ 46 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 26

นางอรมน เสริมว่า FTA นับเป็นปัจจัยสำคัญช่วยให้การส่งออกขยายตัว เมื่อเปรียบเทียบสถิติมูลค่าการส่งออกมังคุดไทยสู่ตลาดโลกในปี 2561 กับปี 2535 ซึ่งเป็นปีก่อนที่ความตกลง FTA ฉบับแรกของไทยกับอาเซียนจะมีผลบังคับใช้ พบว่ามูลค่าการส่งออกมังคุดเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 22,540 หากแยกรายตลาดพบว่าการส่งออกมังคุดไทยไปยังประเทศคู่เอฟทีเอมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะจีนขยายตัวร้อยละ 34,667 เมื่อเทียบกับปี 2545 ก่อนที่จีนยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ามังคุดจากไทยภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน อาเซียน ขยายตัวร้อยละ 11,420 เมื่อเทียบกับปี 2535 ก่อนที่สมาชิกอาเซียนจะลดภาษีนำเข้ามังคุดจากไทยภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน เกาหลีใต้ ขยายตัวร้อยละ 2,400 เมื่อเทียบกับปี 2552 ก่อนการลดภาษีภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ ซึ่งสอดคล้องกับสถิติในปี 2561 ที่มังคุดเป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยขอใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออกเป็นอันดับต้น

“เพื่อผลักดันให้มังคุดและผลไม้ไทยครองใจผู้บริโภค เกษตรกรควรรักษามาตรฐานสินค้าให้สอดคล้องกับหลักการสากลด้านมาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช พัฒนาคุณภาพการผลิตตามความต้องการของตลาด ซึ่งปัจจุบันนิยมผลไม้ปลอดสารพิษหรือเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น รวมทั้งสร้างเอกลักษณ์ด้วยการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สร้างตราสินค้าหรือแบรนด์ของตนเอง เพื่อสร้างความแตกต่างจากผลไม้ของประเทศอื่น และปรับตัวเข้าสู่การค้ายุคใหม่โดยสร้างองค์ความรู้ด้านต่างๆ เช่น การตลาดในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยยกระดับสินค้าและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ซึ่งจะสามารถครองตลาดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าผลไม้ไทยได้” นางอรมน กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: