กฤษฎีกาเห็นชอบกลับไปใช้คำว่า 'ครูใหญ่' แทน 'ผู้อำนวยการ'

กองบรรณาธิการ TCIJ 27 ก.พ. 2562 | อ่านแล้ว 8131 ครั้ง

กฤษฎีกาเห็นชอบกลับไปใช้คำว่า 'ครูใหญ่' แทน 'ผู้อำนวยการ'

คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเผยที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกามีมติเห็นชอบให้กลับไปใช้คำว่า 'ครูใหญ่' แทน 'ผู้อำนวยการ' ชี้ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษานั้นต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูอยู่แล้ว อีกทั้งการทำหน้าที่เป็นหัวหน้าของครูในโรงเรียนน่าจะทำให้มีพลังในการปฏิรูป ที่มาภาพประกอบ: ภาพยนตร์เรื่องครูบ้านนอก

เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2562 ว่า นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาแนวทางการจัดทำ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... ไปแล้วคืบหน้ากว่าร้อยละ 80-90 แล้ว ซึ่งตนเข้าใจว่าขณะนี้น่าจะเป็นการทบทวนรอบสุดท้าย ทั้งนี้ในส่วนของประเด็นการกำหนดตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาที่คณะกรรมการอิสระฯ เสนอในร่าง พ.ร.บ.การศึกษา ที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกามีมติเห็นชอบให้กลับไปใช้คำว่า 'ครูใหญ่' เหมือนที่ผ่านมา โดยในที่ประชุมมีผู้อภิปรายอย่างหลากหลายทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ได้ข้อสรุปว่ายังจะกลับมาใช้คำว่า 'ครูใหญ่' เนื่องจากที่ประชุมให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นครูสูงมาก และตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษานั้น ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูอยู่แล้ว อีกทั้งการทำหน้าที่เป็นหัวหน้าของครูในโรงเรียน และที่ผ่านมาเราก็เคยใช้คำว่าครูใหญ่ ดังนั้นที่ประชุมจึงลงความเห็นว่าความเป็นครูเป็นเรื่องสำคัญ จึงจะต้องให้ความสำคัญกับบทบาทหน้าที่ความเป็นครู ซึ่งการที่หัวหน้าครูกลับมาใช้คำว่าครูใหญ่ ก็น่าจะทำให้มีพลังในการปฏิรูป เพื่อการศึกษาของเด็กมากกว่า และส่วนตัวตนก็มองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะเหมือนกับเราได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของงานนี้จริง

“ส่วนที่มองว่าการเปลี่ยนจากผู้อำนวยการโรงเรียน มาใช้คำว่าครูใหญ่ จะมีผลต่อการบริหารงานหรือไม่นั้น ผมคิดว่าจะไม่มีผลต่อระบบบริหารงานโดยตรง ผมคิดว่าจะไม่มีผลต่อระบบบริหารงานโดยตรง และตัวกฎหมายเองก็จะมีการบัญญัติถึงเรื่องนี้เป็นหลักเกณฑ์ไว้จำนวนหนึ่ง และจะต้องมีการมาปรับในกฎหมายลำดับรองอื่นๆ ให้สอดคล้องตาม ซึ่งการปรับครั้งนี้ถือว่าเป็นการปรับที่ไม่เกินหลักการที่ครม.อนุมัติ แต่สุดท้ายแล้วคณะกรรมการกฤษฎีการจะปรับปรุงแก้ไขในส่วนอื่นๆ เกินเนื้อหาและหลักการที่ครม.อนุมัติหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่วนจะเสนอให้สภานิติบัญญัติ (สนช.) พิจารณาและประกาศใช้ได้ภายในรัฐบาลนี้หรือไม่นั้น เป็นขั้นตอนของรัฐบาลที่จะดำเนินการ” นพ.จิรุตม์ กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: