#ใต้พรมสาธารณสุข: วัฒนธรรม ‘กินหัว’ ความรุนแรงเชิงโครงสร้างในสถาบันวิชาชีพ ‘หมอ-หมอฟัน’

วรัญญา บูรณากาญจน์ | TCIJ School รุ่นที่ 6 | นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | 26 ก.ค. 2562 | อ่านแล้ว 25296 ครั้ง

‘นักศึกษาแพทย์-ทันตแพทย์’ ยังคงถูก 'กลั่นแกล้ง-ดูถูกดูแคลน-ใช้วาจาเสียดสี-แตะเนื้อต้องตัว-ลงไม้ลงมือ' พบวัฒนธรรมและโครงสร้างสถาบันวิชาชีพเป็นส่วนหนึ่งที่เสริมสร้างความรุนแรง ในต่างประเทศก็มีปัญหาเช่นไทย งานศึกษาพบวัฒนธรรมดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาซึมเศร้า กังวล และเหนื่อยล้าในเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวมถึงทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงและความมั่นใจในตัวเองถดถอย ที่มาภาพประกอบ: Critic Te Arohi

ปรากฏการณ์ความรุนแรงในสถาบันวิชาชีพที่เป็นสากล

จากรายงานของสมาคมวิทยาลัยการแพทย์อเมริกา (Association of American Medical Colleges -AAMC) ปี 2018 พบว่าร้อยละ 42 ของนักศึกษาแพทย์ทั่วอเมริกาเคยถูกปฏิบัติไม่ดีอย่างน้อยหนึ่งครั้ง เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 39.3 เมื่อปีที่แล้ว ทว่ารายงานดังกล่าวเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของนักศึกษาแพทย์ทั่วสหรัฐอเมริกาเท่านั้น [1]

ย้อนกลับไปในปี 2005 สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานว่ามากกว่า 1 ใน 4 ของนักเรียนแพทย์ชาวอังกฤษหนึ่งพันคนเคยถูกกลั่นแกล้งจากแพทย์อาวุโส โดยที่ไม่รู้ว่าโรงเรียนแพทย์มีนโยบายแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร นอกจากนี้ส่วนใหญ่เชื่อว่าหากปากโป้งออกไปจะเป็นผลเสีย รวมถึงไม่เชื่อมั่นในกลไกการร้องเรียนในโรงเรียนแพทย์ [2]

รายงานวิจัยในปี 2015 ที่เปิดเผยโดยวิทยาลัยศัลยแพทย์หลวงออสตราเลเซียน (Royal Australasian College of Surgeons) องค์กรศัลยแพทย์จากประเทศออสเตรเลีย พวกเขาพบว่าร้อยละ 49 ของศัลยแพทย์ที่ทำแบบสอบถามเคยโดนกลั่นแกล้งและคุกคาม กลุ่มที่โดนมากที่สุดคือแพทย์ฝึกหัดร้อยละ 63

ในปัญหาพฤติกรรมที่พบเจอบ่อยที่สุดคือ การดูถูกดูแคลนร้อยละ 22 รองลงมาตามลำดับคือ การกลั่นแกล้งทั่วไปร้อยละ 18 การใช้ความรุนแรงทางร่างกายร้อยละ 12 การกล่าวโทษร้อยละ 12 การข่มขู่ทางวาจาร้อยละ 11 ฯลฯ เมื่อแบ่งเป็นปัญหาทางเพศที่พบเจอบ่อยสุดเป็นการใช้วาจาเสียดสีทางเพศร้อยละ 54 และรองลงมาคือการแตะเนื้อต้องตัวร้อยละ 12 [3]

งานวิจัยทางวิชาการในปี 2018 เกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่เป็น ‘พิษ’ ในการเรียนการสอนเชิงคลินิกข้างเตียงคนไข้ของ H.O. Olasoji ศัลยแพทย์ช่องปากและขากรรไกรชาวไนจีเรียน กล่าวถึง วัฒนธรรมการเรียนการสอนที่ ‘เป็นพิษ’ ของวิทยาลัยแพทย์ในไนจีเรียที่อาจารย์แพทย์มักจะฉีกหน้าและดุด่านักเรียนในการสอนข้างเตียง โดยเชื่อว่าการฉีกหน้าเด็กในที่สาธารณะจะช่วยให้มีการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานในอนาคต วัฒนธรรมดังกล่าวนั้นมีลักษณะร่วมเดียวกับโรงเรียนแพทย์ในประเทศตะวันตกที่อาจารย์แพทย์จะ ‘ซักถาม’ คำถามที่ยาก โดยนอกจากจุดประสงค์ในการสอนแล้วก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าตัวเองเหนือกว่าและดำรงไว้ซึ่งลำดับขั้นทางสังคม [4]

จากประสบการณ์ของ เบน เบรฟเวอรี แพทย์ชาวออสเตรเลีย ที่ได้เขียนไว้ในเว็บไซต์ของสำนักข่าวเอบีซี แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่นักเรียนแพทย์ต้องเจออย่างการถูกกลั่นแกล้งผ่านการ ‘ซักถาม’ ซึ่งเป็นเรื่องที่ ธรรมดา ในการเรียนการสอนของแพทยศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น การสับสนชื่อของหลอดเลือดแดงเมื่อถูกถามทำให้อาจารย์แพทย์ด่าว่าเขาขาดคุณสมบัติในการเรียนแพทย์และมีการเรียกเขาด้วยฉายาที่หยาบคาย หรือแม้กระทั่งว่ามีครั้งหนึ่งที่อาจารย์แพทย์ด่าเขาว่าถ้าไม่เรียนให้หนักขึ้นก็จะจบลงด้วยการเป็นแค่นักสังคมสงเคราะห์ [5]        

การกลั่นแกล้งในโรงเรียนแพทย์ในบางครั้งอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายของนักศึกษาแพทย์ อย่างกรณีการฆ่าตัวตายของปายาล ทัศวี (Payal Tadvi) นักศึกษาแพทย์ชาวเผ่าอาดิวาสีที่เกิดจากการกลั่นแกล้งและเหยียดวรรณะในโรงเรียนแพทย์ ในอินเดียเมื่อเดือนพฤษภาคม 2019 และการฆ่าตัวตายด้วยเหตุการณ์แบบเดียวกันของเอ็ม. มาริราช (M. Mariraj) นักศึกษาแพทย์ในวิทยาลัยอาเมดาบาด (Ahmedabad) ในเดือนมกราคมปี 2018 [6]

ปัญหาความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมนี้แสดงให้เห็นเป็นปรากฏการณ์สากลที่เกิดขึ้นเกือบทั่วโลก ประกาศจากแพทยสมาคมโลกว่าด้วยเรื่องการกลั่นแกล้งและการคุกคามที่เกิดขึ้นในวิชาชีพเมื่อเดือนตุลาคมปี 2017 ก็อาจชี้ให้เห็นความเป็นสากลของปัญหาการกลั่นแกล้งดังกล่าว

วัฒนธรรมกินหัว: ความรุนแรงจากการฝึกหัดแพทย์และทันตแพทย์ในประเทศไทย

จากปรากฏการณ์ความรุนแรงที่เป็นสากลดังกล่าว จากการหาข้อมูลของผู้เขียนพบว่านักศึกษาแพทย์และทันตแพทย์ในประเทศไทย ต่างก็ประสบปัญหาที่คล้ายคลึงกัน วัฒนธรรมกลั่นแกล้งถูกเรียกในหมู่นักศึกษาแพทย์และทันตแพทย์ชาวไทยว่า ‘การกินหัว’ โดยส่วนใหญ่จะหมายถึงการที่อาจารย์กลั่นแกล้งเด็กผ่านการซักถาม ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในออสเตรเลียหรือไนจีเรียข้างต้น

ความรุนแรงในโรงเรียนแพทย์โดยมากจะเริ่มขึ้นในชั้นคลินิกที่ต้องเข้าไปเจอคนไข้จริงในโรงพยาบาล ส่วนของโรงเรียนทันตแพทย์จะเริ่มขึ้นเมื่อต้องฝึกกับหุ่นจำลอง วัฒนธรรมการกลั่นแกล้งอาจเริ่มตั้งแต่การ ‘ตักเตือน’ เมื่อตอบคำถามอาจารย์ไม่ได้ ลามไปจนถึงการใช้ความรุนแรงทางวาจาอย่างจิกกัดและดุด่า เช่นการไล่เด็กไปตายและการฉีกหน้านักศึกษาต่อหน้าเพื่อนในกลุ่มที่ราววอร์ด (อธิบายการราววอร์ด) และคนไข้

“สำหรับเราว่าต่อหน้าคนไข้เป็นสิ่งที่รุนแรงสุดแล้ว เพราะเราจะรู้กันในโรงเรียนอยู่แล้ว แต่ถ้าคนไข้กับญาติได้ยินอาจารย์แพทย์ด่าว่าทำให้คนไข้ตายนู่นนี่ก็ไม่ดีเลย ทั้งต่อคนไข้ที่ฟังอยู่ แล้วคนที่โดนด่าเองก็เหมือนโดนดูถูกเช่น ‘จบไปก็รักษาใครไม่ได้หรอก’ ‘จบไปก็ไปอยู่คลินิกความงาม’” แพทย์ที่ไม่เปิดเผยนามท่านหนึ่งบอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ส่วนสำหรับทันตแพทย์ พูนผล โควิบูลย์ชัย อาจารย์ประจำภาควิชาทันตกรรมชุมชน คณะทันตแพทศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มองเห็นความรุนแรงที่ต่างกันออกไปว่า “จริงๆ ความรุนแรงก็มีหลายระดับนะ สิ่งที่เคยได้ยินกันอย่างเช่น การโยนโมเดลจำลองฟันต่อหน้าเด็ก อย่างนี้ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันเป็นปกติ สิ่งที่ทำกันเป็นปกติเลยคือ ความรู้สึกที่ต้องนอบน้อมพินอบพิเทาต่างหาก ในรุ่นผมจะมีภาพการส่งงานด้วยการคลานเข่าเข้าไปหาอาจารย์ โดยที่ไม่ได้เกิดการบังคับเลย”

จากคำบอกเล่าของอดีตนักศึกษาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เล่าว่า “ที่เคยเจอคือด่าว่าโง่เป็นวัวเป็นควาย เรารู้สึกว่าชีวิตเราไร้ค่ามากเลยใช่ไหมถึงต้องมายืนให้เขาดุด่าตรงนี้ แต่ก่อนเคยมีอาจารย์คลินิกที่ลงไม้ลงมือตบตีด้วย มีเพื่อนโดนฟาดกลางหลังตอนกำลังกรอฟันคนไข้อยู่ บางทีจะโดนลงโทษอย่างให้ไปคัดลายมือตอนตอบคำถามไม่ได้ หรือถ้าทำโมเดลอย่างตั้งใจแต่ไม่ถูกใจอาจารย์ก็จะโดนปาทิ้งแทนที่จะสอนดีๆ”

ความรุนแรงดังกล่าวนั้นถูกบอกเล่าผ่านปากนักศึกษาแพทย์และทันตแพทย์ในอีกหลากหลายมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นทั้งความรุนแรงทางวาจา ทางกาย ไปจนถึงทางวัฒนธรรมและโครงสร้างในภาพใหญ่ของสถาบันวิชาชีพ

ความรุนแรงทางวัฒนธรรมที่เคยได้ยินมาถูกมองว่าเป็นปัญหาของแต่ละบุคคล แต่ละอาจารย์ แต่ละแพทย์ประจำบ้าน ทว่า ทันตแพทย์ พูนผล มองว่าแม้ว่าความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับอาจารย์ แต่ปัญหาคือความรุนแรงที่เกิดขึ้นมันเกิดจากการที่อาจารย์ไม่มีมาตรฐานเดียวกันต่างหาก

เสียงกระซิบจากนักศึกษาแพทย์และทันตแพทย์

“เล่าก่อนว่าแต่ละวอร์ดจะจัดอาจารย์ไว้คนหนึ่งกับนักศึกษาแพทย์อาจสักสองคนเพื่อที่ให้เป็นติวเตอร์ รุ่นน้องเราได้อาจารย์แพทย์อาวุโสคนหนึ่งเป็นติวเตอร์ ทีนี้เวลาที่อยู่กันสองคน อาจารย์ก็มีการแตะเนื้อต้องตัวน้องเขา จนเขารู้สึกแย่แต่ก็ไม่รู้จะบอกใคร ถึงกับต้องออกมาร้องไห้ข้างนอกเลย พวกรุ่นพี่แพทย์กับเจ้าหน้าที่มาช่วยกันให้น้องไม่ต้องเจออาจารย์คนนี้อีก เพราะว่ารู้ดีว่ามีปัญหาเรื่องนี้จากอาจารย์คนเดียวกันหลายครั้งแล้วแต่ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะเขาเป็นหัวหน้าหมวด”

 - อดีตนักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเล่าถึงประสบการณ์การล่วงละเมิดที่รุ่นน้องได้รับ

“อย่างอาจารย์บางคนมีอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ด่าว่ามึงนี่ไร้ประโยชน์จริงๆ เลย รู้อะไรบ้างหรือเปล่า จะจบอยู่แล้วนะ เราก็ได้แต่ยิ้มแห้งๆ แต่เราไม่ค่อยโดนด่าจากอาจารย์นะ แต่ถูกรุ่นพี่ที่เป็นแพทย์ประจำบ้านด่า ‘น้องปีห้ายังดูเคสดีกว่าน้องเลยนะคะ พี่ว่าถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปน้องก็คงไม่ผ่านนะคะ’”

- บัณฑิตคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย A

“เห็นว่าสมัยก่อนมีคนโดนด่าให้ไปตาย สมัยนี้ก็มีแต่เราจำไม่ได้แล้วว่าใคร ปกติแล้วเวลาเข้าวอร์ดมันจะผ่านไป เจออาจารย์พวกนี้ไม่นานมาก ทุกคนไม่อยากมีปัญหาก็จะนิ่ง อย่างปัญหาอาจารย์แต๊ะอั๋งก็ทนกันไป เราว่านักศึกษาแพทย์จะรักคะแนนมากกว่าตัวเองนะ ถึงจะไม่พอใจก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี”

- บัณฑิตคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย B

“อาจารย์แพทย์มีอำนาจสั่งให้อยู่ในระเบียบได้หมด บางคนก็กระชากเสื้อและจิกหัว หรือมีกฎห้ามผู้ชายไว้ผมยาว เป็นผู้หญิงข้ามเพศห้ามใส่วิก แต่คนไม่ค่อยแคร์กัน อย่างจิกหัวก็มองเป็นเรื่องตลก เป็นครูใหญ่อบรมไม่ได้มีใครมองว่าเป็นการทำร้ายร่างกาย ถ้ามีเรื่องกับอาจารย์ก็จะเป็นที่โจษจัน โดนซุบซิบนินทา แล้วก็โดนอาจารย์เพ่งเล็ง แบบอีนี่กล้าหือกับอาจารย์ด้วยเหรอวะ อยู่ยากขึ้นแน่ๆ อ่ะ พวกเราแคร์ความอยู่ยากมากกว่า”

- บัณฑิตคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย C

“อาจารย์ด่าเด็กต่อหน้าคนไข้ที่มีญาติผู้ใหญ่อยู่ ญาติเลยหมดศรัทธากลับหมอที่อาจารย์ด่าต่อหน้าเลย หรืออย่างบางทีก็เกิดการยึดมั่นในความอาวุโสของตัวเอง ต้องรอรุ่นพี่มาเจาะเลือด หรืออย่างรุ่นพี่ไม่ยอมให้เขียนใบสั่ง”

- อดีตนักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัย D

“บางทีเวลาเราจะตอบคำถาม อาจารย์ก็จะมีคำตอบในความคิดของเขาอยู่แล้ว มีสิ่งตามที่เขาต้องการให้ตอบ เรารู้สึกว่าพอเราตอบคำถามไม่ได้ก็อาจโดนด่า หรือถ้าตอบได้ก็แค่ตอบได้ บางทีมันขาดคำชมมากไปหน่อย”

- นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 5 มหาวิทยาลัย A

 

ความไม่สม่ำเสมอใน เกณฑ์มาตรฐานของอาจารย์โรงเรียนแพทย์และทันตแพทย์

“ถ้าเป็นงานทันตกรรม ทุกอย่างขึ้นกับคนตรวจ แล้วแต่ละคนจะมีความชอบไม่เหมือนกัน พอเป็นอย่างนี้คนตรวจก็จะมีอำนาจเต็มที่ในการจะโยนงานชิ้นนั้นทิ้ง ถ้างานไม่ผ่านก็ต้องแก้หรือทำใหม่ บางทีก็ติดเอฟเพราะคะแนนพฤติกรรมไม่ผ่า แล้วมันไม่มีเกณฑ์ตรงนี้ ถ้าทำให้อาจารย์หมั่นไส้ก็ไม่ผ่าน” นักศึกษาคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง กล่าว

หลักฐานจากคำบอกเล่าของนักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง “ส่วนใหญ่การให้เกรดอาจารย์จะชอบคิดอิงกลุ่ม แล้วต้องมีคนตกทั้งที่คะแนนผ่านเกณฑ์ คนที่ได้น้อยที่สุดโดนกำจัดออกถึงจะน้อยกว่าแค่ทศนิยมก็ต้องซ่อมด้วยการอยู่เวรเจ็ดวัน แปดโมงเช้าถึงสองทุ่ม ถ้าทำได้จะปรับเป็นซี ถ้าไม่ทำก็ได้ดีด็อก ส่วนคนที่ได้เอฟซึ่งจะมีสักคนแน่ๆ ต้องกลับไปเรียนวอร์ดนั้นอีกที อาจารย์บางคนก็ไม่เห็นด้วยแต่อาจารย์อาวุโสออกหลักสูตรเลยไม่มีใครเอาลงได้”

นอกจากนั้นยังมีเสียงบ่นจากนักศึกษาแพทย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ทำให้เห็นเกณฑ์ที่น่าสับสนและมาตรฐานที่มีปัญหาของอาจารย์ “เคยเจอว่าอาจารย์ไม่ชอบเด็กคนนี้ก็แกล้งให้ไม่ผ่าน ให้เรียนซ้ำ หรือให้ตก” “อย่างอาจารย์บางคนจะให้ผู้หญิงผ่านเกณฑ์ง่ายกว่าและคะแนนดีกว่า แฟนเราบอกว่าดีใจจัง อาจารย์เห็นว่าสวยเลยสอนเยอะกว่า คือตอนเข้าวอร์ด อาจารย์จะเป็นคนหลักในการให้ผ่านไม่ผ่าน บางทีก็มีเรื่องที่ใช้อำนาจผ่านความเป็นรุ่นพี่ด้วย” “เคยได้ยินว่าเรื่องเพศก็ส่งผลต่อเกรด แต่บางอันเราไม่รู้คะแนนก็พูดยาก ที่ชัดๆ ก็คือ ตรวจรายงานแล้วให้คะแนนน้อย หรือประเมินความสามารถเด็กให้ต่ำสุดทั้งที่เนื้องานก็ดี”

การฝึกอบรมในโรงเรียนแพทย์และทันตแพทย์นั้นเป็นการฝึกอบรมที่จำเป็นต้องใช้ความรู้และประสบการณ์ ทำให้อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาจใช้ความรู้ที่ตัวเองมีเป็นช่องทางในการแสดงอำนาจเหนือนักศึกษา

“ปกติแล้วเราจะแบ่งเด็กให้อาจารย์ค่อนข้างละเอียด อย่างภาควิชาของเราเป็นภาคเล็ก อาจารย์จะแบ่งกันสอบเด็กแค่สองคน เกณฑ์การให้คะแนนของแพทย์คลินิกก็คงต่างกันออกไปแต่ละบุคคล ดังนั้นแต่ละคนก็จะความยากง่ายต่างกันอยู่แล้ว และอย่างที่นักศึกษาแพทย์ชอบมองว่าอาจารย์คนนี้ให้คะแนนผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะอาจารย์คนเดียวที่ให้คะแนนรายงานไม่สามารถตัดเกรดได้เลย มันมีคะแนนหลายส่วนรวมกัน อย่างคะแนนสอบและจิตพิสัยอีก ถ้ามีปัญหาเรื่องคะแนนเด็กก็สามารถดูคะแนนได้” แพทย์ที่ไม่เปิดเผยนามท่านหนึ่งกล่าว

แม้ว่าในทางทฤษฎีดูจะเป็นเช่นนั้นแต่ก็ไม่ได้สามารถมีการตรวจสอบหลักฐานได้อย่างชัดเจนและมีเกณฑ์ที่คลุมเครือในแต่ละภาควิชา

ทันตแพทย์พูนผล โควิบูลย์ชัย อาจารย์ประจำภาควิชาทันตกรรมชุมชน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นว่า “การจะผ่านเกณฑ์ของแต่ละภาควิชานั้นมีอยู่สองอย่าง หนึ่งคือความรู้ เพราะวิชาแพทย์สถาปนาความรู้จากวิทยาศาสตร์ และสองคือ ‘ความเห็นอกเห็นใจและเมตตากรุณาจากคุณครู’ ถึงแม้ว่าคุณจะมีความรู้ แต่ก็จะตั้งคำถามว่า ‘คุณรู้จริงแค่ไหน’ เพราะอย่างทันตแพทยศาสตร์มียี่สิบกว่าภาควิชา อาจารย์แต่ละคนก็เก่งคนละด้าน เขาก็สร้างเกณฑ์ความรู้ที่คุณต้องรู้ขึ้นมา คุณคิดว่าคุณรู้เท่าอาจารย์เหรอ ยกตัวอย่างผมให้ตอบคำถามว่าความรุนแรงในโรงเรียนแพทย์คืออะไร ถึงคนจะบอกว่าอย่างนี้คือความรุนแรง แต่ผมมองว่าไม่ใช่เพราะผมปรับเกณฑ์ให้ใช้ความคิดอีกแบบมอง นักเรียนจะสู้ผมได้อย่างไร ปัญหาจะเริ่มก็ต่อเมื่อคุณมีความรู้แต่อาจารย์ไม่ชอบขี้หน้า เขาก็อ้างความรู้ที่ตัวเองสะสมมา ‘คุณจะสู้เหรอ ผมเรียนมากี่ปีแล้ว ทำวิจัยมากี่เรื่องแล้ว คุณอ่านหนังสือมากี่เล่มเอง คุณจะงัดกับผมจริงๆ เหรอ’ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ถ้าอาจารย์รักคุณแต่คุณไม่มีความรู้เลย อาจารย์ก็ปวดหัวนะ”

อย่างในการฝึกหัดแพทย์จะต้องฝึกผ่านรุ่นพี่และไม่มีมาตรฐานในการจัดการก็อาจทำให้มีแนวโน้มที่รุ่นพี่จะใช้งานเด็กได้ “สมมุติคนไข้คนเดียวกัน ถ้าเอ็กซ์เทิร์น (นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6) มีภาระงานที่เยอะมากก็อาจขอให้น้องช่วยได้ ตัวน้องที่ไม่เข้าใจอาจมองว่าถูกพี่ใช้งาน แต่เรามองว่ามันคือการช่วยกันทำงานมากกว่า แน่นอนว่ามันมีคนเห็นแก่ตัวใช้งานรุ่นน้องทั้งที่ตัวเองไม่ได้ยุ่งก็มี” แพทย์ที่ไม่เปิดเผยนามท่านหนึ่งกล่าวยังให้ข้อมูลว่า “มันไม่ได้มีการจัดการอย่างตายตัว เหมือนแม่บอกให้ช่วยทำอาหาร แล้วเราจะให้น้องช่วยล้างผักอ่ะ ต่อให้มีการจัดการแบ่งงานอย่างเป็นระบบ สมมุติว่าแบ่งเสร็จแล้วเกิดมีเคสฉุกเฉินเข้ามา ถ้าหน้าที่ของคนนี้คือดูแลคนไข้ คนไข้ก็ต้องรอเหรอ ปัญหาคือรูปแบบงานมันไม่ได้ตายตัว คนไข้ก็ไม่เหมือนกันอีก”

จากการจัดการที่ ‘ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ’ และเกณฑ์การให้ ‘ผ่าน’ ของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกันช่วยเสริมให้โครงสร้างที่ส่งผ่านอำนาจต่อกันอย่างเป็นลำดับขั้นกลายเป็นปัญหาช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการใช้อำนาจเหนือนักศึกษาและกดดันคนในลำดับขั้นที่ต่ำกว่า

วัฒนธรรมและโครงสร้างทางสถาบันวิชาชีพที่เป็นส่วนหนึ่งที่เสริมสร้างความรุนแรง

จากความไม่สม่ำเสมอในเกณฑ์ของปัจเจกทำให้เห็นถึงโครงสร้างลำดับขั้นที่ก่อร่างสร้างอำนาจให้กับอาจารย์แพทย์ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทาง ‘ความรู้เฉพาะทาง’ และ ‘ความรู้ผ่านประสบการณ์การทำงาน’ คำบอกเล่าจากเฟสบุ๊คของแพทย์ท่านหนึ่งมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียนแพทย์ต้องหาวิธีการจัดการเปลี่ยนแปลงให้มันดีขึ้น แต่เวลาเราบอกว่าสิ่งนี้เป็นปัญหาจากบุคคลแสดงว่าเราไม่ได้คิดจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งที่ควรจะทำความเข้าใจว่าระบบอะไรนำมาสู่บุคลากรที่มีปัญหา

“เราต้องทำความเข้าใจความรุนแรงอย่างเป็นระบบ อำนาจทางสังคมของแพทย์และทันตแพทย์ไม่ได้อยู่ดีๆ ก็ได้มา แต่มันมีโครงสร้างอย่างสภาวิชาชีพที่มีกฎหมายรองรับ ระบบโรงเรียนแพทย์ที่เริ่มจากระบบราชการ มีคณบดีเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด กระบวนการส่งผ่านอำนาจมีขั้นของอำนาจอย่างชัดเจน” ทันตแพทย์พูนผล กล่าว พร้อมแสดงความคิดเห็นว่า ถ้ามีเกณฑ์ ‘มาตรฐาน’ ที่ชัดเจนมากขึ้น อำนาจจะไปอยู่ที่เกณฑ์มาตรฐานแทนตัวบุคคล

นอกจากนี้เขายังชวนคิดเรื่องโครงสร้างสภาวิชาชีพในฐานะผู้ออกกฎเกณฑ์วิชาชีพต้องต่อรองกับอาจารย์ในฐานะผู้ออกกฎเกณฑ์ความรู้วิชาชีพ ทำให้มาตรฐานบางอย่างชัดเจนและบางอย่างก็ไม่ชัดเจนเพื่อเอื้อความสะดวกให้กับคนกลุ่มหนึ่ง “สมมุติสภาวิชาชีพอยากได้ทันตแพทย์ที่กรอฟันสวย ขอให้อาจารย์ร่างเกณฑ์มาตรฐานว่าต้องกรอฟันอย่างไร ถึงแม้อาจารย์กับสภาจะสร้างมาตรฐานวัดที่ดูชัดเจน แต่ก็เป็นแค่มาตรฐานที่ตามมาทีหลังเท่านั้น เพราะอาจารย์มีวิธีสอนอีกแบบ มีวิธีที่เคยฝึกหัดกันมาอยู่แล้ว อย่างนโยบายโรงเรียนสร้างสุขที่พยายามจะทำให้นักศึกษาไม่เครียด ก็เป็นแค่เกณฑ์ที่มากดดันเท่านั้น เป็นระบบเสริมที่เข้ามาบอกว่าโรงเรียนได้สร้างสุขแล้วนะ แต่ระบบเดิมๆ ข้างในยังไม่ได้เปลี่ยนไป ผมมองว่าสิ่งที่อาจารย์และสภาวิชาชีพทำเกี่ยวกับเรื่องมาตรฐาน ไม่ได้สร้างขึ้นมาแค่ให้เกิดมาตรฐานอย่างเดียว แต่จริงแล้วต้องการให้เราเล่นในบทบาทที่เขาคุ้นเคยและเขายังควบคุมหมอได้” ทันตแพทย์ พูนผล ระบุ

สอดคล้องกับวัฒนธรรมขององค์กรแพทย์ที่จะเห็นได้ว่าแม้แต่นักศึกษาแพทย์และทันตแพทย์ต้อง ‘ทน’ ไปและไม่ปริปากเมื่อเกิดปัญหา “ได้ยินมาจากรุ่นน้องว่ามีอาจารย์บางคนชอบแต๊ะอั๋ง แต่พวกเราทำได้แค่ทนๆ กันไปเดี๋ยวมันก็ผ่านวอร์ดนี้” “เราว่านักศึกษาแพทย์จะรักคะแนนตัวเองมากกว่านะ มีคนไม่พอใจไหมก็มีแต่ทำอะไรไม่ได้อ่ะ” “บางทีเราก็มองว่ามันไม่ดี แต่ก็กล้ำกลืนทนไป เดี๋ยวก็จบ ไม่มีใครกล้ามีเรื่องกับอาจารย์ ถ้ามีคนกล้าก็จะเป็นที่โจษจันซุบซิบนินทา โดนอาจารย์เพ่งเล็ง คืออยู่ยากแน่ๆ พวกเรากลัวความอยู่ยากมากกว่า”

นอกจากนี้ ทันตแพทย์พูนผล ยังมองถึงการเกิดขึ้นของบรรยากาศความกลัว ว่าเป็นบรรยากาศบางอย่างที่เกิดขึ้นจากลักษณะที่แฝงอยู่กับความผูกพันแบบลูกศิษย์กับอาจารย์ “สมมุติคุณเป็นลูกศิษย์ผมต้องไปทำฟันให้ชาวบ้าน อ้าวนั่นไง ศิษย์อาจารย์พูนผลมาทำฟัน เพราะอย่างนี้มันแบกชื่อเสียงของอาจารย์ไว้ ถ้าเราทำเสียชื่อเสียง อาจารย์ก็จะเสียชื่อเสียงด้วย เลยไม่แปลกที่ว่าเด็กก็จะต้องแบกชื่อเสียงมหิดลในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาเอาไว้ ซึ่งเป็นความกลัวที่ดีนะ ดังนั้นแม้ว่าเขาจะเป็นพวกต่อต้านก๋ากั่นแค่ไหน แต่เมื่อเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาลหรือห้องฟัน ในฐานะนักศึกษา เขาก็จะต้องพินอบพิเทากับคนอื่นให้ได้ด้วย”

บรรยากาศของความกลัวถูกสร้างขึ้นเพื่อให้นักศึกษาเข้าไปอยู่ในกฎของความเป็นวิชาชีพ อาจารย์ทันตกรรมชุมชนมองว่า การที่ต้องเข้าไปตามกฎวิชาชีพเพราะว่าเมื่อจบการศึกษาแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์แล้ว บัณฑิตที่จบไปก็จะได้สิทธิพิเศษและอำนาจในสังคมที่มากขึ้นกว่าตอนเป็นนักเรียนมัธยมที่เพิ่งสอบเข้าเรียนแพทย์ได้ ดังนั้นการกำกับดูแลในวิชาชีพจึงมีบทบาทอย่างมากในการคงสถานะสิทธิพิเศษ ซึ่งนั่นก็หมายถึงการที่ต้องทำให้คนที่เข้ามา ‘รวมกลุ่ม’ เป็นหมอกับเราอยู่ภายใต้การควบคุมของคนส่วนใหญ่ที่อยู่มาก่อนในวิชาชีพ

“ในมหาวิทยาลัยจะมีพิธีกรรมบางอย่าง เช่น การไหว้ครู และ พิธีรับเสื้อกาวน์ ถ้าไม่ไหวครูหรือไม่รับเสื้อกาวน์ก็ได้ แต่จะเกิดอะไรขึ้นกับคุณก็ไม่รู้ พอเป็นอย่างนี้มันก็ค่อยๆ สร้างบรรยากาศให้เข้าใจว่าคุณจะอยู่อย่างไรในวิชาชีพนี้ ผมมองว่าความรุนแรงอย่างการปาโมเดลฟันทิ้งก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของกระบวนการที่จะทำให้คุณอยู่ภายใต้กฎระเบียบพวกนี้เท่านั้น ความรุนแรงทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในเชิงกายภาพแต่เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมด้วย” ทันตแพทย์ พูนผล แสดงความคิดเห็น และยังมองว่าปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นคือการที่วิชาชีพควบคุมดูแลกันเอง ตั้งแต่การคัดเลือกเด็กเข้าไปจนถึงการสอบใบประกอบวิชาชีพ และทันตแพทยสภากับโรงเรียนทันตแพทย์ก็ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ “กฎแบบขนบประเพณีทำให้ทันตแพทย์สร้างอำนาจในตัวเองอย่างเบ็ดเสร็จและมีอำนาจต่อรองทางสังคมได้ เพราะทันตแพทยสภาที่ควบคุมดูแล แม้จะเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มผู้แทนทันตแพทย์ แต่ก็มีกลุ่มผู้บริหารโรงเรียนทันตแพทย์เป็นสมาชิกรวมอยู่ด้วย มีกฎหมายและพระราชบัญญัติจัดตั้งรองรับ รวมถึงมีความรู้เฉพาะทางที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นสากล มีการยกระดับตัวเองเข้าไปสู่สังคมอีลิทได้ด้วยสถานภาพทันตแพทย์ อย่างเมื่อยี่สิบหรือสามสิบที่แล้วจะมีคำพูดเรื่องหมอมีบุญคุณ ทันตแพทย์ในโรงพยาบาลต่างจังหวัดก็น้อย วันหนึ่งมียี่สิบเคสที่ต้องทำให้ทัน ถ้าเราเอาแต่เรื่องมาตรฐานไปใส่เขามันจะทำให้ไม่มีหมอในโรงพยาบาลเลย กฎเกณฑ์แบบขนบมีไว้รองรับสถานการณ์แบบนี้อยู่ แม้แต่ระบบสาธารณสุขก็ยังใช้วิธีกำกับดูแลกันเอง”

“โครงสร้างองค์กรสาธารณสุขมันทำงานประสานกับอำนาจรัฐในเชิงนโยบายและเอื้อประโยชน์ต่อกันระหว่างองค์กรณ์ นั่นทำให้ที่ผ่านมาเราก็ยังสามารถเจอหมอได้ แม้ว่าจะต้องรอคิวนานสักหน่อย เราอยากทำฟันก็ยังได้ทำอยู่ ชีวิตประจำวันยังดำเนินไปได้โดยไม่ได้ถูกละเมิดอะไร คนทั่วไปไม่ได้มองว่าคุณภาพในการให้การรักษาที่สอดคล้องไปกับคุณภาพความเป็นอยู่ของเรามันดีได้มากกว่านี้ แต่เราเทียบตัวเองกับเมื่อวานแล้วทุกอย่างในตอนนี้มันดีกว่าเมื่อวานเท่านั้นเอง เราเลยโอเคกับระบบที่เป็นอยู่ ทั้งที่ระบบมันดีได้มากกว่านี้ มันโฟกัสที่ประโยชน์ประชาชนอย่างเดียวเป็นหลักก็ยังได้ ซึ่งนี่ก็เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างแบบหนึ่งที่ทำให้เรายังต้องทนกับระบบเดิมต่อไป” ทันตแพทย์ พูนผล ระบุ

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความรุนแรงทางโครงสร้างและวัฒนธรรมในสถาบันการแพทย์

อาจารย์ทันตแพทย์พูนผล โควิบูลย์ชัย ประจำภาควิชาทันตกรรมชุมชน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่าผลกระทบที่เกิดจากโครงสร้างการกำกับดูแลอย่างเต็มรูปแบบของสภาวิชาชีพทำให้เกิดปัญหาอย่างแรกในตัวนักศึกษาทันตแพทย์คือภาวะเครียดหลังจากเหตุการณ์สะเทือนใจ (Post-Traumatic Stress Disorder) จนนักศึกษามองว่าตัวเองเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต่ำสุดในคณะ “พวกเราเคยเจอความยากลำบากของ ‘ข้อเรียกร้อง’ หรือเกณฑ์งานที่ต้องทำ มันยาก ทำได้ไม่ครบ คนไข้ไม่มา ทำงานไม่ทัน แม้ว่าคนภายนอกอาจมองว่าไม่เห็นจะหนักหนาอะไร แต่พอจบมาแล้วผมก็ยังผวาอยู่ตลอดในช่วงหนึ่ง ไม่รู้ว่าใครเป็นบ้างแต่เชื่อว่าเป็นกันหลายคน ตอนจบมาแรกๆ ผมยังฝันถึงมันอยู่สี่ห้าครั้งต่อปี กว่าจะหลุดออกมาจากความสะเทือนใจตรงนั้นได้ คิดว่ามันมีปัญหาอย่างนี้ในแพทย์และทันตแพทย์ทั่วโลกลองหางานวิจัยดูได้ มันเป็นเพราะเราไม่เคยเจอเกณฑ์มาตรฐานที่สูงขนาดนี้มาก่อน พอแต่ละภาคตั้งเกณฑ์ไว้อย่างนั้นแล้วเราทำไม่ได้ในช่วงที่ใกล้เสร็จแล้วก็เหมือนปีนไปเกิน 80% ของยอดเขา แล้วถ้าพลั้งตกคุณก็ต้องมาปีนใหม่โดยเริ่มจากศูนย์ ผมหลอนจนถึงกับต้องเตือนสติตัวเองหลังตื่นจากฝันว่าผมจบมาตั้งนานแล้ว ไม่มีใครมาเอาใบประกอบวิชาชีพไปจากเราได้”

ปัญหาที่สอง คือการมีโครงสร้างดังกล่าวในวิชาชีพส่งผลต่อความรุนแรงเชิงเศรษฐกิจที่ประชาชนต้องแบกรับด้วย “ในขณะที่เราขาดแคลนทันตแพทย์ในต่างจังหวัด แต่เราก็มีการแข่งขันที่สูงมากในเมือง อย่างคลินิกทันตกรรมเอกชนในสาธรมีตึกเว้นตึก แม้ว่าจะเป็นอย่างนั้นแต่ไม่มีใครฟันราคากันเลย แถมยังพร้อมใจกันจัดฟันในราคาสี่ถึงห้าหมื่น ถูกสุดคือสองหมื่นเวลาจัดโปรโมชั่น ทั้งๆ ที่ราคาต้นทุนสามารถแข่งขันกันได้ในราคาที่ต่ำกว่านี้ นั่นก็เพราะกฎแบบขนบที่ทำตามกันมา ขนาดใช้สิทธิพนักงานมหาวิทยาลัยของที่นี่จัดฟันก็สองหมื่นแล้ว ถ้าคุณขายต่ำกว่าสองหมื่น ไม่โดนสภาจัดการก็โดนคนในวิชาชีพจัดการคุณเอง”

การคงไว้ซึ่งความเป็นอภิสิทธิ์ชนของแพทย์และทันตแพทย์ด้วยกฎเกณฑ์ทางขนบผ่านสถาบันอย่างสภาวิชาชีพ จึงไม่ได้กระทำแค่ความรุนแรงกับนักศึกษาแพทย์และทันตแพทย์เท่านั้น แต่ยังแผ่ขยายอิทธิพลไปถึงประชาชนวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนบุคลากรในพื้นที่ห่างไกล ทั้งที่กระทรวงมีโครงการผลิตทันตแพทย์เพิ่มทุกปี แต่ประชาชนกลับไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากโครงการผลิตบุคลากรเพื่อพื้นที่ห่างไกลอย่างที่ควรจะได้

การคลายตัวของโครงสร้างและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้น

“สมัยพี่เป็นนักศึกษาแพทย์ก็จะเคยได้ยินว่ามีคนโดนชาร์ทตี แต่เดี๋ยวนี้ก็ไม่ค่อยเห็นแล้ว พออาจารย์เปลี่ยนรุ่น เรื่องนี้ก็ค่อยๆ น้อยลง เด็กเองก็เปลี่ยนด้วย อย่างเราเพิ่งจบมาใหม่ เด็กที่สอนจะไม่ได้ห่างกันมาก ถึงพี่จะไม่ได้ใจดีขนาดนั้น แต่เราก็ดูจากเพื่อนว่าเขาก็ใจดีกันมากกว่า” แพทย์ที่ไม่เปิดเผยนามท่านหนึ่ง กล่าวและให้ความเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงส่วนหนึ่งเป็นเพราะสื่อสังคมออนไลน์ที่เผยแพร่ปัญหาวัฒนธรรมความรุนแรงดังกล่าว

ขณะที่ทันตแพทย์พูนผล มองเข้าไปยังโครงสร้างทางองค์กรที่เริ่มเปลี่ยนไป จากกฎระเบียบแบบขนบเป็นกฎวิชาชีพแทน “ตอนนี้ทันตแพทยสภาเปลี่ยนขั้วอำนาจกัน เพราะว่าเกิดเหตุการณ์ที่กลุ่มนักรังสีไปผ่านกฎหมายให้นักรังสีต้องมาตรวจสอบห้องฟันก่อน และการสอบการศึกษาต่อเนื่อง (Continue Education) ที่ต้องลงเครดิตและเข้าอบรม อาจารย์ทันตแพทย์โชคดีหน่อยตรงที่ใช้ชั่วโมงสอนแทนได้ เพราะกลุ่มผู้บริหารองค์กรมองว่าทันตแพทย์ต้องอัพเดทงานตลอดเวลา ทีนี้มีกลุ่มทันตแพทย์เอกชนบางกลุ่มขึ้นมาสู้เพราะไม่อยากเล่นเกมส์แบบเดิมอีกต่อไป เมื่อสภาหมดวาระปีที่แล้ว กลุ่มของเอกชนได้รับคะแนนเสียงถล่มทลายเพราะพวกเขารวมกลุ่มกันไปเลือก ในขณะที่กลุ่มทางราชการอย่างอาจารย์ก็ทำแต่งานวิชาการ ไม่รู้จะไปเลือกทำไมเพราะคิดว่าจะหน้าตาสภาก็เหมือนเดิมมาตั้งนานแล้ว”

การเปลี่ยนแปลงในวิชาชีพทันตแพทย์ที่อาจเกิดหลังจากการเปลี่ยนวาระกรรมการทันตแพทยสภาคือมีแนวโน้มที่จะออกนโยบายปรับเปลี่ยนการสอบการศึกษาต่อเนื่อง และการเปิดหลักสูตรทันตแพทยศาสตบัณฑิตเพิ่ม “ปกติทันตแพทยสภาจะเป็นคนคุมมาตรฐานเรื่องการเปิดหลักสูตร ซึ่งในสภาชึดก่าจะมีการควบคุมที่เข้มงวดมากว่าไม่ควรเปิดถ้าไม่ได้ตามเกณฑ์ แต่สภาชุดใหม่ที่ขึ้นมาแถลงนโยบายชัดเจนว่าสามารถเปิดได้ เพราะเรื่องมาตรฐานค่อยปรับแก้กันภายหลังก็ได้” ทันตแพทย์ พูนผล กล่าว

แม้ว่าอาจยังไม่ได้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน แต่ด้วยสื่อสังคมออนไลน์ที่ทำให้ปัญหาทางวัฒนธรรมขององค์กรเป็นที่รับรู้มากขึ้น และการเปลี่ยนผ่านของคนในแต่ละรุ่น ก็เป็นส่วนที่ทำให้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นลดน้อยลง รวมถึงมีการตระหนักในปัญหามากขึ้น สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างชั้นบนในสถาบันวิชาชีพทันตแพทย์ที่ยังไม่รู้ว่าจะไปทางไหน และต้องคอยดูแนวทางที่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับทางแพทยศาสตร์ในอนาคตได้

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวัฒนธรรมการกลั่นแกล้งในต่างประเทศ

ดังที่ได้ยกมาในข้างต้นแล้วว่าปัญหาการขาดแคลนบุคลากรการแพทย์ในพื้นที่ห่างไกล เป็นผลมาจากวัฒนธรรมและโครงสร้างที่เต็มไปด้วยความรุนแรง เมื่อ 3 มิถุนายน 2019 สำนักข่าวเดอะการ์เดี้ยนได้รายงานถึงปัญหาการขาดแคลนของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในประเทศอังกฤษว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการกลั่นแกล้งในที่ทำงาน โดยมีการรายงานถึงวัฒนธรรมองค์กรสาธารณสุขที่ทำให้คนต้องออกจากระบบ [7]

วัฒนธรรมดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาซึมเศร้า กังวลและเหนื่อยล้าในเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวมถึงทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงและความมั่นใจในตัวเองถดถอย ในงานวิจัยของสมาคมกุมารแพทย์อเมริกัน (American Academy of Pediatrics) เผยว่า เจ้าหน้าที่ที่ถูกกลั่นแกล้งจากผู้เชี่ยวชาญของสาขาจะมีประสิทธิภาพในการทำงานที่แย่ลง เปรียบเทียบกับอีกกลุ่มที่ได้รับการดูแลอย่างดีและมีความเคารพซึ่งกันและกัน รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ถูกกลั่นแกล้งจะมีการเปิดเผยข้อมูลกับคนในทีมงานน้อยและไม่ค่อยขอความช่วยเหลือเวลาต้องการ ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานกับคนไข้ที่แย่อีกด้วย [8]

จากการสำรวจเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลของอเมริกาพบว่า 71% เห็นด้วยว่าพฤติกรรมความรุนแรงที่ไม่เป็นมืออาชีพและการสื่อสารอย่างหยาบคายยิ่งทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการแพทย์ได้ และ 27% เชื่อว่าพฤติกรรมเหล่านี้ทำให้คนไข้ตายก่อนที่จะควร [9]

ความพยายามแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นสถาบันสาธารณสุขในต่างประเทศ

Amboss เว็บไซต์ที่เป็นแพลทฟอร์มการเรียนรู้เพื่อช่วยเหลือแพทย์ในอนาคต เสนอว่าการจะแก้ไขปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนแพทย์จะต้องมีความร่วมมือในระดับชาติ ที่มาภาพ: amboss.com

ระบบสาธารณสุขแห่งชาติของอังกฤษได้ออกแผนระยะยาวเมื่อเดือนมกราคมปี 2019 ที่มีใจความ 3 ประเด็น คือ 1. ต้องมีการจัดหาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เพิ่มขึ้น 2. การทำให้โรงพยาบาลสังกัดสาธารณสุขแห่งชาติเป็นสถานที่ดีสำหรับการทำงาน 3. จัดการแก้ปัญหาอนาคตและแผนระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหา

การออกแผนของสาธารณสุขแห่งชาติอังกฤษ แสดงให้เห็นความพยายามพัฒนาและสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่ดีและมีเมตา แต่ทว่าไนเจล เอ็ดวาร์ด (Nigel Edwards) ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรอิสระทางด้านสุขภาพอย่างนัฟฟีลด์ทรัสท์ (Nuffield Trust) มองว่าการเปลี่ยนแปลงในวัฒนธรรมองค์จะเปลี่ยนได้ถ้า “ผู้นำของชาติเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเอง” เอ็ดวาร์ด กล่าว “วัฒนธรรมที่ดีไม่สามารถเป็นไปได้ถ้าเจ้าหน้าที่ขาดแคลนอยู่ตลอดเวลา” นอกจากนี้ยังขอให้ทางรัฐสนับสนุนทุนการทำงานเพราะเขาเชื่อว่าแผนการที่ดีจะเริ่มต้นได้ต้องถูกสนับสนุนด้วยเงินและผู้คน [10]

ในเว็บไซต์ของแพทยสมาคมอเมริกาได้มีแนวทางในการร้องเรียนเมื่อแพทย์ประจำบ้านพบเห็นนักศึกษาแพทย์ที่ถูกกลั่นแกล้ง​ โดยให้แนวทางว่าต้องมีการเตือนผู้อำนวยการหลักสูตรแพทย์ประจำบ้าน ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการกลั่นแกล้ง พูดคุยกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกลั่นแกล้งโดยตรงและบอกว่านักศึกษารู้สึกไม่สบายใจ แต่การจะเลือกแนวทางแต่ละแนวทางก็ต้องชั่งน้ำหนักอย่างมากเพราะว่าทั้งหมดส่งผลกระทบกับตัวเองได้ [11]

แม้ว่าจะมีความพยายามในการสร้างแนวทางสนับสนุนการแก้ปัญหาวัฒนธรรมการกลั่นแกล้งดังกล่าว แต่กลับยังไม่มีการแก้ไขที่ชัดเจนในหลายพื้นที่ ในเว็บไซต์ Amboss เว็บไซต์ที่เป็นแพลทฟอร์มการเรียนรู้เพื่อช่วยเหลือแพทย์ในอนาคต เสนอว่าการจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องมีความร่วมมือในระดับชาติที่คณะแพทยศาสตร์แต่ละคณะต้องจับมือร่วมกันต่อสู้กับเรื่องนี้ ด้วยการแบ่งปันโครงการการฝึกอบรม สร้างนโยบายแก้ไขและสร้างความโปร่งใสมากกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ในตอนนี้ [12]

 

อ้างอิง
[1]  2018 Association of American Medical Colleges (AAMC) annual graduation questionnaire  (สมาคมวิทยาลัยการแพทย์อเมริกา, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 14 มิ.ย. 2562)
[2] Medical students complain of bullying  (สำนักข่าวเดอะการ์เดียน, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 14 มิ.ย. 2562)
[3] Discrimination, Bullying and Sexual Harassment Prevalence Survey in Surgeons in 2015 (วิทยาลัยศัลยแพทย์หลวงออสตราเลเซียน, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 14 มิ.ย. 2562)
[4] Broadening conceptions of medical student mistreatment during clinical teaching: message from a study of “toxic” phenomenon during bedside teaching  (NCBI, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 14 มิ.ย. 2562)
[5] Bullying of medical students has consequences — for future doctors and patients (สำนักข่าวเอบีซี, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 14 มิ.ย. 2562)
[6] After Payal Tadvi’s Death Can We Allow Medical Education to Continue to Pretend to be Casteless? (The Ladies Finger, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 14 มิ.ย. 2562)
[7] NHS staff quitting due to burnout and bullying, report says  (สำนักข่าวเดอะการ์เดียน, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 15 มิ.ย. 2562)
[8] The Impact of Rudeness on Medical Team Performance: A Randomized Trial (AAP News & Journals, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 15 มิ.ย. 2562)
[9] Bullying and harassment of health workers endangers patient safety (เดอะ คอนเวอร์เซชั่น, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 15 มิ.ย. 2562)
[10] Recruiting more staff ‘is not enough’, says NHS workforce plan (พีเพิล เมแนจเมนท์, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 15 มิ.ย. 2562)
[11] How should residents respond to faculty bullying of med students? (แพทยสมาคมอเมริกัน, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 15 มิ.ย. 2562)
[12] Stop the Bullying in Medical School  (Amboss, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 15 มิ.ย. 2562)

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: